ชุมชนวัดโลกโมฬี ตั้งอยู่โดยรอบวัดโลกโมฬีในพื้นที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับคูเมือง โดยเป็นเจดีย์ที่สร้างปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ตำนานระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2071 เป็นเจดีย์ทรงปราสาท และได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
ชื่อชุมชนวัดโลกโมฬี ตั้งขึ้นตามชื่อของวัดโลกโมฬี ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สำคัญ เป็นพระอารามหลวงนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปรากฏชื่อครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้ากือนา เมื่อคราวที่พระองค์โปรดฯ ให้ไปอาราธนาพระอุทุมพรบุปผา มหาสวามีจากเมืองพันให้มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ แต่พระอุทุมพร บุปผามหาสวามีส่งคณะสงฆ์ 10 รูปมาแทน พระเจ้ากือนาจึงโปรดฯ ให้คณะสงฆ์ดังกล่าวไปจำพรรษา ณ วัดโลกโมฬี
ชุมชนวัดโลกโมฬี ตั้งอยู่โดยรอบวัดโลกโมฬีในพื้นที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับคูเมือง โดยเป็นเจดีย์ที่สร้างปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ตำนานระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2071 เป็นเจดีย์ทรงปราสาท และได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
ชุมชนวัดโลกโมฬี เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับเขตของวัดโลกโมฬี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างในสมัยอาณาจักรล้านนา ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ ใกล้แจ่งหัวรินวัดโลกโมฬีไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่ได้ปรากฏชื่อวัดโลกโมฬีในตำนานของวัดพระธาตุดอยสุเทพยุคอาณาจักรล้านนาปี พ.ศ. 1910 พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังรายทรงประสงค์จะฟื้นฟูปรับปรุงพระพุทธศาสนาในล้านนาให้เจริญและมั่นคง พระองค์จึงได้ส่งผู้แทนไปยังเมืองพัน ประเทศมอญ (ปัจจุบันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่า) เพื่อขอนิมนต์พระมหาอุทุมพร บุปผมหาสวามี ผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎกเพื่อให้มาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในล้านนา เนื่องจากพระมหาอุทุมพร บุปผมหาสวามี ได้ชราภาพมากแล้ว ท่านจึงได้ส่งพระอนันตเถระ พร้อมกับพระลูกศิษย์อีก 10 รูปมายังล้านนา (เชียงใหม่) พญากือนาจึงได้จัดวัดโลโมฬีไว้รับรองแขกเมืองจากต่างประเทศ เนื่องจากวัดโลกโมฬีตั้งอยู่ใกล้วัง จึงสะดวกสบายและง่ายต่อการดูแและปรนนิบัติมวลพระเถระเหล่านั้นในช่วงสมัยของพญาติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ 9 พระองค์ได้จัดประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกของโลกครั้งที่ 8 ที่วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด)
ปี พ.ศ. 2020 ได้นิมนต์พระเถระที่แตกฉานในพระไตรปิฎกจากวัดต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศมาเข้าร่วมประชุม ซึ่งต้องใช้เวลาประชุมและแก้ไขประมาณ 1 ปีเศษจึงแล้วเสร็จ บรรดาพระเถระที่มาร่วมประชุม พญาติโลกราชได้จัดให้พักอยู่ที่วัดโลกโมฬีในอดีตมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายหลายพระองค์ที่เข้ามาทำนุบำรุงวัดโลกโมฬีอยู่ตลอด พญาเมืองเกศเกล้า หรือพญาเกศเชษฐราช กษัตริย์องค์ที่ 12 และ 14 แห่งราชวงศ์มังราย (ครองราช 2 ครั้ง) เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ได้เข้ามาดูแลเอาใจใส่วัดโลกโมฬีมากเป็นพิเศษ ได้ทรงเจริญรอยตามวิถีทางแห่งบูรพกษัตริย์อย่างต่อเนื่องในการพัฒนาส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั้นคง พญาเกศเชษฐราช ขึ้นครองราชย์
ปี พ.ศ. 2068 จากนั้นไม่นานพระองค์ก็ขึ้นไปบูรณะองค์พระธาตุดอยสุเทพโดยขยายให้ใหญ่ขึ้นคือจากเดิม เป็นสูง11 วา กว้าง 6 วา ดังปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้
ปี พ.ศ. 2069 พระองค์ได้สร้างพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ 1 องค์ พระนามว่า พระเจ้าล้านทอง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าล้านทอง อำเภอพร้าว
ปี พ.ศ. 2070 พระองค์ได้ยกมอบบ้านหัวเวียงให้เป็นบริเวณหนึ่งของวัดโลกโมฬี
ปี พ.ศ. 2071 พระองค์ได้สร้างมหาเจดีย์และวิหารขึ้นในวัดโลกโมฬีพญาเกศเชษฐราชสิ้นพระชนม์
ปี พ.ศ. 2088 รวมพระชนมายุได้ 48 พรรษา จากนั้นนางจิรประภา ได้รับความไว้วางใจจากเหล่าขุนนางทั้งหลายสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ องค์ที่ 15 ของเชียงใหม่ หลังจากที่ได้ถวายพระเพลิงศพของพระราชบิดาแล้วพระนางได้สร้างกู่เก็บพระอัฐิของพระราชบิดาไว้ในวัดโลกโมฬี ชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับวัดโลกโมฬีแห่งนี้ได้รับการเล่าสืบต่อกันมาว่าอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมหาเจดีย์ห่างไปประมาณ 150 เมตร (พื้นที่ของวัดโลกโมฬีเดิมมี 70 ไร่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 10% เท่านั้นเพราะชาวบ้านได้เข้ามาอาศัยอยู่ในระหว่างที่วัดโลกโมฬีเป็นวัดร้าง ในสมัยนั้นสถานที่ก่อสร้างกู่บรรจุพระอัฐิก็เป็นส่วนหนึ่งของวัด) ปัจจุบันกู่นั้นมีอยู่จริงท่ามกลางหมู่บ้านแออัดหลังอาคารพาณิชย์หลังจากนั้นมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีทรงยกทัพมาช่วยพญากาวิละขับไล่พม่าออกไป
ยุคล้านนาของพม่า
ช่วงเวลาที่เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่
ปี พ.ศ. 2122 วัดวาอารามต่าง ๆ ถูกเผาทำลายไปมากมายแต่วัดโลกโมฬีไม่ได้ถูกเผา เนื่องจากพระเจ้าสาวัตถีนรถามังคะยอ กษัตริย์แคว้นล้านนาได้ทรงเมตตาธรรมพระมหาสมเด็จวัดโลกโมฬีไว้กับวัดวิสุทธาราม และเป็นวัดสำคัญในพระราชสำนักมาโดยตลอดยุครัตนโกสินทร์
ปี พ.ศ. 2440 วัดโลกโมฬีตั้งอยู่แขวงบ้านทับม่าน แคว้นเจ็ดยอด เจ้าอธิการชื่อ ตุ๊พวก รองอธิการชื่อ ตุ๊คำ เป็นนิกายเชียงใหม่ มีโฉนดออกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม
ปี พ.ศ. 2482 กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง วัดโลกโมฬีถูกทิ้งให้ร้าง
ปี พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดโลกโมฬีเป็นโบราณสถานแห่งชาติ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544กรมการศาสนาได้อนุมัติให้ยกฐานะวัดโลกโมฬีจากวัดร้างให้เป็นพระอารามที่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้แต่งตั้งให้พระญาณสมโพธิเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
ปี พ.ศ. 2544 พระญาณสมโพธิ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ (ปัจจุบันคือพระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่) ได้มาทำการฟื้นฟูวัดโลกโมฬีอีกครั้ง เป็นการฟื้นฟูครั้งสำคัญครั้งที่ 3 พระเทพวรสิทธาจารย์ ได้รับการแต่ตั้งให้เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดโลกโมฬี มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา และมีการพัฒนาวัดแห่งนี้ขึ้นเป็นลำดับ
ปี พ.ศ. 2545 ได้มีการเททองรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี ประดิษฐานภายในวัด วัดโลกโมฬีได้ทำการสร้างกำแพงและวิหาร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงรับทราบข่าวได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 400,000 บาท เพื่อสมทบทุนสร้างพระวิหาร
ปี พ.ศ. 2546 สมเด็จพระสังฆราชแห่งลังกาได้ประทานพระบรมธาตุแก่วัดโลกโมฬี และสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานพระบรมธาตุให้อีก 1 องค์ พระเทพวรสิทธาจารย์ ได้เป็นประธานในการหล่อพระพุทธรูปเป็นองค์ประธานในพระวิหารพระนามว่า "พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ" โดยได้อัญเชิญพระบรมธาตุทั้งสองบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูป
ปี พ.ศ. 2547 สร้างอนุสาวรีย์พระนางจิรประภาผู้ได้ทำนุบำรุงวัดโลกโมฬี เพื่อให้อนุชนได้ทราบถึงองค์อุปถัมภ์ในอดีต
ปี พ.ศ. 2548 สร้างยอดฉัตรทองขององค์พระเจดีย์ขึ้นทดแทนของเดิมที่หักหายไป
ปี พ.ศ. 2549 สร้างกุฎิสงฆ์ คุ้มพญาเกศ ทรงรูปแบบล้านนาเป็นอนุสรณ์แก่พญาเกศเชษฐราช
ปี พ.ศ. 2551 ท่านเจ้าคุณพระเทพวรสิทธาจารย์ สร้างศาลาศูนย์แสดงศิลปล้านนา และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
ลักษณะภูมิประเทศ
โดยทั่วไปลักษณะภูมิประเทศของเมืองเชียงใหม่เป็นที่ราบเชิงเขา ลักษณะลาดเอียงจากทางตะวันตก ไปตะวันออก และจากเหนือไปสู่ใต้ ระดับความลาดเทน้อยกว่าร้อยละ 2 เมืองเชียงใหม่อยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 310 เมตร มีทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ด้านทิศตะวันออกของเชิงดอยสุเทพมีแม่น้ำปิงไหลผ่านกลางเมืองในแนวเหนือ-ใต้ ทำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วไปสู่ที่ราบด้านทิศใต้ ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่มีความอุดมสมบูรณ์ จากทั้งแม่น้ำปิงและลำห้วยจากดอยสุเทพ โดยพื้นที่ทางด้านตะวันตกอยู่ในเขตส่งน้ำของชลประทานแม่แตง ซึ่งฤดูฝนได้รับน้ำจากน้ำฝน และในหน้าแล้งใช้น้ำจากแม่น้ำปิงและชลประทาน เพื่อใช้สำหรับการเกษตรได้ตลอดทั้งปีลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน การขยายตัวของเมือง และการพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเมือง เนื่องจากมีการระบายน้ำดี ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม ยกเว้นสองบริเวณคือ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน และบริเวณเชิงดอยสุเทพที่อาจเจอปัญหาน้ำป่าหลากจากภูเขา
ลักษณะภูมิอากาศ
เมืองเชียงใหม่มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 25.4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 31.8 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 20.1 องศาเซลเซียส สามารถแบ่งได้เป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเอาความหนาวเย็นจากเมืองจีนลงมาปกคลุมประเทศไทย ซึ่งในเมืองเชียงใหม่นั้นมีอากาศไม่หนาวเย็นมาก ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ได้รับอิทธิพลของลมตะวันออกเฉียงใต้ และลมฝ่ายใต้ ทำให้อากาศร้อนในเวลากลางวัน แต่เนื่องจากอยู่ในแอ่งเขา ทำให้มีอุณหภูมิลดลงในเวลากลางคืน ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดเอาความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย
ลักษณะของชุมชน
ชุมชนเมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนกลางเชิงดอยสุเทพ มีแม่น้ำปิงไหลผ่านใจกลางเมืองในแนวเหนือ - ใต้ ชุมชนดั้งเดิมหรือบริเวณเมืองเก่าตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงต่อมาเมื่อชุมชนได้พัฒนาให้มีความเจริญขึ้น โดยมีการขยายตัวข้ามแม่น้ำปิงมาทางฝั่งตะวันออก และภายหลังจากที่ได้มีการตัดถนนอ้อมเมือง ชุมชนได้พัฒนาออกไปหลายทิศทางตามเส้นทางคมนาคมและโครงข่ายสาธารณูปโภค ธุรกิจการพัฒนาที่ดินและที่พักอาศัยได้ขยายตัวเป็นอย่างมาก สภาพที่แท้จริงของชุมชนเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันไม่ได้คงอยู่แต่เฉพาะในเขตเทศบาลเท่านั้น แต่ได้ขยายออกไปตามบริเวณชานเมืองและชนบทโดยรอบปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ประกอบด้วย 4แขวง โดยแต่ละแขวงจะมีชุมชนอยู่ในเขตรับผิดชอบ โดยชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 90 ชุมชน
บริเวณศาลาวัดโลกโมฬี เป็นสถานที่จัดประชุมและที่รวมตัวกันของคนในชุมชน เป็นที่พูดคุยวงสนทนาของผู้ใหญ่ในชุมชน และกลุ่มสอนทำตุง ทำดอกไม้และนวดแผนไทย
ลักษณะทางประชากร
จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมากและหนาแน่นที่สุดในภาคเหนือ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จากข้อมูลในทะเบียนราษฎรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2554 พบว่าเขตเทศบาลนครเชียงใหม่มีแนวโน้มจำนวนประชากรลดน้อยลง ซึ่งมีสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานมากที่สุดในทุกปี ขณะเดียวกันสัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี นอกจากจำนวนตัวเลขของประชากรที่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรอยู่ในเขตเทศบาลแล้วนั้น ยังพบว่าประชากรอีกจำนวนหนึ่งที่เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพ นักเรียน นักศึกษา แรงงานต่างด้าว/ต่างถิ่น และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังเทศบาลนครเชียงใหม่ในแต่ละวัน กลุ่มประชากรจำนวนนี้เป็นส่วนที่ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด (ประชากรแฝง) ซึ่งเป็นประชากรที่เข้ามาใช้บริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ภายในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นอย่างมาก จึงนับเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเมือง ทั้งนี้ประชากรกลุ่มนี้ยังไม่มีการสำรวจจำนวนที่แน่ชัด และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลย้อนหลังพบว่า จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่จำนวนบ้านมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
ข้อมูลสำรวจประชากรข้อมูลปี พ.ศ. 2563 พบว่า มีจำนวนประชากร 9,445 คน เป็นเพศชาย 4,344 คน และเพศหญิง 5,101 คน
นอกจากคนในชุมชนแล้วยังมีคนต่างจังหวัด ต่างประเทศที่เข้ามาอยู่อาศัย และขอใช้พื้นที่ทำกินในชุมชน หรือผ่านการแต่งงานกับคนในชุมชนแล้วจึงย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชน
ลักษณะทางสังคม
ประชากรเมืองเชียงใหม่มากกว่าครึ่งเป็นประชากรที่อยู่ในวัยแรงงาน โดยอาชีพที่สำคัญที่สุดของประชากรในเขตเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ อาชีพด้านบริการและพาณิชยกรรม ซึ่งรวมกันแล้วมีประมาณร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด ในการบริการทางสังคมด้านการศึกษามีสถานศึกษาตั้งแต่ระดับ อนุบาลถึงอุดมศึกษา ด้านสาธารณสุขเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เป็นโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ด้านการแพทย์ครบครัน มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนในภาคเหนือตอนบน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชน ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกและร้านขายยาอีกมากมาย ด้านแหล่งบริการสาธารณูปการและสาธารณูปโภค ได้แก่ ด้านการสื่อสาร (การโทรศัพท์ การไปรษณีย์ โทรเลข สถานีโทรทัศน์และเคเบิลทีวี สถานีวิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์) การไฟฟ้า การประปา หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ให้บริการประชาชนอีกด้วย
การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย
กลุ่มทางศาสนา เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ทุกปีจะมีงานประเพณีต่าง ๆ ของวัดหรือคนในชุมชน เช่น งานศพ ลงทาน ประเพณี ประจำปีต่าง ๆ เป็นต้น
กลุ่มภูมิปัญญาและความรู้พื้นบ้าน เวลาว่างคนในชุมชนส่วนใหญ่ มักจะมารวมตัวกันเพื่อมาเรียนการทำตุง ทำดอกไม้และนวดแผนไทยก็จะมาใช้สถานที่วัด
กลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและชาติพันธุ์ ในส่วนนี้กิจกรรมของเครือข่ายส่วนหนึ่งจะได้รับการสนับสนุนและอยู่ภายใต้การดูแลและการส่งเสริมจากภาครัฐ และที่สำคัญ วัดโลกโมฬีเป็นวัดท่องเที่ยวของคนที่อยากมาไหว้ พระขอพร หรือมาชมความสวยงามแบบล้านนา
ลักษณะทางเศรษฐกิจ
จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในเขตภาคเหนือตอนบน ในอดีตได้รับการขนานนามว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์” หรือ“เวียงพิงค์” เชียงใหม่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมแบบล้านนาไทย ตลอดจนน้ำใจไมตรีของชาวเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ในแต่ละปี เป็นจำนวนมาก ลักษณะเด่นของเชียงใหม่สรุปได้ตามคำขวัญของจังหวัดเชียงใหม่ที่ว่า “ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์”การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมี 2ลักษณะ คือ การเดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตนเอง และการใช้บริการจากบริษัทนำเที่ยว โดยที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวนักทัศนาจร และผู้มาเยือน ประกอบด้วย โรงแรม เกสท์เฮ้าส์ บังกะโล รีสอร์ท บ้านญาติ/เพื่อน บ้านรับรองของทางราชการและเอกชนอื่น ๆ เป็นต้น ธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่และกระจายไปยังเขตรอบนอกในบริเวณที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดี เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่มีความสะดวกในการคมนาคมขนส่งสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าทางการเกษตร และสินค้าพื้นเมือง เช่น เสื้อผ้าพื้นเมือง เครื่องเงิน เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก เป็นต้น เทศบาลนครเชียงใหม่มีตลาดสดและศูนย์การค้าหลายแห่ง เช่น ตลาดวโรรส (กาดหลวง) ตลาดต้นลำไย ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว ศูนย์การค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ตเชียงใหม่ เป็นต้น ธุรกิจด้านการบริการทางด้านการท่องเที่ยวเป็นอาชีพที่สำคัญมากอย่างหนึ่งโดยเฉพาะด้านการโรงแรม ซึ่งมีโรงแรมที่ทันสมัย สะดวกสบายมากมาย
การขนส่งทั้งทางรถไฟ เครื่องบิน และรถยนต์ ที่สะดวกสบาย ภัตตาคาร ร้านอาหารที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้อย่างเพียงพอ โรงงานอุตสาหกรรมในเขตเทศบาลเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมในครอบครัว นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยว คือ การทำร่ม แกะสลัก ตัดเย็บเสื้อผ้า ของที่ระลึกต่าง ๆ เครื่องเงิน เครื่องเขิน เนื่องจากเชียงใหม่มีวัตถุดิบที่สำคัญ และมีแรงงานที่ชำนาญงาน และยังเป็นแหล่งตลาดที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
การประกอบอาชีพ
อาชีพหลัก ทำงานประจำ เช่น อาชีพธุรกิจส่วนตัว รับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ค้าขาย นอกจากนี้ ยังรับจ้างเป็นแรงงานเกษตรกรรมภายในและภายนอกชุมชนในช่วงฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว
อาชีพเสริม หาของป่า (หน่อไม้ เห็ด)
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชนส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ยารักษาโรค ผ่านร้านขายของชำภายในชุมชน โดยนำสินค้าจากภายนอกมาเข้ามาจำหน่ายภายในชุมชนการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอกส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการเข้าป่าไปหาของป่า เช่น เห็ดโคน หน่อไม้ป่า กล้วย เห็ดเพาะ หรือซื้อเข้ามาจากในชุมชนหรือตลาดนัดรอบนอกชุมชน
การออกไปทำงานนอกชุมชน รับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น หักข้าวโพด เก็บลำไย โดยนิยมรับจ้างทำงานไม่ไกลจากหมู่บ้านมาก มีการทำงานนอกชุมชนในลักษณะงานประจำเป็นส่วนน้อย (ส่วนใหญ่เป็นคนที่เรียนจบและไปหางานทำข้างนอก)
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน
ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน
การรวมกลุ่มส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ช่วยกันถือแรงในกลุ่มตัวเอง กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีการรวมกลุ่มแบบเป็นทางการ คือ เวลาว่างคนมีอายุจะชักชวนกันมาสอนทำตุงแกะสลัก ทำดอกไม้และนวดแผนไทย
เชียงใหม่มีประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่มีลักษณะที่โดดเด่น ประเพณีของชาวเชียงใหม่ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาพบเห็นนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก ประเพณีต่าง ๆ ถือเป็นเอกลักษณ์ ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสบรรยากาศของเมืองเชียงใหม่ และมีความปรารถนาที่จะเข้าร่วมประเพณีเทศกาลและงานบุญต่าง ๆ โดยในแต่ละเดือนมีประเพณีงานบุญที่สำคัญต่าง ๆ ดังนี้ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีสำคัญของชาวเหนือหรือชาวล้านนา อันสืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ และมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความกตัญญู คนเมืองจึงเรียกประเพณีนี้ว่า “ป๋ำเวณีปี๋ ใหม่” หรือถือเป็นปีใหม่สำหรับคนเมือง หรือ “ปี๋ใหม่เมือง” โดยจะมีการจัดงานประเพณีระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี
ประเพณีเข้าอินทขิลคำว่า อินทขิล เป็นชื่อเรียกเสาหลักเมืองเชียงใหม่ทุกปี ชาวเชียงใหม่จะทำพิธีบูชาเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “การใส่ขันดอก” มักจะจัดกันในช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลเพาะปลูก เพื่อสร้างขวัญและกำลัง ใจให้แก่ชาวบ้านที่กำลังจะทำการเพาะปลูก และเป็นการบูชาเสาหลักเมืองเพื่อให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข งานประมาณปลายเดือนพฤษภาคมย่างเข้าเดือนมิถุนายน โดยวันแรม 13 ค่ำเดือน 8 เรียกว่า “วันเข้าอินทขิล” และวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 9 เรียกว่า “วันออกอินทขิล” ประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ เป็นประเพณีการลอยกระทงที่ทางภาคเหนือเรียกว่า “ประเพณียี่เป็ง” เป็นงานประเพณีที่สำคัญในเดือนสิบสองหรือตรงกับวันเพ็ญเดือนยี่ขึ้น 14-15 ค่ำโดยจะมีการปล่อยโคมลอยเพื่อเป็นการบูชาพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ มีการจุดดอกไม้ไฟ ประกวดกระทง ขบวนแห่นางนพมาศงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ จัดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ ภายในงานจัดให้มีการประกวดสวนหย่อมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ภาคเช้าของงานจะจัดให้มีขบวนรถบุปผชาติและนางงามบุปผชาติ แห่จากบริเวณหน้าสถานีรถไฟ ผ่านสะพานนวรัฐไปสู่สวนสาธารณะหนองบวกหาดศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม
รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน
สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง มีบางส่วนที่ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว รับราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ ค้าขายส่วนเด็กและเยาวชนจะใช้เวลาระหว่างวันไปกับการเรียนในโรงเรียนภายนอกชุมชน (ระบบเวลาเดียวกันกับโรงเรียนทั่วไป) เด็กเล็กจะอยู่ในชุมชน สำหรับเด็กโต (มัธยมศึกษาขึ้นไป) ที่ออกไปเรียนไกลจากชุมชนจะนอนหอพักใกล้กับโรงเรียน และจะกลับบ้านแค่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดยาว ถ้าระดับอุดมศึกษาจะออกจากบ้านไปเรียนนานกว่าปกติ กลับบ้านหนึ่งครั้งต่อเดือน
ปฏิทินกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดโลกโมฬี มีกิจกรรมต่าง ๆ ในรอบปี ได้แก่
- การสืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ในช่วงสงกรานต์ เดือนเมษายนของทุกปี
- กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เริ่มปลายเดือนมีนาคม-เดือนเมษายนของทุกปี
- การปฏิบัติธรรม บวชชีพราหมณ์ประจำปี
- ประเพณียี่เป็งและตั้งธรรมหลวงประจำปี ในช่วงประเพณียี่เป็ง
ทุนวัฒนธรรม: การทำตุงหรือทำดอกไม้
ตุงคำว่าตุง ก็คือ ทุง หรือ ธง นั่นเอง เป็นธงแบบห้อยยาวจากบนลงล่าง เมื่อเข้าไปในวิหาร ก็จะเห็นตุงหลากหลาย ตุงเหล่านี้ทำมาจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ผ้า กระดาษ ธนบัตร เป็นต้น โดยมีขนาด รูปทรงตลอดจนการตกแต่งต่างกันออกไปตามระดับความเชื่อ ความศรัทธา และฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ถวายคติความเชื่อเกี่ยวกับการถวายตุง การที่ชาวบ้านนำตุงมาถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งที่เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือเป็นการถวายเพื่อส่งกุศลผลบุญให้แก่ตนเองในชาติหน้า ก็ด้วยคติความเชื่อที่ว่าเมื่อตายไปแล้วจะพ้นจากการตกนรกโดยอาศัยเกาะชายตุงขึ้นสวรรค์จะได้พบพระศรีอริยะเมตตรัย หรือ จะได้ถึงซึ่งพระนิพพาน จากความเชื่อนี้จึงมีการถวายตุงที่วัด อย่างน้อยครั้งนึงในชีวิตของตน
ตุงผ้าโดยทั่วไปจะมีขนาดกว้างตั้งแต่ 10-15 ซม. มีความยาวตั้งแต่ 1-6 เมตร โครงสร้างของตุงประกอบด้วยส่วนหัว ตัว และ หาง โดยมีไม้ไผ่สอดคั่นเป็นระยะ ๆ และ นิยมตกแต่งด้วยวัสดุต่าง เช่น เศษผ้า กระดาษ ไหมพรม เมล็ดฝีกเพกา ทำเป็นพู่ห้อยประดับตลอดทั้งฝืน เรียกส่วนตกแต่งนี้ว่า ใบไฮ (ใบไทร) ใบสะหลี(ใบโพธิ์) สวย (กรวย) ส่วนหัวตุงมักทำเป็นรูปโครงสร้างปราสาท โดยใช้ไม้แผ่นใหญ่ หรือใช้ไม้ขนาดเล็กกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร เรียงติดต่อกันหลายชิ้นแล้วต่อกันเป็นโครง ส่วนหางตุงก็มักตกแต่งชายด้วยการถักเป็นตาข่าย หรือเย็บเป็นรูปหมอน หรือใช้ไม้ไผ่ห้อยชายตุงเป็นการถ่วงน้ำหนัก ตุง หรือ ธุง ในภาคเหนือเรียกว่า ตุง ภาคอีสานเรียกว่า ธุง ในภาษาไทยใหญ่เรียกว่า ตำข่อน พม่าเรียกว่า ตะขุ่น สำหรับในประเทศไทยโดยทั่วไปนิยมเรียกว่า ตุง ตามอย่างทางภาคเหนือเพราะมีการใช้ในกิจกรรมพิธีการค่อนข้างมาก และมีรูปแบบที่หลากหลาย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาหรือภาคเหนือ ตุงคำนี้เป็นภาษาภาคเหนือหมายถึง ธง ซึ่งตรงกับลักษณะของ ปฎากะ ที่เป็นธงของอินเดีย ส่วนธุงของอีสานนิยมทอเป็นผืนยาว ๆ มีรูปสัตว์หรือรูปภาพต่าง ๆ ตามความเชื่อบนผืนธุง เช่น จระเข้ เสือ ตะขาบ นางเงือก เทวดา และอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงวัสดุธรรมชาติอื่นมาเป็นธุงด้วย เช่น ลูกปัดจากเมล็ดพืช ไม้แกะรูปทรงต่าง ๆ เป็นต้น ตุงมีชื่อเรียกต่าง ๆ มากมายตามการใช้งาน และรูปร่างรูปทรง
ทุนมนุษย์: เจ้าวัด
ชุมชนวัดโลกโมฬีหรือคนเมืองล้านนา นับถือศาสนาพุทธ จะให้ความเคารพเชื่อถือต่อพระพุทธเจ้าต่อพระธรรมพระสงฆ์หรือเรียกว่า “เจ้าวัด” ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำบุญให้กับคนที่จากไป ประเพณีสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเป็นการทำบุญปีละครั้งนอกจากนี้เจ้าวัดยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการนำพาทำพิธีกรรมอื่น ๆ อีกด้วย ปัจจุบันชุมชนนี้ก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
ภาษาเหนือ เป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสารกันในชุมชน หรือเรียกว่าคำเมืองล้านนา ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่บางส่วนไม่สามารถพูดได้ เนื่องจากเข้าเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลัก
จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนวัดโลกโมฬี พบว่า ชุมชนแห่งนี้สถานการณ์ การเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนที่น่าสนใจในหลายประเด็น ดังนี้
ปัญหาและอุปสรรคในการแสดงบทบาทต่อการพัฒนาชุมชนของประธานชุมชน จากการสัมภาษณ์ประธานชุมชนเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาชุมชน พบว่า
1.ความล่าช้าในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่เทศบาล
ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องของ โต๊ะ เก้าอี้ เต็นท์ ฯลฯโดยกระบวนการขั้นตอนขอความช่วยเหลือนั้น ทางประธานชุมชนจะทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ ไปยังสำนักงานแขวงศรีวิชัย ซึ่งกระบวนการขั้นตอนในการยื่นเรื่องนั้นมีความล่าช้า ทำให้การจัดกิจกรรมของชุมชนเกิดการติดขัดคนในชุมชนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างสะดวก เช่นกรณีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ กิจกรรมงานวันเด็ก กิจกรรมการแข่งกีฬาระหว่างชุมชน เป็นต้น กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้สถานที่ เวที เครื่องเสียง โต๊ะ เก้าอี้ เต็นท์ ฯลฯ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่คนในชุมชนที่มาร่วมทำกิจกรรม และสามารถทำให้กิจกรรมสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ประสานความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนให้เกิดความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน
จากปัญหาของความล่าช้าใน กระบวนการขั้นตอนการขอความช่วยเหลือจากทางเทศบาลมีประธานชุมชนส่วนหนึ่งกล่าวว่า การที่ประธานชุมชนมีความสนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับผู้บริหารของเทศบาล ทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหาก็จะเข้าพบผู้บริหารเทศบาลเป็นการส่วนตัว เพื่อขอความช่วยเหลือให้มีการจัดการแก้ไขปัญหา หรือไม่ก็ใช้วิธีการทั้งสองอย่างควบคู่กันไป กล่าวคือ การทำหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานแขวงศรีวิชัย ซึ่งถ้าหากไม่มีอะไรคืบหน้าหรือไม่มีการแก้ไขก็จะร้องเรียนไปยังผู้บริหารเทศบาลโดยตรงทันทีในบางครั้งแม้ว่าจะมีการขอความอนุเคราะห์ไปตามขั้นตอนแล้วก็ตาม เนื่องจากยังคงมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกของกลุ่มผู้บริหาร และสมาชิกสภาเทศบาล(สท.)ที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่จะเลือกเอื้อประโยชน์ให้กับใครก็ได้ จึงกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคในการแสดงบทบาทต่อการพัฒนาชุมชนของประธานชุมชน สร้างความลำบากใจในการทำงานให้แก่ประธานชุมชนเป็นอย่างยิ่ง
2.การแทรกแซงจากนักการเมือง
จากการสัมภาษณ์ประธานชุมชนกล่าวว่า ปัจจุบันนักการเมืองท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหารหรือสมาชิกสภาเทศบาลก็ตาม ได้กลายมาเป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาชุมชนของประธานชุมชน เนื่องจากมีการสร้างความสนิทสนมระหว่างประธานชุมชนกับนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งสมาชิกสภาเทศบาลก็ตาม เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่กันและกัน หากประธานชุมชนสามารถโน้มน้าว และเป็นที่เคารพของคนในชุมชนมากเท่าใด ย่อมเป็นที่หมายปองหรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองมากยิ่งขึ้นทั้งนี้ปัญหาดังกล่าว อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่ลงเอยต่อกัน จนในที่สุดเกิดปัญหาอาชญากรรมขึ้น เนื่องจากความไม่พอใจของนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอำนาจ
3.ขาดสวัสดิการของประธานชุมชน
เนื่องจากตำแหน่งประธานชุมชนเป็นตำแหน่งอาสาสมัคร ทำโดยไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ หากเทียบกับเนื้องานภาระหน้าที่และปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนที่ประธานชุมชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแล้วจึงทำประธานชุมชนบางครั้งเกิดความเบื่อหน่าย ขาดกำลังใจหรือแรงจูงใจในการทำหน้าที่ของตน เพราะประธานชุมชนต้องเสียสละทั้งเวลาส่วนตัวในการเข้าร่วมประชุม การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางเทศบาลได้ข้อความร่วมมือ เสียทั้งเงินในการเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อติดต่อประสานงานไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าจัดกิจกรรม ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องทั้งนี้หากรัฐสามารถมีแนวทางในการแก้ไข ให้มีสวัสดิการแก่ตำแหน่งประธานชุมชนก็จะสามารถทำให้ตำแหน่งประธานชุมชนกลายเป็นตำแหน่งที่มีความสามารถและมีศักยภาพ ทำให้ได้รับความสนใจจากประชาชน ในการสมัครแข่งขันเข้าดำรงตำแหน่งประธานชุมชนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีความสนใจอยากเป็นผู้นำชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้ดีและแข็งแกร่งยิงขึ้น เพื่อส่งผลไปยังรากฐานการปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
4.ขาดความร่วมมือจากประชาชนในชุมชน
เนื่องจากในปัจจุบันวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชน มีลักษณะการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวทางด้านสังคม ที่ทำให้เกิดประชากรแฝงจากที่อื่น เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนของตนในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ที่เดินทางเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพ นักเรียนนักศึกษา รวมไปถึงแรงงานต่างด้าว ประชากรกลุ่มนี้เข้ามาใช้บริการสาธารณะต่าง ๆ ของชุมชนจึงสร้างความเดือดร้อนและเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชน ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาชุมชนขึ้น นำไปสู่การขาดความร่วมมือจากประชาชนในชุมชน แม้ว่าประธานชุมชน จะมีความสามารถในการพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่การมีประชากรจากที่อื่นที่เพิ่มเข้ามายังคงสร้างความแออัดและความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชน นำไปสู่การขาดความร่วมมือจากคนในชุมชน เนื่องจากประชากรที่เข้ามาใหม่ขาดความผูกพันธ์ที่มีให้แก่ชุมชนและคนในชุมชน ไม่ให้ความร่วมมือหรือใส่ใจในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนเท่าที่ควร
สถานที่และสิ่งสำคัญภายในวัดโลกโมฬี
1.เจดีย์วัดโลกโมฬี
มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า เจดีย์ของวัดโลกโมฬีในปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างปลาย พุทธศตวรรษที่ 21 ตำนานระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2071 เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องที่เจดีย์วัดโลกโมฬี การพัฒนารูปแบบได้เพิ่มความสูงของเจดีย์คือ ส่วนฐาน ได้แก่ชุดฐานปัทม์ ลูกแก้วอกไก่ เพิ่มเป็น 2 ชุดอย่างชัดเจนโดยฐานปัทม์ชั้นล่างไม่มียกเก็จ ที่ฐานปัทม์ชั้นที่สองมีจำนวนยกเก็จที่เพิ่มมากขึ้นและเป็นมุมที่มีขนาดเล็ก ส่วนกลาง ยังคงเป็นเรือนธาตุในผ้าสี่เหลี่ยมยกเก็จ ที่มีขนาดของมุมเล็กลง และจำนวนของมุมมากขึ้นเช่นเดียวกับฐานปัทม์ด้านล่าง ทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุมีซุ้มจระนำ มีรูปแบบของซุ้มลดได้ กรอบซุ้มจระนำมีการผสมผสานกันทั้งกรอบแบบคดโค้ง และกรอบแบบวงโค้ง ตลอดจนแนวของลูกแก้ว อกไก่ที่ประดับเสารับซุ้มจระนำ ก็มีขนาดเด่นขึ้น กลายเป็นรูปงอนคล้ายบัวคว่ำที่เรียกกันว่า ปากแล ส่วนยอด เหนือเรือนธาตุ มีการพัฒนาความสูงโดยเพิ่มจำนวนของชั้นลดรูปฐานปัทม์ลูกแก้ว อกไก่ ยกเก็จซ้อนกันสามฐาน รับทรงระฆังและบัลลังก์สิบสองเหลี่ยม ปล้องไฉนและปลี ซึ่งองค์ระฆังและบัลลังค์นั้น เป็นลักษณะร่วมของเจดีย์ทรงระฆัง
2.วิหารหลวงวัดโลกโมฬี
เป็นวิหารที่สร้างขึ้นภายหลังได้มีการบูรณะและยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นวิหารไม้สักศิลปะแบบล้านนา ลักษณะงดงาม ประณีต มีลายแกะสลักอย่างสวยงาม ส่วนวิหารหลังเดิมนั้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าสร้างขึ้นพร้อมกับเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. 2071 ที่แปลกตาและเด่นมากก็คือตรงหน้าบันรูปจั่วได้ประดับกระจกสี ซึ่งทำให้เกิดสีสันหลากสีบนหลังคาวิหารที่มีพื้นโทนสีดำ ซึ่งพื้นดำนี้มีส่วนช่วยขับกระจกสีแดง ขาว น้ำเงิน เขียว เหลือง จนดูระยิบระยับพระพุทธรูป พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร มีเพดานและต้นเสาแกะสลักลวดลายต่าง ๆ อย่างงดงาม พระพุทธรูปมีนามว่า “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนพระเมาลี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
3.มณฑปพระนางจิรประภามหาเทวี
ภายในประดิษฐานพระรูปของพระนางจิระประภา มหาเทวี ซึ่งพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์วัดโลกโมฬีครั้งเสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ สักการะรำลึกถึงคุณความดีของพระองค์
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2566). วัดโลกโมฬี. จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
เชียงใหม่ CM108. (2563). “วัดโลกโมฬี” เดินชมอดีตกาลอันรุ่งเรืองของล้านนาอายุกว่า 500 ปีที่ยังคงอยู่. จาก https://www.cm108.com/
เทวัญ นันทวงศ์. (2549). เจดีย์วัดโลกโมฬี เชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ), มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ธิดารัตน์ กิติเลิศภักดีกุล. (2555). บทบาทของประธานชุมชนต่อการพัฒนาชุมชนในแขวงศรีวิชัยเทศบาลนครเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การเมืองและการปกครอง), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ยุพิน เข็มมุกด์ และคณะ. (2548). วัดโลกโมฬี. เชียงใหม่ : มูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ.
อภิรักษ์ กาญจนคงคา. (2564). CM-010. วัดโลกโมฬี. จาก http://huexonline.com/
พระครูประสิทธิ์ สิรินธโร, ประธานศูนย์พัฒนาศักยภาพและสวัสดิการวัดโลกโมฬี, สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์ 2566.