Advance search

บ้านต้าสี

งามห้วยแม่เมาะ แหล่งชีวิต งามวิจิตร ดอยผาก้าน งามตระการ ถ้ำผาฮู งามสุดหรู ถ้ำจำยาแก้ น่าศึกษาแท้ แหล่งมนุษย์ยุคหมื่นปี

 

หมู่ที่ 3
บ้านท่าสี
บ้านดง
แม่เมาะ
ลำปาง
อบต.บ้านดง โทร. 0-5420-9513
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง
15 ก.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
28 ก.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
28 ก.ย. 2023
บ้านท่าสี
บ้านต้าสี


งามห้วยแม่เมาะ แหล่งชีวิต งามวิจิตร ดอยผาก้าน งามตระการ ถ้ำผาฮู งามสุดหรู ถ้ำจำยาแก้ น่าศึกษาแท้ แหล่งมนุษย์ยุคหมื่นปี

 

บ้านท่าสี
หมู่ที่ 3
บ้านดง
แม่เมาะ
ลำปาง
52220
18.4239457489131
99.7528579831123
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง

บ้านท่าสีมีทำเล ภูมิประเทศ ล้อมรอบด้วยภูเขา ต้นน้ำลำธาร อากาศดี มีสัตว์ป่าเยอะ มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ ธัญญาหาร มีเรื่องเล่าขานกันว่า มีต้นโพธิ์ไหลมาติดที่ท่าน้ำแห่งนี้ จำนวนมาก ซึ่งคนภาคเหนือเรียกว่า “ท่าต้นศรี” หรือต้นศรีมหาโพธิ์ และใช้เป็นเส้นทางเดินผ่านของพ่อค้าของทางเหนือและใช้เป็นเส้นทางการคมนาคมในบริเวณดังกล่าวเป็นประจำ มีชาวบ้านแวะพักหรือเป็นจุดนัดพบระหว่างการเดินทางเป็นประจำ พอนานไปคำที่ใช้เพี้ยนเป็น “ท่าสี” ตราบเท่าทุกวันนี้และมีประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

บ้านท่าสีก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2462 หรือเมื่อประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว มีครอบครัว 3 ครอบครัวย้ายเข้ามาตั้งรกราก เพื่อทำไม้ ปางไม้ ปางช้าง ส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวไทยใหม่ (ขมุ) จากบริเวณชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย และในเขตประเทศลาว 

ครอบครัวที่ 1 คือ พ่อบุญ แม่ตุ่น นามสกุลบุญอุ่น ย้ายมาจากลาวตอนเหนือ เป็นต้นตระกูลบุญอุ่น

ครอบครัวที่ 2 คือ พ่อเหล็ก แม่ติ๊บ นามสกุล เปียงสืบ ย้ายมาจากบ้านฝายน้อย 

ครอบครัวที่ 3 คือ พ่อปิง แม่ไข นามสกุลพื้นวัง ย้ายมาจากบ้านต้นมีน 

ต่อมามีการสร้างถนนพหลโยธิน สายลำปาง เชียงราย ผ่านบริเวณหมู่บ้าน จึงมีข้าราชการและแรงงานของหมวดแขวงการทาง กรมทางหลวง อพยพเข้ามาเพื่อสร้างถนน 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายตรวจ พ่อเป็ง แม่มี สุพรรณกุล และครอบครัวพ่อกู่ แม่น้อย เจ้าศรีลัง ได้มาตั้งรกรากที่บ้านท่าสี มีลูกหลานเพิ่มขึ้นเป็น 30 ครอบครัว ต่อจากนั้นมา พ่อหมัด ยุทธวงค์ มาเป็นช่างตอน (นายตรวจกรมทาง) เป็นผู้ดูแล ควบคุม บำรุง รักษาเส้นทางถนนสายลำปาง-งาว โดยได้อพยพครอบครัวมาจาก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มาตั้งรกราก ณ บ้านท่าสี เพิ่มอีก 5 ครอบครัว อีกทั้งเป็นต้นตระกูล ยุทธวงค์

ที่มาของชื่อหมู่บ้านท่าสี เดิมชื่อว่า ห้วยขี้ลิ้น เป็นจุดพักเกวียนจากเมืองพะเยา ใกล้ลำห้วยขี้ลิ้น มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นและบริเวณหน้าหมู่บ้านนั้นมีต้นโพธิ์ ซึ่งคนในภาคเหนือนั้นเรียกต้นโพธิ์ว่า ต้นศรี หรือ ต้นศรีมหาโพธิ์ จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านท่าต้นศรี ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น บ้านท่าสี 

บ้านท่าสี มีแหล่งน้ำ 4 ลำห้วยไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ ห้วยแม่เมาะ ห้วยแม่มาน ห้วยโป่งแคง ห้วยแม่ดำ รวมกันเป็นลำน้ำใหญ่เป็นห้วยแม่เมาะ ซึ่งมีชื่อเดิมคือ ห้วยขี้ลิ้น 

ปัจจุบันบ้านท่าสีมีจำนวนประชากรเพิ่มเป็น 703 คน มีถนนพหลโยธิน ผ่ากลางเส้นทางแบ่งหมู่บ้าน และลำห้วยคั่นกลางด้วย มีสองฝั่งฝากถนน มีบ้านงาย บ้านโค้ง บ้านกลาง บ้านใหม่พัฒนา โค้งชวลิต ฝั่งบ้านเหย้า (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ฝั่งสุสานบ้านท่าสี ฝั่งเข้าลำห้วยแม่เมาะ เป็นต้น มีครอบครัว ประมาณ 239 ครัวเรือน 

ประวัติศาสตร์ของชุมชนนั้น เป็นเหตุการณ์ สถานการณ์จากภายนอกชุมชน หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนเอง ที่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนทั้งในด้านบวกและด้านลบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับชุมชนตามมา

เหตุการณ์ต่าง ๆ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนแบ่งตามช่วงเวลา มีดังนี้ 

  • พ.ศ. 2464 มีครอบครัว 3 ครอบครัวย้ายเข้ามาตั้งรกรากเพื่อทำไม้ ปางไม้ ปางช้าง 
  • พ.ศ. 2468 นายปิง พันธ์วัง ผู้ใหญ่บ้านคนแรก 
  • พ.ศ. 2480 โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง ก่อตั้ง ชาวบ้านจึงได้เริ่มถางป่า ปลูกอ้อย เป็นอาชีพหลัก
  • พ.ศ. 2484 สงครามโลกครั้งที่ 2 ปี
  • พ.ศ. 2484 สร้างถนนพหลโยธินสายเอเชีย ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1
  • พ.ศ. 2493 มีการรวมถนนเส้นทางหลวงสายลำปาง-เชียงรายเข้าร่วมเป็นถนนพหลโยธิน หมายเลขที่ 1
  • พ.ศ. 2497 การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เริ่มมีการขุดถ่านหินในพื้นที่อำเภอแม่เมาะชาวอำเภอแม่เมาะและหมู่บ้านใกล้เคียงมีงานทำจากการเข้าสมัครเป็นกรรมกรในเหมืองแร่ ทำให้เหมืองแม่เมาะสร้างงานสร้างรายได้ แก่คนในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงและรอบหมู่บ้าน
  • พ.ศ. 2511 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เริ่มเข้าดำเนินการในพื้นที่เริ่มมีการถางป่าเพื่อปลูกต้นสักไม้เศรษฐกิจ ป่าไม้ถูกตัดลง ไม้ใหญ่หรือไม้ประจำถิ่นเริ่มหายออกจากพื้นที่ ทำให้เกิดสถานการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่กระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน จากที่หาของป่ามากิน สัตว์ป่าก็เริ่มหายากขึ้นเรื่อย ๆ
  • พ.ศ. 2513 การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าจากโรงฟ้าเหมืองแม่เมาะแต่ชุมชนรอบข้างยังขาดไฟฟ้าใช้
  • พ.ศ. 2519 ตั้งกิ่งอำเภอแม่เมาะ เริ่มมีการปกครองจากผู้นำชุมชน มีระบบการปกครองและจัดการชุมชนด้วยผู้นำ
  • พ.ศ. 2527 ไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชน รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากวิถีเดิมเป็นยุคไฟสว่างชุมชนมีโทรทัศน์ เครื่องแรก เดือนตุลาคม
  • พ.ศ. 2537 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง เริ่มดำเนินการจึงมีการพัฒนาชุมชนหมู่บ้านในหลาย ๆ ด้านทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง เพราะองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการดูแลพื้นที่ตามหน้าที่ และพันธกิจของหน่วยงาน
  • พ.ศ. 2542 เจอภาพเขียนสีบริเวณดอยผาก้าน ลักษณะเหมือนกับภาพเขียนสีประตูผาในวันที่ 1 มีนาคม 2542
  • พ.ศ. 2543 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดงเข้าสำรวจพื้นที่บริเวณภาพเขียนสีดอยผาก้าน เพื่อเสนอที่ประชุมสภาตำบลในการทำแผนพัฒนา
  • พ.ศ. 2544 ตัดถนนเข้าพื้นที่บริเวณภาพเขียนสีดอยผาก้าน
  • พ.ศ. 2552 มีการขุดค้น โดย ทีมวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส และ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • พ.ศ. 2553 ขุดค้นเจอโครงกระดูกมนุษย์โบราณ อายุ 6,000- 12,000 ปี และหินเจาะรู เปลือกหอยดินเทศหน้าท้องศพ มีการขุดค้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ
  • พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน การดำเนินชีวิตตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ทำเนียบผู้ใหญ่บ้านท่าสี

1.พ่ออุ้ยปิง ฝั้นวัง ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 1
2.พ่ออุ้ยปิง ไชยยานนท์ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2
3.พ่ออุ้ยแก้ว คำมูล ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3
4.พ่ออุ้ยคำ ท่อนสาย ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4
5.พ่อหนานมี คำวงค์ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5
6.นายมงคล มีเพียร ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6
7.นายเลิศ บุญลือ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7
8.นายอรัญนพ คล้ายสุบรรณ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8
9.นายชาญ เปียงสืบ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 9
10.นายนิพล อัครวีรวัฒนา ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน

ประวัติวัดท่าสี

วัดท่าสีเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่ง ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ราว พ.ศ. 2472 เริ่มมีการสร้างวัดขึ้นมาในหมู่บ้านท่าสี คณะศรัทธามาร่วมประชุมพร้อมเพรียงกัน โดยมีพ่อปิง ฝั้นวัง ผู้ใหญ่บ้านท่าสีคนแรก มีการประชุมกับชาวบ้านในการก่อตั้งวัดท่าสีขึ้นมา ซึ่งสมัยแต่ก่อนได้สร้างกุฏิขึ้นมา 1 หลัง โดยเป็นไม้ไผ่ มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ เมื่อสร้างวัดท่าสีเสร็จ จึงนิมนต์พระภิกษุผัด เป็นคนเมืองเทิง จังหวัดพะเยา มาเป็นเจ้าอาวาส มาอยู่ได้ 2 ปี จึงได้ลาสิกขาไปอยู่ที่บ้านเกิดตนเอง ต่อมาจนถึง พ.ศ. 2473 พระปัญญาธิ มาเป็นเจ้าอาวาส ได้เริ่มพัฒนาการก่อสร้างจากกุฏิชั่วคราวและกึ่งถาวรเป็นการก่อสร้างแบบถาวร ให้เป็นปูนและไม้ มีการต่อเติมปรับปรุงเพิ่มเติม มุงด้วยกระเบื้องดินเผา สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลังเพื่อให้พระและสามเณรมีที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น

  • พ.ศ. 2475 พระแก้ว ได้มาเป็นเจ้าอาวาส และได้อบรมสั่งสอนชาวบ้านให้ได้มีการเรียนหนังสือ ซึ่งมีการใช้ใบลานมาเป็นหนังสือ
  • พ.ศ. 2478 พระครูบุญเป็ง และคณะศรัทธาได้มีการสร้างกุฏิหลังใหม่ เนื่องจากกุฏิอาคารหลังเดิม มีสภาพเก่าคร่ำคร่าล้าสมัย จึงได้สร้างวิหารที่ทำด้วยอิฐ บูรณะต่อเติมให้มีสภาพที่ดีขึ้น
  • พ.ศ. 2483 พระสง เทพวงศ์ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัด อยู่ได้ไม่นานก็ลาสิกขากลับไปอยู่บ้านเกิด
  • พ.ศ. 2187 พระศักดิ์ จันทนศักดิ์ ได้มาสืบสานศาสนา มีการสอนหนังสือให้แก่ชาวบ้าน
  • พ.ศ. 2490 พระคำ คำวงศ์ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดและได้มีการสร้างศาลารายให้เป็นที่พักอาศัยในวัดขึ้นมา และได้มีการสืบสานศรัทธาในเรื่องของศาสนาที่ได้มีการสอนชาวบ้าน
  • พ.ศ. 2537 พระธรรม วงศ์หน่อแก้ว ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัด มีการก่อสร้างถาวรวัตถุคือ มีการสร้างศาลาการเปรียญ แต่ไม่สำเร็จ
  • พ.ศ. 2538 พระสุคล ได้มาสร้างแต่งเติมศาลาการเปรียญ โดยมีกรรมการและคณะศรัทธาวัดบ้านท่าสีได้ช่วยกันสร้างศาลาเสร็จสมบูรณ์จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งได้งบประมาณจากการทอดกฐินและทอดผ้าป่าในเทศกาลต่าง ๆ
  • พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบันนี้ พระครูสถิตวรพินิต ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าสี และได้มีการร่วมงานบุญ ศาสนพิธีทางศาสนาต่าง ๆ ของหมู่บ้าน
  • พ.ศ. 2553 ได้มีการบูรณะกุฏิขึ้นมา 1 หลัง เพิ่มเติม ซึ่งชั้นล่างเป็นปูนและชั้นบนเป็นไม้ ซึ่งได้งบประมาณมาจากกองทุนการพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นเงินจำนวน 850,000 บาท

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านท่าสีส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาและพื้นที่ป่า ด้านตะวันตกเป็นภูเขาส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีลำห้วยไหลผ่าน 2 สาย พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกในอดีต ชุมชนมีการถางป่าเพื่อทำเกษตรกรรม ชุมชนมีพื้นที่ทับซ้อนกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และค่ายฝึกรบพิเศษประตูผา

การคมนาคมขนส่ง

บ้านท่าสี หมู่ 3 มีถนนโดยรอบหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก อีกทั้งยังมีถนนพหลโยธินพาดผ่านกลางหมู่บ้าน ถนนพื้นที่ทางเกษตรกรรมนั้นเป็นถนนลูกรังและถนนหินอัดบดเป็นบางช่วง ชาวบ้านส่วนใหญ่ เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถจักรยานยนต์ส่วนตัว ระยะห่างจากหมู่บ้านถึงที่ว่าการอำเภอแม่เมาะประมาณ 30 กิโลเมตร ระยะห่างจากหมู่บ้านถึงตัวเมืองลำปางประมาณ 35 กิโลเมตร 

สภาพที่ตั้งและอาณาเขตของชุมชน

บ้านท่าสี หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่เมาะประมาณ 30 กิโลเมตรมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหมู่ที่ 4 บ้านจำปุย บ้านปางหละและค่ายประตูผา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหมู่ที่ 2 บ้านคง หมู่ที่ 7 บ้านสวนป่าแม่เมาะ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหมู่ที่ 7 บ้านสวนป่าแม่เมาะ ทะลุบ้านแม่อาง (ต.บ้านแลง อ.เมือง)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สวนป่าเศรษฐกิจ ตำบลนาสัก ตำบลแม่เมาะ และเขตตำบลจางเหนือ

มีการแบ่งโซนออกเป็น 4 โซน

  1. โซนบ้านโค้ง
  2. โซนบ้านกลาง
  3. โซนบ้านหล่ายต้า (ฝั่งโรงเรียน)
  4. โซนบ้านหล่ายต้า (ฝั่งดอยผาคัน)

สภาพและลักษณะบ้าน ความหนาแน่นของบ้านเรือน บ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง บ้าน 2 ชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ บ้านปูนชั้นเดียว สภาพบ้านเรือนคงทนถาวร ความสะอาดภายในและบริเวณรอบบ้านค่อนข้างสะอาด บ้านเรือนมีขอบเขตชัดเจนมีรั้วบ้านกั้น

สภาพภูมิประเทศ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปบ้านท่าสีเป็นพื้นที่ราบลุ่มเชิงดอยมีภูเขาล้อมรอบ ลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ มีลำห้วยผ่านหมู่บ้าน 4 สาย ได้แก่ ห้วยแม่เมาะ ห้วยแม่มาร ห้วยแม่ดำ ห้วยโป่งแคง บรรจบกันที่ห้วยแม่เมาะ 

สภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิอากาศบ้านท่าสีอยู่ในเกณฑ์ปกติดี ฤดูหนาวอากาศจะไม่หนาวมากและฤดูร้อนจะไม่ร้อนจัด มีฝนตกต้องตามฤดูกาล แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว

แหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้ สภาพของน้ำ ความพอเพียง การเก็บน้ำ

  • แหล่งน้ำบริโภค มีการบริโภคน้ำประปาที่ผ่านการกรองโดยเครื่องกรองมีปริมาณอย่างเพียงพอและซื้อน้ำขวดมาบริโภคบ้างเป็นบางครัวเรือน
  • แหล่งน้ำอุปโภค จากน้ำประปาทางองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง สภาพของน้ำสะอาดพอสมควร บางครั้งน้ำจะแดงและมีตะกอน น้ำประปาเพียงพอสำหรับใช้อุปโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี ส่วนน้อยที่จะใช้น้ำบ่อ

แหล่งน้ำทำการเกษตร น้ำประปา สระขุดในพื้นที่ น้ำประปา น้ำใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอทุกปีขาดแคลนในช่วงฤดูร้อน (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) ในด้านการประปาภายในชุมชนบ้านท่าสีส่วนใหญ่ได้ติดตั้งน้ำประปาจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดงและยังมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งยังใช้น้ำบ่อและน้ำบาดาล

การกำจัดขยะและน้ำเสีย

  • การกำจัดขยะมูลฝอย มีรถเก็บขยะจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดงมาเก็บทุก ๆ วันพฤหัสบดี โดยทุกหลังคาเรือนจะนำขยะมาวางไว้ที่หน้าบ้านของตนเอง
  • การกำจัดน้ำเสีย ส่วนใหญ่จะมีการนำน้ำเสียลงสู่ท่อระบายน้ำของชุมชน
  • การกำจัดอุจจาระ ชนิดและอัตราการมีส้วมใช้ ทุกครัวเรือนใช้ส้วมซึมที่ถูกสุขลักษณะ ส่วนใหญ่เป็นส้วมแบบซึม มีบ่อเก็บสิ่งปฏิกูลเป็นบ่อเกรอะ มีฝาปิดมิดชิดที่มีท่อระบายแก๊สออกจากบ่อเก็บสิ่งปฏิกูล ตัวส้วมมีสภาพคงทน อัตราการใช้ส้วม 100%
  • แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค แมลงที่เป็นพาหะนำโรค ได้แก่ แมลงวัน และยุงลาย ซึ่งมีจำนวนมากในฤดูฝน

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านท่าสี จำนวน 361 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 880 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 430 คน หญิง 450 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเหนือ (คนเมือง) คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

ประชาชนในหมู่บ้านท่าสีมีการประกอบอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านคือ ทำการเกษตร อาชีพรองของคนในหมู่บ้านคือ รับจ้าง ส่วนอาชีพเสริมในครัวเรือน ได้แก่ หาของป่า ตัดไผ่ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้

  1. ทำนา/ทำสวน
  2. ค้าขาย
  3. เลี้ยงสัตว์
  4. รับราชการ
  5. ประมงน้ำจืด
  6. รับจ้าง/ทำงานโรงปูน/เหมือง
  7. รับจ้างทั่วไป

บ้านท่าสีมีกลุ่มหรือแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่ละคนมีบทบาทในการพัฒนาหมู่บ้าน อย่างสอดประสานกัน ทั้งด้านการปกครองและพัฒนา โดยมีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ดังนี้

  1. กลุ่ม อสม.บ้านท่าสี
  2. กลุ่มผู้สูงอายุ
  3. กลุ่มออมทรัพย์
  4. ธนาคารหมู่บ้าน
  5. กองทุนหมู่บ้าน
  6. กลุ่มแม่บ้าน

ประชาชนในหมู่บ้านท่าสีมีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม คือ ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย มีน้ำใจ เกื้อหนุน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน มีความคิดที่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมตามอาชีพ ช่วยให้หมู่บ้านท่าสี มีแหล่งส่งเสริมการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีแหล่งประโยชน์ที่สามารถใช้สร้างรายได้ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านท่าสีมีคุณภาพชีวิตที่ดีและชุมชนมีความเข้มแข็ง

ประวัติผู้นำชุมชน บ้านท่าสี หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

1.นายนิพล อัครวีรวัฒนา ชื่อเล่น ติ๊ก เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2519

อาศัยอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

บิดาชื่อ นายระเนียด หลงกุดโง้ง (เสียชีวิต)

มารดาชื่อ นางแสงมา คำมูล

เป็นบุตรที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 1 คน

  1. นางสุพัตรา อัครวีรวัฒนา
  2. นายนิพล อัครวีรวัฒนา
  3. นายพจชพร อัครวีรวัฒนา
  4. นายอมรรัตน์ หลงกุดโง้ง

ประวัติการศึกษา

  • ชั้นอนุบาลถึงประถม โรงเรียนวัดท่าสี
  • มัธยมศึกษาตอนต้น กศน.อำเภอแม่เมาะ

ประวัติการทำงานในหมู่บ้าน

  • ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง (ปี พ.ศ. 2553-2557)
  • ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน (ปี พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน)

ความสามารถพิเศษ

  • มีความสามรถบริหารงาน ด้านการปกครองได้เป็นอย่างดี

คติประจำใจ “..มุ่งหวัง ตั้งใจ ทำให้สำเร็จ..”

2.นายเสาร์ กันทาเงิน ชื่อเล่น เสาร์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2490

อาศัยอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

บิดาชื่อ นายค่าย กันทาเงิน (เสียชีวิต)

มารดาชื่อ นางคำ กันทาเงิน (เสียชีวิต)

เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 2 คน เป็นชาย 2 คน

ประวัติการศึกษา จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ประวัติการทำงานในหมู่บ้าน

  • เคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • เคยเป็นกรรมการหมู่บ้าน
  • เคยเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหมู่บ้าน
  • เคยเป็นประธานผู้สูงอายุ
  • ปัจจุบันเป็นไวยาวัจกรของวัดท่าสี

ความสามารถพิเศษ เป็นหมอทางด้านพิธีกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านท่าสี สืบทอดมาจากครูบาอาจารย์หลายท่าน

  1. หลวงพ่อพญาธิ โปธิปัญญา (บ้านเมาะหลวง)
  2. พ่อปิง พันธุ์วัง
  3. พอค่าย กันทาเงิน
  4. พ่อแก้ว คำมูล

คติประจำใจ “..ทำมาหากินแบบสุจริต พอเพียง ตรงไปตรงมา ไม่คดโกงใคร..”

3.นางจันทร์ฟอง กันทาเงิน เกิดวันที่ 3 สิงหาคม 2494 อายุ 72 ปี

อาศัยอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

บิดาชื่อ นายคำ พันธ์คำแก้ว (เสียชีวิต)

มารดาชื่อ นางปั๋น พันธ์คำแก้ว (เสียชีวิต)

เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 4 คน คือ 

  1. นางเอื้อย พันธ์คำแก้ว (เสียชีวิต)
  2. นายน้อย พันธ์คำแก้ว (เสียชีวิต)
  3. นายปัด พันธ์คำแก้ว (เสียชีวิต)
  4. นางจันทร์ฟอง กันทาเงิน
  5. นางบุญเทียม ปินสาย
  6. นางสุคำ คำวงค์

ประวัติการศึกษา จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ความสามารถพิเศษ ทำบายศรีสู่ขวัญ กาบสรวย ดาคัวงานสงเคราะห์ และพิธีกรรมงานต่างๆ ได้อย่างชำนาญ

คติประจำใจ “..คนขยัน....ไม่มีวันอดตาย..”

การวางแผนชุมชน

บ้านท่าสี มีการวางแผนร่วมกันโดยคนในชุมชนร่วมกันสะท้อนปัญหาจัดลำดับความสำคัญสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โครงการที่เกินศักยภาพของหมู่บ้านจะส่งให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดงจัดสรรงบประมาณดำเนินการตามความสำคัญของโครงการที่หมู่บ้านได้จัดลำดับสําคัญไว้ และบางส่วนจะส่งต่อไปยังกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ที่มีอยู่ในพื้นที่

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยการใช้พื้นที่ป่าชุมชนในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น การเก็บหน่อไม้ในพื้นที่ป่าเพื่อนำไปขายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน และมีการปลูกสับปะรดซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดทุกฤดู มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนโดยกันเป็นเขตป่าชุมชน ร่วมกันทำฝายชะลอน้ำ ฝายแม้ว หรือแม้กระทั่งการทำแนวกันไฟ เพื่อส่งเสริมการหวงแหนรักษาป่าไว้ในชุมชน มีแหล่งท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ไว้ อาทิ เช่น 

  1. ดอยผาก้าน เป็นสถานที่ที่มีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีการขุดพบซากกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ที่มีความสำคัญของภาคเหนือและประเทศไทย มีภาพเขียนสีรูปสัตว์ เช่น ช้าง วัว ภาพเรขาคณิต การขุดระหว่างวันที่ 23 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2554 พบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ เศษสะเก็ดหิน และร่องรอยกองไฟ
  2. ฝายเก็บน้ำท่าสี เป็นแหล่งเก็บน้ำที่ใช้ในการทำการเกษตรของชาวบ้าน
  3. ถ้ำจำยาแก้ เป็นถ้ำที่มีความเชื่อว่าเมื่อเกิดความเจ็บป่วย ปวดเมื่อยตามร่างกาย ก็สามารถตักน้ำจากตาน้ำผุด ซึ่งมีต้นยาแก้ขึ้นอยู่บริเวณนั้น กินแล้วหายจากอาการป่วยได้
  4. ถ้ำผาฮู มีลักษณ์เป็นรู (ฮู) เดินลงไปในแนวดิ่ง ภายในมีหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงาม

ด้านสาธารณสุข

หมู่บ้านท่าสี ไม่มีปัญหาด้านการรับบริการด้านสาธารณสุขเบื้องต้น เพราะมี อสม. ทำงานกันอย่างเป็นระบบมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยการประชาสัมพันธ์ออกเยี่ยมบ้าน ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีการคัดกรองผู้ป่วยความดัน เบาหวาน เบื้องต้นก่อนนำผู้ป่วยรับการรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป

ด้านสถาบัน

สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ศาสนา การเมือง รวมทั้งองค์กรที่ตั้งขึ้นมา เช่น กองทุนหมู่บ้านกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารรักษ์แม่เมาะ กลุ่มข้าวโพด กลุ่มสับปะรด กลุ่มยางพารา กลุ่มเลี้ยงไก่ กลุ่มเลี้ยงปลา กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ และโรงเรียนวัดท่าสี 

ด้านวัฒนธรรม

วัดท่าสีจะมีการจัดประเพณีต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ไหว้ผีปู่ผีย่า ตานก๋วยสลากหรือตานเปรตพลี ลอยกระทง และยังมีกิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันแม่แห่งชาติ วันออกพรรษา วันพ่อแห่งชาติ สงเคราะห์สืบชะตาชุมชน และในหมู่บ้านยังมีเจ้าทรง อีกด้วย

คนในชุมชนพูดภาษาเหนือในการสื่อสาร ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น หรือเรียกว่า "คำเมือง" ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยกลางได้ชัดเจน สื่อสารได้ตรงกัน


ชุมชนบ้านท่าสี มีแบบแผนในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายตามบริบทของชุมชน เพราะพื้นที่ตั้งของชุมชน มีความอุดมสมบูรณ์ดี และยังมีทุนทางทรัพยากร ทุนทางสังคมอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้คนในชุมชนดำเนินชีวิตในรูปแบบเรียบง่าย มีรายได้พอแก่การยังชีพในแต่ละวัน ซึ่งเป็นผลให้คนในชุมชนไม่มีเงินออม แต่เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ในตำบลบ้านดง ทำให้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนา สิ่งต่าง ๆ ภายในหมู่บ้านและพัฒนาคุณภาพชีวิต


ปัญหาในหมู่บ้านที่พบบ่อย คือ

  1. เรื่องยาเสพติด วิธีดำเนินการ นำผู้เสพยาเข้ารับการบำบัดหลังจากการเข้ารับการบำบัดมีการส่งเสริมฝึกอบรมอาชีพ และมีการติดตามผลการบำบัด
  2. ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง วิธีดำเนินการ ผู้ใหญ่บ้านจะเรียกคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยโดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมด้วย ถ้าไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ จะส่งต่อตำรวจ
  3. ส่วนโรคที่พบในหมู่บ้าน เช่น เป็นโรคตามฤดูกาล โรคไข้เลือดออก ด้วยวิถีชาวบ้านที่มีชีวิตเรียบง่าย ขาดความรู้ในการป้องกันและควบคุมโรค
              • บ้านท่าสีมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ คือ ภาพเขียนสีถ้ำจำยาแก้, ต้นจำปียักษ์ อายุกว่า 300 ปี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.20 เมตร
              • หลงรักเขา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เพึ่งสร้างขึ้นมา มีแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่น่าท่องเที่ยว มีอาหาร ชา กาแฟ ที่มีเอกลักษณ์
              • สถานีหนีเมียมา เป็นร้านอาหารที่รสชาติ อร่อย และมีธรรมชาติให้ดูสุดหูสุดตา 
     

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 

รายงานการฝึกปฎิบัติการครอบครัวและชุมชนบ้านท่าสี หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 2554

แผนพัฒนาหมู่บ้าน หมู่บ้านท่าสี หมู่ 3 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 2565

รายงานการวิจัยชุมชนตำบลบ้านดง จังหวัดลำปาง

นายนิพล อัครวีรวัฒนา, ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566

นายเสาร์ กันทาเงิน, ปราญช์ชาวบ้าน, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566

นางจันทร์ฟอง กันทาเงิน, ปราญช์ชาวบ้าน, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566

อบต.บ้านดง โทร. 0-5420-9513