ชุมชนริมน้ำมูล ชุมชนที่มีทุนทางสังคมเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ หาสัตว์น้ำเพื่อการยังชีพ สู่อาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง
ตามคำบอกเล่าอาจอนุมานได้ว่า บ้านคูสว่าง หมายความว่า เอากกยางออกมันจึงสว่าง ซึ่งเดิมบ้านคูสว่างนี้ มีชื่อว่า บ้านยาง โดยมีที่มาจากต้นยางหรือป่ายางที่ขึ้นอยู่ในชุมชน
ชุมชนริมน้ำมูล ชุมชนที่มีทุนทางสังคมเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ หาสัตว์น้ำเพื่อการยังชีพ สู่อาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง
บ้านคูสว่างเดิมเรียกว่า “บ้านยาง” ลักษณะของภูมิประเทศโดยรอบหมู่บ้านสูงๆ ต่ำๆ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลทอดยาวไปตามสายน้ำ พื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่ายาง การทำมาหากินก็ง่ายมีปลาชุกชุม ซึ่งการอพยพเข้ามาในหมู่บ้านแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบ้านบุ่งกาแซว นำโดยคุณตาเรียน เจริญบุตร จำนวน 3 ครัวเรือน กลุ่มที่สองจากวัดสว่างอารมณ์ นำโดยนายหนู ประดับเพชร จำนวน 1 ครัวเรือน กลุ่มที่สาม หมู่บ้านหนองไหล หนองขอน นำโดยนายอุด หมายดี จำนวน 1 ครัวเรือน กลุ่มที่สี่ อพยพจาก บ้านกุดชุม จำนวน 3 ครัวเรือน ชาวบ้านอพยพเข้ามาเพื่อแสวงหาแหล่งทำกินใหม่ โดยการเข้ามาทำไร่ ทำนา “สมัยโบราณเป็นป่ายาง ไม่มีบ้านคนพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงควาย ไม่มีโจรขโมย เมื่อถึงเวลาทำนาก็ตามหาควายเอง ในหมู่บ้านมีป่ายางหลายคนก็อยากมาตั้งบ้าน มาเฮ็ดนา ออกมาจากบ้านหนองไหล คุ้มวัดสว่างในเมือง บ้านบุ่งกาแซว จากกุดชุม บ้านดอนชีท่าวารีมาจากอยู่กันครั้งแรก 6 ครอบครัว เพิ่มเป็น 20-30 ครัวเรือนในปี พ.ศ. 2497 บ้านคูสว่างหมายความว่าเอากกยางออกมันจึงสว่าง” (สุพิศ หมายดี, สัมภาษณ์) (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น. 81-82)
หมู่บ้านคูสว่างตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำมูล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านปากกุดหวาย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกุดชุม
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบลุ่มสูง ๆ ต่ำ ๆ มีพื้นที่ทั้งหมด 5,000 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 100 ไร่ เป็นที่นาประมาณ 3,000 ไร่ นอกนั้นเป็นที่สาธารณประโยชน์ ประชาชนส่วนมากตั้งบ้านเรือนอยูตามริมถนนในหมู่บ้าน มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น. 81-82)
ชุมชนบ้านคูสว่าง มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 264 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 882 คน แบ่งเป็นเพศชาย 435 คน เพศหญิง 450 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2566)
ในปี พ.ศ. 2497 ชาวบ้านหาปลาเพื่อการยังชีพ หากหาได้จำนวนมากก็จะแบ่งปันกันกิน ส่วนที่เหลือนำไปถนอมอาหาร ทำปลาร้า ปลาตากแห้ง และนำไปขายที่ตลาดในช่วงระยะเวลานั้นเมื่อหาปลาได้แล้วจะต้องนำปลาไปขายเอง ไม่มีพ่อค้าในหมู่บ้านเพื่อรับซื้อปลา การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบากเพราะหมู่บ้านอยู่ไกลจากตัวเมืองต้องใช้เวลามากในการเดินทาง ในการหาปลาชาวบ้านต้องผลิตเครื่องมือหาปลาเอง เพราะว่าในหมู่บ้านยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น ไม้ ชัน แต่ต้องมีทักษะและฝีมือในการผลิต แล้วจึงลงมือปฏิบัติ “คั้นมีไม้ก็นำมาเฮ็ดเองตำขี้ซีเอง ไม้ขอนำผู้นั่นผู้นี่หาไม้เก่า มีลำหนึ่งพอขี่แทน เหลือเรือสองลำ ของลูกเขยลำหนึ่ง” (บุญเลิศ ดีโพธิ์กลาง, สัมภาษณ์) เห็นได้ว่าเครื่องมือในการทำมาหากินของชาวบ้านมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเครื่องมือที่ผลิตเองได้จำเป็นจะต้องหาซื้อจากตลาด เช่น เบ็ด แห อวน เรือ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุน
ในการหาปลา ชาวบ้านร่วมกันหาปลาในแม่น้ำซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะไม่มีการกำหนดเขตแดนชาวบ้านทุกคนสามารถหาปลาได้ทุกที่ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ การหาปลาจึงหาแต่พอกินถ้าได้ปลาจำนวนมากก็ต้องนำแลกสิ่งของที่จำเป็น
ระยะต่อมาประมาณช่วงปี พ.ศ. 2525 ในหมู่บ้านเริ่มมีพ่อค้าคนกลาง มารับซื้อปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติและปลาเลี้ยง ลักษณะดังกล่าวนี้จึงก่อให้เกิด กระแสวงหาผลกำไรจากการค้าขายมากขึ้น จนกลายเป็นระบบทุนนิยมในชุมชน ปลาที่หาได้จากการทำปลาร้าก็ต้องปรับเปลี่ยนไป
การเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจภายหลังปี พ.ศ. 2540 อุดมการณ์เดิมของชาวบ้าน คือความพอเพียงแต่หลัง พ.ศ.2540 ได้พัฒนาจากการหาปลามาเป็นการเลี้ยงปลาในกระชัง ครั้งแรกชาวบ้านมีแรงบันดาลใจโดยการแนะนำจากเพื่อนบ้านในเรื่องนำลูกปลามาเลี้ยงในกระชัง และเห็นตัวอย่างจากการเลี้ยงปลาในกระชังจากหมู่ข้างเคียง ต่อจากนั้นก็ได้รับคำแนะนำจากทางบริษัทซีพีเข้ามาสาธิตในการเลี้ยงปลา ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ จึงทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอาชีพของตนจากอาชีพหาปลา มาสู่อาชีพใหม่โดยการเลี้ยงปลากระชังแทน
ภายหลังจากที่เกิดกรณีน้ำท่วมระยะต่อมาชาวบ้านได้หันมาเลี้ยงปลาในกระชัง เพราะว่าชาวบ้านมีทุนทางสังคมที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำก็จะใช้ท่าน้ำของตนเป็นพื้นที่ทำกระชังเลี้ยงปลา ข้อจำกัดในการเลี้ยงปลาในระบบทุนนิยม ได้แก่ พื้นที่เลี้ยงปลา แรงงาน และเงินทุน ซึ่งผู้เลี้ยงปลาต้องจัดหาเอง ส่วนความรู้ หัวอาหาร ยารักษาโรค การขายปลา ต้องพึ่งพิงบริษัทเอกชนเพียงอย่างเดียว จึงประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารปลาและค่าอาหารปลามีราคาสูง ต่อมาชาวบ้านได้รวมตัวกันของกลุ่มผู้เลี้ยงปลาโดยผู้นำชุมชนคือผู้ใหญ่บ้านจัดซื้อเครื่องผลิตอาหารปลา แล้วผลิตอาหารปลาจากวัตถุดิบที่ต้องซื้อจากแหล่งภายนอก ปรากฏว่าหัวอาหารที่ผลิตออกมานั้นมีน้ำหนักมากเกินไป เมื่อนำไปให้ปลาแล้วเม็ดหัวอาหารจะจมเร็วทำให้ปลารับอาหารไม่ทันอาหารนั้นจมตกถึงพื้นดินทำให้เกิดเป็นกรดแก๊ส ซึ่งเป็นสาเหตุของปลาขาดอากาศหายใจ แต่ปัญหาการผลิตอาหารปลายังไม่มีข้อสรุป นอกจากนี้ ยังพบว่า การเลี้ยงปลากระชังมักประสบปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขได้ คือ เมื่อถึงฤดูฝน น้ำฝนได้ชะล้างหน้าดิน ซึ่งมีการเจือปนของสารพิษและสิ่งปฏิกูลลงมายังลำน้ำมูล ทำให้น้ำขุ่นปลาตายเพราะขาดออกซิเจน
โดยภาพรวมชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันแยกเป็นกลุ่ม 4 กลุ่มคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลาน้ำจืด กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มทฤษฎีใหม่ กลุ่มกองทุนเงินล้าน เพื่อนำเงินมาเป็นทุนในการเลี้ยงชีพและเป็นทุนในการเลี้ยงปลา
ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์. (2553). การรับรู้และตีความเศรษฐกิจพอเพียงในมโนทัศน์ของชาวอีสาน. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2566). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php