หมู่บ้านเหนือ มีต้นโพธิ์ใหญ่ประจำหมู่บ้านอยู่ 2 ต้น อยู่ทางทิศตะวันตก เชื่อว่าจะเป็นตั้งของวัดในสมัยโบราณ เพราะปรากฏเห็นวัตถุโบราณและซากปรักหักพังของอิฐ แต่ปัจจุบันได้สร้างเป็นศาลาประจำหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมและทำกิจกรรมต่าง ๆ
บ้านเหนือ ในอดีตมีชื่อว่า “บ้านหนองข้อง” หนอง หมายถึง แอ่งน้ำอยู่ตามป่าและทุ่ง ข้อง หมายถึง ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่คล้ายหม้อ ก้นเหลี่ยม ใช้เป็นภาชนะใส่กุ้ง หอย ปู ปลา ดังนั้น บ้านหนองข้อง หมายถึง หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ริมหนองน้ำที่เชื่อกันว่าข้องได้หายไปในหนองนั้น
ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้าน “หนองข้อง” มาเป็น “บ้านเหนือ” สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันได้อพยพมาจากหมู่บ้านอื่น ๆ เช่น มาจากบ้านเหนือบ้าง บ้านใต้บ้าง หรือบ้านกลางบ้าง ดังนั้นจึงได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านเหนือ” แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. ใด
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนปัจจุบัน บ้างก็สันนิษฐานว่ามาจากการเรียกโดยอิงช่วงกระแสน้ำของแม่น้ำหมัน กล่าวคือ “บ้านเหนือ” คือช่วงที่เป็นต้นน้ำ (เมื่อเทียบจากการที่แม่น้ำหมันไหลจากเทือกเขาเพรชบูรณ์เข้าเขตเมืองด่านซ้าย) ล้อกับบริเวณ “บ้านใต้” ซึ่งเป็นคำที่คนท้องถิ่นเรียกติดปาก หมายถึงบริเวณหมู่บ้านทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในช่วงกระแสแม่น้ำหมันที่ไหลขนานไปกับถนนทางหลวง 2114 (ถนนด่านซ้าย - ปากหมัน) มุ่งไปยังตำบลปากหมัน และไหลเข้าแม่น้ำเหือง ณ ตำบลปากหมันนั้นเอง
หมู่บ้านเหนือ มีต้นโพธิ์ใหญ่ประจำหมู่บ้านอยู่ 2 ต้น อยู่ทางทิศตะวันตก เชื่อว่าจะเป็นตั้งของวัดในสมัยโบราณ เพราะปรากฏเห็นวัตถุโบราณและซากปรักหักพังของอิฐ แต่ปัจจุบันได้สร้างเป็นศาลาประจำหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมและทำกิจกรรมต่าง ๆ
จากคำบอกเล่าของนางสมใจ ดีอินทร์ ผู้อาศัยอยู่บริเวณสะพานรักษ์ด่านซ้าย 2 ณ บ้านเหนือ ว่ากันว่าในสมัยก่อนที่จะมีการแบ่งเขตแดนเช่นปัจจุบัน เมืองด่านซ้ายถือเป็นเมืองขอบชายแดนสยาม และลาว โดยมีแนวกั้นเขตแดนทางธรรมชาติเป็นแม่น้ำหมัน ว่ากันว่าฝั่งบ้านเจ้าแม่นางเทียมคือฝั่งลาว และฝั่งบ้านเจ้าพ่อกวนคือฝั่งไทย (สยาม) โดยปัจจุบันเจ้าแม่นางเทียมก็เป็นคนทรงเจ้าฝั่งลาว และเจ้าพ่อกวนก็เป็นคนทรงเจ้าฝั่งไทยเช่นกัน ตัวนางสมใจเป็นลูกหลานของทหารในยุคนั้น ฉะนั้นบริเวณบ้านที่สืบทอดมา เมื่อครั้งสมัยนั้น จึงเป็นเขตแดนที่มีทหารอาศัยอยู่มาก มีบริเวณที่เป็นคุก จากคำบอกเล่าที่สืบทอดกันมา สมัยนั้นแม่น้ำหมันมีขนาดกว้างและลึกมาก นายทหารมักพาช้างมาอาบน้ำ และเกิดคำเปรียบว่า “น้ำหมันลึกเท่ามิดช้างสองตัว (ต่อตัวกัน)” และเนื่องด้วยบ้านเหนือเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้พระธาตุศรีสองรัก อนุสรณ์สถานที่เป็นการประกาศราชไมตรีระหว่างพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2103-2106 จึงเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เป็นตระกูลสืบทอดจากข้าราชบริพาร หรือตระกูลที่มีส่วนในการทำประเพณีพิธีกรรมตามความเชื่อท้องถิ่น ครั้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เปลี่ยนการแบ่งแยกเขตแดนใหม่ แม่น้ำหมันจึงไม่ได้เป็นตัวแบ่งแยกเขตแดน และกลายเป็นอาณาเขตด่านซ้าย ในประเทศไทยเฉกเช่นปัจจุบัน
สภาพแวดล้อมของหมู่บ้านจะเป็นแนวบ้านครัวเรือนที่ไล่เรียงกันไปตามซอยสุขาภิบาล 4 จากต้นซอยที่แยกออกมาจากถนนทางหลวง 2113 (ด่านซ้าย – นาแห้ว) แตกออกเป็นสองซอยย่อยมุ่งไปสู่ถนนทางหลวง 2114 (ด่านซ้าย - ปากหมัน) โดยฝั่งถนน 2114 จัดว่าเป็นเขตตลาด ทั้งตลาดเช้า ตลาดเย็นประจำอำเภอ มีร้านรวงไล่ไปจนถึงสถานที่ราชการต่างๆ เช่น ไปรษณีย์ด่านซ้าย ที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย เทศบาลตำบลด่านซ้าย โรงเรียนอนุบาลด่านซ้าย เป็นต้น ทิวแถวบ้านเรือนส่วนหนึ่งจะติดกับแม่น้ำหมัน โดยมีทางรถกั้น ซึ่งเป็นแนวบ้านเรือนที่ตั้งของบ้านเจ้าแม่นางเทียมเช่นกัน ช่วงสิบปีให้หลังมานี้ หากปีไหนฤดูฝนน้ำเยอะ ก็จะท่วมเข้าบ้านตามแนวนี้ได้ ในฤดูที่น้ำลด ก็จะมีการทำเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัวตามตลิ่งริมน้ำ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่ถกเถียงกันในชุมชนเรื่องการจัดการพื้นที่ริมน้ำหมัน บางฝ่ายเห็นพ้องกับการขุดลอกคลอง และการก่อปูนเป็นทางเดินริมน้ำเพื่อป้องกันการชะล้าง รุกราน หรือทรุดโทรมของตลิ่ง บ้างก็ยังคงเห็นประโยชน์ของวิถีการจัดการที่เน้นธรรมชาติ เพื่อให้ไม่เป็นการตัดขาดวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่แน่นแฟ้นกับแม่น้ำหมัน
เนื่องจากเป็นชุมชนที่ใกล้ศูนย์กลางเมืองด่านซ้าย ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงมีอาชีพรับราชการต่างๆ ทหาร ครู ค้าขายในตลาด และรับจ้างในอําเภอหรือจังหวัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นชุมชนที่ใกล้ชิดผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดฝ่ายหญิง คือ เจ้าแม่นางเทียม จึงยังเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตและจัดประเพณีตามความเชื่อ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำหมัน
มีบ้านทั้งหมด 334 ครัวเรือน ประชากรชาย 295 คน ประชากรหญิง 325 คน รวมทั้งสิ้น 620 คน (ข้อมูลจากทะเบียนราษฎรของเทศบาลอำเภอด่านซ้าย ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564
ผู้คนในหมู่บ้านมีทั้งประกอบอาชีพรับราชการ พนักงานลูกจ้างองค์กรรัฐ รับจ้าง ค้าขาย และธุรกิจส่วนตัว
มีหลายบ้านที่เป็นตระกูลสืบทอดตำแหน่งนางแต่ง (ผู้ช่วยเจ้าแม่นางเทียมในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ) และตระกูลที่เป็นผู้รับผิดชอบการทำเครื่องไหว้ประเภทต่าง ๆ หากแต่ไม่ได้ยึดทำเป็นอาชีพกันเสียทีเดียว
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและล่องเรือไฟ (ไหลเรือไฟ) จัดขึ้นวันออกพรรษาของทุกปี
ประเพณีไหลเรือไฟ พระสิริรัตนเมธี เจ้าอาวาสวัดโพนชัย เล่าว่า มีการเล่าขานสืบต่อกันมา โดยไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ทราบว่า ประเพณีไหลเรือไฟลุ่มน้ำหมันเป็นเอกลักษณ์ของชาวด่านซ้าย โดยมีการทำเรือ และแพจากต้นกล้วย จะจัดทำขึ้น 3 ลำ คือ ม้า จระเข้ และเรือ ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและการบูชาแม่น้ำ บ้านเหนือจะเป็นสถานที่ไหลเรือไฟและการประกอบเรือไฟ ส่วนมากจะใช้ ไม้ไผ่หนามและต้นกล้วยลำใหญ่ เพื่อไม่ให้เรือจมน้ำและบางครั้งพระเณรต้องปีนตีนไผ่หนามในการตัดเพื่อมาใช้ในการประกอบพิธีไหลเรือไฟ ส่วนความหมายเรือไฟที่จัดทำขึ้น เรือ หมายถึง การพายเรือข้ามพ้นวัฏฏะสงสารของมนุษย์ ม้า หมายถึง พาหนะของเจ้าชายสิทธัตถะกุมารที่ใช้ในออกผนวชเป็นพระภิกษุ จระเข้ หมายถึง สัญลักษณ์แสดงถึงการบูชาแม่น้ำ ซึ่งจระเข้เป็นสัตว์ที่ดุร้าย และบูชาแม่น้ำเพื่อมิให้เกิดอาเพศร้ายเกี่ยวกับน้ำ
ในการปล่อยเรือไฟ มีเจ้าแม่นางเทียม นางประกายมาศ เชื้อบุญมี ผู้นำทางจิตวิญญาณฝ่ายหญิงแห่งอำเภอด่านซ้าย พร้อมนางแต่งเดินทางด้วยเท้า พร้อมปี่กลอง จากบ้านพักระยะทางราว 500 เมตร มาเป็นประธานปล่อยเรือไฟ จำนวน 3 ลำ โดยมีพระและเณรค้ำท่อแพไปตามลำน้ำหมัน ไปสิ้นสุดขึ้นที่ท่าวังเวิน ภายในวัดโพนชัย ที่ห่างไป 1 กม. เป็นอันเสร็จพิธี
งานผามบุญคุณ (ต่อชะตาหมู่บ้าน) ช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี
ประเพณีเลี้ยงบ้าน มี 2 ช่วง คือ เดือนเมษายน และเดือนมิถุนายน
ประเพณีสงกรานต์ ต้องจัดทุกปี โดยจะมีการรดน้ำดำหัว ขอพรผู้สู้อายุที่บ้านเจ้าแม่นางเทียมและงานแขวนทุง (แขวนธง) โดยจะแห่ขบวนจากบ้านเจ้าแม่นางเทียมไปที่วัดโพนชัย หลังจากวันสงกรานต์เสร็จสิ้น จะมีการแห่ดอกไม้และแห่ข้าวพันก้อนไปที่พระธาตุศรีสองรัก ซึ่งขบวนแห่ดอกไม้จะจัดขึ้นในตอนเย็น และขบวนแห่ข้าวพันก้อน จะจัดในตอนเช้า เวลาประมาณตี 4-ตี 5 โดยการนำข้าวใส่ขัน แล้วแห่ขบวนและเจ้าแม่นางเทียม เป็นการบูชาพระธาตุศรีสองรัก
เจ้าแม่นางเทียม เป็นหญิงที่ได้รับแต่งตั้งโดยวิญญาณผีเมืองเข้าทรง การสืบทอดโดยส่วนใหญ่มักเลือกลูกหลานของเจ้าแม่นางเทียมคนก่อน ๆ เช่นเดียวกับเจ้าพ่อกวน เมื่อตำแหน่งเจ้าแม่นางเทียมว่างลงโดยการถึงแก่กรรม หรือเมื่อไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ เช่น เจ็บป่วยนาน ๆ หรือชราภาพ เป็นต้น
เจ้าแม่นางเทียม เป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายหญิง เป็นร่างทรงของพระเสื้อเมือง พระทรงเมืองฝ่ายซ้าย (ฝ่ายลาว) คือ เจ้าเมืองกลางและเจ้าองค์ไทย และทำหน้าที่เป็นร่างทรงของเจ้านางต่างๆ ที่เป็นฝ่ายหญิงได้แก่ เจ้านางเค้า เจ้านางจวง เจ้านางจัน และเจ้านางน้อย ในขณะที่เจ้าพ่อกวน จะเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายชาย ซึ่งเป็นร่างทรงของพระเสื้อเมือง พระทรงเมืองฝ่ายขวา (ฝ่ายไทย) และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าใหญ่ของผู้เข้าทรง
เจ้าแม่นางเทียมมีหน้าที่เข้าทรงเหมือนเจ้าพ่อกวน ไว้ผมยาวเกล้าไว้บนกระหม่อม นุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อขาว การแต่งตั้งบุคคลที่ทำหน้าที่ผู้เข้าทรงและเข้าเฝ้า จากการศึกษาพบว่า การแต่งตั้งบุคคลที่ทำหน้าที่ผู้เข้าทรงและเข้าเฝ้า โดยการบัญชาของ “ เจ้านาย ” ด้วยวิธีการอัญเชิญวิญญาณของเจ้านาย หรือพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง มาเข้าทรง ให้เลือกบุคคลที่เหมาะสมโดยวิธีผูกข้อมือในขณะที่เข้าทรง ทั้งนี้การสืบทอดตำแหน่ง และอำนาจมักจะสืบทอดกันตามระบบเครือญาติ
ปัจจุบันเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม มีบทบาทต่อวิถีชีวิตชุมชนอำเภอด่านซ้ายในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านศาสนาเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้านมักจะต้องมีการบอกกล่าวเจ้านายทุกครั้ง เช่น ขึ้นบ้านใหม่ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา พิธีบุญหลวง พิธีอุปสมบท และพิธีแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งจะพบว่าคนลุ่มนํ้าหมัน เมื่อจะประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้านายในแต่ละครั้ง จะนำเอาความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเข้ามาผสมกับความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษ
เจ้าแม่นางเทียมคนปัจจุบันคือ เจ้าแม่นางเทียม ประกายมาส เชื้อบุญมี
การเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดผู้นำทางจิตวิญญาณ และเครือข่ายผู้ประกอบพิธีทางความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของด่านซ้าย ยึดโยงกับพื้นที่ชุมชนเชิงกายภาพที่เป็นสถานที่ในการประกอบประเพณีเฉพาะถิ่น อีกทั้งยังเป็นถนนสายยาวทอดไปยังทางเข้าพระธาตุศรีสองรักที่มีมาแต่โบราณ ขนาบไปกับแม่น้ำหมัน เป็นทางเข้าของเจ้านายแต่สมัยโบราณ เป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่โยงกับแก่นความเชื่อของชาวด่านซ้าย ในบริบทของการมีอยู่ของพระธาตุศรีสองรัก ทำให้ชุมชนบ้านเหนือเป็นชุมชนที่มีทุนทางวัฒนธรรมสูง สามารถนำไปต่อยอดได้ เช่น การจัดกิจกรรมถนนวัฒนธรรม เป็นต้น
ภาษาไทพื้นถิ่น เรียกกันว่าไทด่าน เป็นภาษาที่มีสำเนียงแปร่งจากอำเภออื่นในจังหวัดเลย ใกล้เคียงภาษาลาวทางหลวงพระบาง และภาษาไทยกลาง
การจัดการแม่น้ำหมัน โดยเฉพาะการขุดขยายน้ำหมัน และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยทำทางเดินปูนริมน้ำ ยังเป็นสิ่งที่ทางเทศบาลตำบลด่านซ้ายร่างโครงการพัฒนาอยู่จนถึงปัจจุบัน ในชุมชนบ้านเหนือยังมีหลายพื้นที่ที่เป็นตลิ่งตามธรรมชาติ และมีบ้านเรือนที่อยู่ติดริมน้ำหมันจำนวนมาก ทำให้ประเด็นเรื่องการจัดการน้ำถูกนำขึ้นมาหารือทุกปี นอกจากนี้ สภาพสิ่งแวดล้อมในภาพใหญ่ของภูมิภาคเอง ก็มีส่วนให้สภาพของฤดูแล้ง ฤดูน้ำหลากเปลี่ยนแปลงไป กระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านริมน้ำของชาวลุ่มน้ำหมัน
เลยสะพานรักษ์ด่านซ้าย 2 ไปทางลานเบิกพระอุปคุตของวัดโพนชัย จะมีจุดที่แม่น้ำหมันโค้ง และน้ำจากห้วยน้ำศอกไหลเข้ามารวมกัน ทำให้น้ำตรงนั้นเกิดกระแสวน และเกิดเป็นวังน้ำ มีความลึกมากกว่าบริเวณอื่น และเป็นแหล่งของปลาและสัตว์น้ำมากมาย นอกจากนี้ ตามความเชื่อท้องถิ่นยังเชื่อว่าตามวังต่างๆ จะมีเงือกอาศัยอยู่ด้วย นางสมใจ ดีอินทร์เล่าว่า เมื่อครั้งสมัยเด็ก ตนมักกระโดดเล่นน้ำหมันจากสะพานรักษ์ด่านซ้าย 2 อยู่เป็นนิจ และยายก็มักจะขู่ว่าอย่าว่ายไปไกลจนถึงวังน้ำ เพราะเงือกจะพรากเอาตัวไปกิน ชาวบ้านในพื้นที่ มีความเชื่อว่าเงือกในพื้นที่ตรงนี้ชอบจับเด็กไปกิน มีเด็กต้องสังเวยเงือกทุกปี มักจะเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ๆ เด็กก็หายไป แล้วเจออีกทีลอยน้ำขึ้นมาก และมีรอยเงือกกินตรงปาก หรือทวาร นางสมใจเล่าว่า ความเชื่อนี้ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นกุศโลบายในการสอนเด็กก็เป็นได้ เนื่องจากน้ำตรงบริเวณวังมีความลึกและเชี่ยวจริง แม้แต่ผู้ใหญ่ที่ไปผาปลาบริเวณนั้นก็พลาดพลัดจมเช่นกัน
จากการสอบถามคนในพื้นที่ ชาวด่านซ้ายวัยประมาณ 20 ตอนปลาย ยังคงมีความทรงจำในการไปเล่นน้ำหมันกับเพื่อนบริเวณบ้านเหนือในตอนเด็กอยู่ ปัจจุบัน วัยรุ่นหรือเด็กในเมืองจำนวนน้อยมากที่ยังคงใช้เวลาว่างไปกับการลงเล่นน้ำดังสมัย 20 ปีก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นแค่เด็กที่มีสมาชิกในครอบครัวลงไปหาปลา หรือทำการเกษตรริมน้ำ
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอด่านซ้าย. (ม.ป.ป.). ประวัติศาสตร์หมู่บ้าน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. เลย: ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอด่านซ้าย.
ประเพณีไหลเรือไฟโบราณที่อำเภอด่านซ้าย. (2564, 22 ตุลาคม). เดลินิวส์ออนไลน์. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. เดลินิวส์ออนไลน์. ค้นจาก https://www.dailynews.co.th/news/
นักวิจัยท้องถิ่นด่านซ้าย. (2559). ชีวิต ประเพณีและความเชื่อหัวใจหลักของวัฒนธรรมลุ่มน้ำหมัน. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยพันธุ์ https://lek-prapai.org/
คำบอกเล่าของนางสมใจ ดีอินทร์ และเจ้าแม่นางเทียมประกายมาส เชื้อบุญมี และชาวบ้านบ้านเหนือ, สัมภาษณ์ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566