
เป็นชุมชนใหญ่ ตั้งอยู่ในเป็นตำบลเขื่อนผากซึ่งมีชื่อเสียงทั้งทางด้านการท่องเที่ยว การเกษตร และธรรมชาติ มีป่าเขา ทุ่งนา เป็นชุมชนที่มีบรรยากาศดี โรงเรียนเขื่อนผากวิทยาเป็นโรงเรียนของสามเณรแห่งเดียวในอำเภอพร้าว โรงเรียนเขื่อนผากชราบาลเป็นโรงเรียนคนชราแห่งเดียวเมืองพร้าวที่ให้ผู้สูงอายุได้เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เต้นแอร์โรบิค สานก๋วย แข่งกีฬา เป็นต้น
ชื่อของบ้านห้วยบงไม่ปรากฏที่มาของชื่ออย่างแน่ชัด อาจตั้งชื่อตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่
เป็นชุมชนใหญ่ ตั้งอยู่ในเป็นตำบลเขื่อนผากซึ่งมีชื่อเสียงทั้งทางด้านการท่องเที่ยว การเกษตร และธรรมชาติ มีป่าเขา ทุ่งนา เป็นชุมชนที่มีบรรยากาศดี โรงเรียนเขื่อนผากวิทยาเป็นโรงเรียนของสามเณรแห่งเดียวในอำเภอพร้าว โรงเรียนเขื่อนผากชราบาลเป็นโรงเรียนคนชราแห่งเดียวเมืองพร้าวที่ให้ผู้สูงอายุได้เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เต้นแอร์โรบิค สานก๋วย แข่งกีฬา เป็นต้น
บ้านห้วยบง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเขื่อนผาก ซึ่งชื่อตำบลเขื่อนผากมาจากชื่อของหมู่บ้านหลักที่ตั้งอยู่สองฝั่งลำน้ำแม่งัด จากคำบอกเล่าในเวทีชาวบ้านทราบว่ายุคแรกที่ตั้งชุมชนมีการเลี้ยงช้างสำหรับลากซุง และเป็นมีท่าแพขนส่งสินค้าเดินทางลงไปตามแม่น้ำออกสู่อำเภอแม่แตง ตำบลเขื่อนผากประกอบด้วยชุมชน 10 หมู่บ้าน คือ บ้านแพะพัฒนา บ้านเขื่อนผาก บ้านห้วยบงเหนือ บ้านห้วยบง (ใต้) บ้านทรายมูล บ้านสหกรณ์แปลง 2 บ้านทรายทอง บ้านไชยงาม บ้านขวัญประชาและบ้านม่วงหลวงหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด คือบ้านแพะ บ้านทรายมูลและบ้านเขื่อนผาก เดิมเป็นชุมชนเดียวกัน อยู่ติดลำน้ำแม่งัด ส่วนอีก 8 หมู่บ้านเป็นชุมชนที่เกิดจากการจัดสรรที่ดินทำกินในรูปของนิคมสหกรณ์ ในเขตตำบลเขื่อนผากมีโบราณสถานและวัดร้าง ประกอบด้วยวัดพระเจ้าหลวงขัติ วัดเขื่อนแก้ว (หรือจอปู่หยา) วัดห้วยเฮี้ย วัดพระธาตุสุบแหวน ดงพระเจ้าต๋นหลวง (ปัจจุบันเป็นวัดสหกรณ์แปลงสอง) วัดสามัคคีธรรม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานที่ดินจังหวัด สาขาพร้าว)
โบราณสถานอีกสองแห่งยังไม่สามารถสืบค้นประวัติความเป็นมาได้ชัดเจน คือ เวียงฮ่อ ตั้งอยู่ที่ด้านใต้ของโรงเรียนพร้าววิทยาคม นายสงคราม ทารักษ์ อดีตนักการภารโรงให้ข้อมูลว่า เมื่อมีการปรับพื้นที่เพื่อสร้างโรงเรียน ปี พ.ศ. 2515 ยังปรากฏคันดินชัดเจน คนแถบนั้นเรียกว่า เวียงฮ่อ สืบต่อกันมานานแล้ว ประวัติของชุมชนในตำบลเขื่อนผากที่สืบค้นได้เรียงตามลำดับหมู่บ้านมีดังนี้ บ้านแพะพัฒนา ตั้งขึ้นราว พ.ศ. 2465 คนกลุ่มแรกคือคนในสกุล แสงทอง สกุลเพิ่มบุญและสกุลบรรชา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ซึ่งเดิมมีอาณาเขตรวมทั้งบ้านทรายมูลและเขื่อนผากในปัจจุบันด้วย แยกเป็นบ้านแพะเมื่อ พ.ศ. 2470 นายแสน บุญส่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก พ.ศ. 2516 กรมทางหลวงตัดถนนทางหลวงเชียงใหม่ สันทราย พร้าว ผ่านชุมชน (หมายเลข 1001) พ.ศ. 2515 กรมสามัญศึกษาตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอขึ้น และในปี พ.ศ. 2548 เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านแพะพัฒนา มีโบราณสถานเป็นวัดร้าง 2 แห่ง คือ วัดพระเจ้าหลวงขัติ มีชื่อในทะเบียนวัดร้างของทางราชการ และวัดสามัคคีธรรม (ร้าง) เป็นที่ตั้งของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาพร้าว บ้านเขื่อนผาก มีประวัติความเป็นมาเช่นเดียวกับบ้านแพะพัฒนา เนื่องจากเดิมเป็นชุมชนเดียวกัน แต่เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดลำน้ำแม่งัดฝั่งตะวันตก ไม่พบซากโบราณสถาน
บ้านห้วยบงเหนือ และบ้านห้วยบง (ใต้) เดิมเป็นชุมชนของคนลัวะ ในปี พ.ศ. 2457 ครอบครัวของนายกำจัด วรรณศิริ อพยพมาจากอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มาตั้งถิ่นฐานรวมกับคนที่มาจากที่ต่าง ๆ ราว พ.ศ. 2513-2514 ทางราชการจัดที่ทำกินในรูปนิคมสหกรณ์มีประชากรมากขึ้นจึงแยกออกเป็น 3 หมู่บ้าน พบซากโบราณสถาน 1 แห่ง คือ วัดพระธาตุสบแหวนพบเจดีย์ที่บูรณะแล้วไม่ทราบรูปทรงศิลปะเดิม บ้านทรายมูล เดิมเรียกว่าบ้านป่าติ้ว คนกลุ่มแรกที่มาตั้งชุมชน คือสกุลจอมฟอง สกุลสอนถา สกุลกันสี สกุลคงวุฒิ สกุลวงศ์รักษ์และสกุลแก้วบุญเรือง ไม่พบซากโบราณสถาน บ้านสหกรณ์แปลงสอง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่เกิดจากนโยบายการจัดสรรที่ทำกินในรูปนิคมสหกรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นแปลงที่ 3 ต่อจากสหกรณ์ดำริ ตำบลน้ำแพร่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองมาจากหลากหลายตำบล อำเภอ ได้ตั้งวัดในที่ดินซึ่งเคยเป็นวัดร้าง (ไม่ทราบชื่อเดิมแต่สันนิษฐานตามลักษณะของชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่พบน่าจะเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่มาก จึงเรียกชื่อว่า ดงพระเจ้าหลวง) ในช่วงที่มีการปรับพื้นที่สร้างวัดพบโบราณวัตถุที่เป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องทองเหลือง เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในวัด ในปี พ.ศ. 2544 ทางราชการแบ่งเขตการปกครองบ้านสหกรณ์แปลงสองออกเป็น 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสหกรณ์แปลงสอง บ้านทรายทอง บ้านขวัญประชา และบ้านไชยมงคล บ้านม่วงหลวง เป็นชุมชนใหม่ในเขตนิคมสหกรณ์ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2545 โดยแยกมาจากบ้านเขื่อนผาก พบซากโบราณสถาน 2 แห่ง คือ วัดเขื่อนแก้ว (ร้าง) มีชื่อในทะเบียนวัดร้าง ชาวบ้านเรียกว่า จอปู่หยา เชื่อว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มีเทพารักษ์รักษาและมักมีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ
บ้านห้วยบงเหนือตั้งอยู่ภายในตำบลเขื่อนผาก ซึ่งมีคำขวัญ คือ ถิ่นศาลารวมใจ ไหว้พระธาตุศรีบุญฤทธิ์ ผลิตน้ำอ้อยแท้ พริกแต้เม็ดสวย รวยข้าวโพดพันธุ์ดี เกษตรอินทรีย์ชี้นำ
ลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ และที่ราบเชิงเขา มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณร้อยละ 80
ลักษณะภูมิอากาศ เป็นลักษณะอากาศแบบมรสุมเขตร้อนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตก เฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีฝนตกชุกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงประมาณต้นเดือนตุลาคม และจะเริ่มมีอากาศร้อนอบอ้าวตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปลายเดือนเมษายน ทั้งนี้ในแต่ละปีลักษณะอากาศอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามลักษณะอากาศโดยรวมของภูมิภาค
ลักษณะดิน เป็นลักษณะดินร่วน ประกอบด้วยชั้นทรายปนดินเหนียว ดินเหนียวปนทราย กรวดละเอียด และลูกรังปะปนในบางชั้น โดยทั่วไปสภาพเป็นดินร่วน มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ที่ดินส่วนใหญ่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเขื่อนผากจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยส่วนใหญ่ในแต่ละปีจะมีการปลูกข้าวเป็นหลัก และสามารถปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร เมื่อเดือนมกราคม 2566 ระบุว่า หมู่ที่ 3 ห้วยบงเหนือ ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรเพศชาย จำนวน 386 คน เพศหญิง จำนวน 387 คน รวมเป็นทั้งสิ้น 773 คน
อาชีพหลักของชาวบ้านในตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ คือ การเกษตรโดยส่วนใหญ่ เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ลำไย เป็นต้น นอกจากนี้ สมาชิกในชุมชนยังรับจ้างเป็นแรงงานเกษตรกรรมภายในและภายนอกชุมชนอีกด้วย
ลำไย เป็นหนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับไทยอย่างมหาศาล โดยไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกลำไยไม่ว่าจะเป็นรูปผลสด แช่แข็งและลำไยอบแห้งเป็นรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2556 ประเทศไทยส่งออกลำไยในรูปผลสด แช่แข็ง และลำไยอบแห้ง ประมาณ 553.631 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 409.175 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระหว่างปี 2556 – 2558 มูลค่าการส่งออกลำไยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปี 2559 และ 2560 มูลค่าการส่งออกลำไยจะเพิ่มขึ้นอีก (ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร, 2559) ประเทศที่สามารถผลิตลำไยได้ คือ ไทย จีน เวียดนาม ไต้หวัน ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกลำไยที่สำคัญ ได้แก่ เชียงใหม่ ซึ่งอำเภอพร้าวนั้น ก็เป็นหนึ่งในอำเภอที่ มีการปลูกลำไยค่อนข้างมาก และโด่งดังในเรื่องลำไย การส่งออกลำไย เพราะอำเภอพร้าวนั้นขึ้นชื่อเป็นเมืองเกษตรกรรม ดังคำขวัญของอำเภอพร้าว “เมืองเก่าวังหิน ถิ่นประเพณีล้ำค่า บูชาพระเจ้าล้านทอง เรืองรองเกษตรกรรม แดนธรรมหลวงปู่แหวน” อำเภอพร้าว มีอากาศที่ค่อนข้างร้อน จึงทำให้ขึ้นชื่อในการเพาะปลูกลำไย และทำให้ลำไยหวานอร่อย ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเพาะปลูกลำไย มากกว่าปลูกพืช ผลไม้อย่างอื่น
รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน
ในช่วงฤดูเกษตรกรรม สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการทำไร่ ทำสวนลำไย เช่น การปลูก การตัดหญ้า พ่นยาฆ่าแมลง สารเคมี รดน้ำลำไย ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีการจ้างสมาชิกในชุมชนไปช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิต
ส่วนเด็กและเยาวชนจะใช้เวลาระหว่างวันไปกับการเรียนในโรงเรียนภายในชุมชน พอเลิกเรียน หรือวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ เด็กบางคนก็จะไปช่วยพ่อแม่หรือผู้ปกครองทำสวน เด็กบางคนก็จะทำการบ้านอยู่ที่บ้าน ส่วนมากวันหยุดของเด็ก ๆ บางคนก็มักจะไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ เพราะชุมชนเป็นมีบรรยากาศที่ดีและตอนเย็นก็จะมีคนมาปั่นรถจักรยานเล่นกันมากมาย
การพักผ่อนและงานอดิเรก
ส่วนมากเวลาพักผ่อน เยาวชนหรือคนเฒ่าคนแก่มักจะมาพบปะสังสรรค์ มาพบหน้าพบตากันที่ตลาด ถามสารทุกข์สุขดิบกัน มานั่งคุยกันที่ตลาด เด็ก ๆ เยาวชน ก็จะมาปั่นรถจักรยานรอบหมู่บ้าน เล่นกีฬา เช่น เล่นแบดมินตัน วิ่ง เป็นต้น
พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน การแต่งกาย
อาหารส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในชุมชน เช่น ผักในละแวกบ้านและในสวน ของป่าตามฤดูกาล ข้าว ส่วนเนื้อสัตว์ก็จะไปหาซื้อได้ในตลาด ตลาดก็จะมีของขายมากมาย เช่น เนื้อสัตว์ ผักต่าง ๆ ไข่ไก่ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ
การทำงานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมทั้งในพื้นที่ของตนเอง และพื้นที่ที่เป็นสมาชิกชุมชนรวมถึงการออกไปรับจ้างทำงานภายนอกชุมชนในบางช่วงเวลา
ในส่วนของการแต่งกาย เด็กและเยาวชนจะแต่งกายเสื้อยืดทั่วไป บางวันถ้าเด็ก ๆ ออกไปเล่นกีฬาก็จะใส่ชุดกีฬากางเกงวอร์ม วันจันทร์-ศุกร์ ก็จะใส่ชุดนักเรียน ผู้ใหญ่ส่วนมาก ก็จะใส่ชุดธรรมดาหรือชุดทำงานทั่วไป และผู้สูงอายุ ผู้หญิงส่วนมากจะใส่ผ้าซิ่นเสื้อคอกระเช้า ผู้ชายจะใส่ผ้าขาวม้า เสื้อม่อฮ่อม แต่บางคนนั้นไม่สวมใส่เสื้อ
สถานที่สำคัญของชุมชน คือ “วัดห้วยบง” เป็นวัดที่งดงามด้วยวิหารแบบไทยและแบบจีน ตั้งอยู่บ้านห้วยบง ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดราษฏ์มหานิกาย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2470 โดยพระครูเตจา เดชปญโญ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง
ภายในบริเวณวัด มีการก่อสร้างวิหารสถาปัตยกรรมจีนขนาดใหญ่ ภายในและนอกวิหารมีพระพุทธรูปต่างๆ และรอบบริเวณวิหารมีรูปปั้นเทพ หน้าบันไดวิหารมีรูปปั้นสิงโตขนาดใหญ่ ภายในวิหาร เป็นที่ประดิษฐานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ผู้คนได้กราบไหว้ สักการะขอพร ทั้งแบบไทยและจีน อาทิ พระศรีอริยเมตไตรย์ พระโพธิสัตว์ พระพรหม เหล่าเทพและเซียนต่าง ๆ เป็นต้น
ชาวบ้านสื่อสารด้วยภาษาไทยกลาง และภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือคำเมือง
เมื่อปี พ.ศ. 2535 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้ามาเก็บข้อมูลการศึกษาคุณภาพและสภาพตลาดของผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงที่ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหมู่บ้านห้วยบงเหนือ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่เพรส. (2564). “วัดห้วยบง” สวยงามวิหารจีน. จาก https://chiangmaipress.com/
วิวรรธน์ วรรธนัจฉริยา. (2535). การศึกษาคุณภาพและสภาพตลาดของผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงที่ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหมู่บ้านห้วยบงเหนือ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
องค์การบริหารส่วนตำบลเขื่อนผาก. (2566). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. จาก https://www.khuanphak.com/