Advance search

บ้านเซินเหนือ

ชุมชนวัดเฉลียงทอง

ชุมชนบ้านเซินเหนือมีความโดดเด่นในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนจากรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ รวมถึงการที่ชุมชนมีผู้นำชุมชนและเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง นอกจากนี้พื้นที่ทางกายภาพของชุมชนยังอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทำให้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาในชุมชนอยู่เสมอ

หมู่ที่ 2
บ้านเซินเหนือ
โนนคอม
ภูผาม่าน
ขอนแก่น
จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง, ชิศพลว์ หารี
10 ก.พ. 2023
จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง
15 ก.พ. 2023
กฤชกร กอกเผือก
4 ต.ค. 2023
บ้านเซินเหนือ
ชุมชนวัดเฉลียงทอง

ความเป็นมาของชื่อชุมชนทางการ : “บ้านเซินเหนือ” จากการที่ชุมชนบ้านเซินเหนือตั้งอยู่ติดกับทิศเหนือของลำน้ำเชิญและมีการเรียกลำน้ำเชิญตามสำเนียงภาษาท้องถิ่นเป็น “ลำน้ำเซิน” จนกระทั่งกลายเป็นชื่อหมู่บ้านในที่สุด

ความเป็นมาของชื่อชุมชนท้องถิ่น : “ชุมชนวัดเฉลียงทอง” เนื่องจากในอดีตของการอพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่ลำน้ำเชิญ บริเวณดังกล่าวมีต้นเฉลียงทองตั้งอยู่ และต่อมามีการก่อสร้างวัดเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของชุมชนในบริเวณดังกล่าว จนกระทั่งปัจจุบันวัดเฉลียงทองกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญของชุมชน ชาวบ้านจึงเรียกชุมชนนี้ว่าชุมชนวัดเฉลียงทองตามสถานที่สำคัญของชุมชน ซึ่งได้รวมเอา 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) บ้านเซินเหนือ 2) บ้านโนนคอม ต.โนนคอม อ.ภูผาม่าน และ 3) บางส่วนของบ้านนาอ้อม ตำบลคอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งของลำนำเชิญ และคนเซินเหนือมักเรียกว่า “เซินน้อย” หรือ “เซินน้อยคอนสาร”


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านเซินเหนือมีความโดดเด่นในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนจากรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ รวมถึงการที่ชุมชนมีผู้นำชุมชนและเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง นอกจากนี้พื้นที่ทางกายภาพของชุมชนยังอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทำให้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาในชุมชนอยู่เสมอ

บ้านเซินเหนือ
หมู่ที่ 2
โนนคอม
ภูผาม่าน
ขอนแก่น
40350
ชุมชนเซินเหนือ โทร. 09-2638-3389
16.632042081298557
101.91574514973293
เทศบาลตำบลโนนคอม

การอพยพย้ายถิ่นและการตั้งถิ่นฐาน

บ้านเซินเหนือก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2380 จากการอพยพมาจากแขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว มายังอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย อำเภอนครไทย จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และสิ้นสุดที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิโดยการนำของหมื่นอร่าม กำแหง และหลวงพิพิธ ภูมิเรศพร้อมครอบครัวได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หนองปลาซิว (ปัจจุบันชื่อว่าลำน้ำเชิญ) ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพี่น้องกันโดยหมื่นอร่าม กำแหงตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ส่วนหลวงพิพิธ ภูมิเรศได้รับมอบให้ไปดูแลรังผึ้งที่ต้นเฉลียงทองเป็นนายกองสีผึ้งและท่านหลวงพิพิธ ได้ปฏิบัติหน้าที่เอาใจใส่ตรวจตราป่าผึ้งที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ และหลวงพิพิธ ภูมิเรศ ได้สร้างศาลพระภูมิขึ้นที่บริเวณต้นเฉลียงทอง พร้อมกับก่อตั้งบ้านเรือน ซึ่งหมู่บ้านเซินเหนือถือเป็นหมู่บ้านแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาหมู่บ้านแรกในเขตพื้นที่อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น เป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่กว่า 185 ปี

เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน

ภายหลังจากการอพยพย้ายถิ่นและตั้งบ้านเรือนใน พ.ศ. 2380 การมีขยายพื้นที่การตั้งบ้านเรือนอย่างต่อเนื่อง และ พ.ศ. 2385 แม่กลิ่น คำผิว ภรรยา และบุตรธิดาของหลวงพิพิธ ภูมิเรศ ได้ถวายที่ดินจำนวน 4 ไร่ ติดกับลำน้ำเชิญเพื่อใช้สำหรับการก่อสร้างวัดเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมหรือกิจกรรมทางศาสนาของพระภิกษุสงฆ์ อีกทั้งยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชน ภายหลังการก่อสร้างวัดแล้วเสร็จได้มีการตั้งชื่อวัดตามต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในบริเวณทิศตะวันออกของวัดโดยให้ชื่อว่า “วัดเฉลียงทอง” มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้นเฉลียงทองที่ตั้งอยู่ภายในเขตวัดเฉลียงทองปัจจุบันถือเป็นไม้ยืนต้นมงคล อายุราว 200 ปี ถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญต่อชาวชุมชนบ้านเซินเหนือและชาวอำเภอภูผาม่านเป็นอย่างมาก เป็นต้นไม้ที่คอยทำหน้าที่ในการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความเป็นมาของอำเภอภูผาม่าน ปัจจุบันวัดเฉลียงทองตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านเซินเหนือ ตำบลโนนคอม อำเภอภูผาม่าน จังหวัด ขอนแก่น โดยพระครูนวกรรมกิจจาทร เป็นเจ้าอาวาสวัดเฉลียงทอง ซึ่งท่านจะให้คำแนะนำที่ดีแก่ญาติโยมโดยตลอด แม้ว่าท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันจะรักความสันโดษ แต่ท่านจะทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับวัดเฉลียงทองหรือแม้กระทั่งญาติโยมอยู่สมอ ทำให้ชาวบ้านมีแรงศรัทธาที่จะช่วยทำนุบำรุงและรักษาวัดเฉลียงทองอันเป็นวัดสำคัญของชุมชนบ้านเซินเหนือและเป็นวัดที่ถูกก่อตั้งเป็นแห่งแรกในอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น 

ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่งการปกครองของหมู่บ้านอย่างชัดเจน แต่จากเรื่องเล่าของคนในชุมชนที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นชี้ให้เห็นว่าเซินเหนือเป็นหมู่บ้านแรกในอำเภอภูผาม่าน เป็นศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของผู้คนในพื้นที่ ในอดีตอาณาบริเวณโดยรอบถูกนับรวมเป็นพื้นที่ของบ้านเซินเหนือทั้งหมด ต่อมาเมื่อแบ่งเขตการปกครองออกเป็นสองจังหวัด ส่งผลให้บ้านเซินเหนืออยู่ในเขตการปกครองของอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และบ้านนาอ้อม อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดชัยภูมิ โดยมีลำน้ำเชิญเป็นพรมแดนระหว่างสองหมู่บ้าน กระนั้น คนในสองหมู่บ้านยังคงมีสำนึกของความพี่น้องมาจนถึงปัจจุบัน คนที่เซินเหนือมักเรียนกบ้านนาอ้อมว่า “บ้านเซินน้อย” หรือ “เซินน้อยคอนสาร” ดังเช่นที่เคยเป็นมา หลังจากที่มีการแบ่งเขตการปกครองทั้งสองจังหวัดออกจากกัน ได้มีการแบ่งพื้นที่ของบ้านเซินเหนือซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า “บ้านเซิน” ออกเป็นบ้านโนนคอมและบ้านเซินใต้ตามลำดับ สิ่งที่น่าสนใจ คือ ถึงแม้จะอยู่ในหมู่บ้านต่างกัน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวถูกรวมให้อยู่พื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมเดียวกัน คือ “ชุมชนวัดเฉลียงทอง” เนื่องจากไปทำบุญหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่วัดดังกล่าวเหมือนกัน

ใน พ.ศ. 2523 นายอำเภอชุมแพซึ่งเป็นเขตพื้นที่การปกครองบ้านเซินเหนือสังกัดอยู่ ณ ขณะนั้นเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะตั้งกิ่งอำเภอภูผาม่านขึ้น จึงได้แยกตำบลโนนคอมออกเป็นอีกตำบลหนึ่ง คือ ตำบลนาฝาย และได้นำเรื่องเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ภายหลังจากการดำเนินการตามขั้นตอนคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อคำร้องดังกล่าวที่นายอำเภอชุมแพได้เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศตั้งกิ่งอำเภอภูผาม่าน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ในช่วงเวลานี้เองถือเป็นสัญญาณสำคัญของการพัฒนาและขับเคลื่อนพื้นที่ให้มีความพร้อมและมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น

ใน พ.ศ. 2526 ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงมุมมองและการให้ความสำคัญของวัฒนธรรมในพื้นที่กิ่งอำเภอภูผาม่าน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานภาครัฐเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีตรุษไทของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งประเพณีตรุษไทถือเป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบโบราณ และเป็นการแสดงความเคารพต่อผีเจ้านายและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรอีกด้วย โดยภาครัฐท้องถิ่นเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมประเพณีตรุษไทภูผาม่านในช่วงที่นายรังสรรค์ หนุนภักดี เป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอภูผาม่าน ผ่านการใช้นโยบายที่จะดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมกิจกรรมสมัยใหม่ จึงจัดงานประเพณีตรุษไทภูผาม่านระดับอำเภอขึ้น โดยได้นำกีฬาสากลเข้ามาเสริมการละเล่นในสมัยโบราณของประเพณีตรุษไทภูผาม่าน ส่งผลให้การละเล่นต่าง ๆ ในประเพณีตรุษไทภูผาม่านตั้งแต่ พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2537 เป็นการแข่งขันกีฬาสากลมากกว่าการละเล่นพื้นบ้านตามแบบประเพณีดั้งเดิม

หลังจากถูกยกระดับเป็นกิ่งอำเภอแล้ว ภูผาม่านได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการยกฐานะเป็นอำเภอในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบการทำงานภายในกิ่งอำเภอ การพัฒนาสภาพแวดล้อมและจัดบรรยากาศการทำงาน การจัดสวัสดิการแก่ข้าราชการ การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง การส่งเสริมอาชีพ และที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์กิ่งอำเภอภูผาม่านให้เป็นที่รู้จักผ่านคำขวัญของอำเภอ คือ “ภูผาม่านอุทยานขุนเขา ฝูงค้างคาวนับล้าน แลละลานถั่วเหลือง ลือเลื่องเครื่องดื่มสมุนไพร ตรุษไทเทศกาล”

แม้ว่าจะภาครัฐกับภาคประชาชนจะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องภายใต้เป้าหมายที่ต้องการจะยกระดับภูผาม่านสู่การเป็นอำเภอ แต่ภัยธรรมชาตินั้นถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาดังกล่าวขาดความต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2534 เกิดน้ำท่วมหนักเอ่อล้นมาจากลำน้ำเชิญท่วมเข้ามายังพื้นที่เซินเหนือส่งผลให้ คนในชุมชนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ชาวบ้านต้องอพยพมาอยู่อาศัยในพื้นที่โรงเรียนบ้านโนนคอมเป็นการชั่วคราว หลังจากระดับน้ำเริ่มลดชาวบ้านจึงกลับไปยังพื้นที่บ้านเซินเหนือ เหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นอุทกภัยครั้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบ้านเซินเหนือ

เมื่อผ่านอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ของบ้านเซินเหนือไปได้ด้วยดี การรอคอยของทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อยกระดับภูผาม่านสู่การเป็นอำเภอก็ได้สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2537 กรมการปกครองแจ้งกิ่งอำเภอภูผาม่านว่าจะได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ และหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ชาวภูผาม่านจึงพร้อมใจกันจัดงานสถาปนาอำเภอภูผาม่านขึ้น ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2537 ซึ่งตรงกับวันสำคัญของชาวภูผาม่าน คือ เทศกาลตรุษไท

ภายหลังจากการยกระดับภูผาม่านเป็นอำเภอแล้ว พื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2539 ภาครัฐได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างสะพานคอนกรีตโดยกรมโยธาธิการ เพื่อเชื่อมระหว่างอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น สะพานดังกล่าว ทอดยาวจากทิศใต้ของบ้านเซินเหนือ อำเภอภูผาม่าน ข้ามลำน้ำเชิญไปยังพื้นที่อำเภอคอนสาร ใน เวลาต่อมาได้มีการตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานบุญผลา” อันเป็นขัวพี่เมืองน้องสองจังหวัด และได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชนเซินเหนือมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของชุมชนเซินเหนือ คือ โรคระบาดในสัตว์ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2545 ชุมชนเซินเหนือเผชิญกับโรคระบาดในสัตว์ ส่งผลสัตว์เลี้ยง อาทิ ไก่ และสุกร ล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านต้องหาที่ฝังซากของสัตว์เหล่านี้ แต่เนื่องจากพื้นที่ เกือบทั้งหมดของหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของอาคารบ้านเรือน ชาวบ้านจึงไม่มีสถานที่ซึ่งจะนำซากสัตว์ เหล่านั้นไปฝัง เมื่อไม่มีสถานที่ที่เหมาะต่อการนำซากสัตว์ไปฝัง ชาวบ้านจึงตัดสินใจนำซากสัตว์ไปทิ้งที่ บริเวณหนองปลาซิวซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะตั้งอยู่บริเวณกลางบ้านเซินเหนือ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็น การแพร่เชื้อโรคจากสัตว์ไปสู่คนที่ใช้น้ำจากหนองปลาซิว นอกจากนี้น้ำในหนองดังกล่าวยังส่งกลิ่นเน่า เหม็นจากการสะสมของซากสัตว์จำนวนมากที่ชาวบ้านนำมาทิ้งไว้ใน พ.ศ. 2546 คนในชุมชนเซิน เหนือจึงตัดสินใจถมหนองปลาซิวเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2546 มีการก่อตั้งตลาดสดเทศบาลตำบลโนนคอม โดยการขับเคลื่อน ของพ่อฐิติกร แก้วคำอยู่ ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของบ้านโนนคอมซึ่งแยกไปจากบ้านเซินเหนือ 88 ตลาดดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านเซินเหนือเพียง 500 เมตร ทำให้คนในชุมชนเซินเหนือสามารถซื้อ อาหารและข้าวของเครื่องใช้ได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านซึ่งนำ สินค้าไปขายที่ตลาดสดเทศบาล

และในปีเดียวกันนั้นเองมีการกำหนดนโยบายให้คนในภูผาม่านแต่งกายด้วย “ชุดไทภู” ภายหลังจากที่ชุมชนต่าง ๆ และหน่วยงานภาครัฐได้มีการกำหนดรูปแบบของชุดไทยภูร่วมกันแล้ว นายอำเภอภูผาม่านในขณะนั้นจึงประกาศนโยบายให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรหน่วยงานรัฐ ภายในพื้นที่เขตอำเภอภูผาม่านแต่งกายด้วยชุดไทภูผาม่านในทุกวันศุกร์ รวมทั้งนักเรียนในโรงเรียนที่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอภูผาม่านก็ต้องแต่งกายด้วยชุดไทภูผาม่านในทุกวันศุกร์ด้วย่นกัน นโยบาย ดังกล่าวยังคงได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน  ต่อมาใน พ.ศ. 2559 โดยการนำของเจ้าอาวาสวัดเฉลียงทอง ได้มีการสร้างลานอเนกประสงค์ โดยใช้ชื่อว่า “ลานวัฒนธรรม” ขึ้นในพื้นที่ของวัดเฉลียงทองเพื่อใช้สำหรับการทำกิจกรรมทางศาสนา และเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับคนทั่วไปซึ่งสามารถขออนุญาตใช้พื้นที่ของวัดในการดำเนินกิจกรรมได้ ทำให้พื้นที่ของวัดกลายเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์มีผู้คนรู้จักมากมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชน

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2560 0 โครงการ OTOP นวัตวิถีได้เข้ามาสนับสนุนคนในหมู่บ้านเซินเหนือให้ใช้ทุน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของชุมชนผ่าน กิจกรรม การท่องเที่ยวและการนำเสนออัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน การดำเนินงานดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งนี้ผลจากการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2561 หมู่บ้านเซินเหนือได้รับ รางวัลการประกวดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ประจำปี 2561 และถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 20 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ระดับประเทศ ส่งผลให้ชุมชนเซินเหนือเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งมี หน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมมากยิ่งขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ เพิ่มขึ้นและเกิดความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง 

ภายหลังจากการได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และเป็นหนึ่งใน 20 หมู่บ้านในระดับประเทศ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนมากมาย จากการเป็นชุมชนเกษตรกรรมทั่วไปสู่ การเป็นชุมชนการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวและบุคลการของหน่วยงานราชการเดินทางมาเยือนและ มาชมวัฒนธรรมของที่โดดเด่นของชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งใน พ.ศ. 2562 ต้นไม้ที่สำคัญ ของชุมชนอันได้แก่ต้นเฉลียงทองได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้เป็น “รุกขมรดกของ แผ่นดิน” ภายใต้โครงการรุกขมรดกแห่งแผ่นดินใต้ร่มพระบารมีซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูล ต้นไม้ ไปใช้ในการสืบค้น เผยแพร่ และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม รวมทั้งให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เห็นความสำคัญของต้นไม้และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาต้นไม้ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ 

ชุมชนเซินเหนือตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มต่ำของอำเภอภูผาม่านซึ่งมีภูเขาหินปูนตั้งตระหง่านจนทำให้ทัศนียภาพของพื้นที่แถบนี้สวยงามแปลกตาจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอภูผาม่าน ลักษณะสำคัญของชุมชนคือตั้งอยู่ติดกับลำน้ำเชิญ ลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำชีซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนสภาพดินของชุมชนนั้นพบว่าเป็นดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ติดลำน้ำเชิญทำให้มีน้ำท่วมบ่อยครั้งซากพืชซากสัตว์ที่ถูกพัดมากับลำน้ำเชิญและตกตะกอนกลายเป็นสารอาหารที่ดีสำหรับผิวดิน บริเวณภูมิประเทศโดยรอบจึงเหมาะต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาซึ่งพบว่าชุมชนแห่งนี้สามารถทำนาได้ถึงปีละสองครั้ง

สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

สถานที่ที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชุมชนเซินเหนือ คือ วัดเฉลียงทอง เนื่องจากพื้นที่วัดเฉลียงทองเป็นศูนย์รวมทางจิตใจที่สำคัญของชุมชนวัดเฉลียงทอง ในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมต่าง ๆ ของทั้งภายในและภายนอกชุมชน เช่น การจัดกิจกรรมฝึกอบรม การจัดกิจกรรมประเพณีประจำปี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ของศาลปู่ตาอันเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนอย่าง “การบูชาเจ้าแม่นางเทียม” ในทุก ๆ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 และขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 และในส่วนของสถานที่ที่สำคัญทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากวัดเฉลียงทองซึ่งมีต้นเฉลียงทองอยู่ในพื้นที่ และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ของชุมชนที่กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชนผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว ชุมชนยังคงมีพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านซ่อมรถ และบ้านพักโฮมสเตย์อยู่ในเขตของชุมชนอันเป็นสถานที่ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ทรัพยากรทางธรรมชาติ 

ทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของชุมชนเซินเหนือ คือ “ลำน้ำเชิญ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเซิน” ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำชี ร่วมกับลำน้ำพรม ลำน้ำพอง ลำน้ำปาว และลำน้ำยัง (สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 11, 2561) ลำน้ำเชิญอยู่ติดกับหมู่บ้าน เป็นลำน้ำที่กั้นระหว่างบ้านนาอ้อม อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กับบ้านเซินเหนือ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ เซินเหนือและบริเวณโดยรอบยังมีดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มต่ำติดกับแม่น้ำซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง โดยน้ำท่วมได้พัดพาตะกอนและซากพืชซากสัตว์ต่าง ๆ มาทับถมจนกลายเป็นปุ๋ยให้กับผิวดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก หากปีใดเกิดน้ำท่วมผลผลิตทางการเกษตรมักดีและงามกว่าปีที่ไม่มีน้ำท่วม

พื้นที่ที่มีกิจกรรมทีมีกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

ชุมชนเซินเหนือเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญ คือ “วัดเฉลียงทอง” อันเป็นศูนย์รวมที่ร้อยเรียงผู้คนในชุมชนเซินเหนือ ชุมชนโนนคอม และชุมชนนาอ้อม (เซินน้อยคอนสาร) เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งสามชุมชนร่วมกันใช้พื้นที่ดังกล่าวในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ไม่เพียงแค่ผู้คนในชุมชนเท่านั้น แต่คนนอกพื้นที่ชุมชนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามของต้นเฉลียงทอง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่ผู้คนมักที่จะเข้ามาแวะเวียนอยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการเข้ามาส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเข้ามาใช้ในการจัดกิจกรรมฝึกอบรมและมอบความรู้ให้แก่ผู้คนในชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ในพื้นที่ของวัดเฉลียงทองยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลภูผาม่าน อันเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพบปะสังสรรค์ของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลภูผาม่าน ซึ่งถือเป็นการรักษาความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุในชุมชน

นอกจากนี้พื้นที่ศาลปู่ตายังเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ “การบูชาเจ้าแม่นางเทียม” อันเป็นกิจกรรมทางความเชื่อและวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชน ที่จะจัดขึ้นทุก ๆ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 และ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญกับชุมชนเป็นอย่างมากที่สมาชิกของชุมชนไม่ว่าจะย้ายถิ่นไปทำงานหรืออาศัยอยู่นอกพื้นที่ชุมชนจะกลับมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัวตามความเชื่อของชุมชน

ไม่เพียงแค่พื้นที่ของวัดเฉลียงทองเพียงเท่านั้นแต่พื้นที่ของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่ทั้งผู้คนในชุมชนจะร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มร่วมกัน เช่น กลุ่มทำอาหารพื้นบ้าน สมาชิกในกลุ่มก็จะนัดหมายกันในการเข้ามาทำอาหารร่วมกัน หรือกลุ่มทอผ้าควบ สมาชิกภายในกลุ่มจะใช้เวลาว่างเพื่อนัดหมายกันมาประชุมหรือทอผ้าตามที่ได้รับการสั่งซื้อ เป็นต้น นอกจากนี้พื้นที่ของกลุ่มต่าง ๆ ยังเป็นพื้นที่กิจกรรมและการเรียนรู้ที่สำคัญของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมชุมชน โดยสมาชิกของแต่ละกลุ่มจะเตรียมกิจกรรมตามลักษณะเฉพาะของกลุ่มเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชน เช่น กลุ่มทำบายศรี จะจัดเตรียมบายศรีไว้เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนในชุมชน พร้อมทั้งสอนนักท่องเที่ยวทำบายศรีและมอบให้เป็นของที่ระลึก เป็นต้น

จำนวนครัวเรือน-ครอบครัว และจำนวนประชากร

ชุมชนบ้านเซินเหนือ หมู่ที่ 2 ตำบลโนนคอม อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 115 ครัวเรือน โดยมีประชากรที่อาศัยอยู่จริง ทั้งหมด 397 คน แบ่งเป็นเพศชาย 198 คน และเพศหญิง 199 คน (สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น, 2564) จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์คนในชุมชนพบว่าคนในวัยหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยได้ออกไปศึกษาต่อหรือไปทำงานในพื้นที่อื่น จะกลับมาที่เซินเหนือในช่วงงานบุญประเพณีหรือวันหยุดติดต่อกันหลายวัน

ระบบเครือญาติ 

จากการสัมภาษณ์ระบบเครือญาติของแม่สายตรี จอดพรม สะท้อนให้เห็นว่าตระกูลศรีบัว (สกุลเดิม) ไม่มีผู้ที่มีโรคประจำตัวและส่วนใหญ่ยังคงมีชีวิตอยู่มีเพียงแต่พี่น้องคนที่ 3 ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุด้วยวัย 50 ปี  แต่สมาชิกคนอื่น ๆ ในตระกูลยังคงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรคประจำตัว ทั้งนี้สมาชิกส่วนใหญ่ของตระกูลเป็นเพศชายและอยู่ในวัยสูงอายุและวัยแรงงานเป็นหลัก

%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%20%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%20%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A1_651d3f7de4760.jpg

กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนที่พูดภาษาอื่นอาศัยอยู่ในชุมชน

คนในชุมชนเซินเหนือและในพื้นที่อำเภอภูผาม่าน มักเรียกกลุ่มตัวเองว่าเป็น “ชาวไทภู” ซึ่งหมายถึงชาวไทภูผาม่าน ชื่อเรียกดังกล่าวถูกประกอบสร้างขึ้นภายหลังจากที่ภูผาม่านถูกยก ฐานะให้เป็นอำเภอเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับท้องถิ่น ดังนั้น “ไทภู” จึงไม่ได้สัมพันธ์กับภูมิหลังทาง ชาติพันธุ์ของคนในชุมชนแห่งนี้ ข้อมูลที่ได้จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญทำให้ทราบว่าคนในชุมชนเซินเหนือมี บรรพบุรุษเป็น “ลาวเทิง” ซึ่งอพยพมาจากพื้นที่ซึ่งปัจจุบันอยู่แขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว การที่หน่วยงานภาครัฐต้องการสร้างอัตลักษณ์ให้กับอำเภอภูผาม่านด้วยการสร้างคำว่า “ไทภู” ขึ้น จน กลายเป็นคำที่คนในเซินเหนือและพื้นที่อื่น ๆ ของภูผาม่านเลือกใช้ในการนำเสนอตัวตนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทของการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของอำเภอและการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งผลให้ภูมิหลัง ทางชาติพันธุ์ของคนในชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอมากเท่าที่ควร การนำเสนอความเป็นคน “ไทภู” มี ความเข้มข้นมากขึ้นภายหลังจากที่เซินเหนือได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีมีการ นำเอาคำว่าไทภูไปใช้เรียกวัฒนธรรมของกลุ่ม เช่น ภาษาไทภู บ้านไทภู หรือใช้เรียกผลิตภัณฑ์ของชุมชน อย่างชุดไทภู อาหารไทภู เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับชุมชนและเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน ด้วย เหตุนี้คำว่า “ไทภู” จึงค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในชุมชนเซินเหนือ

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของชุมชน ประกอบด้วย 1) กลุ่มสัจจะออมทรัพย์หรือกองทุนเงินล้านเป็นกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับงบประมาณ จากรัฐบาลส่วนกลางให้นำมาจัดสรรสำหรับดำเนินกิจกรรมภายในชุมชน และให้ชาวบ้านสามารถ กู้ยืมเพื่อไปใช้ภายในครัวเรือนได้ โดยมีดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี กองทุนนี้มีเงินปันผลให้กับ สมาชิกในอัตราร้อยละ 10 กลุ่มนี้ได้กำหนดไว้ว่าผู้กู้สามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อ ครัวเรือน โดยมีเงื่อนไขว่าหากครัวเรือนของผู้กู้ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มฌาปนกิจของเทศบาลตำบล ภูผาม่านจะไม่สามารถกู้กองทุนหมู่บ้านได้ 2) กองทุนฌาปนกิจหมู่บ้าน เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการ สังคมรูปแบบหนึ่งของบ้านเซินเหนือเพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต เป็นกองทุน ที่ค่อนข้างมั่นคงสำหรับช่วยเหลือผู้ที่มีญาติเสียชีวิตให้มีเงินทุนในการจัดงานฌาปนกิจศพ ผู้ที่เข้า ร่วมกลุ่มฌาปนกิจต้องจ่ายเงิน 20 บาทต่อ 1 ศพ หรือจ่ายเป็นรายครัวเรือน 100 บาทต่อหนึ่งศพ 3) กลุ่มขยะบุญ เป็นกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการขยะภายในชุมชน ภายใต้แนวคิดที่ว่าทำอย่างไรจะให้ชุมชนสามารถลดขยะภายในชุมชน มีลักษณะคล้ายคลึงกับ กองทุนฌาปนกิจหมู่บ้าน โดยครอบคลุมทั้งครัวเรือน เมื่อมีการเสียชีวิตของสมาชิก ครอบครัว ของผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 12,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องนำขยะไปขายให้ครบ 300 บาท ต่อการเสียชีวิตหนึ่งศพ หากไม่สามารถขายขยะได้ครบ 300 บาท จะต้องนำเงินของ ครัวเรือนจ่ายเพิ่มให้ยอดเงินคงที่อยู่ที่ 300 บาท

การรวมกลุ่มทางสังคมของชุมชน ประกอบด้วย 1) ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีสมาชิก 13 คน ร่วมกันดำเนินการตรวจลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ (ทุกวันพุธ) ชั่งน้ำหนักเด็กแรกเกิด ถึง 5 ปี (ทุก 3 เดือน/ครั้ง) คัดกรองเบาหวาน วัดความดัน ประชาชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ปีละ 1 ครั้ง เป็นกลุ่มแกนนำด้านสุขภาพ การดูแลผู้ป่วย การป้องกันควบคุมโรคติดต่อ งานเยี่ยมบ้าน การดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สมาชิกประกอบด้วย แกนนำในชุมชน และประชาชนโดยทั่วไป ที่มีความสนใจและให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ พร้อมทั้งเป็นผู้ที่ตระหนักถึงปัญหาที่ เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนในชุม 2) กลุ่มโอทอปนวัตวิถีเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการดูแลและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับภาครัฐ 3) ชมรมผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุประจำหมู่บ้านที่รวมตัวประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่เทศบาลตำบลภูผาม่านและสมาชิกเห็นสมควร โดยเทศบาลฯ ได้ตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นในบริเวณวัดเฉลียงทองเพื่อให้ผู้สูงอายุและชาวบ้านร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การออกกำลังกาย การเล่นเครื่องดนตรีเพื่อการผ่อนคลาย การเรียนรู้การทำอาชีพ การส่งเสริมสุขภาพ การให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การสอนธรรมะ เป็นต้น

อาชีพและการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในชุมชน (อาชีพหลัก อาชีพเสริม)

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านเซินเหนือประกอบอาชีพเป็นเกษตรปลูกข้าว กว่าร้อยละ 30.48 ของประชากรทั้งหมด (สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น, 2564) ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ ที่ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยปลูกข้าวเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่ของ ชุมชนมีค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่มีไว้สำหรับการสร้างบ้านและเพาะปลูกเล็ก ๆ น้อยๆ เท่านั้น ที่นาของ ชาวบ้านบ้านเซินเหนือเกือบทั้งหมดจึงอยู่นอกพื้นที่บ้านเซินเหนือ หากที่นาของใครอยู่ติดกับแหล่งน้ำจะ สามารถทำนาได้สองครั้งต่อปี และมีผลผลิตเพียงพอสำหรับเก็บไว้บริโภคและนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ ให้กับครัวเรือน หากที่นาของใครอยู่ไกลจากแหล่งน้ำจะทำนาได้เพียงปีละหนึ่งครั้งคือนาปีซึ่งให้ผลผลิต เพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น แต่ถ้าเหลือก็สามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้เช่นกัน

นอกจากการปลูกข้าว คนในชุมชนยังปลูกอ้อยและข้าวโพดในพื้นที่ซึ่งไม่ได้ใช้ปลูกข้าว รวมทั้ง ปลูกถั่วเหลืองในที่นาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ดังข้อมูลที่ได้จากธนภรณ์ จันทร์ช่างทอง ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเซินเหนือ “คนในบ้านเราส่วนใหญ่ทำนาข้าวนะแต่จะส่วนใหญ่ก็จะทำนาหว่านกัน แล้วก็ 104 มีคนที่เขาปลูกอ้อย ถั่วเหลือง ข้าวโพดพวกนี้ด้วย แต่ที่นาของคนในบ้านจะไม่ได้อยู่ในเขตบ้านนะ บางคน ก็มีที่อยู่คอนสาร โนนคอม หรือในตัวอำเภอภูผาม่านไปเลย” (ธนพร จันทร์ช่างทอง, สัมภาษณ์19 สิงหาคม 2565) ข้อมูลข้างตรงสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากพ่อฐิติกร แก้วคำ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเซินเหนือ ซึ่ง ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาหลายปีที่ว่า “พื้นที่บ้านเรามันน้อย มันก็เป็นพื้นที่บ้านคนไป หมดแล้ว ที่นาของคนในบ้านส่วนใหญ่เขาก็จะอยู่เซินน้อยคอนสารบ้าง โนนคอมบ้าง กระจายกันไป สมัยก่อนเขาก็ไปจับจ้องพื้นที่กัน ของพ่อเองที่นาก็อยู่บ้านโนนคอม” (ฐิติกร แก้วคำ, สัมภาษณ์2 กันยายน 2565)

ไม่เพียงเท่านั้น คนในชุมชนเซินเหนือส่วนหนึ่งได้หันมาทำเกษตรอินทรีย์เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากตลาดภายนอกชุมชน ดังข้อมูลที่ได้จากพ่อสนั่น คำพิมพ์ นักเล่าเรื่องประจำชุมชนวัดเฉลียง ทอง และเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานภายในพื้นที่นา ที่ว่า “ผมเองก็ทำเกษตรเหมือนกันนะ ครับเป็นเกษตรอินทรีย์ทำทั้งข้าว ปลูกทั้งฝรั่ง มะม่วง กล้วย ขนุน น้อยหน่า แล้วก็มีอีกหลายอย่างครับ เป็นอินทรีย์ทั้งหมดเลย” เช่นเดียวกับแม่ปราณี เดชบำรุง ประธานกลุ่มทอผ้าควบ ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบัน จะเน้นเรื่องการทอผ้า แต่ก็ไม่ได้ทิ้งอาชีพเดิมของตนและบรรพบุรุษ รวมทั้งปลูกฝ้ายสำหรับทอผ้าฝ้ายสี ธรรมชาติด้วย “ของแม่ปลูกทั้งข้าว ทั้งพริก ทั้งข้าวโพดเลยกับฝ้ายที่ปลูกเสริมบ้าง แล้วแม่ก็มีปลูกฝ้ายที่ เอาไว้มาทอผ้าเองอีก” (ปราณี เดชบำรุง, สัมภาษณ์ 2 กันยายน 2565)

นอกจากนี้ชุมชนยังมีการรวมกลุ่มกันเพื่อการประกอบอาชีพโดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีมาพัฒนาจนกลายเป็นสินค้าชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ประกอบด้วย 1) กลุ่มทอผ้า โดยประกอบด้วยกลุ่มย่อยสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมือง กลุ่มทอผ้าควบ และกลุ่มทอผ้าขิด แต่ละกลุ่มมีสมาชิกประมาณเจ็ดถึงแปดคน ดำเนินการผลิตผ้าตามความชำนาญของสมาชิกกลุ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้ที่มีความสนใจทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการหรือลูกค้าสั่งผ้าเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถผลิตได้ทัน สมาชิกของทุกกลุ่มก็สามารถช่วยกันทอผ้าดังกล่าวได้เนื่องจากมีความสามารถในการทอผ้าได้ทุกแบบอยู่แล้ว 2) กลุ่มอาหารพื้นบ้าน เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ เกี่ยวข้องกับอาหารพื้นบ้านของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำคั่วเนื้อคั่วปลาซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีผู้สนใจและสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก 3) กลุ่มตุงใยแมงมุม จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์และต่อยอดตุงใยแมงมุมซึ่งเป็นมรดกทาง วัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชุมชน นอกจากผลิตสินค้าดั้งเดิมของชุมชนแล้ว ยังประยุกต์ใช้ตุงใยแมงมุมในการทำสินค้ารูปแบบอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น พัด สร้อยคอ ปั่นปักผม เข็มกลัด และต่างหู เพื่อขายและมอบให้กับนักท่องเที่ยวเป็นของที่ระลึกอีก ด้วย ปัจจุบันกลุ่มตุงใยแมงมุมมีสมาชิกแปดคน สินค้าที่ขายได้ทางกลุ่มจะหักเงินไว้ประมาณร้อยละห้าของราคาสินค้าเพื่อนำเงินส่วนนี้ไปบริหารจัดการกลุ่ม เงินที่เหลือจากการหักดังกล่าวจะ จัดสรรให้กับสมาชิกอย่างเท่าเทียม 4) กลุ่มโฮมสเตย์ เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือน ชุมชนเซินเหนือหรือพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันมีโฮมสเตย์ที่เข้าร่วมกลุ่มจำนวนห้าราย 5) กลุ่มจักสาน เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการจักสาน และผลิตสินค้าขายให้กับผู้ที่มีความสนใจ 6) กลุ่มตัดเย็บ จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมผู้ที่มีความสามารถในการตัดเย็บให้รวมกลุ่มกัน เพื่อขายเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าซึ่งทอขึ้นโดยคนในชุมชน ประธานกลุ่มคือนางสร้อยทอง เพียสุระ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 17 คน ทางกลุ่มยังมีบริการตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับคนทั่วไปที่สามารถใช้ ผ้าของชุมชนหรือนำผ้ามาให้กลุ่มตัดเย็บก็ได้ สินค้าที่ขายได้ทางกลุ่มจะหักเงินร้อยละ 5-10 เพื่อ ใช้เป็นเงินสำหรับบริหารจัดการกลุ่ม 7) กลุ่มบายศรีเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบสานวัฒนธรรมการทำบายศรีของชุมชนเซินเหนือและทำบายศรีตามที่ลูกค้าต้องการ งานส่วนใหญ่ที่กลุ่มรับทำเป็นการทำบายศรีสำหรับใช้ในงานบุญประเพณีของชุมชน นอกจากนี้ยังมีการสอนนักท่องเที่ยวหรือนักเรียนให้ทำบายศรีด้วย

เครือข่ายการค้าขาย/แลกเปลี่ยนภายใน-ภายนอกชุมชน

ชุมชนเซินเหนือถือเป็นชุมชนที่มีเครือข่ายภายในชุมชนที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก จากการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ทั้งกลุ่มในทางเศรษฐกิจและสังคม แม้ว่าในแง่ของการบริหารจัดการและการผลิตสินค้าจะมีการแยกกัน แต่เมื่อใดก็ตามที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนหรือมีหน่วยงานต้องการเข้ามาศึกษาดูงานภายในชุมชน ผู้นำหรือกน นำของชุมชนจะจัดสถานที่และประสานงานให้แต่ละกลุ่มมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้ ผู้มาเยือนสามารถชม ซื้อสินค้า และฝึกทำได้ตามความสนใจ โดยแต่ละกลุ่มจะจัดเตรียมอุปกรณ์หรือ วัตถุดิบและกำหนดสมาชิกไว้คอยดูแล เช่น กลุ่มอาหารพื้นบ้านจะจัดเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบสำหรับ การประกอบอาหารเพื่อสอนให้ผู้ที่สนใจฝึกทำอาหารพื้นบ้าน ในขณะที่กลุ่มทอผ้าจะสาธิตวิธีการทอผ้า และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนได้ลองทอผ้าแบบง่าย ๆ เป็นต้น แต่ละกลุ่มมีสมาชิกตั้งแต่ เจ็ดคนขึ้นไป มีประธานกลุ่มทำหน้าที่ดูแลและประสานงานกับสมาชิกภายในกลุ่ม ทั้งนี้ ประธานกลุ่ม สามารถไปเป็นสมาชิกของกลุ่มอื่นได้เช่นเดียวกัน (ฐิติกร แก้วคำ, สัมภาษณ์ 19 สิงหาคม 2565) นอกจากนี้ชุมชนยังมีเครือข่ายภายนอกชุมชนที่เข้มแข็งเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาครัฐที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของทุนวัฒนธรรมในชุมชนและให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมและการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

การออกไปทำงานนอกชุมชน - การเข้ามาทำงานในชุมชนของคนต่างถิ่น

เนื่องจากพื้นที่ของชุมชนเซินเหนือมีค่อนข้างจำกัดและเกือบทั้งหมดนั้นเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งบ้านเรือน ผู้คนในชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยแรงงานจึงต้องออกไปทำงานภายนอกชุมชนไม่ว่าจะเป็นการทำงานในภาคเกษตรกรรมที่ต้องใช้พื้นที่เกษตรในเขตชมุชนอื่น หรือการเดินทางไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมใกล้เคียง รวมทั้งการไปทำงานในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบปี

กิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนาที่เกิดขึ้นในรอบปี

ประเภทกิจกรรมกิจกรรมคำอธิบายความสัมพันธ์และอิทธิพลต่อวิถีชีวิต
เกษตรกรรมข้าว (นาปี)ชาวบ้านเริ่มหว่านกล้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และทำการเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมครัวเรือนที่ทำการเกษตรหากมีสมาชิกย้ายถิ่นจะกลับมาเพื่อทำการเกษตรช่วยครัวเรือนของตนเอง
ข้าว (นาปรัง)ชาวบ้านเริ่มหว่านกล้าตั้งแต่เดือนธันวาคมและเริ่มทำการเก็บเก็บประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายนครัวเรือนที่ทำการเกษตรหากมีสมาชิกย้ายถิ่นจะกลับมาเพื่อทำการเกษตรช่วยครัวเรือนของตนเอง
อ้อยชาวบ้านที่ปลูกอ้อยมักปลูกอ้อนตลอดทั้งปีและตัดอ้อยไปขายในช่วงที่โรงงานเปิดหีบรับอ้อย
ถั่วเหลือง ข้าวโพด  ถั่วฟักยาว พริก ฟักเขียว มะเขือเปราะ ผักบุ้ง ขึ้นฉ่ายชาวบ้านที่มีพื้นที่สำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจและการบริโภคภายในครัวเรือนสามารถปลูกพืชเหล่านี้ได้ตลอดทั้งปี
เก็บเห็ดชาวบ้านสามารถเก็บเห็ดตามพื้นที่ป่าสาธารณะบริเวณใกล้เคียงกับชุมชนในช่วงเดือนมิถุนายน
เก็บไข่มดแดงชาวบ้านสามารถเก็บไข่มดแดงได้ประมาณเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
เก็บผักหวานชาวบ้านสามารถเก็บผักหวานได้ประมาณเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
หาหน่อไม้ชาวบ้านสามารถหาหน่อไม้ได้ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม
หากบ-เขียดชาวบ้านสามารถหากบ-เขียดได้ตลอดทั้งปี
สินค้าชุมชนหัตถกรรมของชุมชนชาวบ้านที่มีทักษะด้านการหัตถการที่แตกต่างกันจะใช้เวลาว่างในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง ซึ่งสามารถทำได้ตลอดทั้งปี เช่น กระติ๊บข้าว หวด การทำครื่องดนตรี ทอผ้า การทำดอกไม้ประดิษฐ์ ตุงใยแมงมุม
การออกร้านขายสินค้าชาวบ้านโดยการนำของกลุ่มโอทอปนวัตวิถีของชุมชนร่วมกับกลุ่มที่รวมตัวกันทำกิจกรรมทางภูมิปัญญาของชุมชน โดยส่วนใหญ่ชุมชนจะมีการวางสินค้าขายตลอดทั้งปีประจำอยู่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านเซินเหนือหมู่ที่ 2 แต่จำมีการจัดขายสินค้าพิเศษในช่วงเทศกาลตรุษไท เดือนมีนาคม ออกขายสินค้านอกสถานที่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และออกขายสินค้าที่เทศกาลงานไหมจังหวัดขอนแก่นช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมเป็นการสร้างโอกาสด้านรายได้ให้กับชุมชน หากมียอดขายสินค้าที่มาก ส่งผลให้ชาวบ้านที่ทำสินค้าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนมกำลังใจในการทำต่อไป
การท่องเที่ยวชุมชนชุมชนจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาตลอดทั้งปี แต่จะมีนักท่องเที่ยวมาจำนวนมากในช่วงเทศกาลสำคัญของชุมชนการท่องเที่ยวชุมชนถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน อีกทั้งยังทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักต่อสังคมภายนอกได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายทางสังคมให้กับชุมชนอีกประการหนึ่ง
บุญประเพณีประจำปี (ความเชื่อตามศาสนาพุทธ)

บุญเข้ากรรม

(เดือนอ้าย)

การชําระมลทินที่ได้ ล่วงละเมิดพระวินัย ชาวบ้านจะเตรียมอาหาร หวานคาวนําไปถวายพระภิกษุเช้าและเพลชาวบ้านที่นําอาหารไปถวายพระภิกษุในระหว่างที่เข้ากรรมอยู่นี้เชื่อว่าจะทำให้ได้บุญกุศลมาก

บุญคูนลาน

(เดือนยี่)

จัดขึ้นหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวโดยชาวบ้านจะนำผลผลิตของตนมาทำบุญชาวบ้านจะนำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ไปทำบุญะเพื่อให้ผลผลิตในปีถัดไปมากขึ้น

บุญข้าวจี่

(เดือนสาม)

บุญประเพณีที่เกิดขึ้นจากความสามัคคีและความร่วมแรงร่วมใจกันของชุมชนเสริมสร้างสำนึกร่วมความเป็นชุมชนของชาวบ้านในชุมชนเซินเหนือ
บุญเผวด (เดือนสี่)ความเชื่อของชาวอีสานที่ว่าหากผู้ใด ได้รับฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรี อริยเมตไตยชาวบ้านจะร่วมกันเตรียมงานและเข้ามาร่วมประเพณีภายใต้ความเชื่อที่ว่าจะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรี อริยเมตไตย

บุญสงกรานต์

(เดือนห้า)

วันขึ้นปีใหม่ของคนใน อีสานมาตั้งแต่โบราณ บุญเดือนห้านี้จัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 5ชาวบ้านจะร่วมกันทำกิจกรรมตามประเพณีของชุมชน เช่น การก่อเจดีย์ทราย การทำตุงใยแมงมุมประดับวัด ถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

บุญบั้งไฟ

(เดือนหก)

ประเพณีที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับพญาแถน เมื่อถึงเดือน หกชาวบ้านจะจุดบั้งไฟเพื่อบูชาและขอให้ฝนต้องตามฤดูกาลประเพณีดังกล่าวจะจัดร่วมกันกับชุมชนในเขตเทศบาลตำบลภูผาม่าน ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของเครือข่ายชุมชนใกล้เคียง

บุญเบิกบ้าน

(เดือนเจ็ด)

ประเพณีที่เกิดจากความเชื่อที่ว่าชาวบ้านจะต้องชำระล้างจิตใจให้ใสสะอาดชาวบ้านจะนำภัตตาหารมาถวายพระภิกษุสงฆ์และร่วมกันฟังเทศน์ที่วัด

บุญเข้าพรรษา

(เดือนแปด)

ประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่คล้ายคลึงกับภาคกลางชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญตักบาตรและถวายผ้าอาบน้ำฝน จีวร และเทียนพรรษา

บุญข้าวกระยาสารท

(เดือนสิบ)

ประเพณีที่จัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10สำหรับชุมชนเซินเหนือบุญเดือนสิบมีความสำคัญมาก ในวันงานจะมีชาวบ้านทั้งที่อยู่ในชุมชน และที่ย้ายไปอยู่ถิ่นอื่นมาร่วมเป็นจำนวนมาก

บุญออกพรรษา

(เดือนสิบเอ็ด)

ประเพณีที่ให้พระภิกษุสงฆ์แสดงอาบัติและว่ากล่าวตักเตือนกันชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญและกิจกรรมทางศาสนาอื่น ๆ ที่วัดเฉลียงทอง

บุญกฐิน

(เดือนสิบสอง)

ประเพณีที่กำหนดให้ทำได้เฉพาะในช่วงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ตามความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าผู้ที่ได้ร่วมทำบุญกฐินจะไม่ตกนรกและผลบุญที่ได้จากบุญกฐินในชาตินี้จะส่งผลถึงชาติหน้าคนเซินเหนือไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกชุมชนจะกลับมาร่วมบุญกฐินกับครอบครัวและชุมชน สำหรับชุมชนเซินเหนือบุญกฐินได้รับความสนใจจากผู้คนทั้งในและนอกชุมชนเป็นอย่างมาก ถือเป็นงานบุญที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนเพื่อใช้บูรณะวัดเฉลียงทองซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน
บุญประเพณีประจำปี (ความเชื่อของชุมชน)ประเพณีตรุษไทภูผาม่านการจัดประเพณีตรุษไทภูผาม่านเป็นการเฉลิมฉลอง ส่งท้ายที่เก่าต้อนรับปีใหม่ตามแบบโบราณ มีการสวดอาฎานาฏิยสูตรเพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นในหมู่บ้าน โดยจะจัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4คนเซินเหนือรวมทั้งชาวไทภูผาม่านทุกคนเมื่อถึงช่วงตรุษไทภูผาม่านจะเดินทาง กลับมายังถิ่นฐานของตนเองเพื่อร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ ผู้ที่มาร่วมงานจะสวมชุดไทภูพร้อมทั้ง เครื่องประดับในวันงาน อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วย ตรุษไทภูผาม่านจึงถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการสร้างและรักษาเครือข่ายให้กับชุมชน พร้อมทั้งเป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชาวไทภู และสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการท่องเที่ยวได้
ประเพณีบูชาเจ้าแม่นางเทียมการบูชาแม่นางเทียมเป็นประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชุมชนเซินเหนือเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษทั้งที่ยังคงมีชีวิตและล่วงลับไปแล้วและเพื่อแสดงความ เคารพบูชาผีบ้านผีเมือง ประเพณีดังกล่าวถูกจัดปีละสองครั้ง กล่าวคือ ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 และขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6คนในชุมชนเชื่อว่าหากจัดงานบูชาเจ้าแม่นางเทียมในวันที่ตรงกับข้างขึ้นผู้ที่มาร่วมงานจะเจริญยิ่งขึ้น เป็นประเพณีที่ชาวบ้านเซินเหนือทุกคนจะต้องมาร่วม
ประเพณีสักการะหลวงปู่ลีประเพณีการสักการะหลวงปู่ลีซึ่งเป็นพระเถระที่คนในพื้นที่ภาคอีสานให้ความเคารพและศรัทธา หลังจากที่ท่านได้มรณภาพ ชุมชนเซินเหนือได้หล่อเทียนเป็นรูปหลวงปู่ลี เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะบูชาหลวงปู่ลีเป็นอีกสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญของชาวบ้านในชุมชนในยามที่ประสบปัญหาสามารถมาขอพรให้หลวงปู่ลีช่วยเหลือได้
ประเพณีการตักบาตรข้าวเหนียวสองจังหวัด ณ สะพานบุญพลาประเพณีดังกล่าวเป็นการประกอบสร้างมาจากฐานของประเพณีตักบาตรดั้งเดิม ก็เพื่อส่งเสริม การท่องเที่ยวภายหลังจากชุมชนได้รับการคัดเลือกให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีประเพณีนี้ถือเป็นจุดขายหนึ่งที่ดึงความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างผู้คนในอำเภอคอนสาร และผู้คนในอำเภอภูผาม่าน
ประเพณีแห่น้ำประเพณีแห่น้ำเป็นประเพณีที่จัดคล้ายกับการอุปสมบทหมู่ หากชาวบ้านคนใดไม่มี ญาติที่จะบวช หรือต้องการบวชแต่ไม่มีทุนทรัพย์ รวมทั้งไม่มีญาติที่จะรับผิดชอบในส่วนนี้ประเพณีดังกล่าวถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มของผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการจัดงานแต่มีความต้องการบวช ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างสำนึกร่วมของความเป็นชุมชนเซินเหนือได้เป็นอย่างดี

1.นางจันทร์ บุญชำนาญ 

อายุ : 72 ปี

ความชำนาญ : บายศรี/กระทงไทภู

นางจันทร์ บุญชำนาญ (บุญเกษม: นามสกุลเดิม) เดิมเกิดที่อำเภอคอนสาร เมื่อ พ.ศ. 2494 เป็นบุตรสาวคนรอง มีพี่น้อง 4 คน ซึ่งชื่อแรกตั้งแต่เกิดมาเธอชื่อจันทร (จัน-ทร) แต่เมื่อเดินทางไปทำบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าหน้าที่เกิดความเข้าใจผิดว่าเธอสะกดชื่อผิดจึงสะกดชื่อจันทรเป็นจันทร์และใช้ชื่อดังกล่าวมากระทั่งปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2504 ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านเซินเหนือและเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านโนนคอม จนกระทั่งจบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2508 จากนั้น พ.ศ. 2517 แต่งงานและมีบุตรชายคนแรกชื่อ “ทศพร” และมีบุตรชายคนที่สองชื่อ “อนุชิต” ในขณะที่ให้กำเนิดบุตรชายคนที่สองนี้เองแม่จันทร์ได้เกิดความสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการทำบายศรีและการทำกระทงไทภู โดยแรกเริ่มแม่จันทร์ไม่กล้าที่จะทำบายศรีเพราะเกรงว่าตนเองทำไม่สวยงามตามที่คนโบราณสอน แต่เมื่อมีคนเริ่มชมบายศรีของแม่จันทร์ เธอจึงเกิดความมั่นใจในการทำบายศรีเพิ่มมากขึ้น

พ.ศ. 2535 แม่จันทร์ได้อพยพย้ายถิ่นไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯร่วมกับชาวบ้านในชุมชน โดยได้รับค่าแรง 85 บาท/วัน ซึ่งตอนนั้นลูกคนที่สองของเธอมีอายุประมาณ 18 ปี อย่างไรก็ตามการย้ายถิ่นไปทำงานในกรุงเทพฯของแม่จันทร์ไม่ได้เป็นการย้ายถิ่นถาวร เพราะในฤดูกาลทำนาแม่จันทร์จะกลับมาร่วมทำกิจกรรมทางการเกษตรกับครอบครัวและชุมชน จนกระทั่งหมดฤดูกาลทำนาแม่จันทร์จึงจะเดินทางกลับไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯเช่นเดิม การดำเนินชีวิตของแม่จันทร์ดำเนินไปตามลักษณะข้างต้นประมาณ 2 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2537 แม่จันทร์จึงตัดสินใจกลับมายังบ้านเซินเหนือและเดินทางไปทำงานที่โรงงานผลไม้กระป๋องกับสามี ซึ่งขณะนั้นแม่จันทร์มีอายุประมาณ 53 ปี และทำงานอยู่ที่โรงงานผลไม้กระป๋องได้ประมาณ 3 ปี ด้วยค่าแรง 105 บาท/วัน ด้วยทักษะการทำงานที่เป็นคนมีระเบียบและรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี ใน พ.ศ. 2540 จึงได้รับการชักชวนจากเจ้าของโรงงานให้เข้ามาทำงานในตำแหน่งแม่บ้านด้วยค่าแรง 100 บาท/วัน จนกระทั่งเก็บเงินได้ประมาณ 400,000 บาทจึงนำไปซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านจนแล้วเสร็จเมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี เมื่อ พ.ศ. 2547 แม่จันทร์และสามีจึงตัดสินใจย้ายถิ่นกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านเซินเหนือ เนื่องจากความชราและการสร้างบ้านที่เสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นแม่จันทร์จึงกลับมาฝึกทำบายศรีและยึดการทำบายศรีเป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว

เมื่อ พ.ศ. 2549 เกิดจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญในชีวิตของแม่จันทร์และสามี จากการทักท้วงของพระอาจารย์ที่ทั้งคู่นั้นนับถือ ภายหลังจากสามีของแม่จันทร์ประสบอุบัติเหตุขณะรับจ้างตัดอ้อย ส่งผลให้สามีของแม่จันทร์ร่างกายไม่แข็งแรงและขยับร่างกายไม่ได้ครึ่งซีก พระอาจารย์จึงแนะนำให้ทั้งสองคนไปบวชพร้อมทั้งกล่าวว่าในอดีตชาติของทั้งสองคนได้บวชมาเหตุชาตินี้จึงจะไม่ได้บวช ทั้งสองคนจึงตัดสินใจบวชที่อำเภอวังสะพุงประมาณ 4 เดือน โดยพ่อเลื่อน (สามี) บวชเป็นพระภิกษุ และแม่จันทร์บวชเป็นภิกษุณี ภายหลังจากสึกกลับสู่ทางโลกทั้งสองคนจึงมีชีวิตที่ดีขึ้นสุขภาพร่างกายเริ่มกลับมาแข็งแรงและกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านเซินเหนือและยึดอาชีพการทำบายศรีเป็นอาชีพหลักจนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2566)

ทุนวัฒนธรรม: ชุมชนเซินเหนือมีทุนวัฒนธรรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่ผ่านการสั่งสมและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมา ตั้งแต่สมัยโบราณ คนในชุมชนแห่งนี้ได้ใช้ทุนวัฒนธรรมดังกล่าวมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้าง รายได้ให้กับคนในชุมชน รวมทั้งใช้ในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ “คนไทภู” ประกอบด้วย

1. “ผ้า” คนในชุมชนแห่งนี้ใช้ผ้าในโอกาส ต่าง ๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน พิธีกรรม งานบุญประเพณีตลอดจนในโอกาสอื่น ๆ ของชุมชน อำเภอ จังหวัด และที่อื่น ๆ และมีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำผ้าจากรุ่นสู่รุ่น โดยการสอนและฝึกฝนทักษะภายในครัวเรือนภายใต้ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงจะต้องทอผ้าเป็น จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนของผู้วิจัย ทำให้พบว่าผ้าเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญและเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชุมชนเซินเหนือ ดังจะเห็นได้จากเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้าซึ่งถูกจัดแสดงอยู่บริเวณลานวัฒนธรรม ณ วัดเฉลียง ทอง รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวเรื่องการนำกวักและไซผูกไว้กับเสาเอกในยามสร้างบ้าน ในมุมมองของชาวบ้านกวักเป็นสัญลักษณ์ของการกวักเงินกวักทอง ส่วนไซเป็นสัญลักษณ์ของการมีโชค ปัจจุบัน ผ้าทอของคนเซินเหนือได้กลายเป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่นำรายได้มาสู่คนในชุมชน รวมทั้งมีการนำผ้าทอลักษณะต่าง ๆ ของชาวเซินเหนือมาประกอบสร้าง “ชุดไทภู” ให้เป็นอัตลักษณ์สำคัญไม่เพียงแต่ของชาวเซินเหนือเท่านั้น แต่ยังเป็นอัตลักษณ์ของคนในอำเภอภูผาม่านด้วย ผ้าทอที่พบเห็นได้ทั่งไปในชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ 

  • 1) ผ้าควบ เป็นผ้าทอโบราณที่เรียบง่าย ไม่มี ลวดลาย แต่แฝงด้วยความประณีตและงดงาม เทคนิคที่ใช้ในการเตรียมเส้นด้ายสำหรับทอผ้าชนิดนี้ เรียกว่า “การควบเส้น” ซึ่งหมายถึงการเอาด้ายสองเส้นเข็นสลับกันเพื่อให้เกิดมิติของความสวยงามและ เกิดความมันวาวของผ้ายิ่งขึ้น ในอดีตเส้นด้ายที่นำมาทอเป็นผ้าควบเป็นเส้นไหมซึ่งคนในชุมชนเลี้ยงไหมเอง สีที่นิยม ได้แก่ แดง เขียว ม่วง และเม็ดมะขาม ซึ่งเป็นการย้อมด้วยสีธรรมชาติ ผ้าควบที่ทอด้วยไหมมักใช้นุ่งห่ม ภายในครัวเรือนหรือสวมใส่ในงานบุญประเพณีในปัจจุบันการทอผ้าควบนิยมใช้เส้นด้ายโทเรแทนเส้นไหม ซึ่งนอกจากทอเพื่อใช้เองแล้วยังทอขายให้กับคนในชุมชนเซินเหนือ ชุมชนใกล้เคียง และคนทั่วไปที่สนใจ 
  • 2) ผ้าขิด เป็นผ้าที่ทอขึ้นและสร้างลายด้วยวิธีการที่เรียกว่า "ขิด" ซึ่งมาจากคำว่า "สะกิด" หมายถึง การงัดซ้อนขึ้นหรือสะกิดซ้อนขึ้นเพื่อทำลวดลาย ในอดีตชุมชน เซินเหนือมีการทอผ้าขิดขนาดใหญ่เมีหน้ากว้างประมาณเจ็ดถึงแปดเซนติเมตรไว้ใช้สำหรับการทำปลอก หมอน ทำผ้ารองที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ผ้าหลบบ่อน” โดยทอเป็นลายโบราณ ได้แก่ ลายกระทงไทภู ลาย ดอกแก้ว ลายขันหมากเบง ลายดอกหัง (ลายต้นจิกต้นหัง) และลายโคมห้า ในปัจจุบันที่เซินเหนือไม่ได้ทอ ลายขันหมากเบง ลายดอกหัง และลายโคมห้าแล้วเนื่องมีขนาดใหญ่เหมาะสำหรับการทำหมอนหรือผ้ารองเท่านั้น ภายหลังได้มีการปรับลวดลายขิดดั้งเดิมเป็นลายดอกแก้วและลายกระทงไทภูซึ่งแตกต่างจากลวดลายดั้งเดิม กล่าวคือ ลายดอกแก้วและลายกระทงไทภูจะมีขนาดเล็กประมาณสองถึงสามเซนติเมตร และมีลวดลายดอกมากกว่าตัวลายขิดแบบเดิม
  • 3) ผ้าฝ้ายสีพื้น มีวัตถุดิบหลักคือฝ้ายซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยที่ต้องนำมาปั่นหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “การเข็น” จนกลายเป็นเส้นด้ายพร้อมที่จะนำมาทอเป็นผ้าฝ้ายต่อไป ในอดีตคนในชุมชนเซินเหนือปลูกฝ้ายภายในบริเวณตัวบ้านเพื่อรอเก็บเกี่ยวและนำมาแปรรูปต่อ ในปัจจุบัน มีการปลูกฝ้ายไว้ที่ที่นาของตน และจ้างคนที่มีเครื่องปั่นฝ้าย “อิ่ว” หรือทำเป็นเส้นด้ายให้หลังจากเก็บฝ้ายแล้วคนในชุมชนมักเก็บเมล็ด พันธุ์บางส่วนไว้เพื่อใช้สำหรับการปลูกต้นฝ้ายในโอกาสต่อไป ผ้าฝ้ายในชุมชนเซินเหนือนอกจากจะทอเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลายแล้ว ยังทอ เป็นลายน้ำไหลซึ่งแม่สายตรีทอเส้นฝ้ายสีขาวสลับกับเส้นฝ้ายสีน้ำตาลเกิดเป็นลายที่ดูเหมือนน้ำที่กำลังไหล สิ่งที่ยากและใช้ทักษะมากที่สุด คือ การเตรียมเส้นฝ้าย เนื่องจากมีวิธีการหลายขั้นตอนกว่าจะเป็นเส้นฝ้ายที่พร้อมสำหรับการทอผ้า อย่างไรก็ตาม เพื่อลดขั้นตอนในการทอผ้าฝ้ายและประหยัดแรงงานในการผลิต  ในปัจจุบัน ผู้ที่มีเงินทุนสามารถจ้างคนที่มีเครื่องปั่นฝ้ายให้เตรียมเส้นฝ้ายได้
  • 4) ผ้าประเภทอื่น ๆ นอกจากผ้าควบ ผ้าขิด และฝ้ายพื้นเมืองแล้ว ยังมีการทอผ้าขาวม้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ ได้รับความนิยมจากผู้มาเยือนเซินเหนือและลูกค้าภายนอกชุมชน ต่อมาแม่ปราณี เดชบำรุง ประธานกลุ่ม ทอผ้าควบได้เริ่มนำทักษะในการทอผ้าขาวม้ามาทดลองทอผ้าพันคอ และพัฒนาลายและสีจนลงตัว ทำให้ เมื่อใดก็ตามที่ไปออกร้านเพื่อขายสินค้าในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคและส่วนกลาง สินค้าที่ได้รับความนิยมและขายได้มากที่สุดคือผ้าพันคอเนื่องจากมีราคาที่เข้าถึงง่ายและมีความสวยงาม ทำให้ผ้าพันคอของ เซินเหนือเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปซึ่งมักเรียกผ้าพันคอดังกล่าวว่า “ผ้าพันคอครูสลา” ตามชื่อนักแต่งเพลงที่ มีชื่อเสียงซึ่งมักมีผ้าพันคอคล้องคออยู่เสมอ ในปัจจุบันมีผู้สนใจและสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก 

จากที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าผ้าทอมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจ ประการสำคัญ คือ ผ้าทอได้กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญซึ่งชุมชนนำมาผลิต สินค้าของชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งนำมาทำเป็นเครื่องแต่งกายเพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของการเป็น ชาว “ไทภู” ด้วยเช่นกัน แม้ว่าสถานภาพปัจจุบันของผ้าทอในชุมชนเซินเหนือจะเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในมิติของการดำเนินชีวิตและระบบเศรษฐกิจก็ตาม แต่ในแง่ของการสืบทอดและถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่นั้นยังถือเป็นปัญหาที่สำคัญของชุมชนที่ต้องเผชิญ ส่งผลให้ผ้าทอในชุมชนอาจไม่ได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่องและเป็นเพียงมรดกทางวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่ในอนาคต

2. การแต่งกาย ในอดีตชุมชนเซินเหนือแต่งกายในชีวิตประจำวันด้วยเสื้อพื้นเมืองที่ทำจากผ้าฝ้ายรูปแบบ เรียบง่ายและมีความทนทานเนื่องจากต้องทำงานในไร่นาเป็นหลัก หากเป็นโอกาสพิเศษของครอบครัว หรือชุมชน และในช่วงเทศกาลหรืองานบุญประเพณี ผู้หญิงมักสวมเสื้อผ้าไหมสีขาวพาดด้วยสไบผ้าไหมมี ขาวเช่นกัน และนุ่งซิ่นควบซึ่งสีม่วง สีเขียว สีเม็ดมะขาม และสีหมากสุก บางคนนุ่งซิ่นที่เป็นผ้าไหมมัดหมี่ ส่วนผู้ชายนุ่งเสื้อผ้าไหมสีขาวไม่มีปกเสื้อกับโสร่งผ้าไหมหรือกางเกงผ้าฝ้ายทรงหลวมคล้ายกางเกงขาก๊วย สำหรับนักเรียนก็แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองไปโรงเรียนในบางโอกาส ซึ่งการรแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาวไทภูในปัจจุบันใช้ผ้าฝ้ายในการทำเสื้อและซิ่นเป็นส่วนใหญ่ มีการใช้ผ้าขิดมาตกแต่งเสื้อเพื่อให้มีความโดดเด่น ส่วนผ้าซิ่นถึงแม้ว่าจะมีหลากสีดังที่ได้กล่าวไป ข้างต้น แต่สีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือสีหมากสุกเนื่องจากเป็นสีที่สะดุดตาจึงถูกเลือกให้เป็นสีของซิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุด “ไทภู” ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นภายหลังจากที่ภูผาม่านถูกยกฐานะเป็นอำเภอ

การแต่งกายในชุดไทภูนี้มักแต่งในพิธีทางศาสนาและกิจกรรมที่สำคัญของชุมชน ในปัจจุบันการแต่งกายในงานบุญประเพณีต่าง ๆ คนในเซินเหนือสามารถแต่งกายตามแบบดั้งเดิมหรือใส่ชุดไทภูได้ตามความชอบ แต่ในช่วงประเพณีตรุษไทภูผาม่านคนในชุมชนแห่งนี้และชุมชนอื่น ๆ ของอำเภอภูผาม่านจะพร้อมใจกันใส่ชุดไทภูผู้ชายจะใส่เสื้อแขนยาวหรือสั้นไม่มีปกเสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าไหมหรือฝ้ายสีขาวประดับด้วยผ้าขิด ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อแขนยาวหรือสั้นผ้าไหมหรือ ฝ้ายสีขาวตกแต่งประดับด้วยลายขิดไทภูเช่นกัน รวมทั้งห่มผ้าสไบและนุ่งซิ่นสีหมากสุก บางคนติดเข็มกลัด ที่สไบและตกแต่งผมด้วยปิ่นปักผมที่ประยุกต์มาจากตุงใยแมงมุมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่อันโดดเด่นของชุมชน การแต่งกายในลักษณะดังกล่าวยังพบเห็นได้ในโอกาสที่คนในเซินเหนือไปร่วมงานที่จัดโดยหน่วยงาน ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและที่อื่น ๆ สะท้อนให้เห็นว่าการแต่งกายของชาวไทภูมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตขึ้นอยู่กับบริบทและช่วงเวลาของกิจกรรมที่ต้องการสวมใส่ แม้ว่าการแต่งกายของความไทภูจะมีความแตกต่างกันในแต่ละกิจกรรมแต่การแต่งกายนี้ยังคง้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชาวไทภูในแง่ของการสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนให้สังคมภายนอกได้รับรู้ถึงความเป็นไทภู

3. เฮือนไทภู ถือเป็นทุนวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญและมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวไทภู เฮือนไทภูเป็นบ้านโบราณที่คนในชุมชนพยายามอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของคนในชุมชน ปัจจุบันเหลือเฮือนไทภูเพียงหลังเดียวที่ยังคงลักษณะการสร้างบ้านตามรูปแบบของบ้านไทภูแบบเดิม เนื่องจากเป็นบ้านที่สร้างมานานแล้ว ส่งผลให้สภาพของเฮือนไทภูดังกล่าวเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าสภาพเฮือนไทภูดังกล่าวค่อนข้างทรุดโทรมแต่ยังสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ ผู้ที่อาศัยอยู่ภายในบ้านหลังนี้เป็นลูกหลานรุ่นที่สี่ของตระกูล ในการสร้างบ้านของคนในสมัยอดีตจะไม่ใช้ตะปูสำหรับการตอกไม้เข้าด้วยกัน เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่ได้มีตะปูแต่ใช้วิธีทำไม้เป็นลิ่มแล้วนำมาวางขัดกัน ด้วยเหตุนี้เฮือนไทภูแบบเดิมจะไม่มีตะปูปรากฏแม้แต่ดอกเดียว

4. ตุงใยแมงมุม ถือเป็นทุนวัฒนธรรมที่ชุมชนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนในชุมชนเชื่อว่าตุงใยแมงมุมเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องผู้คนและชุมชนจากสิ่งที่ชั่วร้าย ดังนั้นชาวบ้านจึงนิยมทำตุงใยแมงมุมเพื่อประดับอาคารบ้านเรือน และใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงการนำมาทำเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว แต่ในปัจจุบันตุงใยแมงมุมนี้มีการประยุกต์รูปแบบวิธีการทำไปจากเดิมมาก โดยวัสดุที่ใช้ในการทำตุงใยแมงมุมในอดีตและปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในอดีตจะใช้ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติหรือด้ายโทเรทำตุงใยแมงมุม แต่ในปัจจุบันเพื่อให้ตุงใยแมงมุมมีสีสันสะดุดตา และสวยงามยิ่งขึ้นชาวบ้านจึงใช้ไหมพรมในการทำตุงใยแมงมุมแทนวัสดุเดิมดังที่บรรพบุรุษเคยใช้ ถึงแม้วัสดุที่ใช้ทำจะเปลี่ยนไปแต่ยังคงสีสันตามแบบเดิม

5. อาหารพื้นบ้าน ชุมชนเซินเหนือมีภูมิปัญญาด้านอาหารที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากอาหารของคนอีสานทั่วไป นั่นคือ “คั่วเนื้อคั่วปลา” คนในชุมชนเล่าสืบต่อกันมาว่าคั่วเนื้อคั่วปลาเกิดจากการ ที่ชาวบ้านเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์หรือหาเนื้อปลามาปรุงอาหารในช่วงประเพณีหรืองานบุญของชุมชน ระหว่าง ทางกลับจากการล่าสัตว์หรือหาปลามีระยะทางที่ค่อนข้างไกล จึงย่างเนื้อและปลาเหล่านั้นไว้เพื่อไม่ให้ เนื้อสัตว์ที่หามาได้เน่าเสียก่อนถึงหมู่บ้าน เมื่อกลับมาถึงหมู่บ้านจึงนำเนื้อสัตว์และปลาที่ย่างมาปรุงรสจน กลายเป็นคั่วเนื้อคั่วปลาและสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน จนกระทั่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีชื่อเสียงและสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน

6. กระทงไทภู มีลักษณะคล้ายบายศรีแต่ไม่มียอดเหมือนบายศรีทำไว้ใช้งานบุญประเพณีของชุมชน กระทงไทภูทำมาจากกาบกล้วยตัดเป็นวงกลมในลักษณะเดียวกับฐานของกระทง ชาวบ้านจะวาง ดอกไม้ ข้าวต้ม ธูป เทียน อาหารคาวหวาน ไว้ในกาบกล้วยที่ตัดเป็นวงกลมดังกล่าวเพื่อนำไปวางไว้ที่วัด ในช่วงงานบุญประเพณีลอยกระทงออกพรรษา ต่อมากระทงไทภูถูกพัฒนาให้มีการตกแต่งด้วยใบตองที่พับเป็นกลีบเพื่อความสวยงาม หลังจากที่เซินเหนือได้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัติวิถี ได้มีกิจกรรมสอนให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนทำบายศรีและกระทงไทภู

7. วัดเฉลียงทอง เป็นสถานที่สำคัญที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของชาวบ้านในชุมชนวัดเฉลียงทอง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมทางศาสนาและงานบุญประเพณีต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ด้วยเหตุนี้ วัดเฉลียงทองจึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของผู้ที่มาเยือนชุมชนเซินเหนือเพื่อมาชมและถ่ายรูปกับต้นเฉลียงทองซึ่งมีอายุกว่า 200 ปีมา สักการะรูปปั้นหลวงปู่ลีที่วิหารหลวงปู่ลีซึ่งคนในชุมชนเชื่อว่าหากผู้ใดที่เข้ามาเยี่ยมเยือนและขอพรจาก หลวงปู่ลีท่านจะปกปักรักษาให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง มาร่วมกิจกรรมหรืองานบุญ ประเพณี หรือมาเยี่ยมชมลานวัฒนธรรมซึ่งมีการจัดแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นอันสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบวิถีชีวิตของคนเซินเหนือในอดีต เป็นสถานที่ซึ่งเปี่ยมไปด้วยคุณค่าสำหรับชาวชุมชนวัดเฉลียงทองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ทุนมนุษย์: ชุมชนเซินเหนือเป็นชุมชนที่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทั้งผู้นำทางการ คือ ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำทางจิตวิญญาณ คือ เจ้าอาวาสวัดเฉลียงทอง รวมถึงปราชญ์ชุมชนที่มีทักษะที่เชี่ยวชาญในภูมิปัญญาอันโดดเด่นของชุมชน เช่น การทอผ้าขิด การทำคั่วเนื้อคั่วปลา การทำตุงใยแมงมุม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชนสามารถดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นจากการนำของกลุ่มผู้นำชุมชนที่มีความสามารถ

ทุนสังคม: ชุมชนเซินเหนือเป็นชุมชนที่มีเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งทั้งภายในชุมชน ผ่านการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่ม โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ชุมชนเซินเหนือมีเครือข่ายระหว่างชุมชน และเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เข้มแข็ง ทำให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนทั้งในมิติสังคมผ่านการช่วยเหลือจากชุมชนรอบข้าง และในมิติทางเศรษฐกิจจากหน่วยงานที่ข้องที่นำเงินทุนมาสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของชุมชน เช่น พัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น เทศบาลตำบลภูผาม่าน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เป็นต้น

ทุนกายภาพ: ชุมชนเซินเหนือเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่อในที่ราบลุ่มต่ำของอำเภอภูผาม่านซึ่งมีภูเขาหินปูนตั้งตระหง่านจนทำให้ทัศนียภาพของพื้นที่แถบนี้สวยงามแปลกตาจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอภูผาม่าน มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ในชุมชนยังมีต้นเฉลียงทอง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สำคัญของชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้เป็น “รุกขมรดกของแผ่นดิน” จากทุนธรรมชาติที่ชุมชนมีทำให้ชาวบ้านมีโอกาสในด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น จากการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และการมีรายได้จากการเข้ามาเยือนของนักท่องเที่ยว

ภาษาไทภูหรือภาษาไทภูผาม่านเป็นภาษาถิ่นซึ่งมีน้ำเสียง สำเนียง และคำศัพท์ที่แตกต่างจาก ภาษาอีสาน ภาษาถิ่นดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากภาษาของลาวเทิงอันเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มชาติพันธุ์ ของชาวไทภู คนส่วนใหญ่ในชุมชนยังคงติดต่อสื่อสารกันด้วยการใช้ภาษาไทภูอย่างไรก็ตาม การที่มีผู้คนที่ มีภูมิหลังทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันมาอาศัยอยู่ในชุมชนเซินเหนือทำให้สำเนียงภาษาไทภูผิดเพี้ยนไป พอสมควร (ชุติมณฑน์ แซ่เตียว และคณะ, 2561) ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพ่อฐิติกร ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเซินเหนือ ที่ชี้ว่าคนในแต่ละพื้นที่มีสำเนียงพูดที่ต่างกัน แม้แต่ภาษาที่คนเซินเหนือพูดก็ เริ่มเพี้ยนไปบ้าง “ที่หลงเหลืออยู่ก็คือภาษาครับ ถ้าอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยก็จะพูด แบบผมก็คือไทเลย ผ่านอำเภอนครไทยก็จะพูดแบบผม หล่มสักก็จะพูดแบบเพี้ยน ๆ ไปนิดนึง แล้วก็ทางคอนสารก็จะพูด คล้าย ๆ กัน แต่ภาษามันก็จะเพี้ยนไปอยู่เหมือนกันครับ” (ฐิติกร แก้วคำ, สัมภาษณ์ 2 กันยายน 2565)



สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนเซินเหนือและชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศอย่างรุนแรงคงหลีกหนีไม่พ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การแพร่ระบาด ที่มีความรุนแรงส่งผลให้เซินเหนือซึ่งได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีไม่สามารถจัดกิจกรรม และรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ได้ ทำให้ชุมชนขาดโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและต้องพยายามแสวงหาช่องทางอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ครัวเรือนและชุมชน


การเปลี่ยนทางด้านสังคมและวัฒนธรรมส่งผลต่อการธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชุมชน คือ ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการสืบสารมรดกทางวัฒนธรรม เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่ต้องเรียนหนังสือหรือบางส่วนเดินทางไปเรียนหรือทำงานในต่างพื้นที่ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ที่ยังอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นเด็กและผู้สูงอายุ ชาวบ้านจึงมีความต้องการให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งต้องการให้เยาวชนที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้ช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชุมชน

นอกจากนี้กลุ่มทางสังคมของชุมชนบ้านเซินเหนือบางกลุ่มยังคงประสบ ปัญหาการประสานงานเพื่อให้สมาชิกภายในกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง การที่สมาชิกของกลุ่มมี ภาระหน้าที่แตกต่างกันทำให้การบริหารจัดการเพื่อให้สมาชิกทุกคนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้เป็นสิ่งท้าทายสำหรับกลุ่ม


สืบเนื่องจากพื้นที่ตั้งของชุมชนเซินเหนือยังประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากที่ตั้งเป็นที่ราบลุ่มต่ำ และตั้งอยู่ติดกับลำน้ำเชิญ เมื่อเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง น้ำในลำน้ำเชิญมักเอ่อล้นจนท่วมบริเวณ ชุมชน ทั้งนี้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงมาก เมื่อเกิดน้ำท่วมน้ำก็จะลดลงค่อนข้างเร็วในด้านของการเกษตรชุมชนยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำการเกษตรในบางครัวเรือน ถึงแม้ว่าบ้านเซินเหนือไม่มีพื้นที่สำหรับการทำการเกษตรอยู่ในตัวหมู่บ้าน แต่ก็มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในบริเวณโดยรอบชุมชน ในพื้นที่ดังกล่าวมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่ตามมา เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อคนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่มีผู้สูงอายุ อาศัยเป็นจำนวนมากอย่างชุมชนเซินเหนือ

นอกจากนี้ชุมชนยังประสบกับปัญหาการบริหารจัดการขยะ ถึงแม้ว่าชุมชนเซินเหนือมีระบบการจัดการขยะที่ดีจากการจัดตั้งกลุ่มขยะบุญขึ้นมาดูแลสถานการณ์ขยะในชุมชนก็ตาม แต่การขยายตัวของเมืองที่ส่งผลให้มี ร้านค้าและร้านสะดวกเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนเซินเหนือมีขยะที่มาจากภายนอกชุมชน กล่าวคือ ผู้คนที่สัญจร ไปมาจากพื้นที่ใกล้เคียงหรือนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเซินเหนือมักนำขยะมาวางทิ้งไว้ในจุดที่คิดว่าสามารถทิ้งได้ทำให้ปริมาณขยะในชุมชนเพิ่มขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุติมนฑน์ แซ่เตียว, ชมพูนุท สุชวัน, ณัฐกิตติ์ กองสุวรรณ์, ภัคจิรา รัศมีเพ็ญ, สุพัตรา แจ่มใส, อรทัย ชัยอินศูนย์, ธีรเมธ คงสงค์ และฟ้าหลวง เพ็งอารีย์. (2561). การวางแผนพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา: บ้านเซินเหนือ ตำบลโนนคอม อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น. รายงานประจำรายวิชา 964229 การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน สาขาการจัดการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี จังหวัดขอนแก่น.

ชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี จังหวัดขอนแก่น. (2561). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านเซินเหนือ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น. ค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565, จาก https://www.youtube.com/

เทศบาลตำบลภูผาม่าน. (ม.ป.ป.). แหล่งท่องเที่ยวในเขตเทศบาลตำบลภูผาม่าน. ค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565, จาก https://www.phuphaman.go.th/

ธีรเมธ คงสงค์ และจินณพัษ ปทุมพร. (2563). การบริหารจัดการการท่่องเที่ยวโดยชุมชนกรณีศึึกษา: ชุมชนบ้านเซินเหนือ ตำบลโนนคอม อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น. วารสารบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 4(2), 21-35.

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น. (2564). การสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานระดับหมู่บ้าน ประจำปี พ.ศ. 2564. สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย.

จันทร์ธร บุญชำนาญ. ประธานกลุ่มบายศรีชุมชนเซินเหนือ. สัมภาษณ์ 3 กันยายน 2565.

จำปา สอนเงิน. ประธานกลุ่มอาหารพื้นบ้านชุมชนเซินเหนือ. สัมภาษณ์ 2 กันยายน 2565

ฐิติกร แก้วคำ. ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเซินเหนือ หมู่ที่ 2. สัมภาษณ์ 19 สิงหาคม 2565, 2 กันยายน 2565.

ทอง กาดกอง. ปราชญ์ชาวบ้านฮีต 12 คอง 14 ชุมชนเซินเหนือ. สัมภาษณ์ 3 กันยายน 2565.

ธนภรณ์ จันทร์ช่างทอง. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านเซินเหนือ หมู่ที่ 2. สัมภาษณ์ 19 สิงหาคม 2565, 2 กันยายน 2565.

นวกรรมกิจจาทร, พระครู. เจ้าอาวาสวัดเฉลียงทอง. สัมภาษณ์ 19 สิงหาคม 2565, 2 กันยายน 2565.

ปราณี เดชบำรุง. ประธานกลุ่มทอผ้าควบ. สัมภาษณ์ 19 สิงหาคม 2565, 2 กันยายน 2565.

พิกุล ปกิรณะ. สัมภาษณ์ 3 กันยายน 2565.

เพิ่มศรี ภาวจันทึก. เลขนุการโอทอปนวัตวิถีชุมชนเซินเหนือ. สัมภาษณ์ 2 กันยายน 2565.

สนั่น คำพิมพ์. ประธานศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตำบลภูผาม่าน. สัมภาษณ์ 3 กันยายน 2565.

สมบูรณ์ เค้พวง. สัมภาษณ์ 3 กันยายน 2565.

สร้อยทอง เพียสุระ. ประธานกลุ่มตัดเย็บชุมชนเซินเหนือ. สัมภาษณ์ 2 กันยายน 2565.

สายตรี จอดพรม. ประธานกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองชุมชนเซินเหนือ. สัมภาษณ์ 19 สิงหาคม 2565, 2 กันยายน 2565.

โสภา แก้วคำ. ประธานกลุ่มตุงใยแมงมุม. สัมภาษณ์ 19 สิงหาคม 2565, 2 กันยายน 2565.