
ลักษณะพื้นที่เป็นรูปวงกลมล้อมรอบหมู่บ้าน มีป่าทึบล้อมรอบด้วยพรรณไม้นานาชนิด และแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับใช้ในภาคการเกษตร
ลักษณะพื้นที่เป็นรูปวงกลมล้อมรอบหมู่บ้าน มีป่าทึบล้อมรอบด้วยพรรณไม้นานาชนิด และแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับใช้ในภาคการเกษตร
“หมู่บ้านแต่ก่อนทำไร่ฝ้าย ไร่ปอ มันสำปะหลัง พ่อใหญ่กำนันโสม สู้ณรงค์ เผิ่นพาปลูก พ่อใหญ่ ส พึ่งดวง พ่อใหญ่ดี ส่งศรี ไปเอามาแต่โคราชในหมู่บ้านมีพี่น้องไม่ได้อพยพมาจากบ้านอื่น เป็นคนบ้านนี้หมด” (หอม พันโนฤทธิ์ 2552 : สัมภาษณ์)
“ในหมู่บ้านเป็นญาติกันหลายคน นามสกุลเดิมมิ่งขวัญ พ่อมาจากตำบลเรา นามสกุลแสวงแก้ว” (บุญธง แสวงแก้ว, สัมภาษณ์)
จากข้อมูลการสัมภาษณ์ชาวบ้านพบว่า การอพยพเข้ามาในหมู่บ้านครั้งแรก ด้วยเหตุเพื่อปลูกเพิงทำนา ทำไร่ ไม่ต้องเดินทางไปมาระหว่างที่นา ที่ไร่ จะทำให้เสียเวลาในการทำนา ช่วงระยะเวลาทำนาต้องใช้เวลาหลายเดือน จากนั้นจึงได้ชักชวนเครือญาติเข้ามาอยู่อาศัยและรวมกันจัดตั้งหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านอพยพกันเข้ามาแล้วพบว่าที่ดินในหมู่บ้านนั้นมีความอุดมสมบูรณ์คือมีฝนตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก พื้นที่เป็นแอ่งมนอุ้มน้ำทำนาตลอดฤดูกาล นอกจากนั้นที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่ราบสูงเหมาะสำหรับปลูกพืชไร่มันสำปะหลัง ปลูกไม้สัก ปลูกผักพริก มะเขือ
พื้นที่มีลักษณะเป็นรูปวงกลมล้อมรอบหมู่บ้าน มีป่าทึบล้อมรอบบ้านด้วยพรรณไม้นานาชนิด เช่น ไม้ยาง ไม้ประดู่ ไม้แดง มีแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับใช้ในการเกษตร โดยหมู่บ้านมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลดงเจริญ อำเภอเขื่อนแก้ว
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเหล่าไฮ อำเภอเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลย่ำ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
จากการสำรวจประชากร พ.ศ. 2565 พบว่ามีจำนวนบ้าน 273 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากร 754 คน โดยแบ่งเป็นชาย 393 คน และหญิง 361 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
ในช่วงก่อน ปี พ.ศ. 2540 การผลิตเป็นไปเพื่อการยังชีพ ไม่ได้แสวงหากำไร ใช้แรงงานครัวเรือนแบ่งงานกันทำ พื้นที่สภาพดินเสื่อมโทรมทำให้ไถนายาก ชาวบ้านจึงพากันบุกเบิกที่ดินทำกิน ปรับปรุงดิน ทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นสามารถปลูกข้าวได้ การทำนายังใช้แรงงานคนและสัตว์ แหล่งน้ำเพาะปลูกพึ่งพาธรรมชาติ ระยะต่อมาจึงเปลี่ยนไปใช้ไถเหล็ก จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นรถไถนาเดินตาม
ต่อมาหลังปี พ.ศ. 2540 เกิดการปรับตัวในระบบการผลิต โดยการใช้ความรู้จากเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเกิดการรวมกลุ่มกันในหมู่บ้านเป็นกลุ่มเครือข่ายทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชน เพื่อเข้าร่วมอบรมและคอยช่วยเหลือกัน (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น.97-98)
ชาวบ้านมีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นและความเชื่อตามวิถีการทำมาหากินการนับถือผีของชุมชนทุ่งมนนิยมทำกันในเดือนหก ด้วยความเชื่อเรื่องผีปู่ตาอาฮักบ้าน การบอกกล่าวก่อนเริ่มประกอบอาชีพทำนา ซึ่งเป็นบุญเลี้ยงบุญชำฮะหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเบิกบ้าน พิธีกรรมการเลี้ยงผีปูตา โดยการนำปัจจัยที่เป็นเงิน อาหาร เครื่องดื่ม เหล้า ยา จากความเชื่อบรรพบุรุษ เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมใจของคนในหมู่บ้าน
ปัจจุบันยังมีชาวบ้านปฏิบัติตามความเชื่อเหล่านั้นไปทำบุญเกือบทุกครัวเรือน เมื่อครอบครัวใดมีความเดือดร้อน ต้องการทำนาให้ได้ข้าวมาก ฝนตกตามฤดูกาลก็บนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากผีปู่ตา เมื่อได้ตามสิ่งที่ต้องการก็พากันไปแก้บนทุกคน ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อในการบนเจ้าปู่ก็จะไม่ลบหลู่แต่ก็จะฝากเครื่องบูชา เป็ดไก่ไปถวายด้วยเช่นกัน
ในทางศาสนาการทำบุญประจำปี บุญผะเวส บุญเดือนสามบุญกุ้มข้าวใหญ่ ถึงเวลาเอาไปทุกปี ครั้งละ 12 กิโลกรัม คนไม่มีข้าวก็เอาเงินไปแทน ประเพณีบุญบ้องไฟ เป็นฮีตคองที่รื่นเริง มีฟ้อนรำ มีการแห่บ้องไฟ ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างหมู่บ้าน ต่างจังหวัดได้มามารวมกันมีลูกหลาน ถ้าถึงเดือนหกก็จะจัดบุญบ้องไฟ นอกจากนี้ยังพบว่าการรับรู้ที่ผ่านคำสอน ผญา ภาษิต มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจในการทำมาหากินเป็นคำสอนที่ให้คุณค่าแก่การครองเรือน ความเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สุภาษิตสอนใจ ข้อห้ามที่ทำให้ชาวอีสานอยู่ในกรอบในฮีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกัน
1) นายสันต์ แสวงแก้ว ผู้ใหญ่บ้าน
ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์. (2553). การรับรู้และตีความเศรษฐกิจพอเพียงในมโนทัศน์ของชาวอีสาน. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php