มีภูมิปัญญากระเบื้องดินขอ วัดท่าข้ามที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านชุมชนท่าข้าม ภายในวัดมีสิ่งปลุกสร้างที่น่าสนใจ ได้แก่ หอระฆัง เจดีย์จำลองทรงพระพุทธคยา อุโบสภไม้สักทอง พระวิหารที่มีภาพวาดฝาผนังเกี่ยวกับพระเวสสันดรที่สวยงาม และมีพระพุทธรูปทองทิพย์ (ชื่อเดิม ดวงทิพย์) เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดท่าข้าม
บ้านท่าข้ามเป็นชื่อที่เกิดขึ้นในสมัยประมาณ พ.ศ. 2469 เดิมชื่อว่า “บ้านแม่เหียะ” สาเหตุที่ชื่อว่า “บ้านแม่เหียะ” เพราะว่ามีลำน้ำแม่เหียะไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ต่อมาชาวบ้านจากอำเภอทางทิศใต้ เช่น อำเภอจอมทอง ฮอด ได้จัดขบวนแห่พระบรมธาตุจอมทอง จะนำขบวนแห่พระธาตุเจ้าศรีจอมทองไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะต้องเดินทางผ่านอำเภอหางดง ผ่านมาพักที่บ้านต้นเกว๋น และเข้าพักที่บ้านต้นเกว๋นหนึ่งคืน จากนั้นก็เดินผ่านมาทางทุ่งนา เดินตามคันนาและมาข้ามแม่น้ำแม่เหียะที่ท่าวัดท่าข้าม (ปัจจุบัน) จึงให้ชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านท่าข้าม” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
มีภูมิปัญญากระเบื้องดินขอ วัดท่าข้ามที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านชุมชนท่าข้าม ภายในวัดมีสิ่งปลุกสร้างที่น่าสนใจ ได้แก่ หอระฆัง เจดีย์จำลองทรงพระพุทธคยา อุโบสภไม้สักทอง พระวิหารที่มีภาพวาดฝาผนังเกี่ยวกับพระเวสสันดรที่สวยงาม และมีพระพุทธรูปทองทิพย์ (ชื่อเดิม ดวงทิพย์) เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดท่าข้าม
ประวัติศาสตร์ชุมชน
บ้านท่าข้ามเป็นชื่อที่เกิดขึ้นในสมัยประมาณ พ.ศ. 2469 เดิมชื่อว่า "บ้านแม่เหียะ" สาเหตุที่ชื่อว่า "บ้านแม่เหี้ยะ" เพราะว่ามีลำน้ำแม่เหียะไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ต่อมาชาวบ้านจากอำเภอทางทิศใต้ เช่น อำเภอจอมทอง ฮอด ได้จัดขบวนแห่พระบรมธาตุจอมทอง จะนำขบวนแห่พระธาตุเจ้าศรีจอมทองไปยังตัวเมืองเขียงใหม่ เพื่อจะเดินทางเข้าไปในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งต้องเดินทางผ่านอำเภอหางดง ผ่านมาพักที่บ้านต้นเกว๋น และเข้าพักที่บ้านต้นเกว๋นหนึ่งคืน จากนั้นก็เดินผ่านมาทางทุ่งนา มาตามคันนา และมาข้ามแม่น้ำแม่เหียะที่ท่าวัดท่าข้าม (ปัจจุบัน) จึงให้ชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านท่าข้าม" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สมัยนั้นทางทิศตะวันตกของวัดเป็นป่าที่มีเถาวัลย์ขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นที่รกมีต้นไม้ ป่าทึบ "พ่อหนานคำ สิงห์โทราช" ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้น จึงได้นำชาวบ้านช่วยกันพัฒนา จนทิศตะวันตกของวัดเป็นลานโล่งกว้าง ชาวบ้านจึงจัดสถานที่แห่งนี้เป็นตลาดประจำหมู่บ้าน มีชาวบ้านนำสินค้าทางการเกษตรมาขายในตลาดแห่งนี้สืบทอดมาเป็นระยะเวลายาวนาน ต่อมาตลาดแห่งนี้ไม่มีคนมาขายสินค้า เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่จะขายของในบ้านของตนเอง ตลาดหน้าวัดจึงมอบให้เป็นพื้นที่ของวัดไว้จัดกิจกรรมของชุมชน
ต่อมาได้มีถนนตัดเลียบลำน้ำแม่เหียะจากบ้านต้นปีน หมู่ที่ 5 ผ่านลำน้ำแม่เหียะ หน้าวัดทำข้ามเพื่อให้ชาวบ้านสัญจรไปมา และต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2502 ทางราชการได้มีการขุดคลองชลประทานผ่านทางด้านหลังของวัดเพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำใช้ในการเกษตร
พ.ศ. 2512 พ่อหนานสุวรรณ แม่บัวคลี่ สิงห์โทราช และแม่บัวเขียว วิมลรัตน์ ได้ร่วมกันบริจาคที่ดินบริเวณด้านข้างของวัดท่าข้าม รวมจำนวน 1 ไร่ 2 งาน ให้เป็นที่ก่อสร้างสถานีอนามัย เพื่อให้ประชาชนตำบลแม่เหียะได้มารับบริการด้านสาธารสุขขั้นพื้นฐานที่สถานีอนามัยแห่งนี้ จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2542 ทางราชการได้ให้งบประมาณเพื่อสร้างสถานีอนามัยเป็นอาคาร 2 ชั้น โดยให้บริการผู้ที่มารับบริการชั้นที่ 2 สวนชั้นล่างเป็นที่โล่งใช้เป็นที่ประชุมและที่ทำกิจกรรมของ อ.ส.ม, หรือผู้สูงอายุในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2550 มีผู้บริจาคเงินต่อเติมอาคารสถานีอนามัยชั้นล่าง เพื่อความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชนที่ขึ้นลงบันไดลำบาก (ข้อมูลจาก : เอกสารรายงานการฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ปีการศึกษา 2553)
คำขวัญ : พระเจ้าทองทิพย์ล้ำค่า งามสง่าอุโบสถสักทอง เรืองรองด้วยวัฒนธรรม ล้ำเลิศความสามัคคี
วิสัยทัศน์ : ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยแรงสามัคคี นำเทคโนโลยี สู่สังคมคุณภาพ
ความเป็นมาของบ้านท่าข้ามจากคำบอกเล่าของสมาชิกในชุมชน
จากคำบอกเล่าของพระมหาปองปรีดา ปริปุณโณ เจ้าอาวาสวัดท่าข้าม และ สท.สมนึก พวงขันแก้ว ผู้มีบทบาทเป็นกรรมการหมู่บ้าน ประธานกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน และผู้นำด้านศาสนพิธี ซึ่งท่านทั้งสองคนได้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558 ณ วัดทำข้าม ดังนี้
ในอดีตบริเวณพื้นที่บ้านท่าข้ามเป็นพื้นที่ว่างโล่ง ๆ มีลำน้ำแม่เหียะไหลผ่าน โดยลำน้ำแม่เหียะไหลมาจากดอยท้องผาดำ หลังตำหนักภูพิงค์ คนที่มาจากอำเภอหางดง สันป่าตอง จอมทองและอำเภอทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ เวลาจะเข้าเมืองจะต้องมาข้ามท่าน้ำที่ท่าข้ามแห่งนี้ เนื่องด้วยเป็นบริเวณที่ว่าง คนก็มักจะมาพักบริเวณนี้ ทั้งข้ามมาพักก่อนเข้าเมือง และพักก่อนข้ามไปทางอำเภอทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น อำเภอหางดง อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง เป็นต้น บ้านท่าข้ามแห่งนี้ถือเป็นที่พักของประชาชนและยังเป็นแหล่งค้าขายอีกด้วย ครั้นมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกราตุจากวัดพระธาตุจอมทอง เพื่อไปยังพลับพลาหรือตำหนักของเจ้านายฝ่ายเหนือ ปัจจุบันคือวัดตำหนัก ขบวนพระบรมสารีริกธาตุก็แห่มาทางวัดต๋องกาย วัดต้นเกว๋นและมาพัก ณ บริเวณลานโล่งที่ท่าข้ามแห่งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณท่าข้ามได้สักการะกราบไหว้ ก่อนที่จะเดินทางไปยังพลับพลาที่มีเจ้านายฝ่ายเหนือมารอต้อนรับ เพื่อที่จะแห่เข้าเมืองเชียงใหม่ ครั้นขบวนพระบรมสารีริกธาตุจะเดินทางกลับ ก็ได้แวะพักที่ทำข้ามอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะข้ามลำน้ำแม่เหียะ มุ่งสู่วัดพระธาตุศรีจอมทองต่อไป ต่อมาชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านทำข้าม และร่วมกันสร้างวัดขึ้นมาประจำหมู่บ้านชื่อว่า วัดท่าข้ามตามชื่อของหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2408 เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นวัดไว้ให้ประชาชนผู้มาข้ามน้ำที่ทำข้ามแห่งนี้ได้สักการะ
ประวัติวัดท่าข้าม
ณ บริเวณพื้นที่ตรงข้ามวัด (คนละฝั่งกับลำน้ำแม่เหีย : มีต้นโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่งสันนิษฐานกันว่า ในอดีตพื้นที่แห่งนั้นเคยเป็นวัดมาก่อน แต่เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำ ครั้นมีน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าสู่ภายในวัด ทำให้วัดเกิดความเสียหาย พื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นวัดร้างอยู่ใต้พื้นดิน ต่อมาได้มีการพบเศียรพระพุทธรูปซึ่งโผล่ออกมาจากดิน ขณะที่ชาวบ้านอาบน้ำให้ควาย ได้ปรากฏเป็นเปลวรัศมีโผล่ออกมาจากพื้นดิน จึงได้ไปตามผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านมาช่วยกันขุด พบพระพุทธรูปโบราณ 2 องค์ จึงได้นำพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ที่วัดท่าข้าม ส่วนองค์เล็กไว้ที่วัดต้นปีน เรียกกันว่า "พระพี่พระน้อง" ครานั้นเองจึงเกิดประเพณีแอ่วพระขึ้น ประเพณี "แอ่วพระ" คือ การนำพระพุทธรูปไปเหย้าเยือนในวันสงกรานต์ โดยจะมีขบวนแห่พระน้องจากวัดต้นปีนมายังวัดท่าข้าม แต่ปัจจุบัน ประเพณีนี่ไม่ได้ถูกจัดขึ้นอีก เพราะขาดความพร้อมของหลายฝ่าย
ปัจจุบันพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ต้นโพธิ์ ชาวบ้านได้มีการก่อสร้างบ้านเรือน สร้างบ้านเช่าและห้องเช่า ส่วนบริเวณใต้ร่มต้นโพธิ์ได้มีการสร้างศาล เรียกกันว่า "ศาลป้อบ้าน" หรือ "ศาลเจ้าบ้าน" เพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้ สักการบูชา
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด ได้แก่ อุโบสถหลังเก่า จะตั้งอยู่ปากทางเข้าวัดโดยหันหน้าไปทางทิศใต้หาลำน้ำแม่เหียะ แต่เนื่องด้วยมีสภาพเก่ามีความทรุดโทรมมาก ปัจจุบันจึงได้รื้อแล้วย้ายมาสร้างใหม่บริเวณด้านหน้าทางซ้ายมือของวิหารโดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 9 ปี โดยมีการฉลองหรือปอยหลวงตามประเพณี
เมื่อปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นอุโบสถไม้สักทองทรงล้านนาประยุกต์ ปิดทองทั้งหลัง สวนวิหารได้มีการบูรณะตกแต่งจากของเดิมและฉลองตามประเพณีไปเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยในการบูรณะครั้งนี้สามารถแบ่งช่างได้ 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
- กลุ่มที่ 1 เป็นช่างจากสันป่าตอง ดูแลเรื่องโครงสร้างของวิหารทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีฝีมืออยู่ในขณะนั้นและได้บูรณะตกแต่งมาหลายวัด จนมีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจของวัดวาอารามต่าง ๆ
- กลุ่มที่ 2 คือช่างจากลำพูน ดูแลโครงประตู โครงหน้าต่างวิหารทั้งหมด
- กลุ่มที่ 3 ทำลวดลายประตูหน้าต่าง ลายสังข์
- กลุ่มที่ 4 ช่างสันป่าตอง ทำลวดลายไม้ต่าง ๆ ลายระเบียง ลายหน้าบัน เป็นต้น ซึ่งจิตรกรรมในวิหารส่วนบน บรรยายรูปพระเวสสันดร ส่วนล่างบรรยายประเพณีท้องถิ่น
ปัจจุบันทางวัดได้มีการสร้างศาลาบำเพ็ญบุญหน้าทางเข้าวัด บริเวณอุโบสถเดิม โดยตัวอาคารมีลักษณะเป็นศาลาอเนกประสงค์ 2 ชั้น ชั้นล่างไว้เป็นที่ประกอบกิจกรรมทั่วไป ชั้นบนใช้เป็นที่สอนหนังสือสอนธรรมะสำหรับผู้คนที่สนใจ เนื่องจากในอดีต วัดท่าข้ามได้เปิดโรงเรียนสอนปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และได้เปิดโรงเรียนสอนพุทธศาสนาในวันอาทิตย์ ในปี พ.ศ. 2533 ต่อมาคนเรียนน้อยจึงได้ยุติการสอนไป แล้วได้ไปสอนพุทธศาสนาตามโรงเรียนต่าง ๆ ปัจจุบันไม่ได้ทำการสอนแล้ว เนื่องจากขาดความพร้อมทางด้านบุคลากร คาดว่าหากมีความพร้อมเมื่อใดก็จะเปิดการสอนใหม่ดังเดิม
ในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการสร้างเจดีย์จำลองทรงพระพุทธคยา ที่ได้ต้นแบบจากอินเดีย เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
ลำดับเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม
- พระโพธิ พ.ศ. 2346 - 2400
- พระติ๊ปปาละ พ.ศ. 2400 - 2418
- พระอธิการจันทร์ จันทวโส พ.ศ. 2419 - 2447
- พระคำตั๋น พ.ศ.2447 - 2451
- พระอธิการจันทร์ จันทวโส พ.ศ. 2452 - 2507
- พระประเวส พ.ศ. 2508 - 2510
- พระทองดี พ.ศ. 2511 - 2514
- พระบุญตั๋น พ.ศ. 2515 - 2518
- พระเพชร พ.ศ. 2519 - 2510
- พระสมบูรณ์ พ.ศ. 2521 - 2523
- พระมานะ พ.ศ. 2524 - 2531
- พระภานุพงษ์ พ.ศ. 2531 - 2532
- พระมหายุทธนา ศิริปัญโญ พ.ศ. 2533 - 2552
- พระมหาปองปรีดา ปริปุณโณ พ.ศ. 2552 ถึงปัจจุบัน (2558) (ข้อมูลจาก : เจ้าอาวาสวัดท่าข้าม)
ความเป็นมาของน้ำแม่เหียะ
คำว่า "แม่เหียะ" เป็นคำผสมระหว่างลำน้ำกับต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "ไม้เฮียะ" ซึ่งเป็นคำโบราณไม้เฮียะ จะมีลักษณะเป็นลำปล้องคล้ายต้นไผ่ โดยต้นเฮียะนี้จะขึ้นตามสองฝั่งลำน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "น้ำแม่เฮียะ" ต่อมาคำว่า "เฮียะ" ก็เรียกผิดเพี้ยนเป็น "ลำน้ำแม่เหียะ" มาจนถึงปัจจุบัน
การแบ่งพื้นที่การปกครอง
ในอดีต หมู่บ้านในตำบลแม่เหียะ มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านตำหนัก บ้านอุโบสถ บ้านป่าจี้ บ้านท่าข้าม และบ้านดอนปีน ซึ่งทั้ง 5 หมู่บ้านจัดอยู่เป็นกลุ่มเดียวกัน มีการปกครองร่วมกัน เนื่องจากในสมัยนั้นแต่ละหมู่บ้านมีจำนวนประชากรไม่มากนัก การปกครองพร้อมกันทั้ง 5 หมู่บ้าน จึงสามารถปกครองร่วมกันได้ แต่ต่อมาเริ่มมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น จึงมีการขยายเขตการปกครองออกไปโดยจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นของแต่ละหมู่บ้าน และต่อมาเกิดการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ความเจริญเริ่มเข้ามาในแต่ละสังคม มีนายทุนกว้านซื้อพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านด้วยค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ในวิธีการต่าง ๆ เพื่อทำเป็นแหล่งธุรกิจ และโครงการบ้านจัดสรร ปัจจุบันมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 10 หมู่บ้าน โดยแบ่งเขตการปกครองเป็นของแต่ละหมู่บ้าน และในแต่ละหมู่บ้านยังแบ่งออกเป็นชุมชนย่อยอีกด้วย
บ้านท่าข้าม หมู่ที่ 4 อยู่ในเขตการปกครองของตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านจากอำเภอเมืองเชียงใหม่สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางเชียงใหม่ - หางดง หรือรถยนต์ส่วนตัวจากสี่แยกสนามบินเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ ถนนเส้นเชียงใหม่ - หางดง รวมระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร หรือจะเดินทางมาทางถนนเส้นชลประทาน จากตลาดต้นพะยอมมาทางทิศใต้ รวมระยะทาง 6 กิโลเมตร บ้านท่าข้ามหมู่ 4 เป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางตำบลแม่เหียะ
อาณาเขต
ชุมชนหมู่ 4 บ้านท่าข้าม มีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ มีพื้นที่ติดกับหมู่ 1 บ้านตำหนัก และหมู่ 2 บ้านอุโบสถ
- ทิศตะวันออก มีพื้นที่ติดกับ หมู่ 5 บ้านดอนปิน
- ทิศใต้ มีพื้นที่ติดกับอำเภอหางดง และหมู่ 5 บ้านดอนปิน
- ทิศตะวันตก มีพื้นที่ติดกับ หมู่ 2 บ้านอุโบสถ และหมู่ที่ 3 บ้านป่าจี้
ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านท่าข้าม หมู่ที่ 4 ประกอบไปด้วย 3 ชุมชน ได้แก่
- ชุมชนท่าข้ามดั้งเดิม
- ชุมชนบ้านจัดสรรทิพย์ภมร-ลานดาว
- ชุมชนบ้านจัดสรรกุลพันธ์วิลล์ โครงการ 5 6 7
ลักษณะทางกายภาพ
ข้อมูลสภาพทั่วไปของชุมชน ชุมชนบ้านท่าข้าม มีพื้นที่ทั้งหมด 1,656 ไร่ ประกอบไปด้วยพื้นที่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำไร่ 20 ไร่ พื้นที่ทำสวน 14 ไร่ บ่อน้ำสาธารณะ 2 แห่ง ทุกครัวเรือนสวนมากใช้น้ำประปาส่วนภูมิภาค
ในพื้นที่ของชุมชน ประกอบไปด้วย
- สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน 1 แห่ง
- วัด 1 แห่ง
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 1 แห่ง
- ศูนย์ส่งเสริมและจัดสวัสดิการสังคมระดับชุมชน 1 แห่ง
- ศาลาประชาคม 1 แห่ง
- ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรการเรียนรู้ 1 แห่ง
- ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน 3 แห่ง
ร้านค้าและบริการ
- ร้านค้าชุมชน 1 แห่ง
- ร้านขายของชำ 10 แห่ง
- ร้านซ่อมจักรยานรถจักรยานยนต์ 1 แห่ง
- ร้านซ่อมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 1 แห่ง
- ร้านขายอาหาร 8 แห่ง
- ร้านเสริมสวย 5 แห่ง
- โรงแรมรีสอร์ท 3 แห่ง
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 99 และ ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นบ้านจัดสรร ร้อยละ 66
ลักษณะภูมิอากาศ
มีลักษณะภูมิอากาศ 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
ทรัพยากรธรรมชาติ
- ป่าไม้ : ในหมู่บ้านไม่มีป่าไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีเพียงไม้ที่ชุมชนปลูกขึ้นมา เช่น ไม้สัก ไม้ลำไย
- ดิน : ดินร้อยละ 90 เป็นดินเหมาะสำหรับการเพาะปลูก แต่ปัจจุบันเจ้าของที่ดินได้ทำการขายให้กับโครงการบ้านจัดสรรเพื่อสร้างบ้านทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงไปเป็นบ้านจัดสรรและทำให้พื้นที่ว่างในชุมชนมีจำนวนลดลง
- น้ำ : ทรัพยากรน้ำประกอบไปด้วย ลำน้ำเเม่เหียะเป็นที่เก็บน้ำหน้าแล้ง ลำคลองชลประทาน ใช้สำหรับทำการเกษตร และลำเหมืองไส้ไก่ใช้สำหรับการระบายน้ำ
จำนวนประชากร
จากการรวบรวมข้อมูลของเทศบาล เมืองแม่เหียะในปี พ.ศ. 2559 พบว่าชุมชนบ้านท่าข้ามมีจำนวน 2,958 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 3,491 คน ประกอบด้วยประชากร ดังนี้ ชาย 1,569 คน และหญิง 1,922 คน
ระบบเครือญาติ
ยกตัวอย่างระบบเครือญาติของตระกูลสิงห์โทราช เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนมีนามสกุลนี้จำนวนมาก และจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน พบว่า ตระกูลนี้เป็นตระกูลดั้งเดิมของชุมชน เป็นตระกูลใหญ่ และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชน นักศึกษาจึงใช้แผนผังเครือญาติในการศึกษาความสัมพันธ์เชิงเครือญาติของตระกูลสิงห์โทราช ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีการสืบเชื้อสายต่อ ๆ กันมาภายในชุมชน ตั้งแต่รุ่นของทวดมาจนถึงรุ่นหลาน สามารถเก็บข้อมูลได้รวมทั้งหมด 5 รุ่น ซึ่งผู้ให้ข้อมูลคือ คุณลุงบุญส่ง สิงห์โทราช คุณลุงสมบูรณ์ สิงห์โทราช และคุณป้าสุนันท์ เมขฆลา อยู่ในรุ่นที่ 3
รุ่นแรก คือ รุ่นของคุณปู่ย่าของคุณลุงบุญสง มีพื้นเดิมเป็นคนบ้านท่าข้าม คุณลุงบุญสงได้รับคำบอกเล่าจากปู่ คือ พ่ออุ๊ยคำ สิงห์โทราช ได้เล่าว่า พ่อของพ่ออุ้ยคำ ชื่อ "สิงห์" ได้อุปสมบทมีฉายาทางพระว่า "โปทา" ส่วนคำว่า "ราช" เมื่อก่อนเป็น "ราษฎร" ไม่ใช่ "ราชะ" ดังนั้นอุ้ยสิงห์จึงแจ้งทางราชการ ในสมัยที่เริ่มใช้นามสกุลว่า "สิงห์โทราษฎร" แต่ต่อมาได้เขียนเป็นราชเพื่อความสะดวกในการเขียนทำให้เปลี่ยนจาก "ราษฎร" เป็น "ราช" มาตลอดจนถึงปัจจุบัน สามารถอธิบายรายละเอียดในแต่ละรุ่นได้ดังนี้
รุ่นที่ 1 เป็นรุ่นของพ่ออียคำ สิงห์โทราช กับ อุ๊ยนา สิงห์โทราช อุ๊ยคำในอดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าข้าม เมื่อปี พ.ศ. 2473 ท่านทั้งสองมีบุตรธิดารวมทั้งหมด 7 คน ได้แก่ อุ๊ยตื้อ อุ๊ยตั๋น อุ๊ยยาง อุ๊ยยืน อุ๊ยสุวรรณ ยบุญปั่น และอุ๊ยแก้วลูน ปัจจุบันทั้งหมดได้เสียชีวิตแล้ว
รุ่นที่ 2 เป็นรุ่นของพ่อแม่ของคุณลุงบุญส่งและคุณป้าสุนันท์ ได้แก่
- พ่ออุ๊ยตี๋อ สิงห์โทราช ได้เสียชีวิตไปเมื่อตอนเป็นวัยหนุ่ม เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ (สายตา) ไม่มีครอบครัว
- พ่ออุ๊ยตั๋น สิงห์โทราช ได้สมรสกับ แม่อุ๊ยก๋อง มีบุตรธิดาทั้งหมด 3 คน ได้แก่ ป้าจันทราลุงสมบูรณ์ สิงห์โทราช และป้าปราณี
- พ่ออุ๊ยยาง สิงห์โทราช สมรสกับ แม่อุ๊ยใส มีบุตรธิดาทั้งหมด 7 คน ได้แก่ แม่ศรีมอญ พ่อทิต พ่อสุข พ่ออนุชน(เสียชีวิต) แม่วิไล แม่สมยา และแม่พิกุล
- พ่ออุ๊ยยืน สิงห์โทราช สมรสกับกับแม่อุ๊ยหมู มีบุตรธิดาทั้งหมด 8 คน ได้แก่ ลุงบุญส่ง สิงห์โทราช ป้าทองใบ ป้าจันทร์ฟอง ลุงพินิจ ป่าวาริณี ป้าสุนันท์ เมขฆลา แม่นงนุช และแม่ประนอม
- พ่ออุ๊ยสุวรรณ สิงห์โทราช ในอดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าข้าม และกำนันตำบลแม่เหียะ สมรสกับ แม่อุยบัวคลี่ มีบุตรธิดาทั้งหมด 8 คน ได้แก่ แม่ศรีพรรณ แม่อำนวย แม่สุรีย์ แม่ดำรัสศิริ พ่อเกษม แม่ภาสมร และแม่เพียรจิต
- แม่อุ๊ยแก้วลูน สมรสกับ พ่อปั่น ซึ่งเป็นคนหางดง ทำให้ครอบควัวนี้ย้ายไปอยู่ที่หางดง มีบุตรธิดาทั้งหมด 8 คน ได้แก่ พ่อสุบรรณ (เสียชีวิต พ่อชูศักดิ์ แม่มะลิ พ่อสกล (เสียชีวิต) พ่อประดับ แม่นฤมล พ่อเอกอาทิตย์ พ่อจักรกฤษ และแม่อัมพร
รุ่นที่ 3 เป็นรุ่นของคุณลุงบุญส่ง คุณลุงสมบูรณ์ และคุณป้าสุนันท์ มีทั้งหมด 34 คน
รุ่นที่ 4 เป็นรุ่นของบุตรธิดาของคุณลุงบุญส่ง คุณลุงสมบูรณ์ และคุณป้าสุนันท์ มีทั้งหมด 56 คน
รุ่นที่ 5 เป็นรุ่นของบุตรธิดาของรุ่นที่ 4 หรือ เป็นรุ่นหลานของคุณลุงบุญสง คุณลุงสมบูรณ์ และคุณป้าสุนันท์ จากข้อมูลที่ท่านทั้ง 3 ให้อมูลในกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะไม่ครบถ้วนเพราะบางคนก็ใด้ไปอยู่ที่อำเภออื่น ทำให้อาจจะนับจำนวนได้ไม่ครบถ้วน แต่เท่าที่ทราบมีทั้งหมด 25 คน
แผนผังของจุไรพร อุดม และคณะ (2558) แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ โดยคนส่วนใหญ่ในเครือญาติจะอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านท่าข้าม และมีหน้าที่ทางสังคมกล่าวคือ เป็นผู้นำของชุมชนและมีอิทธิพลด้านการปกครองมาตั้งแต่อดีต ในสมัยของพ่ออุ๊ยคำ สิงห์โทราช และสืบต่อมาจนถึงรุ่นที่ 4 ทั้งเป็นบุคคลที่เป็นผู้นำชุมชนอย่างพ่ออุ๊ยสุวรรณ สิงห์โทราช หรือเป็นคณะกรรมการของชุมชน และมีบทบาทในกลุ่มองค์กรทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่าง เช่น คุณลุงบุญส่ง คุณลุงสมบูรณ์ คุณป้าสุนันท์ คุณลุงวิชาญ เป็นต้น
1.กลุ่มฌาปนกิจศพสงเคราะห์ (กลุ่ม 100)
ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม : กลุ่มฌาปนกิจศพสงเคราะห์ (กลุ่ม 100) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยนายบุญยง ศรีมณี (อดีตผู้ใหญ่บ้าน) เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งมีเงินสำรองเก็บตามครอบครัวละ 100 บาท ถ้าเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าทำศพประมาณ 23,000-26,000 บาท และมีเงินสำรองจากค่าสมัครเข้ากองทุนประมาณ 40,000 บาท ในกรณีถ้าไม่เคยเข้าฌาปนกิจ ก็ต้องเสียฌาปนกิจศพที่มีอยู่ตามระเบียบข้อบังคับสมาชิกกองทุนฌาปนกิจศพ บ้านท่าข้าม หมู่ 4 ต. แม่เหียะ (แก้ไขเพิ่มเติม ปีพุทธศักราช 2552)
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายจัดงานฌาปนกิจของครอบครัวสมาชิกนั้น ๆ
2.กองทุนหมู่บ้านท่าข้าม
ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม : ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 มีเงินทุนจำนวนหนึ่งล้านบาท ต่อมารัฐบาลได้เพิ่ม เงินทุนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 จำนวนเงิน 4 แสนบาท และครั้งที่ 3 พ.ศ. 2557 ได้รับสมทบทุน อีกจำนวน 1 ล้านบาท
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านมีความสามัคคีกัน และมีความรับผิดชอบกับเงินที่กู้ไป
- เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขัดสนเรื่องการเงิน
3.กลุ่มเกษตรกรทำสวน ตำบลแม่เหียะ
ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม : กลุ่มเกษตรกรทำสวน ตำบลแม่เหียะ ผู้ก่อตั้งนายประสาย ผ่องพักต์ อดีต อบต. ปี 2541 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 เดิมมีจำนวน สมาชิก ทั้งหมด 18 คน โดยให้ผู้เงินเดือนละ 15,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 มีการออมเงินเดือนละ 100 บาทต่อคน
ต่อมาปี พ.ศ. 2543 ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกลุ่มว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีหน่วยงานรองรับ จึงได้หาหน่วยงานมารองรับและต่อมาได้มีการจดทะเบียนในปี 2544 โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มเกษตรกรทำสวน ตำบลแม่เหียะ ได้มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 80 คน โดยมีกติกาว่าผู้ใดที่ไม่มาออมจะถูกคิดค่าปรับร้อยละ 1 ต่อเดือน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 52 คนจะมีการเปิดรับสมาชิกทุกปีในเดือนมกราคม และมีการเก็บเงินออมกับสมาชิกทุกวันที่ 7 ของทุกเดือน เดือนละ 100 บาท
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อให้ชาวบ้านมีรู้จักการเก็บออมเงิน เป็นของตนเองไว้ใช้ในยามจำเป็น และมีความรู้ความสามารถปลูกพืชผักไว้ขาย
4.กลุ่มสตรีแม่บ้าน บ้านท่าข้าม
ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม : กลุ่มสตรีแม่บ้าน บ้านท่าข้าม ก่อตั้งในปี พ.ศ 2519 เดิมสมาชิกในกลุ่มจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำขนม ฝึกอาชีพเสริม การฝึกอบรมแต่งหน้าของกลุ่มสตรี โดยมีการขอโครงการจากอำเภอ ต่อมาได้มีการเขียนโครงการของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ในปัจจุบันมีกิจกรรมค่อนข้างน้อย
มีเพียงการช่วยงานของเทศบาลบ้างเป็นครั้งคราว เช่น การทำอาหารในงานพิธีต่าง ๆ การจัดดอกไม้ เป็นต้น
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อช่วยให้กลุ่มสตรีแม่บ้าน บ้านท่าข้ามได้มีรายได้เสริม และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
5.กลุ่มปศุสัตว์
ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม : กลุ่มปศุสัตว์เกิดขึ้นเป็นเวลานาน ในสมัยก่อนนั้นผู้ชายมีบทบาทหลักในการทำงานด้านการดูแลสัตว์ภายในหมู่บ้าน เช่น กระบือ วัว ลุกร สัตว์ปีก สุนัข แมว แต่ในปัจจุบันซาวบ้านไม่ได้เลี้ยงสัตว์ที่มีขนาดใหญ่แล้ว บทบาทหน้าที่ในการดูแลสัตว์จึงเป็นของผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่ม อ.ส.ม โดยทำหน้าที่สำรวจสัตว์ตามบ้าน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อดูแลสัตว์ภายในหมู่บ้าน และเพื่อป้องกันโรคระบาดที่มาจากสัตว์
6.กลุ่มรวมน้ำใจ
ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม : นายเลิศ พิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาตำบลแม่เหียะ ได้จัดตั้งกลุ่ม "รวมน้ำใจ" ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน ในเรื่องการจัดเตรียมสถานที่ในงานพิธีต่าง ๆ และการช่วยเหลือเรื่องน้ำดื่มในพิธีงานศพ ปรึกษากลุ่มรวมน้ำใจ
ช่วงกึ่งกลางระหว่างปี พ.ศ. 2541 และ 2542 ชาวบ้านต่างช่วยกันสมทบทุนพิธีศพของสมาชิกในหมู่บ้าน เช่น การช่วยเหลือเรื่องการบริการน้ำดื่ม ช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ศพ เป็นการแสดงน้ำใจ ความ สามัคคีในหมู่คณะ คุณเลิศ พิทักษ์ จึงมีความคิดที่จะตั้งกลุ่มช่วยเหลือพิธีศพของชาวบ้านบ้านท่าข้าม จากนั้นจึงระดมพลชาวบ้านบางคนเพื่อปรึกษาและเป็นแนวทางในการก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นและได้รับการ สนับสนุนจากชาวบ้านกลุ่มนั้น ต่อมามีการขยายกลุ่มชาวบ้านที่เห็นชอบมากขึ้น จนได้ตั้งชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มรวมน้ำใจ" ในปี พ.ศ. 2542 ด้วยจำนวนสมาชิกประมาณ 150 คน สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นคนบ้านท่าข้าม และมีสมาชิกที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงบางส่วน
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อช่วยกันสมทบทุนพิธีศพของสมาชิกในหมู่บ้านท่าข้าม
7.กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม : อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านท่าข้าม หมู่ที่ 4 มีทั้งหมด 11 คน โดยแบ่งเป็น 11 เขต โดยมี คุณป้าสุนันท์ เมฆขลา เป็นประธาน อสม. บทบาทหน้าที่ของอสม.ประจำหมู่บ้าน คือ การช่วยเหลือดูแล สุขภาพของคนในชุมชน ช่วยเป็นสื่อกลางในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาพให้แก่คนในชุมชน และยังถือว่าเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับคนในชุมชน สามารถเป็นที่ปรึกษาทางด้านสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดของคนในชุมชนด้วย
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อสำรวจตรวจสอบ ให้ความช่วยเหลือทั้ง ด้านสุขภาพ ด้านสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
- เพื่อให้ความรู้ ข่าวสารอันเป็นประโยชน์แก่คนในชุมชน
8.กลุ่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน
ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม : ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 (มาตรา 94, 95 และ 102) และพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ. 2522 (มาตรา 16 และ 18) ชรบ. เป็นราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัย หมู่บ้านในระยะเวลา 7 วัน จึงได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ โดยคัดเลือกจากบุคคลที่มี สัญชาติไทย มีสุขภาพแข็งแรงมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นไม่น้อยกว่า 3 เดือน เลื่อมใสในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านมีจิตอาสาเป็นตัวแทนดูแลความปลอดภัย ความเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน
- เพื่อป้องกันไม่ให้ภายในหมู่บ้านเกิดปัญหา และป้องกันภัยอันตราย
9.กลุ่มชมรมผู้สูงอายุบ้านท่าข้าม
ประวัติความเป็นมา : ชมรมผู้สูงอายุก่อตั้งเมื่อปี พ .ศ. 2550 ประธานคนปัจจุบัน คือ ผศ.ดำรัสศิริ ศิลปะวัฒนานันท์ เป็นการ รวมกลุ่มกันของผู้สูงอายุเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น การช่วยเหลือผู้สูงอายที่มีปัญหาความ ยากจน อยู่ตามลำพังไม่มีผู้ดูแล ด้วยการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ และเงินสงเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีการ รวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน โดยการจัดกิจกรรมการออกกำลังกาย เช่น ลำไม้พลอง ฟ้อนเจิง โยคะ เต้นแอโรบิค รำวงย้อนยุค กีฬาวู้ดบอล เป็นต้น
ชมรมผู้สูงอายุแห่งนี้ เดิมไม่มีงบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือจากหน่วยงานใด ๆ แต่คุณลุงประชัน ได้ใช้วิธีการจัดทำผ้าป่าสามัคคีเพื่อให้ได้เงินทุนมาใช้สำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรม และขอความ ช่วยเหลือด้านเงินทุนสนับสนุนจากทางเทศบาล และศูนย์ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมระดับชุมชน (ศูนย์ 3 วัย) เพิ่มเติมด้วย
ชุมชนมีประเพณีต่าง ๆ ที่สำคัญมากมาย ซึ่งมีการจัดขึ้นเปลี่ยนไปตามเตือนต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วประเพณีของทางภาคเหนือจะยึดและนับเอาเดือนเมือง (คือการนับเดือนของชาวเหนือ) เป็นหลักในการจัดงานประเพณีต่าง ๆ ในชุมชนบ้านท่าข้ามก็เช่นกัน
ปฏิทินทางวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมที่สำคัญ และกิจกรรมของชุมชนที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชนและมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวัฒนธรรมของชุมชนท่าข้ามจะมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมล้านนา มีการยึดถือและนับเอาเดือนเมือง (คือการนับเดือนของชาวเหนือ) เป็นหลักในการจัดงานประเพณีต่าง ๆ
เดือน | ประเพณี |
มกราคม | ประเพณีตานข้าวใหม่ |
กุมภาพันธ์หรือมีนาคม | ทำบุญตักบาตรวันมาฆบูชา, เวียนเทียนวันมาฆบูชา |
มีนาคม | ประเพณีฟ้อนผีมด |
เมษายน | ประเพณีปีใหม่เมือง, ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ สืบชะตา (ระดับตำบล), ประเพณีสรงน้ำพระ, ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ |
พฤษภาคม | ประเพณีเตียวขึ้นดอยคำ |
มิถุนายน | ประเพณีเลี้ยงดง (ระดับตำบล), ประเพณีเลี้ยงเสื้อบ้าน, ประเพณีเลี้ยงผีปู่-ย่า, ทำบุญตักบาตร เวียนเทียนวันวิสาขบูชา |
กรกฎาคมหรือสิงหาคม | ประเพณีเข้าพรรษา, ประเพณีทำบุญตักบาตร, เวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา |
ตุลาคม | ประเพณีออกพรรษา, ประเพณีตานก๋วยสลาก |
พฤศจิกายน | ประเพณียี่เป็ง |
จากตารางข้างต้นสามารถอธิบายเกี่ยวกับรายละเอียดของแต่ละประเพณีได้ดังนี้
1.ประเพณีตานข้าวใหม่
เป็นประเพณีที่หลังจากการทำนาได้ข้าวใหม่แล้ว ชาวบ้านจะมีการนำไปถวายพระเพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วได้กินข้าวใหม่ ซึ่งมักจะทำกันในช่วงของเดือนมกราคม ภายหลังจากการเกี่ยวข้าวทำนาเสร็จ
2.ทำบุญตักบาตรวันมาฆบูชา เวียนเทียนวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ในช่วงเข้าชาวบ้านท่าข้ามจะร่วมกันทำบุญตักบาตรแล้วกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญให้แกผู้ล่วงลับ ฟังธรรมเทศนาที่วัด รักษาศีล 5 หรือศีล 8 เว้นจากการทำบาป ทำแต่ความดี ทำใจให้บริสุทธิ์ แผ่เมตตาให้แก่สัตว์ และในตอนเย็นชาวบ้านจะนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปเวียนเทียนที่วัดเป็นพุทธบูชา
3.ประเพณีฟ้อนผีมด
เป็นประเพณีการฟ้อนผีของขาวล้านนา คล้ายกับการลงผี(เข้าทรง) นิยมเรียกกันว่า "ฟ้อนผีมด" เป็นการฟ้อนรำเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ ผีมดเป็นผีบรรพบุรุษที่เป็นตระกูลของบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถหรือเป็นครู พ่อค้า เป็นผู้รู้ทางด้านเวทมนตร์ ไสยศาสตร์ หรือผู้รู้ทางด้านพิธีกรรม สำหรับกำหนดการเลี้ยงผีมด ในบางตระกูลจะเลี้ยง 3 ปี 1 ครั้ง บางตระกูลจะเลี้ยงผีมดทุก ๆ ปี ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ การกำหนดเวลาเลี่ยงผีมดมักนิยมจัดขึ้นประมาณเดือนมีนาคม จะเลือกเอาวันที่ถือว่าดีที่สุดและไม่เป็นวันเสียประจำเดือน มักจะไม่เลี้ยงผีปูย่าในวันพุธ และวันพระ การเลี้ยงผีปู่ย่า (ผีมด) จะทำกัน 3 ลักษณะ คือ 1. พิธีแต่งงาน (กิ๋นแขก) 2. เลี้ยงประจำปี (ป่าเวณี) 3. แก้บน
4.ประเพณีปีใหม่เมือง
ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา มีความแตกต่างจากสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ทั้งระยะเวลา กิจกรรม ความเชื่อ และความมุ่งหมาย ชาวบ้านท่าข้ามจึงถือเอาวันปีใหม่ล้านนาเป็นวันทำบุญใหญ่วันหนึ่งในรอบปี เป็นวันที่สนุกสนานรื่นเริงด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์ให้เย็นฉ่ำ ถือขันน้ำรดน้ำให้แก่กัน ซึ่งเป็นโอกาสที่เด็ก ๆ หนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ได้พบเจอกันและทำกิจกรรมร่วมกันผ่านประเพณีต่าง ๆ เช่น สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และทำบุญที่วัดในวันพญาวัน
5.ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ สืบชะตา (ระดับตำบล)
ประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์เป็นการนำไม้ง่ามมาค้ำที่ต้นโพธิ์ภายในวัด จัดขึ้นในระดับตำบล ชาวบ้านทุกหมู่บ้านจะมาร่วมประเพณีในวันที่ 15 เมษายน หรือวันพญาวันของชาวล้านนา โดยมีการตกแต่งไม้ค้ำโพธิ์ไว้อย่างสวยงามโดยมีความเชื่อว่าการนำไม้ค้ำโพธิ์ไปถวายวัดจะช่วยค้ำหนุนชีวิตผู้ถวายให้พบแต่ความสุข ความเจริญ มีอายุยืนยาว อีกนัยหนึ่งก็คือถือเป็นการค้ำชูพระศาสนาให้เจริญยั่งยืนนาน
6.ประเพณีสรงน้ำพระ
การสรงน้ำพระในวันปีใหม่เมืองนี้ ชาวล้านนาเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตของการเริ่มต้นรอบปีใหม่ อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามไปพร้อม ๆ กับการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป
7.ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ
เป็นประเพณีที่ลูกหลานหรือคนรุ่นหลังจะมีการนำน้ำส้มปอย นำอบน้ำหอม ไปดำหัวหรือรดน้ำขอพรหรือขอขมา ต่อญาติผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แกที่เคารพนับถือและผู้ที่มีพระคุณต่อตนเองหรือลูกหลาน ซึ่งจะทำกันในช่วงของเทศกาลปีใหม่เมืองหรือเทศกาลสงกรานต์ ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
8.ประเพณีเตียวขึ้นดอยคำ (ระดับตำบล)
เป็นประเพณีอันเก่าแก่ของล้านนา ในการถวายเป็นพุทธบูชา สืบทอดพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันยังจะเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนของตำบลแม่เหียะด้วย ประเพณีจัดขึ้น แรม 7 ค่ำ เดือน 8 เหนือ เวลากลางคืน ประชาชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ พากันเดินขึ้นดอยคำ (เหมือนกับประเพณีเดียวขึ้นดอยสุเทพ) เพื่อทำวัตรสวดมนต์ฟังเทศน์และเวียนเทียนตลอดคืน และช่วงเช้าของวันถัดไป (แรม 7 ค่ำ เดือน ทำพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี จากนั้น เจริญพระพุทธมนต์ถวายภัตตาหารเพลแต่พระสงฆ์ และเริ่มทำพิธีสรงน้ำพระธาตุตลอดทั้งวัน กลางคืนมีการจุดบอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา
9.ประเพณีเลี้ยงดง (ระดับตำบล)
เป็นประเพณีที่ชาวตำบลแม่เหียะและหลายตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปีผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว โดยจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนที่อยู่ในตำบลแม่เหียะและตำบลใกล้เคียง โดยชาวมีความเชื่อว่าจะก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล และประชาชนไม่เจ็บไข้ได้ป่วย สามารถทำการเกษตรได้ผลดีตลอดปี ซึ่งพิธีกรรมจะบวงสรวงด้วยเครื่องเช่น คือ ควายรุ่นเขาเพียงหูสีดำ(ควายดิบ) จำนวน 1 ตัว เป็นเครื่องเซ่นไหว้ให้ดวงวิญญาณ ปู้แสะย่าแสะ ซึ่งเป็นผู้ปกปักษ์รักษาป่าและประชาชนตำบลแม่เหียะ ให้มารับเครื่องบวงสรวง เซ่นไหว้โดยผ่านร่างทรง
10.ประเพณีเลี้ยงเสื้อบ้าน
โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่า เสื้อบ้าน เป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่มีความดีหรือมีบุญคุณกับชาวบ้าน ที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาสมาชิกในหมู่บ้าน สถิตอยู่ในเรือนล้านนาขนาดเล็กกลางหมู่บ้าน เรียกว่าหอเสื้อบ้าน ในทุก ๆ เดือน 9 ของแต่ละปี (เดือน 9 ของคนล้านนา) หรือเดือนมิถุนายนของแต่ละปี ชาวบ้านดั้งเดิมก็จะนำของคาวหวานมาเซ่นไหว้เจ้าบ้าน ซึ่งในหมู่บ้านท่าข้ามจะแบ่งเจ้าบ้านเป็น 2 แห่ง คือ ฝ่ายทางเหนือและฝ่ายทางใต้ พิธีการนี้จะจัดขึ้นเพื่อให้เจ้าบ้านช่วย ปกปักรักษา คุ้มครองสมาชิกในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
11.ประเพณีเลี้ยงผีปู่-ย่า
เป็นประเพณีที่ชาวบ้านจัดอาหารคาวหวานไปเซ่นสังเวย ดวงวิญญาณผู้ตาย ณ หิ้งผีปู่ย่าหรือหอผี ชาวล้านนาถือว่า เมื่อปู่ ย่า ตา ยาย ตายไปวิญญาณจะวนเวียนมารักษาลูกหลาน ดังนั้นภายในบ้านของชาวล้านนา จึงจัดทำ "หิ้งผีปูย่า" ไว้ทุกบ้าน โดยจัดตั้งไว้ที่สูง นิยมจัดตั้งไว้บนหัวนอนของบ้าน สูงจากพื้นกระดานราว 2 เมตร ผู้ที่นับถือผีปู่ย่าจะต้องมีการเซ่นไหว้หรือที่เรียกว่า เลี้ยงผี ในโอกาสต่าง ๆ เป็นประจำ
12.ประเพณีตานก๋วยสลาก
เป็นประเพณีที่ชาวบ้านมีการจัดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ อาหารทั้งสุกและแห้ง รวมทั้งปัจจัยเตรียมใส่ก๋วย เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นการทำบุญที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ซึ่งจะจัดขึ้นหลังจากเทศกาลออกพรรษา
13.ประเพณียี่เป็ง (ระดับตำบล)
เป็นงานประเพณีจัดขึ้นในวันเพ็ญ เดือนยี่ล้านนา เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมให้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลัง และที่สำคัญเหนือไปกว่าสิ่งใดคือการแสดงออกถึงความสามัคคี กลมเกลียว ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของพี่น้องชาวตำบลแม่เหียะ ซึ่งถือเป็นพลังมหาศาลในการที่จะช่วยพัฒนาตำบลแม่เหียะ พัฒนาชาติบ้านเมืองสืบไป วันงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น ร้านของกลุ่มแม่บ้าน กิจกรรมมัจฉาพาโชค ซุ้มสุขภาพ โดยกองสาธารณสุขเทศบาลเมืองแม่เหียะร่วมกันชมรม อสม.ในตำบล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กิจกรรมโยนห่วง ฯลฯ (จุไรพร อุดม และคณะ, 2558)
1.นายสมนึก พวงขันแก้ว เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยดี อารมณ์ดี พูดเก่ง สามารถเข้ากับคนในชุมชนได้ทุกเพศทุกวัย ทำงานกับชุมชนด้วยจิตอาสา และเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชน ความเชื่อ พิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมล้านนา ภูมิปัญญาของท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้คุณลุงยังมีบทบาท ในการพัฒนาชุมชน และยังเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน เช่น เป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน ไวยาวัจกรของวัดท่าข้าม ประธานกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาล ฯลฯ รวมไปถึงเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ และเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีล้านนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ลูกหลานเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญกับชุมชน
ภูมิปัญญาของชุมชน (กระเบื้องดินขอ)
1.ความเป็นมาของกระเบื้องดินขอ
จากการให้ข้อมูลของคุณสมนึก พวงข้นแก้ว หนึ่งในคณะกรรมการหมู่บ้านบ้านท่าข้าม ประธานกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน เป็นผู้นำด้านศาสนพิธี และปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นสมาชิกเทศบาลเมืองแม่เหียะ (สท.) เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558 บริเวณวัดทำข้าม โดยคุณสมนึก พวงขันแก้ว เล่าว่าจุดกำเนิดของเครื่องปั้นดินขอ เกิดครั้งแรกในราวปี พ.ศ. 2450 เกิดขึ้นที่ตำบลแม่เหียะเป็นที่แรก โดยพญามุงเมฆ" เจ้าพระยาชัยชนะ" ต้นตระกูล เมฆชลา ท่านถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของตำบลแม่เหียะ เจ้าพระยาชัยชนะเป็นข้าราชการของเจ้าหลวงเชียงใหม่ และมีการดูแลตำบลแม่เหียะ ว่ากันว่าเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีอัธยาศัยดี จึงเป็นที่เคารพยกย่องของคนตำบลแม่เหียะอย่างมาก ครานั้นเจ้าพระยามุงเมฆ หรือเจ้าพระยาชัยชนะ จึงได้มีความคิดริเริ่มนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา มีชื่อเรียกที่รู้จักว่า "กระเบื้องดินขอ"
2.วิธีการเลือกดินเหนียว
คุณสมนึก พวงขันแก้ว ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในยุคต่อมาเริ่มมีการคิดคันวัสดุที่นำมาประดิษฐ์สิ่งของ เครื่องใช้ประเภท ถ้วย ชาม หม้อ กระบวย ซึ่งดินที่เหมาะสมในการนำมาประดิษฐ์ คือ "ดินเหนียว" คราหนึ่ง เจ้าพระยามุงเมฆจึงคิดว่า ถ้าดินเหนียวสามารถปั้นหม้อ ถ้วย ชาม ซึ่งเป็นภาชนะที่รองรับน้ำ ทนต่อความร้อน และมีความเหนียวแน่น ดินเหนียวก็อาจจะมาทำเป็นกระเบื้องหลังคาบ้านได้ ต่อมาจึงมีการพิสูจน์ความแข็งแรง ความทนทานของดินเหนียว สำหรับดิน จะต้องไม่มีดินชนิดอื่น หรือเศษอื่นปะปน เนื้อดินจะมีความละเอียด ในสมัยนั้นจะใช้วิธีการเดินสำรวจเนื้อดินด้วยตัวเอง ไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยดังเช่นปัจจุบัน โดยขั้นตอนของการพิสูจน์ดินเหนียวที่ดีนั้น
คุณประยูร ศรีมณี ได้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558 ณ บริเวณบ้านของคุณประยูร มีรายละเอียดของขั้นตอนการพิสูจน์ดิน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การเดินสำรวจพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวตามภูเขา โดยจะเลือกพื้นที่ที่มีบริเวณกว้าง แล้วจัดการทำความสะอาดพื้นที่ให้โล่ง
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อได้พื้นที่ที่เป็นดินเหนียวบริเวณกว้างแล้ว ก็จะก่อกองไฟ รอจนเปลวไฟร้อนระอุ
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อเปลวไฟร้อนพอสมควรแล้ว นำดินเหนียวในพื้นที่นั้นมาปั้นขนาดพอมือ แล้วโยนดินเหนียวก้อนนั้นเข้ากองไฟ
ขั้นตอนที่ 4 การสังเกตดินเหนียวที่ถูกโยนเข้ากองไฟ หากดินเหนียวก้อนนั้นแตกออกจากกัน เมื่อผ่านความร้อน จะสรุปว่าดินในบริเวณนั้นไม่มีคุณสมบัติที่จะนำมาทำเป็นกระเบื้องมุงหลังคาได้ ในขณะเดียวกันหากดินเหนียวก้อนนั้นไม่แตกออกจากกัน หรือไม่มีรอยร้าว ถือว่าดินในบริเวณนั้นมีความเหมาะสมที่จะนำมาทำเป็นกระเบื้องมุงหลังคา
สำหรับพื้นที่ที่มีการพิสูจน์ว่าเหมาะสมในการนำมาทำกระเบื้อง ได้แก่ บริเวณวัดพระธาตุดอยคำ ซึ่งพบดินเหนียวที่ดีที่สุดเป็นพื้นที่แรก
3.ขั้นตอนการผลิตกระเบื้องดินขอ
ขั้นตอนการทำกระเบื้องดินขอ มีดังนี้
3.1) นำดินเหนียวมาหมักด้วยน้ำ พอประมาณ ใช้เวลา 20 ชม.
3.2) นำเข้าเครื่องนวดให้เหนียวจนได้ที่ (สมัยก่อนใช้เท้าเหยียบ บนหนังวัวหนังควาย)
3.3) นำมาปั้นกับแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้
- นำเถ้ามาโรยในแม่พิมพ์กันไม่ให้ดินเหนียวติดแม่พิมพ์
- เอาลวดตัดหน้าดินให้เหลือในแม่พิมพ์
- นำไม้สามเหลี่ยมชุบแล้วถูให้เรียบ
- นำออกจากแม่พิมพ์มาวางไว้ในที่ที่ใช้เตรียมไว้
3.4) นำไปตากแดดประมาณ 2 ชั่วโมง หรือให้แข็งตัวพอประมาณ ก็เก็บได้
3.5) นำมาแต่งให้เรียบแล้วเอามาตั้งเรียงไว้
3.6) นำเข้าเตาเพื่อทำการเผา เผาฟืนไล่ความขึ้นประมาณ 8-9 วัน เร่งไฟให้เต็มที่ 30 ชม. หรือให้ดินชั้นบนของเตาแดงเหมือนถ่านจนทั่วเตา จึงหยุดไฟได้แล้วปิดช่องที่เติมฟืนให้สนิท
3.7 ) อบอีกประมาณอีก 5 วัน จึงเอาออกจากเตาได้ (จุไรพร อุดม และคณะ, 2558)
ชุมชนท่าข้ามส่วนใหญ่ยังใช้ภาษาเมือง แต่ด้วยทุนนิยมต่าง ๆ ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นคนต่างถิ่น คนต่างจังหวัดได้เข้ามาพักอาศัย และใช้ภาษากลางพูดคุย พ่อแม่จะสอนให้พูดภาษากลางมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานในอนาคต
ในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2530 ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ การทำนา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำสวนลำไย หลังฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านมีอาชีพเสริม ได้แก่ การปั้นดินกี่ (อิฐมอญ) ดินขอ เครื่องปั้นดินเผา จักสาน และค้าขาย แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา พื้นที่ทำกินส่วนใหญ่ได้ขายให้แก่ นายทุนมีโครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้นในชุมชน ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรลดลง จึงทำให้ปัจจุบันนี้อาชีพหลักของชาวบ้านได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ยึดการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก เปลี่ยนมาประกอบอาชีพรับจ้าง สวนการทำการเกษตรนั้นยังอยู่แต่มีเป็นสวนน้อย จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานต้องออกไปหางานทำในตัวเมือง ต่างจังหวัด และรับจ้างทำงานนอกชุมชน เช่น อาชีพรับจ้างก่อสร้าง งานแม่บ้าน อาชีพค้าขาย และรับราชการ (จุไรพร อุดม และคณะ, 2558)
ชุมชนบ้านท่าข้าม (ดั้งเดิม มีลักษณะครอบครัวแบบครอบครัวขยายและมีประชากรแฝงจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ตามหอพักและบ้านเช่า นอกจากนี้ยังมีบ้านจัดสรรที่อยู่ภายในชุมชน แสดงให้เห็นถึงลักษณะชุมชนแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท ที่มีทั้งความเป็นปัจเจกบุคคลและยังดำรงอยู่แบบเครือญาติภายในชุมชนท่าข้าม (จุไรพร อุดม และคณะ, 2558)
ชุมชนท่าข้าม (ดั้งเดิม) จะมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเห็นได้จากงานบุญต่าง ๆ ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนนั้นก็จะมาช่วยในการจัดเตรียมงานบุญต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ตามความถนัดและความชำนาญของแต่ละคน อีกทั้งชุมชนยังมีพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมใจให้ชาวบ้านได้มาทำบุญในวันสำคัญต่าง ๆ รวมไปถึงสถานที่วัดท่าข้ามยังเป็นส่วนหนึ่งในการจัดเป็นจุดรวมพลของชาวบ้านเมื่อมีงานหรือการประชุมชุมชนท่าข้าม (บ้านจัดสรร) ความสัมพันธ์นั้นจะเป็นปัจเจกบุคคล ต่างคนต่างอยู่ คนในชุมชนไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน เนื่องจากผู้ที่อาศัยอยู่นั้นเป็นคนต่างถิ่นและคนต่างชาติ (จุไรพร อุดม และคณะ, 2558)
บริการทางสุขภาพในชุมชน : การให้บริการทางสุขภาพในชุมชนท่าข้าม แบ่งเป็นบริการทางสุขภาพของรัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าข้าม ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หรือชื่อเดิมคือ สถานีอนามัยชุมชนท่าข้าม และบริการทางสุขภาพของชาวบ้าน ได้แก่ บ้านหมอเมืองหรือหมอเป่า
1) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าข้าม สถานีอนามัยเป็นแหล่งให้บริการสุขภาพที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ดังนั้นรัฐบาลจึง เห็นว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ควรเริ่มแก้ จากหน่วยที่เล็กที่สุดก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลายสิบปีที่ผ่านมาสถานีอนามัยเป็นสถานบริการ สุขภาพที่มีศักยภาพในการให้บริการแก่ประชาชน ดังนั้นจึงได้เกิดนโยบาย "ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)" เพื่อเป็นการผนึกกำลังด้านการซ่อมสุขภาพนำสร้างสุขภาพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการเสียเวลาของประชาชนที่ต้องมานั่งรอการตรวจรักษาโรคในโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป นอกจากนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยังนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอื่น ๆ ให้ผู้ป่วยในพื้นที่ทุกแห่งสามารถเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง โดยการทำงานเชิงรุกที่มีศูนย์รวมอยู่ในพื้นที่ และเน้นให้ประชาชนและองค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพให้ ประชาชนเข้ารับบริการในพื้นที่ได้สะดวกมากขึ้น
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าข้าม ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 5 คน แบ่งออกเป็น พยาบาลเวชปฏิบัติ 3 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คน ทันตบุคลากร 1 คน และ นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน รับผิดชอบดูแลประชากรในพื้นที่ทั้งหมด 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 2 บ้าน หย่อน หมู่ 3 บ้านป่าจี้ หมู่ 4 บ้านท่าข้าม และหมู่ 5 บ้านดอนปิน
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีภารกิจทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกัน โรค การฟื้นฟูสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยในด้านการรักษาพยาบาลจะมีพยาบาลเวชปฏิบัติเป็นผู้ทำการตรวจรักษาโรคในวันจันทร์ - ศุกร์ในเวลาทำการ และจะมีแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์มาตรวจรักษาในวันอังคาร ซึ่งจะเป็นวันตรวจผู้ป่วย โรคเรื้อรัง (เบาหวาน) สำหรับผู้ที่ถือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้สิทธิ์โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าข้ามไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ
งบประมาณในการบริหารของ รพ.สต. จะได้มาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดือนละประมาณ 18,000 บาท โดยจะแบ่งออกเป็นค่าจ้างลูกจ้าง 12,000 บาท และที่ เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค และหากต้องการจัดกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนสามารถเรียนโครงการขอการสนับสนุนจาก สปสช. ได้ส่วนเรื่องยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ จะได้มาจากโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งทางโรงพยาบาลจะมานิเทศงานที่ รพ.สต. ปีละ 1- 2 ครั้ง
2) บ้านหมอเมืองหรือหมอเป่า คุณลุงประยูร เป็นหมอเมืองหรือที่ชาวบ้านจะเรียกกันว่าหมอเป่าประจำหมู่บ้าน เนื่องจาก ที่หมู่บ้านนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรคบางอย่างที่เชื่อว่าไม่สามารถพึ่งพาการรักษาจาก สถานพยาบาลแผนปัจจุบันได้หรือเนื่องจากชาวบ้านต้องการความสบายใจ ความมั่นใจว่าจะหาย จากโรคจึงเลือกที่จะรักษาพยาบาลทั้งสองทางคือจากสถานพยาบาลแผนปัจจุบันและจากหมอเมืองด้วย โดยโรคส่วนใหญ่ที่ลุงประยูรสามารถช่วยรักษาปัดเป่าได้ เช่น งูสวัด ผื่นลมพิษ งูกัด หรือไข้หวัด เป็นต้น (จุไรพร อุดม และคณะ, 2558)
ระดับการศึกษาของคนในชุมชนท่าข้าม ตั้งแต่ดั้งเดิมนั้นจะอยู่ในระดับอ่านออกได้บ้าง เขียนชื่อตัวเองได้ แต่เดิมไม่ได้เน้นที่การศึกษามากนัก แต่จะเน้นที่การทำมาหากินของครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ในบริเวณรอบ ๆ ชุมชนนั้นก็ยังมีโรงเรียนแม่เหียะสามัคคี โรงเรียนดอนปิน ต.แม่เหียะ อ.เมือง และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้ตำบลแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อที่จะเปิดกว้างให้กับประชาชนที่มีความสนใจในการศึกษาโดยไม่จำกัดอายุในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2520 - ปัจจุบัน ระดับการศึกษาก็อยู่ในระดับที่สูงขึ้นเนื่องด้วยเป็นยุคที่ประชากรในชุมชนมีฐานะที่ดีขึ้น ทั้งจากการทำเกษตรกรรมและขายที่ดิน จึงสามารถส่งบุตรหลานศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปศึกษาต่อภายในตัวเมืองเชียงใหม่และโรงเรียนเอกชน ส่งผลให้ปัจจุบันระดับการศึกษาของคนในชุมชนสูงขึ้น (จุไรพร อุดม และคณะ, 2558)
จุไรพร อุดม และคณะ. (2558). การฝึกภาคปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ชุมชน พื้นที่ฝึกปฏิบัติ: ชุมชนท่าข้าม ม.4 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่. เชียงใหม่: ม.ป.ท.
เทศบาลเมืองแม่เหียะ. (2563). จำนวนประชากร. จาก http://www.maehia.go.th/
พระมหาปองปรีดา ปริปุณโณ, สัมภาษณ์, 9 มีนาคม 2566.