พระปรางค์เชียงแสนที่ล้ำค่า ประเพณีแห่ช้างผ้าวันสงกรานต์ งามพระวิหารเลิศล้ำ อ่างเก็บน้ำแม่ขามน่าเที่ยว ชุมชนยึดเหนี่ยวคุณธรรม สนองตามพระประณิธานกองทุนแม่ของแผ่นดิน
พระปรางค์เชียงแสนที่ล้ำค่า ประเพณีแห่ช้างผ้าวันสงกรานต์ งามพระวิหารเลิศล้ำ อ่างเก็บน้ำแม่ขามน่าเที่ยว ชุมชนยึดเหนี่ยวคุณธรรม สนองตามพระประณิธานกองทุนแม่ของแผ่นดิน
บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมานานประมาณ 200 ปี จากการเล่าขานสืบต่อกันมาเริ่มแรก เป็นครอบครัวที่หลบหนีจากการเสียภาษีบุคคลสมัยเจ้าเมืองลำปาง ต่อมามีบริษัทเอเชียติกของฝรั่งเศสเข้ามาทำไม้ โดยอาศัยลำห้วยแม่เมาะขนส่งไม้ซุง ต่อมามีกลุ่มผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ตามลำห้วยแม่เมาะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแต่เดิมครั้งแรกเป็นหมู่ 5 ตำบลบ้านดง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และต่อมา พ.ศ. 2519 มีกิ่งอำเภอแม่เมาะ จึงเป็นหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง กิ่งอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และใน พ.ศ. 2527 ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอแม่เมาะ จึงได้เป็นหมู่ 1 บ้านหัวฝาย ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
บ้านหัวฝาย แต่เดิมมีการทำฝาย เพื่อใช้ในการเกษตร หมู่บ้านซึ่งอยู่บริเวณบนหัวฝายน้ำ จึงเรียกว่า “บ้านหัวฝาย” ต่อมาบ้านหัวฝายหมู่ที่ 1 มีประชากรเพิ่มมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2546 จึงได้แยกหมู่บ้านเป็น 2 หมู่บ้าน โดยมีบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 เดิมและบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ขึ้นอีกหนึ่งหมู่บ้าน
จากการได้สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าขานต่อกันมาว่าได้มีพญาธรรมเลิศ อุสสา เจ้าเมืองแม่เมาะคนสุดท้าย สมรสกับนางเพย มีบุตรธิดา 2 คน คือนางพา จำปาเลิศและนายปี๋ จำปาเลิศ พญาธรรมเลิศ อุสสา และคณะผู้ติดตามได้พากันอพยพมาจากตัวเมืองและได้ตั้งคุ้มพักอาศัยรวมกัน 4-5 ครอบครัว บริเวณทุ่งนาต้นมะม่วงชุม บริเวณทางเข้าหมู่บ้านหัวฝาย ก่อนที่จะย้ายเข้ามาอยู่ตั้งคุ้มในพื้นที่ปัจจุบัน ในเวลาต่อมาพญาธรรมเลิศ อุสสา ได้ริเริ่มสร้างวัดหัวฝายขึ้นในบริเวณที่ตั้งวัดหัวฝายในปัจจุบัน (ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง) ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำหินทราย ใกล้กับลำน้ำแม่เมาะและห้วยไส้ไก่ โดยได้ตั้งชื่อวัดโดยมีนามยศของตนเองต่อท้ายคือ “วัดหัวฝายธรรมเลิศอุสสา” และได้อพยพจากบริเวณทุ่งนามาอยู่ในพื้นที่บ้านหัวฝาย (ที่อยู่ในปัจจุบัน) และได้มีครอบครัวขยายเพิ่มมากขึ้นจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งนับมาถึงปัจจุบันนี้บ้านหัวฝายมีอายุประมาณไม่ต่ำกว่า 300 ปี และต่อมาปี พ.ศ. 2477 พ่อน้อยสา เตชะเต่ย ร่วมกับคณะศรัทธาได้ทำการบูรณะวัดหัวฝายขึ้น ซึ่งขณะที่มีการบูรณะมีราษฎร์อาศัยอยู่ประมาณ 50-60 หลังคาเรือน และได้นิมนต์เจ้าอาวาสคือ หลวงพ่อยอด (นิมนต์มาจากจังหวัดแพร่) และในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนจึงได้อาศัยศาลาวัดเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน
ผู้นำหมู่บ้านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีดังนี้
- นายเขียว (ไม่ทราบนามสกุล)
- นายโม่ (ไม่ทราบนามสกุล)
- นายแสน ฟูน่าน
- นายจันทร์ตา วงค์อะทะ
- นายน้อง ธรรมสิทธิ์
- นายประยูร กาญจนวงศ์
- นางนวลจันทร์ วงค์ชนะ
- นายสมบุญ เตชะเต่ย
ปี พ.ศ. 2546 ได้มีการแยกหมู่บ้านขึ้น คือบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ส่วนบ้านหัวฝายหมู่ที่ 1 ได้เลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาใหม่
- นายออน อู่เงินอ (พ.ศ. 2546-2551)
- นายประสงค์ คำฟูบุตร (พ.ศ. 2551-2564)
- นายพลาธิป เต็มสืบ (พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน)
ในสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่เป็นส่วนใหญ่ ทำนามีบ้างแต่ก็ไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะปลูกข้าวไร่ ถั่วลิสง พริก แตงไทย แตงโม ฟักทอง ซึ่งอาศัยฟ้าฝนตามฤดูกาล และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งได้ผลผลิตที่ยังไม่มากเท่าที่ควร และมีการเก็บของป่าไปขาย ตัดไม้ เลื่อยไม้ นำไปขาย บางครอบครัวจะเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย
การคมนาคมในอดีตจะใช้วัว ควาย เป็นพาหนะ หรือไม่ก็จะเดินด้วยเท้า และเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาการคมนาคมก็เจริญขึ้น มีรถโดยสาร 2 คัน ที่ผ่านหน้าหมู่บ้านและจะแวะรับคนตั้งแต่สถานีรถไฟแม่เมาะเรื่อยมา ถนนก็จะเป็นถนนลูกรัง จะเป็นดินบางส่วน บางส่วนถ้าฝนตกก็จะเป็นโคลน ในปัจจุบันสภาพถนนเป็นถนนลาดยาง ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ ส่วนใหญ่ถนนเข้าสู่ที่ดินทำกินสภาพเป็นถนนลูกรังเกลี่ยเรียบใช้การได้ดีในฤดูแล้ง
การแพทย์สมัยก่อนเมื่อยังไม่มีโรงพยาบาลก็จะมีการรักษาแบบเป่าคาถาอาคม หมอผีขับไล่บ้าง รักษาด้วยสมุนไพรที่ปลูกไว้ หรือหาเก็บในป่า หรือขอน้ำมนต์จากผู้มีคาถาอาคมนำมาดื่ม เป็นต้น และจะมีหมอตำแยประจำหมู่บ้านเป็นผู้ทำคลอดให้ ต่อมามีโรงพยาบาลเกิดขึ้นในอำเภอแม่เมาะ การรักษาแบบนี้ก็เริ่มไม่มี เพราะชาวบ้านได้ไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีบ้างตามความเชื่อของคนโบราณ ส่วนบ้านในสมัยก่อนใช้ไม้ไผ่ทำฟาก ใช้หญ้าคาเป็นที่มุงหลังคา หรือบ้านที่เป็นไม้ใช้ “แป้นเก็ต” สังกะสีหรือกระเบื้องมุงหลังคา ในปัจจุบันมีการปลูกบ้านด้วยคอนกรีต แต่บ้านที่ใช้แป้นเก็ตมุงหลังคาหาดูได้ยากมาก การแต่งกาย ผู้หญิงจะใส่ผ้าถุง เสื้อพื้นเมือง ผู้ชายจะใส่กางเกงสะดอ เสื้อพื้นเมือง แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัยไปแล้ว
ในปัจจุบันชาวบ้านจะมีการทำไร่ ทำสวน รับจ้าง เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ชาวบ้านจึงไปมีอาชีพรับจ้างกันมากขึ้น วิถีชีวิตของชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง คือ เมื่อก่อนจะมีการช่วยกันทำงาน พึ่งพาอาศัยกัน ปัจจุบันเริ่มมีคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ก็พอมีอยู่บ้าง บางอย่างก็ได้เปลี่ยนแบบแผนไป
การศึกษาชาวบ้านได้รับการศึกษามากขึ้น เนื่องจากมีการเรียนการสอนที่วัดหัวฝาย และในเวลาต่อมามีการสร้างโรงเรียนวัดหัวฝายขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น แต่ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนในตัวอำเภอและจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันทางด้านการศึกษาที่สูงขึ้นและการเดินทางสะดวกกว่าในอดีต นอกจากนี้ยังมีปัญหายาเสพติดที่ระบาดในพื้นที่ เนื่องจากมีการใช้แรงงานประชากรในการทำเหมือง จึงทำให้แรงงานส่วนใหญ่พึ่งยาเสพติดเพื่อการทำงาน และเริ่มมีอิทธิพลต่อกลุ่มวัยรุ่นในชุมชน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของยาเสพติดในหมู่บ้าน
ในส่วนประวัติศาสตร์ของชุมชน มีเหตุการณ์หรือสถานการณ์จากภายนอกชุมชน หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนเอง ที่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับชุมชนตามมา ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนแบ่งตามช่วงเวลา มีดังนี้
- ก่อน พ.ศ. 2286 เริ่มก่อตั้งชุมชนบ้านหัวฝาย
- ช่วงปี พ.ศ. 2286 มีการสร้างวัดหัวฝาย โดยพญาธรรมเลิศ อุสสา และคณะผู้ติดตามที่รวมกันอพยพมา ณ บริเวณทุ่งนาบ้านหัวฝาย
- ช่วงปี พ.ศ. 2477 ทำการบูรณะวัดหัวฝาย โดยพ่อน้อยสา เตชะเต่ย ร่วมกับคณะศรัทธาเพื่อเป็นสถานที่เล่าเรียน
- ช่วงปี พ.ศ. 2486 ตั้งโรงเรียนวัดหัวฝาย โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดหัวฝายเป็นที่เรียนชั่วคราว
- ช่วงปี พ.ศ. 2490 มีการร่วมกันทำถนนดินเข้าหมู่บ้าน
- ช่วงปี พ.ศ. 2519 ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอแม่เมาะ และเปลี่ยนจาก บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านดง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็น บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง กิ่งอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
- ช่วงปี พ.ศ. 2521 ย้ายสถานศึกษาไปที่โรงเรียนหัวฝาย ณ บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ณ ปัจจุบัน
- ช่วงปี พ.ศ. 2526 กำนันตำบลบ้านดง (นายประยูร กาญจนวงศ์) ในขณะนั้นร่วมกับราษฎรตัดต้นไม้ นำมาทำเสาไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน เพื่อรองรับกระแสไฟฟ้าจากหน่วยงานราชการที่นำมาช่วยในขณะนั้น ทำให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ มีแสงสว่างภายในชุมชน
- ช่วงปี พ.ศ. 2527 ได้รับการจัดตั้งเป็น อำเภอแม่เมาะ จึงได้เป็น บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
- ช่วงปี พ.ศ. 2536 ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านร่วมกับประธานกลุ่มแม่บ้านร่วมกัน ของบประมาณ จาก รพช. ขอลูกรังทำถนนเข้าหมู่บ้าน
- ช่วงปี พ.ศ. 2539 ได้พัฒนาเป็นถนนลาดยาง และพัฒนาต่อเป็นถนนคอนกรีต (คสล.) จนถึงปัจจุบัน
- ช่วงปี พ.ศ. 2546 มีการแยกหมู่บ้านจากหมู่ที่ 1 ออกเป็นสองหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 และ บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 เพื่อให้การพัฒนาหมู่บ้านเป็นไปอย่างทั่วถึง
- ช่วงปี พ.ศ. 2550 ประชากรในชุมชนเริ่มมีการอพยพออกจากชุมชน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ และจากการเวนคืนที่ดินของโรงไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยไปปลูกสร้างบ้านเรือน ณ ชุมชนแห่งใหม่ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดเตรียมไว้ให้ คือ บ้านใหม่ ฉลองราษฎร์ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
ประวัติความเป็นมาวัดหัวฝาย (วัดหัวฝายธรรมเลิศอุสสา)
ในอดีตวัดหัวฝาย หมู่ที่ 1 บ้านหัวฝาย ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เดิมมีชื่อว่า วัดหัวฝายธรรมเลิศอุสสา จากการค้นพบป้ายเก่าแก่ของวัดเป็นภาษาล้านนา โดยมีพญาธรรมเลิศ อุสสา เป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2286 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 ได้ทำการบูรณะก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่โดยมี พ่อหน้อยสา แม่คำใส เตชะเต่ย ซึ่งเป็นหลานของพญาธรรมเลิศ อุสสาและชาวบ้านได้ร่วมกันก่อสร้าง ดังมีจารึกบูรณะวิหารวัดหัวฝาย ที่ผนังวิหารด้านหนึ่ง เป็นตัวอักษรพื้นเมือง ความว่า “วิหารหลังนี้ได้ยกสร้างขึ้นเมื่อพุทธสักกราช 1296 ปีกาบเส็ด ” โดยว่าจ้างให้สล่าอินทร์ บ้านเมาะหลวง และสล่าส่างชื่น ชาวเงี้ยว (ไทใหญ่) บ้านท่าคราวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มาก่อสร้างวิหารหลังนี้
ในปี พ.ศ. 2513 ได้ว่าจ้างให้หนานเกษม เขมจารีย์ บ้านเมาะหลวง มาวาดจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ วัดหัวฝายแห่งนี้จึงเป็นสถานที่สำคัญประจำเมืองเมาะ ที่เจ้าเมืองเมาะสร้างขึ้น และได้รับการเอาใจใส่ทำนุบำรุงจากลูกหลานในสายตระกูลของพญาธรรมเลิศ อุสสา ตลอดจนคณะศรัทธาชาวบ้านหัวฝาย จนถึงปี พ.ศ. 2550 ได้ทำการบูรณะซ่อมแซม รื้อกระเบื้องหลังคาเก่าทิ้งเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ ยกยอดฉัตรและปูกระเบื้องพื้น ปั้นรูปพญานาคขึ้นมาใหม่ โดยมีผู้ใหญ่ออน อู่เงิน พร้อมด้วยชาวบ้านร่วมกันสร้างโดยได้รับสนับสนุนงบประมาณของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ) จนถึงปัจจุบันและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2485 โดยมีพระภิกษุเป็นเจ้าอาวาสและรักษาการแทน ดังต่อไปนี้
ทำเนียบการปกครองของวัด
- พระภิกษุยอด พ.ศ. 2296
- พระภิกษุเหมย พ.ศ. 2296
- พระภิกษุโอต พ.ศ. 2296
- พระภิกษุแกริ พ.ศ. 2296
- พระภิกษุแก้ว พ.ศ. 2296
- พระภิกษุหวัน พ.ศ. 2296
- พระภิกษุเสาร์ พ.ศ. 2296
- พระภิกษุบุญมา พ.ศ. 2296
- พระภิกษุบุญเป็ง พ.ศ. 2296
- พระอธิการหนิ้ว สิริธโร พ.ศ. 2474
- พระภิกษุสุชาติ สุธิโร พ.ศ. 2521
- พระภิกษุศรีมั่ง สุจิตโต พ.ศ. 2523
- พระครูรังสิตธรรมภิราม เจ้าคณะตำบลบ้านดง
- พระศรีมูล ฐานธมฺโม
- พระอุดม อานนฺโท พ.ศ. 2536
- พระรัตนโชติ สุทธสิโร
- พระวีละ สุทธจิตโต พ.ศ. 2538
- พระสมพล ธรรมทินโน พ.ศ. 2542
- พระนิคม สุระสิตโต พ.ศ. 2547
- พระสมบรูณ์ ภูริวฒฺโก
- พระอธิการมูล วิชากโร พ.ศ. 2551 ถึง ปัจจุบัน
คำขวัญชุมชนบ้านหัวฝาย “พระปรางค์เชียงแสนที่ล้ำค่า ประเพณีแห่ช้างผ้าวันสงกรานต์ งามพระวิหารเลิศล้ำ อ่างเก็บน้ำแม่ขามน่าเที่ยว ชุมชนยึดเหนี่ยวคุณธรรม สนองตามพระประณิธานกองทุนแม่ของแผ่นดิน”
วิสัยทัศน์ “ชุมชนเข้มแข็ง ร่วมแรงพัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบพอเพียง รุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น แหล่งทำกินอุดมสมบูรณ์”
กลยุทธ์
- การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
- ส่งเสริมกระบวนการทำนุบำรุงวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมและดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์แห่งวัฒนธรรม
- เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนแบบบูรณาการ
- สร้างความรักความสามัคคีความปรองดองสมานฉันท์ในชุมชนตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย
- ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบพอเพียงให้ชุมชนพึ่งตนเอง
ยุทธศาสตร์บ้านหัวฝาย
- สร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด
- พัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
บ้านหัวฝายตั้งอยู่บริเวณ พื้นที่ราบลุ่ม มีลำห้วยสาธารณะไหลผ่าน มีป่าชุมชนเป็นไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก ซึ่ง เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากการปลูกป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านดง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านดง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ตำบลแ ม่เมาะ และบ่อเหมืองโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่เมาะ เขื่อนแม่ขาม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.แม่เมาะ)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ ๗ และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านดง
การคมนาคม
บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 มีถนนภายในชุมชนส่วนมากเป็นถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ ถนนเข้าสู่ที่ทำกินสภาพเป็นถนนลูกรังเกลี่ยเรียบ ซึ่งจะใช้การได้ดีในฤดูแล้ง ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ และจักรยาน ระยะทางจากบ้านหมู่ที่ 1 บ้านหัวฝายไปยังตัวเมืองอำเภอแม่เมาะ ประมาณ 22 กิโลเมตร การเดินทางต้องใช้รถส่วนตัว หรือรถจักรยานยนต์ไปยังตัวอำเภอแม่เมาะ ส่วนการเดินทางไปยังตัวจังหวัดลำปางมีรถโดยสาร 2 คัน ประจำชุมชนวันละ 1 เวลา คือ 08.00 น. เท่านั้น นอกนั้นต้องใช้รถส่วนตัวเข้าไปในตัวจังหวัดลำปาง ระยะทางไปตัวจังหวัดลำปางซึ่งออกไปทางสายลำปาง-งาว ไม่ต้องผ่านตัวอำเภอแม่เมาะ ระยะทางประมาณเกือบ 40 กิโลเมตร
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
การตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนใหญ่ แบบถาวรแต่ปัจจุบันเริ่มมีการอพยพเคลื่อนย้ายประชากร ตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำแม่ขามและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.แม่เมาะ) โดยส่วนใหญ่ลักษณะจะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง และบางส่วนจะเป็นมีลักษณะเป็นปูนก่ออิฐมีทั้งบ้านชั้นเดียวและบ้านสองชั้น
ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม อิทธิพลทางความคิด (ค่านิยม) บ้านหัวฝายจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ เช่น ประเพณีแห่ช้างผ้าในวันงานสงกรานต์ประเพณีจะจัดขึ้นในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ประเพณีสักการะเจ้าพ่อม่อนสุภา และวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ เป็นต้น
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านหัวฝาย จำนวน 368 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 642 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 323 คน หญิง 319 คน ทั้งนี้ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลเดิม ปัจจุบันได้มีการย้ายไปอยู่ในพื้นที่อพยพใหม่ ยังไม่ได้ก่อตั้งหมู่บ้าน มีครัวเรือนบางส่วนที่ยังคงย้ายมาและยังใช้บ้านเลขที่เดิม และมีบางครัวเรือนที่ย้ายไปอยู่หมู่บ้านท่าสี (แต่เป็นทะเบียนบ้านชั่วคราว) บางครัวเรือนที่ย้ายมาไม่ได้สร้างบ้านในพื้นที่ใหม่ บางครัวเรือนก็เสียชีวิต ดังนั้นจำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากรของหมู่บ้านหัวฝาย จึงยังไม่มีความแน่นอน
ประชากรชุมชนบ้านหัวฝายส่วนใหญ่เป็นชาวเหนือ (คนเมือง) อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
ผู้ใหญ่บ้านคณะกรรมการหมู่บ้านหัวฝาย มีแนวทางและวิธีการทำงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านจัดการตนเองโดยใช้หลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิด ความเห็นชอบในการพัฒนา หมู่บ้านผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชน มีการประชุมหมู่บ้านเดือนละครั้งเพิ่มศักยภาพโดยการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ศึกษาดูงาน ทำให้คนในหมู่บ้านได้รับประโยชน์ตามทุกคนถนัด เกิดความรู้สึกรักชุมชนและทำงานเพื่อชุมชนการบริหารจัดการในหมู่
หมู่บ้านหัวฝายมีกลุ่มองค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ มีบทบาทในการพัฒนาหมู่บ้านอย่างสอดประสานกัน ดังนี้
- กลุ่ม อสม.
- กลุ่มสตรีแม่บ้าน
- กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มออมทรัพย์
- กลุ่มออมวันละบาท
- กลุ่มตํารวจบ้าน
- กลุ่มเยาวชน
- กลุ่มกรรมการผลกระทบ กฟผ.
- กลุ่มกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
- กลุ่มธนาคารรักษ์แม่เมาะ
- กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์หมู่บ้าน
- กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ผู้สูงอายุ
- ศูนย์อำนวยความเป็นธรรมหมู่บ้าน
นอกจากนี้ประชาชนในหมู่บ้านหัวฝาย มีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม คือ ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย มีน้ำใจ เกื้อหนุน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน มีความคิดที่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมตามอาชีพ ได้แก่
- กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า
- กลุ่มผ้ามัดย้อม
- กลุ่มทำน้ำยาอเนกประสงค์
- กลุ่มทำน้ำพริกต่าง ๆ
- กลุ่มจักสาน
การรวมกลุ่มเหล่านี้จะช่วยให้หมู่บ้านหัวฝายมีแหล่งส่งเสริมการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีแหล่งประโยชน์ที่สามารถใช้สร้างรายได้ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านหัวฝายมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยให้ประชาชนเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันร่วมตั้ง กองทุนสวัสดิการ สร้างฐานเอื้ออารีเพื่อช่วยเหลือกันในชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายรับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม (สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มองค์กรต่าง ได้ในหัวข้อ ทุนชุมชน)
ประชากรบ้านหัวฝายมีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติ โดยให้ความเคารพและนับถือต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อเกิดเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีงามกับคนในชุมชน แหล่งน้ำธรรมชาติมี 2 แห่งคือ ห้วยแม่เมาะ ห้วยไส้ไก่
ข้อมูลปฏิทินอาชีพบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
1.ทำนาปีละ 1 ครั้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนากันประมาณ 80% ซึ่งช่วงเดือนมิถุนายนจะทำการไถนาเตรียมหว่านกล้ารอจนต้นกล้าได้อายุ 1 เดือนก็จะถอนกล้ามาทำการดำนา ชาวบ้านส่วนใหญ่จะดูวันปลูกข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลจะได้ข้าวดี ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม จะเป็นช่วงการดำนา ชาวบ้านจะใช้วิธีการช่วยกันดำนาหรือจ้างคนมาช่วย ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต
2.การปลูกข้าวไร่ ชาวบ้านจะปลูกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
3.ปลูกพืชผักสวนครัว แปลงเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษ จะทำตลอดปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น กระเทียม หอมแดง ผักชี คะน้า ผักบุ้ง ฯลฯ
4.เลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงสัตว์ตลอดปี มีการจำหน่ายและต่อยอดโดยการซื้อพันธุ์มาแทน ซึ่งสัตว์ที่เลี้ยง ได้แก่ หมู ปลาดุก ไก่ เป็ด และกบ
5.รับจ้างทั่วไป เช่น แคดดี้สนามกอล์ฟแม่เมาะ รับจ้างทำงานในส่วนต่าง ๆ ของ กฟผ.
6.ธุรกิจส่วนตัว เช่น ร้านค้าขายของชำ ร้านอาหารตามสั่ง ฯลฯ
วัฒนธรรม ประเพณี
1. งานตานข้าวจี่ข้าวหลาม เดือน 4 เป็ง (มกราคม) ชาวบ้านจะร่วมกันนำข้าวใหม่ (ข้าวสาร) กรอกลงในกระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไปเผาทำเป็นข้าวหลามพร้อมทั้งอาหารคาว หวาน ร่วมกันไปทำบุญที่วัดหัวฝาย มีการนำฟืนมากองร่วมกันตกแต่งเป็นรูปปราสาทและเจดีย์ เพื่อเป็นการถวายพระพุทธเจ้า
2. ประเพณีสงกรานต์ (ปี๋ใหม่เมือง)
- วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านในภาคเหนือ เรียกว่า "วันสังขารล่อง”
- วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านในภาคเหนือ เรียกว่า "วันเนา"
- วันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านในภาคเหนือ เรียกว่า "วันพญาวัน" (มีประเพณีช้างผ้า)
- วันที่ 16 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านในภาคเหนือ เรียกว่า "วันปากปี๋"
- วันที่ 17-18 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านในภาคเหนือ เรียกว่า "วันดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่"
- วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านในภาคเหนือ เรียกว่า "ประเพณีสรงน้ำพระธาตุพระบาทนารอง"
3. ประเพณีแห่ช้างผ้า เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาช้านานจากบรรพบุรุษของชาวอำเภอแม่เมาะ ที่ได้รับการเล่าขานว่าเป็นเชื้อสายของชาวเงี้ยว แต่ที่ยังคงมีการจัดอยู่เป็นประจำทุกปี คือ หมู่บ้านหัวฝาย ตำบลบ้านดง
จากความเชื่อที่ว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่ สัตว์ที่มีอำนาจบารมีเป็นสัตว์ที่เป็นมงคล แต่เดิมสมัยก่อนมีการแห่โดยใช้ช้างจริง แต่เนื่องจากปัจจุบันชาวบ้านได้เลิกเลี้ยงช้างแล้ว จึงมีการประดิษฐ์เป็นช้างผ้าขึ้นแห่นำขบวน แห่ครัวตาน อันประกอบไปด้วยมะพร้าว กล้วย อ้อย ข้าวของ เครื่องใช้ ถ้วย ชาม ช้อน และเงินปัจจัย แห่ร่วมกันมาทำบุญที่วัดหัวฝาย ปัจจุบันช้างผ้าประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่ ผ้าขนหนู และผ้าอื่น ๆ ร้อยอุบะประดับประดาอย่างสวยงาม และมีการทำไม้ไผ่ยาว ๆ เพื่อล่อช้าง และทำฉัตรเล็ก ๆ การแห่ช้างจะนำขึ้นคานหามใช้ผู้ชายหาม 4 คน จะมีการนำช้างมาชนกันบ้างเพื่อความสนุกสนาน เมื่อแห่มาถึงบริเวณวัดแล้วจะมีการแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบ ก่อนนำครัวตานและเงินปัจจัยถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยนำขึ้นพระอุโบสถสำหรับประเพณีจะจัดขึ้นในวันมหาสงกรานต์วันที่ 15 เมษายน ของทุกปี (แต่มีการเตรียมงานตั้งแต่วันที่ 13) ถือเป็นวันที่ลูก ๆ หลาน ๆ ได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัวจะได้มาทำบุญร่วมกัน
4. ประเพณีบวงสรวงม่อนสุภาเลี้ยงผีปู่-ย่า ชาวบ้านจะถวายในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ในวันขึ้น 13 ค่ำ โดยชาวบ้านที่ถือผีเดียวกันจะทำพิธีร่วมกัน โดยจะนำหมู 1 ตัว ไก่ 4 ตัว สวยดอก (กรวยดอกไม้) หมากพลู 12 กำ รวมทั้งผ้าขาว-ผ้าแดง และสตางค์ 12 บาท มาทำพิธี กรณีที่มีคนเจ็บป่วย จะมีการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองชาวบ้านที่เจ็บป่วยให้หายตามความเชื่อ
5. ประเพณีเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน (เสื้อบ้าน) ในช่วงเดือนมิถุนายน ชาวบ้านจะนำเหล้าขาว 1 ขวด ไก่ 1 คู่ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย เมี่ยงและบุหรี่ ใส่ใน “สะตวง” แล้วนำไปเลี้ยงผีประจำหมู่บ้านที่มีหน้าที่ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากภยันตราย เมื่อเสร็จพิธีก็จะนำเอาอาหารที่ทำพิธีมารับประทานร่วมกันหรือนำมาแบ่งกัน
6. เข้าพรรษา ชาวบ้านจัดเตรียมอาหารคาว-หวาน มาร่วมทำบุญที่วัดหัวฝาย มีการแห่พระพุทธรูป เทียนพรรษา ทำพิธีถวายตามประเพณี
7. ประเพณีตานก๋วยสลาก เดือน 10 เหนือ (เดือนตุลาคม) ชาวบ้านจะนำของกิน ของใช้ (ข้าวสารอาหารแห้ง) บรรจุลงในภาชนะที่ทำด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า “ก๋วยสลาก” และทำพิธีอุทิศส่วนกุศลไปยังบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ โดยมีพระภิกษุสงฆ์จากวัดต่างๆ ได้รับนิมนต์มารับของตานดังกล่าว
8. ประเพณีวันออกพรรษา ชาวบ้านจัดเตรียมอาหาร คาว หวาน มาร่วมทำบุญที่วัด ช่วงเย็นมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป และนิมนต์พระสงฆ์เพื่อทำพิธีสรงน้ำพระ
9. ประเพณียี่เป็ง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (ตรงกับวันลอยกระทงของภาคกลาง) ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญตักบาตรกันในช่วงเช้า และถวายผ้าจำนำพรรษา ในช่วงบ่ายเป็นการร่วมฟังเทศน์ ฟังธรรม และในช่วงเย็นชาวบ้านร่วมกันนำกระทงมาประกวด ณ ศาลาประชาธิปไตยหมู่บ้าน จากนั้นนำกระทงไปลอยในแม่น้ำ
สรุปข้อมูลปฏิทินวัฒนธรรม ประเพณี กิจกรรมสำคัญ บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1
1.ทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ | เดือน มกราคม ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
2.ตานหลัวพระเจ้า | เดือน มกราคม ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
3.กิจกรรมวันเด็ก | เดือน มกราคม ของทุกปี | ณ โรงเรียนวัดหัวฝาย |
4.วันมาฆบูชา | เดือน กุมภาพันธ์ ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
5.กองทุนแม่ของแผ่นดิน | เดือน มีนาคม ของทุกปี | ณ ศาลประชาธิปไตย |
6.ประเพณี ปี๋ใหม่เมือง (แห่ช้างผ้า) | เดือน เมษายน ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
7.รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ | เดือน เมษายน ของทุกปี | ณ ศาลประชาธิปไตย |
8.บวงสรวงเจ้าพ่อประตูผา | เดือน เมษายน ของทุกปี | ณ ศาลเจ้าพ่อประตูผา |
9.สรงน้ำพระพุทธบาท | เดือน เมษายน ของทุกปี | ณ วัดพระธาตุนารอง |
10.งานกีฬาต้านยาเสพติด | เดือน เมษายน ของทุกปี | ณ โรงเรียนวัดหัวฝาย |
11.สืบชะตาหลวง | เดือน เมษายน ของทุกปี | ณ กลางหมู่บ้านหัวฝาย |
12.วันวิสาขบูชา | เดือน พฤษภาคม ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
13.สักการะเจ้าพ่อม่อนสุภา | เดือน มิถุนายน ของทุกปี | ณ ม่อนสุภา |
14.วันอาสาฬหบูชา | เดือน กรกฎาคม ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
15.วันเข้าพรรษา | เดือน กรกฎาคม ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
16.วันแม่แห่งชาติ | เดือน สิงหาคม ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
17.ประเพณีตานก๋วยสลาก | เดือน กันยายน ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
18.วันออกพรรษา | เดือน ตุลาคม ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
19.ประเพณีลอยกระทง | เดือน พฤศจิกายน ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
20.วันพ่อแห่งชาติ | เดือน ธันวาคม ของทุกปี | ณ วัดหัวฝาย |
1.นายพลาธิป เต็มสืบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ชื่อเล่น โบ้ เกิดปี พ.ศ. 2535
อาศัยอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
บิดาชื่อ นายสมหลัด เต็มสืบ (เสียชีวิต)
มารดาชื่อ นางอัมพร เต็มสืบ
เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 2 คน เป็นชาย 1 คน เป็นหญิง 1 คน คือ 1. นายพลาธิป เต็มสืบ อายุ 31 ปี และ 2. นางสาวกัญญารัตน์ เต็มสืบ อายุ 24 ปี
ประวัติการศึกษา
- ชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 6 โรงเรียนวัดหัวฝาย
- มัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนแม่เมาะวิทยา
- ระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) วิทยาลัยเทคนิคลำปาง
- ระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการกฟฝ.แม่เมาะ
ประวัติการทำงาน
- อายุ 19 ปี ทำงานที่บริษัทอิตาเลี่ยนไทย เฟส 6 จำนวน 2 ปี
- อายุ 21 ปี เข้ารับการคัดเลือกราชการทหารเกณฑ์(จับได้ใบแดง) จำนวน 1 ปี
- อายุ 22 ปี ทำงานที่บริษัทอิตาเลี่ยนไทย เฟส 6 (เข้าทำงานที่เดิม) จำนวน 3 ปี
- อายุ 25 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว (จัดตั้งคณะวงดนตรี) จำนวน 4 ปี
- อายุ 29 ปี ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 จนถึงปัจจุบัน
ความสามารถพิเศษ สามารถเล่นดนตรี พื้นเมือง วงค์ปี่พาทย์ และดนตรีชนิดอื่น ๆ ได้ อย่างชำนาญ โดยปัจจุบันเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง งานไม้และงานปูน
คติประจำใจ “ซื่อสัตย์ โปร่งใส ใส่ใจประชาชน”
2.อุ้ยหลั่น เกี๋ยงแก้ว ชื่อเล่น หลั่น
อาศัยอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
บิดาชื่อ นายทา เกี๋ยงแก้ว (เสียชีวิต)
มารดาชื่อ นางแก้ว เกี๋ยงแก้ว (เสียชีวิต)
เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 1 คน
- นางนุ่น เกี๋ยงแก้ว
- นายเครื่อง เกี๋ยงแก้ว
- นายแก้ว เกี๋ยงแก้ว
- นายหลั่น เกี๋ยงแก้ว
ประวัติการศึกษา บวชเรียน
ความสามารถพิเศษ เป็นบุคคลที่มีความเชื่อมาแต่โบราณในยุคของคุณพ่อคุณแม่ของคุณตาหลั่นได้สอนและถ่ายทอดความเชื่อให้คุณตาหลั่นรู้จักวิธีการรักษาโดยใช้เวทมนตร์คาถาเป่า (หมอเป่า) ไปตามร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการป่วย เช่น อาการปวดศรีษะ โรคผิวหนัง งูสวัด ถูกหมากัด ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น บางครั้งก็ใช้วิธีการเป่ารักษาโรค โดยการใช้สมุนไพรที่มีตามหมู่บ้านที่หาได้ง่ายเป็นส่วนประกอบในการรักษา สมุนไพรที่ใช้และพบบ่อยได้แก่ ปูนกินหมาก กระเทียม หมาก หรือใบไม้บางชนิด แล้วเป่าลงไป ที่ร่างกายของผู้ป่วย สามารถต่อกระดูก ต่อเอ็น ซึ่งการรักษาประเภทนี้มักจะมีกันแพร่หลายตามหมู่บ้านหรือชุมชนในชนบท และเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นอาจารย์ (หมอ) เก่าแก่ประจำหมู่บ้าน ในการทำพิธีกรรมประจำปีของหมู่บ้าน และพิธีกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านได้อย่างเชี่ยวชาญ
คติประจำใจ "ตัวอย่างที่ดี...มีค่ากว่าคำสอน"
3.นายสมบรูณ์ กันเอ้ย ชื่อเล่น อี๊ด เกิดปี พ.ศ. 2503
อาศัยอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
บิดาชื่อ นายปั๋น กันเอ้ย (เสียชีวิต)
มารดาชื่อ นางปุ๊ด กันเอ้ย (เสียชีวิต)
เป็นบุตรคนที่ 8 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 10 คน เป็นชาย 4 คน เป็นหญิง 6 คน
- นางสาวรัตน์ กันเอ้ย (เสียชีวิต)
- นางสาวนึก กันเอ้ย (เสียชีวิต)
- นายแก้ว กันเอ้ย (เสียชีวิต)
- นางสาวผา กันเอ้ย (เสียชีวิต)
- นางปัญญาคำ เต็มสืบ
- นายเป้ กันเอ้ย (เสียชีวิต)
- นายตีนปิ้น กันเอ้ย (เสียชีวิต)
- นายสมบรูณ์ กันเอ้ย
- นางลัดดา จุ้ยดอนกลอย
- นางศิรินาฏ พรหมหมั้น
ประวัติการศึกษา
- จบ ป.4 (พ.ศ. 2516) โรงเรียนวัดหัวฝาย
- บวชเณร (ตั้งแต่อายุ 11-19 ปี)
- บวชพระภิกษุ (พ.ศ. 2536-2552)
- เรียนนักธรรมชั้นเอก สำนักเมาะหลวง (วัดเมาะหลวง)
ประวัติการทำงานในหมู่บ้าน เป็นกรรมการหมู่บ้านมาหลายสมัย(เข้าร่วมกับหมู่บ้านมาตลอด) ปัจจุบันก็ยังเป็นกรรมการหมู่บ้านอยู่
ความสามารถพิเศษ เป็นบุคคลสำคัญของหมู่บ้าน อาทิเช่น หมอทำขวัญ หมอส่งเคราะห์ บูชาเทียน และพิธีกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน หมอรดน้ำมนต์ ตามความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อว่าทำสิ่งนี้แล้วสามารถช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้
คติประจำใจ “ความพยายามคือหนทางแห่งความสำเร็จ ”
ทุนทางสังคม
ทุนทางสังคม หมายถึง ลักษณะทางสังคมที่ปัจเจกชนและองค์กรทางสังคมมีเครือข่าย มีความไว้วางใจ และมีบรรทัดฐานในการปฏิบัติ เพื่อการส่งเสริม เกื้อหนุน และร่วมมือในการดำเนินงานซึ่งกันและกัน ซึ่งก่อให้เกิดความสามารถในการปรับปรุงสภาวะของสังคม องค์กร และตนเองให้บรรลุเป้าประสงค์ที่กำหนดร่วมกัน โดยที่ทุนทางสังคมมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ทุน คือ ทุนมนุษย์ ทุนสถาบัน ทุนภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ทุนทรัพยากรธรรมชาติ
โดยใช้เครื่องมือการทำแผนชุมชน หรือการทำ SWOT ชุมชนบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มาวิเคราะห์เนื่องจากเป็นแผนงานที่เกิดจากการที่สมาชิกในชุมชนร่วมกันคิด และวางแผน ซึ่งการวางแผนของสมาชิกในชุมชนนั้น สมาชิกในชุมชนจะรู้ถึงสถานการณ์ปัญหา แหล่งทรัพยากร และทุนทางสังคมที่แท้จริงของชุมชนตนเอง
ทุนมนุษย์
ทุนมนุษย์ คือ การนำบุคคลที่เป็นผู้นำและการนำบุคคลที่มีองค์ความรู้ ความสามารถ ทักษะส่วนบุคคลในด้านปราชญ์ต่าง ๆ ถ่ายทอดให้ความรู้ให้กับสมาชิกชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วม ชุมชน สังคมและก่อให้เกิดการพัฒนาสมาชิกในชุมชนและชุมชน ดังนี้
1.นายพลาธิป เต็มสืบ ผู้ใหญ่บ้านหัวฝาย
บทบาทหน้าที่
- อำนาจหน้าที่ในทางปกครองและรักษาความปลอดภัย
- หน้าที่ต้องรายงานต่อทางราชการ การรายงานความเดือดร้อนของราษฎรให้ทางราชการทราบ เพื่อขอความช่วยเหลือและปฏิบัติตามคำสั่งของทางราชการ
- การจัดทำทะเบียน เช่น การปรับปรุงทะเบียนท้องที่ ข้อมูลจำนวนราษฎร
- การนำข้อราชการไปประกาศแก่ราษฎร
- การบำรุงและส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎร
- การจัดหมู่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
- การอันเกี่ยวกับความอาญา เช่น อำนาจในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายส่งพนักงานสอบสวนท้องที่
2.นายประสงค์ ใจยานนท์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
บทบาทหน้าที่ ช่วยเหลืองานด้านต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
3.นางยุพิน วงค์อะทะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (ฝ่ายปกครอง) และประธานอาสาสมัครสาธารณสุข
บทบาทหน้าที่
- ช่วยสอดส่องดูแลลูกบ้าน
- ได้รับการมอบหมายงานจากกำนัน
- ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน
- ประสานงานระดับท้องที่
- งานด้านเอกสาร เช่น ระเบียบวาระการประชุม
- ดูแลการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านทั้ง 11 คน โดยมีการแบ่งบทบาทและหน้าที่ของ อสม. ซึ่งมีทั้งหมด 10 สาขา ดังนี้ 1) สาขาแม่และเด็ก 2) สาขาคุ้มครองผู้บริโภค 3) สาขาโรคติดต่อ 4) สาขาโรคไม่ติดต่อ 5) สาขาโรคเอดส์ 6) สาขาปัญหาสาเสพติด 7) สาขาสุขภาพจิต 8) สาขาแพทย์แผนไทย (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) 9) สาขาบริการศูนย์ ศ.สมช. 10) สาขาส่งเสริมสุขภาพในชุมชนและจัดการสุขภาพในชุมชน ซึ่งการแบ่งบทบาทหน้าที่จะทำให้การดูแลแต่ละกลุ่มเป้าหมายเป็นไปอย่างทั่วถึง
4.นายองค์อาจ กันเอ้ย สมาชิก อบต.
บทบาทหน้าที่
- ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนา อบต.
- ให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติเพื่อการบริหารกิจการต่าง ๆ และข้อบัญญัติงบประมาณ
- เข้าร่วมประชุมสภาฯ ตามสมัยประชุม และนำปัญหาของท้องถิ่นมาพิจารณาหรือออกข้อบัญญัติเพื่อป้องกัน ควบคุม ดูแลให้ท้องถิ่นเกิดความสงบเรียบร้อย
- พัฒนาชุมชน
ทุนสถาบัน
ทุนสถาบัน คือ การรวมตัวของกลุ่มคนเป็นองค์กรที่มีศรัทธา ความเชื่อมั่น และมีจิตสำนึกร่วมกัน มุ่งมั่นในสิ่งเดียวกันเพื่อพัฒนาสังคม ชุมชนให้เข้มแข็ง เป็นการรวมกลุ่มและสถาบันทางสังคม เป็นเครือข่ายที่มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนความเป็นกลุ่มก้อน ทำให้มีศักยภาพและพลังที่จะช่วยเหลือกันเองหรือร่วมกันทำประโยชน์เพื่อชุมชน ทุนสถาบันในชุมชนบ้านหัวฝาย ได้แก่
- สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานของชุมชนที่ยังคงมีความสัมพันธ์ในการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นอกจากจะคอยให้ความช่วยเหลือกันในครอบครัวและกลุ่มเครือญาติแล้ว ยังมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเพื่อนบ้านใกล้เคียงอีกด้วย
- วัด เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งจะมีการจัดประเพณีตามวันสำคัญต่าง ๆ ตามเทศกาล เป็นสถาบันที่มีการดูแลศาสนสถานร่วมกันของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหัวฝาย และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมจิตใจของชาวบ้านในชุมชน
- โรงเรียน เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของเด็กและเยาวชน อีกทั้งเป็นแหล่งที่เก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนอีกที่หนึ่ง เนื่องจากโรงเรียนบ้านวัดหัวฝายอยู่คู่กับชุมชนบ้านหัวฝายมาช้านาน ถึงแม้จะมีการแยกหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่บ้าน แต่ก็ยังร่วมกันรักษาดูแล และใช้ประโยชน์จากโรงเรียนร่วมกัน
- กลุ่มอาชีพ กลุ่มอาชีพบ้านหัวฝาย หมู่ 1 มีการจัดทำอาชีพโดยความสนใจของชาวบ้าน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก โรงไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อาทิเช่น กองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า หน่วยงานเอกชน เช่น สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) และหน่วยงานจากรัฐบาล เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีอาชีพ และเป็นการสร้างรายได้ภายในครัวเรือนได้
ทุนภูมิปัญญา
- จักสาน นายศรีไว ปกแก้ว สืบสานศิลปะพื้นบ้านงานจักสาน ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่คนรุ่นหลัง และเป็นแหล่งเรียนรู้การสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ หวาย ฯลฯ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้แก่ผู้ที่สนใจ
- หมอเสก-เป่า นายหลั่น เกี๋ยงแก้ว รักษาคนในชุมชน หากหาหมอหรือกินยาสักระยะหนึ่งแล้วยังรู้สึกไม่ดีขึ้น ก็จะหาหมอเสกเป่า หรือหมอแผนโบราณมารักษาโดยการเสกน้ำมัน หรือเป่าคาถา ให้หายจากการเจ็บป่วย ซึ่งเกิดจากความเชื่อ ทำให้กำลังใจดีขึ้น โดยส่วนใหญ่จะรักษาโรค เช่น คางทูม งูสวัด ไฟลวก
- ประเพณีท้องถิ่น (เจ้าบ้าน) นางจันทร์แป้ง กาญจนวงศ์ สืบสานประเพณี วัฒนธรรมชุมชน สืบทอดประเพณี วัฒนธรรม ให้คงคู่กับชุมชน และถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
- ดนตรีพื้นบ้าน นายพลาธิป เต็มสืบ การสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และได้ถ่ายทอดให้กับเด็กเยาวชนและผู้ที่สนใจในดนตรีพื้นบ้านได้มาเรียนรู้การเล่นดนตรีไทย อีกทั้งการนำวงดนตรีไปแสดงตามงานต่าง ๆ เช่น แห่งานมงคล แห่งานศพ หรืองานพิธีต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งสมาชิกในวงได้แก่เด็กเยาวชนและผู้สูงอายุบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8
- ดิน พื้นที่เพาะปลูกพืชทางการเกษตร เนื่องจากปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ยหมัก และได้รับการสนับสนุนจากโรงไฟฟ้าในการมอบที่ดินให้เพื่อทำการเกษตรแบบพอเพียง ทั้งนี้ อาจมีพื้นที่บางส่วนที่ได้รับมลพิษจากโรงไฟฟ้า
- แหล่งน้ำ ลำห้วย สำหรับทำการเกษตร คลองส่งน้ำ ทางการเกษตร (เป็นพื้นที่ รองรับน้ำ) ทำให้ทีน้ำใช้ตลอดปีในการทำการเกษตร เป็นพื้นที่สาธารณะ
- วัดหัวฝาย เป็นสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นแหล่งศูนย์รวมจิตใจของผู้คนบ้านหัวฝาย และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง
- ป่าชุมชน (สุสานบ้านหัวฝาย) พื้นที่นี้มีต้นไม่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่ดี และเป็นสถานที่ฌาปนกิจศพ เป็นพื้นที่สาธารณะ
ชื่อกลุ่ม | ประธานกลุ่ม | วัตถุประสงค์ | ลักษณะงาน | กิจกรรมหลัก |
กลุ่ม อสม. | นางยุพิน วงค์อะทะ |
|
ด้านอาสาพัฒนา |
|
กลุ่มสตรีแม่บ้าน
|
นางบุผา เกี๋ยงแก้ว |
|
ด้านสวัสดิการ |
|
กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน | นายประสงค์ คำฟูบุตร |
|
ด้านสวัสดิการ |
|
กลุ่มผู้สูงอายุ |
นายวัน เต็มสืบ |
|
ด้านสวัสดิการ |
|
กลุ่มออมทรัพย์ |
ว่าที่ รต.ธนพงษ์พันธุ์ เกี๋ยงแก้ว |
|
ด้านการเงิน |
|
กลุ่มออมวันละบาท | นางนงคราญ วงค์อะทะ |
|
ด้านการเงิน |
|
กลุ่มตำรวจบ้าน |
นายวัน เต็มสืบ |
|
ด้านความปลอดภัย |
|
กลุ่มเยาวชน | นางสาวลลิตา หมื่นแก้วโอวาท |
|
ด้านสวัสดิการ |
|
กลุ่มกรรมการผลกระทบ กฟผ. | นายองค์อาจ กันเอ้ย |
|
ด้านสวัสดิการ |
|
กลุ่มธนาคารรักษ์แม่เมาะ | นางยุพิน วงค์อะทะ |
|
ด้านการเงิน |
|
กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้าน | นางศิรินาฎ พรหมหมั้น |
|
ด้านสวัสดิการ |
|
ศูนย์ดำรงความเป็นธรรม | นายพลาธิป เต็มสืบ |
|
ด้านความเป็นธรรม |
|
กลุ่มอาชีพ กลุ่มอาชีพบ้านหัวฝาย หมู่ 1 มีการจัดทำอาชีพโดยความสนใจของชาวบ้าน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก โรงไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่น กองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า หน่วยงานเอกชน เช่น สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) และหน่วยงานจากรัฐบาล เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีอาชีพ และเป็นการสร้างรายได้ภายในครัวเรือนได้
ชื่อกลุ่มอาชีพ | ประธานกลุ่ม |
กลุ่มไข่เค็ม | นางกิ่งแก้ว ไฉไลไมตรีมิตร |
กลุ่มเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ | นางปราณี วงค์แก้วมูล |
กลุ่มทำน้ำยาเอนกประสงค์ | นางยุพิน วงค์อะทะ |
กลุ่มเพาะเห็ดในโรงเรือน | นายวัน เต็มสืบ |
กลุ่มทำน้ำพริก | นางคำสุก เกี๋ยงแก้ว |
กลุ่มจักสาน | นายศรีไว ปกแก้ว |
กลุ่มผ้ามัดย้อม | นางยุพิน วงค์อะทะ |
คนในชุมชนพูดภาษาเหนือในการสื่อสาร ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น หรือเรียกว่า "คำเมือง" ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยกลางได้ชัดเจน สื่อสารได้ตรงกัน
บ้านหัวฝายมีแนวทางและวิธีการทำงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านจัดการตนเองโดยใช้หลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิด ความเห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาหมู่บ้านผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชน มีการประชุมหมู่บ้านเดือนละครั้ง เพิ่มศักยภาพโดยการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ศึกษาดูงาน ทำให้คนในหมู่บ้านได้รับประโยชน์ เกิดความรู้สึกรักชุมชนและทำงานเพื่อชุมชน
ทิศทางในการพัฒนาบ้านหัวฝาย มีแนวคิดการบริหารจัดการหมู่บ้านโดยยึดรูปแบบการมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้าน เน้นความหลากหลายของกลุ่มและช่วงอายุ มีคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ โดยคณะกรรมการหมู่บ้านแต่ละฝ่ายแกนนำร่วมกันจัดทำข้อมูลปัญหา และความต้องการของประชาชนนำเข้าสู่เวทีประชาคมหมู่บ้าน ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและนำเสนอแผนโครงการที่ร่วมกันจัดทำขึ้นเป็นเครื่องมือในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิธีการทำงานเน้นการมีรวมกลุ่มกันทำงานเน้นการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้รู้จักพึ่งพาตนเอง
อาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ได้รายได้ที่หลากหลาย แต่รายรับก็ยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายทำให้ต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งการเงินภายในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน
พฤติกรรมในการบริโภคอาหารแบบเปลี่ยนจากวิถีชีวิตเดิม เนื่องจากต้องรีบเร่งทำงาน ทำให้คำนึงถึงคุณภาพโภชนาการอาหารน้อยลง ทำให้คนในชุมชนป่วยเป็นโรค ทั้งโรคตามฤดูกาล โรคเรื้อรังและโรคทางเดินหายใจ
ปัญหาในหมู่บ้านที่พบบ่อย คือ ปัญหาด้านสภาวะแวดล้อม จากมลพิษ ฝุ่น กลิ่น เสียง จากการทำเหมืองลิกไนต์ ซึ่งพื้นที่หมู่บ้านหัวฝาย อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ทิ้งมูลดินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ) ทำให้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ฝุ่น, กลิ่น, เสียง ส่งผลให้ในช่วงฤดูหนาว ฤดูร้อน มักประสบปัญหาความเดือดร้อนจากสภาวะแวดล้อมอยู่เป็นประจำ
ในชุมชนบ้านหัวฝาย มีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวป้าหอย และร้านน้ำ ชา กาแฟ อคิณคอฟฟี่
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ยุพิน วงค์อะทะ. (2564). แผนพัฒนาหมู่บ้านหัวฝายหมู่ 1 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง.
นายพลาธิป เต็มสืบ, ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566
นายหลั่น เกี๋ยงแก้ว, ปราญช์ชาวบ้านคนที่ 1, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566
นายสมบรูณ์ กันเอ้ย, ปราญช์ชาวบ้านคนที่ 2, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566
รายงานการวิจัยชุมชนตำบลบ้านดง. ลำปาง