Advance search

“หนองแข้” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นหนองสาธารณะประโยชน์ และเป็นหนองเก่าแก่

หมู่ที่ 8
บ้านโพนหนอง
นาหอ
ด่านซ้าย
เลย
สิรี ริ้วไพบูลย์
20 ก.ย. 2023
สิรี ริ้วไพบูลย์
15 ก.ย. 2023
Siree Riewpaiboon
20 ก.ย. 2023
บ้านโพนหนอง

หมู่บ้านนี้เรียกชื่อตามชื่อหนองน้ำสาธารณะ คือ หนองแข้ และเนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บนที่เนินสูงจึงได้ชื่อว่า บ้านโพนหนอง (คำว่าโพนมาจากเนิน) ถ้าจะเรียกเต็มก็คือ โพนหนองแข้ แต่ปัจจุบันเรียกเพียง “โพนหนอง” คําว่า “แข้”  คือ  จระเข้  ซึ่งแต่ก่อนเชื่อกันว่าหนองนี้มีจระเข้อาศัยอยู่มาก


ชุมชนชนบท

“หนองแข้” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นหนองสาธารณะประโยชน์ และเป็นหนองเก่าแก่

บ้านโพนหนอง
หมู่ที่ 8
นาหอ
ด่านซ้าย
เลย
42120
17.314671451435323
101.14973222864334
องค์การบริหารส่วนตำบลนาหอ

บ้านโพนหนองในอดีต มีความเกี่ยวพันกับประวัติของอำเภอด่านซ้ายอย่างมาก จากหลักฐานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งอาจารย์สาร สารทัศนานานันท์ ได้รวบรวมไว้ในประวัติของอำเภอด่านซ้าย แสดงให้เห็นว่าบ้านโพนหนองและบ้านอื่นๆ ในตำบลนาหอ มีความสัมพันธ์กันมาโดยตลอดอย่างไม่ต้องสงสัย ข้อความตอนหนึ่งในประวัติของอำเภอด่านซ้ายที่อาจารย์    สาร สารทัศนานันท์ ได้รวบรวมไว้มีใจความพอสรุปได้ดังนี้

“ที่ตั้งหรือดินแดนของไทยในปัจจุบันเรียกว่าแคว้นสุวรรณภูมิ ขณะนั้นเป็นที่อยู่ของขอม (เขมร) ลาว และละว้า ต่อมาเมื่อคนไทยได้อพยพลงมาจากตอนใต้ของประเทศจีน และต้องต่อสู้แย่งชิงอาณาจักรจากขอม ลาว และละว้า จนไทยมีชัยชนะ ไทยจึงได้ครอบครองดินแดนอันเป็นที่อยู่ปัจจุบัน คนไทยที่มาอยู่อำเภอด่านซ้าย คงเป็นชาวไทยน้อยที่อพยพลงมาตามลุ่มแม่น้ำโขง มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อาณาจักรล้านช้างและแขวงไชยบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ในปัจจุบัน พวกไทยน้อยที่อพยพลงมาตามลุ่มแม่น้ำโขงนี้ มีหัวหน้า ชื่อ พ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กับพ่อขุนผาเมือง ได้นำไพร่พลอพยพมาทางใต้เรื่อยๆ จากบริเวณอาณาจักรล้านช้างและแขวงไชยบุรี มาตั้งรกรากอยู่บริเวณบ้านนากอก เมืองฮำ เมืองปากลาย เมืองบ่อแตน และแก่นท้าว ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบันเมื่อมีประชาชนพลเมืองมากขึ้น พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง จึงได้หยุดพักพลและตั้งชุมชนขึ้นที่ บ้านนาเก่า และบ้านนาเบี้ย ซึ่งขณะนั้นหมู่บ้านทั้งสองอยู่ในเขตปกครองของตำบลนาหอ อำเภอด่านซ้าย ต่อมา พ่อขุนบางกลางหาว ได้มาตั้งชุมชนขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่งที่ บ้านนาหอ กับบ้านโพนหนอง เป็นที่สังเกตว่าบ้านนาหอกับบ้านโพนหนองมีความสัมพันธ์กันมาโดยตลอด ดังจะเห็นว่าสมัยก่อนสองหมู่บ้านนี้รวมเป็นบ้านเดียวกัน เพิ่งมาแยกจากบ้านนาหอเป็นบ้านโพนหนอง หมู่ที่ 8 เมื่อ พ.ศ.2515 

นอกจากนี้ จากหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือเรื่องปูชนียสถานของกรมศิลปากร เห็นได้ชัดเจนว่าบ้านนาหอและบ้านโพนหนองได้ถือกำเนิดขึ้นก่อน พ.ศ.2035 เพราะจากหลักฐานตามประวัติของวัดศรีภูมิ บ้านนาหอ ปรากฏว่าวัดศรีภูมิบ้านนาหอสร้างเมื่อ พ.ศ.2035 ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง คือ ประมาณ 500 กว่าปีมาแล้ว ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าบ้านนาหอและบ้านโพนหนอง คงจะตั้งก่อน พ.ศ.2035 ถ้าไม่มีชุมชน คงก่อสร้างวัดไม่ได้ เพราะพระภิกษุ สามเณร ต้องอาศัยประชาชนในชุมชน จึงจะดำเนินกิจการของวัดได้”

หมู่บ้านโพนหนองเป็นพื้นที่ลุ่ม มีห้วยน้ำพานไหลทางตะวันตก และมีแม่น้ำหมันไหลอยู่ทางตะวันออก ในสมัยก่อนที่จะมาการตัดถนนทางหลวง 2114 (ถนนด่านซ้าย - ปากหมัน) ชาวบ้านส่วนใหญ่จะตั้งรกรากกันใกล้บริเวณหนองแข้ และเนื่องด้วยเป็นชุมชนที่แตกออกมาจากบ้านนาหอ จึงใช้วัดศรีภูมิ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านนาหอร่วมกัน ก่อนจะเริ่มย้ายลงมาให้อยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำหมันมากขึ้น บ้างก็ว่าย้ายหนีน้ำท่วมที่มักเอ่อล้นมาจากห้วยน้ำพาน เนื่องจากพื้นที่บริเวณหนองแข้มีลักษณะเป็นแอ่ง น้ำท่วมทุกปี บ้างก็ย้ายให้สะดวกในการออกไปสู่ถนนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวบ้านโพนหนองยังใช้บริเวณหนองแข้เป็นศาลาประชาคม และตั้งหอ (ศาล) ประจำหมู่บ้านไว้ที่นี่

นอกจากนี้ สถานที่ในชุมชนที่ความสำคัญอีกแห่งคือ โรงเรียนบ้านโพนหนอง แรกเริ่มก่อตั้งขึ้นในบริเวณเส้นถนนชุมชนที่ตัดระหว่างหนองแข้ และวัดศรีภูมิ นาหอในปี พ.ศ. 2460 เปิดสอน ชั้น ป.1 – ป.3  มีครูสอนคนเดียว คือ นายขุ่น  พรหมรักษา ใช้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนบ้านนาหอ” ซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งโรงเรียน (ก่อนจะแยกเป็นบ้านนาหอ และบ้านโพนหนอง) ต่อมาในปีพ.ศ. 2476 นายเทียบ เอกมาลาวรรณ เป็นครูใหญ่ ได้ตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนบ้านโพนหนอง  ปีพ.ศ.2504 นายเทียบ เอกมาลาวรรณ ได้บริจาคที่ดิน 2 ไร่ 2 งาน ริมถนนทางหลวง 2114 (ถนนด่านซ้าย - ปากหมัน) ณ บ้านโพนหนอง เพื่อให้สร้างอาคารเรียน จึงได้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนจากบ้านนาหอมาอยู่ที่บ้านโพนหนองและได้เปิดทำการสอนสืบมา

ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านโพนหนองได้กลายสถานะเป็นโรงเรียนที่หยุดพักการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 เนื่องจากนักเรียนและบุคคลากรน้อยเกินกว่าจะเปิดสอนได้ นักเรียนในพื้นที่จึงต้องกระจายไปเรียนที่โรงเรียนหนองผือ บ้านหนองผือ ตำบลนาหอ อำเภอด่านซ้าย หรือโรงเรียนด่านซ้าย บ้านนาเวียง ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย

บ้านโพนหนอง เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีประชากรจำนวน 57 หลังคาเรือน ประชากรชาย 79 คน ประชากรหญิง 78 คน รวม 157 คน (ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลนาหอ สำรวจเมื่อมีนาคม พ.ศ. 2564) อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน (อสม.) ประจำหมู่บ้านโพนหนอง ที่มีจำนวนเพียง 6 คน คาดว่าปัจจุบันเหลือ 46 หลังคาเรือน และบางบ้านก็ไม่มีผู้คนอาศัยตามทะเบียนบ้าน ชาวบ้านที่อยู่อาศัยเป็นชาวไทพื้นถิ่น เรียกตนเองว่าไทด่าน

อาชีพเกษตรกรรม มันเป็นการทำนาปี มีปลูกข้าวโพด ยางพาราตามภูบ้าง แต่ก็มีคนต่างถิ่นเข้ามาทำด้วย รับราชการครู รับจ้าง ค้าขาย

ประเพณีชุมชนของบ้านโพนหนองจะยึดตามหลักปฎิทินฮีต 12 เช่นเดียวกับชาวอำเภอด่านซ้ายหมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งเป็นประเพณีที่ยึดตามปฏิทินจันทรคติ เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ธรรมชาติของฤดูกาลเกษตร พิธีกรรม ศาสนา ความเชื่อ อย่างไรก็ตาม วิถีประเพณีของบ้านโพนหนองจะเป็นไปทางวิถีชาวลุ่มแม่น้ำหมันตอนกลางค่อนไปทางปลาย หรือชาว “บ้านใต้” กล่าวคือ จะไม่ยึดโยงกับพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุศรีสองรักเท่ากับชุมชนในบริเวณรอบศูนย์กลางอำเภอด่านซ้าย จะมีศูนย์รวมชุมชนในเชิงวัฒนธรรมเป็นวัดศรีภูมิ บ้านนาหอ ซึ่งเป็นวัดที่มีความเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อพ.ศ.2035 มีเครือข่ายของระบบความเชื่อเจ้าพ่อกวน แม่นางเทียม พ่อแสน นางแต่งเป็นของตนเอง ถึงแม้จะไม่มีบทบาทหน้าที่เท่าระบบของเครือข่ายที่ดูแลพิธีกรรมเกี่ยวกับพระธาตุศรีสองรัก แต่ก็ยังคงมีการสืบทอดตำแหน่งกันอยู่

เดือน 5: บุญสงกรานต์

สงกรานต์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 – 15 เมษายน วันแรกถือเป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่สองเป็นวันเนา และวันสุดท้ายเป็นวันเถลิงศก ชาวบ้านหรือผู้เฒ่าผู้แก่ถือเป็นวันปีใหม่ มีการรวมตัวกันที่วัดในชุมชนเพื่อทำ “ตุง” ประกอบพิธีสงกรานต์

เดือน 7: แฮกนา/ ไร่

บางครอบครัวที่ยังถือคติพิธีกรรม เมื่อถึงเดือน 7 – 8 ฝนเริ่มลง ชาวบ้านเริ่มทำไร่ทำนา ก่อนดำนาหรือหว่านข้าวจะต้องประกอบพิธีแฮกนา/ไร่ ด้วยการทำคันแฮกให้สูงจากคันนา โดยใช้ไม้ตอกยาวราว 2 – 3 เมตร สานเป็นรูปปลาแขวนไว้ด้านท้าย พร้อมสร้างตูบน้อยปักไว้ที่คันแฮกที่นา/ไร่ แล้วปักต้นข้าว 9 ต้น พร้อมท่องคาถา

นอกจากนี้ ที่บ้านนาหอยังมีการไหว้ภูผาแดด โดยจะปฏิบัติหลัง “เลี้ยงปี” หรือ “ดงหอ” เลี้ยงผีหมู่บ้านเสร็จแล้ว หรือราวแรม 7 – 8 ค่ำ ชาวบ้านโพนหนองบางส่วนจะไปรวมกับชาวนาหอร่วมทำบุญ ชาวบ้านเชื่อว่า “ภูผาแดด” เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์มีวิญญาณของบ่าวน้อยภูผาแดดสิงสถิตอยู่ บ่าวน้อยภูผาแดดเข้าไปเป็นบริวารของเจ้าพ่อหาญห้า ซึ่งเป็นเจ้าบ้านประจำหมู่บ้าน (เป็นความเชื่อที่ไม่แบ่งแยกผีบ้าน ผีป่า ผีวัเ ผีน้ำ)  

เดือน 8: บุญหลวงและเข้าพรรษา

วัดศรีภูมิ บ้านนาหอ เป็นหนึ่งใน 4 วัดในอำเภอด่านซ้ายที่มีการจัดประเพณีบุญหลวง (บุญผะเหวด) และการละเล่นผีตาโขน หากแต่จะจัดตามหลังของวัดโพนชัย และมีขนาดงานที่เล็กกว่า เน้นการละเล่นแบบโบราณ ซึ่งชาวบ้านโพนหนองเก่าแก่มักจะเข้าร่วมประเพณีบุญหลวง (บุญผะเหวด) ที่วัดศรีภูมิ บ้านนาหอนี้

เมื่อถึงบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านก็จะรวมตัวกันที่วัดศรีภูมิ บ้านนาหอเพื่อทำบุญ ฟังเทศน์ ถวายผ้าอาบน้ำฝน เวียนเทียน และแห่เทียนเข้าพรรษา

เดือน 9: บุญข้าวประดับดิน

เป็นฮีตของการทำบุญเลี้ยงผี และอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะกับผีไม่มีญาติ เอาอาหารหวานคาวไปวางไว้บนดิน ตามต้นไม้ในไร่นา ในวัด หรือตามหมู่บ้าน ตามตลาดมักเห็นอาหารพื้นถิ่นโบราณที่หายากในปัจจุบันขายเป็นกระทงเล็กๆ เพื่อให้คนซื้อมาทำบุญ

เดือน 10: บุญข้าวสาก

ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะสานกรวยด้วยไม้ตอก เป็นชะลอมเอาขนม ผลไม้ ข้าวใส่ในชะลอม เอาไปวัด ถวายพระโดยเจ้าของกรวยข้าวสากจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วติดไว้ที่กรวยข้าวสาก เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติและครอบครัวที่ล่วงลับไป คล้ายประเพณีสารทไทยนี่เอง ที่น่าสนใจคือตามคำเล่าของคนเก่าแก่ ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่น้ำหลาย เมื่อน้ำเอ่อท่วมเสาของพัดทดน้ำ ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็จะนำเรือมาแข่งกัน ซึ่งศูนย์รวมในการต่อเรือและแข่งเรือก็คือวัดประจำหมู่บ้านนั่นเอง จึงมักมีภาพความทรงจำของการหิ้วชะลอมข้าวสากไปถวายพระ และมีการแข่งเรือต่อ จากการไล่ถามผู้เฒ่าในชุมชน คาดการณ์ได้ว่าประเพณีแข่งเรือน่าจะหายไปตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2500 ต้นๆ – 2510

เดือน 11: บุญออกพรรษา

ชาวบ้านจะแกงขี้ผึ้ง (ต้มขี้ผึ้ง) เพื่อใช้ทําปราสาทผึ้ง แต่จะไม่มีประเพณีไหลเรือไฟ เช่น บ้านเหนือ บ้านนาเวียงใหญ่ หรือบ้านติดน้ำหมันที่ใกล้ศูนย์กลางเมืองด่านซ้ายอื่นๆ

นายเทียบ เอกมาลาวรรณ ผู้เป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านโพนหนองตั้งแต่ปีพ.ศ. 2476 – 2514 และเป็นผู้บริจาคที่ดินส่วนตัวให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนบ้านโพนหนองในปัจจุบัน เกิดวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เสียชีวิตวันที่ เป็นบุคคลที่วางรากฐานให้แก่ครูในพื้นที่มากมาย ถึงแม้จะเกษียณราชการ ก็ยังเป็นบุคคลที่ชื่นชอบการอ่าน จดบันทึก และใช้สำนวนภาษาเล่าเรื่อง และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ

อีกทั้งยังอุปการะเยาวชนเพื่อส่งให้มีการศึกษาหลายคน นายเทียบ เอกมาลาวรรณอาศัยอยู่บ้านไม้หลังใหญ่เยื้องโรงเรียนบ้านโพนหนอง บ้านเลขที่ 20 บ้านโพนหนอง หมู่ 8 ตำบลนาหอ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ปัจจุบันลูกหลานของนายเทียบก็ยังคงรักษาบ้านหลังนี้เอาไว้

  • เครือข่ายชุมชนที่แข็งแรง ประานงานตรงถึงอบต.นาหอ มีการมาออกตลาดชุมชน ขายอาหาร พืชผลการเกษตรต่างๆ ณ ศูนย์การเรียนรู้สร้างสรรค์เมืองด่านซ้ายทุกวันพุธ รวมทั้งการจัดกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุ เน้นการฟ้อนรำเพื่อออกงานต่างๆ ทั้งงานบุญ และงานราชการ เป็นการสร้างทุนทางสังคมให้กับสังคมสูงวัยที่แข็งแรง
  • ป่าชุมชนบ้านโพนหนอง

ภาษาไทพื้นถิ่น เรียกกันว่าไทด่าน เป็นภาษาที่มีสำเนียงแปร่งจากอำเภออื่นในจังหวัดเลย ใกล้เคียงภาษาลาวทางหลวงพระบาง



เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ประชากรน้อย สัดส่วนประชากรเป็นผู้สูงอายุจำนวนมาก



ปัญหาน้ำท่วม จากคำบอกเล่าของคนพื้นถิ่น บริเวณบ้านโพนหนอง ไปจนถึงหมู่บ้านทางด้านตะวันตกของถนนทางหลวงสาย 2114 (ด่านซ้าย - ปากหมัน) โดยรอบไม่เคยประสบภัยน้ำท่วมขังเป็นเวลลานานมาก่อน มีแค่ช่วงน้ำหลายไม่กี่วันที่น้ำจะเอ่อล้นจากมวลน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำทางเทือกเขาเพชรบูรณ์ เอ่อล้นจากห้วยน้ำพาน และภูเขาโดยรอบในฤดูฝน ก่อนจะระบายสู่แม่น้ำหมัน และแม่น้ำเหือง ฤดูน้ำหลาย ที่กลายเป็นภัยน้ำท่วมเพิ่งจะมาเริ่มในช่วงปีพ.ศ. 2540 – 2545 สาเหตุมาจากสภาพแม่น้ำหมัน และห้วยน้ำพานที่ไหลทางด้านทิศตะวันตกมาบรรจบกับแม่น้ำหมันที่เปลี่ยนไป จากที่มีความกว้างและลึกเป็นเท่าตัวของปัจจุบัน

เมื่อวัฒนธรรมการเกษตรเปลี่ยนไป มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าบนภูเขาเพื่อทำการเกษตรเชิงเศรษฐกิจ นอกจากการทำนาเพื่อเลี้ยงตน เปลี่ยนเป็นการปลูกไม้ยางพารา หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รากยึดหน้าดินน้อยลง ทำให้ดินถูกชะล้างลงมาสู่แม่น้ำหมัน ส่งผลให้แม่น้ำแคบและตื้นขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก และหมู่บ้านโพนหนองก็จะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน มีหลายครัวเรือที่ทำนาไม่ได้มาหลายปีแล้ว เนื่องจากน้ำไหลมาขังในนาช่วงระยะตั้งท้องของข้าวเป็นระยะเวลามากกว่า 3 – 4 วัน ทำให้ข้าวเน่าทั้งยืน จะปลูกใหม่ น้ำระลอกใหม่ก็เข้ามาอีก หากจะทำนาปรัง ช่วงที่แล้งบางปีก็แล้งเกินกว่าจะทำได้ ประกอบกับชาวบ้านบางครัวเรือนก็ยังไม่มีความรู้เรื่องการทำนาปรังเท่าการทำนาปี ส่งผลให้ไม่ได้ผลผลิตข้าวที่สมบูรณ์

มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ ได้รับอนุญาตจากครูใหญ่ไพรวัลย์ ผู้มีอำนาจในการจัดการโรงเรียนบ้านโพนหนอง ให้ใช้อาคารเรียน และอาคารโรงอาหารเก่าในการทำศูนย์การเรียนรู้สร้างสรรค์เมืองด่านซ้าย มีการเปิดห้องสมุดศิลปะ ห้องนิทรรศการศิลปะลุ่มน้ำหมัน และจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะทุกเดือน รวมทั้งยังร่วมใช้พื้นที่กับเครือข่ายผู้ประกอบการท้องถิ่นในการจัดตลาดชุมชนทุกวันพุธ และโรงเรียนผู้สูงอายุประจำตำบลนาหอทุกวันพุธเช่นกัน

ประวัติศาสตร์หมู่บ้าน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย.(ไม่ระบุปี). เลย: ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอด่านซ้าย.

ประวัติตำบลนาหอ. [เว็บไซต์]. 2564. แหล่งที่มา: องค์การบริหารส่วนตำบลนาหอ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย https://naho.go.th/public/list/data/detail/id/1689/

เอกรินทร์ พึ่งประชาและคณะ. ลุ่มน้ำหมัน การจัดการโดยเครือข่ายทางสังคมเพื่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน. 2559. เลย: ฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

ประวัติโรงเรียนบ้านโพนหนอง. [เว็บไซต์]. 2564. แหล่งที่มา: โรงเรียนบ้านโพนหนอง https://data.bopp-obec.info/web/index_view_history.php?

บันทึกของนายเทียบ เอกมาลาวรรณ และคำบอกเล่าของชาวบ้านบ้านโพนหนอง จากการลงพื้นที่สำรวจ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566