พื้นที่ราบสูงเชิงเขา มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ พื้นที่โดยรอบเป็นป่า และเป็นพื้นที่รับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
พื้นที่ราบสูงเชิงเขา มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ พื้นที่โดยรอบเป็นป่า และเป็นพื้นที่รับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
ในปี พ.ศ. 2510 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้ทำการเช่าพื้นที่ของกรมป่าไม้ คือ บ้านสวนป่าแม่เมาะ เพื่อทำกิจการและได้ชักชวนชาวบ้านจากหลายพื้นที่มาเป็นสมาชิก ประมาณ 30 ครอบครัว โดยมีการประชาสัมพันธ์ โฆษณาทางสถานีวิทยุ และทางโทรทัศน์ ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านโดยการสร้างอาชีพและการถางป่า จัดการพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ซึ่งตอบแทนเป็นค่าแรง ผู้หญิงวันละ 4 บาท ผู้ชายวันละ 10 บาท และกำหนดให้สมาชิกปลูกป่าไม้สัก ครอบครัวละ 10 ไร่ต่อปี โดยมีสวัสดิการต่าง ๆ ช่วยเหลือสมาชิกในหมู่บ้านทุกด้าน นอกจากนี้ทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้จัดสรรพื้นที่ คือ พื้นที่ทำกิน 5 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เข้า มาอาศัยในพื้นที่
ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2511 ภูมิลำเนาเดิมมาจากภาคอีสาน โดยมีหัวหน้าวินัย ทรัพย์รุ่งเรือง เป็นผู้ชักชวนและได้จัดสรรพื้นที่ให้มารวมกัน เพื่อความสะดวกในการทำงานและตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "หมู่บ้านพัฒนาป่าไม้" โดยขึ้นกับหมู่บ้านบ้านดงหมู่ที่ 12 โดยมีพ่อสม แก้วศิริ เป็นผู้นำหมู่บ้านในขณะนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2516-2519 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ปกครองชุมชนโดยขึ้นกับอำเภอเมืองลำปาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 พ่อสม แก้วศิริ ได้ขอแยกหมู่บ้านจากหมู่บ้านดง และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "สวนป่าแม่เมาะ" ซึ่งปัจจุบัน บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านดง เป็นการดูแลปกครองในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
ปัจจุบันบ้านสวนป่าแม่เมาะมีประชากรบางส่วนทำการอพยพไปยังหมู่บ้านอพยพ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขุดเหมืองของโรงไฟฟ้า ซึ่งมีการนำดินที่ขุดได้มาทิ้งหลังหมู่ที่ 7 (การทิ้งดินจะนำดินมากอง ๆ ไว้ เหมือนภูเขา) ทำให้เกิดดินสไลด์ มีเสียงขุดและสั่นสะเทือน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยหมู่บ้านอพยพนั้น มีประชากรที่ย้ายมาอยู่ทั้งหมดจำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่
- หมู่ที่ 1 บ้านหัวฝาย (อพยพมาอยู่ทั้งหมด)
- หมู่ที่ 2 บ้านดง (อพยพมาอยู่บางส่วน)
- หมู่ที่ 7 บ้านสวนป่าแม่เมาะ (อพยพมาอยู่บางส่วน)
- หมู่ที่ 8 บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง (อพยพมาอยู่ทั้งหมด)
บ้านสวนป่าเเม่เมาะ ตั้งอยู่บริเวณ พื้นที่ราบสูงเชิงเขา และมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ พื้นที่โดยรอบเป็นป่าและพื้นที่รับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านท่าสี หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านดง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ที่ทิ้งดิน อ่างห้วยหลวง ตำบลแม่เมาะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านดง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเสด็จ อำเภอเมือง
ปัจจุบันมีการย้ายถิ่นฐานไปอยู่หมู่บ้านอพยพบางส่วน โดยพื้นที่หมู่บ้านอพยพมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ป่าชุมชนบ้านท่าสี หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านดง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนสายลำปาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านดง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่บ้านอพยพ บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ 8 ตำบลบ้านดง
การคมนาคมขนส่ง
การคมนาคม สามารถเดินทางได้สะดวก โดยห่างจากตัวอำเภอแม่เมาะประมาณ 25 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดลำปางประมาณ 33 กิโลเมตร
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านสวนป่าแม่เมาะ จำนวน 337 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งสิ้น 426 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 210 คน หญิง 216 คน โดยคนในชุมชนส่วนใหญ่ภูมิลำเนาเดิมมาจากทางภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ
ประชาชนในหมู่บ้านสวนป่าแม่เมาะ มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายมีน้ำใจ เกื้อหนุนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน มีความคิดเห็นที่จะพัฒนาหมู่บ้านเหมือนกัน จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่
- กลุ่มออมทรัพย์
- กลุ่มธนาคารรักษ์แม่เมาะ
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
- กลุ่มฌาปนกิจ
- กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า
- กลุ่มทอเสื่อ
- กลุ่มทำวัสดุจากเศษไม้
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มเยาวชน
- กลุ่มทำนา
- กลุ่มเพาะเห็ด
- กลุ่มมะขามยักษ์
- กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
- กลุ่มหัตถกรรมแปรรูปเศษไม้ในชุมชน
- กลุ่มแปรรูปถนอมอาหารจากวัตถุดิบในชุมชน (อาทิ ปลาแดดเดียว)
- กลุ่มทอผ้า
- กลุ่มเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่
- กลุ่มเสริมสวย
- กลุ่มเลี้ยงหอยเชอรี่
กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้หมู่บ้านสวนป่าแม่เมาะมีแหล่งสวัสดิการและแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ มีแหล่งประโยชน์ที่สามารถใช้สร้างรายได้ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านสวนป่าแม่เมาะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยให้ประชาชนเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมตั้งกองทุนสวัสดิการ สร้างฐานเอื้ออารีเพื่อช่วยเหลือกันในชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายรับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ประชากรร้อยละ 100 นับถือศาสนาพุทธ ประชากรบ้านสวนป่าแม่เมาะ มีการใช้ประเพณีวัฒนธรรมตามบริบทท้องถิ่นในภาคเหนือและวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่สมาชิกในบ้านสวนป่าแม่เมาะมีภูมิลำเนาเดิมมาจากภาคอีสาน จึงมีการใช้ประเพณีทางภาคอีสานร่วมเป็นบางประเพณี เนื่องจากไม่มีผู้สืบสาน แต่ก็มีประเพณีที่โดดเด่นของชาวสวนป่าแม่เมาะ คือ งานเข้าปริวาสกรรมและปฏิบัติธรรม ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 10-19 ธันวาคม ของทุกปี มีพระภิกษุสามเณรที่มาจากที่ต่าง ๆ มาร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 100 รูป
1.นายธนภัทร พาระแพน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2513 ปัจจุบันอายุ 53 ปี รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เดิมพี่ชายเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน จึงมีความต้องการที่จะพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง โดยมีแนวคิดในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
2.นายสมควร สอนเขื่อน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันอายุ 60 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านศาสนา เป็นผู้ประสานงานติดต่อระหว่างวัดกับชาวบ้านในกิจการต่าง ๆ ของวัด และเป็นหัวหน้าในพิธีทำบุญในวัด (มัคนายก) รวมถึงได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านของตนเองด้วย
3.นางรัตนาพร สอนเขื่อน แพทย์ประจำตำบล คอยสังเกต ตรวจตรา ติดตาม การเจ็บไข้ได้ป่วยของคนในชุมชน ดูแลสุขลักษณะในชุมชนในสะอาดเรียบร้อย ป้องกันโรคภัยต่าง ๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น
4.นางเพ็ญศรี ษรีฤทธิ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2509 อายุ 57 ปี รองประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ดำเนินงานพัฒนาสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชนตลอดจนให้บริการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและป้องกันโรค การช่วยเหลือและรักษาพยาบาลขั้นต้น
การวางแผนชุมชน
บ้านสวนป่าแม่เมาะ มีการวางแผนร่วมกันโดยคนในชุมชนร่วมกันสะท้อนปัญหา จัดลำดับความสำคัญ สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โครงการที่เกินศักยภาพของหมู่บ้านจะแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง แก้ไขปัญหาต่อไป หรือบางกิจกรรมสามารถของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ช่วยดำเนินการได้
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนโดยร่วมกันทำฝายชะลอน้ำ ฝายแม้ว หรือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น งานสวนป่าแม่เมาะ ในการปลูกต้นไม้ และการทำแนวกันไฟ เพื่อส่งเสริมการหวงแหนรักษาป่าไว้ในชุมชน
ด้านสาธารณสุข
หมู่บ้านสวนป่าแม่เมาะ ไม่มีปัญหาด้านการรับบริการด้านสาธารณสุขเบื้องต้น เพราะมี อสม. ทำงาน กันอย่างเป็นระบบมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยการประชาสัมพันธ์ออกเยี่ยมบ้าน ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีการคัดกรองผู้ป่วยความดัน เบาหวาน เบื้องต้นก่อนนำผู้ป่วยรับการรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป
บ้านสวนป่าแม่เมาะเป็นหมู่บ้านที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จัดสรรพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาอาศัยในพื้นที่ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2511 ภูมิลำเนาเดิมมาจากภาคอีสานประมาณร้อยละ 90 และมีประชากรพื้นเมืองประมาณร้อยละ 10 จึงทำให้ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นภาษาถิ่นอีสานและภาษาถิ่นเหนือ
ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านสวนป่าแม่เมาะ มีแนวทางและวิธีการทำงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านจัดการตนเองโดยใช้หลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิด ความเห็นชอบร่วมกันในการพัฒนา หมู่บ้านผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชน มีการประชุมหมู่บ้านเดือนละครั้งเพิ่มศักยภาพโดยการส่งเสริม การรวมกลุ่ม ศึกษาดูงาน ทำให้คนในหมู่บ้านได้รับประโยชน์ตามที่ทุกคนถนัด เกิดความรู้สึกรักชุมชนและทำงานเพื่อชุมชน
ทิศทางการพัฒนาผู้ใหญ่บ้านสวนป่าแม่เมาะ มีแนวคิดการบริหารจัดการหมู่บ้านโดยยึดรูปแบบการมี ส่วนร่วมของคนในหมู่บ้าน เน้นความหลากหลายของกลุ่มและช่วงอายุ มีคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ โดยคณะกรรมการหมู่บ้านแต่ละฝ่ายแกนนำร่วมกันจัดทำข้อมูลปัญหา และความต้องการของประชาชนนำเข้าสู่เวทีประชาคมหมู่บ้าน ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและนำเสนอแผนโครงการที่ร่วมกันจัดทำขึ้นเป็นเครื่องมือในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิธีการทำงานเน้นการมีส่วนร่วม การรวมกลุ่มกันทำงานด้านอาชีพเพื่อช่วยให้สามารถลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น
เรื่องยาเสพติด วิธีดำเนินการ นำผู้เสพยาเข้ารับการบำบัดหลังจากการ รับการบำบัดมีการส่งเสริมฝึกอบรมอาชีพ และมีการติดตามผลการบำบัด ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง ดำเนินการ ผู้ใหญ่บ้านจะเรียกคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยโดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมด้วย ถ้าไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ จะส่งต่อตำรวจ โรคที่พบในหมู่บ้าน เช่น เป็นโรคตามฤดูกาล โรคไข้เลือดออก ด้วยวิถีชาวบ้านที่มีชีวิตเรียบง่าย ขาดความรู้ในการป้องกันและควบคุมโรค
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
รายงานการวิจัยชุมชนตำบลบ้านดง จังหวัดลำปาง
นายธนภัทร พาระแพน, สัมภาษณ์, มิถุนายน 2566
นายสมควร สอนเขื่อน, สัมภาษณ์, มิถุนายน 2566
นางรัตนาพร สอนเขื่อน, สัมภาษณ์, มิถุนายน 2566
นางเพ็ญศรี ษรีฤทธิ์, สัมภาษณ์, มิถุนายน 2566