Advance search

นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่น หมู่บ้านจัดการตนเองตามวิถีบ้านกลาง

หมู่ที่ 5
บ้านกลาง
บ้านดง
แม่เมาะ
ลำปาง
อบต.บ้านดง โทร. 0-5420-9513
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง
8 ก.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
25 ก.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
25 ก.ย. 2023
บ้านกลาง


ชุมชนชาติพันธุ์

นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่น หมู่บ้านจัดการตนเองตามวิถีบ้านกลาง

บ้านกลาง
หมู่ที่ 5
บ้านดง
แม่เมาะ
ลำปาง
57000
18.5625634999364
99.7536720335483
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง

บ้านกลาง เป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง สร้างบ้านเรือนอยู่กระจัดกระจายบนพื้นที่สูงท่ามกลางไม้ใหญ่ที่ยืนต้นซึ่งมีให้เห็นทั่วไปในชุมชนและรอบชุมชน แม้ชุมชนบ้านกลางจะไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับประวัติชุมชน แต่เมื่อสืบค้นทั้งจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนและจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ชุมชนบ้านกลางตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มายาวนานกว่า 300 ปี หรือ 5-6 ช่วงอายุคน 

บรรพบุรุษเล่าต่อ ๆ กันมาว่าผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์จาก จังหวัดกาญจนบุรี ที่เดินทางมาค้าขายใน จังหวัดแพร่ แล้วเดินทางต่อไปยังเชียงแสน โดยใช้เส้นทางสันดอยหลวง แต่ระหว่างทาง ได้หยุดพักบริเวณห้วยแม่มาย และพบว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ ซึ่งเหมาะแก่การอยู่อาศัยทำกิน จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐาน และสร้างหมู่บ้านขึ้น ต่อมาเริ่มมีคนเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงขยายพื้นที่ทำกินไปทางทิศเหนือ แล้วตั้งหมู่บ้านขึ้นอีกหนึ่งหมู่บ้านซึ่งก็คือบ้านกลางนั่นเอง 

หลักฐานการตั้งถิ่นฐานหลักฐานสำคัญอีกอย่างที่ยืนยันการก่อตั้งหมู่บ้านมายาวนานกว่าร้อยปี ได้แก่ ไม้ผลต่าง ๆ เช่น หมาก มะม่วง มะขาม พุทรา ส้มโอ ฯลฯ และหลักฐานเอกสารต่าง ๆ เช่นเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ภบท. 5 (ภาษีดอกหญ้า) นอกจากนี้ยังมีอีกประการหนึ่งที่ยืนยันการก่อตั้งหมู่บ้านมายาวนานกว่าร้อยปี คือเอกสารบันทึกการเข้ามาของศาสนาคริสต์เป็นภาษากะเหรี่ยงสะกอและอนุสาวรีย์แห่งการเผยแพร่ศาสนาของคณะคริสตจักรกะเหรี่ยงแบ๊บติสต์แห่งประเทศไทย (Karen Baptist Convention: KBC) 

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2431 ที่สร้างขึ้นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเดิม (บ้านเนาะ) มีการฉลองครบรอบ 125 ปี ของการเผยแพร่ศาสนาเมื่อปี พ.ศ. 2550 บ้านกลางนับเป็นหมู่บ้านแรกในประเทศไทยที่รับศาสนาคริสต์ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้าน ต่อมามีการขุดค้นทางโบราณคดีพบเงินเจียง ขุดค้นพบที่บ้านเลขที่ 1 เป็นเหรียญพระราชทานเมื่อครั้ง รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จชุมชนชาวไทยภูเขา โดยเหรียญนี้จะเรียกกันว่า “เหรียญชาวเขา” ซึ่งใช้เป็นหลักฐานแสดงความเป็นคนไทยแทนบัตรประจำตัวประชาชน 

ในอดีตชุมชนบ้านกลางนับถือผีมาก่อนและตั้งหมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากที่ตั้งหมู่บ้าน ในปัจจุบันประมาณ 3 กิโลเมตร ต่อมาได้มีการเข้ามาประกาศพระกิตติคุณ (คำสอนของพระเยซู) แก่ชาวบ้าน จนเกิดความนับถือ และศรัทธาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นคริสต์เตียนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการแต่งตั้งผู้นำหมู่บ้านผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่คนแรกจนถึงคนปัจจุบัน โดยมีลำดับ ดังต่อไปนี้

  • คนที่ 1 ผู้ใหญ่แจ้ง
  • คนที่ 2 ผู้ใหญ่แก้ว (เลือกจากชุมชนประมาณปี พ.ศ. 2474)
  • คนที่ 3 ผู้ใหญ่ขาว พุดสวย
  • คนที่ 4 ผู้ใหญ่หล้า
  • คนที่ 5 ผู้ใหญ่วอ หลักแหลม (แต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2496) มีเอกสารการแต่งตั้งเป็นหลักฐาน
  • คนที่ 6 ผู้ใหญ่บุญมากจีนตา (แต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2527)
  • คนที่ 7 ผู้ใหญ่สมชาติ รักษ์สองพลู (ปัจจุบัน)

ชุมชนบ้านกลาง เป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ เชื้อสายกะเหรี่ยงโปว์ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดลำปางเขตอำเภอแม่เมาะ ตำบลบ้านดง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองลำปาง ประมาณ 70 กิโลเมตร 

การบริหารจัดการพื้นที่ ได้มีการแบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ 8 ชนิด ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย ชุมชน และหมู่บ้าน พื้นที่นา พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่สวน พื้นป่าต้นน้ำ/ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าใช้สอย พื้นที่หมู่บ้านสัตว์ป่า และพื้นที่ป่าช้า รายละเอียดตามสัดส่วน ดังนี้

ประเภทพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่ดิน

ประเภทพื้นที่ พื้นที่ (ไร่) สัดส่วน (ร้อยละ)
พื้นที่อยู่อาศัย ชุมชน และหมู่บ้าน 58.81 0.25
พื้นที่นา 195.41 0.85
พื้นที่ไร่หมุนเวียน 1,721.76 7.46
พื้นที่สวน 305.32 1.32
พื้นป่าต้นน้ำ/ป่าอนุรักษ์ 2,752.11 11.92
พื้นที่ป่าใช้สอย 16,959.22 73.48
พื้นที่หมู่บ้านสัตว์ป่า 1,071.34 4.64
พื้นที่ป่าช้า 16.06 0.07
รวม 23,080.03 100.00

 

อาณาเขตติดต่อกับชุมชนใกล้เคียงดังนี้  

  • ทิศเหนือ ติด หมู่บ้านแม่ส้าน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
  • ทิศใต้ ติด หมู่บ้านจำปุย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
  • ทิศตะวันตก ติด บ้านปู่จ้อย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
  • ทิศตะวันออก ติด หมู่บ้านปางหละ อำเภองาว จังหวัดลำปาง

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านกลาง จำนวน 76 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งสิ้น 282 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 149 คน หญิง 133 คน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ ชาวบ้านจะให้ความเคารพเชื่อถือและปฏิบัติตามหลักคำสอนของคริสต์ศาสนาอย่างเคร่งครัด เช่น การเข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ และจะหยุดกิจกรรมทั้งหมด การเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส ฯลฯ การดำเนินชีวิตของชาวบ้านเป็นไปโดยเรียบง่าย มีวัฏจักรที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก บ้านกลางเป็นหมู่บ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นความสัมพันธ์ของผู้คนในหมู่บ้านเป็นลักษณะแบบครอบครัวขยาย ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้อง มีลักษณะการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในหมู่บ้าน จึงทำให้ผู้คนในหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและมีโครงสร้างดั้งเดิม โดยมีการปกครองแบบผสมผสานทั้งใช้ความเชื่อ ศาสนา มาประยุกต์ให้เข้ากับการปกครองที่อยู่ในรูปแบบกระจายอำนาจ ซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้นำศาสนา เป็นต้น

โพล่ง

กองทุนกลุ่มของหมู่บ้านกลาง พบว่า มีจำนวนหลายกองทุนที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้ชุมชนหมู่บ้านกลางสามารถพัฒนาและทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ โดยแต่ละกองทุนก่อตั้งขึ้นมาบนฐานวิถีชีวิต วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านกลาง ได้แก่ กองทุนหน่อไม้, กองทุนสิบลด (คือทุกส่วนที่ได้เงินมา เก็บ 10 บาท คืนกองทุน 1 บาท), กองทุนถวายสิบลดข้าวไร่หมุนเวียนข้าวนา (ส่วนใหญ่เป็นข้าว เป็นวัว ไก่ ควาย เบื้องต้นคือใช้ ข้าว 10 ถัง เอาไว้กองกลาง 1 ถัง) การบริจาค/การระดมทุนอื่น ๆ , ธนาคารข้าว กรณีข้าวไม่พอกิน สามารถเอามากินได้ และกลุ่มสตรี เป็นการรวมกลุ่มในเรื่องของการทอผ้า โดยช่วงโควิด ขาดแคลนหน้ากากอนามัย รวมกลุ่มกันตัดเย็บหน้ากากอนามัย และได้มีเครือข่ายภาคประชาชน เช่น มติ ครม. นโยบายต่าง ๆ ที่กระทบชุมชน ต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากชุมชนบ้านกลางเป็นถิ่นฐานของชาวโปว์ที่ตั้งรกรากมานานกว่าร้อยปี ได้รับผลกระทบจากการทำสัมปทานป่าถึง 3 รอบ ส่งผลให้สภาพป่าเปลี่ยนแปลง และยังเผชิญกับปัญหาการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด และข้าวบาร์เล่ย์ ทำให้เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง ชาวบ้านเริ่มทบทวนปัญหา นำมาสู่การบริหารจัดการป่าอย่างยั่งยืน โดยใช้วัฒนธรรมการดูแลป่าที่ถ่ายทอดตั้งแต่บรรพบุรุษ ผสมผสานกับหลักศาสนาคริสต์ โดยมีการจัดตั้ง "กองทุนหน่อไม้" เพื่อใช้บริหารจัดการป่า เชื่อมโยงงานอนุรักษ์กับเศรษฐกิจชุมชน การวิจัย "รอยเท้านิเวศ" (Carbon Footprint) เพื่อให้ชุมชนและสาธารณะตระหนักถึงคุณค่าป่าที่ดูแลว่ามีส่วนช่วยลดโลกร้อน อนุรักษ์วิถีการทำไร่หมุนเวียนโดยไม่ตัดตอไม้ เพื่อการป้องกันหน้าดินชะล้างและปล่อยให้ป่าฟื้นตัว สร้าง "หมู่บ้านสัตว์ป่า" จากพื้นที่ไร่หมุนเวียนเพื่อให้เป็นที่อาศัยและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อรักษาห่วงโซ่อาหารของธรรมชาติ ปลูกพืชผักหลากหลายเพื่อความมั่นคงทางอาหารโดยไม่ใช้สารเคมี และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประกาศสถาปนาสิทธิชุมชน และประกาศคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอ เพื่อแสดงจุดยืนว่า วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษเป็นรูปแบบการครองชีวิตที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เอื้อต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

กองทุนหน่อไม้จึงเป็นนวัตกรรมที่สะท้อนถึงการตอบแทนระบบนิเวศที่เรียกว่า PES (Payment Environment Service หรือ Payment Eco-system Service) ชาวบ้านกลางซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โปว์ (กะเหรี่ยง) สามารถหาหน่อไม้ไผ่หกแต่ละปีเป็นมูลค่ารวมประมาณ 600,000-700,000 บาท สำหรับหมู่บ้านที่มีประชากรไม่ถึง 300 คน นี่เป็นเศรษฐกิจชุมชนที่พ้นคำว่ายากจน และเพราะป่ามอบชีวิตที่มั่นคงให้ชาวบ้าน จึงตอบแทนด้วยการมอบรายได้จากการขายหน่อไม้ 3 วัน สมทบเข้ากองทุนหน่อไม้ที่แบ่งไปใช้ในเรื่องสวัสดิการของชุมชน เช่น ซื้อรถยนต์หนึ่งคันเป็นของหมู่บ้านสำหรับรับ-ส่งคนป่วยไปสถานพยาบาล ใช้ในกิจกรรมเกี่ยวกับดูแลสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านและหนุนเสริมกิจกรรมการรักษาป่าของชุมชนข้างเคียงอีกด้วย 

ด้านศาสนา

ชาวบ้านกลางนับถือศาสนาคริสต์และที่สถานที่สำคัญทางศาสนา คือ โบสถ์คริสตจักรมากมาย ตามที่ นายสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านกลาง เล่าให้ฟังว่า โบสถ์คริสตจักรแห่งนี้ ชื่อว่า คริสตจักรมากมาย มีความหมายว่า คริสตจักรนี้เป็นคริสตจักรกะเหรี่ยงแบ็บติสแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นกะเหรี่ยงหมู่บ้านแรกที่รับเอาศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เข้าในหมู่บ้านและหลังจากก่อตั้งคริสตจักรนี้แล้วผู้นำศาสนาได้ออกไปเผยแผ่ศาสนาที่หมู่บ้านอื่น จังหวัดอื่น จึงทำให้เกิดคริสตจักรมากมาย เป็นที่มาของชื่อคริสตจักรมากมาย สำหรับการก่อสร้างโบสถ์ เดิมสร้างด้วยไม้ไผ่ เมื่อชำรุดก็สร้างใหม่ และมีการโยกย้ายที่ตั้ง ดังนั้น โบสถ์หลังนี้จึงนับได้ว่าสร้างขึ้นเป็นหลังที่ 5 ทำด้วยไม้สักทั้งหลัง เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านจึงสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2552

ลักษณะอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

จากการสำรวจและคำบอกเล่าของชาวบ้านกลาง การสร้างที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกลางในอดีตนั้น สร้างบ้านเรือนจะสร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง หลังคาบ้านจะมุงด้วยหญ้าคาที่นำมาถักให้เป็นแพหรือใช้ลำไม้ผ่าครึ่งวางคว่ำ วางหงาย ฝาบ้าน และพื้นบ้านจะนำลำไม้ไผ่ซางสับทั้งลำ แล้วนำมาแผ่ให้เป็นแผ่น บ้านที่สร้างด้วยไม้ไผ่ จะมีอายุ 2-3 ปี จะต้องมีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่

ลักษณะการสร้างบ้านในปัจจุบันเป็นการสร้างบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูงบริเวณใต้ถุนใช้เป็นที่พักผ่อนและเก็บของตัวบ้านใช้ต้นไม้เนื้อแข็งทั้งเสาบ้านฝาบ้านและพื้นบ้าน ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้อง การสร้างบ้านด้วยไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้มีความคงทนมากขึ้นภายในตัวบ้านจะมีห้องนอนตามที่เจ้าของบ้านต้องการสร้างมีลานบ้านกว้างขวางเพื่อไว้ทำกิจกรรม ในครอบครัวหรือประกอบพิธีตามศาสนาส่วนห้องครัวจะอยู่ในตัวบ้านหรืออาจแยกต่างหากขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ของแต่ละครัวเรือน

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

มีการประกอบอาชีพหลักคือไร่หมุนเวียน การทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย ไร่เลื่อนลอยเป็นระบบเกษตรที่ย้ายไปเรื่อยๆ ไม่มีการพัฒนารูปแบบและการจัดการที่เป็นระบบอย่างถาวร แต่ไร่หมุนเวียนสำหรับชาวบ้านกลางนั้น มีวิธีการทำการเกษตรที่ช่วยดูแลรักษาดิน เพราะมีการเว้นช่วงการปลูกในระยะเวลาที่เหมาะสมให้ดินได้พักฟื้นฟูแร่ธาตุในดิน โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกและหมุนเวียนกลับมาใช้พื้นที่เดิมโดยให้พื้นที่ใหม่ได้พักฟื้น ทำให้สามารถทำการเกษตรได้ต่อเนื่อง

ข้อดีของไร่หมุนเวียน คือ เป็นระบบการเกษตรที่พึ่งพาน้ำฝนตามธรรมชาติ ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องอาศัยชลประทาน มีการปลูกพืชคลุมดิน และชาวบ้านมีระบบการจัดการทรัพยากร มีคณะกรรมการป่าชุมชน ที่ช่วยการทำแนวกันไฟก่อนที่จะเผาไร่ทุกครั้ง ไร่หมุนเวียนมีอาหารไว้บริโภคตลอดทั้งปี เจ้าของไร่จะปลูกทุกอย่างไว้ในไร่เพื่อมีไว้บริโภคตลอดทั้งปี อาหารที่มีอยู่ในไร่หมุนเวียน เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ ถั่วพู กระเจี๊ยบเขียว บวบลาย บวบเหลี่ยม แมงลัก ผักชีลาว แตงกวา เผือก มัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ผักชี ห่อว่อ ถั่ว ผักชีฝรั่ง ข่า ขิง โหระพา ขมิ้น มะเขือเทศ ฯลฯ อาหารบางชนิดสามารถเก็บกินได้ทั้งปีหรือนานกว่านั้น บางชนิดขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น พริกสดและพริกแห้ง ซึ่งเป็นอาหารที่ปลอดสารพิษสามารถเก็บไว้ได้นาน

นอกจากทำไร่หมุนเวียนแล้วชาวบ้านกลางมีอาชีพอื่นๆ เช่นการหาของป่า เก็บน้ำผึ้ง ผักหวาน หนอนไม้ไผ่และครั่ง ทำไร่มะแขว่น ซึ่งมีรายได้สูงเป็น 5 อันดับแรกของอาชีพทั้งหมดโดยเฉพาะน้ำผึ้งเป็นที่รู้จักและนิยมมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

การเก็บหาของป่า ปัจจุบันการเก็บหาของป่าเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับชาวบ้านทุกครัวเรือนจะหาของป่าทั้งเพื่อการบริโภคและขาย การเก็บหาของป่านั้น จะมีข้อตกลงระเบียบการจัดการที่คนในชุมชนมาตกลงร่วมกันและปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด

การทำสวน ทำในลักษณะสวนวนเกษตร เป็นการปลูกเพื่อยังชีพเป็นหลักเหลือกินจึงขายบ้าง พื้นที่สวนส่วนมาก จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับชุมชน พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ได้แก่ มะม่วง มะขาม พุทรา ส้มโอ ลิ้นจี่ กล้วย มะแขว่น ฯลฯ โดยมะแขว่นถือว่าเป็นพืชหลักเพียงชนิดเดียวที่ได้ขายทุกปี ชุมชนมีข้อตกลงว่าห้ามปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ เนื่องด้วยเกรงจะเกิดผลกระทบจากการใช้สารเคมี 

การเลี้ยงสัตว์ เป็นการเลี้ยงสัตว์พื้นบ้านได้แก่ วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ใช้เพื่อการบริโภคและขายบ้างเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น ส่งลูกเรียน ใช้หนี้ รักษาพยาบาล ฯลฯ ถือเป็นแหล่งออมทรัพย์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของคนในชุมชน การเลี้ยง วัว ควาย นั้นในฤดูฝนจะเลี้ยงปล่อยไว้ในป่า ส่วนฤดูแล้งจะนำมาเลี้ยงไว้ใกล้ๆ บ้าน เช่น ในนา ในสวน

การทำนา พื้นที่บริเวณที่ราบและริมลำห้วยก็จะมีการบุกเบิกเป็นนาสำหรับปลูกข้าว ข้าวที่ปลูกในนา จะมีทั้งพันธุ์ดั้งเดิมและพันธุ์ที่ได้รับการส่งเสริมจากทางราชการ ปัจจุบันนาถือเป็นฐานการผลิตหลักของคนในชุมชน จะมีการลงแขกด้านแรงงานด้วย

การหัตถกรรม ปัจจุบันครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงมีการจักสาน เสื่อ กระบุง ตะกร้า ฯลฯ ไว้ใช้สอยและทอผ้าไว้นุ่งห่ม ซึ่งจะทำเมื่อว่างเว้นจากการผลิตด้านเกษตรกรรม

1.ปราชญ์ชาวบ้านด้านศาสนา

นายคำแสน มะโน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2498 ปัจจุบันอายุ 98 ปี เป็นศิษยาภิบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532-2547 (ประมาณ 15 ปี) โดยได้ไปศึกษาศริสธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 4 ปี อีกทั้งยังได้รับการถ่ายทอดต่อจากบรรพบุรุษ ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นศิษยาภิบาล จึงมาสอนภาษากะเหรี่ยงให้กับเด็ก ๆ เพื่ออนุรักษ์และสืบสาน สืบทอดภาษากะเหรี่ยงให้คงอยู่ต่อไป 

2.ปราชญ์ชาวบ้านด้านยาสมุนไพร

ด้วยความที่พื้นที่อยู่บนภูเขา ทำให้หมู่บ้านกลาง เกิดองค์ความรู้ในการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาปรุงยาสมุนไพรเพื่อใช้รักษาตน สมุนไพรในพื้นที่มีจำนวนมาก เช่น รากคา ใช้เพื่อเป็นยาลดไข้, ตะไคร้ ใช้แก้ร้อนใน, ใบหญ้านาง ใช้แก้ร้อนใน, ใบไมยราพ ใช้รักษานิ่ว โดยนำมาต้มดื่ม และรางจืด ใช้สำหรับแก้พิษ เป็นต้น

นายอิน หลักแหลม (อายุ 81 ปี) มีความสามารถในการเสาะหาและเก็บพืชสมุนไพรพื้นบ้านจากป่าของชุมชน เพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บป่วย ต่าง ๆ โดยความรู้ด้านสมุนไพรนี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

3.ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปหัตถกรรม 

นายอิน หลักแหลม (อายุ 81 ปี) นอกจากมีเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านยาสมุนไพรแล้ว ยังมีความสามารถในการทำเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ เช่น ตะกร้า กระด้ง ไซดักปลา ฝักมีด เป็นต้น สำหรับความรู้ด้านหัตถกรรมนั้นได้มาจากการหัดทำด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญ และสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้

4.ประวัติของศาสนาจารย์วินเนอร์ หลักแหลม และการสืบทอดตระกูลหลักแหลม

ศาสนาจารย์ วินเนอร์ เป็นคนในหมู่บ้าน เปเลคี จังหวัด ทองอู ประเทศพม่า ตอนที่เขาเป็นหนุ่มพ่อแม่ตั้งชื่อให้ชื่อ ซอเซวย่าแม เข้าโรงเรียนจนจบแล้วต่อจากนั้นเรียนต่อพระคัมภีร์ที่พระคริสธรรมเอเชี่ยนประเทศพม่าหลังจากนั้นเขาเปลี่ยนชื่อเป็นซอเซยแม เป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้ ศาสนาจารย์วินเนอร์ จบการศึกษาพระศริสธรรมคัมภีร์ที่เอเชี่ยนในปี ค.ศ. 1961 หลังจากนั้นเขากลับไปเยี่ยมหาพี่น้องและได้พบกับศาสนาจารย์ เอนีดีวา แมนิคา เป็นคนโมจะ ประเทศพม่า เขารับใช้ที่ประเทศพม่าท่ามกลางชาวกะเหรี่ยง เขาเป็นผู้ช่วยด้านการประกาศและกลับมาเปิดพระคริสต์ธรรม บ้านสันโตโตช้างเคี่ยน (เชียงใหม่) และเขากลับไปประเทศพม่าและเจอกับศาสนาจารย์วินเนอร์กับพาวาแฮ ศาสนาจารย์พาวาแฮ เป็นคนจังหวัด มาลาเมีย ศาสนาจารย์เอนีดีวา ชวนศาสนาจารย์วินเนอร์ และศาสนาจารย์พาวาแฮ ออกจากประกาศเขตเมือง พระคริสธรรมสิโลฮัมประเทศไทย ศาสนาจารย์วินเนอร์ และศาสนาจารย์พาวาแฮมา ถึงเมืองยูตรา ศาสนาจารย์ พาวาแฮ ได้ทำงานรับใช้ร่วมกันที่พระคริสต์ธรรมสิโลอัม จังหวัดเชียงใหม่

ศาสนาจารย์วินเนอร์ทำงานรับใช้ที่เชียงใหม่พบเจอกับอาจารย์เซมือ ที่บ้านเนาะ (บ้านกลางปัจจุบัน) ได้แต่งงานกันหลังจากนั้นไม่นานเพื่อนชวนเขาไปทำงานที่กรมป่าไม้สวรรคโลก ตอนที่เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขามีลูกผู้ชายตั้งชื่อให้ซอซัวเม่อเนอ แปลว่าสวรรคโลก ตอนที่เขาเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาป่วยหนักมากเกือบเสียชีวิต หลังจากนั้นเขาก็รักษาตัวจนหาย เขาไม่ได้กลับไปทำงาน 4 ปี และเขากลับมายังบ้านเนาะ อยู่ไม่นาน ทางคริสตจักรบ้านเนาะขอให้เขาเป็นศิษยาภิบาล ตอนที่ศาสนาจารย์วินเนอร์เป็นศิษยาภิบาลมีลูกชาย 4 คน 1.ซัวมาเนอ 2.ผู้ปกครองวอเลนเทอร์ 3.ซอเทเบอร์ 4.ศาสนาจารย์ออเลอเดย์

หลังจากนั้นในปี 1928 ทางศูนย์พระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ขอให้ไปช่วยงานที่พระคริสต์ธรรมศิโลอัมเชียงใหม่ หลังจากนั้น ศาสนาจารย์วินเทอร์ ทำงานรับใช้ที่พระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ได้ไม่นานถูกย้ายที่ทำงานที่บ้านแมโตโกลในขณะนั้นบ้านแมโตโกลมีคริสตเตียนไม่กี่หลังคาเรือน ตอนที่ผมยังเป็นเด็กอายุได้ 4 ปี (ศาสนาจารย์ทอง หลักแหลม) ผมจำได้ว่าคนที่เขาอยู่ที่นั่น บ้านหลังที่ 1 เป็นพ่อเลี้ยงแอะทูโด หลังที่ 2 พ่อเลี้ยงแกแว ส่วนคนอื่นจำไม่ได้ คุณพ่อศาสนาจารย์วินเนอร์ ตอนที่เขาทำงานรับใช้อยู่ที่หมู่บ้านแมโต่โกลนั้น คุณแม่คลอดลูกชายคนสุดท้อง (ผู้ปกครองโรเล่) ในปี ค.ศ. 1934 หลังจากที่เขาทำงานรับใช้ที่แมโต่โกลได้ 3 ปี คุณแม่ป่วยเป็นโรคผิดเดือน เขาอยู่ที่นั่นไม่ได้ต้องย้ายคุณแม่ไปยังพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ในสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทางชาวบ้านต้องแบกคุณแม่ตั้งแต่บ้านแมโต่โกลถึงบ้านโป่งแยง ระหว่างทางต้องพักนอนหลายคืน หลังจากถึงบ้านโป่งแยง จึงขึ้นรถกลับมายังเชียงใหม่

ทุนวัฒนธรรม

ด้านอาหาร

อาหารการกินชุมชนบ้านกลางตั้งแต่ดั้งเดิมจะใช้พืชผักที่ขึ้นตามป่าตามเขาและปลูกในไร่หมุนเวียน ตามฤดูกาลนั้น ๆ มาประกอบอาหาร โดยนำมาผสมกับเครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในครัว อาหาร ที่เป็นเนื้อสัตว์จะได้จากสัตว์ที่เลี้ยงไว้บริโภคในครัวเรือนเช่น ไก่ หมู หากเป็นสัตว์น้ำจะหาตามลำห้วยต่าง ๆ ซึ่งในลำห้วยมีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำสูง สามารถหาได้ทุกฤดูกาล แต่ชาวบ้านจะไม่หาหรือจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝนเนื่องจากเป็นช่วงสัตว์น้ำวางไข่และเป็นช่วงที่มีน้ำมากหาปลาต่าง ๆ ยาก

พืชผักที่สามารถหาได้ตามฤดูกาล เช่น

  • ฤดูร้อน ผักกูด ผักหนาม ชะอม ผักหวาน ดอกสะแล ดอกตั้ง ดอกแค ผักแซว 
  • ฤดูฝน หน่อไม้ชนิดต่าง ๆ ยอดฟักทอง แตงกวา ดอกดิน มะระขี้นก มะเขือพวง 
  • ฤดูหนาว ดอกนางลาว ผักหนัง ตุน บอน ตำลึง ผักกาดกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักชีฝรั่ง

กะเหรี่ยงที่ชุมชนบ้านกลางนิยมรับประทานข้าวเหนียวสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะสมัยก่อนได้มีการคบค้ากับคนพื้นราบและข้าวไม่พอกินต้องซื้อข้าวจากคนพื้นราบและรับวัฒนธรรมการกินข้าวเหนียวมาด้วยในกลุ่มผู้ชายให้เหตุผลในการรับประทานข้าวเหนียวว่า รับประทานง่าย พกพาสะดวก รับประทานแล้วอยู่ท้อง เหมาะกับคนที่ต้องทำงานออกแรงมาก ซึ่งจะนึ่งข้าวเหนียวในตอนเช้า ส่วนตอนเย็นจะหุงข้าวเจ้าเพราะไม่ต้องทำงานหรือต้องใช้แรงงานมาก พันธุ์ข้าวเหนียวที่นิยมรับประทานและเป็นพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เช่น ข้าวเฮ้า (กอฮอ) ปะแอ่งลึ จะมีคุณสมบัติพิเศษคือจะเหนียวนุ่ม ส่วนข้าวเหนียวดำ (ปะแอ่งเซ่อ) นิยมทำขนมและนึ่งผสมกับข้าวเหนียวเพื่อให้มีสีสวยงามน่ารับประทานมากขึ้น ข้าวเจ้ามีทั้งพันธุ์พื้นบ้าน เช่น บือเซ่อ บือพะโด

การแต่งกาย 

การแต่งกายของชาวบ้านชุมชนบ้านกลางปัจจุบันแต่งกายเหมือนคนพื้นราบแต่ยังคงมีการรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายชุดกะเหรี่ยงในวันสำคัญต่าง ๆ ดังที่ นางจารุณีย์ หละแหลม ได้กล่าวถึงการแต่งกาย ของชุมชนบ้านกลาง ไว้ดังนี้

ชุมชนบ้านกลางได้มีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะพร้อมกับการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาของมิชชั่นนารีชาวพม่าเมื่อปี ค.ศ. 1882 จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป ไม่สามารถทอผ้าได้ จากคำบอกเล่าพบว่าเมื่อก่อนได้มีเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอยู่ ซึ่งคล้ายกับกะเหรี่ยงที่บ้านแม่ส้าน จากประวัติศาสตร์เป็นบ้านแม่ส้าน มีถิ่นฐานที่บ้านกลางมาก่อนและได้มีการแยกย้าย ตั้งถิ่นฐานใหม่ และไม่ได้เปลี่ยนศาสนาเครื่องแต่งกายทั้งชายและหญิงยังคงมีอยู่ ส่วนบ้านกลางหลังจากได้เปลี่ยนศาสนาดั้งเดิมมาเป็นศาสนาคริสต์และละทิ้งประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด รับเอาวัฒนธรรมทางตะวันตกและวัฒนธรรมการแต่งกายของกะเหรี่ยงสกอว์ด้วย เช่น วันคริสต์มาส วันขึ้นปีใหม่ วันอิสเตอร์

ปัจจุบันการแต่งกายทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะใส่เสื้อผ้าที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป เช่น เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกงและผ้าซิ่น ทั้งนี้ได้มีการรณรงค์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมการแต่งกายขึ้นมาเพื่อให้เอกลักษณ์ของการเป็นกะเหรี่ยงยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าชุมชนบ้านกลางเป็นกะเหรี่ยงโปว์แต่ได้นำวัฒนธรรมการแต่งกายของกะเหรี่ยงสกอว์ มาใช้ที่ผ่านมาได้ให้กลุ่มแม่บ้านอบรมการทอผ้า เพื่อให้สมาชิกในครัวเรือนได้สวมใส่ในวันสำคัญทางศาสนา หรือหากมีพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน หรืองานฌาปนกิจ ซึ่งจะใช้ได้ทุกงาน

การแต่งกายของผู้ชายและเด็กผู้ชาย เป็นเสื้อที่ทอโดยใช้กี่เอวเรียกว่า “เชพะกอ” คล้ายผ้าทอของกะเหรี่ยงทั่วไปจะเน้นให้เป็นสีแดงใส่กับกางเกงทั่วไป ขณะเดียวกันได้มีการประยุกต์ให้มีสีที่หลากหลายมากขึ้น ตามความชอบของแต่ละบุคคล

การแต่งกายของเด็กผู้หญิงและหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน จะเป็นผ้าทอโดยใช้กี่เอวเช่นเดียวกันจะเป็นชุดคลุมยาวสีขาว เรียกว่า “ เช-วา” ซึ่งอาจมีลวดลายที่บริเวณเอว และตรงชายเสื้อเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความสวยงาม อาจใช้ “โข่เผ่อกิ ”หรือผ้าโผกหัวด้วยก็ได้ การใช้ชุดคลุมขาวแสดงถึงความบริสุทธิ์ สดใสดุจผ้าขาวของเด็กและหญิงสาว

การแต่งกายของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว จะใส่ชุดที่มีสองท่อน คือ มีเสื้อ 1 ชิ้นและผ้าถุง 1 ชิ้นเรียกว่า “เชโหม่ซู” ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 แบบ

แบบที่ 1 คือ เชโหม่ซู มีลักษณะเด่นคือ ตั้งแต่หน้าอกขึ้นไปจะทอด้วยด้ายสีดำ จากหน้าอกลงมาจะทอโดยผสมลวดลายหลายชนิด เรียกว่า “เชอู”

แบบที่ 2 คือ เชเบอะ ซึ่งจะทอเหมือนเสื้อกะเหรี่ยงผู้หญิงแต่ตกแต่งด้วยการปักด้ายและเบอะ เบอะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กยาวสีขาวหรือเป็นเม็ดกลมรี

การใช้เบอะขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล ส่วนผ้าถุงจะมี 3 แบบ ซึ่งจะมีสีแดงเป็นหลัก แบบที่ 1 เรียกว่า “หนี่อู” คือผ้าถุงที่มีการทอผสมลวดลายหลายชนิดโดยเน้นที่กลางและด้านล่างให้มีความสวยงาม แบบที่ 2 เรียกว่า “หนี่กิ” คือผ้าถุงที่มีการนำด้ายมามัดย้อมให้เกิดลวดลายตามต้องการและนำมาทอเป็นผืน แบบที่ 3 เรียกว่า “หนี่บะตอ” มี 3 ชิ้นใน 1 ผืน ด้านบนและด้านล่างจะทอเหมือนกันแต่ตรงกลาง จะมีลวดลายที่สวยงาม ส่วนโข่เผ่อกิหรือผ้าโผกหัว ปลายทั้งสองทอเป็นลวดลายด้วยสีแดงหรือสีตามต้องการส่วนตรงกลางจะเป็นสีขาว แต่ปัจจุบันได้มีการประยุกต์ให้มีความหลากหลายในรูปแบบลวดลายและสีของเสื้อ และผ้าถุงรวมทั้งได้มีตัดเย็บตามรูปแบบต่าง ๆ ให้ทันสมัยและใส่ได้หลากหลายโอกาสมากขึ้น

ถึงแม้การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่คุณค่าและความสำคัญเรื่องราวของเครื่องแต่งกายยังคงมีคุณค่าต่อชาวกะเหรี่ยงบ้านกลาง เห็นได้จากการที่หมู่บ้านได้มีการจัดอบรมการทอผ้า กี่เอว และแต่งกายผ้าทอกะเหรี่ยงในประเพณี และวันสำคัญ นับได้ยังคงอยู่ในวิถีชาวบ้านกลาง

ทุนกายภาพ

ความหลากหลายทางชีวภาพ/ป่าไม้ 

ด้วยสภาพพื้นที่ชุมชนแวดล้อมไปด้วยป่าเบญจพรรณ จึงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากร แหล่งอาหาร ป่าจึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมอาหารการกินของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลาง ตั้งแต่ดั้งเดิมจะใช้พืชผักที่ขึ้นตามป่าตามเขาและปลูกในไร่หมุนเวียนตามฤดูกาลนั้น ๆ มาประกอบอาหาร โดยนำมาผสมกับเครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในครัว อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์จะได้จากสัตว์ที่เลี้ยงไว้บริโภคในครัวเรือน เช่น ไก่ หมู หากเป็นสัตว์น้ำจะหาตามลำห้วยต่าง ๆ ซึ่งในลำห้วยมีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำสูง สามารถหาได้ทุกฤดูกาล แต่ชาวบ้านจะไม่หาหรือจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงสัตว์น้ำวางไข่และเป็นช่วงที่มีน้ำมาก หาปลาต่าง ๆ ยาก

พืชผักที่สามารถหาได้ตามฤดูกาล เช่น ฤดูร้อน จะมีผักกูด ผักหนาม ชะอม ผักหวาน ดอกสะแล ดอกตั้ง ดอกแค ผักแซว ผักไห่ ผักกุ่ม เป็นต้น ส่วนในฤดูฝน จะมีหน่อไม้ชนิดต่าง ๆ ยอดฟักทอง แตงกวา ดอกดิน มะระขี้นก มะเขือพวง ผักขม ผักเอิงควาย ดอกก้าน ถั่วชนิดต่าง ๆ เห็ดโคน เห็ดหล่ม เห็ดไข่ เห็ดโคนจอมปลวก เห็ดหูหนู เป็นต้น และฤดูหนาว จะมีดอกนางลาว ผักหนัง ตุน บอน ตำลึง ผักกาดกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักชีฝรั่ง ยี่หร่า เห็ดลม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างอาหารที่ได้จากป่าชุมชนเพียงบางส่วน

หากสำรวจอาหารของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลาง แหล่งอาหารที่สำคัญที่สุดคือ ไร่หมุนเวียน ซึ่งไร่หมุนเวียนมีผักต่าง ๆ ไว้บริโภคตลอดทั้งปี โดยเจ้าของไร่จะปลูกทุกอย่างไว้ในไร่หมุนเวียน เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ ถั่วพู กระเจี๊ยบเขียว บวบลาย บวบเหลี่ยม แมงลัก ผักชีลาว แตงกวา เผือก มัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มะนอย ผักชี ห่อว่อ ถั่ว ผักชีฝรั่ง ข่า ขิง โหระพา ขมิ้น มะเขือเทศ ฯลฯ ซึ่งผักบางชนิดสามารถเก็บกินได้ทั้งปีหรือนานกว่านั้น บางชนิดขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น พริกสด และพริกแห้ง ซึ่งเป็นผักที่ปลอดสารพิษสามารถเก็บไว้ได้นาน นอกจากนี้ยังมีการทำข้าวแกงข้าวเบอะ เป็นอาหารพื้นบ้านของกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นแกงข้าวที่ต้มสุกจนไปถึงสุกเละใส่พริกแกง เนื้อสัตว์และผัก แกงข้าวเบ๊อะมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแกงข้าวเบอะใบพอวอ (ดั้งเดิม) แกงข้าวเบอะผักกาด แกงข้าวเบอะหน่อไม้ แกงข้าวเบอะเห็ดลม เป็นต้น ยกตัวอย่าง แกงข้าวเบอะหน่อมื้อ หรือที่เรียกกันว่า "ต้นเต่าร้างแดง" เมื่อนำมาประกอบอาหารจะมีรสชาติหวาน ใส่เครื่องแกงที่ตำด้วยพริกกะเหรี่ยงแท้ และเพิ่มความหอมด้วยกลิ่นขมิ้น 

โครงสร้างพื้นฐานเดิมของหมู่บ้านกลาง ประกอบด้วย บ่อน้ำตื้น ลำห้วย ถนนภายในหมู่บ้าน โบสถ์คริสต์ ที่ดิน สะพาน และระบบประปาภูเขา เป็นต้น

โครงสร้างพื้นฐานจากรัฐ ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านแม่ส้าน สาขาบ้านกลาง ถนนจากกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สะพานคอนกรีต บ่อบาดาล ที่กรองน้ำ ศาลาอเนกประสงค์พร้อมห้องน้ำ เสาไฟฟ้า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ฝายชะลอน้ำ แทงค์เก็บน้ำ หอกระจายเสียงหมู่บ้าน และบ้านพักรับรอง

ทุนเครือญาติ

บ้านกลางเป็นหมู่บ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นความสัมพันธ์ของผู้คนในหมู่บ้านเป็นลักษณะแบบครอบครัวขยาย ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้อง เป็นลักษณะการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันในหมู่บ้าน จึงทำให้ผู้คนในหมู่บ้านมีลักษณะความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและมีโครงสร้างดั้งเดิม โดยมีการปกครองแบบผสมผสานทั้งใช้ความเชื่อ ศาสนา มาประยุกต์ให้เข้ากับการปกครองที่อยู่ในรูปแบบกระจายอำนาจ ซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำศาสนา เป็นต้นจากการทำเวทีเก็บข้อมูลพบว่า กลุ่มนามสกุลที่มีจำนวนมากที่สุดหมู่บ้านกลาง มีประมาณ 10 กลุ่มนามสกุล ได้แก่ นามสกุลพุดสวย นามสกุลหลักแหลม นามสกุลหละแหลม นามสกุลจินตา นามสกุลอินตา นามสกุลปินตา นามสกุลมะโน นามสกุลมะกันถา นามสกุลตะใน และนามสกุลธุระวอน 

ที่มีอิทธิพลมากที่สุดมี 3 กลุ่มตระกูล คือ พุดสวย (ผู้นำทางการ) ซึ่งการมีนามสกุลมาจากการมีบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งต้องมีนามสกุลจึงจะสามารถมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ จึงทำให้เกิดกลุ่มนามสกุลในหมู่บ้านกลางหลากหลายนามสกุล

ทุนความรู้

เนื่องจากวิถีชีวิต การตั้งถิ่นฐานอาศัยของหมู่บ้านกลางมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติจึงเกิดเป็นทุนความรู้ที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นฐานการผลิตองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น 

องค์ความรู้เรื่องไร่หมุนเวียน

ชุมชนบ้านกลางมีไร่หมุนเวียนกินพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ตามแนวภูเขาที่ชาวบ้านต่างปรับแต่งให้กลายเป็นพื้นที่ทำกิน ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกเพื่ออยู่อาศัยในครัวเรือน โดยการเพาะปลูกแต่ละครั้งนั้นจะใช้พื้นที่ไม่ถึง 100 ไร่ เฉลี่ยแล้วตกครัวเรือนละ 5 ไร่ ผลผลิตจากไร่หมุนเวียน ไม่ได้ทำเพื่อหารายได้ แต่ปลูกเพื่อนำมาประกอบอาหารในครัวเรือน ในแต่ละปี 1 ครอบครัว ทำไร่หมุนเวียนครอบครัวละ 5 ไร่ ในช่วงเวลา 5-6 ปีจะหมุนเวียนกลับมาทำซ้ำในจุดเดิม แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ หรือบางพื้นที่อาจใช้เวลาแค่ 4 ปี ก็สามารถกลับไปทำได้แล้วซึ่งชุมชนมีกฎกติกาของชุมชนชัดเจนว่าจะไม่บุกรุกป่าเพิ่มเติม ซึ่งองค์ความรู้ในไร่หมุนเวียนชาวบ้านสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการดูแลป่าและการจัดการทรัพยากรจนสามารถยกระดับเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว รวมถึงการใช้ความรู้มาสร้างหรือจัดทำฐานข้อมูลชุมชน รวมถึงการชูประเด็นสิทธิชุมชนในการจัดการโดยตัวชุมชนเอง

ดังนั้นองค์ความรู้เรื่องไร่หมุนเวียนจึงมีตั้งแต่ระบบการจัดการในไร่ เช่น องค์ความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน การจัดการความหลากหลายในพื้นที่ การจัดการที่ดิน และการฟื้นฟูการใช้ที่ดิน รวมถึงการจัดการฐานทรัพยากรที่จำเป็นต่อการทำไร่หมุนเวียน และการดำรงชีวิตตามวิถีของโปว์

ความรู้ประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากร

ด้านองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางเริ่มต้นการแบ่งเขตป่าอย่างชัดเจน เมื่อปี พ.ศ. 2538 ซึ่งก่อนหน้านั้นชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าเหมือนปัจจุบัน แต่มีแบบแผนการดูแลรักษาป่าที่ยังไม่ชัดเจน และไม่เป็นระบบ หลังจากที่ชุมชนได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับเรื่อง การจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในขณะเดียวกันมีการประกาศเขตอุทยานจึงก่อให้เกิดการตื่นตัว และนำไปสู่การรวมตัวกัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านกลางขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 เพื่อเป็นคณะทำงานในการดูแลจัดการป่าของหมู่บ้าน พร้อมมีการวางแผนกิจกรรมในการดูแลรักษาป่าของชุมชนซึ่งมีการแบ่งประเภทของป่า ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ป่าเนื่องจากต้องการรักษาสมดุลของป่าและต้องการให้หน่วยงานหรือบุคคลภายนอกเห็นถึงกระบวนการการดูแลจัดการป่าของชุมชน

การแบ่งการใช้ประโยชน์จากป่าของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางนั้นแบ่งตามความคุ้นเคย และลักษณะของป่า ซึ่งให้ผู้คนภายนอกชุมชนนั้นสังเกตลักษณะ สันห้วย และดอยสำคัญ เป็นหลัก ชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางจะรู้ว่าเขตป่าอยู่ตรงบริเวณใด ใช้ประโยชน์ด้านใด เช่น ป่าอนุรักษ์ ป่าหากิน และป่าใช้สอยอยู่ตรงจุดไหน โดยการแบ่งเขตป่านั้น เพื่อเป็นการควบคุมการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างสิ้นเปลือง และการดูแลจัดการป่าของชุมชนที่ง่ายมากขึ้น สำหรับการจัดการป่าของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางนั้น แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1) ป่าชุมชนอนุรักษ์ เป็นป่าพื้นที่กว้างที่สุด โดยห้ามตัดไม้ ล่าสัตว์ ทุกชนิด ยกเว้นการหาสมุนไพรต่าง ๆ และสามารถเก็บหน่อไม้ได้ เพราะการเก็บหน่อไม้ สามารถทำให้แตกหน่อมากขึ้น เช่น ห้วยมะหลอด เป็นเขตที่ชาวบ้านได้เข้าไปหาหน่อไม้หกเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ในการหาหน่อไม้หก ดังนั้นการตัดหน่อไม้ จึงเป็นข้อยกเว้น และทุกครั้งที่คนอื่นถามหรือเจ้าหน้าที่ถามชุมชนต้องตอบและอธิบายวิธีการเก็บหน่อไม้ ไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศได้ 

กรณีการตัดไม้นั้น ในป่าอนุรักษ์เป็นเขตห้ามในการตัดไม้ ไม่มีใครสามารถเข้าไปตัดได้ในกรณีที่มีคนแอบไปตัดนั้น ที่ผ่านมานั้นไม่มีถึงขั้นการปรับกัน มีแต่การตักเตือน แต่ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนอีกก็จะมีการปรับเงิน ประมาณ 500-1,000 บาท ตั้งแต่มีการตั้งกฎขึ้นยังไม่เคยมีการปรับ

2) ป่าชุมชนหากิน เป็นป่าที่สามารถหาของป่าทุกชนิดได้ แต่การเก็บของป่านั้นจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ชุมชนยอมรับและไม่ทำลายระบบนิเวศ

3) ป่าชุมชนใช้สอย เป็นป่าที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามความจำเป็น เช่น การเก็บฟืน ตัดไม้สร้างบ้าน แต่ควรตัดเท่าที่จำเป็น ซึ่งการตัดไม้นั้นจะไม่นิยมตัดห้วยใดห้วยหนึ่ง แต่จะตัดห้วยนั้นหนึ่งต้น และไปตัดเพิ่มอีกห้วยหนึ่ง เป็นการกระจาย เพื่อที่ในการตัดต้นไม้เขตป่าใช้สอยของชุมชนนั้นกว้างมาก โดยเขตป่าชุมชนใช้สอยที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จริงนั้นเป็นเขตบริเวณที่ใกล้ ๆ ชุมชน ไร่ นา หรือว่าหาของป่าที่ออกบริเวณเฉพาะดอย เช่น ผักหวาน หรือที่ใกล้ ๆ ถนน เป็นต้น

4) หมู่บ้านสัตว์ของป่าชุมชน เป็นพื้นที่ที่แบ่งเพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าให้มีการแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งพื้นที่นี้ชาวบ้านจะมีการใช้ประโยชน์ เช่น การหาเห็ด การหาดอกดิน เท่านั้น และพื้นที่นี้จะมีการทำแนวกันไฟตลอดทั้งดอย มีการจัดเวรยามเดินตระเวนตรวจไฟ และตรวจบุคคลภายนอกที่เข้ามาล่าสัตว์ 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าป่าอนุรักษ์ทั้ง 4 ประเภท ของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางนั้นแยกกันแทบไม่ออก เพราะว่าผสมกันอยู่ทั้งสามประเภทไม่ได้แยกขาดกัน โดยป่าหากินบางส่วนลักษณะเหมือนป่าอนุรักษ์ รวมไปถึงป่าใช้สอยที่อยู่ไกล ๆ เหมือนป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะช้อนกันอยู่ ส่วนไร่ของชาวบ้าน ถือว่าอยู่ในเขตของบริเวณเขตป่าใช้สอยและอยู่ในเขตรังวัด โดยนอกเขตรังวัดชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ยกเว้นเพียงการหาหน่อไม้เท่านั้น

การทอผ้ากะเหรี่ยงโดยใช้กี่เอวและการประยุกต์ความรู้การปักผ้าแบบญี่ปุ่น 

ผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านกลางนั้น เป็นภูมิปัญญาการทอผ้าโดยใช้กี่เอวที่เป็น อัตลักษณ์การทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง มีวิธีการ คือ ผู้ทอต้องนั่งกับพื้นเหยียดขาตรงไปข้างหน้าทั้งสองข้าง เส้นยืนมีสายหนังคาดรัดโอบไปด้านหลังใช้นิ้วหรือไม้ไผ่เล็ก ๆ สอดด้ายพุ่ง และใช้ไม้แผ่นกระแทกเส้นด้ายให้แน่นทอเป็นผืนผ้า ส่วนรูปแบบการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางมีลักษณะเป็นผ้าทอหน้าแคบที่ใช้เครื่องมือทอแบบห้างหลังหรือที่เรียกกันว่า “กี่เอว” ผ้าที่ทอจะถูกกำหนดตามความต้องการใช้งาน ตั้งแต่เริ่มต้นทอ เช่น ผ้าทอสำหรับเสื้อ ผ้าทอสำหรับผ้าซิ่น ผ้าทอสำหรับผ้าพันคอ ผ้าทอสำหรับผ้าโพกศีรษะ หรือผ้าทอสำหรับทำเป็นย่าน เป็นต้น เทคนิคการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลาง มีเทคนิคการสร้างสรรค์ลวดลายที่หลากหลายทั้งการจก การทอยกดอก การนัดหยี่ การปักด้วยด้ายหรือไหมพรมหลากสี การปักประดับตกแต่งด้วยเมล็ดลูกเดือย เป็นต้น ซึ่งการปักผ้าทอด้วยด้ายเป็นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ และลวดลายต่าง ๆ ถือเป็นจุดเด่นและความแตกต่างในงานฝีมือผ้าทอของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางที่ประยุกต์ความรู้โดยกลุ่มสตรีทอผ้าเรียนรู้การปักแบบญี่ปุ่นจากยูทูปและนำมาสอนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มสร้างงานสร้างรายได้และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกะเหรี่ยงบ้านกลางเท่านั้น

การทำเครื่องจักสานจากไม้ไผ่

เนื่องจากไผ่บงมีจำนวนมากในพื้นที่ป่าเขตชุมชนของบ้านกลาง ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้จากธรรมชาติทำให้เครื่องจักสานที่รังสรรค์ขึ้นมานั้นมีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถใช้งานในครัวเรือนได้อย่างหลากหลาย สำหรับเครื่องจักสานที่ชาวบ้านกลางมีความรู้และภูมิปัญญาในการผลิต คือ กระด้งที่ทำจากไผ่บง ซึ่งส่วนที่นำมาทำนั้นคือ เนื้อไม้ โดยใช้ทำคอกสำหรับทำเครื่องจักสาน เมื่อนำไม้ไผ่มาเหลาให้เป็นเส้นบางพอสมควรแล้วต้องตากให้แห้งก่อน จึงจะนำมาสานได้ กรณีที่จะย้อมสีไม้ไผ่เมื่อเหลาไม้ไผ่และตากแห้งเรียบร้อยแล้ว ต้องนำไม้ไผ่ไปต้ม ใส่เกลือก่อนพร้อมใส่สีผสมอาหารและเอาไปตากให้แห้งอีกรอบจึงค่อยเอานำมาสาน ดังนั้นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องจักสาน ที่เป็นฝีมือของชาวบ้าน จึงมีความวิจิตรงดงาม แข็งแกร่ง ทนทาน ด้วยผ่านกรรมวิธีการคัดเลือก ไม้ไผ่ที่ดีมีคุณภาพ เพื่อเข้าสู่กระบวนการจักสานให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องจักสานที่มีคุณภาพ

ยาสมุนไพร 

ด้วยความที่พื้นที่อยู่บนภูเขา ทำให้หมู่บ้านกลาง เกิดองค์ความรู้ในการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาปรุงยาสมุนไพรเพื่อใช้รักษา ซึ่งจะมีหมอสมุนไพรในหมู่บ้าน โดยสมุนไพรในพื้นที่มีจำนวนมาก อาทิ รากคา ใช้เพื่อเป็นยาลดไข้ , ตะไคร้ ใช้แก้ร้อนใน , ใบหญ้านาง ใช้แก้ร้อนใน , ใบไมยราบ ใช้รักษานิ่ว โดยนำมาต้มดื่ม และ รางจืด ใช้สำหรับแก้พิษ เป็นต้น

ทุนเศรษฐกิจ/กองทุนต่าง ๆ

อาชีพหลักของชุมชน

อาชีพของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านกลาง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาทิ การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอย โดยการทำไร่เลื่อนลอย เป็นระบบเกษตรที่ย้ายไปเรื่อย ๆ ไม่มีการพัฒนารูปแบบและการจัดการที่เป็นระบบอย่างถาวร แต่ไร่หมุนเวียนสำหรับชาวบ้านกลางนั้นมีความคิดเห็นว่าเป็นวิธีการทำการเกษตรที่ช่วยดูแลรักษาดิน เพราะมีการเว้นช่วงการปลูกในระยะเวลาที่เหมาะสมให้ดินได้พักฟื้นฟูแร่ธาตุในดิน โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกและหมุนเวียนกลับมาใช้พื้นที่เดิม ให้พื้นที่ใหม่ได้พักฟื้นทำให้สามารถทำการเกษตรได้ต่อเนื่อง ข้อดีของไร่หมุนเวียนคือ เป็นระบบการเกษตรที่พึ่งพาน้ำฝนตามธรรมชาติ ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องอาศัยชลประทาน มีการปลูกพืชคลุมดิน และชาวบ้านมีระบบการจัดการทรัพยากร รวมไปถึงการทำสวน เป็นการปลูกเพื่อยังชีพเป็นหลัก เหลือกินจึงขายบ้าง พื้นที่สวนส่วนมากจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับชุมชน พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ มะม่วง มะขาม พุทรา ส้มโอ ลิ้นจี่ กล้วย มะแขว่น ฯลฯ โดยมะแขว่นถือว่าเป็นพืชหลักเพียงชนิดเดียวที่ได้ขายทุกปี ชุมชนมีข้อตกลงว่าห้ามปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ เนื่องด้วยเกรงจะเกิดผลกระทบจากการใช้สารเคมี นอกจากนี้ยังมีการทำนา พื้นที่บริเวณที่ราบและริมลำห้วยก็จะมีการบุกเบิกเป็นนาสำหรับปลูกข้าว โดยข้าวที่ปลูกในนา จะมีทั้งพันธุ์ดั้งเดิมและพันธุ์ที่ได้รับการส่งเสริมจากทางราชการ ปัจจุบันนาถือเป็นฐานการผลิตหลักของคนในชุมชน 

นอกจากการทำเกษตรกรรมแล้ว ชาวบ้านยังมีการเก็บหาของป่า เช่นน้ำผึ้ง หน่อไม้ เห็ด ผักหวาน เป็นต้น ปัจจุบันการเก็บหาของป่าเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับชาวบ้าน ทุกครัวเรือนจะหาของป่า ทั้งเพื่อการบริโภคและขาย การเก็บหาของป่านั้นจะมีข้อตกลงระเบียบการจัดการที่คนในชุมชนมาตกลงร่วมกันและปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงมีการเลี้ยงสัตว์เป็นการเลี้ยงสัตว์พื้นบ้านได้แก่ วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น เพื่อการบริโภคและขายบ้างเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น ส่งลูกเรียน ใช้หนี้ รักษาพยาบาล ฯลฯ ถือเป็นแหล่งออมทรัพย์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของคนในชุมชน ซึ่งการเลี้ยงวัวและควายนั้นในฤดูฝนจะเลี้ยงปล่อยไว้ในป่า ส่วนฤดูแล้ง จะนำมาเลี้ยงไว้ใกล้ ๆ บ้าน เช่น ในนา ในสวน เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อว่างเว้นจากการผลิตด้านเกษตรกรรม ชาวบ้านมีการทำงานหัตถกรรม ปัจจุบันครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงมีการจักสาน เสื่อ กระบุง ตะกร้า ฯลฯ ไว้ใช้สอย และการทอผ้ากี่เอวของชาวกะเหรี่ยงไว้นุ่งห่มและขายให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่ต้องการซื้อผ้าทอ

ทุนอาชีพ กล่าวคือ ทุนอาชีพที่ชุมชนมี คือ การทำข้าว ชุมชนต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวให้สามารถมีแพคเกจที่สามารถขายได้จำนวนถุงละ 1 กิโลกรัม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชน นอกจากนี้ยังต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น การออกแบบและแปรรูปน้ำพริกลาบ ให้สามารถพกพาไปทุกที่ได้ง่าย นอกจากนี้ ยังต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีจำนวนมากในพื้นที่ให้สามารถพัฒนาเป็นการชงชาเพื่อดื่มอีกด้วย

กองทุนไร่หมุนเวียน เป็นกองทุนที่เชื่อมร้อยจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงและยังเป็นกองทุน ที่สร้างภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชผ่านการทำไร่หมุนเวียนของชุมชน

กองทุนหน่อไม้ ก่อตั้งเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี โดยมีสมาชิกจำนวน 73 ครัวเรือน ซึ่งวิธีเก็บเงินเข้ากองทุน คือ เก็บครั้งละ 300 บาท / ปี / ครัวเรือน ซึ่งใน 1 ปี จะเก็บจำนวน 3 ครั้ง คือ เดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน โดยเงินที่ได้จากกองทุนหน่อไม้จะนำไปบริหารจัดการในการใช้จ่าย โดยนำเข้าพัฒนาศาสนาส่วนหนึ่ง ทำแนวกันไฟ จ่ายค่าเฝ้ายาม และส่งเสริมการขับเคลื่อนผู้ผลักดันในด้านต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน

กองทุนสิบลด คือทุกส่วนที่ได้เงินมา เก็บ 10 บาท คืนกองทุน 1 บาท กองทุนถวายสิบลดข้าวไร่หมุนเวียนข้าวนา (ส่วนใหญ่เป็นข้าว เป็นวัว ไก่ ควาย เบื้องต้นคือใช้ ข้าว 10 ถัง เอาไว้กองกลาง 1 ถัง) การบริจาค/การระดมทุนอื่น ๆ ธนาคารข้าว กรณีข้าวไม่พอกิน สามารถเอามากินได้

ทุนการเมือง

สำหรับต้นทุนการเมืองการปกครองของหมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 เหตุการณ์หลัก ที่มีผู้ใหญ่บ้าน รองผู้ใหญ่บ้าน และการเมืองการปกครองท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อให้หมู่บ้าน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้แก่ 

  • ผู้ใหญ่สมชาติ รักษ์สองพลู มีบทบาทในการผลักดันที่ดินทำกิน กฎระเบียบภายในชุมชน (ธรรมนูญหมู่บ้าน) กองทุนภายในหมู่บ้าน การประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน ผลักดัน พรบ. เกี่ยวกับชาติพันธุ์ และเรื่องการจัดตั้งให้มีโฉนดที่ดิน เป็นต้น
  • ส.อบต. ถาวร หลักแหลม มีบทบาทในการผลักดันเรื่องที่ดินทำกิน และผลักดันเกี่ยวกับ พรบ.ชาติพันธุ์ เป็นต้น
  • คุณบุญญาเดช พุดสวย เป็นกำลังหลักในการช่วยผู้ใหญ่สมชาติ ในการผลักดันเกี่ยวกับทุกเรื่องที่จะทำให้หมู่บ้านเกิดความเป็นอยู่ที่ดีและประชากรมีความสุข ซึ่งเป็นคนที่เป็นพลังเสริมให้กับผู้ใหญ่สมชาติ

ทุนศาสนา

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านกลาง เป็นชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมู่บ้าน มีการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอทุกวันอาทิตย์จะร่วมกันประกอบพิธีการทางศาสนา โดยมีศิษยาภิบาลหรือครูสอนศาสนา (เทียบเท่าเจ้าอธิการหรือเจ้าอาวาส) เป็นผู้ประกอบพิธีการที่เกี่ยวข้องกับศาสนาทั้งหมด เช่น การนมัสการพระเจ้า พิธีแต่งงาน พิธีฌาปนกิจ และนมัสการพิเศษ เช่น วันอิสเตอร์ วันคริสต์มาส วันส่งท้ายปีเก่า และวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น ทั้งการนมัสการตามครัวเรือน เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมที่โบสถ์ได้ กิจกรรมในการนมัสการพระเจ้ามีการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ผู้นำศาสนาจะอ่าน พระคัมภีร์ และเทศนาอธิบายความหมายของพระคัมภีร์ที่อ่าน เพื่อให้ชาวบ้านชาบซึ้งในหลักคำสอนและน้อมนำคำสอนนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติตนเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นต้น

กองทุนศาสนา เป็นกองทุนหลักที่มีส่วนช่วยเหลือการสร้างความช่วยเหลือของคนในชุมชนในรูปแบบของสวัสดิการชุมชน เช่นจัดสรรเป็นทุนการศึกษา การจัดกิจกรรมเยาวชน และกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ โดยชาวบ้านจะเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ซึ่งองค์ประกอบทางศาสนา มีดังนี้

  • อาจารย์คำแสน มะโน ผู้อาวุโส ประธานเขตลำปาง มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านศาสนา
  • คุณสมคิด ปินตา ผู้นำศาสนาคริสต์ มีหน้าที่ เป็นผู้อภิบาลด้านจิตวิญญาณ
  • คุณบุญมี จินตา ผู้ช่วยฯ มีหน้าที่ ทำหน้าที่แทนผู้อภิบาลด้านจิตวิญญาณ 
  • คุณจันทอง พุดสวย ประธานธรรมกิต ทำหน้าที่ ดูภาพรวมของคริสตจักร จัดประชุม
  • คุณสิทธิพงษ์ พุดสวย ผู้ประกาศฯ ทำหน้าที่ ออกประกาศ ณ สถานที่ ที่ยังไม่มีผู้เชื่อในศาสนา
  • คุณนิคม จินตา ผู้ประกาศฯ ทำหน้าที่ ออกประกาศ ณ สถานที่ ที่ยังไม่มีผู้เชื่อในศาสนา

ทุนองค์กร

ทอผ้าและกลุ่มปักผ้าตามแพทเทิร์นญี่ปุ่น ปัจจุบันมีการทอผ้าแบบกี่เอว ซึ่งเป็นการทอผ้าแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง แต่จะเป็นลักษณะแบบเรียบไม่มีลวดลาย ต่อมากลุ่มแม่บ้านรุ่นใหม่ได้ศึกษาเทคนิคการปักผ้าจากยูทูปแล้วนำมาประยุกต์ปักบนผืนผ้าที่ทอในชุมชนแล้วตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวยงามมาก ปัจจุบันกลุ่มปักผ้ามีการรวมตัวกันมีสมาชิกประมาณสิบกว่าคน มีการสอนความรู้การปักผ้าให้แก่สมาชิกใหม่และเริ่มผลิตสินค้าเพื่อจัดจำหน่าย แต่ปัญหาคือยังขาดช่องทางการตลาดออนไลน์และขาดองค์ความรู้เรื่องเทคนิคและการย้อมสีธรรมชาติ และการออกแบบแพทเทิร์นที่ทันสมัยซึ่งผู้นำกลุ่มมีความต้องการในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้

กลุ่มจักสาน ปัจจุบันทำหน้าที่ในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในชุมชนเป็นหลัก ยังไม่มีการผลิตออกสู่ตลาดภายนอก โดยกลุ่มจักสานจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความชำนาญผลิตสินค้าที่จำเป็นในชุมชน เช่น กระด้ง ตะกร้า อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ไม้กวาด เป็นต้น

ทุนเครือข่าย

การรวมกลุ่มองค์กรและเครือข่ายของหมู่บ้านกลางทุกกลุ่มจะมีบทบาทในการพัฒนาศาสนา โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับองค์กรภายนอกชุมชนพบว่ามีทั้งองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชน NGOs องค์กรชุมชน ที่ชุมชนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สภาคริสตจักร องค์การบริหารส่วนตำบล ที่ว่าการอำเภอ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.แม่เมาะ) เครือข่ายต่าง ๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย โดยชุมชนได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ไว้สามระดับ คือ องค์กร/หน่วยงานที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดชุมชน มีสองหน่วยงานที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOS) 

1) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยชุมชนในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายต่าง ๆ ในการต่อรองในข้อพิพาทเรื่องสิทธิการอยู่อาศัยและการใช้สอยในพื้นที่ป่า

2) สภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คอยช่วยอบรมและฟื้นฟูศาสนาในชุมชนบ้านกลาง 

3) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ภาคเหนือ) เข้ามาช่วยในการจับพิกัดทางภูมิศาสตร์ ของชุมชนที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่อนุรักษ์ของชุมชน นอกจากนั้นยังจัดทำแผนที่ชุมชนให้เพื่อใช้ในการรับรองสิทธิการทำกินในระดับชุมชนเอง

องค์กร/หน่วยงานที่มีความสัมพันธ์ปานกลางกับชุมชน ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอ กฟผ.แม่เมาะ ชุนชนรับนโยบายจากอำเภอมาปฏิบัติ ส่วน อบต.ให้ความช่วยเหลือตามแผนรายปี ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ประปาชุมชนที่ใช้น้ำบาดาล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาน้ำน้อย น้ำแล้ง ชุมชนมีเพียงเครื่องสูบน้ำบาดาลเท่านั้น ทั้งนี้ ชุมชนมีระบบประปาที่กรองน้ำอย่างถูกสุขลักษณะใช้ โดยสมาชิกในชุมชนจะมาขนน้ำใส่ภาชนะไปใช้ที่บ้านเรือน เนื่องจากยังไม่มีระบบส่งต่อตามครัวเรือน

ภาษากะเหรี่ยง

ชุมชนบ้านกลางเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงโปว์ ภาษาพูดเป็นภาษากะเหรี่ยงโปว์ ส่วนภาษาเขียนจะใช้ภาษากะเหรี่ยงสกอว์ซึ่งเป็นภาษาทางการที่มีการใช้มากในหมู่ชนกะเหรี่ยง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นภาษากลางของกะเหรี่ยงก็ได้ คาดว่าชุมชนบ้านกลางมีการใช้กะเหรี่ยงสกอว์ตั้งแต่ที่มีมิชชั่นนารีชาวพม่ามาเผยแผ่ศาสนาและสอนภาษากะเหรี่ยงสกอว์ในการอ่านพระคัมภีร์ ร้องเพลง ที่เขียนด้วยภาษากะเหรี่ยงสกอว์       

ปัจจุบันการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น การร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า การอ่านพระคัมภีร์จะใช้ภาษากะเหรี่ยงสกอว์ทั้งหมด ชุมชนบ้านกลางได้มีการสอนภาษากะเหรี่ยงให้กับเด็กนักเรียนเพื่อรักษาวัฒนธรรมทางภาษาและเมื่อเติบโตสามารถอ่านเขียนภาษากะเหรี่ยงได้ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบพิธีทางศาสนา


บ้านกลางถือเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ทำให้อดีตที่ผ่านมาถูกบริษัทนายทุนเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ถึง 3 ครั้ง ส่งผลกระทบทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่าจำนวนมาก ล้มตาย และลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งน้ำในลำห้วยที่ใช้ปลูกข้าวเริ่มแห้ง สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างมาก หลังจากหมดการสัมปทานป่าไม้ มีหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชและไม้ผลเศรษฐกิจ โดยต้องเสียค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย และสารเคมี เมื่อปลูกไประยะหนึ่งพบว่าได้ค่าตอบแทน ไม่คุ้มค่าทั้งยังเริ่มมีปัญหาเรื่องหนี้สิน ทำให้ชาวบ้านเลิกปลูกพืชเศรษฐกิจและเริ่มกลับมาฟื้นฟูป่า จนความอุดมสมบูรณ์ค่อย ๆ กลับคืนมา และหันกลับมาทำไร่หมุนเวียน พร้อมกับปลูกไม้ผล เอาไว้กินและขายตามฤดูกาล 

อย่างไรก็ตามภายหลังบ้านกลางกลับมาฟื้นฟูจนสภาพป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับวางระเบียบชุมชนให้ช่วยกันอนุรักษ์ป่า โดยชาวบ้านต้องเข้าร่วมกิจกรรมป้องกันไฟป่า ปลูกป่าทดแทนและปลูกไม้ยืนต้น ที่มีประโยชน์กับสัตว์ป่า ส่วนการทำไร่หมุนเวียน ก็ต้องยึดตามวิถีดั้งเดิม แต่แล้วในความพยายามที่ชุมชนจะรักษาป่าด้วยตัวของพวกเขา กลับต้องเจอกับปัญหาใหญ่ เมื่อในปี พ.ศ. 2534 บ้านกลางถูกประกาศเขตอุทยานถ้ำผาไททับพื้นที่อีกครั้ง ชาวบ้านต้องถูกจำกัดสิทธิในการใช้ที่ดินทำกิน และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการทำไร่หมุนเวียน ทำให้ชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้ และเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ โดยเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายแต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามทำไร่ ห้ามใช้ที่ดิน และยังถูกจับกุมดำเนินคดีอยู่

กว่า 30 ปี ที่ชุมชนลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องให้ถูกยอมรับในวิถีของคนที่อาศัยอยู่กับป่า พยายามบอกเล่าวิธีจัดการ และดูแลป่าจนกลับมาอุดมสมบูรณ์ หลังเปิดสัมปทานป่า และการพัฒนา ให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งในแต่ละปี 1 ครอบครัว ทำไร่หมุนเวียนครอบครัวละ 5 ไร่ ในช่วงเวลา 5-6 ปีจะหมุนเวียนกลับมาทำซ้ำในจุดเดิม แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่หรือบางพื้นที่อาจใช้เวลาแค่ 4 ปี ก็สามารถกลับไปทำได้แล้วการมีกฎกติกาของชุมชนที่ชัดเจนว่าสมาชิกชุมชนจะไม่บุกรุกป่าเพิ่มเติม มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านกลางที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลจัดการและวางแผนกิจกรรมในการดูแลป่า 

หลังผ่านการต่อสู้และยืนหยัดให้รัฐและคนข้างนอกเห็นถึงวิถีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนบ้านกลางทำให้ได้รับการยอมรับจากคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนกะเหรี่ยงที่ยึดเอาบ้านกลางโมเดล เป็นต้นแบบในเรื่องคนอยู่กับป่า มาปรับใช้กับการพัฒนาในพื้นที่บนไร่หมุนเวียน เรียนรู้ วิธีการจัดการชุมชน การจัดการตัวเอง ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ สังคม วิถีวัฒนธรรม อาหาร และการผลิตต่าง ๆ จุดแข็งอย่างหนึ่งของชุมชนบ้านกลางคือชาวบ้านมีการจัดทำข้อมูลอย่างละเอียด มีการทำกองทุนจากพืชผักอาหาร เช่น หน่อไม้ เพื่อนำเงินตรงนี้ย้อนกลับไปดูแลป่า รวมไปถึงการไม่ใช้สารเคมีในการผลิต ทำให้แม้จะมีความพยายามจะประกาศเขตอุทยานทับพื้นที่แต่ชาวบ้านกลางไม่ได้ยอมจำนน และพยายามเรียกร้องนำเสนอตัวเองผ่านบ้านกลางโมเดล ซึ่งเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง 

สังคมปัจจุบันเป็นยุค 4.0 ซึ่งบ้านกลางมีโทรศัพท์มือถือใช้ มีโรงเรียน มีทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ รวมทั้งมีพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ เข้ามา แต่ก็ยังสามารถเอาป่ามาเลี้ยงชุมชนได้และยังสามารถระดมกองทุนเพื่อทำเป็นพื้นที่ของตัวเอง การที่บ้านกลางมีข้อมูลที่ชัดเจนทั้งเรื่องพื้นที่รายแปลง แผนที่ หรือรายได้ ทำให้การสื่อสารกับสังคมภายนอกมีความเป็นรูปธรรม ที่สำคัญที่สุดคือ บ้านกลางยังคงแนวทางของคนอยู่กับป่า เพราะเขาเชื่อว่าธรรมชาติและพระเจ้า สามารถเลี้ยงเราให้รอด บ้านกลางยังยืนหยัดที่จะสู้กับนโยบายและข้อกฎหมาย โดยใช้แนวทางการเกษตรด้วยการไม่ใช้สารเคมี มีรายได้อยู่กับป่า โดยไม่ทำลายป่า และยังดูแลป่าได้ ทั้งยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอกในการขับเคลื่อนงานนโยบายจากฐานโมเดลชุมชนสู่การพัฒนาการจัดการป่าอย่างยั่งยืน

ประเด็นการจัดการทรัพยากรชุมชน

พบว่าในพื้นที่มีการทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ และการแบ่งพื้นที่อยู่อาศัย ไร่หมุนเวียน 23,000 ไร่ ถือเป็นหัวใจหลักในการประกอบอาชีพ โดยหลัก คือ 1 มีข้าวกิน โดยเป็นแปลงรวม ไม่มีของใครคนหนึ่ง โดยเฉลี่ยจะครอบครอง 35 ไร่ ต่อ 5 ครัวเรือน โดยเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นหลักและมีการสืบทอดจากบรรพบุรุษ เป็นเวลา 300 กว่าปี ต่อ 1 รอบ 7 ปี ของการทำไร่หมุนเวียน โดยยึดหลักการหมุนจาก ไร่เหล่ากินข้าว ไร่เหล่าขาว ไร่เหล่าอ่อน และยังมีพืชต่าง ๆ ที่ปลูก 30 ชนิด 43 สายพันธุ์ เช่น งาดำ ข้าว คือ ต้องสามารถปลูกและบริโภคเป็นอาหารได้

สำหรับกฎระเบียบ ธรรมนูญของการใช้ทรัพยากรป่าชุมชน มีทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้

  1. ต้องขออนุญาตกรณีตัดไม้
  2. ห้ามตัดไม้เขตอนุรักษ์
  3. ห้ามตัดเพื่อขาย ต้องขออนุญาต
  4. ห้ามบุคคลภายนอกเก็บของป่า
  5. ห้ามใช้วัตถุระเบิดจับสัตว์น้ำ
  6. ห้ามล่าสัตว์เพื่อขาย
  7. ห้ามจุดไฟเผ่าป่า กรณีไร่หมุนเวียนจุดได้

สำหรับการจัดการทรัพยากร คือ การทำแนวกันไฟ 36 กิโลเมตร ตั้งแต่ กุมภาพันธ์-เมษายน และมียามเฝ้าระวัง 5 จุดโดยมีค่าตอบแทนให้กับยามเฝ้าระวัง โดยสามารถลดงบประมาณของรัฐในการจัดการไฟป่าได้เป็นอย่างดี  

ประเด็นกองทุนกลุ่มในชุมชน

กองทุนกลุ่มของหมู่บ้านกลาง พบว่า มีจำนวนหลายกองทุนที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้ชุมชนหมู่บ้านกลางสามารถพัฒนาและทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ โดยแต่ละกองทุนก่อตั้งขึ้นมาบนฐานวิถีชีวิต วัฒนธรรม และ ทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านกลาง ได้แก่ กองทุนหน่อไม้ , กองทุนสิบลด (คือทุกส่วนที่ได้เงินมา เก็บ 10 บาท คืนกองทุน 1 บาท), กองทุนถวายสิบลดข้าวไร่หมุนเวียนข้าวนา (ส่วนใหญ่เป็นข้าว เป็นวัว ไก่ ควาย เบื้องต้นคือใช้ ข้าว 10 ถัง เอาไว้กองกลาง 1 ถัง) , การบริจาค/การระดมทุนอื่น ๆ, ธนาคารข้าว กรณีข้าวไม่พอกิน สามารถเอามากินได้ และกลุ่มสตรี เป็นการรวมกลุ่มในเรื่องของการทอผ้า โดยช่วงโควิด ขาดแคลนหน้ากากอนามัย รวมกลุ่มกันตัดเย็บหน้ากากอนามัย และได้มีเครือข่ายภาคประชาชน เช่น มติ ครม. นโยบายต่าง ๆ ที่กระทบชุมชน ต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากชุมชนบ้านกลางเป็นถิ่นฐานของชาวโปว์ที่ตั้งรกรากมานานกว่าร้อยปี ได้รับผลกระทบจากการทำสัมปทานป่าถึง 3 รอบ ส่งผลให้สภาพป่าเปลี่ยนแปลง และยังเผชิญกับปัญหาการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด และข้าวบาร์เล่ย์ ทำให้เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง ชาวบ้านเริ่มทบทวนปัญหา นำมาสู่การบริหารจัดการป่าอย่างยั่งยืน โดยใช้วัฒนธรรมการดูแลป่าที่ถ่ายทอดตั้งแต่บรรพบุรุษ ผสมผสานกับหลักศาสนาคริสต์ โดยมีการจัดตั้ง "กองทุนหน่อไม้" เพื่อใช้บริหารจัดการป่า เชื่อมโยงงานอนุรักษ์กับเศรษฐกิจชุมชน การวิจัย "รอยเท้านิเวศ" (Carbon Footprint) เพื่อให้ชุมชนและสาธารณะตระหนักถึงคุณค่าป่าที่ดูแลว่ามีส่วนช่วยลดโลกร้อน อนุรักษ์ วิถีการทำไร่หมุนเวียนโดยไม่ตัดตอไม้ เพื่อการป้องกันหน้าดินชะล้างและปล่อยให้ป่าฟื้นตัว สร้าง "หมู่บ้านสัตว์ป่า" จากพื้นที่ไร่หมุนเวียนเพื่อให้เป็นที่อาศัยและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อรักษาห่วงโซ่อาหารของธรรมชาติ ปลูกพืชผักหลากหลายเพื่อความมั่นคงทางอาหารโดยไม่ใช้สารเคมี และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประกาศสถาปนาสิทธิชุมชน และประกาศคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอ เพื่อแสดงจุดยืนว่า วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษเป็นรูปแบบการครองชีวิตที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เอื้อต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

กองทุนหน่อไม้จึงเป็นนวัตกรรมที่สะท้อนถึงการตอบแทนระบบนิเวศที่เรียกว่า PES (Payment Environment Service หรือ Payment Eco-system Service) ชาวบ้านกลางซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โปว์ (กะเหรี่ยง) สามารถหาหน่อไม้ไผ่หกแต่ละปีเป็นมูลค่ารวมประมาณ 600,000-700,000 บาท สำหรับหมู่บ้านที่มีประชากรไม่ถึง 300 คน นี่เป็นเศรษฐกิจชุมชนที่พ้นคำว่ายากจน เพราะป่ามอบชีวิตที่มั่งคงให้ ชาวบ้านจึงตอบแทนด้วยการมอบรายได้จากการขายหน่อไม้ 3 วัน สมทบเข้ากองทุนหน่อไม้ที่แบ่งไปใช้ในเรื่องสวัสดิการของชุมชน เช่น ซื้อรถยนต์หนึ่งคันเป็นของหมู่บ้านสำหรับ รับ-ส่ง คนป่วยไปสถานพยาบาล ใช้ในกิจกรรมเกี่ยวกับดูแลสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านและหนุนเสริมกิจกรรมการรักษาป่าของชุมชนข้างเคียงอีกด้วย

ประเด็นภัยคุกคาม/การขยายตัวและการเข้ามาของหน่วยงานรัฐที่กระทบต่อชุมชน

ภัยคุกคามจากการเปิดสัมปทานป่าและการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของชุมชนหมู่บ้านกลางมีการสัมปทานป่าไม้ 3 ครั้ง ครั้งแรกจากบริษัทที่เข้ามาทำไม้ ช่วงปี 2534 ครั้งที่ 2 ปี 2536 และครั้งที่ 3 ปี 2538 การเปิดสัมปทานป่าได้สร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่ชุมชน จนส่งผลให้เกิดเป็นจุดเปลี่ยนให้ชุมชนหันกลับมาพลิกฟื้นดูแลทรัพยากรและยืนหยัดต่อสู้กับการเข้ามาของทุนภายนอก ต่อมาในปี 2538 ได้มีการประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินและพื้นที่ชุมชน ทำให้พื้นที่ทำกินของชุมชนที่ดูแลรักษาและหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชนที่มีเนื้อที่มากกว่า 21,700 ไร่ ถูกห้ามเข้าใช้ประโยชน์และเตรียมการอพยพโยกย้ายชุมชนออกจากป่า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิของชุมชนและสิทธิของบุคคล ทั้งในแง่กรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินที่สาธารณะ การเข้าใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพ การทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิม รวมถึงส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน การสูญหายของเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่นที่เคยใช้เพาะปลูกในไร่หมุนเวียน

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องในประเด็นเรื่องสิทธิทำกินและการมีอยู่ก่อนของชุมชนในปี พ.ศ. 2537 การต่อสู้เรียกร้องนำมาสู่การทำกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรโดยอิงกับฐานชุมชน ส่งผลให้เกิดองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนการจัดการลุ่มน้ำ เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงหมู่บ้านกลางได้

ภัยคุกคามจากปัญหาหมอกควัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการประกาศใช้กฎหมายควบคุม ลำปางเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่มีปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันรุนแรงเกือบทุกปีในช่วงฤดูแล้ง จริงอยู่ว่าวิกฤตหมอกควันมีหลายสาเหตุ แต่การเผาในพื้นที่การเกษตรและไฟป่ามักถูกพูดถึงว่าเป็นสาเหตุหลัก และมีการสร้างมาตรการทางกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้กับเฉพาะกลุ่มนี้ เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ชาวชุมชนบ้านกลางต้องอยู่กับความกังวลว่าจะถูกอพยพออกจากพื้นที่หลังจากป่าบริเวณนี้ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทอย่างเป็นทางการ แม้จะได้รับคำยืนยันจากหัวหน้าอุทยานฯ ว่าเจ้าหน้าที่ได้กันเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกจากเขตอุทยานฯ แล้ว และชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้เหมือนเดิม แต่พวกเขาก็ยังกังวลว่ากฎระเบียบต่าง ๆ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนรวมถึงมาตรการป้องกันไฟป่าที่ทุกคนชี้นิ้วมาที่เกษตรกรและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าว่าเป็นสาเหตุหลักและพยายามบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและสิทธิของชุมชนชาติพันธุ์อย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ชุมชนสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์และความเป็นชุมชนไปในที่สุด

ประเด็นการสื่อสารสาธารณะ “บ้านกลางโมเดล”

หลังผ่านการต่อสู้ และยืนหยัดให้รัฐและคนข้างนอกเห็นถึงวิถีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนบ้านกลางจนทำให้ได้รับการยอมรับจากคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนกะเหรี่ยงที่ยึดเอาบ้านกลางโมเดลเป็นต้นแบบในเรื่องคนอยู่กับป่า ซึ่งการยอมรับเหล่านี้เกิดจากการที่ชุมชนพยายามที่จะออกแบบการสื่อสารกับสังคมผ่านกิจกรรมการอนุรักษ์และการต่อสู้เรียกร้องในสิทธิและอำนาจในการจัดการชุมชนด้วยตนเอง การสร้างกิจกรรม การเชื่อมโยงกับเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ล้วนเป็นการเปิดพื้นที่สร้างการรับรู้ของสังคมผ่านการสื่อสารรูปแบบที่หลากหลาย นอกจากนี้บ้านกลางยังสร้างความร่วมมือกับท้องที่ท้องถิ่นในลักษณะการจัดการร่วม เน้นแนวทางการอยู่กับธรรมชาติ โดยเป็นการสร้างองค์ความรู้ถึงแนวทางดังกล่าวร่วมกัน เพื่อสนับสนุนชุมชนอย่างมีความสมดุลรวมทั้งการติดตามผลักดันนโยบาย โดย มติ ครม.ต่าง ๆ รวมถึงข้อเสนอ ป่าจิตวิญญาณ โดยทางอุทยานกับชุมชนได้ร่วมกันสำรวจกับพื้นที่ โดยข้อเสนอแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยด้วยการจัดตั้งโฉนดชุมชนมาเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและพื้นที่ป่าชุมชน และมีคำปลุกจิตวิญญาณของหมู่บ้านกลางที่ว่า “อิติแกล่ะ ดินแดนแห่งจิตวิญญาณ” คือ เขตคุ้มครองพื้นที่วัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบ้านกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 

รายงานการวิจัยชุมชนตำบลบ้านดง จังหวัดลำปาง 

นายถาวร หลักแหลม, สัมภาษณ์, เมษายน 2566

นายสมชาติ รักษ์สองพลู, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566

อบต.บ้านดง โทร. 0-5420-9513