วิถีชีวิตของชุมชนชนบทที่มีการผสมผสานระหว่างอาชีพประมงชายฝั่งกับการเพาะปลูกพืช ทั้งทำนาข้าวและพืชสวน พร้อมทั้งทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันบริสุทธิ์
บริเวณที่ราบลุ่มภายในหมู่บ้านมีลักษณะเป็นป่าพรุ (ภาษาใต้เรียกว่า โพล๊ะหรือโล๊ะ) และมีต้นกระจูด (ชาวบ้านเรียกตามภาษาถิ่นใต้ว่า ต้นจูด) ด้วยเหตุนี้เองชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "พรุจูด" จนเป็นที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้านพรุจูด และเรียกชื่อ "บ้านพรุจูด” จนถึงปัจจุบัน
วิถีชีวิตของชุมชนชนบทที่มีการผสมผสานระหว่างอาชีพประมงชายฝั่งกับการเพาะปลูกพืช ทั้งทำนาข้าวและพืชสวน พร้อมทั้งทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันบริสุทธิ์
จากการบอกเล่าของนางแจ่ม คงแก้ว กล่าวว่าในอดีต หมู่บ้านพรุจูดเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับหมู่บ้านบ่อหิน หมู่ที่ 1 ซึ่งต่อมาได้ตั้งชื่อเป็นตำบล สาเหตุที่ชื่อบ้านบ่อหินก็เพราะว่าบริเวณริมคลองซึ่งเชื่อมเป็นทางออกสู่ทะเล มีบ่อน้ำบ่อหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "บ่อหิน” เป็นบ่อน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ บริเวณขอบบ่อจะมีหินเป็นชั้น ๆ ในบ่อจะมีตาน้ำไหลออกมาตลอดทั้งปี ทำให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำจากบ่อหินนี้ได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านบางส่วนจะใช้คันหาบ หาบน้ำเพื่อมาใช้ดื่มกินที่บ้าน ชาวบ้านที่ทำการประมงก็จะตักน้ำในบ่อใส่ภาชนะลงเรือไว้ใช้ดื่มเวลาออกหาปลาในทะเล บริเวณนี้จึงเป็นที่พบปะของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่บริเวณนี้ก็เป็นพี่น้องกันและรู้จักกันหมดทั้งหมู่บ้าน (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 33)
ภายหลังเมื่อผู้คนมากขึ้น ทางอำเภอจึงแบ่งเขตการปกครองบ้านบ่อหินออกเป็น 2 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านพรุจูด และ หมู่บ้านบ่อหิน โดยตั้งชื่อตำบลตามหมู่ที่ 1 บ้านบ่อหิน เป็นตำบลบ่อหิน ส่วนบ้านพรุจูดก็เป็นหมู่ที่ 2 ส่วนบ่อหินที่ชาวบ้านเคยใช้น้ำดื่มกินร่วมกันมาก็จะตั้งอยู่ในเขตของหมู่บ้านพรุจูดในปัจจุบัน ส่วนบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มจะติดหมู่บ้านพรุจูดเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบริเวณที่ราบลุ่มนี้จะเป็นป่าพรุมีน้ำขังและมีต้นจูด (ต้นกระจูด) ขึ้นหนาแน่นมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า "พรุจูด" ตามลักษณะของป่าพรุที่มีต้นกระจูด (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 33)
ส่วนประวัติการตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ในแรกเริ่มนั้น ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ผู้คนอยู่มาหลายชั่วอายุคน จากบันทึกของโรงเรียนบ้านพรุจูดว่าตั้งในปี พ.ศ. 2482 ในช่วงที่กำนันเกลื่อน คนเที่ยง เป็นกำนันตำบลบ่อหิน โดยนายร่วง ทองเกิด เป็นผู้บริจาคที่ดินให้สร้างโรงเรียน ซึ่งในการสร้างโรงเรียนประชากรจะต้องมากพอสมควรและเกิดชุมชนมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายสิบปีหรือกว่าร้อยปี เนื่องจากที่ตั้งสถานศึกษาโดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นศูนย์กลางของชุมชน เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเพิ่ม คนเที่ยง ได้กล่าวไว้พอสรุปได้ว่าบริเวณสี่แยกโรงเรียนพรุจูดนี้จะเป็นสถานที่ส่วนรวม ตอนนั้นถนนหนทางก็เป็นแค่ทางเดินเล็ก ๆ เวลามีงานส่วนรวมอย่างประเพณีข้าวลาซัง ชาวบ้านก็จะมาจัดในบริเวณนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนแล้วก็ยังมีต้นประดู่ที่ให้ความร่มรื่น ชาวบ้านก็จะมาปูเสื่อนั่งทำพิธีกันโดยไม่ได้รู้สึกสำบากแต่อย่างใด (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 34)
ลักษณะของภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านพรุจูด เป็นทั้งที่ราบ ที่ดอน และที่สูง พื้นที่ทางตอนเหนือจะเป็นที่ราบค่อนข้างสูง ส่วนพื้นที่ทางตะวันออกเป็นที่ราบมีภูเขาสลับกันไป ภูเขาทางทิศตะวันออกชาวบ้านเรียกว่า "เขาเจ็ดยอด" ซึ่งจะเชื่อมต่อกับอีก 2 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 4 บ้านไสต้นวา และหมู่ที่ 5 บ้านโต๊ะบัน ทางด้านทิศตะวันตกจะเป็นที่ราบติดกับชายทะเลและป่าโกงกาง ส่วนทิศใต้เป็นพื้นที่ราบเกือบทั้งหมดมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,665 ไร่ บริเวณที่ราบลุ่มบางส่วนจะเป็นเขตสงวนเป็นป่าพรุ (พรุ ภาษาใต้เรียกว่า โพล๊ะหรือโล๊ะ) และมีต้นกระจูด (ต้นกระจูดชาวบ้านเรียกตามภาษาถิ่นใต้ว่า ต้นจูด) ด้วยเหตุนี้เองชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "พรุจูด" จนเป็นที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้านพรุจูด และเรียกชื่อ”บ้านพรุจูด”จนมาถึงปัจจุบัน (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 32)
เกี่ยวกับต้นกระจูด หรือ"ต้นจูด" ที่ชาวบ้านเรียก เป็นพันธุ์ไม้จำพวก "กก" (Sedge) ลักษณะลำต้นกลมสีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1-2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุกแน่นคล้ายดอกกระเทียมที่ข้างลำต้นใกล้ยอดกระจุกหนึ่ง แต่มีช่อดอกปลายลำต้นอีกหนึ่งช่อซึ่งมีใบเล็กประกอบช่อด้วย กระจูดชอบขึ้นในพื้นที่น้ำขังซึ่งเรียกว่าโพละหรือพรุ ต้นกระจูดนำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท สามารถนำมาผลิตงานจักสานเป็น เสื่อปูรองนั่งที่เรียกกันว่า 'เสื่อกระจูด' หรือ 'สาดจูด” ตามภาษาถิ่น ที่ชาวบ้านเรียกว่าต้นจูด (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 34)
การคมนาคมในพื้นที่ตำบลบ่อหิน ใช้การคมนาคมทางบกเป็นสำคัญ โดยมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4046 (ถนนตรัง- สิเกา) เป็นถนนสายหลักในการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองและอำเภอใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีถนน รพช. ถนนโยธาธิการ และถนนในท้องถิ่นเป็นถนนในเครือข่าย แยกจากถนนสายหลักเข้าสู่หมู่บ้านและเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้าน ส่วนถนนที่ใช้ภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็เป็นถนนลาดยางเกือบทั้งหมด การคมนาคมในพื้นที่ตำบลบ่อหิน ใช้การคมนาคมทางบกเป็นสำคัญ โดยมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4046 (ถนนตรัง- สิเกา) เป็นถนนสายหลักในการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองและอำเภอใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังมีถนน รพช. ถนนโยธาธิการ และถนนในท้องถิ่นเป็นถนนในเครือข่าย แยกจากถนนสายหลักเข้าสู่หมู่บ้านและเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้าน ส่วนถนนที่ใช้ภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็เป็นถนนลาดยางเกือบทั้งหมด (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 36)
บ้านพรุจูด มีจำนวนครัวเรือน 326 ครัวเรือน มีประชากร 1,050 คน เป็นเพศชาย 515 และเพศหญิง 535 คน (องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน, มปป.) ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำสวนยางพารา สวนปาล์ม เป็นต้น และมีการประกอบอาชีพการประมง นอกจากนี้ประชากรบางส่วน ประกอบอาชีพมากกว่า 1 อาชีพควบคู่กันไปคือการรับจ้างและเกษตรกรรม บางส่วนก็ทำงานบริษัท ส่วนพื้นที่ราบติดชายฝั่งทะเลเหมาะกับการทำนา ซึ่งในอดีตผู้คนแถบนี้เกือบทั้งหมู่บ้านมีอาชีพทำนา ร่องรอยของการทำนายังมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 32; 35)
- กลุ่มน้ำยางสด
- กองทุนหมู่บ้าน
- กลุ่มพัฒนาสตรีระดับหมู่บ้าน
- อาสาสมัครสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน
- กลุ่มออมทรัพย์
- วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด (นายบรรจง นฤพรเมธี เป็นประธานกลุ่ม)
ประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจูด (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 36-43)
ความเป็นมาของประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจูด
มูลเหตุความเชื่อพื้นฐานของชาวนาในประเทศไทยทุกภาคทั่วประเทศที่มีต่อแม่โพสพจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันจากความเชื่อ ที่ว่าสรรพสิ่งตามธรรมชาติในโลกล้วนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้ดูแลรักษา หากทำการงานหรือสิ่งใดๆ ไปโดยไม่รู้บุญคุณ ไม่มีความเคารพบูชา นอกจากจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว อาจยังได้รับการลงโทษ แต่การกำหนดรูปแบบพิธีกรรมตามความเชื่อจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามลักษณะทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ วิถีชีวิต อย่างเช่นบริเวณแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำนาข้าวเกี่ยวกับแม่โพสพ เรียกว่า "พิธีลาซัง-แต่งงานหุ่นโต๊ะชุมพุก" เป็นการแสดงความเคารพต่อพระแม่โพสพ ประเพณีท้องถิ่นลาซัง-แต่งงานโต๊ะชุมพุก มีความผูกพันกับวิถีชีวิตชาวนาแถบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมร้อยปี เรียกชื่อประเพณีแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน กล่าวคือ อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เรียกว่า “ลาซัง - แต่งงานโต๊ะชุมพุก” อำเภอตากใบ จังหวัด นราธิวาส เรียกว่า “ล้มซัง” ส่วนชาวไทยมุสลิมเรียกว่า “ปูยอมือแน” จากชื่อเรียกที่ปรากฏทางวิชาการทำให้รู้ ภูมิหลังการประกอบประเพณีมีทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมบนพื้นฐาน ความเชื่อท้องถิ่น ขั้นตอนพิธีกรรมกลายเป็นสิ่งเชื่อมผ่านระหว่างชนสองกลุ่มประกอบพิธีร่วมกัน แม้นในปัจจุบันประเพณีลาซังได้เลือนหายไปจากพื้นที่ชาวนาไทยมุสลิม ส่วนชาวนาไทยพุทธได้สืบทอด ประเพณีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนที่ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ก็มีประเพณีข้าวลาซัง ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การทำบุญเลี้ยงพระ พิธีสมโภชข้าวเลียง การแสดงบนเวทีของเด็กและชาวบ้านตำบลนาข้าวเสีย การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เช่น ชักเย่อ ปีนเสาน้ำมัน จับลูกหมู การประกวดร้องเพลง การแข่งขันนวดข้าว สร้างความสนุกสนานให้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมงาน ทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศในการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมได้อีกด้วย
ประเพณีข้าวลาซังของหมู่บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง แม้นจะไม่เป็นที่รู้จักของคนโดยไปอย่างข้าวลาซังที่สามจังหวัดทางชายแดนทางภาคใต้หรือประเพณีข้าวลาซังที่อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง แต่ประเพณีข้าวลาซังของหมู่บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ก็เป็นประเพณีที่มีการสืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนทั้งยังเป็นประเพณีที่มี การหล่อหลอมรวมใจชาวบ้านให้มาพบปะกัน เนื่องจากในสมัยอดีตชาวบ้านพรุจูดและหมู่บ้านใกล้เคียงส่วนใหญ่แล้วมีอาชีพทำนาเป็นหลักเนื่องจากสภาพของพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังเหมาะแก่การทำนา วิถีชาวบ้านบริเวณนี้จึงมีความผูกพันกับการทำนามาตั้งแต่อดีต หลังจากการเก็บเกี่ยวก็จะมีการจัดงานประเพณีข้าวลาซัง เพื่อระลึกถึงบุญคุณของพระแม่โพสพที่ปกป้องรักษาต้นข้าว ช่วยให้การทำนาราบรื่นไม่มีปัญหาอุปสรรคและขอให้การทำนาในปีต่อไปอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นการจัดเพื่อความสนุกสนานผ่อนคลายหลังจากการเหน็ดเหนื่อยจากการทำนามาตลอดฤดูกาล
มูลเหตุความเชื่อเกี่ยวกับการลอยเรือในประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจูด
มูลเหตุของความเชื่อเกี่ยวกับการลอยเรือจำลองนี้เกิดขึ้นหลังจากประเพณีข้าวลาซัง ถาวร รักรู้ อดีตผู้ใหญ่บ้านพรุจูดได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องการลอยเรือจำลองในแม่น้ำหลังจากเสร็จพิธีข้าวลาซังว่า ในสมัยตนเด็ก ๆ พอจำความได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปหาปลาแล้วไปพบเรือจำลองบริเวณป่าโกงกางริมคลองใกล้ๆหมู่บ้าน มีสมาชิกคนหนึ่งจะเอาเรือจำลองนั้นมาเล่นแต่เพื่อนในกลุ่มได้ทักไว้ว่าไม่ควรเอามาเล่นเพราะอาจนำความโชคร้ายมาสู่พวกเราได้ สมาชิกคนนั้นก็เอาเรือไปวางไว้ที่เดิมแต่ด้วยความที่อยากจะได้เรือมาเล่นวันหลังจึงแอบเอาเรือมาลอยเล่นบริเวณป่าพรุและเป็นที่นาของชาวบ้านซึ่งช่วงนั้นเป็นหน้าฝนน้ำจึงท่วมบริเวณนั้นจนกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ช่วงนั้นเองชาวบ้านพรุจูดเกือบทั้งหมู่บ้านก็มีเหตุให้เจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอก็รักษาไม่หาย จนชาวบ้านบางคนเริ่มแปลกใจจึงไปหาหมอดูทางไสยศาสตร์ หมอดูทักว่าสาเหตุจากการที่ผู้คนในหมู่บ้านเกิดการเจ็บป่วยเกิดมาจากการที่มีคนไปเอาเรือที่เค้าใช้ลอยสะเดาะเคราะห์มาเล่นในหมู่บ้านต้องทำพิธีเพื่อลอยเรือลำนั้นออกไปจากหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเชิญหมอด้านไสยศาสตร์มาทำพิธีเพื่อลอยเรือจำลองนั้นออกไปจากหมู่บ้าน หลังจากเสร็จพิธีลอยเรือจำลองลำนั้นออกไปแล้วปรากฏว่าชาวบ้านในหมู่บ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็หายเป็นปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก หลังจากนั้นเมื่อมีการจัดงานประเพณีข้าวลาซังชาวบ้านก็จะมีการลอยเรือจำลองจนมาถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันแม้การทำนาของชาวบ้านพรุจูดจะมีอยู่ไม่มากอย่างเช่นในอดีตแต่ประเพณีข้าวลาซังของหมู่บ้านก็ยังมีการจัดขึ้นทุกปีหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว เอื้อน ชูเสียงแจ้ว ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับประเพณีข้าวลาซังของหมู่บ้านพรุจูดว่า ในสมัยอดีตชาวบ้านพรุจูดจะทำนากันเกือบทุกครัวเรือนรวมทั้งครอบครัวของตัวเองด้วยเมื่อเสร็จสิ้นจากการทำนาชาวบ้านก็จะจัดงานข้าวลาซังเพื่อความสนุกสนานหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำนามาทั้งฤดูกาลและเพื่อระลึกถึงพระคุณของพระแม่โพสพที่ช่วยดูแลต้นข้าว ทำให้ข้าวอุดมสมบูรณ์และช่วยไม่ให้เกิดอุปสรรคปัญหาใดๆในการทำนาซึ่งเป็นความเชื่อที่รับสืบทอดต่อๆกันมาจากคนรุ่นก่อน ส่วนประเพณีข้าวลาซังมีมาตั้งแต่เมื่อไรตนไม่ทราบแต่ตอนเป็นเด็กพอจำความได้ก็มีการจัดงานประเพณีข้าวลาซังมาก่อนแล้วมา ซึ่งตอนนี้ตนเองอายุ 80 กว่าปีแล้ว ตลอดชีวิตที่ผ่านมาก็ทำนามาโดยตลอดเพิ่งจะมาหยุดในช่วยวัย 60 กว่า ๆ นี้เองสาเหตุจากลูกหลานขอร้องให้หยุดทำนาเนื่องจากเห็นว่าตนมีอายุมากแล้วแต่ใจก็ยังมีความผูกพันกับที่นาอยู่ ปัจจุบันลูกหลานของป้าก็ทำนาบ้างไม่ทำบ้างตามสภาพของฝนฟ้าอากาศและเรื่องของเวลา แจ่ม คงแก้ว กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้พอสรุปได้ว่าประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจูดนอกจากจัดตามความเชื่อที่สืบทอดต่อๆกันมาแล้วยังจัดเพื่อความสนุกสนานมีการละเล่น มีการแข่งขันตำข้าวเม่า มีการแข่งขันกันจับปลาโดยพวกผู้ชายจะแบ่งกลุ่มกันออกเป็นสองกลุ่มแล้วไปแข่งขันกันหาปลาในบริเวณใกล้ๆที่จัดงานซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่นาของชาวบ้านที่มาร่วมงาน การแข่งขันก็ไม่ได้มีรางวัลอะไรแต่เพื่อสนุกสนานเท่านั้น เมื่อได้ปลามาแล้วก็จะนำมาประกอบอาหารกินกันภายในงานซึ่งการประกอบอาหารก็จะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง บุญเริญ เกลี้ยงช่วย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหัวหินและสมบูรณ์ ดำทั่ว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพรุจูด ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้สอดคล้องกันพอสรุปได้ว่า เมื่อตอนวัยหนุ่มตนเองจะเข้าร่วมประเพณีข้าวลาซังเป็นประจำทุกปี ช่วงการแข่งขันจับปลาผู้ชายจะแบ่งเป็น 2-3 กลุ่ม กำหนดเวลาแล้วแยกไปจับปลา การแข่งขันจับปลาก็ไม่มีกฎกติกาอะไรมากเมื่อถึงเวลาก็เอาปลาที่หาได้มาดูกันใครหาปลาได้มากกว่าก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ ส่วนปลาทั้งของผู้แพ้และผู้ชนะก็เอามาย่างกินร่วมกัน หรือทำกับข้าวร่วมกินด้วยกันอย่างสนุกนาน เทียม ทองเกิด ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้พอสรุปได้ว่า ประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจูดมีมาตั้งแต่เมื่อตนเองก็ไม่รู้แต่พอจำความได้ก็มีอยู่แล้วตอนนี้ตนเองอายุ 83 ปีแล้วก็มาร่วมงานประเพณีข้าวลาซังทุกปีในตอนเป็นเด็กพอจำความได้งานข้าวลาซังจะจัดที่ใต้ต้นประดู่ใกล้ประตูทางเข้าโรงเรียนบ้านพรุจูดในปัจจุบัน ต่อมาก็ย้ายสถานที่จัดงานไปจัดที่กลางทุ่งนาบริเวณที่ชาวบ้านทำนา ต่อมาช่วง 10 ปีหลังก็ย้ายมาจัดที่ทุ่งสาธารณะของหมู่บ้านจนมาถึงปัจจุบัน
ประเพณีปฏิบัติ
วิถีชีวิตของชาวบ้านพรุจูดนั้นมีความผูกพันเกี่ยวกับเรื่องข้าว บนพื้นฐานความเชื่อเรื่องแม่โพสพ ซึ่งประเพณีข้าวลาซังจะเกี่ยวข้องกับวิถีข้าวที่ใช้เป็นปรัชญาในการสอนบุตรหลานให้รู้บุญคุณของข้าวและแสดงความกตัญญูและตอบแทนต่อแม่โพสพที่ทำให้การทำนาปีนั้นไม่ปัญหาหรือเกิดอุปสรรคใดๆ
การจัดงานประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจูดโดยชาวบ้านนำโดยผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชุมชน หมอทำขวัญข้าว จะนัดประชุมหารือเพื่อกำหนดวันเวลาและพิธีการต่างๆที่จะจัดงานซึ่งการจัดงานจะจัดในช่วงขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ก่อนถึงวันงานหนึ่งวันชาวบ้านก็จะมาช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ ขนอุปกรณ์ในการจัดงาน เช่น เต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ขนทรายก่อกองทรายเพื่อใช้ในการประกอบในพิธีกรรม เมื่อถึงวันงานชาวบ้านก็มาพร้อมด้วยปิ่นโตคนละสาย ในปิ่นโตก็จะเป็นอาหารคาวหวานเพื่อนำมาถวายพระ และที่ขาดไม่ได้คือดอกไม้ ธูปเทียนพร้อมทั้งธงนำมาปักไว้บนกองทรายที่เตรียมไว้ บริเวณใกล้กองทรายก็มีจะมีรวงข้าวใหม่ประมาณ 1 กำมือ และกอซังข้าวที่ชาวบ้านเอามาเพื่อทำพิธีประมาณ 1 กำมือ ข้าวและซังข้าวจะต้องเป็นซังข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในปีนั้น
เกี่ยวกับเรื่องซังข้าว อำนวย หนูเผือก ได้กล่าวว่า กอซังข้าวถือเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมตามความหมายของคำว่า “ลาซัง” เพราะเป็นการอำลาซังข้าวที่จะถูกไถกลบในการทำนาในปีต่อไป เป็นการสื่อให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างชาวนากับธรรมชาติ คล้ายกับสื่อสัญลักษณ์แทนขวัญข้าวในการเคารพบูชา ขอขมา และตอบแทนคุณต่อแม่โพสพ เม่ง ตูลเพ็ง หมอทำขวัญข้าวได้กล่าวไว้ได้สอดคล้องกันว่าตนเองเป็นผู้ทำหน้าที่ในการนำชาวบ้านสวดสมโภชข้าว บวงสรวงเจดีย์ทราย ไหว้เจ้าที่นา ความเชื่อเหล่านี้ตนเองและชาวบ้านพรุจูดก็รับมาจากจากบรรพบุรุษ วิถีชีวิตของชาวพรุจูดนั้นมีความผูกพันกับวิถีข้าว วิถีนา เนื่องจากสภาพของหมู่บ้านที่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาซึ่งในสมัยอดีตชาวบ้านพรุจูดทำนากันเกือบทั้งหมู่บ้านในตอนหลังก็มีการปลูกปาล์ม ปลูกยางพารามากขึ้น ที่นาบางส่วนก็เป็นนาร้าง
เมื่อทุกคนมาพร้อมกันก็จะนำปิ่นโตที่เตรียมมาวางไว้ด้านหน้าของพระ แล้วพระก็สวดอันเชิญพระรัตนตรัย หลังจากเสร็จพิธีทางสงฆ์ ก็เป็นพิธีของหมอขวัญข้าวกล่าวสวดให้เจ้าที่นา ให้พระแม่โพสพที่ดูแลข้าว ให้การทำนาในปีต่อไปอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และอย่าให้มีอุปสรรคปัญหาใด ๆ ในการทำนา หลังจากเสร็จพิธีหมอขวัญข้าว พระก็จะสวดให้พรก่อนฉันเพล หลังจากพระฉันเพลเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็รับประทานอาหารร่วมกัน โดยการนำอาหารจากปิ่นโตของแต่ละคนมารับประทานร่วมกัน เป็นการสร้างความรักความสามัคคีขึ้นในชุมชน
หลังจากชาวบ้านรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็จะเอาเรือจำลองที่ทำมาจากโฟมหรือไม้ไปลอยที่หาดคลองสนซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณที่จัดงานประเพณีข้าวลาซังไม่มากนัก การลอยเรือเชื่อว่าเป็นการลอยทุกข์ลอยโศกให้ไหลไปกับสายน้ำ ส่วนในตอนกลางคืนก็มีการจัดแสดงมหรสพ เช่น วงดนตรี รำวง ลิเกป่า รองแง็ง การจัดมหรสพนี้ขึ้นอยู่ขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนในแต่ละปีด้วย บางปีหากเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่มีการจัดมหรสพใด ๆ ในตอนกลางคืน
- แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน
- กระชังเลี้ยงปลาเก๋าและปลากระพง
- เส้นทางศึกษาป่าชายเลน
- บ่อน้ำพุเค็มร้อน
- อ่าวบุญคง
- เกาะหลอหลอ
- หาดเก็บตะวัน
- หาดคลองสน
- การท่องเที่ยวเชิงเกษตร: บ่อหินฟาร์มสเตย์ วิสาหกิจชุมชน เลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด Bohinfarmstay
- กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้าน ได้แก่ นั่งเรือชมธรรมชาติและป่าชายเลนและชายฝั่ง การแสดงลิเกป่า การเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง การทำผ้าบาติก มีโฮมสเตย์
- กิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ เพาะและปลูกหญ้าทะเล ปลูกป่าชายเลน
สินค้าที่น่าสนใจ
- อาหารทะเลสด และอาหารทะเลแปรรูป (ปลาเค็มกางมุ้ง)
- เครื่องจักสานเตยปาหนัน
- ผ้าบาติก
- ศิลปะ: ลิเกป่า
- อาหาร: แกงส้มปลาเก๋า
- ประเพณี: ข้าวลาซังบ้านพรุจูด
- ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านพรุจูด
ภาษาไทยถิ่นใต้
สภาพปัญหาของงานประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจูด (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 44)
แม้ว่าการจัดงานประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง จะมีมายาวนานกว่าร้อยปี รูปแบบการจัดงานก็ได้มีการปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้ทันกับยุคสมัย เช่น หากช่วงใดเศรษฐกิจดีก็มีการรับวงดนตรีมาจัดแสดง แต่ก็มีปัญหาสำคัญหลายประการที่เกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการจัดงานประเพณีข้าวลาซัง ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรังในระยะยาว ซึ่งจากการศึกษาสภาพปัญหาในการจัดงานประเพณีสามารถสรุปได้ดังนี้
- การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและอาชีพของชาวบ้านพรุจูดในปัจจุบันจากที่เคยทำนาก็มาทำสวนปาล์ม สวนยาง สวนผลไม้ ทำให้การให้ทำนามีน้อยลง การให้ความสำคัญกับที่นาก็น้อยลง ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมงานประเพณีข้าวลาซังน้อยลงตามไปด้วย
- คนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเพณีข้าวลาซัง เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจและความภาคภูมิใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน
- สภาพทางเศรษฐกิจ จากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นคนทำสวนยางพารา สวนปาล์ม ล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำส่งผลต่อการเรี่ยไรหรือการรับบริจาคเงินเพื่อจัดกิจกรรมงานรื่นเริงในตอนกลางคืน
ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขประคับประคองเพื่อให้งานประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ให้คงอยู่คู่ชุมชนตลอดไป ทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นประเพณีเพื่อให้ผู้สนใจการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม ได้เข้ามาท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นประดู่อายุกว่า 100 ปี ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านพรุจูด
เกี่ยวกับต้นประดู่บุญเริญ เกลี้ยงช่วย ได้กล่าวไว้ว่าตนเองนอกจากเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแล้วยังเป็นหมอทำพิธีต่างๆด้วยเช่น ขึ้นบ้านใหม่ สวดบ้าน ไหว้เจ้าที่ ตั้งศาลพระภูมิ เป็นต้น ตอนที่ตนเป็นวัยรุ่นอายุราว 17-18 ได้ไปนอนหลับใต้ต้นประดู่แล้วได้ฝันว่าได้มีผู้หญิงสาวสวยลอยลงมาจากต้นประดู่ใส่เสื้อคอตั้ง ที่ใบหูทัดดอกทานตะวัน ข้อมือข้อเท้าร้อยพวงมาลัย แล้วถามตนว่าชอบนอนใต้ต้นไม้หรือ แล้วบอกให้ตนเองไปเสียอย่ามานอน ตนเองยังไม่ทันพูดอะไรเพราะตื่นเสียก่อน แต่หลังจากนั้นตนเองก็ไม่เคยนอนใต้ต้นไม้อีกเลย เอื้อน ชูเสียงแจ้ว ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องต้นประดู่ว่า ต้นประดู่ต้นนี้ถือว่าเป็นต้นประดู่ที่อยู่คู่ชุมชนบ้านพรุจูดมากว่า 100 ปี เพราะตอนที่เป็นเด็กตนเองพอจำความได้ต้นประดู่ต้นนี้ก็เติบใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่แล้ว ตอนนี้ตนเองก็อายุ 90 เข้าไปแล้ว ในสมัยอดีตบริเวณใต้ต้นประดู่ถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของหมู่บ้านเป็นที่พบปะของชาวบ้านพรุจูดเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งยังเป็นสถานที่จัดงานประเพณีต่างๆ รวมทั้งประเพณีข้าวลาซังด้วย ต้นประดู่ต้นนี้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้มากนอกจากจะเป็นร่มเงาให้ผู้คนแล้วยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนด้วยใครบนบานศาลกล่าวมักจะได้สมหวังเสมอ ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายเกี่ยวกับต้นประดู่ เช่น ในช่วง 15 ค่ำ เดือน 12 มีคนเห็นดวงไฟคล้ายแสงจันทร์ลอยลงมาอย่างช้าๆจากต้นประดู่แล้วลอยไปด้านหลังโรงเรียน หรือในช่วงที่มีการขยายถนนจำเป็นต้องโค่นต้นประดู่ออกไป แต่มีคนฝันว่ามีผู้หญิงชุดไทยมาบอกว่าอย่าโค่นต้นประดู่ ผู้รับเหมาที่สร้างถนนจึงเลี่ยงการตัดถนนมานิดหนึ่งแล้วตัดแต่งกิ่งต้นประดู่ไม่ให้แผ่กิ่งมาที่ก่อสร้างถนน (อัครเดช ศิวรักษ์ และเอนก สาวะอินทร์, 2560: 39-40)
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน. (มปป.). "สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน" (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2566. เข้าถึงจาก https://www.bohin.org/general.php
อัครเดช ศิวรักษ์ และ เอนก สาวะอินทร์. (2560). รายงานการวิจัยศึกษาความเป็นมาและอนุรักษ์สืบสานประเพณีข้าวลาซังบ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง. ตรัง: คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง.