Advance search

ในอดีตเคยได้รับฉายาว่าเป็นหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดในจังหวัดที่พัฒนาตัวเองด้วยการจัดตั้งธนาคารชุมชนจนได้รับรางวัลหมู่บ้านสารสนเทศดีเด่นประจำปี 2558 ของกรมพัฒนาชุมชน

1
ปากทะเล
บ้านแหลม
เพชรบุรี
แข่งวัวลาน
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
20 ก.ย. 2023
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
19 ก.ย. 2023
บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ

มาเล่าว่าสมัยก่อนพรานที่ล่าสัตว์ได้จะนำเนื้อที่ล่ามาย่างที่ใต้ต้นมะขาม เมื่อมีคนผ่านไปมา และเห็นเข้าจึงเรียกที่ตรงนี้ว่า “ดอนมะขามพรานย่างเนื้อ” ต่อมาการเรียกชื่อของหมู่บ้านเพื่อให้มีความกระชับ และมีบางคนที่เรียกตกหล่นจึงทำให้ชื่อ“บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ” มาจนถึงปัจจุบัน


ในอดีตเคยได้รับฉายาว่าเป็นหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดในจังหวัดที่พัฒนาตัวเองด้วยการจัดตั้งธนาคารชุมชนจนได้รับรางวัลหมู่บ้านสารสนเทศดีเด่นประจำปี 2558 ของกรมพัฒนาชุมชน

1
ปากทะเล
บ้านแหลม
เพชรบุรี
76110
13.13586924
100.0417091
องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล

บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ  มีลักษณะภูมิประเทศเป็นสันดอนโดยเป็นพื้นที่ดินที่งอกขึ้นใหม่จากการตื้นเขินของฝั่งทะเล มีหลักฐานที่ปรากฏ คือ ซากเปลือกหอยเมื่อขุดลงไปในดินที่ความลึกประมาณ 1–1.5 เมตร ส่วนชื่อของหมู่บ้านนั้นมีการเล่ากันต่อมาว่า เดิมทีที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นสันดอน และมีต้นมะขามขึ้นอยู่มากมาย ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีต้นมะขามที่มีอายุมากกว่าร้อยปีให้เห็นอยู่หลายต้น มีผู้เล่าว่าสมัยก่อนพรานที่ล่าสัตว์ได้จะนำเนื้อที่ล่ามาย่างที่ใต้ต้นมะขาม เมื่อมีคนผ่านไปมา และเห็นเข้าจึงเรียกที่ตรงนี้ว่า “ดอนมะขามพรานย่างเนื้อ” ต่อมาการเรียกชื่อของหมู่บ้านเพื่อให้มีความกระชับ และมีบางคนที่เรียกตกหล่นจึงทำให้ชื่อ“บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ” มาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะภูมิอากาศ 

   บ้านดอนมะขามย่างเนื้ออยู่ติดกับอ่าวไทยจึงได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝนและอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้

ฤดูร้อน    เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ และสิ้นสุดลงราวต้นเดือนพฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อน และอบอ้าว  

ฤดูฝน     เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มพัดเข้าสู่จังหวัดเพชรบุรี  และจะสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม

ฤดูหนาว   เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ หนาวปานกลาง

ลักษณะภูมิประเทศ 

   ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของอำเภอบ้านแหลม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสันดอน ประมาณร้อยละ  80 เป็นพื้นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก ประมาณร้อยละ 20 เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์

   บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ หมู่ที่ 1 ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี  ตั้งอยู่ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล ห่างจากตัวอำเภอบ้านแหลมประมาณ 12 กิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ           ติดต่อกับ         ตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม                                                 

ทิศใต้              ติดต่อกับ         บ้านปากทะเล ตำบลบางแก้วอำเภอบ้านแหลม                                       

ทิศตะวันออก      ติดต่อกับ         บ้านปากทะเลใน ตำบลปากทะเล                                                   

ทิศตะวันตก        ติดต่อกับ         ตำบลโพพระ อำเภอเมืองเพชรบุรี  

                              

บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ หมู่ 1 ต.ปากทะเล มีประชากรรวมทั้งสิ้น 581 คน เป็นประชากรชาย 298 คน ประชากรหญิง 283 คน (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2566)

   ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ทำประมง การค้าขายอาหารทะเลและประกอบธุรกิจต่างๆ ผลิตภัณฑ์ที่หมู่บ้านนำออกไปจำหน่ายภายนอกหมู่บ้านคือปูม้าต้มสุก สถานที่จำหน่ายคือบริเวณชายหาดชายหาดชะอำ อำเภอชะอำ โดยประกอบอาชีพแบบไปเช้าเย็นกลับ สภาพทางสังคมของบ้านดอนมะขามย่างเนื้อ เป็นสังคมที่มีความสงบสุข มีการให้เกียรติและนับถือผู้สูงวัยกว่า ผู้นำชุมชนเป็นแกนหลักในการนำการพัฒนาชุมชน

องค์กรชุมชน

  • กลุ่มเกษตรกรร่วมใจ บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ หมู่ 1
  • ธนาคารหมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ
  • กลุ่มเลี้ยงปลาช่อน ปลาสลิด-ชะโด บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ หมู่ 1

   ประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตผูกพันกับระบบการเกษตรกรรม และด้วยระบบการเกษตรกรรมนี้เอง ได้เป็นที่มาของวัฒนธรรมไทยหลายประการ เช่น ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ประเพณีทำขวัญข้าวและการละเล่นเต้นกำรำเคียว เป็นต้น และด้วยสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของบ้านดอนมะขามย่างเนื้อ มีลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์เป็นที่ราบสันดอนและอุดมสมบูรณ์ด้วยแม่น้ำลำคลอง จึงได้ใช้น้ำในแม่น้ำลำคลอง ในการเกษตรกรรมและการอาบ กิน เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหน้าน้ำ คือเพ็ญเดือน 11 และเพ็ญเดือน 12 ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาปลายเดือนตุลาคมและปลายเดือนพฤศจิกายน อันเป็นระยะเวลาที่น้ำไหลหลาก จึงจัดทำกระทงพร้อมด้วยธูปเทียนไปลอยในแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษแม่คงคา และขอพรจากแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ทำให้เกิด "ประเพณีลอยกระทง" นอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่น ๆ อีกในส่วนที่เกี่ยวกับแม่น้ำลำคลอง เช่น ประเพณีแข่งเรือและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น การตักบาตรเรือบก

นายอรุณ สีดอกบวบ บ้านเลขที่ 13 หมู่ที่ 1 ตำบลปากทะเล มีความรู้ความชำนาญเรื่องการบริหารจัดการกลุ่มและหมอสมุนไพร

นายชัยวัฒน์ หว่านผล บ้านเลขที่ 86/6 หมู่ที่ 1 ตำบลปากทะเล มีความรู้ความชำนาญเรื่องพิธีกร

นายลูกชุบ ผิวขาวปลั่ง บ้านเลขที่  11 หมูที่ 1 ตำบลปากทะเล มีความรู้ความชำนาญเรื่องพิธีกรการแข่งขันวัวลาน

นางสาวประยูร สงฆ์สาวก บ้านเลขที่ 46 หมู่ที่  1 ตำบลปากทะเล มีความรู้ความชำนาญด้านจักสานธูปฤาษี

ความเชื่อ

  • ศาลหลวงพ่อนครธงชัย
  • ศาลหลวงพ่อราชา
  • ศาลหลวงพ่ออีม หลวงพ่ออ่ำ

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

  • การจักสานธูปฤาษี
  • การทำน้ำมันมะพร้าว
  • การทำไม้กวาดก้านมะพร้าว
  • การจักสานตะกร้าพลาสติก
  • น้ำส้มควันไม้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ไฟฟ้า มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน

ประปา มีระบบประปาส่วนภูมิภาคใช้ทุกครัวเรือน


ในอดีต คนในหมู่บ้านไม่นิยมส่งเสียบุตรหลานเรียนในระดับสูง เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจในครอบครัวไม่ดี แต่ในปัจจุบันทุกครอบครัวให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก รวมถึงชุมชนก็ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยมีการจัดงานเลี้ยงให้กับนักเรียนที่จบการศึกษาทุกปี และมีการประกาศเกียรติแก่ผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีทุกปี

การแข่งวัวลาน

   เป็นการแข่งขันที่ดัดแปลงมาจากกีฬาวัวลาน โดยใช้คนวิ่งแทนวัว มีกติกาเหมือนกันทุกประการ ไม่แต่เฉพาะชาวบ้านในท้องถิ่นเท่านั้น มีผู้คนท้องถิ่นต่างๆ เดินทางมาร่วมแข่งขันด้วยจึงเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน และมีเพียงแห่งเดียวที่จังหวัดเพชรบุรี แต่มีกำหนดการเล่นที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าท้องที่ใดจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งบางครั้งก็จัดขึ้นในช่วงสงกรานต์

   อุปกรณ์และวิธีการเล่นการแข่งขันวัวลานนี้ ชาวบ้านจะนำวัวมาวิ่งแข่งกันเป็นวงกลมในลานที่กำหนด โดยมีเสาเกียดซึ่งปักอยู่กลางถนนเป็นศูนย์กลาง ผูกเชือกพรวนของวัวแต่ละตัวเรียงกันตามลำดับจากในเสาเกียดออกมาถึงริมลาน รวมจำนวน 19 ตัว ซึ่งเจ้าของพวงวัวแต่ละพวงก็จะตระเตรียมวัวของตนมาทั้งวัวนอกและวัวในหรือวัวรอง

   วัวรองหรือวัวในจะมีทั้งหมด 18 ตัวเป็นส่วนใหญ่ เจ้าของพวงวัวจะผูกวัวตามเชือกพรวนจากเสาเกียดกลางลานออกมา ตัวที่ฝีเท้าจัดแข็งแรง จะอยู่ด้านริมเชือกพรวน เป็นตัวที่ 16, 17, 18 เพื่อเอาไว้วิ่งแข่งกับวัวนอกของพวงอื่นที่จะนำมาทาบประกบเป็นตัวที่ 19

   วัวนอก คือ วัวตัวที่เจ้าของพวงวัวถือว่าเก่งที่สุด มีกำลังมากและฝีเท้าจัดจะนำมาทาบกับวัวในของพวงวัวอื่น ผูกทับเป็นตัวที่ 19 อยู่นอกสุดของลานเพื่อจะได้วิ่งแข่งกันเอาชนะวัวรองให้ได้ในการแข่งขันแต่ละเปิด ซึ่งแน่นอนว่าวัวตัวนอกสุดที่เรียกว่าวัวนอกนี้จะเป็นวัวที่ต้องวิ่งทำระยะทางไกลที่สุดและมีฝีเท้าจัดที่สุดถ้าวัวนอกวิ่งแซงวัวรองได้แล้วสามารถลากวัวรองตามไปอย่างไม่เป็นขบวนจนดิ้นหลุดขาดไป นั่นหมายถึงวัวนอกชนะ แต่ถ้าวัวรองวิ่งแซงนำวัวนอกได้วัวรองก็ชนะไป แต่ถ้าไม่สามารถเอาชนะกันได้ก็ถือว่าเสมอโอกาสหรือเวลาที่เล่นการแข่งขันวัวลานนี้ จะแข่งขันกันในช่วงฤดูแล้ง หรือช่วงเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และออก พรรษาแล้ว ในช่วงเข้าพรรษาจะงดการแข่งขันโดยสิ้นเชิง

   การแข่งขันวัวลาน ได้วิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงมาจากการนวดข้าวของชาวไทยท้องถิ่น ซึ่งใช้วัวเดินวนนวดข้าวในลานวงกลม วัวของใครมีพละกำลังดี แข็งแรงมากก็จะเดินวนนวดข้าวอยู่รอบนอก วัวตัวใดมีพละกำลังน้อยก็จะเดินคลุกอยู่วงในชิดเสากลางลาน ต่อมาคงมีการพนันขันต่อสนุกสนานกันขึ้นในวงนวดข้าว การแข่งขันวัวลานจึงถือกำเนิดขึ้นมาจากประเพณีการนวดข้าวดังกล่าวนี้ สำหรับในจังหวัดเพชรบุรีกล่าวกันว่า เริ่มมาจากตำบลท่าแร้ง ซึ่งมีชาวอิสลามมาเลี้ยงวัวอยู่มากก่อนตำบลอื่น จากนั้นก็ได้รับความนิยมขยายอาณาเขตจนนิยมกันไปทั้งเมือง

บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ หมู่บ้านสนเทศต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต, จาก http://donmakamvillage.blogspot.com/

บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ วิทยาลัยชุมชนแห่งการเรียนรู้, จาก http://baandonmakamyangnear.blogspot.com/

ฐานข้อมูลองค์ความรู้แม่น้ำเพชรบุรี. การวิ่งวัวลาน, จาก https://catlovecatza.wordpress.com/tag/ 

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี. น้ำส้มควันไม้ บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ, ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จาก http://www.m-culture.in.th/album/view/133459/

ฐานข้อมูลประชากร จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/