หมู่บ้านกะเหรี่ยงโพร่งที่มีการทอผ้าลายจกกี่เอวที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ผ้าทอกะเหรี่ยงดอยยาว มีครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้ามากถึง 30 คน
มีดอยล้อมรอบอยู่หนึ่งลูกซึ่งมีลักษณะยาวโอบหมู่บ้านไว้ จึงเรียกชื่อ "ดอยยาว"
หมู่บ้านกะเหรี่ยงโพร่งที่มีการทอผ้าลายจกกี่เอวที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ผ้าทอกะเหรี่ยงดอยยาว มีครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้ามากถึง 30 คน
บ้านดอยยาว หมู่ที่ 16 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่เรียกตนเองว่า "โผล่ง" ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามที่ราบเชิงเขาฝั่งตะวันตกที่ชื่อว่า ดอยยาว ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาทอดยาวจากหัวบ้านไปจนจบทางหางบ้าน คล้ายรูปข้อนคว่ำ อีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่เขตห้วยป้าง ซึ่งเรียกตามชื่อของลำห้วยที่ไหลผ่านชุมชนในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549 อำเภอแม่ทาได้ประกาศให้มีการแยกหมู่บ้านใหม่ บ้านดอยยาวจึงแยกออกมาจากบ้านป่าเลา หมู่ที่ 9 ตำบลทากาศอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านที่ 16 ของตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา โดยมีท่านนายอำภอแม่ทาอาณัติ วิทยานุกูล ท่านปลัดพงษ์เชษฐ์ ใจสมัคร ท่านปลัดชิดชัย พิมพ์กะภีร์ ได้อำนวยความสะดวกในการแยกหมู่บ้านทำให้หมู่บ้านดอยยาวเป็นที่รู้จักและมีความเป็นเอกเทศในการปกครองตนเองนับแต่บัดนั้นมา
เดิมบ้านดอยยาวแยกมาจากหมู่บ้านป่าเลา และชาวบ้านป่าเลาอพยพมาจากบ้านแม่ขนาด แต่ก่อนเป็นพื้นที่ไร่สวนของชาวบ้านแม่ขนาด ชาวบ้านดอยยาวจึงมีประวัติการอพยพมาจากที่เดียวกับบ้านแม่ขนาดซึ่งเป็นบ้านหลัก
ข้อที่ 1 สันนิษฐานว่าเป็นชาวกะเหรี่ยงโพล่งที่อพยพมาจากเมืองลัวะ และเมืองพยู ฝั่งพม่า ผู้มาตั้ง ถิ่นฐานคนแรกนั้นคือ ขุนแสนแก้ว โดยเริ่มแรกมี 27 ครัวเรือน
ข้อที่ 2 สันนิษฐานว่าอพยพตามเจ้ากาวิละ ครั้งที่กวาดต้อนผู้คนมาสร้างเมืองใหม่หลังจากที่ เมืองลําพูนถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง หลักฐานที่หลงเหลือคือ “พิณเปี๊ยะ” เป็นเครื่องดนตรีล้านนาที่สามารถเล่นได้ เพียงคนในวังเท่านั้น ซึ่งชาวกะเหรี่ยงที่ติดตามเจ้าเมืองลําพูนเป็นผู้ใกล้ชิดจึงจะสามารถเล่นได้
พื้นที่เดิมก่อนชาวกะเหรี่ยงโพล่งจะมาตั้งถิ่นฐาน เชื่อว่าเป็นที่พักช้าง สำหรับเส้นทางไปสู่เมืองลําปางของพระนางจามเทวี เป็นจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์ติดแม่น้ำเหมาะสำหรับตั้งถิ่นฐาน สอดคล้องกับตํานาน เล่าขานว่าในเขตตําบลทากาศ เคยเป็นเส้นทางเดินทางของพระนางจามเทวี เมื่อคราวเดินทางจากนครหริภุญชัย จะไปพำนักอยู่กับอนันตยศกุมารที่ตั้งเมืองเขลางค์นคร ตั้งอยู่ลุ่มน้ำวังทางทิศตะวันออก คาดว่าผ่านขึ้นไปตาม แม่น้ำแม่ขนาด ขึ้นห้วยหมู ข้ามเขาไปเป็นเขตอําเภอห้างฉัตร จังหวัดลําปาง
ข้อมูลเมืองเขลางค์นครลุ่มน้ำวัง จังหวัดลําปาง พบหลักฐานเป็นอิฐมอญโบราณบริเวณ 3 จุด เชื่อมกันเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในบริเวณหมู่บ้าน กลางหมู่บ้านมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นบริเวณที่มีต้นประดู่แห้ง อายุมากกว่า 104 ปี ตั้งสูงเด่น โดยชุมชนมีความเชื่อว่าเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปกป้องคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข
ลักษณะการตั้งบ้านเรือนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
บ้านดอยยาว ในอดีตนิยมสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น หญ้าคา ใบตองตึง และไม้ไผ่ ซึ่งมีอายุการใช้งานไม่นาน ไม่ทนต่อสภาพอากาศ เมื่อความเจริญเข้าสู่หมู่บ้าน รูปแบบการสร้างบ้านก็เปลี่ยนไป เพื่อความแข็งแรงและมั่นคงมากขึ้น จึงนิยมสร้างบ้านไม้สองชั้น ชั้นล่างเทปูนเพื่อใช้สำหรับรับแขกและทํากิจกรรมต่าง ๆ ส่วนชั้นบน เป็นห้องนอน 1 ห้อง สำหรับเจ้าของบ้าน ยังคงมีเตาสามเส้าเพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมในบ้าน
ลักษณะการตั้งบ้านเรือนส่วนมากจะตั้งอยู่ตามซอย บ้านดอยยาวเป็นหมู่บ้านใหญ่สามารถแบ่งได้ เป็น 2 กลุ่มย่อย เรียกว่า กลุ่มบ้านฮ่อมดอยยาว และกลุ่มบ้านห้วยป้าง การตั้งบ้านเรือนกลุ่มบ้านฮ่อมดอยยาว และกลุ่มบ้านห้วยป้าง ตั้งที่อยู่อาศัยมีลักษณะจะตั้งบ้านเรือนห่างกัน และนิยมสร้างรั้วกั้นบริเวณบ้าน หมู่บ้านดอยยาว นิยมปลูกไม้ยืนต้นไว้บริเวณพื้นที่ว่างของบ้าน เช่น ลําไย มะม่วง เป็นต้น
บ้านดอยยาว หมู่ที่ 16 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านชาวเขา เผ่ากะเหรี่ยงที่เรียกตนเองว่า "โผล่ง" ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามที่ราบเชิงเขาฝั่งตะวันตกที่ชื่อว่า ดอยยาว ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาทอดยาวจากหัวบ้านไปจนจบทางหางบ้าน คล้ายรูปข้อนคว่ำ อีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่เขตห้วยป้าง ซึ่งเรียกตามชื่อของลำห้วยที่ไหลผ่านชุมชนในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549 อำเภอแม่ทาได้ประกาศให้มีการแยกหมู่บ้านใหม่
ลักษณะกายภาพทั่วไปของบ้านดอยยาวตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ พื้นที่โดยรอบของหมู่บ้านโอบล้อม ไปด้วยดอยยาว มีลําน้ำแม่ขนาด เป็นลําน้ำสายสําคัญหลัก ที่ไหลมาจากน้ำแม่สะอูน ไหลบรรจบกับน้ำแม่ขนาด ผ่านหมู่บ้านปงผาง แม่สะแงะ ผาด่าน ป่าเลา ดอยยาว มีแม่น้ำแม่ขนาดวางตัวในทางทิศตะวันออกและทิศเหนือของหมู่บ้าน
- ช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน น้ำในลําน้ำแม่ขนาดจะแห้งขอด
- ช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ลําน้ำแม่ขนาดจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ยังคงมีแหล่งอาหารตามธรรมชาติพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าบางชนิดที่สามารถนํามาทําอาหารหรือใช้ประโยชน์ได้ เมื่อฝนมาในช่วงเดือนมิถุนายนชาวบ้านจะเริ่มทําเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกผักสวนครัว
ลักษณะภูมิอากาศและความเหมาะสมในการประกอบอาชีพ ลักษณะภูมิอากาศบ้านดอยยาว สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู ดังนี้
- ฤดูหนาว เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุด 14 องศาเซลเซียส
- ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุด 40 องศาเซลเซียส
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม
อาชีพคนส่วนใหญ่ในชุมชนที่สอดคล้องกับภูมิอากาศ คือ ปลูกข้าว และทําสวนลําไย เป็นผลไม้ที่สามารถผลิตได้ทั้งในฤดูและนอกฤดู ลําไยในฤดูจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว คือ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูฝน คือ เดือนกรกฎาคม ส่วนการผลิตนอกฤดูต้องใช้สารเคมีเพื่อกระตุ้นให้ลําไยออก ดอกและจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
ในขณะที่ข้าวจะเริ่มหว่านข้าวในช่วงเดือนมิถุนายน เนื่องจากมีข้อจํากัดเรื่องปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอจึงสามารถทํานาได้แค่ปีละครั้ง และจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม หลังจากนั้นจะพักดิน โดยเริ่มปลูกผักไว้รับประทาน เช่น มะเขือ ผักกาด หอมแดง กระเทียม เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยว ผู้หญิงก็จะทอผ้าโดยนิยมทอถุงย่ามและเสื้อเพื่อเตรียมขายในเทศกาลประจําปี เช่น เทศกาลปีใหม่ งานฤดูหนาวจังหวัดลําพูน และงานปีใหม่เมือง ส่วนผู้ชายก็จะรับจ้างทั่วไปนอกหมู่บ้าน
การคมนาคม
การคมนาคมในหมู่บ้านส่วนมากเป็นถนนคอนกรีต คนในชุมชนนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง เข้า-ออกหมู่บ้าน บางส่วนที่ไปทํางานที่นิคมอุตสาหกรรม และไปโรงเรียนในจังหวัดลําพูน จะใช้บริการรถรับ-ส่ง และส่วนน้อยใช้รถยนต์ส่วนตัว
ที่ตั้ง
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านแม่ขนาด
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านป่าเลา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านป่าเลา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านแม่ขนาด
ลักษณะทางภูมิประเทศ เป็นพื้นที่สูงมีภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำแม่ขนาดไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนลำไยและที่นา มีจำนวน 128 ครัวเรือน แยกเป็นประชากร ชาย 205 คน หญิง 192 คน (ข้อมูลจากที่ว่าการอำเภอแม่ทา, 2565)
ลักษณะครอบครัวและเครือญาติ ครอบครัวชาวกะเหรี่ยงโพล่งเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อสามีหรือภรรยาเสียชีวิต การแต่งงานใหม่จะไม่ค่อยปรากฏ ในการเลือกคู่ครองฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายเลือกฝ่ายชายก่อน เมื่อแต่งงานจะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านใหม่ แต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องมาอยู่บ้านพ่อแม่ของภรรยาหนึ่งฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นปลูกบ้านใหม่ใกล้บ้านพ่อแม่ฝ่ายภรรยา หากเป็นลูกสาวคนเล็กจะต้องอยู่ดูแลพ่อกับแม่ การตั้งบ้านเรือนของญาติพี่น้องจึงอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ส่วนใหญ่คนในชุมชนนามสกุลเดียวกัน เนื่องจากในอดีตการออกไปแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านไม่เป็นที่นิยมนัก ในบ้านดอยยาวมักจะมีนามสกุลที่ขึ้นต้นด้วยคําว่า “เลา” เช่น เลาวนาศรี เลาทาศิริ เลาแม่ทา ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ประเพณีหรืองานบุญหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน พบว่ามีความเกื้อกูลกันและมีส่วนร่วมในกิจกรรม การไปเยี่ยมเยือนผู้ป่วยที่ป่วยหนักและนอนค้างคืนเพื่อให้กําลังใจแก่ญาติผู้ป่วยเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ ยังมีการลงแขกในฤดูเก็บเกี่ยวนา ที่เรียกว่า “เอามื้อ” ส่วนการจ้างแรงงานจากภายนอกเข้ามาในหมู่บ้านมีน้อยมาก คนส่วนมากในหมู่บ้านยังทํางานที่บ้านหรือเลือกที่จะทํางานใกล้บ้านเพื่อได้กลับมานอนที่บ้าน
ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง คนกลุ่มหนึ่งในชาติพันธ์ุจังหวัดลำพูน
ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในจังหวัดลำพูนแทรกซึมอาศัยอยู่ในพื้นที่หลาย ๆ อำเภอของจังหวัดลำพูน หนึ่งในนั้นคืออำเภอแม่ทา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ น้อยคนจะทราบว่ากะเหรี่ยงในจังหวัดลำพูนนั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่มแบ่งแยกกลุ่มโดยภาษาที่ใช้ กลุ่มหนึ่งเรียกตนเองว่า ปกาเกอะญอ คือพื้นที่ที่คนทั้งหลายจะรู้จักกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ซึ่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในอำเภอลี้ แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า โพร่ง หรือหลายคนก็เรียกว่าโปว์ กระจายกันอาศัยอยู่ในอำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอทุ่งหัวช้างและอำเภอแม่ทา ซึ่งวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงการแต่งกายคล้ายคลึงกันมากจนแทบแยกไม่ออกหากว่าไม่เอ่ยภาษาพูดออกมา
ความแตกต่างของสองกลุ่มนี้ถ้าสังเกตดี ๆ ในเชิงลึกยังแบ่งแยกจากลวดลายผ้าทอที่สวมใส่ กะเหรี่ยงในพื้นที่อำเภอแม่ทาโดยเฉพาะที่กะเหรี่ยงโพร่งบ้านดอยยาวจะมีการทอผ้าที่แตกต่างจากกะเหรี่ยงที่อื่น ความสามารถในการนำสีธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบในการย้อมสีฝ้ายทอผ้าที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีงานทอกี่เอวที่มีลายจกกะเหรี่ยงที่ปราณีตสวยงามหลากหลายลวดลาย เป็นความมหัศจรรย์ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานหลายร้อยปีหากเราจะค้นหาที่มาของลวดลายคนที่คิดค้นคนแรกนั้นปัจจุบันการทอผ้าของกะเหรี่ยงโพร่งยังไม่สามารถหาที่มาที่ไปได้ชัดเจน ยังคงมีแต่เพียงลวดลายที่สอนกันมาจากรุ่นสู่รุ่นให้ได้เห็นได้ชมกันในปัจจุบัน
กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงดอยยาวเป็นการรวมกลุ่มของสตรีชนเผ่าโพร่งในพื้นที่รวบรวมลวดลายต่าง ๆ ที่พอจะสามารถทอได้รวม ๆ แล้วกว่าร้อยลาย ซึ่งแต่ละลายจะมีชื่อเรียกเฉพาะกลุ่มที่รู้กันและถ่ายทอดให้แก่กันจนสมาชิกทุกคนในกลุ่มสามารถทอจกลายต่าง ๆได้สตรีชนเผ่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ฐานะยากจน และไม่มีอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักมีเพียงการปลูกข้าวที่ปีหนึ่งจะปลูกได้แค่ปีละหน ไม่มีการทำนาข้าวดอย ครั้นจะไปหาของป่าเพื่อมาประทังชีวิตดังเดิมก็ไม่ได้เพราะปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ดอยผาเมือง สตรีกลุ่มนี้จึงมีเพียงอาชีพการทอผ้าเพื่อเลี้ยงดูบุตรและครอบครัว แต่ถึงแม้จะสามารถทอผ้าได้สวยเพียงใดก็ยังไม่มีช่องทางการจัดจำหน่าย
โพล่งดวงพร กิติกาศ ลูกหลานชนเผ่าที่ออกไปศึกษาแล้วกลับมาคิดจะพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ตั้งแต่เกิดมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เมื่อปี 2560 จึงรวมกลุ่มชาวบ้านบ้านดอยยาวรวบรวมผลิตภัณฑ์ของแต่ละคนนำออกมาจำหน่ายยังสถานที่ต่าง ๆ ภายในและภายนอกจังหวัด ทำให้มีผู้สนใจผ้าทอกะเหรี่ยงและรู้จักผ้าทอกะเหรี่ยงโพร่งของหมู่บ้านดอยยาวมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะมีโอกาสได้นำผ้าทอของชาวบ้านออกจำหน่ายกว้างขวางขึ้น และเพื่อหวังเพียงให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มมีรายได้ที่บางคนเป็นเพียงรายได้เดียวของครอบครัวมีงานทอผ้าอย่างต่อเนื่อง คุณภาพชีวิตที่สังคมเมืองไหลขึ้นดอยและดอยถูกจำกัดเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าชุมชน เราจึงต้องพึ่งพาตนเองจากแรงกายจากภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เสมือนบรรพบุรุษเป็นผู้หยั่งรู้ให้ลูกหลานมีวิชาติดตัวไว้ใช้หล่อเลี้ยงครอบครัวและตนเอง
ชาวบ้านดอยยาว ส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรและเก็บหาของป่า โดยเฉพาะการปลูกข้าว การเก็บหาเห็ด ผักหวานป่า กบเขียน กุ้งฝอย ฮวก ปูนา รถด่วน น้ำผึ้งป่า และมีการเก็บลำไยทั้งในและนอกฤดูกาล
ในด้านประเพณีสำคัญของชุมชน ประกอบด้วย งานมักมือขึ้นบ้านใหม่ ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี งานปีใหม่เมือง หรืองานสงกรานต์ จัดขึ้นในเดือนเมษายน งานเลี้ยงผีหมู่บ้าน ส่งบ้าน จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม และเดือนกันยายน และงานเลี้ยงผีต้นน้ำ จัดขึ้นในเดือน มีนาคม นอกจากนี้ยังมีงานเลี้ยงผี หรือผิดผี ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 12 เดือน
นางบัวจันทร์ แพรวโพยม เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม 2505 อยู่บ้านเลขที่ 140 หมู่ที่ 16 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ความเชี่ยวชาญ ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าด้วยกี่เอวกะเหรี่ยงที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เป็นแม่ครูช่างทอที่สืบทอดการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษ จากมารดา สามารถทอลายจกได้มากกว่าหนึ่งร้อยรูปแบบลาย
ทุนของชุมชนบ้านดอยยาว ตามที่ได้จากการประชุมเพื่อวิเคราะห์ทุนชุมชน สามารถสรุปและจัดกลุ่ม ประเภทของทุนชุมชน เป็นหัวข้อต่างๆ ได้ดังนี้
1. ทุนกายภาพ ได้แก่ แม่น้ำแม่ขนาด ป่าชุมชนบ้านดอยยาว และโรงเรียนบ้านป่าเลา
2. ทุนเครือญาติ ได้แก่ ผู้อาวุโสในชุมชนบ้านดอยยาว
3. ทุนความรู้ ได้แก่ ภูมิปัญญาการทอผ้าที่เอว การปักผ้า การจักสาน และภาษา
ศักยภาพของชุมชนบ้านดอยยาว ตามที่ได้จากการประชุมเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพ คือตัวองค์ความรู้ ทางด้านวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงชุมชนบ้านดอยยาว ที่มีอยู่ตามหมู่บ้านหรือชุมชน และยังสามารถรักษาและ สืบทอดไว้ได้ และตัวผู้นําชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้นําทางจิตวิญญาณ ที่เข้มแข็ง และแม้ว่าวัฒนธรรม กะเหรี่ยงแบบดั้งเดิมบางอย่างจะหายไป เลิกไป หรือถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ทางชุมชมก็ยังมีศักยภาพ ที่จะสามารถดําเนินการตามวิธีการที่จะทําให้ไม่ให้สูญหายและอนุรักษ์ไว้ได้ ดังนี้
1. การประยุกต์ คือ การปรับความรู้เก่าร่วมกับความรู้ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การประยุกต์การบวชมาเป็นการบวชต้นไม้เพื่อให้เกิดสํานึกการอนุรักษ์ป่าไม้และธรรมชาติ การรักษาป่าและเก็บกักน้ำด้วยการทําฝายกั้นน้าให้มากขึ้น การประยุกต์การออกแบบลายผ้าแบบดั้งเดิมกับลายผ้าสมัยใหม่
2. การสร้างใหม่ คือ การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับความรู้ดั้งเดิม เช่น การประดิษฐ์เครื่องมือ หรืออุปกรณ์การทอผ้าที่เอวที่อํานวยความสะดวกและมีความรวดเร็ว การคิดโครงการแก้ไขปัญหาชุมชนโดย อาศัยคุณค่าความอาทรที่ชาวบ้านเคยมีต่อกันมาหารูปแบบใหม่ เช่น การสร้างกลุ่มสหกรณ์ชุมชน การรวมกลุ่มแม่บ้าน
3. การอนุรักษ์ คือ การรักษาความดีงาม เช่น ประเพณีต่างๆ การแต่งกายชุดกะเหรี่ยงในวันสําคัญ การใช้ภาษากะเหรี่ยงในครอบครัว สนับสนุนให้ประกอบอาชีพงานหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม และส่งเสริมการสร้างคุณค่าในตนเองหรือการปฏิบัติตนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม
4. การฟื้นฟู คือ การนําความรู้ที่ดีงามและสิ่งที่เคยปฏิบัติ เช่น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การนับถือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สูญหายไป เลิกไปหรือเปลี่ยนไป ให้นํากลับมาปฏิบัติกันในชุมชน
ในขณะเดียวกัน ชุมชมบ้านดอยยาวยังอุดมไปด้วยทรัพยากรทางวัฒนธรรม หรือมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรม ถือเป็นศักยภาพที่สําคัญของชุมชน ที่สามารถนํามาพัฒนาด้วยกระบวนการจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชน ได้ดังนี้
1) สืบสานภูมิปัญญาเพื่อการธํารงความเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะหรี่ยง แสดงถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ เช่น การกําหนดแนวทางการพัฒนาห้องเรียนภูมิปัญญาเพื่อสืบทอด เอกลักษณ์ชาวกะเหรี่ยงเครือข่ายชุมชน ด้วยรูปแบบศูนย์การเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ และขยายผลสู่ กลุ่มเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงในระดับประเทศ
2) สืบสานภูมิปัญญาเพื่อความเข้าใจภูมิปัญญาวัฒนธรรมในชุมชนและท้องถิ่น สําหรับการดําเนิน ชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง โดยเลือกกิจกรรมการทอผ้าที่เอว สร้างหลักสูตรจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และสร้างชุดความรู้การทอผ้าที่เอวที่มีความร่วมสมัย ให้อยู่ในกระบวนการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบรวมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้พร้อมกับสามารถนําไปประกอบอาชีพได้
3) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหารชุมชน นับเป็นเครื่องมือสําคัญในการสร้างประสบการณ์ การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่และสร้างเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากการท่องเที่ยวในหมู่บ้านชนบท ที่มีลักษณะ วิถีชีวิต มีผลงานสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น สร้างความเพลิดเพลินและได้รับความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน อีกทั้งมีความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น บนพื้นฐานความรับผิดชอบและมีจิตสํานึก ต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและคุณค่าของสภาพแวดล้อม นําเสนอวัตถุดิบจากทุกท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบในการปรุงอาหาร ทําให้เกิดการกระจายรายได้อย่างชัดเจนตรงไปยังท้องถิ่น เพราะเป้าหมาย สําคัญคือ การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสําคัญที่จะสร้างรายได้ กระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้าของ ประชาชนในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะใช้ “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารเป็นการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยกําหนดให้ภายในปี พ.ศ. 2568 รัฐบาลจะใช้อาหารเป็นตัวนําการท่องเที่ยว ทําให้เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทยตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) สร้างชุมชนเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาสู่การเป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไทยของชุมชน (Gastronomy village tourism) ด้วยคุณลักษณะ ดังนี้
(1) ความมีเอกลักษณ์ของอาหารท้องถิ่น
(2) ความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบภายในท้องถิ่น
(3) ความพร้อมและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
(4) กิจกรรมสําหรับนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย
(5) ความต้องการของชุมชนในการขอรับการสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยว
(6) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในท้องถิ่น และอื่น ๆ
4. ทุนเศรษฐกิจ ได้แก่ ผ้าทอที่เอวที่พัฒนาต่อยอด ศูนย์การเรียนรู้ การทอผ้ากี่เอว
5. ทุนการเมือง ได้แก่ กฎหมายหรือนโยบายรัฐบาลคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตของชาวไทย กลุ่มชาติพันธุ์ คือ มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง กฎหมายรัฐธรรมนูญ และ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
6. ทุนศาสนา ได้แก่ วัดดอยยาว พิธีกรรมความเชื่อ เช่น การเลี้ยงผีไร่ ผีต้นน้า ผีบรรพบุรุษ การไม่กินปลาต้นน้า งานบุญประเพณีท้องถิ่น การแห่ครัวตาน ไปร่วมกับชุมชนกะเหรี่ยงพระบาทห้วยต้ม บ้านโป่งแดง และบ้านห้วยน้าอุ่น
ชุมชนดอยยาว เดิมเป็นชาวกะเหรี่ยงโพล่งทั้งหมด แม้ว่าบางส่วนจะเลือกแต่งงานกับคนภายนอกที่ไม่ใช่คนกะเหรี่ยงโพล่ง แต่เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนต้องเรียนรู้และทําความเข้าใจในภาษากะเหรี่ยงโพล่ง การทักทายในภาษากะเหรี่ยงโพล่งไม่มีคําพูดที่เป็นทางการนัก มักถามไถ่เรื่องราวในชีวิตประจําวัน เช่น “หรี่เคาะหลอ” มีความหมายว่า “ไปไหน” หรือ “หรี่จาย” มีความหมายว่า “ไปเที่ยว” ภายในครอบครัว และชุมชนยังคงใช้ภาษากะเหรี่ยงโพล่งเป็นหลัก ส่วนการติดต่อสื่อสารกันทั่วไปใช้ภาษาเหนือ เนื่องจากชุมชน บ้านแม่ขนาดมีการติดต่อค้าขายกับคนภายนอกเป็นเวลานาน จึงทําให้ชาวบ้านในชุมชนคุ้นชินกับภาษาเมือง และภาษาไทย สื่อสารกับคนภายนอก
- ในชุมชนไม่มีงานรองรับ ผู้คนวัยหนุ่มสาวมักไปทํางานในนิคมอุตสาหกรรมลําพูน
- ไม่มีตลาดรองรับ ผ้าทอกี่เอว งานจักสาน และงานแกะสลัก
- ชุมชนเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยว ปัจจุบันการท่องเที่ยวในชุมชนหายไป
- อาชีพค้าขาย มีการลงทุนสูง
- คนในชุมชนเริ่มใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ และไม่ค่อยช่วยเหลือกันเยาวชนติดยาเสพติด และติดโทรศัพท์
- ผู้สูงอายุไม่สามารถใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการสื่อสารได้ เท่าคนรุ่นใหม่
- ในชุมชนร้านขายสุรามีจํานวนมาก ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนติดสุรา จนถึงขั้นเป็นโรคภาวะทางจิตไม่ปกติ
- การทอผ้ากี่เอว งานจักสาน และงานแกะสลัก คนรุ่นใหม่ไม่มีความรู้ ทําไม่เป็น ขาดการถ่ายทอด
- ผู้คนในชุมชนนิยมแต่งกายโดยใช้ผ้าของใหม่ (ใช้เครื่องจักรผลิต) ที่ราคาถูกกว่างานผ้าแบบดั้งเดิม(ใช้การทอผ้ากี่เอว)
- ไม่มีที่ดินทําการเกษตร ขาดแคลนน้า แหล่งน้าน้อย
- ไม่มีเอกสารสิทธิในพื้นที่ทํากิน และไม่กําหนดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้พื้นที่
กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงดอยาวมีสินค้าจากงานทอมอกี่เอวที่มีการผลิตและส่งขายเป็นรายได้หลักของชุมชนดอยยาวโดยการนำของ นางสาวดวงพร กิติกาศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน
ที่ว่าการอำเภอแม่ทา. (ม.ป.ป.). ข้อมูลอำเภอแม่ทา. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://lamphundopa.go.th/
กศน.อำเภอแม่ทา. (ม.ป.ป.). กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงดอยยาว. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/Maethanfe/
ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่ขนาด. (2566). แผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่ขนาด ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570). ลำพูน: ชุมชนบ้านเเม่ขนาด.