Advance search

บ้านดง

วัดพระบาทนารอง รอยเท้าพระพุทธบาท และประเพณีสรงน้ำ

หมู่ที่ 2
บ้านดง
บ้านดง
แม่เมาะ
ลำปาง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปางและองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง
15 ก.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
26 ก.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
26 ก.ย. 2023
บ้านดง


วัดพระบาทนารอง รอยเท้าพระพุทธบาท และประเพณีสรงน้ำ

บ้านดง
หมู่ที่ 2
บ้านดง
แม่เมาะ
ลำปาง
52220
อบต.บ้านดง โทร. 0-5420-9513
18.3952095340691
99.7498968243598
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง

การก่อตั้งหมู่บ้านไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน มีแต่คำบอกเล่าของบรรพบุรุษที่เล่าสืบกันมาว่าในอดีตนั้น บ้านดงเป็นหมู่บ้านหมู่ที่ 5 ของตำบลแม่เมาะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และเมื่อแยกเป็นกิ่งอำเภอแม่เมาะได้ยกฐานะเป็นตำบลบ้านดง และเป็นหมู่บ้านหมู่ที่ 2 ของตำบลจนถึงปัจจุบัน 

ในอดีตตามคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า หมู่บ้านบ้านดงก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2319 บ้านดงนี้เป็นหมู่บ้าน เก่าแก่สภาพพื้นที่เป็นป่าดงใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น เสื้อ วัว หมี หมูป่า เป็นต้น บ้านดงมีอายุประมาณ 247 ปี (จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2566) เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานของคนสมัยก่อนนั้น จะเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านเรือนและที่ทำมาหากินที่มีความอุดมสมบูรณ์และอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อความสะดวกในการดำรงชีพ โดยอาศัยแรงงานคนในหมู่บ้านมาช่วยกันถางป่า ซึ่งก่อนหน้านี้บริเวณนี้เป็นป่า เป็นดงไผ่มาก่อน อีกทั้งยังมีลำห้วยแม่เมาะและลำห้วยฮั้วไหลผ่าน

ชาวบ้านบ้านดงได้อพยพมาอาศัยอยู่บริเวณนี้สืบเนื่องจาก หมู่บ้านบ้านดงเมื่อก่อนอยู่บริเวณอำเภอแม่เมาะ ชาวบ้านจึงได้แยกตัวกันออกมา แรกเริ่มชาวบ้านจากบ้านทราย ตำบลเสด็จ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เริ่มอพยพกันมาประมาณ 30-50 ครัวเรือนก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ขยาย การอยู่อาศัยมาเรื่อย ๆ จนเป็นหมู่บ้านบ้านดงในปัจจุบัน ซึ่งเหตุที่ตั้งของหมู่บ้านว่า “บ้านดง” นั้นด้วยเหตุที่ว่า สภาพพื้นที่ขณะที่ชาวบ้านนั้นอพยพมาอยู่ที่นี่เป็นดงป่า ดงไผ่มาก่อนจึงเรียกว่าบ้านดงเรื่อยมา การประกอบอาชีพของชาวบ้านบ้านดงนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน ข้าวโพดและการทำหัตถกรรมต่าง ๆ ด้วย

ประวัติวัดบ้านดง

วัดบ้านดง ตั้งอยู่เลขที่ 100 บ้านดง หมู่ 2 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือติดทางสาธารณประโยชน์ ทิศใต้ติดบ้านเอกชน ทิศตะวันออกติดที่ธรณีสงฆ์ ทิศตะวันตกติดทางสาธารณประโยชน์ อาคารเสนาสน ประกอบด้วย วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลารายและกุฏิ วัดบ้านดงสร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานวิสุง คามสีมา วันที่ 6 กรกฎาคม 2492 การบริหารและการปกครองมีพระครูบุญมาธัมมปัญโญ เปิดสอน พ.ศ. 2521 (ประวัติผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบกันมา วัดบ้านดงสร้างก่อน พ.ศ. 2319) ด้านการบริหารการปกครอง มีรายชื่อ เจ้าอาวาสดังนี้ 1.พระผัด 2.พระมูล 3.พระเกื้อ 4.พระแสนชิมะ 5.พระแก้ว 6.พระนั่น 7.พระคำ 8.พระวรรณ 9.พระครูโสภณ 10.พระอธิการจรัส 11.พระเรื่อง 12.พระมงคล 13.พระครูบุญมา ธัมม ปัญโญ เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2551 -2552 หลังจากนั้นได้มรณภาพไป มี พระอธิการจรัส กลยาโณ เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาพระเรียงได้เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ2545-2547 และ ได้มรณภาพไป อีกคน จนกลายเป็นวัดร้างประมาณ 5 ปี ต่อมามีพระจุ และพระแก้ว มาจากวัดท่าสี อยู่ได้ประมาณ 4-5 เดือน ก็ย้ายไปอยู่วัดอื่น ต่อจากนั้นก็ได้มี พระมงคล คุณธสีโล มาอยู่จนถึงปัจจุบัน

ทำเนียบผู้นำชุมชน หมู่ที่ 2 (ผู้ใหญ่บ้านดง)

     1.นายมูล      ณะใจบุตร      ปี พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2520
     2.นายเพชร      ปกแก้ว      ปี พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2522
     3.นายน้อย      ศรีไว      ปี พ.ศ. 2522 - พ.ศ. 2523
     4.นายผ่อง      หมื่นแก้วโอวาส      ปี พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2525
     5.นายเล็ก      ณะใจบุตร      ปี พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2549
     6.นายอนุวัติ      ณะใจบุตร      ปี พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2553
     7.นายสุคำ      วังซ้าย      ปี พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2565
     8.นายจรัส      ณะใจบุตร      ปี พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน

ประวัติวัดพระบาทนารอง

วัดพระบาทนารอง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ คือ จำม่วง และ ห้วยอ้อ (หล่มอ้อ) ห้วยรอง ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่เมาะ มีตำนานเล่าถึงประวัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จมายังพื้นที่น้ำจำและแม่น้ำบริเวณนี้ ด้วยเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ “เหมาะ” แก่การอยู่อาศัย จึงเรียกว่าแม่น้ำ "แม่เหมาะ" ปัจจุบันเรียกเพี้ยนกันต่อ ๆ มาว่า "แม่เมาะ" และจึงทำนายว่าต่อไปภายภาคหน้าจะเป็นเมืองที่มีผู้คนมาอาศัยเจริญรุ่งเรือง

หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาไว้บนผาหิน เพื่อให้เป็นที่ไหว้สาแก่คนและเทวดา สัตว์ป่าน้อยใหญ่ทั้งหลาย ทั้งยังได้เทศนาทำนายชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกับรอยพระพุทธบาทว่าดังนี้ เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพญาช้าง มีช้างบริวารกว่า 300 เชือก ในป่าแห่งนี้ยังมีพระฤาษีตนหนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพของสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย รวมถึงโขลงของพญาช้าง พระฤาษีจึงได้ให้ว่านคงกระพัน ชื่อว่า  ว่านตาเหินแก่ช้างทั้งหลายที่อาศัยหากินอยู่ในป่าแห่งนี้ มีน้ำจำที่มีดอกตาเหินขึ้นอยู่หนาแน่น เรียกว่า “จำตาเหิน” ปัจจุบันอยู่บนดอยผาช้าง เหล่าช้างและพญาช้างได้นำเอาดอกตาเหินและหัวว่านตาเหินมาปะพรมที่ตัว เมื่อเกิดการต่อสู้หรือแทงกันก็ไม่สามารถแทงเข้าได้ ต่อมาสถานที่แห่งนี้จึงเรียกว่า “ห้วยช้างแทง”(อยู่บริเวณตำบลนาสัก)

จากนั้น เหล่าช้างได้พากันมาอาบน้ำที่ลำน้ำแห่งหนึ่ง เมื่อช้างลงอาบน้ำก็ทำให้ฤทธิ์ว่านตาเหินเจือจางหายไป ต่อมาจึงเรียกแม่น้ำนั้นว่า ”แม่น้ำจาง” ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของอำเภอแม่เมาะและอำเภอแม่ทะ หลังจากพญาช้างและช้างบริวาร ได้อาบน้ำที่แม่น้ำแม่จางแล้ว ก็ได้ขึ้นมาหาอาหารกิน และได้เก็บผลไม้นำไปถวายแก่พระฤาษี มี มะปิน มะม่วง มะดูก เป็นต้น 

ระหว่างนั้นพญาช้างได้ใช้งวงหักดอกประดู่มาปกหัวแม่ช้างใหญ่ และหักดอกเปามาปกหัวแม่ช้างน้อย ด้วยเหตุบังเอิญมีรังมดแดงอยู่ที่ดอกเปา จนทำให้มดกัดแม่ช้างน้อย แม่ช้างน้อยเกิดความน้อยใจที่พญาช้างหักดอกเปาที่มีมดแดงมาให้ตน จึงเกิดความเจ็บปวดและตรอมใจตายและได้อธิษฐานขอเกิดเป็นมนุษย์เพื่อที่จะกลับมาทำลายชีวิตของพญาช้าง สถานที่ที่แม่ช้างน้อยตายเรียกว่า “ดอยผาช้างน้อย” เมื่อแม่ช้างน้อยตายไปแล้ว ได้กลับมาเกิดเป็นธิดาของพญาเจ้าเมืองใหญ่ พอเติบโตขึ้น ก็ระลึกชาติเก่าได้ จึงสั่งให้นายพรานไปฆ่าพญาช้างและเอางามาให้ตน เมื่อนายพรานออกเดินทางเข้าป่าไปตามหาพญาช้าง แรมเดือนแรมปี พอถึงฤดูฝน ก็ได้หาไม้มาสร้างตูบอยู่ ภายหลังสถานที่นี้เรียกว่า “ดอยผาตูบ” (อยู่ในเขตตำบลบ้านดง) ส่วนบริเวณที่นายพรานได้ตำข้าว นึ่งข้าวกิน ได้นำแกลบที่เกิดจากการตำข้าวไปทิ้ง เรียกว่า “ดอยผาแกลบ” (บริเวณบ้านเมาะหลวงเก่า) นายพรานได้หาวิธีดักดูพญาช้างโดยได้ทำราวไม้และหินกั้น ต่อมาเรียกว่า “ผาฮาว” (เขตตำบลบ้านดง) นายพรานได้ขุดหลุมและใช้ไม้และหญ้าปกคลุมหลุมแล้วพรางตัวอยู่ในหลุมนั้นคอยดักยิงพญาช้าง 

นอกจากนี้นายพรานยังปฏิบัติตามคำสั่งของพระธิดาเจ้าเมืองคือ แต่งกายเป็นพระฤาษีนักบวช นุ่งผ้าเหลือง สะพายบาตร เพราะว่าพญาช้างมีความเคารพนับถือพระฤาษีจะไม่ทำร้ายอย่างแน่นอน เมื่อพญาช้างเดินผ่านมา นายพรานจึงใช้ธนูยิงเข้าไปที่สะดือของพญาช้าง พญาช้างได้รับบาดเจ็บร้องโอดครวญ เหล่าช้างบริวารทั้ง 300 เชือก จึงวิ่งเข้ามาช่วย พญาช้างรู้ว่าศัตรูอยู่ใต้ดินจึงให้งวงดึงขึ้นมาเพื่อจะฆ่าให้ตาย จึงถามเหตุผลของนายพรานว่ามีวัตถุประสงค์อันใดจึงมาฆ่าเรา นายพรานจึงบอกว่าได้รับคำสั่งจากธิดาพญาเจ้าเมืองต้องการงาของท่าน เทวดาจึงดลใจให้พญาช้างระลึกถึงความหลังเวรกรรมที่ได้ก่อไว้กับแม่ช้างน้อย จึงยอมให้นายพรานตัดงาของตนโดยดี เมื่อตัดงาของพญาช้างแล้ว พญาช้างจึงได้กลับไปตายบริเวณที่ใกล้กับแม่ช้างน้อยตาย สถานที่แห่งนี้จึงเรียกว่า “ผาช้างใหญ่”

บริเวณที่นายพรานขุดหลุมดักพญาช้าง ปัจจุบันคือ “บ่อน้ำทิพย์” วัดพระบาทนารอง ตำบลบ้านดง นายพรานได้เอาชุดนักบวชฤาษีผ้าเหลืองไปทิ้ง ต่อมาเรียกว่า “ผาขมิ้น” ปัจจุบันคือ ผาข้างวัดพระบาทนารอง สถานที่นายพรานนำบาตรไปทิ้งเรียกว่า “ผาบ่วงบาตร” นั่นเอง ปัจจุบันจึงมีดอยผาช้างใหญ่ผาช้างน้อยอยู่คู่กันเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอแม่เมาะ วัดพระบาทนารองได้รับการดูแลทำนุบำรุงอย่างต่อเนื่อง โดยในอดีตมีศรัทธาพ่อเลี้ยงพก่าซอน้อย ชาวไทใหญ่ได้มาก่อสร้างศาลาไว้ ต่อมาในปี 2531 ได้มีคณะศรัทธามาก่อสร้างสถูปเจดีย์ครอบรอยพระบาทไว้และได้รับการทำนุบำรุงโดยศรัทธาชาวแม่เมาะตลอดมา

วัดพระบาทนารอง จะมีพิธีทำบุญตักบาตร แห่ช้างผ้า และจุดบอกไฟเพื่อขอฝน และมหรสพสมโภชเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า เป็นรอยพระพุทธบาทคู่กับ พระพุทธบาทนา-งอย ปัจจุบันที่อยู่ที่หมู่บ้านกอรวก ตำบลจางเหนือ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านท่าสี ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหัวฝาย ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสวนป่า ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลจางเหนือ อำเภอแม่เมาะ

การคมนาคม สามารถเดินทางได้สะดวก โดยห่างจากตัวอำเภอแม่เมาะประมาณ 25 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดลำปางประมาณ 35 กิโลเมตร

จากข้อมูลการสำรวจข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านดง จำนวน 360 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมดรวม 676 คน แต่จากการสำรวจของชุมชนพบว่ามีครัวเรือนทั้งสิ้น จำนวน 304 หลังคาเรือน ยังคงอยู่หมู่บ้านเดิม จำนวน 128 ครัวเรือน และอพยพไปแล้ว 176 ครัวเรือน ซึ่งข้อมูลจำนวนครัวเรือนข้างต้นเป็นข้อมูลปัจจุบัน ครัวเรือนที่ย้ายไปอยู่ในพื้นที่อพยพ 176 ครัวเรือนนั้น ได้แจ้งย้ายเข้าไปอยู่หมู่บ้านท่าสี (เป็นทะเบียนบ้านชั่วคราวทั้งหมด) บ้านอพยพยังไม่ได้ก่อตั้งหมู่บ้าน ดังนั้นจำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากรของหมู่บ้านดง จึงยังไม่มีความแน่นอน

ประชากรชุมชนบ้านดงส่วนใหญ่เป็นชาวเหนือ (คนเมือง) คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

ประชาชนบ้านดง มีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม คือ ดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายมีน้ำใจ เกื้อหนุนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน มีความคิดที่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมตามอาชีพ โดยหมู่บ้านบ้านดงมีองค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ จำนวน 8 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. แหล่งประวัติศาสตร์ ทุ่งผาฮาว/สุสานหอย
  2. กองทุนหมู่บ้าน 
  3. กลุ่มออมทรัพย์
  4. กลุ่มผู้สูงอายุ
  5. กลุ่ม อสม.บ้านดง
  6. กลุ่มธนาคารรักษ์แม่เมาะ
  7. กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้าน
  8. กลุ่มจักสานทำไม้กวาด

การรวมกลุ่มกันจะสามารถช่วยให้หมู่บ้านดงมีแหล่งส่งเสริมการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถใช้สร้างรายได้ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านดงมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยให้ประชาชนเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันร่วมตั้งกองทุนสวัสดิการ สร้างฐานเอื้ออารีเพื่อช่วยเหลือกันในชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายรับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

บ้านดงมีกลุ่มองค์กรชุมชนที่หลากหลาย มีบทบาทในการพัฒนาหมู่บ้านอย่างสอดประสานกัน ดังนี้

กลุ่มผู้สูงอายุ      ประธานกลุ่ม  นางฟองจันทร์ ทูลมาลย์
กลุ่มสตรีแม่บ้าน      ประธานกลุ่ม  นางจันทร์จิรา ชัยสงคราม
กลุ่มเยาวชน      ประธานกลุ่ม  นางสาวศิริพร ไชยยานนท์
กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)      ประธานกลุ่ม  นางขวัญเรือน ปินตาเชื้อ
กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน (อช.)      ประธานกลุ่ม  นางอรุณ ณะใจบุตร
กลุ่มอาสาสมัครชุมชน (อส.)      ประธานกลุ่ม  นายสุคำ วังซ้าย
กลุ่มตํารวจบ้าน (ตบ.)      ประธานกลุ่ม  นายแอ๊ด ตาณเขียว
กลุ่ม อปพร.      ประธานกลุ่ม  นายพนมกร ปินสาย
กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน      ประธานกลุ่ม  นางน้อง ปินตาเชื้อ
กลุ่มธนาคารรักษ์แม่เมาะ      ประธานกลุ่ม  นางอรพิน วงค์หน่อแก้ว
กลุ่มออมทรัพย์      ประธานกลุ่ม  นางวรี ณะคำสาร
กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้าน      ประธานกลุ่ม  นางเบญจวรรณ ตั๋นสืบ (บ้านเก่า) และนางระวิวรรณ ใจคำลือ (บ้านอพยพ)

กลุ่มอาชีพและเกษตรกรในชุมชน

1.กลุ่มอาชีพชุมชน หมู่ 2 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

     1.1 กลุ่มจักสาน ทำไม้กวาด      ประธานกลุ่ม      นางจุไร ปกแก้ว
     1.2 กลุ่มเย็บผ้า      ประธานกลุ่ม      นางดวงสมร เครือเต็ม
     1.3 กลุ่มทำจิ้นส้ม      ประธานกลุ่ม      นางสาววรี ณะคำสาร

2.กลุ่มเกษตรกร หมู่ 2 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

     2.1 กลุ่มเลี้ยงโคกระบือ      ประธานกลุ่ม      นายอนุวัฒน์ ณะใจบุตร   
     2.2 กลุ่มทำนา      ประธานกลุ่ม      นายสุคำ วังซ้าย
     2.3 กลุ่มเลี้ยงสัตว์      ประธานกลุ่ม      อนุวัฒน์ ณะใจบุตร
     2.4 กลุ่มปลูกข้าวโพด      ประธานกลุ่ม      นางแสงเดือน วังซ้าย 
     2.5 กลุ่มปลูกถั่วเหลือง      ประธานกลุ่ม      นายสมพงศ์ ต้นหนองคู่
     2.6 กลุ่มปลูกกระเทียม      ประธานกลุ่ม      นางอรพิน วงศ์หน่อแก้ว
     2.7 กลุ่มเพาะกล้าไม้      ประธานกลุ่ม      นางน้อง ปินตาเชื้อ
     2.8 กลุ่มเลี้ยงสุกร      ประธานกลุ่ม      นายอนุวัฒน์ ณะใจบุตร
     2.9 กลุ่มเลี้ยงไข่ไก่อินทรีย์      ประธานกลุ่ม      นางสุภัสรา วงค์อะทะ
     2.10 กลุ่มแคดดี้      ประธานกลุ่ม      นางเบญจวรรณ ตั๋นสืบ
     2.11 กลุ่มผู้ใช้แรงงาน      ประธานกลุ่ม      นายสุคำ วังซ้าย
     2.12 กลุ่มค้าขาย      ประธานกลุ่ม      นางสาวพัฒนา ณะใจบุตร

ด้านวัฒนธรรม 

ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อต่าง ๆ

ประชากรในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจำหมู่บ้านชื่อวัดบ้านดง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทาง ศาสนาเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งประชาชนในหมู่บ้านจะไปปฏิบัติศาสนกิจหรือพิธีกรรมทาง ศาสนาในวันสำคัญทางพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ประเพณีในชุมชน

1. ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีสงกรานต์ คือวันขึ้นปีใหม่เมืองของชาวเหนือ ที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล และปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายช่วงอายุคน โดยวันขึ้นปีใหม่จะมีความสำคัญ ดังนี้

วันที่ 13 เมษายน คนเมืองเรียกว่า วันสังขารล่อง ซึ่งชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดเช็ดถู เพราะว่าคนสมัยก่อนไม่ค่อยมีเวลาว่างเลยมาทำความสะอาดบ้านเรือนในวันที่ 13 เมษายน เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการขจัดสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากครอบครัวและชีวิต

วันที่ 14 เมษายน คนเมืองเรียกว่า วันเน่า

ความเชื่อ ถ้าผู้ใดไม่ระวังปากไม่ระวังคำพูด มีการด่าแช่งกัน หรือทะเลาะกันในวันนี้ จะทำให้ปากของคนเหล่านี้ เน่าเหม็น

การปฏิบัติตนในวันนี้คือ การก่อเจดีย์ทราย โดยขนทรายเข้าวัด โดยความหมายโดยตรง การขนทรายเข้าวัด เพื่อเอาทรายไปทดแทนทรายที่เราเคยเหยียบออกมาจากวัด และเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่ต้องการให้ชาวบ้านขนทรายเข้าวัด หลังจากนั้นวัดสามารถนำทรายไปใช้ประโยชน์ภายในวัดได้ ความเชื่อ อีกอย่างหนึ่งคือ การขนทรายนี้ เพื่อเป็นอานิสงฆ์ความดี และไถ่บาป

วันที่ 15 เมษายน คนเมืองเรียกว่า วันพญาวัน

ความเชื่อ ถ้ากระทำการมงคลในวันนี้ ไม่ต้องให้หมอโหรช่วยดูฤกษ์พานาทีให้ สามารถทำได้เลย แม้จะตรงกับวันที่ไม่ดีอย่างอื่นก็ตาม การปฏิบัติตนในวันนี้ คือ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การนำ อาหารไปถวายที่วัด (คนเมืองเรียกว่า ตานก๊วะข้าว) และตักบาตรในตอนเช้า หลังจากทานข้าวเช้าก็ไปฟัง เทศน์ และสรงน้ำพระ

2. พิธีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (ช่วงสงกรานต์)

มีประวัติความเป็นมา เนื่องจากสมัยก่อนวันขึ้นปีใหม่ของชาวเหนือตรงกับวันที่ 13 ถึง 15 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันรวมญาติ ลูกหลานที่อยู่ในพื้นที่และต่างจังหวัด เดินทางกลับมายังบ้านเกิดของตนเอง เพื่อมารดน้ำดำหัวและขอขมาญาติผู้ใหญ่ที่บ้านที่เรานับถือ รวมทั้งขอพร เนื่องในโอกาสปีใหม่เมือง ก่อนที่จะ ดำหัว วิธีการดำหัว คือ เลือกสิ่งใหม่ ๆ ให้ อาทิ เช่น ผ้าขาวม้าใหม่ ผ้าถุงใหม่ เสื้อใหม่และอื่น ๆ สภาพประเพณี ปัจจุบันยังคงดำเนิน สืบทอดกันอยู่

วันที่ 16 เมษายน คนเมือง เรียกว่า วันปากปี

ความเชื่อ ถ้าได้รับประทานแกงขนุน ในวันนี้โดยเฉพาะมื้อเย็น จะช่วยหนุนให้มีความสุข สมบูรณ์ตลอดปี ตามชื่อของขนุน การปฏิบัติตนในวันนี้คือ บางบ้านจะมีพิธีสืบชะตาที่บ้าน เชื่อว่าเอาเคราะห์ร้าย ต่าง ๆ ออกไป จากบ้าน

3. พิธีการสะเดาะเคราะห์

การสะเดาะเคราะห์ถือเป็นการปลดปล่อยขับไล่สิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ชั่วร้ายออกไปจากร่างกาย อุปกรณ์ในการสะเดาะเคราะห์จะมี สะตวง 4 สะตวง เย็บเป็นกระทง 4 เหลี่ยม ทำมาจากต้นกล้วยภายในประกอบด้วย พริก เกลือ กระเทียม มะเขือพวง กล้วย อ้อยและมีรูปปั้นคนและสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เป็ด ไก่ หมู ม้า วัว ควาย ช้าง เชื่อว่ารูปปั้นเหล่านี้จะเป็นตัวแทนของสัตว์และคน ภายในบ้านที่จะรับเคราะห์แทนเราทำให้ผู้ที่กระทำการ สะเดาะเคราะห์อยู่ดีมีสุข

พิธีสะเดาะเคราะห์ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การสะเดาะเคราะห์ส่วนบุคคล และการสะเดาะเคราะห์รวม 

ความเชื่อ คนในชุมชนนับถือผีปู่ย่า ผีบ้าน ซึ่งประชาชนในหมู่บ้านมีความเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครอง ปกปักรักษาหมู่บ้านไม่ให้เกิดภัยธรรมชาติและให้คนในหมู่บ้านอยู่อย่างร่มเย็น มีความสุขความเจริญและมีความปลอดภัยนอกจากนี้ยังคอยคุ้มครองดูแลบุตรหลานหรือญาติพี่น้องไม่ให้ได้รับความเจ็บป่วยหรือ ภัยอันตรายใด ๆ มีการเลี้ยงผีบ้านจะทำกันประจำทุกปี จะทำกัน 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมีนาคม วันแรม 15 ค่ำ และในเดือนมิถุนายน แรม 15 ค่ำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้หมู่บ้านร่มเย็นเป็นความสุข และยังมีความเชื่อเรื่องบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของหมู่บ้านอีกด้วย

1) ประวัติผู้นำชุมชนบ้านดง

หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ชื่อ นายจรัส ณะใจบุตร ชื่อเล่น รัส เกิดวันที่ 30 เมษายน 2516 อายุ 50 ปี

อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ 2 ตำบล บ้านดง อำเภอ แม่เมาะ จังหวัด ลำปาง

บิดาชื่อ นายน้อย ณะใจบุตร

มารดาชื่อ นางคำปัน ณะใจบุตร

เป็นบุตรที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 2 คน

  1. นางปราณี ณะใจบุตร
  2. นายพรประเสริฐ ณะใจบุตร
  3. นายสมเพชร ณะใจบุตร
  4. นายจรัส ณะใจบุตร
  5. นางประนอม ณะใจบุตร

ประวัติการศึกษา

  1. ประถมศึกษา 1 - 6 โรงเรียนบ้านดง
  2. มัธยมศึกษา 1 - 3 กศน.จังหวัดลำปาง
  3. มัธยมศึกษา 4 – 6 กศน.จังหวัดลำปาง
  4. ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยโยนก

ประวัติครอบครัว แต่งงาน (พ.ศ. 2556) กับ นางพิกุลทอง ปินสาย มีบุตรร่วมกัน 1 คน ชื่อ เด็กหญิงทอรัศมี ณะใจบุตร

ประวัติการทำงานในหมู่บ้าน

  • บวช พ.ศ. 2529 และลาสิกขา พ.ศ. 2548
  • เป็นเลขานุการ (นายก อบต.) พ.ศ. 2548 - 2552
  • เป็นกรรมการกองทุนรอบโรงไฟฟ้า คฟรต. (2 สมัย) (พ.ศ. 2554 – 2557)
  • ทำงานบริษัทอีก (แผนก ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม) 10 ปี
  • ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน (13 มกราคม 2566) จนถึงปัจจุบัน

ความสามารถพิเศษ เป็นครูสอนอักษรล้านนา (ตัวเมือง)

คติประจำใจ “ความสำเร็จ คือผลลัพธ์ของการทำงานหนัก”

2) ประวัติชีวิตบุคคลสำคัญ ปราชญ์ชาวบ้าน คนที่ 1

ชื่อ นายบุญธรรม วงค์หน่อแก้ว ชื่อเล่น ธรรม เกิดวันที่ 15 เมษายน 2498 อายุ 68 ปี

อยู่บ้านเลขที่ (บ้านใหม่อพยพ) หมู่ 2 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

บิดาชื่อ นายเมา วงค์หน่อแก้ว

มารดาชื่อ นางแห วงค์หน่อแก้ว

เป็นบุตรที่ 5 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 5 คน เป็นหญิง 3 คน

  1. นางบุญมี วงค์หน่อแก้ว
  2. นางถนอม กันปันสืบ
  3. พระมงคล วงค์หน่อแก้ว
  4. นางหน่อแก้ว วงค์หน่อแก้ว
  5. นายบุญธรรม วงค์หน่อแก้ว
  6. นางหล้า วงค์หน่อแก้ว
  7. นางสาวระวิวรรณ วงค์หน่อแก้ว
  8. นายเสน วงค์หน่อแก้ว

ประวัติการศึกษา

  • บวชตั้งแต่ (อายุ 13 ปี – อายุ 63 ปี)
  • บวชเณร 6 พรรษา
  • บวชพระ 42 พรรษา
  • เรียนนักธรรมชั้นเอก จบ ม.ศ.5

ประวัติครอบครัว แต่งงาน (พ.ศ.2563) กับ นางพรทนา วงค์สุติ๊บ

ความสามารถพิเศษ จากการที่ท่านได้บวรเรียน ศึกษาพระธรรม ตั้งแต่วัยเยาว์ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มานานหลายปี ได้ฝึกการสวดมนต์ รวมไปถึงการสวดภาษาบาลี ติดตามการทำขวัญสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่าสิ่งอัปมงคล และช่วยให้จิตใจขอผู้ที่เศร้าหมองจากอุปสรรคต่างๆ ดีขึ้น โดยใช้คาถาที่ร่ำเรียนมา ท่องบทสวดพิธี ศึกษาพิธีกรรม มาตลอด ปัจจุบัน ท่านเป็นหมอทำขวัญ อบสมุนไพร สะเดาะเคราะห์ สืบชะตา บูชาเทียน ทำตะกรุด และสามารถทำพิธีกรรมอื่นๆ ทางศาสนาได้อย่างเชี่ยวชาญและเป็นมัคนายกวัดบ้านดงใหม่ (อพยพ)

คติประจำใจ “จงรีบทำความดีแต่วันนี้.....เผื่อว่าพรุ่งนี้.......อาจจะไม่ได้ทำ” “ทำแล้วไม่พูด........ดีกว่าพูดแล้วไม่ทำ”

คติธรรม “คิดดี พูดดี ทำดี ดีทุกอย่าง” “พูดไม่ดี คิดไม่ดี ไม่ดีทั้งหมด”

ประวัติชีวิตบุคคลสำคัญ ปราชญ์ชาวบ้าน คนที่ 2

ชื่อ นายลา กันปันสืบ ชื่อเล่น ลา เกิดวันที่ 8 สิงหาคม 2472 อายุ 94 ปี

อยู่บ้านเลขที่ หมู่ 2 ตำบล บ้านดง อำเภอ แม่เมาะ จังหวัด ลำปาง

บิดาชื่อ นายหล้า กันปันสืบ

มารดาชื่อ นางนุ กันปันสืบ

เป็นบุตรที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นชาย 4 คน 

  1. นายนวล กันปันสืบ (เสียชีวิต)
  2. นายลา กันปันสืบ
  3. นายตัน กันปันสืบ (เสียชีวิต)
  4. นายปั๋น กันปันสืบ (เสียชีวิต) 

ประวัติการศึกษา จบชั้น ประถมศึกษา ปีที่ 2

ประวัติครอบครัว 

แต่งงานครั้งที่ 1 กับ นางสม กันปันสืบ (เสียชีวิต) มีบุตรร่วมกัน 3 คน

  1. นายจันทร์ กันปันสืบ
  2. นายเป็ง กันปันสืบ
  3. นางชื่น ธรรมใจ

- แต่งงานครั้งที่ 2 กับ นางฟอง กันปันสืบ (เสียชีวิต) มีบุตรร่วมกัน 1 คน

  1. นางแสงเดือน วังซ้าย

ความสามารถพิเศษ เป็นหมอ เป็นบุคคลสำคัญ ที่ชาวบ้านให้การนับถือ สามารถ เป่าห่า เป่าแผล เป่าข้อ ต่อกระดูก เป่างูสวัด เป็นหมอโบราณตามความเชื่อของชาวบ้าน มนต์คาถาเป็นน้ำมนต์ ให้ชาวบ้านกิน เช่น ก้างปลาติดคอ สามารถเอาน้ำมนต์ไปกินให้หายได้

คติประจำใจ “จงอย่าแก่แต่ตัว......แก่ให้มีหัวคิด”

การวางแผนชุมชน

บ้านดง มีแนวทางและวิธีการทำงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เป็น หมู่บ้านจัดการตนเองโดยใช้หลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิด ความเห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาหมู่บ้านผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชน มีการประชุมหมู่บ้านเดือนละครั้งเพิ่มศักยภาพโดยการส่งเสริม การรวมกลุ่ม ศึกษาดูงาน ทำให้คนในหมู่บ้านได้รับประโยชน์ตามที่ทุกคนถนัด เกิดความรู้สึกรักชุมชนและทำงาน เพื่อชุมชนการบริหารจัดการในหมู่บ้าน

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยการใช้พื้นที่ป่าชุมชนในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น การเก็บหน่อไม้ในพื้นที่ป่าเพื่อนำไปขายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน และมีการเลี้ยงสัตว์ภายในพื้นที่ป่า ชุมชน และมีการใช้ทรัพยากรทางน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ขาม และฝายท่าสี เพื่อการเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนโดยกันเป็นเขตป่าชุมชน ป่าเฉลิมพระเกียรติและการอนุรักษ์ป่า และการปลูกต้นไม้ เพื่อส่งเสริมการหวงแหนรักษาป่าไว้ในชุมชน

ด้านสาธารณสุข

สุขภาพของชาวบ้านบ้านดง จากข้อมูลสุขภาพของชุมชนที่ได้จาก อสม.นั้น ชุมชนบ้านดงมีผู้พิการจำนวน โดยความพิการนั้นก็มีหลายประเภท เช่น พิการทางด้านร่างกาย พิการทางสมอง ซึ่งการดูแลผู้ประสบ ปัญหาทางสุขภาพภายในชุมชนนั้น จะมีกลุ่ม อสม.เป็นผู้ดูแล มีการตรวจเยี่ยมบ้านผู้ประสบปัญหาทางสุขภาพ เดือนละ 1 ครั้ง และมีการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพเป็นประจำทุกวัน ผ่านการจำหน่ายยารักษาโรคและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชนด้วย

คนในชุมชนพูดภาษาเหนือในการสื่อสาร ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น หรือเรียกว่า “คำเมือง” ซึ่งเป็น ภาษาที่ใช้สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยกลางได้ชัดเจน สื่อสารได้ตรงกัน


บ้านดง มีการวางแผนร่วมกันโดยคนในชุมชนร่วมกันสะท้อนปัญหา จัดลำดับความสำคัญสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โครงการที่เกินศักยภาพของหมู่บ้านจะส่งให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง จัดสรรงบประมาณดำเนินการตามความสำคัญของโครงการที่หมู่บ้านได้จัดลำดับสำคัญไว้


  • การติดสารเสพติด พบการแพร่ระบาดของยาเสพติดในวัยรุ่นและวัยทำงานมากพอสมควร การแก้ไขไม่ต่อเนื่อง และไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเท่าที่ควร โดยแนวทางการจัดการ คือ การให้ชุมชนร่วมเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังและป้องกันยาเสพติด 
  • การดื่มสุรา ซึ่งมาจากการสังสรรค์ในหมู่เพื่อน ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวลดน้อยลง และนำมาซึ่งปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง วิธีดำเนินการ ผู้ใหญ่บ้านจะเรียกคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยโดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมด้วย ถ้าไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้จะส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

การขาดผู้สืบทอดภูมิปัญญา เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องความเชื่อในการถ่ายทอด และเทคโนโลยี สมัยใหม่เข้ามาทำให้ขาดผู้สืบทอดภูมิปัญญา แนวทางการจัดการคือ การจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษร และสืบทอดภูมิปัญญาให้กับเยาวชนรุ่นหลัง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โครงการจัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มชุมชน หมู่ที่ 2 บ้านดง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 2561

โครงการศึกษาเรียนรู้ชุมชนการจัดทำแผนที่ทางสังคม Social Mapping บ้านดง หมู่ 2 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 2553

รายงานการวิจัยชุมชนตำบลบ้านดง จ.ลำปาง

นายจรัส ณะใจบุตร  ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2, สัมภาษณ์, สิงหาคม 2566

นายบุญธรรม วงค์หน่อแก้ว ปราญช์ชาวบ้านคนที่ 1, สัมภาษณ์, สิงหาคม 2566

นายลา กันปันสืบ ปราญช์ชาวบ้านคนที่ 2, สัมภาษณ์, สิงหาคม 2566