ศรีมงคลเป็นสง่า หัตถกรรมผ้าสําเร็จรูปมากมี บาติกมัดย้อมหลากสี ของดีกระเทียมลําไย รักษาไว้วัฒนธรรมไทยอง
ที่มาของชื่อต้นผึ้ง มาจากการตั้งถิ่นฐานของชุมชนซึ่งมีต้นงิ้ว (นุ่น) ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น ขนาด 5 คนโอบ และภายในบริเวณใบและกิ่งก้านมีแต่รังผึ้งเต็มไปหมด ประมาณไม่ต่ำกว่า 500 รัง และสุดท้ายก็ได้ตั้งชื่อว่าบ้านต้นผึ้ง ตามชื่อของผึ้งที่เกาะบนต้นงิ้วหรือต้นนุ่นในชุมชน
ศรีมงคลเป็นสง่า หัตถกรรมผ้าสําเร็จรูปมากมี บาติกมัดย้อมหลากสี ของดีกระเทียมลําไย รักษาไว้วัฒนธรรมไทยอง
ประวัติชุมชนสำนวนที่ 1
หมู่บ้านต้นผึ้งได้เริ่มก่อตั้งเมื่อมีคนกลุ่มแรกอพยพมาจากบ้านดอนตอง ตำบลแม่แรง อำเภอปากบ่อง (ป่าซาง) ในปัจจุบัน เดิมมีกลุ่มคนมาจากดอนตองใต้ บ้านหนองเงือก แต่ไม่สามารถระบุชื่อได้เพราะไม่รู้จักชื่อที่แน่นอน ครั้งแรกมีจำนวนครอบครัวทั้งหมด 7 ครัวเรือน มาตั้งรากฐานที่ใต้ต้นไม้ คือ ต้นงิ้ว (นุ่น) ซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น ขนาด 5 คนโอบ และภายในบริเวณใบและกิ่งก้านมีแต่รังผึ้งเต็มไปหมด ประมาณ ไม่ต่ำกว่า 500 รัง ต้นงิ้วสมัยนั้นสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 500 ปี และสุดท้ายก็ได้ตั้งชื่อว่าบ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 3 เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2421 เมื่อคนกลุ่มแรกเข้ามามีการเพาะปลูกใกล้แม่น้ำ ปัจจุบันเรียก แม่น้ำลี้ การเพาะปลูกเริ่มดีขึ้น จึงชักชวนญาติพี่น้องทยอยกันเข้ามาอาศัยมากขึ้น
บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 120 ครัวเรือน มีจำนวนผู้อยู่อาศัยประมาณ 357 คน สำหรับประวัติการก่อตั้งบ้านต้นผึ้งนี้ไม่สามารถระบุ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนกล่าวว่าได้ก่อตั้งเป็นหมู่บ้านมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ส่วนที่มาของชื่อหมู่บ้านก็เนื่องมาจากมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ลำขาว บนต้นไม้นั้นมีผึ้งมาทำรังเป็นจำนวนมากกว่าร้อยรัง จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านต้นผึ้ง ต้นไม้นี้ถูกโค่นลงเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพราะอยู่บริเวณบ้านของพ่อหลวงเมือง ณ ลำพูน
ประวัติชุมชนสำนวนที่ 2
“บ้านต้นผึ้ง” ก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. ไหน ไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่คาดกันว่าน่าจะก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่สมัยที่พระเจ้ากาวิละพร้อมไพร่พลได้ไปกวาดต้อนผู้คนมาจากแคว้น “สิบสองปันนา” ที่เรียก กันว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” แล้วนํามาพักอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำทา เขตพื้นที่อําเภอป่าซาง จังหวัดลําพูน (ปัจจุบัน) เป็นเวลานานถึง 14 ปี ก่อนที่จะยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่กลับคืนมาจากพม่า ในขณะที่พักอยู่ที่ป่าซาง ในอดีต เรียกว่า “แคว่นสะดุ้งป่าซาง ท่าท้างหริภุญไชย ปรีสุขาวดี” ได้มี การขยายที่อยู่อาศัยออกมายังบริเวณใกล้เคียง และได้ตั้งรกรากปักฐานอยู่ ณ สถานที่ที่เรียกว่า “หมู่บ้านต้นผึ้ง” เป็นชุมชนชาวไท เมืองยอง ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลําพูน และยังคงเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษา ไว้ได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าประชาชนมีการพูด “ภาษายอง” กันทั้งหมู่บ้าน และจากคําบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ บอกว่าเดิมที มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งมีผึ้งหลวงมาอาศัย ทํารังอยู่เป็นจํานวนมาก ผู้คนสมัยนั้นจึงเรียกว่า “หมู่บ้านต้นผึ้ง”
ก่อนนั้น หมู่ที่ 3 คือบ้านต้นผึ้งและบ้านป่าบุก เป็นหมู่บ้านเดียวกัน มีพ่อหลวงเทศ มูลรังษี เป็นพ่อหลวงบ้านต้นผึ้งและบ้านป่าบุก จนถึงปี พ.ศ. 2527 ท่านได้หมดวาระลง จึงได้มีการเลือกตั้ง พ่อหลวงใหม่ (ผู้ใหญ่บ้าน) จากการเลือกตั้ง ได้พ่อหลวงแสงเมือง ณ ลําพูน เป็นพ่อหลวงบ้านต้นผึ้ง และบ้านป่าบุก ดํารงตําแหน่งจนถึงปี พ.ศ. 2531 เมื่อจํานวนประชากร และจํานวนครัวเรือนในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น จึงได้ขออนุญาตแยกการปกครองออกจากบ้านต้นผึ้งและบ้านป่าบุก หมู่ที่ ออกมาเป็นหมู่บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 3 ส่วนบ้านป่าบุก เป็นหมู่ที่ 10 จนถึงปัจจุบัน บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ พ่อหลวงอรรณพ จันทะวัง ดํารงตําแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2531 จนถึง พ.ศ. 2554 ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ คือนายณรงค์ ปาระมี เป็นผู้ใหญ่บ้านต้นผึ้ง คนที่ 2 ดํารงตําแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จนถึง พ.ศ. 2564 ปัจจุบันมีนายจําลอง กันทะ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้นผึ้ง คนที่ 3 ปัจจุบัน บ้านต้นผึ้ง แบ่งเขตการดูแล เป็น 2 ชุมชน (ค้อ) ได้แก่ ชุมชน (ค้อ) บ้านเหนือ และชุมชน (ค้อ) บ้านใต้
การเดินทางการเดินทางเข้าถึงหมู่บ้านต้นผึ้ง เริ่มจากทางหลวงหมายเลข 11 สายเชียงใหม่-ลำปาง เลี้ยวขวา เข้าเมืองลำพูนที่สามแยกดอยติ ข้ามทางรถไฟเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 116 ถนนอ้อมเมืองลำพูน จนถึงแยกสะปุ๋ง (เข้าสู่ถนนพหลโยธินสายเก่า) แยกไฟแดงให้ตรงไปประมาณ 1 กม. เลี้ยวขวาตรงซุ้มป้ายทางเข้าบ้านดอนหลวงตรงไปประมาณ 200 เมตร จะพบสามแยกกลางหมู่บ้านดอนหลวงให้เลี้ยวซ้าย และตรงไปเรื่อย ๆ ประมาณ 1 กม. จนถึงหมู่บ้านต้นผึ้ง เมื่อเข้าเขตหมู่บ้านจะพบเห็นวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านที่กำลังทำผ้ามัดย้อมกันทั่วหมู่บ้าน
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูกและทำการเกษตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอําเภอป่าซาง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ ไม่มีป่าไม้ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย มีเหมืองสาธารณะไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกและ ทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่แรง หมู่ที่ 2 ตําบลแม่แรง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านป่าบุก หมู่ที่ 10 ตําบลแม่แรง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดอนหลวง หมู่ที่ 7 ตําบลแม่แรง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านดอนตอง หมู่ที่ 4 ตําบลแม่แรง
การคมนาคมติดต่อได้สะดวกทางบก สามารถเข้าถึงได้หลายเส้นทาง มีถนนเชื่อมติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นถนนลาดยางสภาพดี
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ เดือนมกราคม 2566 ระบุว่า พื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านต้นผึ้ง มีประชากรเพศชายจำนวน 194 คน เพศหญิง จำนวน 200 คน รวมทั้งสิ้น 394 คน
ประชากรโดยส่วนใหญ่เกือบทุกหลังคาเรือน มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม การทําสวนลําไย หรือพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ตามฤดูกาล เช่น กระเทียม หอมแดง พริกชี้ฟ้า พริกหนุ่ม มะเขือเทศ เป็นต้น บางครัวเรือนมีอาชีพค้าขายควบคู่ไปด้วย เช่น ค้าขายเสื้อผ้าพื้นเมือง สําเร็จรูป ค้าขายของชํา หรือสินค้าอื่น ๆ ร้านอาหาร บางครัวเรือนรับจ้างทั่วไป รับจ้างย้อมผ้า มัดผ้า สลับกับการทําการเกษตร มีส่วนน้อยที่ทํางานในบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมหรือประกอบอาชีพรับราชการ
ยองการประกอบอาชีพในชุมชนมีการทำอาชีพหลักคือ การทำเกษตรและอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกข้าว ปลูกลำไย ถือว่าเป็นอาชีพหนึ่งของชาวบ้านในหมู่บ้านมีการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี การทอผ้าและผลิตภัณฑ์ผ้า ถือว่าเป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่งของชาวบ้านและผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก (ผ้ามัดย้อม) ผ้ามัดย้อมถือว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง ซึ่งการทำผ้าบาติกมัดย้อมนี้จะมีการนำไปแปรรูปเป็นเสื้อผ้าออกไปในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำจำหน่ายสู่สถานที่ต่าง ๆ
การแปรรูปผ้ามัดย้อม
การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแปรรูปโดยคนในชุมชนบ้านต้นผึ้ง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งผลิตภัณฑ์จากผ้ามัดย้อมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของตำบลแม่แรง ผ้ามัดย้อมถือเป็นผ้าที่มีลักษณะเด่นคือ เป็นการนำเอาผ้าสีพื้นหรือสีขาวมามัดและย้อมสีให้เกิดลวดลายสวยงาม คำว่ามัดย้อมบ่งชี้ความเป็นลักษณะเฉพาะของเทคนิคการทำมัดย้อม มีประวัติความเป็นมายาวนานประมาณ 20 ปี โดยคนในชุมชนเป็นผู้ศึกษา เรียนรู้
การย้อมผ้า การออกแบบสร้างสรรค์ลวดลายและการถ่ายทอด ด้วยตนเอง เพื่อสามารถสร้างเป็นรายได้ให้แก่ตนเองและชุมชน ผ้ามัดย้อมได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการที่มีผลกระทบต่อการสร้างสรรค์รูปแบบของผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม
กระบวนการแปรูปผ้ามัดย้อม
การนำผ้าเป็นฝืนมาทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยผ่านกระบวนการตัดเย็บ ตกแต่ง การย้อมสีด้วยฝีมือ ความรู้ ความชำนาญของผู้ผลิต เช่น เสื้อผ้า กางเกง ชุดเดรส กระเป๋า ปลอกหมอน ผ้าคลุมไหล่ หมวก เป็นต้น
วิธีการออกแบบและตัดเย็บผ้า
การออกแบบเสื้อผ้าที่จะนำมาทำผ้ามัดย้อม เป็นผลงานที่ออกแบบความคิดสร้างสรรค์โดยนำความรู้ ประสบการณ์ และจินตนาการของผู้แปรรูปเอง เพื่อสื่อออกมาในรูปแบบของแบบร่างจากผู้แปรรูป ซึ่งเป็นผลงานที่มีลักษณะเฉพาะที่สื่อความเป็นตัวตนของผู้ออกแบบแปรรูปของผ้าที่จะนำมามัดย้อม ที่สำคัญคือช่วยให้สื่อสารระหว่าง ผู้ออกแบบ และผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานให้ออกมาเป็นผลสำเร็จลุล่วง และเป็นที่ยอมรับของบุคคลในยุคสมัยนั้น ๆ โดยยึดหลักทางด้านศิลปะที่สำคัญในการออกแบบคือ ความสวยงามและประโยคใช้สอย การออกแบบและตัดเย็บที่สำคัญมี ดังนี้
- สัดส่วนในการออกแบบเสื้อผ้า สัดส่วนระหว่างแบบเสื้อและส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น ปกเสื้อ กระเป๋า กระดุม รวมถึงสิ่งตกแต่งอื่น ๆ ต้องมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กัน อย่างเหมาะสมทั้งในเรื่องของขนาดและแบบที่เหมาะสมกับเสื้อนั้น ๆ เพื่อความสวยงาม
- ความสมดุลในการออกแบบเสื้อผ้า การจัดวางสิ่งตกแต่งและส่วนประกอบของเสื้อผ้าให้มีความสมดุลโดยวัดจากความรู้สึกที่มองเห็นด้วยตา
- การจัดวางและการใช้เทคนิคในการตกแต่งเสื้อผ้า เพื่อให้เกิดความสะดุดตา เป็นการนำวัสดุมาตกแต่งบนเสื้อผ้า ขึ้นอยู่กับลักษณะการออกแบบและการตัดเย็บทำให้เกิดระยะ เกิดความเคลื่อนไหว สวยงาม อ่อนหวาน หรือหยาบกระด้าง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการเลือกจังหวะการจัดวางรูปแบบของผ้าด้วย
- การตัดเย็บเสื้อผ้าหรือการแปรรูปผ้าเป็นอย่างอื่นเป็นการออกแบบที่มีความหลากหลาย เพราะจะทำให้ดึงความสนใจและความงามของตัวผลิตภัณฑ์ที่ได้ไป ประโยชน์ของการเน้นทำให้มีคุณภาพ คุณค่า มีเอกลักษณ์มากขึ้น
การตัดเย็บผ้า ผ้าที่ใช้ในการแปรรูปส่วนใหญ่มีผ้าอยู่ 2 ชนิด คือ ผ้าแมมเบิร์ตและผ้าฝ้าย เนื่องจากผ้า 2 ชนิดนี้เป็นผ้าที่นำมาย้อมแล้วสีติดง่าย ติดทน ใส่สบาย ไม่ร้อนง่าย จึงทำให้ผ้าทั้ง 2 ชนิดนี้มีความนิยมอย่างมากในการนำมาย้อมสีหรือทำผ้ามัดย้อม
สำหรับการออกแบบลวดลายของผ้ามัดย้อมขึ้นอยู่กับจินตนาการและการสังเกตของแต่ละบุคคล ซึ่งการมัดแต่ละครั้งหรือแต่ละคน ลายผ้าจะได้ไม่เหมือนกัน แต่สามารถปรับปรุงหรือออกแบบให้ใกล้เคียงหรือคล้ายกันได้ ซึ่งการมัดลายผ้ามัดย้อมแบบพื้นฐานมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ดังนี้
- การพับ เป็นการพับผ้าในรูปแบบต่าง ๆ แล้วมัดยางด้วยเชือกหรือหนังยางพลาสติก ผลที่ได้ก็จะได้เป็นลวดลายที่มีลักษณะลายด้านซ้ายและด้านขวาจะมีความคล้ายกันแต่จะมีสีอ่อนด้านหนึ่งสีเข้มด้านหนึ่ง เนื่องจากหากด้านใดด้านหนึ่งโดนพับทับไว้สีด้านในก็จะเข้าไปแทรกซึงได้น้อย จึงทำให้สีที่ได้นั้นจางกว่า
- การม้วนแล้วมัด เป็นการนำผ้ามาม้วนกับแกนกลางหรือม้วนแบบไม่มีแกนก็ได้แล้วมัดให้ได้ตามตำแหน่งที่ต้องการ วิธีนี้อาจจะนำการพับเข้ามาผสมผสาน เช่น ม้วนแล้วถอดแกนออก นำมาพับแล้วมัด หรือ พับก่อนแล้วนำมาม้วนเสร็จแล้วถอดแกนออก
- การขยำแล้วมัด นำผ้ามารวบเป็นกระจุกอย่างไม่ตั้งใจแล้วมัดด้วยหนังยางหรือเชือก ผลที่จะได้คือลวดลายแบบอิสระหรือเรียกอีกอย่างว่าสวยแบบบังเอิญ ถ้าทำด้วยวิธีนี้ในครั้งต่อไปจะไม่ได้ลวดลายแบบที่ทำครั้งแรกอีกแล้ว เนื่องจากการขยำแต่ละครั้งเราไม่สามารถควบคุมการขยำการทับซ้อนของผ้าในแต่ละครั้งได้ การทำด้วยวิธีนี้จากการสัมภาษณ์ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำลวดลายเพราะเป็นลายตามใจฉัน เป็นลวดลายที่ออกมาสวยงามตามการขยำมีลักษณะเฉพาะเหมือนกับมีลายเดียวไม่มีการซ้ำกันของลวดลาย
ปัจจุบันการทำผ้ามัดย้อมในชุมชนบ้านต้นผึ้ง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ยังมีการย้อมสีทั้งสีธรรมชาติและสีสังเคราะห์ เนื่องจากการหาวัสดุที่ได้จากสีที่เป็นธรรมชาติมาย้อมนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับชุมชนเพราะสภาพแวดล้อมของชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกปี จึงทำให้วัสดุที่ได้จากสีธรรมชาตินั้นไม่ค่อยมีคนปลุกและชุมชนบางส่วนหันมาใช้สีสังเคราะห์แทน เพราะมีความรวดเร็วกว่า หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด และสีที่ได้จากการย้อมคล้ายกัน สำหรับการย้อมสีระหว่างสีธรรมชาติและสังเคราะห์นั้นมีกรรมวิธีการย้อมที่เหมือนกัน แตกต่างกันคือการใช้สีชนิดใดในการย้อมเท่านั้น
กระบวนการถ่ายทอดผ้ามัดย้อม
การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้ามัดย้อมของชุมชนหมู่บ้านต้นผึ้ง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษโดยวิธีธรรมชาติ ได้แก่ การเห็น การจดจำ และการปฏิบัติตาม ประกอบด้วยการศึกษาความรู้ด้วยตนเอง โดยการสอนหรือการดูบางขั้นตอนจากคนในครอบครัว ได้แก่ แม่ ย่า ตา ยาย นอกจากนี้การถ่ายทอดความรู้นั้นผู้ถ่ายทอดจะพิจารณาถึงอารมณ์และจิตใจของผู้รับการถ่ายทอดร่วมด้วยว่ามีความพร้อมที่จะเรียนรู้หรือไม่ และนอกจากการได้รับการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษแล้วยังได้รับการถ่ายทอดความรู้โดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันเองภายในกลุ่มผู้ทำผ้ามัดย้อมชุมชน การถ่ายทอดความรู้สืบสานกันเป็นสังคมมีการสานต่อความคิด สร้างสรรค์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เป็นมรดกและภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมา
การถ่ายทอดความรู้ โดยคุณป้าประทุม จันทร์วัง และคุณลุงมานิต แสงมณี เป็นผู้ถ่ายทอดหลักของชุมชน ต่อมาเมื่อมีรุ่นลูกรุ่นหลานที่ทำได้ดีกว่าและมีคุณภาพ ก็เข้าช่วยสอนให้รุ่นต่อ ๆ ไป คุณลุงมานิต แสงมณี ได้กล่าวถึงการถ่ายทอดความรู้ว่าการถ่ายทอดความรู้ ผู้สอนต้องใช้จิตวิทยาและความอดทนเนื่องจากผู้เรียน มีความรู้ ความสามารถและพื้นฐานที่ต่างกันมีความสามารถใน การจดจำ เรียนรู้แตกต่างกัน ผู้สอนต้องรู้จักลักษณะนิสัยของผู้เรียนแต่ละคน วิธีการถ่ายทอดความรู้จะบอกขั้นตอนโดยละเอียด และบอกความยากง่าย ความอดทนที่ต้องมี ถ้าผู้สนใจรับรู้ข้อมูลแล้วหากตั้งใจจะมาเรียนก็รับมาเรียนต่อไป แต่จะไม่ใช้วิธีเชิญชวน โดยรับผู้เรียนตามความสนใจ ขั้นตอนในการเรียนรู้วิธีทำผ้ามัดย้อม เริ่มแรกจะเรียนรู้กระบวนการทั้งหมด พร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์ การทำผ้ามัดย้อม ผ้าที่ใช้ในการย้อม ต้องตัดเย็บอย่างไร ดังนั้นการย้อมผ้ามีข้อควรคำนึงถึง คือ การย้อมสี ต้องมีความเสมอกัน ไม่เกิดการด่างของสี การย้อมผ้าจึงจะออกมามีคุณภาพ มีลวดลายที่สวยงาม การถ่ายความรู้ทำให้มีผู้ที่สนใจในการทำผ้ามัดย้อมจำนวนมากและมีการเข้ามาศึกษาดูงานกันอยู่ตลอดทุกวันไม่ขาดสาย สำหรับผู้ที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับผ้ามัดย้อมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพียงคนในหมู่บ้านเท่านั้น สามารถเป็นบุคคลภายนอกที่มีความสนใจในด้านนี้และพร้อมที่จะฝึกฝนประสบการณ์ในการทำผ้ามัดย้อม การทำผ้ามัดย้อมสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชน โดยส่วนใหญ่การทำผ้ามัดย้อมของชุมชนเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน และเป็นการส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการทำผ้ามัดย้อม กระบวนการเรียนรู้เป็นการถ่ายทอดกันในชุมชน โดยผู้เรียนจะเรียนโดยตรงจากผู้สอน การฝึกย้อมผ้าที่ชุมชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ผลผลิตจากการย้อมผ้าในชุมชนนำมาจัดจำหน่าย การถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำผ้ามัดย้อมดังกล่าว ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้อยู่คู่กับท้องถิ่น สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสุขให้ทุกคนในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มหัตถกรรมผ้ามัดย้อมได้
ภูมิปัญญาผ้ามัดย้อม เป็นความรู้ที่มีเอกลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะ สะท้อนความเป็นท้องถิ่นของตัวเอง เป็นภูมิปัญญาที่มีความจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของชุมชน เพราะการทำผ้ามัดย้อมสามารถทำให้คนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งเป็นการสืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดสาย มีการปรับปรุงภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนสามารถผสมผสานกับความรู้จากชุมชนมาสร้างสรรค์เพิ่มเติมให้เกิดคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรม เกิดเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมในรูปแบบต่าง ๆ และการย้อมสีที่มีกระบวนการต่าง ๆ ที่สามารถนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจในการทำผ้ามัดย้อม
ปัจจุบันกลุ่มผู้ถ่ายทอดความรู้ผ้ามัดย้อม ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเด็กกลุ่มเยาวชนในหมู่ บ้านหรือกลุ่มคนที่มีความสนใจในการทำผ้ามัดย้อม ทางชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มผู้ทำผ้ามัดย้อมตั้งแต่การตัดเย็บไปจนถึงการย้อมสี เพื่อให้ข้อมูลแก่เยาว์ชนหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงานและฝึกทำผ้ามัดย้อมด้วยตนเองหรือมาเป็นคณะโดยจะมีผู้รู้มาให้คำแนะนำหรือสอนวิธีการทำผ้ามัดย้อม เป็นการพัฒนาและแปรรูปเป็นผ้ามัดย้อมให้มีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ออกแบบลาดลาย สีสัน ตามแนวความคิดของตนเอง สร้างสรรค์ผลงานลงบนผืนผ้า และสืบทอดรักษาภูมิปัญญาของชุมชนให้คงมีอยู่สืบไป
สำหรับการจัดจำหน่ายผ้ามัดย้อมของหมู่บ้านต้นผึ้ง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนนี้ มีการจัดจำหน่ายด้วยตัวเองหรือมีการสั่งซื้อตามออเดอร์ทางอินเตอร์เน็ตหรือเว็บไซต์และมีการจัดงานสำหรับขายผ้าโดยเฉพาะของตำบลแม่แรง ซึ่งมีหน่วยงานเทศบาลตำบลแม่แรง ได้มีการกำหนดการจัดงาน ทั้งหมด 3 งาน ซึ่งงานแรกคือ “งานบาติกงามพร้อม มัดย้อมงามตา งานผ้ากองงาม” โดยกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ณ บริเวณหน้าวัดป่าเหียง บ้านกองงาม หมู่ที่ 1 ภายในงานพบกับการเปิดร้านจำหน่ายผ้ามัดย้อมและผ้าบาติกรวมถึงผลิตภัณฑ์ของดีบ้านกองงาม และหมู่บ้านใกล้เคียง ชมการสาธิตขั้นตอนกระบวนการผลิตจากผ้าบาติกและผ้ามัดย้อม การประกวดธิดาบาติก และชมการแสดงแฟชั่นโชว์หนูน้อยบาติก
งานที่ 2 คือ “งานแต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง” กำหนดให้วันแรกของการจัดงานคือวันศุกร์แรกของเดือนเมษายนของทุกปี และกำหนดระยะเวลาการจัดงาน จำนวน 7 วัน ซึ่งจัดขึ้น ณ บริเวณหน้าวัดดอนหลวง บ้านดอนหลวง หมู่ที่ 7 ลักษณะของการจัดงานเป็นแบบ “กาดปื้นเฮือน” จะเป็นช่วงเวลาของการลดราคาสินค้าประจำปี (สินค้าหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือและผ้าบาติกมัดย้อม) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวรวมทั้งผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การสาธิตการทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองโดยนักท่องเที่ยวสามารถทดลองทอผ้าฝ้ายตามวิถีของชุมชน ได้แก่ ทดลองอีดฝ้าย ปั่นฝ้าย กวักฝ้าย อีกทั้งสัมผัสวัฒนธรรมอันดีงามในการต้อนรับแขกผู้มาเยือน คือ การผูกข้อไม้ข้อมือรับศีลรับพรปีใหม่จากผู้เฒ่าผู้แก่บ้านดอนหลวง มีการจำหน่ายอาหารพื้นเมือง(กาดหมั้ว) ลานขันโตก ชมการแสดงพื้นเมืองของชาวบ้านและนักเรียนในตำบลแม่แรง รวมถึงการจำหน่ายผ้าฝ้าย ผ้าทอ ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อ เป็นของฝากของที่ระลึกในราคาย่อมเยาว์ ท่ามกลางบรรยากาศกลิ่นอายแห่งมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา ด้วยเสียงเพลงสะล้อ ซอ ซึง ที่บรรเลงขับกล่อมตลอดการจัดงาน
งานที่ 3 คือ “งานสืบสานตำนานฝ้ายงามหนองเงือก” กำหนดให้ทุกวันที่ 9-12 เมษายนของทุกปี และกำหนดระยะเวลาจัดงาน จำนวน 5 วัน ซึ่งจัดขึ้น ณ บริเวณหน้า วัดหนองเงือก บ้านหนองเงือก หมู่ที่ 5 สำหรับหมู่บ้านหนองเงือกได้รับคัดเลือกเป็นแกนนำหลักของเครือข่ายกลุ่มผ้าทอของจังหวัดลำพูนร่วมกับบ้านดอนหลวง ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือของหมู่บ้านหนองเงือกยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะความโดดเด่นทางศิลปหัตถกรรมการทอผ้าฝ้ายที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษมานานนับ 200 กว่าปี ซึ่งชาวบ้านหนองเงือกได้สืบทอดการทอผ้าฝ้ายและกรรมวิธี พัฒนารูปแบบสีสัน ลวดลายให้ทันยุคทันสมัยเป็นสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำจากผ้าฝ้ายย้อมด้วยสีธรรมชาติ และยังผลิตส่งไปจำหน่ายยังแหล่งขายของที่ระลึกต่าง ๆ หลายแห่ง โดยการจัดงานดังกล่าวจัดในรูปแบบล้านนาโดยใช้สถานที่บริเวณลานหน้าวัดหนองเงือก หมู่บ้านหนองเงือก หมู่ที่ 5 ในการเล่าขานตำนานการทอผ้าฝ้ายทอมือของบ้านหนองเงือก 12 ขั้นตอนอันเลื่องชื่อชมและสัมผัสบรรยากาศวัฒนธรรมของชาวยองที่เรียบง่ายและวิถีชีวิตชุมชนชาวยองเมืองป่าซาง ลำพูน
คุณค่าของผ้ามัดย้อมที่มีต่อคนในชุมชนและสังคม เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสามารถถ่ายทอดวิธีการทำผ้ามัดย้อมให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ สร้างความสามัคคีและสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชน เสริมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เกิดความคิดสร้างสรรค์ในคิดลวดลายของผ้ามัดย้อม ทำให้เกิดลวดลายที่ใหม่ ๆ ขึ้น เป็นที่เผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจผ้ามัดย้อม
สำหรับการถ่ายทอดผ้ามัดย้อมของชุมชนหมู่บ้านต้นผึ้ง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษโดยวิธีธรรมชาติ ได้แก่ การเห็น การจดจำ และการปฏิบัติตาม ประกอบด้วยการศึกษาความรู้ด้วยตนเอง โดยการสอนหรือการดูบางขั้นตอนจากคนในครอบครัว นอกจากนี้กลุ่มผู้ถ่ายทอดความรู้ผ้ามัดย้อมในชุมชน ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเด็กและเยาว์ชนในหมู่บ้านหรือกลุ่มคนที่มีความสนใจในการทำผ้ามัดย้อม ทางชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มผู้ทำและผู้สอนผ้ามัดย้อมตั้งแต่การตัดเย็บไปจนถึงการย้อมสี เพื่อให้ข้อมูลแก่เยาว์ชนหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงานและฝึกทำผ้ามัดย้อมด้วยตนเอง โดยทางชุมชนได้มีการสาธิตและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผ้ามัดย้อมโดยที่มีบ้านของคุณป้า ราตรี สุนันต๊ะ เป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผ้ามัดย้อมในชุมชนทั้งหมด
จริยา ริยะป่า. (2561). การแปรรูปและกระบวนการถ่ายทอดผ้ามัดย้อมของหมู่บ้านต้นผึ้ง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. สารนิพนธ์ปริญญาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
เทศบาลตำบลแม่แรง. (2566). ข้อมูลพื้นฐานและสภาพทั่วไป. เข้าถึงจาก http://www.maerang.go.th/
เทศบาลตำบลแม่แรง. (2565). หมู่ 3 บ้านต้นผึ้ง. ลำพูน : ผู้แต่ง.
ประสาน ตังสิกบุตร. (2535). ภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา การทอผ้าฝ้ายยกดอกลำพูน. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.