ชาวไทยเขินบ้านสันก้างปลา เป็นชุมชนชาวไทเขินที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน อพยพมาคราวเดียวกับไทเขินในพื้นที่บ้านทรายมูล บ้านมอญ บ้านสันกลางเหนือ และอีกหลายแห่งที่พลัดถิ่นอยู่กันคนละอำเภอ แต่ได้รับอิทธิพลในสมัยนั้น คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน และมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น วัฒนธรรมการพูด การทำอาหาร การแต่งกาย การก่อสร้างบ้านเรือน และประเพณีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น
ชื่อของชุมชน สันก้างปลา มีที่มาจากลักษณะพื้นที่เป็นป่าไม้ก้างปลา ซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม เกิดขึ้นที่ดอนทราย ในอดีตพื้นที่นี้มีลักษณะเป็นเนินเขาเล็ก ๆ เมื่อชาวไทเขินอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้ถือชื่อเรียกไม้ดังกล่าวเป็นชื่อเรียกของหมู่บ้านว่า "บ้านสันก้างปลา"
ชาวไทยเขินบ้านสันก้างปลา เป็นชุมชนชาวไทเขินที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน อพยพมาคราวเดียวกับไทเขินในพื้นที่บ้านทรายมูล บ้านมอญ บ้านสันกลางเหนือ และอีกหลายแห่งที่พลัดถิ่นอยู่กันคนละอำเภอ แต่ได้รับอิทธิพลในสมัยนั้น คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน และมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น วัฒนธรรมการพูด การทำอาหาร การแต่งกาย การก่อสร้างบ้านเรือน และประเพณีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น
บ้านสันก้างปลา เป็นชุมชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเขตอำเภอสันกำแพง หมู่บ้านแห่งนี้มีอายุนานกว่า 200 ปี ชาวไทเขินที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันคือ บ้านทรายมูล บ้านหัวทุ่ง บ้านร้องและบ้านม่วงม้า ชาวบ้านที่นี่เกือบทั้งหมดเป็นชาวไทเขิน สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ในสมัยที่พระเจ้ากาวิละ ได้กวาดต้อนกลุ่มชาวไทยเขินให้มาอยู่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2339 เวลาได้ล่วงเลยมากว่าสองร้อยปี แต่ชาวไทยเขินยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
ชาวไทเขินบ้านสันก้างปลาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ นอกจากนั้นยังมีชาวไทเขินที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันอีกด้วย เช่นชาวไทเขินบ้านหัวทุ่งและบ้านสันทรายมูล แต่เดิมชาวไทเขินทั้งสามหมู่บ้านนี้เกาะกลุ่มกันเป็นเครือญาติมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่วัดทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
วัดทรายมูลสันกำแพง เป็นวัดที่มีชื่อเสียงและเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เป็นวัดราษฎร์ มหานิกาย ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2465 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2470 และมีพระครูพิพิธสุภาจาร สุภาจาโร เจ้าอาวาสวัดทรายมูล
วัดทรายมูลก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2246 แต่เดิมชื่อว่า วัดสันก้างปลาเพราะเรียกชื่อตามหมู่บ้าน แต่เดิมนั้นเป็นป่าไม้ก้างปลาเกิดขึ้นที่ดอนทราย ที่น้ำแม่ออนพัดพามา ชาวบ้านในสมัยนั้นช่วยกันแผวถ้างสร้างโรงกระต๊อบมุงด้วยใบจาก ใช้เป็นโรงปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และศรัทธาทายกทายิกาศรัทธาที่อุปถัมภ์วัด วัดทรายมูล แต่เดิมมีการบอกเล่าสืบต่อกันมา และอ้างประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ว่าสร้างขึ้นเมื่อสมัยเมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า สมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ลิ้นคำ ตั้งแต่ พ.ศ. 2101 ถึง พ.ศ. 2317 เป็นเวลา 216 ปี มีพระยาสุรวะฤาชัยสงคราม (หนานติ๊บช้าง) กู้เอกราชพร้อมกับพระเจ้าตากสิน ช่วยกันกอบกู้เมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2317 ในสมัยนั้นเชียงใหม่ยังตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่ ในสมัยที่เจ้าแรนร่าเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 11 ซึ่งเป็นคนพม่าและมีเจ้าเมืองสืบต่อมาอีก 6 องค์ โดยได้ยึดคืนได้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2341 พระยากาวิละได้รวบรวมคนจากเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นไว้เมืองเชียงใหม่หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้แล้ว เมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองร้างไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ โดยไปต้อนผู้คนจากเมืองปุ เมืองสาด เมืองแจด เมืองกึง เมืองกุน มารวมเมืองเชียงใหม่
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2342 ไปตีเอาชาวเมือง (ตอนเอาผู้คน) ในรัฐฉานมาไว้ที่วัวลาย นันตาสี่เหลี่ยม บ้านสะต่อย สร้อยไร่ ท่าร้างบ้านนา ทุ่งอ้อ และไปตีเอาเมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ้ง แคว้นต่าง ๆ ในสิบสองปันนามาถึงหัวเมืองบนถึงฝั่งแม่น้ำสาละวิน
ทั้งนี้ ยังมีอีก 1 วัดในชุมชน คือ วัดสันก้างปลา ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อของหมู่บ้าน เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2527 เป็นวัดในพระพุทธศาสนาสังกัดมหานิกาย โดยคณะศรัทธาประชาชนในหมู่บ้าน เกิดความเห็นชอบร่วมกัน จึงได้รวบรวมทุนปัจจัยซื้อพื้นที่นาและพัฒนาขึ้นมาให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา
บ้านสันก้างปลาอยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลสันกำแพง แต่เดิมก็คือ สุขาภิบาลสันกำแพง มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งให้เป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2499 และต่อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2537 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะสุขาภิบาลที่มีฐานะการคลังเพียงพอที่จะบริหารงานประจำสุขาภิบาลได้โดยมีประธานกรรมการสุขาภิบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากสุขาภิบาลมีโครงสร้างการบริหารงานขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่มีเจตนารมณ์แบ่งแยกโครงสร้างการบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การบริหารงานเทศบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ส่งผลให้สุขาภิบาล 980 แห่งทั่วประเทศ ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล
ลักษณะที่ตั้ง
เทศบาลตำบลสันกำแพง อยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกตาม ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1006 (เชียงใหม่ - สันกำแพง) ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 22.714 ตารางกิโลเมตร ศูนย์กลางชุมชนที่หนาแน่นตั้งอยู่ริมถนนสาย เชียงใหม่ - สันกำแพง
อาณาเขต
- ด้านเหนือ ตั้งแต่หลักเขตที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ฟากตะวันตกของทางไปตำบลห้วยทราย ตรงที่อยู่ห่างจากฟากเหนือของทางไปตำบลแม่ปูคาไปทางทิศเหนือ 600 เมตร และจากหลักเขตที่ 1 เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงฟากใต้ของทางไปบ้านม่วงม้าตรงที่บรรจบกับทางสาย คำซาว - บ้านร้อง ซึ่งเป็นหลักเขตที่ 2
- ด้านตะวันออก จากหลักเขตที่ 2 เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ถึง ฟากเหนือของทางหลวงสายเชียงใหม่ - สันกำแพง ตรงที่อยู่ห่างจากลำเหมืองแม่ออน ไปทางทิศ ตะวันออก 150 เมตร ซึ่งเป็นหลักเขตที่ 3 และจากหลักเขตที่ 3 เป็นเส้นตั้งฉากกับทางหลวงสายเชียงใหม่ - สันกำแพง ไปทางทิศใต้เป็นระยะทาง 1,000 เมตร ซึ่งเป็นหลักเขตที่ 4
- ด้านใต้ จากหลักเขตที่ 4 เป็นเส้นขนานกับฟากใต้ของทางหลวงสาย เชียงใหม่ - สันกำแพง ไปทางทิศตะวันตก ถึงจุดที่อยู่ในแนวตั้งฉากจากหลักกิโลเมตรที่ 11,500 ของทางหลวงสายเชียงใหม่ - สันกำแพง ไปทางทิศใต้เป็นระยะทาง 1,000 เมตร ซึ่งเป็นหลักเขตที่ 5
- ด้านตะวันตก จากหลักเขตที่ 5 เป็นเส้นตั้งฉากกับ หลักเขตที่ 4 และหลักเขตที่ 5 ไปทางทิศเหนือถึงฟากเหนือของทางไปตำบลแม่ปูคาซึ่งเป็นหลักเขตที่ 6 จากหลักเขตที่ 6 เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนบรรจบหลักเขตที่ 1
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำรวจข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม 2566 ในพื้นที่หมู่ที่ 6 สันก้างปลา พบว่า มีประชากรเพศชาย จำนวน 146 คน เพศหญิง จำนวน 155 คน รวมทั้งสิ้น 301 คน
ไทขึนด้านวิถีชีวิตและความเป็นอยู่โดยทั่วไปชาวไทเขินมักทำการเกษตร ปลูกข้าว พืชผัก เลี้ยงสัตว์อย่างพอเพียงในครอบครัว และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในสังคมแบบเครือญาติ
ประเพณีของชาวไทเขินมีความคล้ายคลึงกับชาวล้านนาในการจัดพิธีสืบชะตาหรือต่ออายุหมู่บ้านเพื่อเป็นพลังให้แก่กลุ่มชน ส่วนศิลปะการแสดงที่นิยมเล่นกันตามงานประเพณี เช่น การฟ้อนรำหางนกยูง ฟ้อนฆ้องเชิง ฟ้อนรำนก ฟ้อนรำดาบ ฟ้อนโต ซึ่งการฟ้อนโตเป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมร่วมของชาวไทใหญ่และชาวไทเขิน
ศูนย์วัฒนธรรมไทยเขิน วัดสันก้างปลา จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทเขิน และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้มีความรักท้องถิ่น รวมไปถึงตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสมมาหลายชั่วอายุคน ภายในศูนย์วัฒนธรรมวัดสันก้างปลานี้ ประกอบด้วยนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชาวไทเขิน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบชาวไทเขิน ทั้งที่เป็นของเก่าแก่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษและที่ตัดเย็บขึ้นมาใหม่โดยกลุ่มแม่บ้าน รวมถึงเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเดิมเคยมีการจัดทำทะเบียนวัตถุ แต่ภายหลังเมื่อมีวัตถุใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม ทำให้เลขทะเบียนกระจัดกระจาย ทางศูนย์กำลังจัดทำเลขทะเบียนใหม่เพื่อการจัดเก็บที่เป็นระบบมากขึ้น การจัดตั้งและการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์เป็นความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชน โดยชาวบ้านจะแวะเวียนมาดูแลศูนย์ฯ ถ้าผู้มาเยี่ยมชมศูนย์มีข้อสงสัยอะไร ชาวบ้านสามารถเป็นวิทยากรแนะนำและตอบคำถามได้ แต่โดยปกติแล้วพระในวัดจะเป็นวิทยากรประจำ ถือได้ว่าศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สำคัญของคนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง วัดยังจัดกิจกรรมให้กับเยาวชน โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนธรรมะและส่วนวัฒนธรรม อันดับแรกเป็นการบรรยายธรรมะเพื่อให้สงบจิตสงบใจและเกิดสมาธิ จากนั้นจึงนำชมศูนย์ การนำชมนี้จะไม่ยัดเยียดข้อมูลให้ผู้ชม แต่จะรอตอบข้อสงสัยเป็นเรื่อง ๆ ไป เพราะมีป้ายเขียนบรรยายรายละเอียดไว้หมดแล้ว พระวิทยากรจะแนะนำเฉพาะเรื่องที่นอกเหนือไปจากนั้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นผู้มาชมให้คิดให้ถาม และรับข้อมูลตรงตามที่ตนสนใจได้อย่างเต็มที่และตรงวัตถุประสงค์มากที่สุด
การสื่อสารในชุมชนใช้ภาษาไทเขินซึ่งมีสำเนียงแตกต่างจากคำเมืองหรือภาษาไทยท้องถิ่นภาคเหนือหรือชาวไทยวนเล็กน้อย โดยภาษาของชาวไทเขินมีสำเนียงที่แตกต่างจากชาวไทยวน มักลงท้ายด้วยคำว่า “แด้” ใช้ตัวอักษรธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาพม่า ส่วนภาษาเขียนของชาวไทเขินได้รับมาจากอักษรธรรมล้านนา ที่ชาวไทยวนล้านนาเข้าไปเผยแพร่พร้อมกับรากฐานทางพุทธศาสนา
เชียงใหม่นิวส์. (2562). ชุมชนไทเขิน “บ้านสันก้างปลา”. จาก https://www.chiangmainews.co.th/
ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ประเทศไทย. (2555). พิพิธภัณฑ์ไทยเขิน วัดสันก้างปลา. จาก https://db.sac.or.th/museum/
นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม. (2566). พิพิธภัณฑ์ไทเขินวัดสันก้างปลา. จาก https://www.navanurak.in.th/watsankangpla/
เบญจวรรณ สุขวัฒน์. (2558). การปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน : การต่อรองเพื่อสิทธิทางการเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม. ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ไทศึกษา), มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
เทศบาลตำบลสันกำแพง. (2566). ข้อมูลทั่วไป. จาก http://www.sankamphaeng.go.th/
Chiangmaitouring. (2557). ศูนย์วัฒนธรรมไทเขิน บ้านสันก้างปลา. จาก https://www.chiangmaitouring.com/