Advance search

หมู่บ้านที่แยกตัวออกมาจากบ้านบุเปือย เป็นที่ราบสูงสลับกับเนินเตี้ย สภาพดินเป็นดินแดงภูเขาไฟ เหมาะแก่การปลูกพืชทุกชนิด ส่วนวัฒนธรรมในระยะแรกได้รับอิทธิพลจากชาวกูย ก่อนภายหลังได้รับอิทธิพลจากชาวไทยเชื้อสายลาวเข้ามาผสมผสาน  และได้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักของชุมชนในที่สุด

หมู่ที่ 10
บ้านบุกลาง
บุเปือย
น้ำยืน
อุบลราชธานี
เบอร์ชุมชนบ้านบุเปือย โทร. 09-3727-7932, อบต.บุเปือย โทร. 0-4595-4445
สุธาสินี บุญเกิด
16 ม.ค. 2023
สุธาสินี บุญเกิด
29 มี.ค. 2023
บ้านบุกลาง

ในปี พ.ศ. 2532 บ้านบุกลางได้แยกตัวออกมาจากบ้านบุเปือย และด้วยลักษณะการอยู่อาศัยการปลูกสร้างบ้านเรือนเกาะกลุ่มและตั้งอยู่ระหว่าง 4 หมู่บ้าน คือ บ้านบุเปือย บ้านน้ำซับ บ้านประเสริฐแสนสุข และบ้านเกษตรสมบูรณ์ จึงใช้ชื่อเรียกว่า "บ้านบุกลางเป็นต้นมา" 


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านที่แยกตัวออกมาจากบ้านบุเปือย เป็นที่ราบสูงสลับกับเนินเตี้ย สภาพดินเป็นดินแดงภูเขาไฟ เหมาะแก่การปลูกพืชทุกชนิด ส่วนวัฒนธรรมในระยะแรกได้รับอิทธิพลจากชาวกูย ก่อนภายหลังได้รับอิทธิพลจากชาวไทยเชื้อสายลาวเข้ามาผสมผสาน  และได้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักของชุมชนในที่สุด

บ้านบุกลาง
หมู่ที่ 10
บุเปือย
น้ำยืน
อุบลราชธานี
34260
14.542928
105.055177
องค์การบริหารส่วนตำบลบุเปือย

หมู่บ้านบุกลางเดิมเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านบุเปือย ภายหลังได้แยกตัวออกมาจากหมู่บ้านบุเปือย เนื่องจากหมู่บ้านมีประชากรมากขึ้นยากต่อการปกครองดูแล ทางภาครัฐจึงได้แบ่งแยกเป็นหมู่บ้านบุกลางตั้งอยู่ที่หมู่ 10 ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น. 86) หมู่บ้านถูกจัดตั้งเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2532 ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเป็นอดีตกำนัน นายเฮ้า มนตรี นายหมอก โสณจิต และนายอิ้ม เครือคุณ (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น. 87)

การอพยพผู้คนเข้ามาในหมู่บ้านกลุ่มแรกมาจากอำเภอวารินชำราบ โดยอาศัยอยู่รอบ ๆ หนองปลิง สาเหตุที่ชาวบ้านได้อพยพเข้ามาในหมู่บ้านเหตุเพราะเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ สภาพดินแดงที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชทุกชนิด (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น. 87)

ปัจจุบันหมู่บ้านบุกลาง แบ่งระบบการปกครองเป็น 4 คุ้ม ได้แก่ คุ้มเอื้ออารี คุ้มออมบุญ คุ้มเพียร และคุ้มสามัคคีธรรม (มรรษพร เจริญทรัพย์, 2556, น. 39)

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ  ติดต่อกับ  บ้านน้ำซับ, บ้านประเสริฐแสนสุข
  • ทิศใต้  ติดต่อกับ  บ้านเกษตรสมบูรณ์, บ้านเกษตรพัฒนา
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  บ้านบุเปือย
  • ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ  บ้านพืชอุดม, บ้านเกษตรสมบูรณ์

ลักษณะภูมิประเทศ บ้านบุกลางมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงสลับกับเนินเตี้ย ๆ สภาพดินเป็นดินแดงภูเขาไฟ เหมาะสำหรับการปลูกพืชทุกชนิด เช่น มันสำปะหลัง ทุเรียน มังคุด ยางพารา มีพื้นที่ทั้งหมด 2,119 ไร่ แยกเป็นที่อยู่อาศัย 100 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 2,016 ไร่ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ 10 ไร่ (มรรษพร เจริญทรัพย์, 2556, น. 33)

ลักษณะภูมิอากาศ

  • ฤดูหนาว  ช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวเย็น เนื่องจากอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติภูจองนายอยที่มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ทำให้บ้านบุกลางได้รับอิทธิพลลมหนาวจากเทือกเขามาด้วย 
  • ฤดูร้อน  ช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน  มีอากาศร้อน ทำให้ชาวบ้านประสบกับปัญหาภัยแล้งในบางปี
  • ฤดูฝน  ช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม มีพายุฝนในช่วงสองถึงสามเดือนแรก

การคมนาคม มีถนนลาดยางตัดผ่านบริเวณหมู่บ้านหลายสาย ถนนสายหลักที่เข้าสู่หมู่บ้าน คือ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2217 น้ำยืน-เดชอุดม การคมนาคมสะดวก มีรถประจำทางสามารถเดินทางไปตัวอำเภอน้ำยืน และตัวจังหวัดอุบลราชธานีได้ (มรรษพร เจริญทรัพย์, 2556, น. 34)

ทรัพยากรธรรมชาติ ลำห้วยหินกอง แหล่งน้ำสำคัญและเป็นแหล่งน้ำแห่งเดียวภายในหมู่บ้านที่ชาวบ้านสามารถนำน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ลักษณะดินเป็นดินแดงร่วนปนทราย คล้ายกับดินทางภาคใต้และภาคตะวันออกเหมาะแก่การปลูกพืช (มรรษพร เจริญทรัพย์, 2556, น. 36)

จัดตั้งหมู่บ้านเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2532 มีจำนวนครัวเรือนครั้งแรก 120 ครัวเรือน เป็นเพศชาย 321 คน เพศหญิง 288 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 60 คน (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น.87) ขณะที่การสำรวจประชากรในปี 2565 พบว่า มีจำนวนบ้าน 211 หลังคาเรือน รวมประชากรทั้งหมด 653 คน โดยแบ่งเป็นชาย 322 คน และหญิง 331 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)

ชาวบ้านบุกลางส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่น เป็นความสัมพันธ์ที่ยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่น เนื่องด้วยอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ซึ่งต้องใช้แรงงานจากภายในครอบครัวเป็นแรงงานหลัก ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ออกไปประกอบอาชีพ (มรรษพร เจริญทรัพย์, 2556, น. 39)

กูย

วิถีชีวิตแต่เดิมดำเนินไปอย่างเรียบง่าย กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2525 ทาง ธกส. สนับสนุนให้ใช้เครื่องจักรไถนาปรับพื้นที่แทนวัวควายที่ถูกขายเพื่อใช้หนี้เงินกู้จาก ธกส. ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชาวบุกลางที่เริ่มหักร้างถางพงมากขึ้น ส่งผลให้ระบบการผลิตแบบพออยู่พอกินภายในครอบครัว กลับกลายเป็นการผลิตเพื่อขายเป็นหลัก และวิกฤตในปี 2540 เป็นอีกวิกฤตที่ถือว่าหนักที่สุดในชีวิตชาวบ้าน มันเทศพืชเศรษฐกิจหลัก ไม่สามารถขายได้ถูกทิ้งให้เน่าเสียภายในหมู่บ้าน

จากจุดเริ่มต้นเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ผู้ใหญ่วิไลวรรณ ธานี ได้รวบรวมผู้ที่ประสบปัญหาเดือดร้อนในหมู่บ้าน รวมทั้งหน่วยงานภายนอกได้เล็งเห็นถึงความพยายามของชุมชน ในการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา ลงมือปฏิบัติจริงและขยายผลนำไปสู่การต่อยอดกลุ่มกิจกรรมพัฒนาในรูปแบบองค์กรชุมชนที่มีความหลากหลาย เมื่อการดำเนินงานของกลุ่มแปรรูปผลผลิตเป็นไปด้วยดี จึงเกิดกลุ่มและกองทุนอื่น ๆ ตามมา เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบุกลาง กลุ่มออสวัสดิการ กลุ่มออมบุญของชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มต่าง ๆ ภายในบ้านบุกลางถ้านับรวมแล้วมีทั้งสิ้น 15 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มแต่ละกองทุนมีคณะกรรมการบริหารกลุ่มละคณะ มีระเบียบข้อบังคับที่แตกต่างกันสมาชิกหนึ่งคนเป็นสมาชิกหลายกลุ่มและสามารถกู้ยืมเงินได้ทุกกลุ่ม ทำให้เกิดหนี้สินซ้ำซ้อนยากแก่การบริหารจัดการ เกิดปัญหาหนี้เสีย จึงเกิดเวทีประชาคมร่วมกันอีกครั้งในปี 2548 ชาวบ้านได้จัดทำแผนพัฒนากองทุน โดยการบูรณาการกองทุนในหมู่บ้านบุกลางให้กลายเป็น "สถาบันการเงินชุมชนบ้านบุกลาง" มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 150 คน เป็น 435 คน มีทุนดำเนินงานมากกว่า 24 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2552 แต่ในปี พ.ศ. 2554 บ้านบุกลางประสบปัญหาการเมืองภายในหมู่บ้าน มีผลให้ต้องปรับโครงสร้างบริหารการจัดการใหม่แยกกองทุนที่ได้งบประมาณจากภาครัฐออกมาจากสถาบันฯ (กองทุนมิยาซาว่า กองทุนหมู่บ้าน และกองทุน กขคจ.) และเปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันการเงินกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านบุกลาง" ในปี พ.ศ. 2555 จึงเหลือสมาชิกของสถาบัน จำนวน 335 คน และมีจำนวนกลุ่มและกองทุนทั้งสิ้น 12 กลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่มได้มีการบูรณาการกองทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพของสมาชิก (มรรษพร เจริญทรัพย์, 2556, น. 36-39) 

คณะกรรมการสถาบันการเงินกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านบุกลาง ประกอบด้วย ที่ปรึกษา ประธาน คณะกรรมการ รองประธานคณะกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก ฝ่ายตรวจสอบ การเงิน เงินกู้ฉุกเฉิน พิจารณาเงินกู้ ติดตามเร่งรัด ประชาสัมพันธ์ และอำนวยการ ซึ่งคณะกรรมการที่ได้มานั้นเป็นตัวแทนจาก 12 กลุ่ม/กองทุน (ตามแผนผังโครงสร้างคณะกรรมการสถาบันการเงินกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านบุกลาง)

สำหรับจุดเด่นด้านประเพณีและวัฒนธรรม แรกเริ่มนั้นชาวบ้านได้รับอิทธิพลจากชาวกูย แต่ในระยะหลังประมาณ 40 ปีมาแล้ว ได้มีชาวไทยเชื้อสายลาวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่และกลืนวัฒนธรรมชาวกูย ดังนั้นประเพณีที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ประเพณีฮีตสิบสอง ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากคนไทยเชื้อสายลาว เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตรเข้ากับพิธีความเชื่อทางศาสนา 

  • เดือนอ้าย (ธันวาคม) บุญเข้ากรรม ในช่วงปลายปีชาวบ้านร่วมทำบุญบริจาคทาน รักษาศีลและฟังธรรมที่วัด ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย
  • เดือนสาม (กุมภาพันธ์) บุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา ชาวบ้านทำข้าวจี่ร่วมกันที่ลานหมู่บ้านเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัด โดยเรียกว่า การตักบาตรด้วยข้าวจี่
  • เดือนสี่ (มีนาคม) บุญพระเวส ชาวบ้านเตรียมอาหารและที่พักสำหรับพระภิกษุสามเณรและผู้ที่มาร่วมงานจากหมู่บ้านใกล้เคียง พร้อมเตรียมเครื่องบูชา วันแรกซึ่งเป็นวันโฮม ตอนเช้านิมนต์พระอุปคุตมาประดิษฐานที่หอข้างศาลาโรงธรรมตั้งแต่เช้ามืด ตอนบ่ายอัญเชิญและแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง มีอาราธนาสวดพระพุทธมนต์ เทศนาพระมาลัยหมื่นมาลัยแสน จนกระทั่งสว่างมีการประกาศชุมนุมเทวดา อาราธนาพระเทศน์สังกาส และอาราธนาเทศน์มหาชาติ เมื่อจบมีเทศน์ฉลองพระเวสสันดรอีกครั้ง
  • เดือนห้า (เมษายน) บุญประเพณีสงกรานต์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ซึ่งชาวอีสานโบราณถือว่าวันที่ 15 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในวันแรกมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด การละเล่น และสาดน้ำตลอดสามวัน โดยในวันสุดท้ายจะทำบุญตักบาตรตอนเช้า ตอนบ่ายแขวนธงยาวและก่อเจดีย์ทรายเข้าวัด
  • เดือนหก (พฤษภาคม) บุญบั้งไฟและบุญวิสาขบูชา โดยงานบุญบั้งไฟนั้นเป็นไปเพื่อการขอฝน เป็นงานสำคัญก่อนทำนา ทำไร่ ส่วนบุญวิสาขบูชา ในช่วงกลางวันมีเทศนาธรรมและเวียนเทียนในช่วงกลางคืน
  • เดือนแปด (กรกฏาคม) บุญเข้าพรรษา ตอนเช้าชาวบ้านร่วมทำบุญตักบาตร ตอนบ่ายนำดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสาร และผ้าอาบน้ำฝนมารวมกันที่ศาลาวัดและตอนเย็นชาวบ้านทำวัตรเย็น พร้อมฟังเทศน์ฟังธรรม
  • เดือนสิบ (กันยายน) บุญข้าวสาก โดยผู้ถวายข้าวสากเขียนชื่อของตนลงงบนภาชนะที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรจับสลากได้ชื่อใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ
  • เดือนสิบเอ็ด (ตุลาคม) บุญออกพรรษา พระสงฆ์จะแสดงอาบัติทำการปวารณา คือ เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ พอตกกลางคืนมีการจุดประทีปโคมไฟแขวนไว้ตามต้นไม้หรือริมรั้ว
  • เดือนสิบสอง (พฤศจิกายน) บุญกฐิน เริ่มตั้งแต่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 สำหรับประชาชนที่อยู่ริมน้ำมีการแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) เพื่อระลึกถึงอุสุพญานาค (มรรษพร เจริญทรัพย์, 2556, น. 39-41)

นอกจากนี้การประกอบอาชีพของชาวบ้านบุกลางส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีรอบปีในการปลูกพืชดังนี้ (มรรษพร เจริญทรัพย์, 2556, น. 43)

  • มกราคม  =  เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง
  • กุมภาพันธ์  =  เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง
  • มีนาคม  =  เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง
  • เมษายน  =  ปลูกมันสำปะหลัง, เก็บเกี่ยวมะไฟ มะม่วง ชมพู่ สับปะรด
  • พฤษภาคม  =  ปลูกมันสำปะหลัง มันเทศ
  • มิถุนายน  =  ปลูกมันสำปะหลัง มันเทศ, เก็บเกี่ยวเงาะ มังคุด ทุเรียน สะตอ
  • กรกฎาคม  =  ปลูกมันสำปะหลัง มันเทศ
  • สิงหาคม  =  ปลูกมันสำปะหลัง, เก็บเกี่ยวมันเทศ
  • กันยายน  =  ปลูกมันสำปะหลัง, เก็บเกี่ยวมันเทศ
  • ตุลาคม  =  ปลูกมันสำปะหลัง, เก็บเกี่ยวมันเทศ มันสำปะหลัง
  • พฤศจิกายน  =  เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง
  • ธันวาคม  =  เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง

1) นายคมสันต์  ตัดโท  ผู้ใหญ่บ้าน

ด้วยทุนทรัพยากรที่มีดินอุดมสมบูรณ์ ลักษณะวิธีการผลิตก่อนปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านเข้ามาทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด พริก มีการครอบครองกรรมสิทธิ์โดยการจับจองและซื้อที่ดิน ในช่วงนั้นที่ดินมีราคาไม่สูง ประมาณ 6,000 บาทต่อไร่ จึงทำให้ชาวไร่หรือผู้ที่เข้ามาจับจองมีโอกาสซื้อที่ดินทำกินในราคาที่ไม่สูงนัก การปลูกพืชไร่ใช้แรงงานคนปลูก แต่การไถพรวนไถปลูกนั้นต้องใช้รถไถ (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น.87)

ต่อมาภายหลังจากปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านเริ่มมีการทำไร่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมดั้งเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมแบบทุนนิยมเต็มตัว เริ่มมีพ่อค้าในหมู่บ้านรับซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 8 ราย ส่วนใหญ่รับซื้อราคาพืชผลทางการเกษตรมีความเป็นธรรม ชาวบ้านเริ่มมีแนวคิดการทำไร่ในที่ดินจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านเริ่มบุกรุกถางไร่เปิดพื้นที่ซื้อขายที่ดิน เพื่อขยายพื้นที่การเพาะปลูกและใช้เทคนิคเพื่อประหยัดเวลาอย่างการใช้เครื่องจักรทดแทน (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น.87-89)

ชาวบ้านบุกลางสื่อสารกันด้วยภาษาถิ่น คือ ภาษาอีสานหรือภาษาลาว เนื่องจากชาวบ้านที่นี่มีเชื้อสายกูยและการอพยพเข้ามาของชาวบ้านจากที่อื่นส่วนใหญ่เป็นคนไทยอีสานที่พูดภาษาลาว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์. (2553). การรับรู้และตีความเศรษฐกิจพอเพียงในมโนทัศน์ของชาวอีสาน. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

มรรษพร เจริญทรัพย์. (2556). การบูรณาการกองทุนการเงินเพื่อการจัดการตนเองของชุมชน : กรณีศึกษา สถาบันการเงินกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านบุกลาง ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

องค์การบริหารส่วนตำบลบุเปือย. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานตำบลบุเปือย. ค้นจาก http://https://bupueai.go.th/public/list/data/index/menu/1142

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php

เบอร์ชุมชนบ้านบุเปือย โทร. 09-3727-7932, อบต.บุเปือย โทร. 0-4595-4445