Advance search

หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าที่อยู่ร่วมกัน 3 กลุ่ม คือ ลอมี้ ผะหมี้ และอู่โล้ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะการแต่งกาย และใช้เพื่อส่งเสริมเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชน

หมู่ที่ 10
ผาฮี้
โป่งงาม
แม่สาย
เชียงราย
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 มิ.ย. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
29 ส.ค. 2023
ผาฮี้

ที่มาของชื่อบ้านผาฮี้ เมื่อชาวอาข่าได้ย้ายเข้ามาอยู่ช่วงแรก ๆ ชาวบ้านเรียกว่า บ้านจะโคอาข่า ซึ่งหมายถึง ดอยช้างมูบ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านผาฮี้ เนื่องจากมีชาวพื้นราบขึ้นมาท่องเที่ยว และพบว่ามีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่รับประทานได้มีจำนวนมาก คือ ไม้เสี้ยวป่า (ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า ต้นผักฮี้) ประกอบกับมีหน้าผามาก ชาวพื้นราบในบริเวณนั้นจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านผาฮี้ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าที่อยู่ร่วมกัน 3 กลุ่ม คือ ลอมี้ ผะหมี้ และอู่โล้ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะการแต่งกาย และใช้เพื่อส่งเสริมเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชน

ผาฮี้
หมู่ที่ 10
โป่งงาม
แม่สาย
เชียงราย
57130
20.363148086093453
99.83241871375013
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม

เดิมบ้านอาข่าผาฮี้ ได้อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา ในประเทศจีน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ประมาณ 20 ปี ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านป่าก่ออยู่ตรงข้ามบ้านผ้าขาวประเทศพม่า มีอาชีพทำไร่ ต่อมาไม่นานก็ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านจึงได้อพยพจากบ้านป่าก่อย้ายถิ่นฐานมาอยู่บ้านห้วยน้ำริน ตำบลเวียงพานคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ 2496 บริเวณสร้างเจดีย์พระนเรศวรปัจจุบัน ซึ่งมีชาวบ้านมาอาศัยอยู่ประมาณ 11 ครอบครัว ชาวบ้านยังยึดอาชีพ ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ จนประมาณ 7 ปีผ่านไป พื้นที่ทำกินลดน้อยลง สภาพพื้นที่ก็ไม่สมบูรณ์

เมื่อ พ.ศ 2504 นายอาเพียว พรจรัสโชติ (เชอมือ) และนางอาบะ พรจรัสโชติ (เชอมือ) สองสามีภรรยา จึงได้นำครอบครัวและพี่น้องประมาณ 7 ครอบครัว มาก่อตั้งหมู่บ้านใหม่ คือ บ้านจะโคอาข่า การทำมาหากิน ทำไร่ทำสวน ปลูกฝิ่น ทำการค้าขายไม่ค่อยดี ผู้นำหมู่บ้านกับราษฎรในหมู่บ้านได้ปรึกษาหารือกันว่าขยับการตั้งถิ่นฐานเพื่อเป็นสิริมงคลกับหมู่บ้าน จากนั้นได้ขึ้นมาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่ตั้งหมู่บ้านผาฮี้ในปัจจุบัน เพราะเหมาะสำหรับการปลูกข้าว ปลูกฝิ่น เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น เช่น อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และจังหวัดตาก 

บ้านผาฮี้ เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ช่วงแรก ๆ ชาวบ้านเรียกว่า บ้านจะโคอาข่า หมายถึง ดอยช้างมูบ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านผาฮี้ เนื่องจากมีชาวพื้นราบขึ้นมาท่องเที่ยว และพบว่ามีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่รับประทานได้มีจำนวนมาก คือ ไม้เสี้ยวป่า (ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า ต้นผักฮี้) ประกอบกับมีหน้าผามาก ชาวพื้นราบในบริเวณนั้นจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านผาฮี้ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านผาฮี้ อยู่ภายใต้เขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงามมีเนื้อที่ทั้งหมด 42 ตารางกิโลเมตร (26,250 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 14.74 ของพื้นที่อำเภอแม่สาย (ประมาณ 285 ตารางกิโลเมตร) พื้นที่ทิศตะวันตกเป็นภูเขาประมาณร้อยละ 30 ขนานไปตามแนวชายแดนไทย – เมียร์มาร์ มีบ้านอีก้อผาฮี้ (หมู่ที่ 10) และบ้านมูเซอผาฮี้ (หมู่ที่ 11) ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง นอกนั้นเป็นพื้นที่ราบประมาณร้อยละ 70 อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ที่เป็นภูเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของอีก 10 หมู่บ้านที่เหลือโดยมีลักษณะการใช้พื้นที่ดังนี้

  • พื้นที่การเกษตร 11,825 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 45.05 ของพื้นที่ทั้งหมด
  • พื้นที่อยู่อาศัย 4,612 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 17.57 ของพื้นที่ทั้งหมด
  • พื้นที่ป่า 9,812 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 37.38 ของพื้นที่ทั้งหมด

อาณาเขตและที่ตั้งของหมู่บ้าน

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงพาง และองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งผา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไคร้
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านด้าย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ประเทศเมียร์มาร์ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง

ลักษณะภูมิอากาศ

ตำบลโป่งงามมีสภาพอากาศเย็น และร้อน ผสมกัน แบ่งได้เป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 38 องศาเซลเซียส ฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม 2566 ระบุว่า ประชากรในพื้นที่ หมู่ที่ 10 ผาฮี้ ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีเพศชายจำนวน 308 คน เพศหญิง จำนวน 282 คน รวมเป็นทั้งสิ้น 590 คน ส่วนมากประกอบอาชีพทำไร่กาแฟ

อ่าข่า
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ากลุ่มลอมี้ 

อาข่ากลุ่มลอมี้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรค่อนข้างมากในหมู่บ้านผาฮี้ และตั้งถิ่นฐานบริเวณด้านหน้าของหมู่บ้านและสามารถอยู่รวมกลุ่มกับกลุ่มอื่น ๆ ได้ 

1) ลักษณะการแต่งกายของเด็ก

ลักษณะการแต่งกายของเด็กอาข่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ลักษณะการแต่งกายของเด็กผู้ชาย และลักษณะการแต่งกายของเด็กผู้หญิง ที่มีการแต่งกายแตกต่างกันทั้งการประดับศีรษะ และเสื้อที่สวมใส่ รวมไปถึงเครื่องประดับตกแต่งบนเครื่องแต่งกาย

เด็กผู้ชาย: การแต่งกายของเด็กผู้ชายอาข่ากลุ่มนี้ ศีรษะสวมหมวกลักษณะเป็นหมวกผ้าสีดำ ปักลวดลายเต็มหมวกและสีสันสดใส ตกแต่งด้วยลูกบอลเงินทรงกลมเล็ก ๆ และแผ่นเหล็กโลหะเจาะรูแล้วเย็บติดกับลูกบอลเงิน บริเวณคางมีลูกปัดห้อย 4-5 เส้น และมัดติดข้างหู ลักษณะเสื้อจะเป็นเสื้อปกคอจีนใช้เชือกปิดเปิดด้านหน้า และมีลวดลายปักด้วยสีสันสดใส เสื้อของเด็กผู้ชายจะมีทั้งเสื้อแขนยาวและแขนสั้น ส่วนกางเกงเป็นขายาวโปร่ง หลวม

เด็กผู้หญิง: ลักษณะการแต่งกายของเด็กผู้หญิงอาข่ากลุ่มนี้ มีการใส่หมวกคลุมศีรษะ ประดับหมวกด้วยเครื่องเงิน มีลูกตุ้มห้อยสองข้างของหมวก ระหว่างลูกตุ้มจะมีแผ่นเหล็กโลหะเล็ก ๆ วงกลมห้อยลงมาแบบผู้ใหญ่ และบริเวณที่มัดลูกตุ้มมักมีลูกปัดเน้นสีเหลือง แดง และขาวทั้งสองข้าง และประดับด้วยช่อไหมพรม บริเวณคางมีลูกปัดห้อยเล็กน้อยในวัยเด็กและจะใส่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับช่วงอายุ ในวัยรุ่นจะมีเหรียญห้อยลงมาจากข้างหมวกข้างละ 4-5 เหรียญ และปลายเหรียญจะมีรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ส่วนเสื้อเด็กอาข่าจะมีลักษณะเหมือนกับผู้ใหญ่ ตัวเสื้อจะมีรอยต่อแขนเสื้อกับตัวเสื้อบริเวณหัวไหล่นิยมปักเป็นรอยด้ายสีต่าง ๆ ส่วนปลายแขนเสื้อเอาแผ่นผ้าที่เย็บลวดลายไว้มาเย็บติดทั้งสองข้าง เสื้ออาข่ากลุ่มนี้จะเน้นสีสดใส ส่วนด้านหลังเสื้อมีการเย็บปักลวดลาย ประดับด้วยเหรียญและกระดุม สวมใส่กระโปรงแบบฮาวายที่มีรอยกลีบหยักหน้า บนกระโปรงมีแผ่นผ้าที่เย็บลวดลาย และประดับด้วยเปลือกหอย เครื่องเงิน และมีการห้อยลูกปัดไว้ปลายผ้า มีการสวมใส่ปลอกขาแบบผู้ใหญ่ 

2) ลักษณะการแต่งกายของผู้ใหญ่

ลักษณะการแต่งกายของผู้ใหญ่อาข่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงอาข่า และลักษณะการแต่งกายของผู้ชายอาข่าที่มีความแตกต่างกันทั้งชุดการแต่งกายและเครื่องประดับในส่วนต่าง ๆ ดังนี้

ผู้ใหญ่ผู้ชาย: การแต่งกายของผู้ชายอาข่ากลุ่มนี้ ศีรษะมีผ้าโพกสีดำรอบศีรษะ และมีสร้อยเงินมัดห้อยบริเวณหน้าผาก มีดอกไม้ปักแซมกับขนไก่รอบผ้าโพกศีรษะ ลักษณะเสื้อเป็นปกคอจีนใช้เชือกเปิดปิดด้านหน้า ใส่เสื้อแขนยาวที่มีลวดลายปักอย่างสวยงาม ชายเสื้อมีการเย็บลวดลายข้างหลังเน้นสีฉูดฉาด มีเครื่องประดับห้อยแซมข้างหลัง ส่วนกางเกงเป็นขายาวโปร่ง หลวม ใช้เชือกเป็นเข็มขัดรัดบริเวณเอว

ผู้ใหญ่ผู้หญิง: ผู้หญิงสวมหมวกแบนมีแผ่นเงินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเชิดขึ้นมาทางด้านหลัง ในส่วนหัวมีเครื่องประดับคืออู่โชว้ะหรือหมวก ซึ่งของกลุ่มนี้จะมีลูกตุ้มห้อยสองข้างของหมวก ตรงระหว่างลูกตุ้มจะมีแผ่นเหล็กโลหะเล็ก ๆ วงกลมเจาะรูสองข้าง เย็บติดกันจนกลายเป็นแผ่นใหญ่ และบริเวณที่มัดลูกตุ้มมักมีลูกปัดเน้นสีเหลือง แดง และขาวทั้งสองข้าง บริเวณคางมีลูกปัดห้อยเป็นจำนวนมากและมัดติดข้าง ๆ หู มีเหรียญห้อยลงมาจากข้างหมวกข้างละ 4-5 เหรียญ และปลายเหรียญจะมีรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว และนิยมห้อยลูกปัดเป็นจำนวนมากจากคอปล่อยมาบนเสื้อบริเวณหน้าอก เสื้อของกลุ่มลอมี้อาข่า เป็นกลุ่มที่เย็บผ้าและลวดลายสวยที่สุด รอยต่อแขนเสื้อกับตัวเสื้อบริเวณหัวไหล่นิยมปักเป็นรอยเส้นสีต่าง ๆ ส่วนปลายแขนเสื้อเอาแผ่นผ้าที่เย็บลวดลายไว้มาเย็บติดทั้งสองข้าง และข้างหลังเสื้อมีลวดลายเย็บขึ้นมาประมาณ 10 เซนติเมตร ประดับเหรียญและกระดุมและเน้นสีสัน เครื่องแต่งกายส่วนบริเวณเอวลงไปสวมใส่กระโปรงแบบฮาวายที่มีรอยกลีบหยักหน้า ความยาวของกระโปรงถึงหัวเข่า กระโปรงเน้นสีดำ การถอดหรือใส่กระโปรงใช้เชือกในการรัดหรือคลาย บนกระโปรงมีแผ่นผ้าที่เย็บลวดลาย และมีการห้อยลูกปัดไว้ปลายกระโปรง และมีการใส่ถุงน่องหรือ “คื้อบ่อง” ที่เหมือนกับกลุ่มอาข่าทั่วไป 

ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มลอมี้อาข่าที่มีความแตกต่างกันทั้งชายและหญิงอาข่า โดยในลักษณะของการแต่งกายของผู้ชายจะต่างกันไม่มากนักในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่โดยศีรษะจะมีการสวมใส่ผ้าโพกหัวเหมือนกัน สวมเสื้อในลักษณะปกคอจีนใช้เชือกเปิดปิดด้านหน้า กางเกงเป็นขายาวโปร่ง หลวม ใช้เชือกเป็นเข็มขัดรัดบริเวณเอว แต่ต่างกันที่เครื่องประดับในวัยเด็กจะไม่นิยมสวมใส่เครื่องประดับที่มีค่าบริเวณผ้าโพกศีรษะ ส่วนลักษณะการแต่งกายของหญิงอาข่าในวัยเด็กและผู้ใหญ่ก็จะมีการแต่งกายแตกต่างกันในส่วนของการสวมใส่หมวก ในวัยเด็กมีลักษณะเป็นหมวกคลุมศีรษะ ประดับด้วยเครื่องเงินมีลูกตุ้มห้อยสองข้างของหมวกบริเวณคางมีลูกปัดห้อยเล็กน้อย ส่วนในวัยผู้ใหญ่หมวกจะมีลักษณะแบนมีแผ่นเงินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเชิดขึ้นมาทางด้านหลัง มีลูกตุ้มห้อยสองข้างของหมวก และลูกปัดเน้นสีเหลือง แดง และขาวทั้งสองข้าง มีเหรียญห้อยลงมาจากข้างหมวกข้างละ 4-5 เหรียญ และปลายเหรียญจะมีรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ส่วนเครื่องแต่งกายส่วนอื่น ๆ ทั้งเสื้อ กระโปรง และปลอกขาจะเหมือนกันทั้งในวัยผู้ใหญ่และวัยเด็ก 

ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ากลุ่มผะหมี้ 

อาข่ากลุ่มผะหมี้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในหมู่บ้านผาฮี้ ตั้งกลุ่มหมู่บ้านอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน และกระจายตามจุดต่าง ๆ ทั่วหมู่บ้าน 

1) ลักษณะการแต่งกายของเด็ก

ลักษณะการแต่งกายของเด็กอาข่าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ลักษณะการแต่งกายของเด็กชาย และลักษณะการแต่งกายของเด็กผู้หญิง มีความแตกต่างกันตั้งแต่ศีรษะจนถึงชุดการแต่งกาย และเครื่องประดับต่าง ๆ 

เด็กผู้ชาย: การแต่งกายของเด็กอาข่ากลุ่มนี้ ใช้ผ้าโพกศีรษะในลักษณะวงกลม นำดอกไม้ ขนไก่ และเครื่องเงินมาประดับ สวมเสื้อคอจีนแบบผู้ใหญ่มีลักษณะแขนยาว แต่ลวดลายของเด็กจะไม่มากเหมือนกับผู้ใหญ่ จะเย็บปักเฉพาะแถบสี กางเกงเป็นแบบหลวม ใช้เชือกเป็นเข็มขัดรัด กางเกงมีความยาวถึงตาตุ่ม และไม่มีลวดลายใด ๆ ประดับในกางเกง

เด็กผู้หญิง: เด็กหญิงอาข่ากลุ่มนี้ ศีรษะจะมีการสวมใส่หมวกแบบคลุมศีรษะคล้ายอาข่ากลุ่มอื่น ๆ ด้านหน้าของหมวกประดับตกแต่งด้วยแผ่นเงิน และกระดุมเงิน บริเวณคอนิยมห้อยลูกปัดเน้นสีฉูดฉาด บางคนก็ใส่เครื่องเงินที่ห้อยระย้าลงจากคอ ลักษณะของเสื้อกลุ่มนี้จะมีการเย็บปักลวดลายทั้งด้านหน้าและด้านหลังมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และนิยมประดับเหรียญแซมทั้งข้างหน้าเสื้อและข้างหลังเสื้อคล้ายกับผู้ใหญ่ กระโปรงของอาข่ากลุ่มนี้ จะมีรอบกลีบหยักด้านหลัง และไม่มีการเย็บลวดลาย มีการใส่ปลอกขาแบบอาข่ากลุ่มอื่น ๆ แต่ลวดลายจะมีลักษณะการปักเป็นรูปสามเหลี่ยม 

2) ลักษณะการแต่งกายของผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่ผู้ชาย: มีการแต่งกายเหมือนอาข่าทั่วไป ใช้ผ้าโพกหัวในลักษณะวงกลม นำดอกไม้ ขนไก่ และเครื่องเงินมาประดับ เสื้อเป็นแบบปกคอจีน มีลักษณะแขนยาว ประดับลวดลายที่สวยงามทั้งข้างหน้าและข้างหลังของเสื้อ กางเกงเป็นแบบหลวม ใช้เชือกเป็นเข็มขัดรัด กางเกงมีความยาวถึงตาตุ่ม และไม่มีลวดลายใด ๆ ประดับในกางเกง นุ่งกางเกงเป้าต่ำสีดำหรือน้ำเงินเข้ม เสื้อจะมีสีดำหรือน้ำเงินคอกลม แขนยาว ผ้าหน้า ติดกระดุมเงิน เสื้อยาวผ่าด้านข้าง ปักลายทางขวางลำตัวจนถึงใต้รักแร้

ผู้ใหญ่ผู้หญิง: ผู้หญิงนิยมแต่งกายด้วยเครื่องเงินจำนวนมาก ทั้งเหรียญเงิน รูปสัตว์ และอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการประดับตกแต่งทุกส่วนของร่างกาย ส่วนหมวกจะมีรูปคล้ายหมวกเกราะของนักรบโบราณ และมีเสน่ห์ตรงลักษณะแบนและคลุมแบบจั่วบ้านทำให้บริเวณใบหน้ายื่นออกมา มองเห็นสัดส่วนของใบหน้าอย่างเห็นได้ชัด หมวกมีลักษณะโค้งงอ ดูมีความอ่อนช้อย เครื่องเงินและลวดลายผสมกันดูมีค่า ทำให้อาข่ากลุ่มอื่นขนานนามว่า “หมวกผะหมี้ คือ หมวกคนรวย” บนหมวกที่สวมใส่ศีรษะนอกจากจะมีเครื่องเงินซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเงินแท้ และยังประกอบแผ่นเงินที่มาตัดเป็นวงกลมและมีลักษณะนูนตรงกลาง เรียกเป็นภาษาอาข่าว่า “โซว้ะเขาะ” มาเย็บติดเต็มหมวก ทำให้ทุกส่วนของหมวกเต็มไปด้วยเครื่องตกแต่งและสะท้อนแสงเมื่ออยู่กลางแจ้ง บริเวณคอนิยมห้อยลูกปัดเน้นสีฉูดฉาด บางคนก็ใส่เครื่องเงินที่ห้อยระย้าลงจากคอ อาข่ากลุ่มนี้มีลวดลายการเย็บคล้าย ๆ กับกลุ่มลอมี้อาข่า ทั้งลวดลาย การจัดวาง มีการเย็บเป็นแผ่นแล้วมาเย็บติดกับเสื้อตรงปลายเสื้อข้างหน้าและข้างหลัง นอกจากจะมีลวดลายและยังนิยมประดับเหรียญแซมทั้งข้างหน้าและข้างหลังเสื้อ เวลาเดินเสียงกระทบจากเหรียญจะดัง กระโปรงของอาข่ากลุ่มนี้ จะมีรอบกลีบหยักด้านหลัง และไม่มีการเย็บลวดลายใด ๆ บนกระโปรงมีโจ่วจึ่ง ที่มีการห้อยลูกปัดขนาดเล็ก โจ่วจึ่งของอาข่ากลุ่มนี้ มีสองผืนมาเย็บติดกันเป็นแผ่นใหญ่ และไม่นิยมประดับลวดลายมากนักในโจ่วจึ่งนอกจากเหรียญและเครื่องเงิน

ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มผะหมี้อาข่า มีความแตกต่างกันทั้งชายและหญิงอาข่า ในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ชายมีการแต่งกายไม่ต่างกันมากนัก ในส่วนหัวมีลักษณะใช้ผ้าโพกศีรษะในลักษณะวงกลม นำดอกไม้ ขนไก่ และเครื่องเงินมาประดับ ส่วนเสื้อเป็นแบบปกคอจีนมีลักษณะแขนยาว ประดับลวดลายที่สวยงามทั้งข้างหน้าและข้างหลังของเสื้อ กางเกงเป็นแบบหลวม ใช้เชือกเป็นเข็มขัดรัด และไม่มีลวดลายใด ๆ ผู้ชายไม่นิยมใส่เครื่องประดับมากเท่าผู้หญิง ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงจะต่างกันแค่หมวกที่สวมใส่ในวัยเด็กจะสวมใส่หมวกแบบคลุมศีรษะ ด้านหน้าของหมวกประดับตกแต่งด้วยแผ่นเงิน และกระดุมเงิน ในวัยผู้ใหญ่ลักษณะของหมวกก็จะเปลี่ยนไปเป็นหมวกจะมีรูปคล้ายหมวกเกราะของนักรบโบราณ บนหมวกที่สวมใส่จะเป็นเครื่องเงินทั้งหมด ประกอบแผ่นเงินที่มาตัดเป็นวงกลมและมีลักษณะนูนตรงกลาง มาเย็บติดเต็มหมวก ส่วนเสื้อ กระโปรง และปลอกขาจะเหมือนกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ากลุ่มอู่โล้ 

อาข่ากลุ่มอู่โล้อาข่าเป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในหมู่บ้านผาฮี้ ตั้งกลุ่มหมู่บ้านอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้านมีเพียง 5 หลังคาเรือน และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมกับกลุ่มอื่น ๆ ได้

1) ลักษณะการแต่งกายของเด็ก

ลักษณะการแต่งกายของเด็กอาข่าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ลักษณะการแต่งกายของเด็กชาย และลักษณะการแต่งกายของเด็กผู้หญิง มีความแตกต่างกันตั้งแต่ศีรษะจนถึงชุดการแต่งกาย และเครื่องประดับต่าง ๆ 

เด็กผู้ชาย: เด็กชายจะมีผ้าโพกศีรษะสีดำ มีความกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร มาพันรอบหัวและใส่ขนสัตว์ที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น ขนไก่ประดับแซมไว้กลางผ้าพันหัว และประดับดอกไม้ให้มีสีสัน เสื้อมีลักษณะแขนยาว มีคอปก ยาวถึงสะโพก มีการเย็บลวดลายไว้ตรงปลายเสื้อ บริเวณหน้าท้องมีการเย็บด้วยเส้นด้ายเป็นเส้นโค้งงอไปมา จำนวน 3 แถว และข้างหลังเสื้อมีการประดับไว้อย่างสวยงาม แต่ไม่ประดับทั้งแผ่นหลัง และไม่นิยมเย็บลวดลายตรงปลายแขนเสื้อหรือบริเวณหน้าอก ส่วนกางเกงเป็นสีดำ มีลักษณะหลวม ๆ เมื่อมีการใส่ครั้งใดก็จะมีการมัดเข้าหากันเหมือนกับการใส่กางเกงสะดอของคนพื้นเมือง ส่วนของคนอาข่ามีเชือกที่ทำมาจากเส้นด้ายมามัดรวมกัน ปลายเส้นด้ายสีดำมีเหรียญเงินแถบที่มีรู เอาเชือกสอดใส่รูมามัดกางเกงไม่ให้หลุด กางเกงผู้ชายของอู่โล้อาข่ามีความยาวถึงตาตุ่ม

เด็กผู้หญิง: เด็กผู้หญิงอาข่ากลุ่มนี้ในแต่ละช่วงวัยมีการแต่งกายที่บ่งบอกถึงสถานะของผู้ใส่ หญิงที่เข้าสู่วัยสาวตั้งแต่อายุ 13-18 ปี ซึ่งช่วงนี้ยังไม่แต่งงาน จะมีการใส่หมวกคลุมศีรษะ ลักษณะคล้ายกับหมวกของเด็กอาข่ากลุ่มอื่น ๆ มีการตกแต่งบนหมวกด้วยเงินสลับกับกระดุมและลูกปัด มีช่อไหมพรม ลูกเดือย มีการประดับด้วยขนสัตว์ เช่น ไก่ย้อมสี และขนชะนี ลักษณะของเสื้อจะเป็นแบบเดียวกับผู้ใหญ่ผู้หญิง แต่ลวดลายการปักของเสื้อเด็กจะไม่นิยมทำซับซ้อน ปักแถบสีตรงแขนเสื้อด้วยสีที่นิยมใช้ในกลุ่มอาข่า คือ สีเขียว สีขาว สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน และปลายเสื้อด้านหลังมีการประดับไปด้วยลวดลายและเครื่องเงิน จะสวมใส่กระโปรงสีดำ หรือที่เรียกเป็นภาษาอาข่าว่า “พีตี” ลักษณะเป็นกระโปรงฮาวาย ทำลายหยักด้านหลัง ยาวถึงบริเวณหัวเข่าเหมือนกับผู้ใหญ่ผู้หญิง บนกระโปรงด้านหน้าของเด็กจะไม่ใส่ผ้าปิดระหว่างต้นขาสองข้าง เรียกเป็นภาษาอาข่าว่า “โจ่ว จึ่ง” เพราะมีความสะดวกสบายกับเด็กที่อยู่ในวัยกำลังซุกซน และจะมีการเริ่มสวมใส่ผ้าปิดต้นขาสองข้างเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรืออายุประมาณ 15-18 ปี และการสวมใส่หมวกของเด็กอู่โล้อาข่าจะสวมใส่ตั้งแต่เด็กจนถึงหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน (สาวโสด) จะมีการเปลี่ยนการสวมหมวกเมื่อหญิงสาวเข้าพิธีแต่งงานแล้วเท่านั้น สำหรับเครื่องประดับของเด็กอาข่ากลุ่มนี้ก็จะมีเครื่องประดับเล็กน้อย

2) ลักษณะการแต่งกายของผู้ใหญ่

ลักษณะการแต่งกายของผู้ใหญ่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ลักษณะการแต่งกายของผู้ชาย และลักษณะการแต่งกายของผู้หญิง มีความแตกต่างกันตั้งแต่ศีรษะจนถึงชุดการแต่งกาย และเครื่องประดับต่าง ๆ 

ผู้ใหญ่ผู้ชาย: ชายอู่โล้อาข่านิยมโกนผม มีผ้าพันรอบหัวที่เรียกว่า “อู่ จึ่ง” การใส่อู่จึ่ง มีความแตกต่างกันไปตามวัย เมื่อเป็นหนุ่มใส่ผ้าสีดำ มีความกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร มาพันรอบหัวและใส่ขนสัตว์ที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น ขนไก่และประดับด้วยดอกไม้เพื่อให้มีสีสัน เมื่ออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป มีการเปลี่ยนผ้าเป็นสีแดง และไม่มีขนไก่หรือดอกไม้ประดับ ลักษณะการพันผ้าก็เปลี่ยนไปจากเดิมพันรอบหัวมาเป็นการพันแล้วมัดแทน เสื้อผู้ชายมีลักษณะแขนยาว มีคอปก เสื้อยาวถึงสะโพก มีการเย็บลวดลายไว้ตรงปลายเสื้อ บริเวณหน้าท้องมีการเย็บด้วยเส้นด้ายเป็นเส้นโค้งงอไปมา จำนวน 3 แถว และข้างหลังเสื้อมีการประดับไว้อย่างสวยงาม แต่ไม่ประดับทั้งแผ่นหลัง และไม่นิยมเย็บลวดลายตรงปลายแขนเสื้อหรือบริเวณหน้าอก อย่างไรก็ตามเสื้อของอู่โล้อาข่าในปัจจุบันได้ถูกดัดแปลงไปมากจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม เพราะถูกปรับให้เข้ากับกาลสมัยและความนิยมของสมัยนี้ ทำให้เสื้อผ้าใหม่ ๆ ที่กลุ่มอนุชนใส่ ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นของกลุ่มใด ส่วนกางเกงเป็นสีดำ มีลักษณะหลวม ๆ เมื่อมีการใส่ครั้งใดก็จะมีการมัดเข้าหากันเหมือนกับการใส่กางเกงสะดอของคนพื้นเมือง ส่วนของคนอาข่ามีเชือกที่ทำมาจากเส้นด้ายมามัดรวมกัน ปลายเส้นด้ายสีดำมีเหรียญเงินแถบที่มีรู นำเชือกสอดใส่รูมามัดกางเกงไม่ให้หลุด กางเกงผู้ชายของอู่โล้อาข่ามีความยาวถึงตาตุ่ม

ผู้ใหญ่ผู้หญิง: หญิงอาข่ากลุ่มนี้สวมหมวกในลักษณะเป็นทรงแหลม และการสวมหมวกทรงแหลมสูงบ่งบอกถึงสถานะของหญิงอาข่ากลุ่มนี้ด้วย หมวกแหลมนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนฐานซึ่งเป็นผ้าคาดศีรษะ ประดับด้วยเหรียญ กระดุมเงิน และลูกปัด ส่วนยอดมีโครงไม้ไผ่อยู่ใต้ผ้าย้อมคราม ตกแต่งด้วยเครื่องเงิน ลูกปัด ลูกเดือย พู่แดงที่ได้มาจากขนไก่ย้อมสีถักให้เป็นเกลียว และขนชะนี การประดับเครื่องเงินของอู่โล้อาข่าเป็นการบ่งบอกถึงสถานะทางครอบครัว หากประดับไปด้วย “แต่ก่า” เงินแถบจำนวนมาก นั่นหมายถึง เป็นลูกผู้ดีมีเงิน เสื้อของอู่โล้อาข่า เป็นสีดำที่ผ่ากลางด้านหน้า มีแขนยาว และเสื้อยาวถึงบริเวณสะโพก เสื้อผู้หญิงนิยมใส่ลวดลายมากกว่าผู้ชาย และการปักเย็บถือว่าเป็นการอวดฝีมือในการเย็บผ้าด้วย บริเวณด้านหน้าตรงปลายเสื้อมีการประดับไปด้วยลวดลายอย่างสวยงาม เช่น อ้า ลู แหม่ ล้า แปลว่าลิ้นผีเสื้อ และปลายเสื้อด้านหลังมีการประดับไปด้วยลวดลายและเครื่องเงิน ลูกปัด หรือ “จู้มา” และลูกเดือย ไม่นิยมปักเป็นรูปสัตว์หรือต้นไม้ ตั้งแต่ส่วนเอวลงไป ก็จะมีกระโปรงสีดำ หรือที่เรียกเป็นภาษาอาข่าว่า “พีตี” ลักษณะเป็นกระโปรงฮาวาย ทำลายหยักด้านหลัง ยาวถึงบริเวณหัวเข่า บนกระโปรงด้านหน้ามีผ้าปิดระหว่างต้นขาสองข้าง เรียกว่าเป็นภาษาอาข่าว่า “โจ่ว จึ่ง” เป็นผ้าแผ่นยาว มีเชือกมัดตรงหัวเพื่อผูกติดกับเอว และบริเวณปลายมีลูกปัดและลูกเดือยประดับ ผ้าผืนนี้จะเป็นผ้าที่มีการประดับประดาอย่างสวยงาม มีเหรียญและเครื่องประดับทั้งลูกปัด เปลือกหอย แซมไว้ และเต็มไปด้วยลวดลาย การเย็บผ้า ในส่วนของน่องและขา จะมีผ้ามาปิดรอบ ๆ อู่โล่อาข่าเรียกว่า “คื้อบ่อง” มีลูกปัด ลูกเดือย และลวดลายเป็นแผ่นเล็ก ๆ มาติดแนวนอน และแซมไปด้วยลูกเดือย ลูกปัด 

ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มอู่โล้อาข่าในวัยเด็กและผู้ใหญ่จะมีความแตกต่างกันออกไป รวมถึงการแต่งกายของผู้ชายในกลุ่มนี้ มีความแตกต่างกันที่หมวกในวัยเด็กมีลักษณะเป็นผ้าโพกศีรษะสีดำประดับดอกไม้ขนไก่ ในวัยผู้ใหญ่จะมีลักษณะเป็นผ้าโพกหัวสีแดง ไม่มีการประดับตกแต่ง ส่วนเสื้อ กางเกงมีลักษณะเหมือนกัน และในหญิงอาข่าทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ก็จะมีความแตกต่างกันที่หมวก สำหรับวัยเด็กมีลักษณะมีการใส่หมวกคลุมหัวตกแต่งบนหมวกด้วยเงินสลับกับกระดุมและลูกปัด ในส่วนของเสื้อ กระโปรง และปลอกขามีลักษณะเหมือนกัน แต่ในวัยเด็กหญิงอาข่าจะไม่ใส่เครื่องประดับมากเท่ากับวัยผู้ใหญ่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สิรินดา ทะปาละ. (2562). วัฒนธรรมการแต่งกายกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า : กรณีศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มลอมี้ ผะหมี้ และอู่โล้ หมู่บ้านผาฮี้ ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม. (2566). ข้อมูลทั่วไป. จาก https://www.pong-ngam.go.th/