Advance search

บ้านป่าไม้

ชุมชนเป็นที่ตั้งของน้ำตกบัวตองและน้ำพุเจ็ดสี เป็นน้ำตกที่สวยงามตามธรรมชาติมี 3 ชั้น มีน้ำไหลเป็นลักษณะพิเศษเป็นธารหินปูน ต้นน้ำเกิดจากน้ำพุเจ็ดสี ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร น้ำตกมีความสูงประมาณ 100 เมตร มีความลาดชันประมาณ 50 องศา ลดหลั่นกันลงมา น้ำใสเป็นประกายมองผ่านจะมีสีเหมือนรุ้งกินน้ำ เมื่อยามต้องแสงอาทิตย์ส่องลงมา

หมู่ที่ 8
บ้านสวนป่า
แม่หอพระ
แม่แตง
เชียงใหม่
ทต.แม่หอพระ โทร. 0-5396-7100
ธนภัทร บัวเย็น
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 มิ.ย. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
29 ส.ค. 2023
บ้านสวนป่า
บ้านป่าไม้

ที่มาของชื่อชุมชนบ้านสวนป่า ไม่ปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานว่ามาจากลักษณะพื้นที่ของชุมชนที่มีลักษณะเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีน้ำตกในพื้นที่อีกด้วย


ชุมชนชนบท

ชุมชนเป็นที่ตั้งของน้ำตกบัวตองและน้ำพุเจ็ดสี เป็นน้ำตกที่สวยงามตามธรรมชาติมี 3 ชั้น มีน้ำไหลเป็นลักษณะพิเศษเป็นธารหินปูน ต้นน้ำเกิดจากน้ำพุเจ็ดสี ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร น้ำตกมีความสูงประมาณ 100 เมตร มีความลาดชันประมาณ 50 องศา ลดหลั่นกันลงมา น้ำใสเป็นประกายมองผ่านจะมีสีเหมือนรุ้งกินน้ำ เมื่อยามต้องแสงอาทิตย์ส่องลงมา

บ้านสวนป่า
หมู่ที่ 8
แม่หอพระ
แม่แตง
เชียงใหม่
50150
19.069430541433007
99.07980270401586
เทศบาลตำบลแม่หอพระ

ในอดีตกาลยังมีเมืองเมืองหนึ่งได้ทำศึกสงครามรบราฆ่าฟันกันเพื่อแย่งความเป็นใหญ่ในแคว้นล้านนาตอนบน ซึ่งมีเจ้าเมืองและพระมเหสีถูกสังหารเสียชีวิต เหลืออยู่แต่พระธิดา 2 พระองค์ คือ พระธิดาบัวแก้ว-พระธิดาบัวตอง และมีขุนผาดำคนสนิทของเจ้าเมืองที่พาพระองค์ทั้ง 2 พระองค์หลบหนีพร้อมกันนี้กันได้รวบรวมพลเมืองและชาวบ้านที่รอดตายหนีล่นลงมาทางใต้ เพื่อให้รอดพ้นจากการติดตามของข้าศึกจนกระทั่งมาพบถ้ำแห่งหนึ่งเห็นว่ามีความปลอดภัยดี จึงให้พระธิดาทั้ง 2 พระองค์อาศัยอยู่ในถ้ำพร้อมด้วยบริวารและคนรับใช้ของพระธิดา ซึ่งถ้ำดังกล่าว ปัจจุบันเรียกว่า "ถ้ำบัวตอง" ส่วนพวกชาวบ้านที่อพยพมาพร้อมกับพระธิดาทั้ง 2 พระองค์ก็ได้ปลูกกระต๊อบอยู่รอบ ๆ ทางด้านหน้าถ้ำและหลังถ้ำ เพราะเป็นพื้นที่ที่มักแก่การเพาะปลูก ซึ่งบริเวณที่พวกนางอาศัยอยู่นั่นยังขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ พระธิดาทั้ง 2 พระองค์จึงได้อธิฐานขอให้เทวดาเนรมิตให้เกิดแหล่งน้ำใกล้ ๆ กับที่อยู่ของนางและได้เนรมิต "ตาน้ำพุ" เกิดขึ้นข้าง ๆ เขาทางทิศใต้ ปัจจุบันอยู่หลังวัดถ้ำบัวตอง

ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของปากถ้ำ ยังมีถ้ำเล็ก ๆ อีกถ้ำหนึ่งลึกลงไปเป็นทางแคบ ๆ แต่พอลงไปถึงด้านล่างจะเป็นบริเวณกว้างและจัดให้เป็นโรงครัวของพระธิดาบัวแก้ว-บัวตอง เมื่อก่อนชาวบ้านยังเล่ากันว่า ยังเห็นข้าวของเครื่องใช้ เครื่องครัว หม้อ ถ้วย จาน ยังมีอยู่ แต่ภายหลังชาวบ้านที่ไม่รู้คุณค่าของเก่าก็ได้ลักขโมยออกไปขายกันหมด ส่วนในถ้ำประมาณ 50 ปี ที่ผ่านมายังมีเรือพร้อมไม้พายอยู่ข้างบนถ้ำส่วนด้านในยังมีพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเกาะสลักไม้อยู่เต็มลำเรือ ปรากฏว่ามีคนใจบาปแอบลักขโมยไปขายจนหมดซึ่งปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นอีกเลยและชาวบ้านเล่าลือกันว่า ผู้ที่ขโมยของมีค่าออกไปนั้นจะต้องมีอันเป็นไปถึงแก่ชีวิตทุกคน

ส่วนทางด้านท้ายที่พระนางอาศัยอยู่ ยังมีถ้ำยังแห่งหนึ่งมีลักษณะพิเศษมีรูปร่างเป็นหัวช้างและมีงวงคล้ายงวงช้าง ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ถ้ำงวง" ชาวบ้านเรียกขานกันว่าที่ตรงบริเวณนั้นเคยเป็นโรงช้างหรือที่ผูกช้างมีก่อน ปัจจุบันส่วนที่เป็นงวงช้างได้ถูกทำลายจนไม่เหลือลักษณะของหัวช้างให้เห็นเหมือนแต่ก่อน

ส่วนขุนผาดำและบริเวณอีกชุดหนึ่งได้ไปสร้างที่พักอาศัยอยู่ที่ริมเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ดอยผาดำ" จากนั้นมาถึงปัจจุบัน ต่อมาขุนผาดำได้สร้างอุทยานและสวนดอกไม้ให้พระธิดาทั้ง 2 พระองค์และบริวารของพระนางให้พักผ่อนหย่อนใจ (ปัจจุบัน คือ ลานจอดรถในบริเวณอุทยานน้ำตกบัวตอง) แต่บริเวณนั้นไม่มีน้ำ พระธิดาทั้ง 2 พระองค์จึงได้อธิฐานให้มีแหล่งน้ำเพื่อให้ได้อาบหรือเล่นเมื่อยามอากาศร้อน เทวดาจึงได้ให้พระแม่ธรณีแทรกแผ่นดินให้เป็นธารน้ำใต้ดินซึ่งต้องอาศัยภูเขา 5-6 ลูก คือ เขาสามเส้า จำนวน 3 ลูก, เขาห้วยบง, เขาดงไม้ฮ่างหรือเขาผาตั้ง เมื่อรวมกันแล้วให้มาโผล่ขึ้นที่เหลืออุทยานเป็น "น้ำพุ" ขนาดใหญ่ที่พุแรง (ปัจจุบันเรียกว่า "น้ำพุเจ็ดสี" และเทวดาได้จัดให้กุมภัณฑ์ดูแลน้ำพุเพื่อมิให้ใครเข้าใกล้ กลัวว่าน้ำจะขุ่นมัวและบริเวณน้ำพุนั้นเรียกว่า "หนองผีฮ้าย" หรือ (ผีดุ) ซึ่งสมัยก่อนนั้นไม่มีใครเข้าไปกล้ำกรายในบริเวณน้ำพุนั้นเพื่อไหลลงมากลายเป็นน้ำตกที่สวยงามและกว้างประมาณ 10 เมตร (ปัจจุบัน เรียกว่า น้ำตกบัวตอง) เดี๋ยวนี้บริเวณน้ำพุ และน้ำตกมีน้ำลดลงมากเพราะเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนด้านข้างของอุทยานทิศตะวันตกหรือหลังสำนักงานลงไป เทวดาได้เนรมิตให้เป็นกำแพงกั้นอุทยาน ปัจจุบันนี้เรียกว่า "เวียงผา" จนถึงปัจจุบันและอีกบริเวณหนึ่งที่ติดกับเวียงผาสันนิษฐานว่าเป็นเจดีหรือวัด มีกู่ที่ใส่อัฐิของบุคคลสำคัญ ปัจจุบันมีแต่วัตถุโบราณวัตถุหลงเหลืออยู่ ชาวบ้านเรียกว่า "ม่อนธาตุ" แต่ไม่ทราบว่าสร้างในสมัยใด

พระธิดาบัวแก้ว-บัวตอง ซึ่งตอนที่หนีมานั้นมีสมบัติติดมามาก และมีปลิงทองคำอยู่ 2 ตัว ซึ่งพระนางผู้พี่ได้เอาปลิงทองคำไปฝังไว้ที่ใต้ต้นชมพู่ป่า ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า "หนองปลิงหลวง" ด้านพระนางผู้น้องได้นำไปฝังที่ต้นชมพู่อีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "หนองปลิงน้อย" ตรงที่พระนางนำปลิงไปฝังไว้นั้น กลายไปตาน้ำพุไหลออกมาเป็นหนองน้ำใหญ่ทั้ง 2 แห่ง ชาวบ้านที่เก็บหาของป่าไปเจอน้ำพุจะเห็นปลิงทองคำออกมาแหวกไหวเล่นน้ำ เมื่อเข้าไปใกล้ ๆ ปลิงทองก็จะรีบมุดลงรูตาน้ำพุไป ตอนนั้นหนองปลิงทั้งสองมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าวันใดคืนใดชาวบ้านในหมู่บ้านหรือตำบลใกล้เคียง (แม่หอน้ำ) ได้ยินเสียงครางกระหึ่ม แผ่นดินสั่นสะเทือนติดต่อกันหลายครั้ง เนื่องจากปลิงในหนองน้ำครางปรากฏการณ์นี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า "หนองปลิงคราง" และชาวบ้านก็จะร้ทันทีว่าจะต้องมีฝนตกหนักชาวบ้านจะต้องรีบเก็บข้าวของไว้ในที่สูง ๆ และเมื่อชาวบ้านได้ยินเสียงปลิงครางทุกครั้งก็จะต้องเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ทุกครั้งไป

พระธิดาทั้ง 2 พระองค์ ทรงโปรดสุนัขมากจึงได้เลี้ยงสุนัขไว้หลายตัว ต่อมาสุนัขจ่าฝูงของพระนางเกิดเป็นโรคสุนัขบ้า สุนัขได้ไล่กัดบริเวณของพระนางและพระนางก็เกิดกลัวโรคจะแพร่ระบาดจึงได้ให้เสนาคนเลี้ยงฆ่าและนำไปฝังที่ทางทิศใต้ใกล้กับห้วยแห่งหนึ่ง ห้วยนี้จึงได้ชื่อว่า "ห้วยหมาบ้า" ปัจจุบันเรียกกันว่า "ห้วยป่าบ้า"

อยู่มาวันหนึ่งขุนผาดำ ได้พาพระธิดาทั้ง 2 พระองค์ไปเที่ยวบึงน้ำซับเพื่อชมนกชมไม้ บึงนี้เป็นบึงโคลนดูด มีสิงสาราสัตว์เกิดมาตกบึงโคลนดูดนี้ก็จะถูกดึงหายไป พระนางบัวแก้วผู้พี่ได้เดินไต่ขอนไม้เพื่อเดินข้ามบึงน้ำซับ จึงลื่นตกบึงซึ่งมีโคลนดูดพระนางบัวแก้วได้คว้าต้นหวายที่อยู่ใกล้ ๆ มือ ต้นหนึ่งแต่ทนแรงดูดของโคลนในบึงไม่ไหว หวายเลยขาดร่างของพระนางบัวแก้วจมหายไปต่อหน้าต่อตาของขุนผาดำ และพระนางบัวตอง โดยไม่มีใครสามารถช่วยเหลือทันและบึงแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "โล๊ะหวายขาด" แต่ปัจจุบันชาวบ้านเรียกเพี้ยนไปว่า "โล๊ะหวายฝาด" บริเวณบึงน้ำซับแห่งนี้

ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวคือบ้านสวนป่า หรือบ้านป่าไม้ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

"ตำบลแม่หอพระ" ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโบราณ ดินแดนทุ่งพันแอกพันเผือ เมืองแกน ซึ่งอาณาเขตของเมืองโบราณนี้ครอบคลุมเนื้อที่ถึง 4 ตำบล อันได้แก่ ตำบลแม่หอพระ ตำบลอินทขิล ตำบลช่อแล ตำบลแม่หอพระซึ่งทุ่งพันแอกพันเผือเป็นดินแดนที่ราบลุ่ม ลักษณะยาวรีในแนวเหนือใต้ ตามทางโค้งของลำน้ำปิง ยาวประมาณ 9.5 กิโลเมตร ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงเป็นที่ตั้งของบ้านแม่หอพระ บ้านกาด บ้านหนองบัว ทางด้านทิศใต้ของที่ราบนี้รับน้ำจากห้วยแม่หอพระห้วยก้าง และห้วยช้างตาย

ประวัติศาสตร์ของชุมชน ทุ่งพันแอกพันเผือเมืองแกนกล่าวกันมาหลายยุคหลายสมัย ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาในสมัยใด แต่จากการศึกษาสภาพภูมิศาสตร์ พบว่าสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สืบมาจนปัจจุบัน เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่ม แม่น้ำปิง แม่น้ำงัดและแม่น้ำแกน จากตำนานเล่ากันว่า ครั้งพุทธกาลสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ได้เสด็จมาเทศนาโปรดสัตว์ จนมาถึงหมู่บ้านลัวะแห่งหนึ่ง พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นดอกจอมหด และแม่น้ำสงัด (แม่น้ำงัด)

พระองค์ทรงประทานพระเกศาให้แก่หัวหน้าลัวะ พวกลัวะนำไปฝังในดินแล้วก่อเจดีย์ขึ้นชื่อว่าวัดอุโมงค์อารามกลาหมื่น และทรงพักใต้ต้นชมพู่ ชาวลัวะก็เอากิ่งไม้ (เค็ดไม้) มาปูทำเป็นอาสนะถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทำนายว่า ต่อไปภายหน้าจะมีการสร้างเมืองขึ้นที่นี้ เรียกว่า เมืองเกษนคร เมืองแกนกั้งแก๊น ต่อมาเรียกกันว่า แม่คอเค็ด และเป็นแม่หอพระในเวลาต่อมา

จากตำนานเมืองเกษนครเมืองแกน และการเล่าขานติดต่อกันมาได้กล่าวถึงในสมัยหนึ่ง มีพระยาตนหนึ่งชื่อพระยามังรายปกครองเมืองสาเกษ (น่าจะชื่อตรงกับพญามังรายผู้ทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่ หรือผู้แต่งตำนานอ้างชื่อนี้เอาเอง) บริเวณชุมชนแม่หอพระเป็นประตูด้านทิศใต้ของเมืองแกน นิทานตำนานได้กล่าวถึงในสมัยนั้น ได้มีสงครามกับเมืองอังวะ ชาวบ้านชาวเมืองได้แตกหนีไปอยู่ตามป่าตามเขา เมืองมีสภาพเป็นเมืองร้าง คนที่กลับมาต่างร้องไห้คับแค้นใจ เมืองนี้จึงได้ชื่อว่า เมืองแกนกั้งแก๊น (คั่งแค้น) นางสุนันทา ได้พลัดพรากจากนายเมฆสุวรรณ์ผู้เป็นสามี นางจึงได้สร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงสามี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านแม่หอพระใน ปัจจุบันเรียกว่าพระธาตุเจ้าสุนันทา เดิมเป็นวัดร้างในตำนานเมืองเกษนคร เรียกว่าพระธาตุฝ่าบาทแก้ว ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุแม่หม้าย บางคนเรียกวัดดอย มีการเล่าสืบต่อกันมา เชื่อว่าหากผู้ใดที่ยังโสดได้มีโอกาสไปกราบไหว้สักการะ จะมีโอกาสได้แต่งงาน

ระหว่าง พ.ศ. 1982-1944 สมัยพญาแสนเมืองมาทรงเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้พาพระชายาที่ทรงพระครรภ์ได้ 3 เดือน กลับไปเยี่ยมมารดายังแคว้นสิบสองปันนา ได้ทรงแวะชมบ้านชมเมืองเป็นเวลา 7 เดือน ครั้นเสด็จมาถึงยังดินแดนพันนาฝั่งแกน ก็ทรงครรภ์ครบ 10 เดือน จึงได้ประสูติเจ้าราชบุตร แล้วทรงพระนามว่า พระเจ้าสามฝั่งแกน ต่อมาภายหลังเมื่อพญาสามฝั่งแกนขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่แล้ว (ระหว่างปี พ.ศ. 1985-1999) ทรงสร้างวัดที่ประสูติของพระองค์ ชื่อว่า วัดเพิง ไม่ทราบแน่ชัดว่าวัดนี้อยู่บริเวณใดจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ (ราชวงค์เจ้าเจ็ดตน/กาวินละ) เมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า รวม 200 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2101-2317) เมื่อพระเจ้ากาวินละได้ขอความช่วยเหลือจากกรุงเทพฯ ทำสงครามขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่เป็นเมืองร้างนานถึง 30 ปี สันนิษฐานว่าเมืองแกนคงร้างไปด้วย ภายหลังเมืองแกนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน จึงมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยตามฝั่งแม่น้ำทั้ง 3 รวมถึงชุมชนแม่หอพระแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ลักษณะภูมิประเทศ

โดยทั่วไปลักษณะภูมิประเทศของเมืองเชียงใหม่เป็นที่ราบเชิงเขา ลักษณะลาดเอียงจากทางตะวันตก ไปตะวันออก และจากเหนือไปสู่ใต้ ระดับความลาดเทน้อยกว่าร้อยละ 2 เมืองเชียงใหม่อยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 310 เมตร มีทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ด้านทิศตะวันออกของเชิงดอยสุเทพมีแม่น้ำปิงไหลผ่านกลางเมืองในแนวเหนือ-ใต้ ทำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วไปสู่ที่ราบด้านทิศใต้ ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่มีความอุดมสมบูรณ์ จากทั้งแม่น้ำปิงและลำห้วยจากดอยสุเทพ โดยพื้นที่ทางด้านตะวันตกอยู่ในเขตส่งน้ำของชลประทานแม่แตง ซึ่งฤดูฝนได้รับน้ำจากน้ำฝน และในหน้าแล้งใช้น้ำจากแม่น้ำปิงและชลประทาน เพื่อใช้สำหรับการเกษตรได้ตลอดทั้งปีลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน การขยายตัวของเมือง และการพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเมือง เนื่องจากมีการระบายน้ำดี ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม ยกเว้นสองบริเวณคือ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน และบริเวณเชิงดอยสุเทพที่อาจเจอปัญหาน้ำป่าหลากจากภูเขา

ข้อมูลสถิติทางการทะเบียนราษฎร ของพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านสวนป่า ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนมกราคม 2566 ระบุว่ามีประชากรเพศชาย จำนวน 167 คน เพศหญิงจำนวน 169 คน รวมทั้งสิ้น 336 คน

ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลแม่หอพระนั้นมีอาชีพรับจ้างและอาชีพการเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้มีรูปแบบการใช้ชีวิตในการทำสวน ทำไร่ เช่น พ่นยาฆ่าแมลง ใส่ปุ๋ย พรวนดิน ปลูกผัก รดน้ำ การรับจ้างก็เกิดจากทำส่วนต่าง ๆ ดังกล่าว ในส่วนงานอดิเรกของชาวบ้านนั้นจะมีอยู่ไม่กี่อย่างซึ่งจะเกี่ยวกับธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น การจับ หอย ปู ปลา ในการนำมาทำอาหาร รวมถึง เข้าป่าหาเห็ด หาหน่อไม้มาทำอาหารเช่นเดียวกัน

อาชีพหลักที่สำคัญของประชากรในเขตเทศบาล ได้แก่ อาชีพรับจ้างและอาชีพการเกษตรกรรม

งานประเพณี

ในพื้นที่ตำบลแม่หอพระมีการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองเหมือนพื้นที่อื่นทั่ว ๆ ไป โดยมีประเพณีประจำปี ที่ชาวบ้านถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปีเช่นประเพณียี่เป็ง ประเพณีทานข้าวใหม่เดือนสี่เป็ง ประเพณีปีใหม่เมือง ประเพณีสรงน้ำพระ ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ประเพณีเข้าพรรษา-ออกพรรษา ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีประเพณีเนื่องในโอกาสพิเศษอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา เช่น ประเพณีปอยหลวง ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีบวชพระ ประเพณีการจัดงานศพ เป็นต้น

งานประจำปี

งานประจำปีของดีตำบลแม่หอพระ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม เป็นการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ส่งเสริมการประกอบอาชีพ พัฒนาวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ด้านความรู้สู่ประชาชน และด้านการกีฬา เป็นการประชาประชาสัมพันธ์ตำบลแม่หอพระ ส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนาสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนธรรมชาติ ประเภททรัพยากรป่าไม้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดป่า 

1.ป่าไม่ผลัดใบหรือป่าดิบชื้นระดับต่ำ lower evergreen forest พบขึ้นตามไหล่เขาและพื้นที่ลาดชัน ที่ระดับความสูงประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่มีความชุ่มชื้น มีไม้ผลัดใบขึ้นผสมอยู่ด้วยพบบริเวณเหนือลำห้วยขึ้นมา ไม้ที่พบ ได้แก่ ยมหิน ทองหลางป่า มะไฟ ดงดำ มะดูก ยางแดง ยางปาย ยมหอม ประดู่ส้ม ตะเคียนทอง ก่อ พระเจ้าห้าพระองค์ ลำพูป่า ตุ้มเต๋น กะพง ไทร กฤษณา อบเชย ดีหมี และมะม่วงป่า เป็นต้น 

2.ป่าไม้ผลัดใบที่พบได้แก่ ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง 

  • ป่าเบญจพรรณ Moist upper mixed deciduous forest (Mixed deciduous forest) พบที่ระดับ 350-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่าโปร่ง พื้นที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง จากการศึกษาในพื้นที่ป่าเบญจพรรณ พบชนิดพันธุ์ไม้ทั้งสิ้น 16 ชนิด 15 สกุล 12 วงศ์ โดยพบพืชในวงศ์ DIPTEROCARPACEAE ANACARDIACEAE FABACEAE และ COMBRETACEAE ไม้ที่สำคัญได้แก่ สัก แดง ประดู่ ตุ้ม งิ้วป่า เก็ดดำและเก็ดแดง ไม้ที่มีค่าน้อยได้แก่ ตะคร้อ ชัยพฤกษ์ รกฟ้า และมะกอกป่า เป็นต้น และบ้างพื้นที่สภาพป่าจะค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนลักษณะกลมกลืนกันไปกับป่าเต็งรัง
  • ป่าเต็งรัง Dry Dipterocarp Forest ป่าเต็งรังพบทั้งในที่ราบและที่เขาเกือบทุกระดับชั้นความสูง ตั้งแต่ระดับความสูง 600-900 เมตร ขึ้นได้ในที่ดินตื้นเป็นลูกรังมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เป็นดินทรายหรือลูกรัง จากการสำรวจในพื้นที่ป่าเต็งรังเบื้องต้น พบชนิดพันธุ์ไม้ทั้งสิ้น 17 ชนิด 11 สกุล 11 วงศ์ โดยพบพืชในวงศ์ DIPTEROCARPACEAE มากที่สุดรองลงมา ได้แก่ ANACARDIACEAE FABACEAE และ COMBRETACEAE ตามลำดับ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง รักใหญ่ คำมอกหลวง ไม้ก่อชนิดต่าง ๆ แสลงใจ และมะขามป้อม พืชพื้นล่างอื่น ๆ เช่น ปรงป่า เป็นต้นนอกจากนี้ ในระดับความสูงตั้งแต่ 700 เมตร (รทก.) ขึ้นไปพบไม้สนสองใบกระจายอยู่โดยทั่วไป 

ทุนธรรมชาติ ประเภททรัพยากรสัตว์ป่า

สัตว์ป่าที่พบในพื้นที่แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 

  1. นก เป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ง่ายและมีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ นกเขา นกเปล้า เหยี่ยว นกตบยุง นกเค้า นกปรอทคอลาย นกปรอทหัวโขน นกปรอดหัวเขม่า นกกระปูด นกกางเขนดง นกแซงแซวหาวบ่วงใหญ่ นกขมิ้น นกกระทาดง นกขุนทอง นกกินปลี นกหัวขวาน นกพญาไฟ นกยูง นกแก้ว นกบังรอก และไก่ป่า เป็นต้น
  2. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ เก้ง หมูป่า ลิง อีเห็น หมาใน หมูหริ่ง แมวป่า เม่น พังพอน กระต่ายป่า กระรอก กระรอกบิน กระแต และค้างคาว เป็นต้น
  3. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ เต่าใบไม้ ตะพาบน้ำ กบ กบจุก เขียดแล้ว อึ่งอ่าง คางคก ปูจั่ว และปูเหล็ก เป็นต้น
  4. สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งูเหลือม งูหลาม งูจงอาง งูเห่า งูกระปะ (งูเปา) งูสามเหลี่ยม งูเขียวหางไหม้ ลิ่น ตุ๊กแก กิ้งก่า จิ้งเหลน และตะกวด เป็นต้น
  5. ปลาที่พบเห็น ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลากั้ง ปลาซิว ปลาปกขาว ปลาหลอดหรือปลามัน ปลาปั่น ปลาขี้สุ่น ปลากระทิง ปลาหลด ปลาน้ำหมึก ปลาเข็ม ปลาไหล และปลาหมอ เป็นต้น

 

ภาษาเหนือเป็นภาษาที่ในชุมชนใช้เป็นหลัก ในการสื่อสารไม่เป็นทางการระหว่างกัน เป็นภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กำเมือง” ซึ่งพูดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันนี้ และใช้ภาษาไทยกลางสื่อสารอย่างเป็นทางการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี สภาพพื้นที่สำรวจเป็นเทือกเขาสลับกับหุบเขาและลำห้วย ทอดตัวยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ จัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์โซน C มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 350-947 เมตร ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนแม่ปอน ทำให้พื้นที่ มีชั้นรอยแตกของชั้นหินกลายเป็นแหล่งน้ำใต้เปลือกโลก และไหลออกมาเป็นตาน้ำหรือน้ำพุธรรมชาติ กระจายตามเทือกเขาไหลหล่อเลี้ยงผืนป่าเกิดเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญไหลลงสู่แม่น้ำปิง

บ่อน้ำพุเจ็ดสี เป็นแหล่งน้ำพุเย็นตามธรรมชาติที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ป่าตลอดทั้งปี โดยมีผืนป่าซับน้ำใกล้บริเวณบ่อน้ำพุเนื้อที่ป่าซับน้ำประมาณ 5 ไร่ ไหลออกมาเป็นทางยาวตามร่องน้ำไหลตกลงไปเป็นน้ำตกบัวตอง ด้วยบ่อน้ำพุเจ็ดสีเป็นสายน้ำใต้ชั้นเปลือกโลก แทรกและไหลตามร่อยแตกของผืนหิน ผ่านชั้นหินตะกอนและหินแปร จึงทำให้มีแร่ธาตุถูกละลายโดยเฉพาะ แร่แคลเซียม ซิลิกา จนทำให้บ่อน้ำพุแห่งนี้มีชื่อเรียกขานตามลักษณะการเกิดประกายแสง สะท้อนแสงออกมานับได้เจ็ดสี จึงเป็นชื่อเรียกขานน้ำพุเจ็ดสี ส่วนน้ำตกบัวตอง มีลักษณะสำคัญเป็นธารหินปูน มีทั้งหมด 4 ชั้น ลดหลั่นลงไปเป็นชั้น ๆ รวมระยะความยาวทั้งสิ้นประมาณ 280 เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี จึงทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนน้ำตกได้อย่างฉับไว ประกอบกับกระแสน้ำที่ไหลสามารถนั่งเล่น นอนเล่นตามสายลำธาร และแอ่งน้ำที่ปกคลุมด้วยร่มเงาของ ต้นไม้ใหญ่ และน้ำตกวังทอง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่ง อยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันออกของน้ำตกบัวตองมีแอ่งสำหรับเล่นน้ำได้ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่นิยม มีลักษณะเหมาะสมที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี

น้ำตกวังทอง (น้ำตกห้วยสะบ้า) ห่างจากน้ำตกบัวตองสามกิโล มีประวัติว่าพระธิดาบัวแก้วบัวตองพำนักอาศัย อยู่ที่ทำบัวตองทั้งสองพระองค์ทรงโปรดสุนัขมากจึงเลี้ยงไว้หลายตัวต่อมาสุนัขจากคุ้มครองพระองค์ทั้งสองเกิดเป็นพิษสุนัขบ้าออกอาละวาดและไล่กัดไล่พลพระธิดาทั้งสองพระองค์จึงเกรงว่าลูกจะแพร่ระบาดสู่ไพร่พล จึงให้เสนาเลี้ยงสุนัขของพระองค์เองทำการฆ่าสุนัขและนำสุนัขไปฟังไว้ทางทิศใต้ลำห้วยจึงเรียกว่า ห้วยหมาบ้า ปัจจุบันทรัพยากรในบริเวณห้วยหมาบ้านนั้นได้มีเครือของสะบ้าเป็นจำนวนมากจึงเรียกจากชื่อเดิมห้วยหมาบ้าเป็นห้วยสะบ้า จึงเกิดลำห้วยที่เกิดน้ำตกวังทอง

คณะกรรมการบริหารงานตำบลแบบบูรณาการ ตำบลแม่หอพระ. (2564). แผนพัฒนาตำบล ประจำปี พ.ศ. 2565 ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : เทศบาลตำบลแม่หอพระ.

เทศบาลตำบลแม่หอพระ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. จาก https://www.maehophra.go.th/

TOP Chaingmai. (2559). น้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี ทางไปอำเภอพร้าว. จาก https://www.topchiangmai.com/

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (ม.ป.ป.) .วนอุทยานน้ำตกบัวตองและน้ำพุเจ็ดสี. จาก https://www.dnp.go.th/

สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) และสำนักจัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ. (2559). ข้อมูลพื้นฐาน ศูนย์จัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติที่ 9 ป่าแม่แตงและป่าอินทขิล จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

สำนักอุทยานแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง - น้ำพุเจ็ดสี (เตรียมการ). จาก https://portal.dnp.go.th/

เสน่ห์ นามจันทร์. (2561). “น้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี”ดุจเพชรเม็ดงามของชาวแม่แตง-พร้าว. จาก http://https://www.chiangmainews.co.th/

ณรงศ์ชัย ใจบุญ, สัมภาษณ์, 12 กุมภาพันธ์ 2566.

ทต.แม่หอพระ โทร. 0-5396-7100