Advance search

ชุมชนบ้านไร่รวงทองมีการผลิตสุรากลั่นที่สืบทอดภูมิปัญญากันมาตั้งแต่อดีต ประยุกต์ใช้เทคนิควิธีการผลิตจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และได้รับการรับรองจากกรมสรรพสามิต

หมู่ที่ 6
ไร่รวงทอง
ปัว
ปัว
น่าน
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 มิ.ย. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 มิ.ย. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
29 ส.ค. 2023
บ้านไร่รวงทอง

บ้านไร่รวงทอง อดีตเป็นชาวบ้านแก้ม หมู่ 5 ตำบลวรนคร อำเภอปัว เข้ามาอาศัยทำนาทำไร่ ต่อมาก็ได้มีจำนวนเพิ่มเข้ามาอีกเรื่อย ๆ แบ่งเป็นสองหย่อม หย่อมหนึ่งเรียกตัวเองว่า “บ้านห้วยโอ้ม” และอีกหย่อมเรียกตัวเองว่า “บ้านห้วยปลากั้ง” ต่อมาหย่อมบ้านห้วยปลากั้งได้ย้ายเข้ามารวมกลุ่มกับบ้านห้วยโอ้มและอีกกลุ่มหนึ่งได้ย้ายไปตั้งบ้านใหม่ เรียกชื่อว่า “บ้านนา” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านไร่รวงทองในท้ายที่สุด


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านไร่รวงทองมีการผลิตสุรากลั่นที่สืบทอดภูมิปัญญากันมาตั้งแต่อดีต ประยุกต์ใช้เทคนิควิธีการผลิตจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และได้รับการรับรองจากกรมสรรพสามิต

ไร่รวงทอง
หมู่ที่ 6
ปัว
ปัว
น่าน
55120
19.148581005447785
100.90711038330035
องค์การบริหารส่วนตำบลปัว

บ้านไร่รวงทอง อดีตเป็นชาวบ้านแก้ม หมู่ 5 ตำบลวรนคร อำเภอปัว เข้ามาอาศัยทำนาทำไร่ ตั้งบ้านเรือนอยู่เมื่อปี พ.ศ. 2496 ได้มีชาวบ้านประมาณ 4-5 หลังคาเรือน ต่อมาก็ได้เพิ่มเข้ามาอีกเรื่อย ๆ แบ่งเป็นสองหย่อม หย่อมหนึ่งเรียกตัวเองว่า “บ้านห้วยโอ้ม” และอีกหย่อมเรียกตัวเองว่า “บ้านห้วยปลากั้ง” เมื่อปี พ.ศ. 2509 หย่อมบ้านห้วยปลากั้งได้ย้ายเข้ามารวมกลุ่มกับบ้านห้วยโอ้มและอีกกลุ่มหนึ่งได้ย้ายไปตั้งบ้านใหม่ เรียกชื่อว่า “บ้านนา” เมื่อปี พ.ศ. 2512 ทางหมู่บ้านได้สร้างโรงเรียนขึ้นมาหนึ่งหลังและได้เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านไร่รวงทอง การปกครองขึ้นกับบ้านแก้ม หมู่ 5 ตำบลวรนคร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2522 ได้แยกการปกครองเป็น บ้านไร่รวงทอง หมู่ที่ 13 ตำบลปัว และเมื่อปี พ.ศ. 2529 หย่อมบ้านนา ได้เข้ามารวมกลุ่มกับบ้านไร่รวงทอง ปี พ.ศ. 2528 ได้มีการเปลี่ยนการปกครองจาก หมู่ 13 มาเป็นหมู่ 6 ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน จนถึงปัจจุบันนี้ 

บ้านไร่รวงทอง อยู่ในการดูแลของเทศบาลตำบลปัว มีข้อมูลและรายละเอียดดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลไชยวัฒนาและตำบลสถาน อำเภอปัว
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลวรนคร อำเภอปัว
  • ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลป่ากลาง อำเภอปัว และตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลแงงและตำบลเจดีย์ชัย อำเภอปัว

ลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดปกคลุมประเทศไทย 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยลักษณะภูมิอากาศ อากาศจะร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนและหนาวในฤดูหนาว ส่วนฤดูฝนมีฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนของทุกปี

ชาวบ้านประกอบอาชีพหลัก คือ รับจ้างทั่วไป และมีการทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก เพราะทุก ๆ ครัวเรือนมีพื้นที่ในการทำนาปลูกข้าว หลังจากฤดูทำนาเสร็จชาวบ้านก็จะออกทำงานรับจ้างทั่วไป

ประชากรส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 99 ของจำนวนประชากรในเขตเทศบาล

สถิติข้อมูลทางการทะเบียนราษฎรในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านไร่รวงทอง เมื่อเดือนมกราคม 2566 ระบุว่า มีประชากรเพศชาย จำนวน 157 คน เพศหญิง จำนวน 164 คน รวมเป็น 321 คน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การผลิตสุรากลั่นในเขตพื้นที่บ้านไร่รวงทองนั้นมีการผลิตอยู่ 2 รูปแบบ โดยมีการเริ่มผลิตสุรากลั่นแบบระบบน้ำวน (แบบเดิม) ซึ่งมีการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในหมู่บ้าน ต่อมาจึงมีการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายให้แก่หมู่บ้านใกล้เคียง จึงทำให้เกิดการก่อตั้งโรงผลิตสุรากลั่นโดยอยู่ภายใต้การดูแลของกรรมสรรพสามิตที่ช่วย ดูแลและควบคุมการผลิตสุรากลั่นเพื่อจำหน่ายและได้ความสมดุลกันของระดับแอลกอฮอล์ตามกฎหมายในประเทศไทย ภายหลังก็มีการก่อตั้งโรงผลิตสุรากลั่นระบบไอน้ำ (แบบใหม่) ขึ้นภายในพื้นที่หมู่บ้านเพื่อจัดจำหน่ายไปยังห้างสรรพสินค้า และหมู่บ้านที่ใกล้เคียงเช่นเดียวกันกับระบบน้ำวน (แบบเดิม)

ประวัติการก่อตั้งโรงผลิตสุรากลั่นในเขตพื้นที่บ้านไร่รวงทอง

ภายในหมู่บ้านไร่รวงทองมีโรงผลิตสุรากลั่นภายในหมู่บ้านทั้งหมด 3 โรง ผลิตระบบน้ำวน (แบบเดิม) มีอยู่ 3 โรง และระบบไอน้ำ (แบบใหม่) 1 โรง

โรงผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวน (แบบเดิม) 

โรงผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวนบ้านไร่รวงทอง ลักษณะของสถานประกอบการขายสุรา เป็นโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรา สถานที่ตั้ง เลขที่ 109 หมู่ที่ 6 ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน 55120 โรงสุรากลั่นระบบน้ำวนนี้มีการสร้างโรงผลิตสุราไป 2 ครั้ง ครั้งแรกสร้างใกล้แหล่งน้ำเกินไปจากการเข้ามาตรวจของกรมสรรพสามิต ไม่ผ่านกฎหมายการสร้างโรงสุรากลั่นเนื่องจากการสร้างโรงสุรากลั่นจะต้องอยู่ไกลออกจากแหล่งน้ำประมาณ 100 เมตร เป็นต้นไปจึงจะสร้างโรงผลิตสุรากลั่นได้ เจ้าของจึงมีการย้ายมาสร้างบริเวณทางทิศเหนือของหมู่บ้านและซึ่งไกลออกจากแหล่งแม่น้ำ ตามกฎหมายของกรมสรรพสามิต 

โรงผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวนอีกแห่งมีที่ตั้งในเขตหมู่บ้านไร่รวงทอง แต่ก่อนตั้งโรงสุรากลั่นในปัจจุบันนี้ แต่เดิมโรงสุรากลั่นแห่งนี้ได้ตั้งในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านจนเกินไป ทำให้ต้องสร้างโรงสุรากลั่นใหม่ขึ้นให้ห่างออกจากหมู่บ้านออกไป สถานที่ตั้งปัจจุบันอยู่เลขที่ 111 หมู่ 6 ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน 

โรงผลิตสุรากลั่นระบบไอน้ำ (แบบใหม่) 

โรงผลิตสุรากลั่นระบบไอน้ำบ้านไร่รวงทอง เป็นโรงอุตสาหกรรมใช้ชื่อ วิสาหกิจชุมชน ทับทิมสุรากลั่น โดยเจ้าของคือ นางสาวทับทิม ทนุธรรมเดชา ผลิตสินค้าประเภทสุรา สถานที่ตั้งเลขที่ 112 หมู่ 6 ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน 55120 ซึ่งนางสาวทับทิม ทนุธรรมเดชา ได้เริ่มศึกษาการผลิตสุรากลั่นโดยใช้ระบบไอน้ำและเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตสุรากลั่น นางสาวทับทิมจึงนำสิ่งที่ตนเองได้เข้าร่วมอบรมและสิ่งที่ตนเองศึกษามา เริ่มนำความรู้เหล้านั้นมาใช้และก่อตั้งโรงผลิตสุรากลั่นโดยระบบไอน้ำเพื่อทำให้ผลผลิตสุรากลั่นออกมาเป็นจำนวนมากได้ตามที่ต้องการ และมีการขึ้นทะเบียนและอยู่ในการควบคุมการผลิตของกรมสรรพสามิต

การผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวนและระบบไอน้ำ

การผลิตสุรากลั่นในเขตพื้นที่บ้านไร่รวงทองนั้นเริ่มมาจากผลิตแบบระบบน้ำวน (แบบเดิม) ซึ่งแต่อดีตแรกเริ่มที่มีการผลิตสุรากลั่นก็ใช้ระบบน้ำวนมาตั้งแต่แรก แต่จะผลิตในป่าจะไม่มีโรงผลิตเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันโรงสุรากลั่นอยู่ภายในการควบคุมของกรมสรรพสามิตที่มีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ส่วนการผลิตสุรากลั่นโดยใช้ระบบไอน้ำ (แบบใหม่) เป็นระบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการจัดการการผลิตสุรากลั่น สามารถผลิตและกลั่นสุราออกมาได้จำนวนมากกว่าระบบน้ำวน (แบบเดิม) ระบบการผลิตนี้จึงเป็นระบบวิธีการผลิตสุรากลั่นแบบใหม่ 

การผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวน (แบบเดิม)

กระบวนการผลิตสุรากลั่นนั้น มีวิธีการผลิตอยู่ 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ดังนี้ 

1) หมักข้าว คือ จะใช้ปลายข้าว (ข้าว กข 10) ราคาข้าวกระสอบละ 1,000 บาท นำข้าวไปล้างน้ำจนน้ำที่ล้างนั้นสะอาด หรือมีสีน้ำเป็นใส ๆ จากนั้นก็จะนำข้าวไปแช่กับน้ำอีกประมาณครึ่งชั่วโมงหลังแช่เสร็จก็นำไปล้างอีกครั้งแล้วนำน้ำที่แช่ออก หลังจากนั้นก็นำข้าวไปนึ่งใช้เวลานึ่ง ประมาณ 1ชั่วโมง พอนึ่งข้าวเสร็จแล้วก็นำข้าวที่นึ่งมาตากไว้ให้ข้าวเย็น หลังจากนั้นพอข้าวเย็นแล้วก็จะนำไปใส่ถัง (ข้าว 1 กระสอบ ต่อ 8 ถังหมัก) แล้วนำลูกแป้ง ไปบดเพื่อมาใส่หมักกับข้าวคลุกเคล้าลูกแป้งกับข้าวให้เข้ากันแล้วนำน้ำมาใส่เพื่อหมักข้าวไว้ ประมาณ 5-6 วัน หลังจากนั้นก็จะมีการเติมน้ำเปล่า (หรือผ่าน้ำ) แล้วนับการหมักข้าวไปอีก 10 วัน รวมกันก็ประมาณ 15 วัน

2) นำข้าวไปต้ม หลังจากที่นำข้าวไปหมักไว้แล้ว 15 วัน แล้วนำข้าวจากถังไปเทในหม้อต้มสุราแล้วก็รอการกลั่นประมาณ 2-3 ชั่วโมง

3) ขั้นตอนการกลั่น กลั่นสุราออกมาหลังจากที่นำข้าวหมักไปใส่หม้อต้มสุราแล้วก็จะนำหม้อต้มสุราไปตั้งเตาไฟ จากนั้นก็ก่อไฟโดยใช้ฟืนในการต้มสุราโดยใช้ไฟที่สม่ำเสมอกันไฟไม่แรงเกินไปหรืออ่อนเกินไปในการกลั่นสุรา หลังจากกลั่นออกมาแล้วก็จะได้สุราประมาณถัง 20 ลิตร 

ภาษาที่ใช้สื่อสารในชุมชน ได้แก่ ภาษาไทยกลางและภาษาไทยท้องถิ่นภาคเหนือหรือคำเมือง


ความเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการผลิตสุรากลั่นในพื้นที่บ้านไร่รวงทอง ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน

การผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวนและระบบไอน้ำ ในพื้นที่หมู่บ้านไร่รวงทอง ในอดีตนั้นมีการใช้ระบบน้ำวนมาแต่เดิมจนถึงปัจจุบัน และในปัจจุบันก็ยังมีการใช้ระบบน้ำวนในการผลิตสุรากลั่นอยู่ นอกจากในพื้นที่หมู่บ้านจะมีโรงผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวนอยู่แล้ว ปัจจุบันในพื้นที่หมู่บ้านก็ได้มีโรงผลิตสุรากลั่นระบบไอน้ำเข้ามาเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิต สำหรับความเปลี่ยนแปลงในการผลิตนั้นไม่มีความเปลี่ยนแปลงแต่กลับมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตสุรากลั่น เพราะในปัจจุบันมีทั้งการผลิตสุรากลั่นแบบระบบน้ำวนและระบบไอน้ำ

ส่วนปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเพราะที่สมัยใหม่มีเทคโนโลยี มีเทคนิคในการผลิต ที่จะผลิตสุรากลั่นออกมาได้เป็นจำนวนมากกว่าระบบน้ำวน (ระบบเดิม) ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญในการผลิตแบบระบบไอน้ำ พึงพอใจทั้งการผลิตทั้งการลงทุน ประกอบกับปัจจุบันที่มียุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงมีการผลิตสุรากลั่นด้วยระบบต่าง ๆ เข้ามา เช่น ระบบไอน้ำ (แบบใหม่) ขึ้นมาเพื่อเป็นการลงทุนมากแต่ก็กลับได้ผลผลิตที่คุ้มค่ากับการลงทุนไป

การเปรียบเทียบการผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวนและระบบไอน้ำในพื้นที่บ้านไร่รวงทอง ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน

ด้านการผลิต 

การผลิตสุรากลั่นด้วยระบบน้ำวนและระบบไอน้ำ มีข้อสังเกตทั้งเหมือนและแตกต่างกันออกไป สิ่งที่ทั้ง 2 ระบบเหมือนกันคือ การใช้ฟืนในการเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดไฟเหมือนกัน มีการใช้น้ำเย็นและน้ำอุ่นในการกลั่นเพื่อให้เกิดการควบแน่นออกมาเป็นสุรากลั่นเหมือนกัน

ส่วนความแตกต่างกันคือขั้นตอนในการกลั่นที่ระบบน้ำวนไม่ซับซ้อน มีเพียงแค่เตา กระทะสำหรับการกลั่น ท่อน้ำที่ใช้หมุนเวียนของน้ำเย็นและน้ำอุ่น ใช้ภูมิปัญญาที่ผลิตในอดีต ส่วนการผลิตสุรากลั่นระบบไอน้ำใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เสริมเข้ามาใช้ในการผลิตจึงมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่าการผลิตแบบระบบน้ำวน และในส่วนปริมาณสุราที่กลั่นออกมาระบบไอน้ำจะสามารถผลิตหรือกลั่นสุราออกมาได้เป็นจำนวนมากกว่าระบบน้ำวน และสำหรับการกลั่นสุรา ออกมาแล้วระบบไอน้ำยังต้องนำสุราที่กลั่นออกมาได้แล้วนำไปกรองกับสำลีให้สีสุราที่กลั่นออกมาเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ให้เป็นสุรากลั่นที่มีสีขาวใสจึงจะบรรจุภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายได้ แต่การกลั่นสุราระบบน้ำวนไม่ต้องกรองสำลีสามารถนำใส่ขวดบรรจุภัณฑ์และจัดจำหน่ายได้เลย

ด้านการจัดจำหน่าย 

การจัดจำหน่ายสุรากลั่นของระบบน้ำวนอดีตจัดจำหน่ายเพียงในหมู่บ้าน ต่อมามีพ่อค้าคนกลางมาซื้อเพื่อไปจัดจำหน่ายต่อ มีการจัดจำหน่ายที่ไม่มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ภายหลังกรมสรรพสามิตเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการจัดจำหน่ายสุรากลั่น ทำให้สุรากลั่นถูกกฎหมายโดยมีการใช้อากรแสตมป์หรือเครื่องหมายในการค้า การจัดจำหน่ายในปัจจุบันถือว่าเป็นสุราที่ถูกต้องตามกฎหมาย จัดจำหน่ายทั้งในหมู่บ้าน หมู่บ้านใกล้เคียงรวมไปถึงพ่อค้าคนกลางที่จะนำไปจัดจำหน่ายต่อ มีรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภคเพราะความเคยชินจากการดื่มในอดีตมาจนถึงในปัจจุบัน ส่วนราคาในอดีตขายเพียง 40 บาทต่อขวด แต่ในปัจจุบันขายในราคา 50-60 บาทต่อขวด เพราะราคาข้าวที่ใช้ในการหมักมีราคาเพิ่มขึ้นราคาสุรากลั่นก็จะมีราคาขึ้นตามทุนในการผลิต

การจัดจำหน่ายสุรากลั่นระบบน้ำวน เป็นสุราที่ถูกกฎหมายมาตั้งแต่การผลิตเริ่มแรกเพราะได้มีกรมสรรพสามิตเข้ามามีบทบาทควบคุมต่อการจัดจำหน่าย มีอากรแสตมป์หรือเครื่องหมายการค้าที่ถูกต้อง ส่วนการจัดจำหน่ายนั้นสุรากลั่นจะถูกส่งขึ้นตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ผลิตออกมาเป็นจำนวนมากตามตลาดหรือห้างสรรพสินค้าที่ได้รับออเดอร์เข้ามา มีทั้งการจำหน่ายแบบปลีก และ ส่ง ราคาการขายในหมู่บ้านหรือทั่วไปราคา 60-70 บาทต่อขวด ส่วนการส่งไปยังห้างสรรพสินค้าต่างนั้นราคาจะอยู่ตามผู้รับจำหน่ายไปตั้งเอง โดยมีราคาประมาณ 80 บาทต่อขวด

ด้านต้นทุนในการผลิตสุรากลั่น 

สำหรับการลงทุนในการผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวนนั้นเป็นการผลิตที่เป็นวิถีแห่งความพอเพียงจะผลิตเพื่อจัดจำหน่ายตามกำลังที่ตนมี แม้จำนวนการผลิตน้อยแต่ก็มีจำนวนผู้บริโภคเพียงพอ ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพราะการจะผลิตตามแบบระบบไอน้ำแม้จะได้ปริมาณสุรากลั่นที่ออกมาเป็นจำนวนมากแต่เป็นการเสี่ยงที่จะนำเงินไปลงทุนกับอุปกรณ์ จึงไม่คิดจะเปลี่ยนการผลิตให้ทันสมัยแต่กลับใช้ระบบภูมิปัญญาเดิม ใช้ความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิคในการผลิตเฉพาะตัว

ต้นทุนในการผลิตสุรากลั่นระบบไอน้ำเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ควบคู่ไปกับการผลิตสุราออกมา มีอุปกรณ์ ขั้นตอนที่จำนวนมากต้องมีกำลังในการผลิต มีจำนวนแรงงานที่มากกว่าระบบน้ำวนที่ใช้เพียงคนเดียวในการผลิตก็สามารถผลิตออกมาได้ แต่การผลิตแบบระบบไอน้ำต้องใช้คนหรือแรงงานมากกว่า 2 คนขึ้นไป ต้องทำตามปริมาณสุราที่กำหนดในแต่ละวัน 

ในการผลิตสุรากลั่นนั้นมีทั้งข้อดี ข้อต่างหรือสิ่งที่เหมือนกันทั้ง 2 ระบบ ในการผลิตนั้นต้องใช้ความสามารถด้านการจัดการของแต่ละผู้ประกอบการ การผลิตแบบระบบน้ำวนก็ใช้เทคนิคระบบเป็นภูมิปัญญาแบบเดิมของชาวบ้าน ส่วนการผลิตแบบระบบไอน้ำนั้นจะใช้ความสามารถ (ความรู้จากภูมิปัญญาเดิม) เทคนิคและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตสุรากลั่น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

รัดเกล้า เปรมประสิทธิ์. (2557). การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวอําเภอปัว จังหวัดน่าน. วารสารอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน, 5(1), 29-41.

รวินท์นิภา คำเทพ. (2562). การผลิตสุรากลั่นระบบน้ำวนและระบบไอน้ำ บ้านไร่รวงทอง ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

เทศบาลตำบลปัว. (2566). ข้อมูลทั่วไป. จาก https://www.tessabanpua.com/

สํานักงานจังหวัดน่าน. (2564). แผนพัฒนาจังหวัดน่าน (พ.ศ. 2566-2570). น่าน : ผู้แต่ง.