แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มาจากการเรียกตามลักษณะของหมู่บ้านที่แต่เดิมเป็นป่ามีต้นไม้ใหญ่รกครึ้ม และมีต้นจำปีต้นใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน ซึ่งจะมีชาวบ้านที่ผ่านไปมาจากชุมชนอื่น มักจะแวะพักที่ต้นจำปีก่อนที่จะเดินทางเข้าไปในเมือง รวมทั้งเป็นที่พักของม้า-วัว ที่บรรทุกของมาขาย ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกจุดแวะพักตรงนี้ว่า “ปาง” ที่มีความหมายว่า ที่พัก รวมเข้ากับต้นจำปี ซึ่งเป็นจุดที่มีการแวะพักว่า “ปางจำปี”
แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมู่บ้านปางจำปีเดิมรวมอยู่กับหมู่บ้านแม่เตา หมู่ 4 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2499 จำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้น จึงแยกการปกครองออกมา ตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ คือ หมู่บ้านปางจำปี หมู่ 7 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง หาของป่า และทำการเกษตร
ที่มาของชื่อ “ปางจำปี” มาจากการเรียกตามลักษณะของหมู่บ้านที่แต่เดิมเป็นป่ามีต้นไม้ ใหญ่รกครึ้ม และมีต้นจำปีต้นใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน ซึ่งจะมีชาวบ้านที่ผ่านไปมาจากชุมชนอื่น มักจะแวะพักที่ต้นจำปีก่อนที่จะเดินทางเข้าไปในเมือง รวมทั้งเป็นที่พักของม้า-วัว ที่บรรทุกของมาขาย ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกจุดแวะพักตรงนี้ว่า “ปาง” ที่มีความหมายว่า ที่พัก เข้ากับต้นจำปี ซึ่งเป็นจุดที่มีการแวะพักว่า “ปางจำปี”
ต่อมามีชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงกลายเป็น “หมู่บ้านปางจำปี” จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้ต้นจำปีที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านได้ถูกตัดไปแล้วไม่หลงเหลือร่องรอย และเนื่องจากที่ตั้งของชุมชนเป็นที่ราบสูงทำให้การประกอบอาชีพหลักของคนในชุมชนที่เกี่ยวกับเกษตรมีน้อย ได้แต่อาศัยการเข้าป่า ล่าสัตว์ ตัดไม้ จับปลา ในลำห้วยแม่ลายน้อย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของคนในชุมชน เพื่อนำไปเป็นอาหารในครัวเรือน และที่เหลือก็นำไปขายเพื่อสร้างเป็นรายได้ให้กับครัวเรือน
ด้วยสภาพพื้นที่ของชุมชนแวดล้อมไปด้วยหุบเขา คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพและดำรงชีวิตที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติ อาทิ หาหน่อไม้ เก็บเห็ด เก็บสมุนไพร ล่าสัตว์ และมีบางส่วนปลูกพืชสวน พืชไร่ ในบริเวณรอบ ๆ ชุมชน
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านปางจำปี เดิมมีเพียงไม่กี่หลังคาเรือน ต่อมาเมื่อหลายครอบครัวเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นจึงแยกตัวเป็นชุมชนอีกชุมชนหนึ่ง ข้อสันนิษฐานของคนในชุมชนเบื้องต้นเกี่ยวกับการที่คนอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่มากขึ้น เนื่องจากสภาพพื้นที่แต่เดิมเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และที่สำคัญลำน้ำแม่ลายน้อยไหลผ่านชุมชนตลอดทั้งปี มีแหล่งอาหารบริโภคตลอดโดยการพึ่งพาอาศัยป่าและน้ำ จากการสังเกตการตั้งบ้านเรือนของคนในชุมชนจะตั้งอยู่ริมน้ำไม่ว่าจะเป็นลำน้ำแม่ลายน้อยสายหลักหรือลำห้วยสาขาตลอดจนการจับจองที่ทำกินที่สวนไร่นาของคนในชุมชนก็มักจะอยู่ริมสองฝั่งลำน้ำเป็นหลัก
บ้านปางจำปี ตั้งอยู่ หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เดิมรวมอยู่กับหมู่บ้านแม่เตาดิน หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2499 จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้แยกการปกครองออกมาตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่
ขอบเขตหมู่บ้าน
- ทิศเหนือ ติดต่อบ้านเปียน ม.2 ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดป่า ม.7 ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดบ้านปางไฮ ม.7 ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดบ้านแม่เตาดิน ม.4 ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
ประชากรของหมู่บ้านปางจำปีส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองที่มีทั้งที่ตั้งรกรากเดิมอยู่ที่หมู่บ้าน เมื่อครั้งแยกหมู่บ้านมาจากบ้านแม่เตาดินและอพยพย้ายเข้ามาสมทบจากหมู่บ้านอื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น แม่อุ้ยหน้อยป๊อกปางตะเคียนที่ได้เล่าถึงการโยกย้ายมาอยู่ของครอบครัวว่า ได้ย้ายมาอยู่ที่นี่ เพราะลูกชายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จนเดี๋ยวนี้ก็อยู่ที่ป๊อกปางตะเคียนมากกว่า 40 ปี ยังไม่ได้ย้ายไปไหน และอีกประมาณ 2-3 ครอบครัว ก็มีภรรยาเป็นชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอที่ย้ายมาจากอำเภอมก๋อย เพราะคนในชุมชนบางคนเคยไปทำงานที่นั่น แต่ปัจจุบันก็พูดคําเมืองและกลายเป็นคนเมืองกันหมดแล้ว บางครอบครัวก็ได้แต่งงานกับชาวต่างถิ่นภาคอื่น เช่น ครอบครัวของพี่ศักดิ์ที่เป็นคนหนองคาย ซึ่งพี่ศักดิ์บอกว่าถ้าที่บ้านเขามีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมือนที่ปางจำปี ไม่มีทางที่เขาจะย้ายมาอยู่ที่นี่เด็ดขาด ลำน้ำแม่ลายน้อยไม่เคยที่จะเหือดแห้งแม้ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี อันเป็นช่วงที่แม่ลายน้อยมีปริมาณน้อยที่สุดในรอบปี อันแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจ ฟื้นฟู และอนุรักษ์ผืนป่าและลำน้ำ
ปกาเกอะญอสภาพพื้นที่ของชุมชนปางจำปีที่ตั้งอยู่บนที่สูงที่ไม่เอื้ออํานวยต่อการปลูกพืช อีกทั้งสภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินแดงและหิน จึงทำให้คนในชุมชนไม่สามารถปลูกข้าวเพื่อบริโภคได้ จําเป็นจะต้องซื้อข้าวจากหมู่บ้านใกล้เคียงหรือในเมือง ดังนั้น คนในชุมชนในอดีตจึงจําเป็นจะต้องทำการเกษตร ในขณะที่คนในครอบครัวก็จะต้องเข้าป่าหาอาหารทั้งกินและขาย หรือจับสัตว์น้ำ นําเงินไปซื้อข้าว หรือเอาสินค้าไปแลกเปลี่ยนทั้งข้าวสาร เกลือ น้ำมันก๊าด หรือเครื่องใช้ในครัวเรือน จากชุมชนใกล้เคียงหรือจากตัวอำเภอ หรือบางครอบครัวก็จะเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค ขาย แลกเปลี่ยนกับพ่อค้านอกชุมชน พี่สวัสดิ์ แกนนําชุมชนปางจำปี เล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อนข้าวเป็นสิ่งหายากมาก การจะได้ข้าว 1 ส่วน จะต้องหาหน่อไม้ไปแลกถึง 8 ส่วน อาหารจากป่าหรือน้ำมี เพียงพอแล้วสิ่งที่จะต้องหาก็คือข้าว”
จากเหตุการณ์ที่ทำให้ปางจำปีตกเป็นจําเลยในการตัดไม้ทำลายป่าในครั้งนั้น ทำให้มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานเข้ามาในชุมชนปางจำปีและชุมชนใกล้เคียง อาทิ กรมพัฒนาชุมชน การศึกษานอกโรงเรียน ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ มูลนิธิโครงการหลวง เพื่อเข้ามาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านต่าง ๆ เช่น การเพาะเห็ด การเลี้ยงหมู เลี้ยง วัว ทำปุ๋ย สร้างระบบเงินทุนหมุนเวียนให้กับคนในชุมชนเป็นการป้องกันไม่ให้ชาวบ้านไปตัดไม้มาขายอีก อีกทั้งยังมีการให้ความรู้ ข่าวสาร และการอบรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าและน้ำอย่างต่อเนื่องให้กับชุมชน จนปัจจุบันอาชีพของคนในชุมชนบ้านปางจำปี จึงมีอาชีพและวิถีการผลิตที่หลากหลาย โดยยึดอาชีพหลัก คือ การทำการเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว และมีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นมาหลาย กลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเลี้ยงหมูเมือง กลุ่มเลี้ยงวัว กลุ่มผู้ปลูกกาแฟ กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพร กลุ่มผักปลอดภัย กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น แต่การดําเนินงานของกลุ่มเหล่านั้นทำให้คนในชุมชน เพียงแต่มีอาชีพทำแต่หากคิดต้นทุนการผลิตตั้งแต่ต้นจนถึงจําหน่าย หากไม่เท่าทุนก็ขาดทุน มีส่วนน้อยที่จะได้กําไรหรือรายได้เป็นประจำ ดังนั้นการเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ ของคนในชุมชนจึงถือเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น ไม่ใช่รายได้หลักของครอบครัว คนในชุมชนบางส่วนจึงต้องออกไปรับจ้างทำงานในตัวอำเภอ หรือในตัวเมืองเชียงใหม่ทั้งประจำและไปกลับ
กลุ่มอาชีพในชุมชน
กลุ่มรวมตัวเพื่อการผลิตและการเกษตร
- กลุ่มเลี้ยงหมูพื้นเมือง
- กลุ่มเลี้ยงวัว
- กลุ่มผู้ปลูกกาแฟ
- กลุ่มผักปลอดสาร
- กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่
กลุ่มรวมตัวเพื่อการออมและการทำธุรกิจ
- กลุ่มแม่บ้าน
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
- กลุ่มกองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน
กลุ่มรวมเพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
- กลุ่มเยาวชน
- กลุ่มฌาปนกิจ
กลุ่มรวมตัวเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ
- กลุ่มผู้สูงอายุ
ชุมชนบ้านปางจำปี มีวัดอารามคันธาวิเวกเป็นแหล่งรวมของคนในชุมชนในการทำกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมของชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีพระประจำวัดเพียง 1 รูป วิหาร และศาลาเพื่อประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์เท่านั้น การเข้าวัดของประชาชนในชุมชนนอกจากจะเข้าวัดทำบุญในวันพระแล้ว เมื่อมีการประชุมประจำเดือนหรือมีกิจกรรมที่ต้องจัดประชุมหารือกับคนในชุมชนในเรื่องต่างๆ ผู้นําและคณะกรรมการมักจะใช้วัดเป็นสถานที่จัดประชุมเป็นประจำ แม้กระทั่งกลุ่มสตรีที่มีการฝึกอบรมจากหน่วยงานของรัฐในเรื่องอาชีพ มักจะใช้ศาลาวัดเป็นที่จัดกิจกรรมของกลุ่ม ถึงแม้ว่าคนในชุมชนปางจำปีจะมีทั้งคนพื้นราบ ชาวเขา หรือผู้ที่ย้ายมาจากที่ไหนก็ตาม ทุกคนล้วนแต่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น เมื่อมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนาหรือไม่ก็ตาม คนในชุมชนมักจะเลือกวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชนเสมอ ส่วนด้านความเชื่ออื่นๆ คนในชุมชนบ้านปางจำปี ก็ยังเชื่อในเรื่องการนับถือผีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า) เจ้าป่าเจ้าเขา และยังมีพิธีกรรมอื่นๆ ที่คนในชุมชนมักปฏิบัติให้เป็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อ และวิถีชีวิตที่ปฏิบัติมาแต่เก่าแก่ เช่น การผูกมือรับขวัญทหารใหม่ เมื่อบุตรหลานได้รับเลือกให้เป็นทหาร การผูกข้อมือคู่บ่าวสาวเมื่อมีพิธีแต่งงาน เป็นต้น
เดือนมกราคม จะมีประเพณีตานข้าวใหม่หรือประเพณี 4 เป็ง เป็นการทำบุญตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้ง ตามความเชื่อที่ว่า หากได้ตาน (ถวาย)ข้าวที่พึ่งเสร็จจากการเก็บเกี่ยวให้แก่บรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว จะเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และการถวายข้าวใหม่แด่พระสงฆ์ก็ถือเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว
เดือนเมษายน จะมีการประกอบพิธีบวชป่าสืบชะตาลำน้ำแม่ลายน้อย
เดือนพฤศจิกายน ประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทง เนื่องจากคนในชุมชนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องการขอขมาแด่พระแม่คงคา และสายน้ำที่เปรียบเสมือนเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตให้กับคนในชุมชน
เดือนธันวาคม จะมีประเพณีบูชาเจ้าพ่อกาบคํา โดยจัดกันในวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกๆปี
วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนปางจำปี พบว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติ เช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆทางภาคเหนือ วัฒนธรรมและประเพณีที่มีความเฉพาะ เป็นเอกลักษณ์หรือสื่อถึงวิถีชีวิตของชุมชนปางจำปีจึงไม่มีอะไรเด่นนัก
1.นายสุจิตต์ ใจมา
- พัฒนาศักยภาพนักวิจัยท้องถิ่น (สกว.-แม่โจ้)
- นักจัดการความรู้ท้องถิ่น (สกว.-แม่โจ้ และ สรส.)
- ผู้รู้ด้านภูมิปัญญาสมุนไพรและการจัดการระบบเหมืองฝาย
- ผู้ใหญ่บ้าน บ้านปางจำปี
2.นายบุญเสริฐ โจมขัน
- พัฒนาศักยภาพนักวิจัยท้องถิ่น (สกว-แม่โจ้)
- นักจัดการความรู้ท้องถิ่น (สกว-แม่โจ้ และ สรส.)
- ผู้รู้ด้านภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากป่าและวงจรชีวิตของป่าไผ่
- ประธานประชาคมหมู่บ้าน
3.นายธนากร ขัตติยะ
- พัฒนาศักยภาพนักวิจัยท้องถิ่น (สกว-แม่โจ้)
- นักจัดการความรู้ท้องถิ่น (สกว-แม่โจ้ และ สรส.)
- ผู้รู้ด้านภูมิปัญญาการด้านการเกษตร/การจัดการทรัพยากรน้ำ
- เชี่ยวชาญข้อมูลของลำน้ำแม่ลายน้อยและลำน้ำสาขา
- สมาชิก อบต-ห้วยแก้ว
4.นายสวัสดิ์ ขัตติยะ
- พัฒนาศักยภาพนักวิจัยท้องถิ่น (สกว-แม่โจ้)
- นักจัดการความรู้ท้องถิ่น (สกว-แม่โจ้ และ สรส.)
- ผู้รู้ด้านภูมิปัญญาการด้านการเกษตร/การจัดการทรัพยากรน้ำ
- เชี่ยวชาญข้อมูลของลำน้ำแม่ลายน้อยและลำน้ำสาขา
- เชี่ยวชาญความรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ (จนท.ฝ่ายศึกษาพัฒนาป่าไม้)
5. นายทองยศ เรือนแก้ว
- การบริหารการเงินชุมชน
- ผู้จัดการกองทุนชุมชนคนรักษ์ป่าบ้านปางจำปี
ด้านวัฒนธรรม
วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของราษฎรในชุมชนบ้านปางจำปีในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
- การใช้พืชสมุนไพรเพื่อการรักษาโรค บาดแผลฟกช้ำ บํารุงสุขภาพร่างกาย การใช้ประโยชน์สมุนไพร เพื่อการรักษาโรค คนชุมชนจะเลือกเอาเฉพาะส่วนที่ต้องการใช้ เช่น ผลของมะขามป้อมแก้อาการเจ็บคอ และแก้ไอ ดอกจําปาช่วยบํารุงหัวใจและบํารุงร่างกาย ใบและยอดของต้นขี้เหล็ก ต้มดื่มใช้ขับปัสสาวะ เปลือกของต้นกําลังเสือโคร่ง ต้มดื่มบํารุงกําลัง รากขิงต้มดื่มขับลมในกระเพาะ
- วัฒนธรรมการจ่าใบตองมวนยาสูบ อาชีพจ่าใบตองเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดตามกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านจะออกไปหาใบตองจากป่า จะใช้ใบตองกล้วยแดงซึ่งจะอยู่รอบ ๆ หมู่บ้าน ส่วนมากจะพบในบริเวณสองฟากลำน้ำแม่ลายน้อย และบริเวณลำน้ำสาขาทุกสาขาของลำน้ำแม่ลาย ชาวบ้านจะเลือกเอาเฉพาะต้นกล้วยแดง ซึ่งเป็นกล้วยป่าที่มียอดอ่อนแทงออกมาจากส่วนยอดสุดไม่เกิน 20 นิ้ว เนื่องจากเกินกว่านี้จะเป็นยอดตองแก่ใช้ไม่ได้ วิธีการตัดชาวบ้านจะตัดโดยการกะเอาเฉพาะส่วนที่มีหลี่ตอง (ใบตองอ่อนที่ม้วนอยู่กับก้านตองซึ่งอยู่ภายในต้นกล้วย) ไม่ตัดทั้งหมด คงเหลือส่วนต้นกล้วยไว้ประมาณครึ่งหนึ่งของลำต้น เพื่อให้ต้นกล้วยได้มีโอกาสเจริญเติบโตและสร้างเป็นลำต้นใหม่ขึ้นมาแทนส่วนที่ถูกตัดออกไป แล้วจะตัดอีกครั้งก็ต่อเมื่อต้นกล้วยโตพอที่จะตัดได้ หรือประมาณ 3 เดือนให้หลัง ในระหว่างนั้นจะตัดต้นอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ ที่มีความพร้อมอาจจะเป็นที่อื่น ๆ บ้างหรืออาจจะมาตัดบริเวณเดิมบ้างหมุนเวียนไปตลอดปี
- วัฒนธรรมการติดต้นกล้วยเพื่อนํามาจ่าใบตอง มีการสืบสานปฏิบัติกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยการบอกเล่าถึงความสำคัญของการตัดต้นกล้วยครึ่งต้น เพื่อให้มีการอนุรักษ์สภาพป่ากล้วยป่าเอาไว้ไม่ให้สูญหายหรือหมดไป
- การใช้ไม้มาสร้างบ้านเรือน/ที่อยู่อาศัย โดยความนิยมของชุมชนบ้านปางจำปี จะใช้ไม้ประเภทไม้เนื้อแข็งในการสร้างบ้านเรือน เช่น ไม้จำปี ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้สัก เป็นต้น ไม่นิยมใช้ไม้เนื้ออ่อนเพราะจะทำให้ความ คงทนมีน้อย ไม้เนื้ออ่อนที่ไม่นิยมนํามาตัดสร้างบ้านเรือน เช่น ไม้ลุง ไม้ไทร ไม้ตีนเป็ด ไม้งิ้ว ขาว ไม้งิ้วแดง เป็นต้น ทำให้ไม้หลายชนิดไม่ถูกตัดโค่นยังคงมีอยู่ทั่วไปในผืนป่า
ด้านความเชื่อ
ความเชื่อที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนบ้านปางจำปี
- ผีสองนาง ในอดีตคนชุมชนดั้งเดิมบ้านปางจำปี มีความเชื่อกันว่าต้นไม้ที่มีลักษณะสองนาง คือมีลำต้นเดียวแตกแขนงออกเป็นสองหน่อเท่า ๆ กันนั้น จะมีผีผู้หญิงสิงสถิตอยู่ ถ้าไปตัดต้นไม้สองนางผีที่สิงสถิตอยู่ จะทำให้ผีไม่มีที่อยู่และจะอาฆาตพยาบาทมาก อาจมาทำอันตรายต่อคนที่ตัดไม้ถึงตายได้ ทำให้ไม่มีคนกล้าไปตัดทำลายต้นไม้ที่มีลักษณะสองนาง
- ผีถ้ำหรือผีวัดร้าง มีความเชื่อที่เล่าสืบทอดกันมาทุกรุ่นทุกสมัยว่าที่บริเวณไหนก็ตาม ถ้ามีถ้ำ มีต้นไม้ใหญ่หนาแน่น มีเถาวัลย์พันรุงรังห้ามตัดต้นไม้อย่างเด็ดขาด เพราะจะเกิดอาเพทภัยพิบัติทั้งตัวผู้ตัดและคนทั้งชุมชนด้วย เนื่องจากบริเวณถ้ำหรือวัดร้างจะมีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ปกป้องรักษาอยู่ ยังมีคําเล่าขานสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันว่าในวันพระขึ้น 15 ค่ำหรือแรม 15 ค่ำ จะมีเสียงดนตรีมโหรีดังแว่วมาจากถ้ำและวัดร้าง บางคนบอกว่าได้ยินเสียงคนพูดคุยกันอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่แต่มองไม่เห็น จึงทำให้บริเวณบนถ้ำหรือรอบ ๆ ถ้ำและวัดร้างมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมหนาแน่นจนดูรกครึ้มชุ่มเย็น
- ผีวังน้ำ มีความเชื่อคล้ายกันกับผีถ้ำ ทำให้ไม่มีใครกล้าตัดต้นไม้ในบริเวณวังน้ำใหญ่ มีกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนบ้านปางจำปี คือ
- ห้ามตัดต้นไม้บริเวณขุนน้ำอย่างเด็ดขาด
- ห้ามตัดต้นไม้บริเวณสวนผู้อื่น
- การตัดไม้สร้างที่อยู่อาศัยให้ขออนุญาตคณะกรรมการหมู่บ้านก่อน ห้ามตัดไม้ไปแปรรูปเพื่อการจําหน่าย
ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น
การปลูกไม้ไผ่เพื่อเสริมรายได้ในช่วงฤดูฝนหรือประมาณเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ชาวชุมชนบ้านปางจำปี จะมีอาชีพหาหน่อไม้ขายโดยจะเข้าไปขุดหน่อไม้จากป่าไผ่ไร่ ไผ่หก ไผ่บง บริเวณรอบ ๆ หมู่บ้าน และตามบริเวณข้าง ๆ ลำห้วยสาขาของลำน้ำแม่ลายน้อย โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ในหมู่บ้านเมื่อความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ชาวบ้านหาหน่อไม้มากขึ้น ผืนป่าไผ่เริ่มลดลงชาวบ้านหลายคนเริ่มมองเห็นปัญหาความเสื่อมโทรมของป่าไผ่ของชุมชน จึงได้นําเอาต้นกล้าไม้ไผ่จากป่ามาปลูกไว้ในพื้นที่ทำกินของตนเอง เช่น นายองอาจ ตุ่นเป็ง ได้นํากล้าไม้ไผ่หก ไผ่ซาง ไผ่สีสุก มาปลูกในพื้นที่สวนของตนเองจนกลายเป็นสวนไผ่เกือบสิบไร่ ทุกปีของฤดูกาลหาหน่อไม้ นายองอาจก็จะขุดหน่อไม้ในสวนของตนเองไปขายโดยไม่ไปรบกวนผืนป่าอีก เพราะมีความจํากัดด้านเวลาของหน่อไม้ที่กำหนดไว้ตามธรรมชาติด้วยเหมือนกัน จนเพื่อนบ้านหลายครัวเรือนทำตาม ทำให้เกิดการลดจำนวนคนที่เข้าไปขุดหน่อไม้จากป่าได้จำนวนหนึ่ง และในอนาคตป่าไผ่ของชุมชนอาจฟื้นคืนสู่ความสมบูรณ์ได้
ด้านวิถีการดำรงชีวิต
วิถีการดำรงชีวิตที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน บ้านปางจำปีคือการเลี้ยงควายแบบปล่อยในป่า ในอดีตคนชุมชนบ้านปางจำปีมีการเลี้ยงควายเพื่อใช้ในการไถ่นา และใช้ประโยชน์อื่น ๆ อีก เช่น การลากไม้ เมื่อเสร็จฤดูการไถ่นาเจ้าของควายจะไล่ต้อนควายรวมกันหลายฝูงไปตามทางที่ไม่มีการทำนา เช่น ทางถนนทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน พอพ้นเขตหมู่บ้านก็จะไม่ให้ฝูงควายเข้าป่าไป ซึ่งในป่าจะมีลูกไม้หลายชนิดที่เป็นอาหารของควายเช่น ลูกกระบก ลูกซ้อ การกินจนถึงการขับถ่ายของสัตว์ เป็นตัวช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอกหรือแตกรากได้ และยังเป็นการช่วยกระจายลูกไม้ให้ไปทั่วผืนป่าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้กับป่า ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือการที่ควายเดินเข้าไป ในป่าเป็นประจำจะก่อให้เกิดเป็นทางเดินขึ้นทั่วไป ก่อให้เกิดประโยชน์ในการที่คนเข้าไปหาของป่าจะมีเส้นทางเดิน ไม่ต้องอาศัยการจุดไฟเผาป่าเพื่อให้เป็นทางเดินโล่งเหมือนในอดีต
ด้านแหล่งเรียนรู้
อุทยานการเรียนรู้ชุมชนคนรักษ์ป่าบ้านปางจำปี
เนื่องจากชุมชนปางจำปี ถูกโอบล้อมไปด้วยป่ารอบหมู่บ้าน ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนผูกพันกับป่าและสายน้ำเป็นอย่างมาก อีกทั้งจากบทเรียนที่ได้รับเมื่อครั้งเป็น “มอดไม้ทำลายป่า"จนทำให้ทั้งป่าและน้ำ ของชุมชนเกิดภาวะวิกฤตจนเดือดร้อนไปทั้งชุมชน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงทำให้ชุมชนเกิดความตะหนักและตั้งปณิธานไว้ที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำแม่ลายน้อยและป่าของชุมชนเอาไว้เพื่อให้มีกินจนถึงลูกหลาน อีกทั้งได้สร้างห้องเรียนมีชีวิตเอาไว้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับ เด็กเยาวชน และผู้รักธรรมชาติ ให้เกิดสํานึกและความตะหนักในการหวงแหนทรัพยากรเช่นเดียวกับที่ชุมชนปฏิบัติอยู่
1. การมีส่วนร่วมทางการเมือง (การเข้าประชุม, การออกเสียงเลือกตั้ง) ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับชุมชนเพราะมีกฎหมู่บ้านบังคับ เช่น ถ้าไม่มาทำงานตามที่หมู่บ้านกำหนด จะต้องเสียค่าปรับคนละ 150 บาท หากบอกล่วงหน้าว่าจะขาดงานเสีย 120 บาท โดยต้องหาคนไปแทน ส่วนการเข้าประชุมนั้นไม่มาไม่เป็นไร ชาวบ้านจะมาเข้าประชุมกันตามเรื่องที่ตนเกี่ยวข้องหรือถูกเรียกให้มา
2. กฎประจำหมู่บ้าน โดยหลักจะมีดังนี้
- คนในชุมชนขาอดงานที่ได้รับมอบในหมู่บ้านเสียค่าปรับคนละ 150 บาท ลางานแต่ต้องหาคนไปแทนเสียค่าปรับ 120 บาท
- ต้นไม้สามารถตัดมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ห้ามขาย
คมนาคม
- ถนนลาดยาง 1 สาย
- ถนนลูกรัง 2 สาย
- ถนน กสม. 105 เมตร
การโทรคมนาคม
- ศูนย์ประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน (เสียงตามสาย) 1 แห่ง
ไฟฟ้า
- ทุกบ้านมีไฟฟ้าใช้
เดิมชุมชนมีโรงเรียนตั้งอยู่ โดยก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2529 ทำการสอนใน ระดับประถมศึกษา ในขณะนั้นมีนักเรียนประมาณ 40 คน และมีครูทั้งหมดจำนวน 3 คน ต่อมาเมื่อมีถนนตัดผ่านมายังหมู่บ้านจึงทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น เด็กในชุมชนจึงออกไปเรียนในตัวตำบล อำเภอ และในตัวจังหวัดมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนนักเรียนมีจำนวนน้อยลงและประกอบกับครูผู้สอน ก็โยกย้าย และทางรัฐบาลเองก็ไม่มีงบประมาณจ้างครูมาสอนต่อ ทางศึกษาธิการอำเภอแม่ออน จึงได้ประกาศยุบโรงเรียนและให้เด็กนักเรียนในหมู่บ้านที่มีอายุถึงเกณฑ์ เข้าไปเรียนที่ศูนย์โรงเรียนห้วยแก้ว จึงทำให้เด็กในหมู่บ้านต้องออกไปเรียนนอกชุมชนตั้งแต่เด็ก
ดิน ลักษณะดิน เป็นดินดำ
การจัดการทรัพยากรดิน ชาวบ้านมีการจัดการดินโดยปราศจากการใช้ปุ๋ยเคมี นิยมใช้ปุ๋ยชีวภาพที่หาได้เองในท้องถิ่น
การถือครองที่ดิน ที่ดินที่มีการถือครองทั้งหมด 80 ไร่ ที่ดินสาธารณประโยชน์ (โรงเรียน, ป่าช้า และฯลฯ) 65 ไร่
ป่าไม้ ลักษณะของป่ามีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ มีไม้ประเภท ไม้แดง ไม้สัก ไม้เต็ง การใช้ประโยชน์จากป่า หาของป่า เป็นแหล่งอาหาร (เห็ดมีมากในฤดูฝน, แมงนูนมีมากช่วงต้นฤดูฝนเพราะแมลงชนิดนี้จะออกมากินใบไม้ที่ผลิใบ) แหล่งอาหารจากธรรมชาติ เช่น ไข่มดแดง, ผักหวาน, ปลา, เห็ด, หน่อไม้, แมลง เป็นต้น
น้ำ การใช้น้ำจากธรรมชาติ คือ ห้วยแม่ลายน้อย ห้วยแม่วอง ชุมชนมีแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นมาเองคือ ฝายแม้ว และประปาภูเขา ปัญหาการใช้น้ำ คือ น้ำแห้งในช่วงฤดูแล้ง ไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรและการบริโภคอุปโภคจนทำให้ชุมชนซื้อน้ำจากภายนอก การจัดการน้ำ มีการทำน้ำริน การทำประปาภูเขา มีการทำฝายเพื่อกักเก็บน้ำ
สิ่งแวดล้อม การกําจัดสิ่งปฏิกูล (ขยะ, มูลสัตว์, ของเสีย) คนในชุมชนกําจัดโดยการเผากันเองภายในครัวเรือน โลหะที่ไม่สามารถเผาได้นั้นจะมีรถมารับซื้อของเก่า ส่วนขยะประเภทมูลสัตว์นําไปทำปุ๋ยหรือขายในกิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนของปฏิกูลที่เกิดจากคนนั้นจะมีรถมารับจ้างกําจัด
ป๊อกบ้าน
ความเป็นมา: การแบ่งป๊อกบ้านมีมานานแล้ว โดยจะปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นหย่อม ๆ เพียง 4-5 หลัง ห่างกันเป็นจุด ๆ ซึ่งเรียกกลุ่มบ้านที่ตั้งห่างกันว่า ป๊อกบ้าน ตามภาษาเหนือ สมัยก่อนผู้ใหญ่บ้านก็จะแต่งตั้งให้มีหัวหน้าขึ้นในแต่ละป๊อก เพื่อดูแลรับผิดชอบภายในป๊อก โดยไม่ต้องร้อนไปถึงผู้ใหญ่บ้าน ในเรื่องที่ไม่ร้ายแรงและใหญ่โตอนุญาตให้มีการจัดการกันเองภายในป๊อกได้เลย ดังเช่นที่มีกันในปัจจุบันนี้ด้วย ซึ่งบริเวณนี้ก็มักมีหมู่บ้านที่ประกอบด้วยหลายป๊อกบ้าน ด้วย อาทิ ชุมชนบ้านป๊อก ในขณะเดียวกันที่หมู่บ้านถูกแบ่งเป็นป๊อก ก็ทำให้การบริหารจัดการชุมชนง่ายขึ้น ใช้แนวคิดเดียวกับที่มีมาตั้งแต่อดีต โดยแต่ละป๊อกบ้านจะมีหัวหน้าป๊อกและคณะกรรมการ เพื่อดูแลจัดการป๊อกของตน โดยได้รับการจ่ายงานและข่าวสารจากผู้ใหญ่บ้าน เช่น หมู่บ้านจะมีการประชุม เมื่อก่อนยังไม่มีเสียงตามสาย ผู้ใหญ่บ้านก็จะแจ้งให้หัวหน้าป๊อกไปแจ้งต่อให้ลูกบ้านภายในป๊อกของตนทราบ เสมือนการบริหารจัดการแบบศูนย์กลาง โดยศูนย์กลางอยู่ที่ ผู้ใหญ่บ้าน แต่ปัจจุบันมีการประกาศและแจ้งผ่านทางเสียงตามสายเลย ก็จะเป็นที่ทราบข่าวกันอย่างทั่วถึง ยกเว้นเพียงแต่ป๊อกท่าทราย เพราะอยู่ห่างไกลออกไปและเสียงไปไม่ถึง ก็ยังคงใช้การแจ้งข่าวผ่านทางหัวหน้าป๊อกเช่นเดิม หรือแม้กระทั่งการแจกซองผ้าป่า ก็จะแจกให้หัวหน้าป๊อกช่วยแจกจ่ายให้ลูกบ้านภายในป๊อกของตน เป็นการช่วยลดภาระงานของผู้ใหญ่บ้านไปในตัว ส่วนในงานอื่น ๆ เช่น การคัดเลือกกันเองภายในป๊อก เมื่อเวลามีการประกวดที่ต้องส่งตัวแทนของแต่ละป๊อกเข้าร่วมประกวดก็ให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบในการคัดเลือกบ้าน โดยหัวหน้าป๊อกและคณะกรรมการ ส่วนป๊อกป๊าว การบริหารจัดการจะถูกรวมเข้ากับป๊อกตะเคียนซึ่งอยู่ใกล้กับป๊อกป๊าวมากที่สุด เนื่องจากห่างไกลและมีบ้านเพียงไม่กี่หลัง ซึ่งแต่ละป๊อกจะมีหัวหน้าป๊อก ดังนี้
- ป๊อกท่าทราย : นางปราณี ตุ่นเป้ง
- ป๊อกหล่ายน้ำ : นายเฉลิม ม่านตัน
- ป๊อกกลาง : นายบุญเสริฐ โจมขัน
- ป๊อกตะเคียนและป๊อกป๊าว : นายสุจิตต์ ใจมา และนายอินทร ดาวแวดวงค์
สาวิณี รอดสิน (2554). ชุมชนเข้มแข็ง : กรณีศึกษาชุมชนปางจำปี ตำบลห้วยแก้ว ตำบลแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยศิลปากร
บุญเสริฐ โจมข้น และคณะ (2553). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์ กระบวนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อุทยานชุมชนคนรักษ์ป่าที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนบ้านปางจําปี หมู่ 7 ตําบลห้วยแก้ว อําเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่, สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย