Advance search

บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก

บ้านทุ่งคาเนียง, บ้านพะเนียง, บ้านซอยพะเนียง

บ้านทุ่งคาพะเนียงแตกเป็นชุมชนดั้งเดิม ซึ่งกลุ่มชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ สภาพแวดล้อมชุมชนในปัจจุบันมีขุมเหมือง แสดงถึงร่องรอยความรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรมแร่ดีบุก มีสถานที่สำคัญในชุมชน เช่น ศาลเจ้ายกเค้เก้ง เป็นศาสนสถานที่ประกอบพิธีกรรมถือศีลกินผักของชาวไทยเชื้อสายจีน วัดรัษฎาราม และวัดสามกอง เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน นอกจากนี้ยังเป็นย่านการค้า มีห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง

หมู่ที่ 5
บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ขวัญจิต ศรีจำรัส
20 ก.ค. 2023
อัจจิมา หนูคง, สรวิชญ์ ชูมณี
30 ส.ค. 2023
สรวิชญ์ ชูมณี
24 ก.ย. 2023
บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก
บ้านทุ่งคาเนียง, บ้านพะเนียง, บ้านซอยพะเนียง

ในอดีตบริเวณชุมชนเป็นทุ่งหญ้าคาและป่าพรุมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น มีต้นเนียงกระจายไปทั่ว ต่อมาชาวบ้านได้เข้ามาอาศัย แล้วตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ว่า ทุ่งคาเนียง นอกจากนี้ชาวบ้านเล่าต่อ ๆ กันมาว่ามีผู้นำหมู่บ้านทุ่งคาเนียงผู้เป็นที่เคารพของชาวบ้านในละแวกนี้ ได้ฝันว่า มียักษ์ 3 ตน กลิ้งโอ่งลงมาในหมู่บ้าน เพื่อให้ทับชาวบ้านตาย แต่โชคดีที่โอ่งกลิ้งลงมาชนกับต้นเนียงแตกเสียก่อน ชาวบ้านทุกคนจึงรอดชีวิต หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก" ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลจากแผนพัฒนาหมู่บ้านทุ่งคาพะเนียงแตกหมู่ที่ 5 ตำบลรัษฎาอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 2563) 


บ้านทุ่งคาพะเนียงแตกเป็นชุมชนดั้งเดิม ซึ่งกลุ่มชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ สภาพแวดล้อมชุมชนในปัจจุบันมีขุมเหมือง แสดงถึงร่องรอยความรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรมแร่ดีบุก มีสถานที่สำคัญในชุมชน เช่น ศาลเจ้ายกเค้เก้ง เป็นศาสนสถานที่ประกอบพิธีกรรมถือศีลกินผักของชาวไทยเชื้อสายจีน วัดรัษฎาราม และวัดสามกอง เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน นอกจากนี้ยังเป็นย่านการค้า มีห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง

บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก
หมู่ที่ 5
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
เทศบาลตำบลรัษฎา โทร. 0-7652-5779-85
7.91419735568004
98.3764232526949
เทศบาลตำบลรัษฎา

ในอดีตชุมชนบริเวณนี้เป็นทุ่งหญ้าคาและป่าพรุมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่นโดยเฉพาะต้นเนียง ต่อมาชาวบ้านได้เข้ามาอาศัยแล้วตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ว่า ทุ่งคาเนียง ชาวบ้านเล่าต่อ ๆ กันมาว่ามีผู้นำหมู่บ้านทุ่งคาเนียงเป็นที่เคารพ ได้ฝันว่า มียักษ์ 3 ตน กลิ้งโอ่งลงมาในหมู่บ้าน เพื่อให้ทับชาวบ้านตาย แต่โชคดีที่โองกลิ้งลงมาชนกับต้นเนียงแตกเสียก่อน ชาวบ้านทุกคนจึงรอดชีวิต ผู้นำหมู่บ้านจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก" และ ได้เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

หมู่บ้านทุ่งคาพะเนียงแตกมีการตั้งถิ่นฐานประมาณ 100 ปีกว่า คนกลุ่มแรกที่มาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเป็นคนจีน ชื่อนายเหล่าหลู่น แช่ตัน ประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่ดีบุก ในยุคแรกเปิดพื้นที่ในการทำเหมืองค่อนข้างกว้าง เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีแหล่งแร่ดีบุกจำนวนมาก ชาวจีนที่อพยพเข้ามาพบแหล่งแร่ดีบุกจึงขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ดีบุก ด้วยวิธีแบบดั้งเดิม ทำให้กลุ่มชาวจีนได้บุกเบิกพื้นที่ทำเหมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีขุมน้ำหลงเหลือร่องรอยการทำเหมืองและยังนำน้ำในขุมไปใช้ประโยชน์ถึงปัจจุบัน

ชุมชนหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก มีพื้นที่ติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดภูเก็ต มีถนนสายเลี่ยงเมืองหรือถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เป็นถนนสายหลักในการคมนาคม เป็นย่านเศรษฐกิจของตำบลรัษฏา จากอดีตมีสภาพเป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกทีมีชื่อเสียง แต่ในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างบ้านจัดสรร อพาร์ทเม้นท์ ห้องเช่า โรงแรม ห้างสรรพสินค้า กลายเป็นสังคมเมือง มีบางส่วนเพียงเล็กน้อยยังคงป่าพรุและขุมเหมืองไว้เป็นร่องรอยให้คงเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุมชน (ข้อมูลจากการสำรวจและสังเกตพื้นที่ บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก วันที่ 20 กรกฎาคม 2566)

บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองภูเก็ต ประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ลักษณะภูมิประเทศ บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก มีลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาสลับพื้นที่ราบ มีเนื้อที่มากเป็นอันดับ 1 ของตำบลรัษฎา มีถนนสายหลัก 2 สาย ได้แก่ ถนนสายสามกอง - สะปำ (ถนนประชาอุทิศและถนนเฉลิมพระเกียรติ ) ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 402 สายเลี่ยงเมือง บริเวณพื้นที่มีขุมเหมืองที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ดีบุก จึงกลายเป็นขุมน้ำที่เก็บน้ำตามธรรมชาติ ปัจจุบันเทศบาลนครภูเก็ตยังได้นำน้ำจากขุมเหมืองมาใช้ ให้บริการประชาชนในเขตเทศบาลนครภูเก็ตอีกด้วย (ข้อมูลจากการบอกเล่า นายชาญนรงค์ สุขสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566) 

อาณาเขตติดต่อ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต 
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตเทศบาลนครภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้

คนกลุ่มแรกที่มาอยู่อาศัยเป็นชาวจีน ชื่อ นายเหล่าหลุ่น แช่ตัน และผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่ดีบุก เมื่อสิ้นสุดการทำเหมืองแร่ก็สร้างบ้านอยู่อาศัยต่อเนื่องมานานเพียงไม่กี่ครัวเรือนแต่ด้วยสภาพพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบเหมาะแก่การสร้างบ้านอยู่อาศัย ต่อมามีการสร้างบ้านจัดสรรมากขึ้นประชากรเพิ่มขึ้นจึงถูกพัฒนาเป็นหมู่บ้านจัดสรรจนถึงปัจจุบัน เช่น ชุมชนสามแยกศาลาอ่านหนังสือพิมพ์ มี สภาพเป็นชุมชนเมืองชุมชนบ้านบน (แหล่งที่ตั้งสำนักงานทำเหมืองสูบโบราณ) ชุมชนบ้านใต้ (ชุมชนชาวจีน) และ ชุมชนบ้านตีน เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม 

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนประชากร หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก มีจำนวนประชากร รวมทั้งหมด 10,509 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 4,876 คน ประชากรหญิง 5,633 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน รองลงมาเป็นคนไทย ประชากรอาศัยเป็นครอบครัวขยาย และชุมชนภายนอกที่เข้ามาอยู่อาศัยเพื่อประกอบอาชีพ มีทั้งห้องเข่า ซื้อบ้านจัดสรร ความสัมพันธ์ในชุมชนค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามสภาพเป็นสังคมเมือง ต่างคนต่างอยู่ ส่วนชุมชนเดิมก็มีการพึ่งพาอาศัยกันอยู่บ้าง

ประชากรในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพจากการทำเหมืองแร่ในอดีต มาประกอบอาชีพ รับจ้าง รับราชการ ค้าขาย เกษตรกร รับเหมา ท่องเที่ยวและอื่น ๆ ปัจจุบันในชุมชนมีโรงงานผลิตเส้นหมี่หุ้น เส้นขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว ส่งออกสู่ตลาดภายนอก และตลาดในชุมชน เป็นต้น

  • ประเพณีรดน้ำผู้สูงอายุ จะจัดขึ้นในวันสงกรานต์เช้าวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี
  • ประเพณีถือศีลกินผัก ระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ - 9 ค่ำเดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติจีน
  • ประเพณีลอยกระทง วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ
  • ประเพณีวันสารทเดือนสิบ จัดขึ้นแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี
  • สวดกลางบ้าน คืนวันที่ 12 เมษายน ของทุกปี
  • ตรุษจีน จัดขึ้นในช่วงเดือน 1 ขึ้น 1 ค่ำ ตามปฏิทินจันทรคติจีน
  • วันเทศกาลปีใหม่ จัดขึ้นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี
  • วันเช็งเม้งหรือวันไหว้บรรพบุรุษ ชาวไทยเชื้อสายจีน จัดขึ้นเดือน 5 ของทุกปี เพื่อแสดงถึงความกตัญญูตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน 

1.นายชาญณรงค์ สุขสมบูรณ์ 

ที่อยู่ 66/5 ม.5 ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต 

บทบาทและความสำคัญในชุมชน/ความชำนาญ/ทักษะที่มี เป็นผู้สนใจในด้านประวัติความเป็นมาประเพณีถือศีลกินผัก อนุรักษ์ สืบสาน และเผยแพร่ตามแบบโบราณ ทั้งยังร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของศาลเจ้ายกเค้เก้ง สละเวลา ทุนทรัพย์ อุทิศตนเพื่อสาธารณะกุศล ศึกษาประวัติความเป็นมาของเทพเจ้าทุกองค์ ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมและครอบครัว ปัจจุบันเป็นประธานศาลเจ้ายกเค้เก้ง ได้สนับสนุนประเพณีถือศีลกินผักอนุรักษ์และสืบทอดให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง  

2.นายประสงค์ ชลศิริ  

อายุ 48 ปี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2518

ที่อยู่ 32/1 ม.5 ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต

บิดาชื่อ นายหนี ชลศิริ มารดาชื่อ นางซ่วน ชลศิริ 

พี่น้อง 6 คน ชาย 5 คน หญิง 1 คน มีบุตร 1 คน  

บทบาทและความสำคัญในชุมชน/ความชำนาญ/ทักษะที่มี นายประสงค์ ชลศิริ เป็น ผู้สนใจในด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องประเพณีถือศีลกินผัก ทั้งยังร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของศาลเจ้ายกเค้เก้ง และเป็นผู้เผยแพร่ประเพณีถือศีลกินผัก อนุรักษ์และสืบทอดประเพณีกินผักจากบิดา ซึ่งเป็นผู้ดูแลศาลเจ้ายกเค้เก้ง  

 

อาหาร ลูกชิ้นปลาภูเก็ต (อ๋วน) เก็จมุกดา ส่งจำหน่ายทั่วประเทศ มีประวัติความเป็นมาคือ เป็นการนำภูมิปัญญาของชาวบ้านในการทำลูกชิ้นปลา ซึ่งทำมาจากปลากล้วยญี่ปุ่นแท้ 100% ไม่ผสมแป้ง และวัตถุกันเสีย มีโอเมก้า-3 ลูกชิ้นผลิตด้วยกรรมวิธีที่สดสะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภคผ่านการรับรองจาก อย. และฮาลาล นอกจากนั้นยังได้รับรางวัล OTOP 5 ดาว อีกด้วย

ศาลเจ้ายกเค้เก้งซอยพะเนียง ศาสนสถานที่ประกอบพิธีกรรมถือศีลกินผักของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยมีองค์พระเชงจุ้ยจ้อสู่ก้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ให้ความเคารพนับถือในองค์พระเชงจุ้ยจ้อสู่ก้ง จากคำบอกเล่า นายชาญณรงค์ สุขสมบรูณ์ ผู้เลื่อมใสศรัทธาต่อองค์พระจ้อสู่ก้ง เล่าว่า เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มีศาลเจ้าตั้งอยู่บนเนินดิน เกิดจากขุดหาแร่ คัดแยกทรายออกจึงถมสูงเป็นเนินดิน ชาวจีนเข้ามาประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ได้สร้างศาลเพียงตา ประดิษฐานรูปเคารพขององค์พระจ้อสู่ก้งและเทพอื่น ๆ ไว้ร่วมด้วย ต่อมามีการยกเลิกการทำเหมืองแร่เนื่องจาก หัวหน้างานเหมืองแห่งนี้ได้ทำการฉีดล้างคันดิน บริเวณศาลเพียงตาพบสายแร่เป็นจำนวนมาก ทำให้ศาลเพียงตาได้พังลง จึงเกิดเหตุการณ์ มหัศจรรย์ขึ้นคือ มีอีกาดำฝูงใหญ่ จำนวนกว่าร้อยตัว รุมจิกหัวหน้างานคนดังกล่าว ทำให้ยกเลิกการทำเหมืองไปในที่สุด ต่อมามีผู้เลื่อมใสศรัทธาในองค์พระจ้อสู่ก้งคือนายตันฮ่ายหลาม ได้มอบที่ดินและอาคารไม้สองชั้นให้แก่ศาลเจ้าศาลเจ้ายกเค้เก้งประดิษฐานพระเชงจุ้ยจ้อสู่ก้ง ในอดีตบริเวณศาลเจ้ามีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ใกล้ศาลเจ้าโค่นล้มลงบนหลังคาอาคารศาลเจ้า จากนั้น นายวินัย แซ่ซ้อ (จิ้นเบ๋ง) ได้บูรณะอาคารศาลเจ้าขึ้นใหม่พร้อมสร้างรูปเคารพพระจ้อสู่ก้งขึ้นในปี พ.ศ. 2503 ผู้มีจิตเลื่อมใสได้ต่อเติมและสร้างอาคารศาลเจ้าขึ้นใหม่อีกครั้งทดแทนอาคารหลังเดิมที่ทรุดโทรม ในปัจจุบัน เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมถือศีลกินผักของชาวไทยเชื้อสายจีนจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นายชาญณรงค์ สุขสมบูรณ์ ,นายประสงค์ ชลิศิริ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566) 

วัดรัษฎาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต สร้างเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เป็นสถานที่สำหรับพุทธศาสนิกชนในชุมชนเข้าไปทำบุญและปฏิบัติธรรม ในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา โดยปัจจุบันมี พระครูรัษฎากิจจาภิวัฒน์ เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน  

วัดสามกอง หรือวัดสามัคคีสามกอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 โดย พระมงคลวิสุทธิ์ หลวงปู่สุภา กันตสีโล ได้ธุดงค์ไปที่บ้านสามกอง และท่านเห็นว่าชุมชนแห่งนี้ ควรจะมีการสร้างวัดขึ้นมาเพื่อให้ชาวบ้านได้ประกอบศาสนพิธี บรรดาสาธุชน ลูกศิษย์และผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาต่างก็ร่วมกันสนับสนุนการก่อสร้างวัดแล้วเสร็จ เป็นศาสนสถานที่พุทธศาสนิกชน ในชุมชนเข้าไปทำบุญและปฏิบัติธรรม ในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ

ภาษาไทยถิ่นภาคใต้และภาษาจีนฮกเกี้ยน


ประชากรในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพจากการทำเหมืองแร่ มาประกอบอาชีพ รับจ้าง รับราชการ ค้าขาย เกษตรกร รับเหมา ท่องเที่ยวและอื่น ๆ ปัจจุบันในชุมชนมีโรงงานผลิตเส้นหมี่หุ้น เส้นขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว ส่งออกสู่ตลาดภายนอก และตลาดในชุมชน  เป็นต้น 

โรงเรียนบ้านทุ่งคา ได้ขยายการศึกษาภาคบังคับครบทุกตำบลตั้งแต่ พ.ศ. 2509 เด็ก ๆ ในละแวกนี้ไปเรียนที่โรงเรียนบ้านกู้กู ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน 34 กิโลเมตร ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางจึงต้องอาศัยโรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง จนต่อมาคุณศิลป์ บุณยขจร เจ้าของเหมืองแร่และเป็นคหบดี ได้บริจาคที่ดินจำนวน 12 ไร่ 39 ตารางวา คิดเป็นมูลค่า 600,000 บาท เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี โดยมีนายชิต นุ้ยภักดี นายอำเภอเมืองภูเก็ต และนายจำลอง สวนคุณานนท์ ศึกษาธิการอำเภอเมืองภูเก็ต ให้ความร่วมมือและประสานงานอย่างดี ในวันที่ 11 เมษายน 2502 ได้ลงมือวางผังขุดหลุมก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวกึ่งถาวรแบบ 005 จำนวน 4 ห้องเรียน กว้าง 7 เมตร ยาว 36 เมตร ต่อมาได้ต่อเติมอาคารเรียนยาวอีก 6 เมตร ตลอดจนก่อสร้างบ่อน้ำ หอถังเก็บน้ำ เครื่องสูบน้ำ ส้วม และประปาของโรงเรียน โรงเรียนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยงบประมาณที่ได้งบจัดสรรและการช่วยเหลือจากชุมชน ในปีการศึกษา 2521 โรงเรียนได้ขยายการศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต่อมาในปีการศึกษา 2546 โรงเรียนได้เปิดขยายโอกาสชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นปีแรก และในปีการศึกษา 2548 ได้เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันโรงเรียนเปิดสอน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปัจจุบัน (จากการสัมภาษณ์ นายชาญณรงค์ สุขสมบูรณ์ 15 กรกฎาคม 2566) 

เทศบาลตำบลรัษฎา. (2563). แผนพัฒนาหมู่บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก หมู่ที่ 5 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ประจำปี พ.ศ. 2563. จาก https://rasada.go.th/

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2544). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

พระสังฆาธิการ. (ม.ป.ป.). รายชื่อวัด, ทำเนียบเจ้าอาวาส. จาก https://sangkhatikan.com/