Advance search

บ้านเทอดไทย

ชุมชนที่บุกเบิกโดยหลวงกระปุ่งซึ่งเป็นช่างปั้นหม้อเพื่อหาแหล่งดินที่เหมาะสมสำหรับการปั้นหม้อซึ่งเป็นอาชีพของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1
เทอดไทย
ทุ่งเขาหลวง
ร้อยเอ็ด
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
15 ก.ย. 2023
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
15 ก.ย. 2023
บ้านเทอดไทย


ชุมชนที่บุกเบิกโดยหลวงกระปุ่งซึ่งเป็นช่างปั้นหม้อเพื่อหาแหล่งดินที่เหมาะสมสำหรับการปั้นหม้อซึ่งเป็นอาชีพของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1
เทอดไทย
ทุ่งเขาหลวง
ร้อยเอ็ด
45170
องค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย โทร. 0-4355-7084
15.98205643
103.8496976
องค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย

   ในอดีตประชากรบ้านเทอดไทยเป็นกลุ่มชนอพยพจากกลุ่มชน 2 กลุ่ม คือ ชนเผ่าลาวและชนเผ่าไทย ชนเผ่าชาวลาวอพยพมาจากบ้านยางกลาง ตำบลเหล่า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด สาเหตุที่อพยพมาจากบ้านเรือนอยู่ห่างไกลที่ทำนา สำหรับชนเผ่าไทยที่อพยพมานั้น มาจากจังหวัดนครราชสีมา เป็นชนเผ่าที่เรียกว่า ไทยเบิ้ง หรือไทยโคราช สาเหตุที่อพยพมาบ้านเทอดไทยเนื่องจากบริเวณถิ่นที่อยู่เดิมในจังหวัดนครราชสีมามีสภาพความเป็นอยู่ที่แห้งแล้ง โดยมีหลวงกระปุ่ง ผู้เป็นช่างปั้นหม้อและเป็นผู้มาสำรวจดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการปั้นหม้อ ณ บริเวณห้วยดางเดียวบ้านเทอดไทย หลังจากที่หลวงกระปุ่งได้ทดลองปั้นดูแล้วพบว่าดินดังกล่าวมีคุณภาพดี เหมาะสมในการปั้นหม้อ จึงได้ชักชวนคนในหมู่บ้านอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านเทอดไทย เพื่อประกอบอาชีพที่ติดตัวมาคือการปั้นหม้อ โดยมาตั้งถิ่นฐานและแยกคุ้มหรือบ้านคนละบ้านระหว่างชนเผ่าคนไทยโคราชและชนเผ่าลาว คือ คุ้มไทยและคุ้มลาว

   การอพยพมาตั้งถิ่นฐานของชุมชนครั้งแรกโดยชาวไทยที่มาจากนครราชสีมาซึ่งมีความสามารถในการปั้นหม้อนั้น ได้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่เรียกว่าดงโต่งโต้นซึ่งอยู่ใกล้บริเวณห้วยดางเดียว ซึ่งมีดินที่เหมาะสมสำหรับการปั้นหม้อ แต่ต่อมาไม่นานเกิดการเสียชีวิตของคนในหมู่บ้านติดต่อกันจึงเป็นความเชื่อที่ว่าเจ้าที่แรงไม่สามารถตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณเดิมได้จึงได้อพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านเทอดไทยจนกระทั่งปัจจุบัน

หลังจากนั้นทั้งคุ้มไทยและคุ้มลาวเมื่อตั้งถิ่นฐานอยู่ไปยาวนานจึงมีความสนิทสนมกลมเกลียวกันจึงถูกเรียกว่าบ้านไทย ต่อมามีผู้คนอพยพมาอาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และอยู่รวมกันเรียกว่าบ้านไทยใหญ่และได้ขยายหมู่บ้านแยกออกไปเรียกว่า บ้านไทยน้อยเมื่อมีความหนาแน่นของประชากรเพิ่มมากขึ้นผู้ใหญ่บ้านคนเดียวปกครองไม่ได้จึงขออนุญาตตั้งหมู่บ้านเพิ่มประกอบกับผู้คนในเขตนี้ชอบค้าขายและมีการแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น จนกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าจึงตั้งชื่อว่า บ้านตลาด และชุมชนอีกกลุ่มแยกไปตั้งหมู่บ้านใหม่อีกคือบ้านปอหูโดยเรียกชื่อตามต้นไม้คือ ต้นปอหู

   ในปีพ.ศ.2486 นายวาสนา วงศ์สุวรรณ นายอำเภอธวัชบุรีได้ตัดถนนเชื่อมติดต่อกันทั้ง 3 หมู่บ้าน โดยเปลี่ยนชื่อจากบ้านไทยใหญ่เป็นบ้านเทอดไทย บ้านตลาดเป็นบ้านตลาดใหญ่จากนั้นในปีพ.ศ.2495 ตำบลเหล่าได้แยกเพิ่มเป็นอีกตำบลหนึ่งคือ ตำบลเขวาทุ่ง ทำให้มีหมู่บ้านลดลงประกอบกับบ้านเทอดไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงตั้งหมู่บ้านขึ้นอีกคือบ้านยางด่อ

   ในปีพ.ศ.2527 บ้านเทิดไทยได้แยกจากตำบลเหล่าเป็นตำบลเทอดไทย ซึ่งปัจจุบันบ้านเทอดไทยแยกการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้านคือ บ้านเทอดไทย หมู่ที่ 1 บ้านตลาดใหญ่ หมู่ที่ 2 บ้านปอหู หมู่ที่3 และบ้านยางด่อ หมู่ที่ 4 

   บ้านเทอดไทย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด มีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆ ดังนี้

ทิศเหนือ          ติดต่อกับ บ้านท่าโพธิ์ ตำบลทุ่งเขาหลวง อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด

ทิศใต้             ติดต่อกับ บ้านยางกลาง ตำบลเหล่า อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด

ทิศตะวันออก     ติดต่อกับ บ้านขมิ้น ตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด

ทิศตะวันตก      ติดต่อกับ บ้านสะพานทอง ตำบลเหล่า อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด

หมู่ที่ 1 เทอดไทย ข้อมูลเดือน สิงหาคม 2566

ชาย 193 คน หญิง 234  รวมทั้งหมด 427 คน 

ไทโคราช, ไทเบิ้ง

   ในอดีต อาชีพหลักของประชากรบ้านเทิดไทยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา ในหมู่บ้านจะมีเศรษฐกิจค่อนข้างดี เนื่องจากมีการค้าขายในหมู่บ้าน ไทยโคราชหรือไทยเบิ้งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ได้มาซื้อหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ภายในบ้าน ในด้านการค้าขายในหมู่บ้านเริ่มต้นขึ้นจากคนจีนที่อพยพลงมาเข้ามาค้าขายภายในหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียงได้มาซื้อสินค้า เกิดเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้าเกิดขึ้นและรวมเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “ตลาด” มีการนำเครื่องปั้นดินเผาในหมู่บ้านนำมาจำหน่ายที่ตลาดด้วย

พาหนะที่ใช้สัญจรในอดีตนิยมใช้เกวียน ม้า และชาวบ้านบางคนก็เลี้ยงโคและกระบือ เพื่อนำไปขายต่อยังตลาดที่กรุงเทพมหานคร โดยมีนายฮ้อย (พ่อค้าโคและกระบือ) เป็นผู้นำทาง ดังนั้นจึงมีการนำเครื่องปั้นดินเผาจากบ้านเทอดไทยใส่เกวียนเข็นไปจำหน่ายยังพื้นที่อื่นๆด้วย จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจในอดีตของหมู่บ้านเทอดไทยมีความเจริญมากกว่าหมู่บ้านใกล้เคียง 

   สภาพเศรษฐกิจในชุมชนบ้านเทอดไทยได้สะท้อนออกมาในลักษณะของอาชีพของคนในชุมชน ปัจจุบันอาชีพของคนในชุมชนได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสภาพเศรษฐกิจ แต่โดยภาพรวมอาชีพของคนในชุมชนบ้านเทอดไทยสามารถแบ่งได้กว้างๆ ดังต่อไปนี้

1.ด้านการเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปีและเมื่อหมดฤดูกาลทำนาจะมีอาชีพเสริมเพื่อหารายได้พิเศษ ได้แก่ การเลี้ยงโค กระบือ การทำสวน ปลูกพืชผักสวนครัว

2.ด้านปศุสัตว์ ประชากรส่วนใหญ่เลี้ยงไว้เพื่อขาย เช่น สุกร โค กระบือ ไก่ บางส่วนเลี้ยงไว้เพื่อขายและเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหาร

3.ด้านอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและงานหัตถกรรมต่างๆ เช่น การทอผ้าลายขิด การจักสาน งานปั้นหม้อ งานปั้นเตา

4.ด้านการค้าและการบริการ ชาวบ้านในหมู่บ้านมักมีร้านค้าขายของประเภทต่างๆ โดยมากเป็นร้านขายของชำ ร้านให้บริการซ่อมรถจักรยานและมอเตอร์ไซค์ ร้านตัดผมของสุภาพบุรุษ ร้านเสริมสวยของสุภาพสตรี โรงสีข้าว เป็นต้น

   ชาวบ้านเทอดไทยยังคงมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ควบคู่กับการนับถือพระพุทธศาสนา การนับถือผีสางเทวดาต่างๆ ยังคงมีอยู่มาก เพราะเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้สามารถดลบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปอย่างแปรผันหรือเป็นปรกติได้ดังนั้นจึงมีการเซ่นสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อให้ได้รับความเมตตาคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยคติความเชื่อเหล่านี้ปรากฏอยู่ในการประกอบอาชีพ วิถีชีวิต ซึ่งมีความเชื่อที่สำคัญๆ และเกี่ยวเนื่องกับหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นคติความเชื่อที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ในการนำดินจากห้วยดางเดียวมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปั้นหม้อนั้น ในเดือนหกของทุกๆปี หากบ้านใดที่นำดินจากห้วยดางเดียวมาประกอบอาชีพ ต้องมีการเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวานกับหลวงกระปุ่ง ผู้บุกเบิกดินบริเวณห้วยดางเดียวเพื่อนำมาปั้นเป็นเครื่องปั้นดินเผา และสืบทอดวัฒนธรรมดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชื่อว่าวิญญาณของหลวงกระปุ่งยังคงอยู่คอยดูแลที่ดินนั้นๆ พร้อมทั้งทำหน้าที่คุ้มครองปกปักรักษาชาวบ้านเทอดไทยที่ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมการปั้นหม้อมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีประเพณีบุญบั้งไฟที่เป็นประเพณีท้องถิ่นที่ชาวอีสานสืบทอดต่อกันมากันอย่างยาวนาน

นายสมพร ผันอากาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย

นายสมบูรณ์  สิงห์สุขุม รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย

นายวาสนา ดิษดำ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย

นายทวี แหล่งสนาม เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย

วัด/สำนักสงฆ์ 

วัดแสนสุขาราม อยู่ในเขตหมู่ที่ 1

ศิลปกรรม

การทำเครื่องปั้นดินเผา

ภาษาลาวตะวันตก (ภาษาลาวร้อยเอ็ดหรือภาษาลาวอีสาน)


การคมนาคม

   การคมนาคมโดยส่วนใหญ่เป็นการคมนาคมทางบก โดยใช้ถนนเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมเชื่อมต่อภายในหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีต นอกจากนี้ยังคงมีถนนลูกรังภายในหมู่บ้านอีกจำนวนหนึ่งซึ่งบางส่วนอยู่ในสภาพชำรุด เนื่องจากสภาพใช้การมานาน สำหรับถนนเพื่อการเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่โดยรอบจะเป็นถนนลาดยาง สามารถเดินทางสะดวก โดยสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวเชื่อมต่อไปยังอำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอธวัชบุรี อำเภอเสลภูมิ และอำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ดได้อย่างสะดวกสบาย

การโทรคมนาคม

   บ้านเทอดไทยยังขาดการบริการทางโทรศัพท์บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือ

ระบบไฟฟ้า

   บ้านเทอดไทยมีกระแสไฟฟ้าครบทุกหมู่บ้าน แต่การให้แสงสว่างตามจุดต่างๆ ในเขตหมู่บ้านยังไม่มีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน

ระบบประปา

 บ้านเทอดไทย ยังขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชน ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทยจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นมาโดยตลอดเมื่อถึงฤดูแล้งแต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการและประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำประปาไม่สะอาด อีกทั้งไม่มีแหล่งเก็บน้ำดิบไว้ใช้นอกฤดูฝน ซึ่งเป็นปัญหาทำให้ขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค


   โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนประจำตำบลเทอดไทย 1 แห่ง อยู่ในเขตหมู่ที่ 1 บ้านเทอดไทย ตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนี้ยังมีหน่วยบริการอสม. แต่ละหมู่บ้านเพื่อบริการการรักษาพยาบาลเบื้องต้น

   อัตราการมีและการใช้ส้วมราดน้ำ ร้อยละ 100 เปอร์เซ็นต์


1.โรงเรียนบ้านเทอดไทย ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 12.ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน 3.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง

1.ทรัพยากรดิน: ลักษณะสภาพดินโดยทั่วไปของบ้านเทิดไทยมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การเพาะปลูกพืช ส่วนดินบริเวณห้วยดางเดียวที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการปั้นหม้อนั้น มีสีดำและเป็นดินเหนียว แต่ต้องขุดเอาหน้าดินออกประมาณ 60-70 เซนติเมตร ถึงจะเป็นดินเหนียวที่นำมาใช้ปั้นหม้อได้

2.ทรัพยากรน้ำ: บ้านเทอดไทยมีทรัพยากรน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในหมู่บ้านคือ ลำห้วยดางเดียวที่อยู่ทางทิศเหนือของบ้านเทอดไทย และมีการขุดบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งบริเวณใกล้กับลำห้วยดางเดียวด้วย นอกจากนี้ทุกครอบครัวมีบ่อน้ำส่วนบุคคลที่อยู่ใกล้บ้าน และใช้เครื่องสูบน้ำมาใช้ภายในครัวเรือน สำหรับน้ำดื่ม ส่วนใหญ่ประชากรจะมีการใช้โอ่งสำหรับเก็บน้ำฝน หรือมีถังซีเมนต์ขนาดใหญ่เพื่อรองน้ำฝนไว้ดื่มตลอดทั้งปี

ไม้ตีหม้อ

   อุปกรณ์ตีหม้อเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการขึ้นรูปหม้อหรือภาชนะอื่น ๆ โดยไม่ใช้แป้นหมุน ประกอบไปด้วย หินดุ เป็นอุปกรณ์ในการขึ้นรูปภาชนะ ทำจากดินเผามีลักษณะคล้ายกับดอกเห็ด มีด้ามถือ มีความแข็งแกร่งทนทาน ผิวด้านหน้าของหัวหินดุจะมีลักษณะเรียบ ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้ก้อนหินจริงมาทำเป็นหินดุ ใช้สำหรับกระทุ้ง ดุนหรือดันหรือรองรับการตีจากด้านนอก เพื่อให้ได้รูปทรงและความหนาของภาชนะตามที่ต้องการ ในบริเวณภาคเหนือจะเรียกหินดุว่า หินเทาะหม้อ ส่วนในภาคใต้จะเรียกว่า ลูกถือ หรือลูกตุ้ง ส่วนภาคกลางและภาคอีสานเรียกหินดุเหมือนกัน

   ไม้ตี ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง มีลักษณะเป็นแผ่นราบมีหลายขนาดด้วยกัน มีด้ามจับ ใช้สำหรับตีตบผิวด้านนอกของภาชนะให้ได้รูปทรงและอัดเนื้อดินให้แน่นและเข้าสนิทตามที่ต้องการโดยใช้ร่วมกับหินดุ ไม้ตีมีทั้งที่เป็นแบบแผ่นเรียบหรือมีลวดลายแกะอยู่บนแผ่นไม้ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน หากต้องการได้ภาชนะที่มีผิวเรียบก็จะใช้ไม้ตีแบบแผ่นเรียบตี หรือหากต้องการให้มีลวดลายบนภาชนะ ก็จะใช้ไม้ตีที่มีลายซึ่งเรียกว่าไม้ตีลายตีไปที่ผิวภาชนะทำให้ปรากฏลวดลายขึ้น ไม้ตีบางแผ่นจะมีการคว้านเนื้อไม้ให้เป็นร่องโค้งตลอดแผ่นเพื่อใช้สำหรับตีบริเวณก้นหม้อเพื่อให้มีความโค้งที่พอเหมาะ สม่ำเสมอกันทุกด้าน ไม้ตีมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น ไม้กระต่าม กระต่าม ไม้ลาย ไม้ลาดลาย ไม้พิมพ์ ไม้ตามและไม้หละ

   ลูกกลิ้งสักลาย ทำจากไม้เนื้อแข็งเป็นท่อนกลม ยาวประมาณ 2–3 นิ้ว เจาะรูบริเวณแกนกลางของท่อนไม้เพื่อใช้ไม้สอดเข้าไปเป็นแกนให้กลิ้งได้ ใช้สำหรับสร้างลวดลายบนผิวภาชนะเช่นเดียวกับไม้ตีลาย แต่การใช้ลูกกลิ้งจะทำให้ได้ลายที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอกว่า หรือใช้กลิ้งเพื่อสร้างลวดลายบริเวณปากหม้อ

   การขึ้นรูปหม้อหรือภาชนะโดยการตีด้วยไม้นั้นเป็นกรรมวิธีการผลิตภาชนะแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพชนกลุ่มไทยโคราช ซึ่งมีการอพยพย้ายถิ่นไปในหลายพื้นในภาคอีสาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับท้องถิ่นอื่น ๆ จึงปรากฏรูปแบบการขึ้นรูปหม้อโดยการตีด้วยไม้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น

   ปัจจุบัน การขึ้นรูปหม้อหรือภาชนะโดยการตีด้วยไม้ในหลายพื้นที่นั้นมีการพัฒนาจากการทำเพื่อสร้างอุปกรณ์ใช้สอยในครัวเรือนมาเป็นกิจกรรมเพื่อสืบสานวัฒนธรรมและสืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกด้วย

ขวัญชนก อำภา. การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเทอดไทย ตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด , งานวิจัย กรมส่งเสริมทางวัฒนธรรม

องค์การบริหารส่วนตำบลเทิดไทย. จาก http://www.thoetthai.go.th/about/brand/ 

ธงทิว วรธงไชย. ไม้ตีหม้อ , ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จาก https://www.sac.or.th/databases/traditional

ข้อมูลประชากร. จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/view