เวียงท่ากาน กลุ่มโบราณสถานและคูเมืองแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยธรรมิกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย
จากคำบอกเล่าจากผู้รู้ท้องถิ่นว่า เมื่อครั้ง “พระเจ้าอาทิตยราช” โปรดให้สร้างปราสาทเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญไชย มีกาเผือกตัวหนึ่งบินมาโฉบลงที่พระเศียรของพระองค์ จึงรับสั่งให้ไล่กาไปกาได้บินมาถึงบ้านแห่งนี้และจะลงเกาะ ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีตามความเชื่อแต่โบราณ จึงพากันส่งเสียงไล่ว่า “ต๊ะก๋า” ทำให้เป็นที่มาของชื่อ “บ้านต๊ะก๋า”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 เจ้าอาวาสวัดบ้านต๊ะก๋าเห็นว่าคำนี้เป็นภาษาพูด จึงเปลี่ยนให้เป็นภาษาเขียนว่า “ท่ากาน” อย่างไรก็ดี ชื่อ “ท่ากาน” ปรากฏในเอกสารและตำนานหลายฉบับ อาทิ ตำนานมูลศาสนา, พงศาวดารโยนก และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่เรียกกว่า “พันนาทะการ” เช่น เมื่อครั้งพญามังราย (พ.ศ. 1839-1855) โปรดตั้งเมืองเชียงใหม่ แล้วให้นำต้นโพธิ์ที่ได้มาจากลังกาไปปลูกตามหัวเมืองต่าง ๆ นั้น รวมถึงเมืองพันนาทะการด้วย
ต่อมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1984-2030) ปรากฏชื่อเมืองนี้อีกว่าเป็นที่นำเชลยชาวเงี้ยวมาอยู่และอีกครั้งเมื่อเจ้าเมืองเชียงทองและพระยากายเงี้ยวนำข้าไพร่ ชาย-หญิง และช้างม้า ถวายแก่พระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038 – 2068) พระองค์โปรดให้แบ่งข้าไพร่ไปไว้ที่ “พันนาทะกาน” ชื่อเมืองนี้หายไปหลังจากเชียงใหม่เสียเมืองแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2101 จนกระทั่ง พ.ศ. 2339 พระเจ้ากาวิละตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าสำเร็จ ได้มีการนำชาวไทยยองเข้าไปอาศัยอยู่ตราบจนปัจจุบัน
เวียงท่ากาน กลุ่มโบราณสถานและคูเมืองแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยธรรมิกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย
ในพื้นที่เวียงท่ากานพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่วัฒนธรรมหริภุญไชยต่อเนื่องมาจนถึงสมัยล้านนา ก่อนจะถูกทิ้งร้างไปไปในช่วงเวลาสั้น ๆ และได้รับการฟื้นฟูกลับมาตั้งบ้านเมืองอีกครั้งในสมัยเจ้ากาวิละ โดยในหลุมขุดค้นทางโบราณคดีได้มีการนำดินในชั้นวัฒนธรรมที่ปรากฏกิจกรรมในพื้นที่ไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนต์ (TL) และวิเคราะห์ร่วมกับโบราณวัตถุที่พบ โดยหลักฐานทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่กลางเวียงท่ากานนี้ มีการจับจองและอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมหริภุญไชย (ราวพุทธศตวรรษที่ 14) อยู่อาศัยเรื่อยมาจนถึงสมัยล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 19-22) จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาล่มสลาย และมีการกลับมาฟื้นฟูเมืองอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ สามารถสรุปพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานในเวียงท่ากานได้ ดังนี้
สมัยวัฒนธรรมหริภุญไชย
เป็นชั้นวัฒนธรรมแรกเริ่มที่ปรากฏการณ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เวียงท่ากานแห่งนี้ โดยพบการใช้พื้นที่บริเวณกลางเมือง ซึ่งเป็นจุดที่มีความสูงมากที่สุด เป็นสุสานหรือแหล่งฝังศพ จากการรวบรวมการศึกษาที่ผ่านมาของ ผาสุข อินทราวุธ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าวัฒนธรรมสมัยหริภุญไชยน่าจะมีสองช่วง คือ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-14 โบราณวัตถุที่พบในช่วงเวลานี้ มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมทวารวดีจากที่ราบภาคกลาง และถูกเชื่อมโยงกับตำนานจามเทวี และช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-19 ลักษณะของวัตถุทางวัฒนธรรมเปลี่ยนไป มีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมพุกาม ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบในหลุมขุดค้นที่เวียงท่ากานนี้ เป็นสิ่งของที่ใช้กันในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-19 จึงเชื่อว่าวัฒนธรรมที่เวียงท่ากานน่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 14-15 เป็นอย่างน้อย หลักฐานที่พบในหลุมขุดค้นและการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ สามารถแบ่งอายุสมัยของเมืองนี้ได้เป็น 2 ช่วง คือ สมัยวัฒนธรรมหริภุญไชยตอนต้น (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16) และสมัยวัฒนธรรมหริภุญไชยตอนปลาย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-19) และหลักฐานหลายชิ้น ได้แก่ โครงกระดูกม้า ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน ลูกปัดหินคาร์เนเลียน เปลือกหอยทะเล เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอกที่อยู่ไกลออกไป แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการติดต่อทางตรงหรือทางอ้อม แต่สิ่งที่สามารถเชื่อมั่นได้ คือ บริเวณเวียงท่ากานเป็น “จุดแลกเปลี่ยนการค้า” มาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 แล้ว
สมัยหริภุญไชยตอนต้น (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16) พบการฝังศพในพื้นที่กลางเมือง โดยมีลักษณะการฝังศพที่แตกต่างจากแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งฝังศพอื่น ๆ ในภาคเหนือ จากการเปรียบเทียบลักษณะการฝังศพเช่นนี้ที่มีอายุสมัยอยู่ในช่วงไล่เลี่ยกัน ได้แก่ แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ในอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 ซึ่งเมืองโบราณดังกล่าวพบโบราณวัตถุที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมทวารวดีและมีการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องจนพัฒนาเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ จึงมีความเป็นไปได้ที่บรรพชนของเวียงท่ากานอาจอพยพเคลื่อนย้ายมาจากแถบภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งโบราณวัตถุที่พบก็ชี้ให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้มีการติดต่อกับชุมชนภายนอกแล้ว
จากการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดท่ากาน โดยหลุมขุดค้นมีขนาด 7X4 เมตร พบโครงกระดูกมนุษย์และชิ้นส่วนกระดูกที่สามารถประเมินขั้นต่ำได้ว่า โครงกระดูกในหลุมมีประมาณ 60 โครง ทุกโครงถูกจัดอยู่ในท่านอนงอเข่า ลักษณะช่วงขาหรือการวางตัวของกระดูกส่วนขาทั้งท่อนบนและท่อนล่าง น่าจะเป็นร่องรอยที่แสดงถึงการมัด และคาดว่าน่าจะมีการตัดเส้นเอ็นร่วมด้วย แสดงให้เห็นว่าเป็นพิธีกรรมการฝังศพที่เวียงท่ากานเป็นการฝังศพครั้งที่ 1 ยกเว้นโครงกระดูกทารกที่อยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว โครงกระดูกที่พบมีทั้งเพศหญิงและเพศชาย และมีอายุตั้งแต่อยู่ในวันทารกจนถึงวัยผู้ใหญ่ มีการขุดหลุมฝังศพให้มีขนาดและลักษณะหลุมพอดีกับร่างผู้ตาย การค้นพบโครงกระดูกที่เวียงท่ากานนี้ แสดงความเป็นไปได้ว่าอาจมีผู้คนกลุ่มอื่นเคลื่อนย้ายขึ้นมาภาคเหนือ โดยคนกลุ่มนี้ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อและนับถือผีบรรพบุรุษ จึงแสดงออกผ่านทางพิธีกรรมการทำศพแบบฝัง ที่น่าสนใจคือ ความเชื่อเรื่องผีและการฝังศพยังคงดำรงอยู่ต่อมาจนถึงสมัยล้านนา
การขุดค้นพบโครงกระดูกม้าที่เวียงท่ากานนี้ ถือเป็นการค้นพบโครงกระดูกม้าที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีการขุดค้นพบในประเทศไทย การศึกษาเกี่ยวกับม้าที่พบในประเทศไทยนั้นสันนิษฐานว่ามีการนำเข้ามาในสมัยทวารวดี ปรากฏในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161 – 1459) กล่าวว่าทูตทวารวดีเคยขอม้าพันธุ์ดีจากจีนแลกกับงาช้างและไข่มุก ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น ม้าถือเป็นสัตว์สำคัญที่มีการควบคุม ไม่สามารถซื้อขายได้อย่างเสรี ซึ่งบุญช่วย ศรีสวัสดิ์กล่าวว่า ในสมัยจักรพรรดิว่องเต้ (เข้าใจว่าน่าจะหมายถึง ฮ่องเต้/จักรพรรดิของจีน) ทรงอนุญาตให้ขุนผางคำมีอำนาจเก็บภาษีผ่านด่านทั้ง 9 แห่งในเขตแดนอาณาจักรไทเมาได้ พ่อค้าชาวจีน พม่า ไต ต้องเสียค่าผ่านด่านทุกบ้านทุกเมือง และได้แต่งตั้งเศรษฐีทั้ง 9 ที่ประจำด่านทั้ง 9 นั้น เป็นหัวหน้าหมู่บ้านและค้าขายม้า และบริเวณเวียงท่ากานนี้น่าจะเป็น 1 ในเมืองที่ปรากฏชื่อในบันทึกของจีน นอกจากนั้น มีการศึกษาสารพันธุกรรม (DNA) ของม้าธรรมชาติในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย นำโดย สัตวแพทย์หญิง ดร.ศิรยา ชื่นกำไร พบว่า ม้าไทยมีพันธุกรรมอยู่ในกลุ่มเดียวกับม้าพื้นเมือง (Domestic Horse) ของมองโกล มีความสูงประมาณ 120-140 เซนติเมตร ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของเส้นทางการค้าโบราณ "Tea Horse Road" เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 เมื่อธิเบตมีความต้องการใบชาปู่เอ๋อว์จากยูนนาน จึงเกิดเส้นทางการค้าจากยูนนานไปธิเบต อินเดีย เวียดนาม และคงแพร่เข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทยในที่สุด อย่างไรก็ตาม การค้นพบโครงกระดูกม้าโบราณที่เวียงท่ากาน จึงเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มีการนำม้ามาเลี้ยง ตั้งแต่ราว 1,000 ปีมาแล้ว และม้าตัวนี้ก็ถือเป็นม้าสำคัญ เนื่องจากมีการจัดท่าปลงศพเช่นเดียวกับโครงกระดูกมนุษย์ ทั้งยังถูกฝังในพื้นที่สุสานเดียวกับที่ฝังศพมนุษย์อีกด้วย
ตลับเคลือบสีขาว พบบริเวณเอวของโครงกระดูกหมายเลข 7 เป็นตลับทรงกระบอกพร้อมฝา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของฝา 4.8 เซนติเมตร สูงรวม 3.3 เซนติเมตร สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ กำหนดอายุอยู่ในช่วงต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ 17 ตลับชิ้นนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับชุมชนภายนอกและแสดงให้เห็นว่าการฝังศพในบริเวณวัดท่ากานดำเนินมาจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 เป็นอย่างน้อย
ลูกปัดคาร์เนเลียน พบเพียงเม็ดเดียว บริเวณข้างกระดูกสันหลังของหลุมฝังศพหมายเลข 25 เป็นลูกปัดหินทรงกลม สีส้ม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร จากการพบลูกปัดนี้เพียงเม็ดเดียว ทำให้กล่าวได้ว่าลูกปัดนี้ไม่ใช่ของอุทิศที่ใช้ประดับร่างกาย แต่น่าจะเป็นลูกปัดที่ปะปนอยู่ในชั้นดินก่อนมีการฝังศพ แต่ก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนเวียงท่ากานมีการติดต่อกับชุมชนภายนอก
สมัยวัฒนธรรมหริภุญไชยตอนปลาย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-19) ในช่วงแรกของสมัยนี้ ผู้คนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมการฝังศพอยู่ และพบร่องรอยโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบริเวณแหล่งฝังศพ ซึ่งมีความสูงของระดับพื้นที่มากกว่า โดยพบเป็นหลุมเสากลม ปักเป็นคู่ 3 จุด มีผังเป็นรูปสามเหลี่ยม พบร่องรอยของการใช้ไฟ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์หลายชนิด ที่มีร่องรอยการสับตัดบนกระดูกยาวของกระดูกสัตว์ รวมทั้งยังพบตุ้มถ่วงแห แวดินเผา เหล่านี้แสดงถึงวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นบริเวณที่อยู่อาศัย ในชั้นวัฒนธรรมนี้ จากหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงระบบเศรษฐกิจการดำรงชีพ เพราะการล่าสัตว์น่าจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเกษตรกรรมสมัยประวัติศาสตร์ หรือการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวของระบบเศรษฐกิจ แต่ยังมีกลุ่มคนที่เป็นนายพรานดำรงอยู่ในสังคมด้วย ในช่วงกลางถึงปลายของชั้นวัฒนธรรมนี้ พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งแบบหริภุญชัย นอกจากนั้นยังพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ ได้แก่ ชิ้นส่วนปิ่นปักผม และหัวหอก(?) รวมทั้งเปลือกหอยมุก เปลือกหอยเบี้ย และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน คือ เครื่องถ้วยชิงไป๋ สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ด้วย ในช่วงปลายของชั้นวัฒนธรรมนี้ก็เริ่มพบผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาในล้านนาแล้ว คือ เครื่องถ้วยสันกำแพง ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษเริ่มลดความสำคัญลง ความเชื่อเรื่องพุทธศาสนา เริ่มเข้ามาในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ดังที่พบพระพิมพ์ดินเผาในชั้นดินชั้นบนของหลุมฝังศพ และคงเปลี่ยนเป็นสังคมพุทธศาสนาเต็มขึ้นในสมัยล้านนา
เครื่องถ้วยสันกำแพง ชิ้นส่วนของภาชนะดินเผาที่พบมีการตกแต่งด้วยการเคลือบสีน้ำตาล เคลือบสีเขียว และการเซาะร่องใต้เคลือบ กำหนดอายุได้ในพุทธศตวรรษที่ 19
ชิ้นส่วนปิ่นปักผม สภาพไม่สมบูรณ์ ปลายด้านหนึ่งหักหายไป มีสนิมเกาะโดยรอบ ปลายอีกด้านหนึ่งทำเป็นรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม จุกแหลม เส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณคล้ายดอกบัวตูม 2.1 เซนติเมตร จากลักษณะนี้จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปิ่นปักผม
สมัยล้านนา
หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าพื้นที่เข้าสู่สมัยล้านนา เมื่อเริ่มพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยล้านนาในชั้นวัฒนธรรมหริภุญไชย ซึ่งปริมาณโครงกระดูกที่พบก็ลดจำนวนลง และอาจกล่าวได้ว่าเวียงท่ากานเข้าสู่สมัยล้านนาอย่างเต็มตัวเมื่อพญามังรายได้นำต้นศรีมหาโพธิ์จากลังกาประทานปลูกในพันนาทะการ เมื่อพิจารณาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีจะพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านประเภทของหลักฐานอย่างชัดเจน โดยโบราณวัตถุที่พบจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในศาสนสถาน ทั้งชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม กระเบื้องดินเผา อิฐ กุณฑี แท่งหินบด และกล้องยาสูบ กระดูกสัตว์ที่พบหลากหลายชนิดก็หายไป พบเพียงกระดูกวัว-ควาย ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบก็มาจากแหล่งเตาของล้านนาและเครื่องถ้วยจีนที่สามารถกำหนดอายุได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-23 ขณะที่ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาพื้นเมืองซึ่งมีการตกแต่งแบบหริภุญชัยก็ยังพบตลอดมา ส่วนหลักฐานที่ยังสามารถพบเห็นได้ในพื้นที่อย่างชัดเจน คือ โบราณสถานประเภทวัดนั่นเอง นอกจากหลักฐานสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของเวียงท่ากาน คือ โถสมัยราชวงศ์หยวน ที่พบภายในกลุ่มโบราณสถานกลางเวียงที่แสดงให้เห็นฐานะของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าเมืองแห่งนี้ และสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งของเมืองแห่งนี้อีกด้วย
โบราณสถานในพื้นที่เวียงท่ากาน
โบราณสถานหลายแห่งมีองค์ประกอบแผนผังของวัดโบราณครบถ้วนสมบูรณ์ สังเกตได้จากขอบเขตกำแพงวัดที่ยังชัดเจนและครบสมบูรณ์ รูปแบบแผนผังของวัดจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน มีองค์ประกอบหลักของวัด คือ
- หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
- มีเจดีย์เป็นประธาน มีวิหารหลวงอยู่ด้านหน้า
- มีการแบ่งส่วนที่เป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส
- บริเวณวัดจะมีกำแพงวัดล้อมรอบ มีโขงประตูทางเข้า
สิ่งก่อสร้างสำคัญในสมัยล้านนานี้ คือ เจดีย์ จากการศึกษาของ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์พบว่า สามารถแบ่งรูปแบบเจดีย์ของเวียงท่ากานได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- เจดีย์ทรงปราสาทยอด พบไม่เต็มองค์ ถูกก่อครอบทับ เช่น เจดีย์วัดกู่ไม้แดง
- เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา เชื่อว่าต้นแบบที่สำคัญของเจดีย์กลุ่มนี้ คือ พระธาตุหริภุญไชย
- เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัย มีชุดรองรับองค์ระฆังเป็นบัวถลาในผังกลม
- เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาระยะหลัง มีชุดรองรับองค์ระฆังเป็นบัวถลาในผังหลายเหลี่ยม เช่นเดียวกับพระธาตุดอยสุเทพ
รูปแบบเจดีย์เท่าที่เหลือหลักฐานส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาระยะหลังในกลุ่มที่ 3 และ 4 เท่านั้น จากการศึกษารูปแบบเจดีย์ที่พบในเวียงท่ากานพบว่า เจดีย์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ เจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นบัวถลา
โถราชวงศ์หยวน พบจากการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีเจดีย์องค์หนึ่งในพื้นที่โบราณสถานวัดกลางเวียง โถใบนี้มีขนาดปากกว้าง 21 เซนติเมตร สูง 38 เซนติเมตร ผลิตจากกลุ่มเตาจิ่งเต๋อเจิ้น เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ในสมัยราชวงศ์เยวี๋ยน ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับรัชกาลพญาผายูแห่งอาณาจักรล้านนา บนโถมีการเขียนประดับตกแต่งด้วยการเขียนลายสีน้ำเงิน ลวดลายที่ปรากฏเป็นลวดลายมงคลของจีน โดยลวดลายที่ประดับบริเวณส่วนลำตัวของโถ คือ ลายดอกโบตั๋น ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาแห่งดอกไม้ มีความหมายถึง ความร่ำรวย เกียรติยศ ความรัก เหนือขึ้นไปบริเวณไหล่เป็นลายหงส์และมังกรที่ใช้เทคนิคการปั้นแปะ ปั้นให้เป็นมังกรแบบลอยตัวขึ้นมา เมื่อลายทั้งสองประกอบกันจึงเป็น ลายหงส์ร่อนมังกรรำ มีความหมายถึง ช่วงเวลาแห่งความสุขและความเจริญรุ่งเรือง ส่วนบริเวณคอและตีนโถประดับด้วยลวดลายมงคลลายของจีน ประกอบด้วย ลายไข่มุกไฟ หมายถึงความงามและความบริสุทธิ์ แผ่นมุมแห่งชัยชนะ หมายถึง ชัยชนะ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด และการขจัดปัดเป่าภูตผีปีศาจ นอแรดคู่ หมายถึง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ความสุข และความมั่งคั่ง ปะการัง หมายถึง ความมีอายุยืน หอยสังข์ หมายถึง การอวยพรให้โชคดีและประสบความสำเร็จ กรับ เป็นตัวแทนของเฉากว๋อจิ่ว หนึ่งในแปดเซียนในลัทธิเต๋าของจีน
ประชากร 1,500 คน และมีจำนวนครัวเรือน 424 ครัวเรือน
ราษฎรส่วนใหญ่ มีอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำสวน ปลูกพืชไร่ พืชสวนที่ปลูกเป็นส่วนมาก มีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และสตรีสหกรณ์บ้านสันกอเก็ต หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านกลาง เป็นประเภทร้านค้าชุมชน จัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก และสินค้าที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มแม่บ้าน เช่น ข้าวแต๋น ข้าวเกรียบสมุนไพร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม เกษตรทำนา กลุ่มเกษตรผู้ปลูกลำไย กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เป็นต้น ชุมชนเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มของชุมชน 3 หมู่บ้าน จัดทำโรงน้ำดื่มเพื่อชุมชน จำนวน 2 แห่ง
ชาวบ้านส่วนมากมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ทำสวน ปลูกพืชไร่
มีทุนทางวัฒนธรรมที่นำมาสร้างกิจกรรมและบริหารจัดการการท่องเที่ยวในรูปแบบหมู่บ้านวัฒนธรรมได้ 7 ด้าน คือ
- ประวัติศาสตร์
- ชาติพันธุ์
- โบราณสถาน
- โบราณวัตถุ
- วัฒนธรรม
- ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชุมชน
- วิถีเกษตรกรรม
ธงชัย ภูวนาถวิจิตร. (2560). การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบหมู่บ้าน วัฒนธรรมเวียงท่ากาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่. วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต, 5(1), 14-23.
พวงเพชร์ ธนสิน. (2548). การประยุกต์ใช้เทคนิคและวิธีทางภูมิศาสตร์เพื่อพัฒนาเมืองโบราณเวียงท่ากานเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ศิริพันธ์ ยับสันเทียะ และกษมา เกาไศยานนท์. (2534). เวียงท่ากาน 1 รายงานการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถาน. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ.
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. (ม.ป.ป.). พัฒนาการและการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เวียงท่ากาน. จาก https://www.finearts.go.th/
สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่. (ม.ป.ป.). แผ่นพับนำชมโบราณสถานเวียงท่ากาน. เชียงใหม่ : ผู้แต่ง.