บ้านร้องเม็ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่และเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุโบราณ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง
"บ้านร้องเม็ง" แต่เดิมชื่อว่า ล้องเม็ง ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ร้องเม็ง คำว่า ร้อง หมายถึง สระน้ำหรือคลองที่ใช้เป็นเส้นทางในการสัญจร ส่วนคำว่า เม็ง หมายถึง กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ หมายถึง มอญ
บ้านร้องเม็ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่และเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุโบราณ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง
จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านเล่าถึงความหมายของหมู่บ้านร้องเม็งว่า คําว่า “ร้อง” เพี้ยนมาจากคําว่า “ล้อง” ซึ่งหมายถึง สระ หนอง คลอง บึง หรือลําธารเล็ก ๆ เนื่องจากมีลําธารเล็ก ๆ จากลําน้ำแม่กวงไหลผ่านหมู่บ้าน ส่วนคําว่า “เม็ง” แปลเป็นภาษาทางภาคเหนือ หมายถึง “มอญ” ซึ่งสันนิษฐานกันว่าราษฎรบ้านร้องเม็งสืบเชื้อสายมาจากชนชาวมอญที่อพยพมาจากพม่า และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านร้องเม็ง มาเมื่อประมาณ 200-300 ปีมาแล้ว หมู่บ้านร้องเม็ง ได้ตั้งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยประมาณ 30 ครัวเรือน ชาวบ้านมีวิถีการดําเนินชีวิตมาในท้องถิ่นนี้หลายชั่วอายุคนแล้ว แต่ไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คงเหลือไว้แต่การใช้ภาษาซึ่งยังมีการใช้ภาษาพูดในสําเนียงภาษาไทเขินอยู่บ้าง ปัจจุบันมีนายเจริญศักดิ์ โนคํา เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ส่วนชื่อของตำบล "หนองแหย่ง" มีที่มาจากชื่อหนองน้ำสาธารณะ เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 3 งาน และในหนองแหย่งนั้น มีพืชตระกูลกกชนิดหนึ่งเจริญเติบโตในหนองน้ำ ชาวบ้านเรียกชื่อนี้ว่าต้นแหย่ง หนองน้ำนี้ จึงได้ชื่อว่าหนองแหย่ง ต่อมาชาวบ้านได้อพยพและย้ายถิ่นฐานมาทำไร่ทำนาใกล้ ๆ หนองน้ำนี้
ที่ตั้ง บ้านร้องเม็งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ว่าการอําเภอสันทรายและมีระยะทางห่างจากที่ว่าการอําเภอสันทรายประมาณ 7 กิโลเมตร
เนื้อที่ มีพื้นที่สําหรับอยู่อาศัยประมาณ 850 ไร่ และมีพื้นที่ทําการเกษตรประมาณ 1,200 ไร่ โดยมีพื้นที่ทํานาประมาณ 200 ไร่ พื้นที่ทําสวนประมาณ 150 ไร่ พื้นที่ทําไร่ 200ไร่ พื้นที่การเกษตรอื่น ๆ 400 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทาน
ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิประเทศของบ้านร้องเม็งเป็นพื้นที่ราบ
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านดงเจริญชัย หมู่ 6 ต.หนองแหย่ง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านบวกเปา หมู่ 3 ต.หนองแหย่ง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองแหย่ง หมู่ 1 ต.หนองแหย่ง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านทุ่งข้าวตอก หมู่ 4 ต.หนองแหย่ง
สถิติประชากรจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ระบุว่า หมู่ที่ 2 บ้านร้องเม็ง มีจํานวนประชากรทั้งสิ้น 486 คน เป็นเพศชาย 227 คน และเพศหญิง 259 คน
ไทขึนการปกครอง : บ้านร้องเม็ง แบ่งออกเป็นคุ้มต่าง ๆ จำนวน 5 ป๊อก ได้แก่ ป๊อกสันสะเลียม ป๊อกร้องเม็งใต้ ป๊อกร้องเม็งเหนือ 1 ป๊อกร้องเม็งเหนือ 2 และป๊อกวรรณชัย
ระบบเศรษฐกิจและอาชีพ : ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมาณ 75 % รับจ้างทั่วไป ประมาณ 20 % ค้าขายและอื่น ๆ ประมาณ 5 %
การเกษตรกรรมของชาวบ้านมีการปลูกพืชต่าง ๆ ดังนี้
- ปลูกข้าวนาปี พันธุ์ที่ปลูก คือ กข.6 กข.10 สันป่าตอง 1 ข้าวหอมมะลิ 105
- ปลูกข้าวนาปรัง พันธุ์ที่ปลูก คือ กข.6 กข.10 สันป่าตอง 1
- ปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้ง พันธุ์ที่ปลูก คือ สจ.4 สจ.5 เชียงใหม่ 60 สจ. 9
- ปลูกมะม่วง พันธุ์ที่ปลูก คือ น้ําดอกไม้ เขียวเสวย มหาชนกหนังกลางวันและโชคอนันต์
- ปลูกลําไย พันธุ์ที่ปลูก คือ อีดอ อีแห้ว สีชมพู เบี้ยวเขียว
- ปลูกยางพารา พันธุ์ที่ปลูก คือ RRIM 600
ด้านศาสนาและความเชื่อ ชาวบ้านร้องเม็งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในหมู่บ้านมีการใช้วัดเป็นสถานที่ทำบุญและจัดงานประเพณีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ มีกิจกรรมและประเพณีสำคัญ ดังนี้
1. วันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ สตรี เด็ก และเยาวชน จะร่วมกันเดินทางไปทำบุญตักบาตรที่วัดในตอนเช้า นำธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ อาหารคาวหวานถวายพระ นำดอกไม้ใส่ขันแก้วทั้ง 3 ฟังเทศน์ เพื่อเป็นการทำบุญไปภายภาคหน้า อบรมจิตใจ ทำใจให้สงบ ทำแต่คุณงามความดี
2. วันสงกรานต์ หรือประเพณีปี๋ใหม่เมือง วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสังขารล่อง มีการจุดประทัดเพื่อส่งสังขารในตอนกลางคืนและเวลาใกล้รุ่งของวันที่ 13 เมษายน ส่วนวันที่ 14 เมษายน ถือว่าเป็นวันเนา เป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย ห้ามทะเลาะกัน เป็นวันรวมญาติ วันครอบครัว วันนี้จะมีการจัดเตรียมทำขนมอาหารดอกไม้ ธูปเทียน ตุง เพื่อเตรียมไปทำบุญที่วัดในตอนเช้าของวันที่ 15 เมษายน และตอนเย็นจะมีการช่วยกันขนทรายเข้าวัด เพราะมีความเชื่อว่าในหนึ่งปีที่คนเราเดินทำบุญที่วัด ได้นำทรายติดออกมาจากวัด และในวันนี้ก็ควรนำกลับเข้าไปไว้ในวัด โดยจะช่วยกันก่อเป็นเจดีย์ทราย เพื่อที่เช้าของวันที่ 15 เมษายน จะได้นำตุงมาปักเพื่อทำพิธีทางศาสนา และจะมีการแห่ไม้ค้ำสะหรีหรือไม้ค้ำต้นโพธิ์ โดยจัดเตรียมหาต้นไม้ที่มีกิ่งไม้งาม ขนาดพอเหมาะ นำมาแกะเอาเปลือกออก แล้วใช้ขมิ้นทำให้มีสีเหลือง นำสวยดอกไม้มัดผูกติดไว้ที่กิ่งไม้ตอนบน เพื่อนำไปค้ำต้นสะหรีที่อยู่ที่วัดโดยมีความเชื่อทางศาสนาว่าเพื่อจะให้มีอายุยืนยาวเหมือนต้นโพธิ์ และในวันที่ 15 เมษายน เป็นวันพญาวัน เป็นวันที่ดีที่สุดของทุกวันในหนึ่งปี เป็นวันที่เด็ก ผู้ที่มีอายุน้อย จะนำสิ่งของ เช่น ขนม ผลไม้ ของกิน ของใช้ต่าง ๆ เครื่องนุ่งห่ม ดอกไม้ นำไปมอบไว้ขอสูมาต่อผู้สูงอายุและผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นสิริมงคล และถือเป็นโอกาสสำคัญที่ลูกหลานได้มาพบเยี่ยมสอบถามความเป็นอยู่ของผู้เฒ่าผู้แก่ เรียกว่าประเพณีดำหัว
3. ทำบุญวันพระ ในหนึ่งเดือนจะมีการทำบุญทางศาสนาทุกวันพระซึ่งผู้สูงอายุจะเดินทางไปทำบุญตักบาตรที่วัดในตอนเช้า โดยนำธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ อาหารคาวหวาน ถวายพระ และจะไปฟังเทศน์ที่อารามสงฆ์ เพื่ออบรมจิตใจให้สงบ เป็นการศึกษาธรรมะ ทำให้ได้บุญ
4. งานปอยหลวง เป็นงานทำบุญฉลองของศาสนา เช่น การสร้างโบสถ์ ศาลา วิหาร เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะมีการฉลอง ชาวบ้านในหมู่บ้าน จะมีการจัดแห่ครัวทาน คือ ต้นเงินประดับด้วยดอกไม้ ขนม สมุด ปากกา ดินสอ เป็นต้น และมีการแห่ขบวนการร่ายรำ เช่น การฟ้อนเล็บ การฟ้อนดาบ การตีกลองสะบัดชัย เป็นต้น ในตอนกลางคืนจะมีการละเล่นมหรสพต่าง ๆ เช่น ดนตรี ลิเก มวย ชิงช้าสวรรค์ การประกวดการฟ้อน การประกวดการร้องเพลง เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรี สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
5. ประเพณีลอยกระทงหรือประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีที่กระทำสืบกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว จะถือวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปีเป็นวันลอยกระทง เพื่อเป็นการขอขมาต่อแม่น้ำคงคา เป็นการชำระล้างเคราะห์ตามความเชื่อแต่โบราณ ชาวบ้านจะจัดกิจกรรม 2 วัน วันแรกจะมีการจัดประกวดซุ้มประตูป่า โดยให้แต่ละบ้านจัดตกแต่งประดับประดาประตูบ้านของแต่ละบ้านให้สวยงาม มีการประดับดอกไม้ ต้นไม้ จุดเทียนหรือผางประทีปให้สวยงาม และคืนวันที่ 2 จะมีการแห่ขบวนกระทงที่ชาวบ้านได้ช่วยกันตกแต่ง มีการประกวดนางนพมาศ เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี
6. พิธีสืบชะตาบ้านหรือสะเดาะเคราะห์ ชาวบ้านจะไปช่วยจัดเตรียมเครื่องครัว เพื่อประกอบพิธีสืบชะตาหลวงที่วัดโดยจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน เพื่อเป็นสิริมงคลภายในหมู่บ้าน และเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้าน
7. ประเพณีกิ๋นก๋วยสลาก จัดขึ้นราวเดือนเกี๋ยงหรือประมาณเดือนกันยายน เป็นการทำบุญตามความเชื่อที่ว่าเป็นการส่งสิ่งของและอาหาร รวมทั้งเครื่องใช้ไปให้ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วในอีกภพ โดยพระสงฆ์จะทยอยกันมาจากการนิมนต์ของเจ้าอาวาส เพื่อมารับสังฆทาน โดยการรับทานมี 3 ประเภท คือ 1) ประเภทเจาะจงพระที่จะมารับสังฆทาน 2) ประเภทไม่เจาะจง โดยที่ชาวบ้านจะแสดงความจำนงว่าจะจับฉลาก และชาวบ้านก็จะจับฉลากพระตามที่คณะกรรมการวัดได้จัดเตรียมสลากไว้ 3) ประเภททานที่พระเจ้าหรือพระพุทธรูป เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้ว ก็เป็นอันว่าเสร็จพิธีการ
1.พระครูโกวิทธรรมโสภณ เดิมชื่อ ศรีผ่อง บุณเป็ง
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2494 ณ บ้านร้องเม็ง ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ บรรพชาเมื่ออายุ 13 ปี ในปี พ.ศ. 2507 การศึกษา พธ.บ. (กิตติมศักดิ์) และนักธรรมชั้นเอก
ตำแหน่งปัจจุบัน เจ้าคณะตำบลหนองแหย่ง, เจ้าอาวาสวัดร้องเม็ง, พระอุปัชฌาย์ สมณศักดิ์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ในราชทินนาม "พระครูโกวิทธรรมโสภณ"
พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 โดยพระครูศรีผ่อง โกวิโท (บุญเป็ง) ได้รับพระรามทานสมณศักดิ์ พัดยศ ตามราชทินนามพระครูโกวิทธรรมโสภณ ตำแหน่งเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีความสนใจเป็นพิเศษในการอนุรักษ์ศาสนวัตถุที่มีคุณค่า พระพุทธรูปโบราณ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน อันเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่การสืบทอดมาช้านาน ประกอบด้วยสิ่งของหลายร้อยหลายพันอย่าง ที่สูญหายไปแล้วก็มี และที่ยังพบเห็นอยู่ทั่วไปก็มี เพียงก้าวแรกที่หันมาสนใจอนุรักษ์ของเก่า ประเภทเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วนำของชิ้นแรก ‘ปิมดินกี่’ รูปโค้งสำหรับก่ออิฐสร้างบ่อน้ำ มาวางไว้ที่โต๊ะหน้ากุฏิพร้อมกับเห็นอะไรเก่า ๆ เช่น ถ้วย ชาม กระเบื้อง ฯลฯ ก็นำมาวาง ๆ ไว้ รวมกันได้ประมาณ 100 ชิ้น ชาวบ้านใกล้เคียงมาพบเข้าก็เริ่มสนใจ สอบถามถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการเก็บรักษาสิ่งของบางอย่างคนรุ่นใหม่ไม่ทราบว่าเป็นอะไรและไม่รู้ถึงประโยชน์ใช้สอย ทำให้พระครูโกวิทธรรมโสภณ ต้องอธิบายขยายความเป็นราย ๆ ไป
จนกระทั่งศรัทธาประชาชนในหมู่บ้าน และตำบลใกล้เคียงต่างทราบก็นำวัตถุโบราณ สิ่งของเครื่องใช้เก่า ๆ พระพุทธรูปเก่า มาถวายไว้เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดมากขึ้น นับรวมแล้วมีประมาณ 1,000 ชิ้น คณะกรรมการวัดเริ่มเห็นว่าสถานที่เก็บรักษาคับแคบ จึงได้ขยายตู้เก็บเข้าไว้ในกุฏิถึง 3 ห้อง แต่ก็ไม่สะดวกสำหรับศรัทธาประชาชนที่จะเข้าชมเพราะคับแคบมาก ท่านพระครูโกวิทธรรมโสภณ จึงได้ก่อสร้างอาคารหลังปัจจุบันขึ้น แล้วนำวัตถุโบราณพื้นบ้าน เครื่องใช้ไม้สอยของใช้ในพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดเข้าไว้ในอาคารใหม่เป็นสัดส่วนเรื่องนี้ได้ทราบไปถึงศรัทธา ญาติโยม ต่างนำของมาบริจาคอยู่ตลอด จนกระทั่งปัจจุบันรวมแล้วมีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุพื้นบ้าน 5,000 กว่าชิ้น และมีศรัทธาจากกรุงเทพฯ ได้บริจาคโบราณวัตถุศิลปวัตถุให้แก่พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็งจึงได้สร้างพิพิธภัณฑ์หลังที่ 2 ขึ้น เพื่อจัดแสดงวัตถุที่ได้รับมา
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการถาวร อาทิ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง การดำเนินชีวิตของชาวบ้านวัฒนธรรมและประเพณี จัดแสดงวัตถุสะสมชิ้นสำคัญ คือ แม่พิมพ์อิฐก่อบ่อน้ำ
ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทย และมีภาษาถิ่น หรือภาษาคำเมือง เป็นภาษาสำหรับสื่อสารในท้องถิ่น
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2566). พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง. จาก https://thai.tourismthailand.org/
เจิมขวัญ รัชชุศานติ และศุภธณิศร์ เติมสงวนวงศ์. (2562). ศักยภาพทรัพยากรการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง อ.สันทราย จ. เชียงใหม่. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ, 12(2), 102-107.
เทศบาลตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). เชียงใหม่: ผู้แต่ง.
สนธยา สวัสดิ์. (2561). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนบ้านร้องเม็ง ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
พระครูโกวิทธรรมโณ ศรีผ่อง บุญเป็ง, สัมภาษณ์, 6 กุมภาพันธ์ 2566.