แม่น้ำยม เกาะกงในแม่น้ำยมยามหน้าฝน ปลาสด น้ำปลา ปลาร้า
มาจากการสร้างบ้านเรือนอยู่บนพื้นที่ที่มีน้ำล้อมรอบ หรือบริเวณที่ลำน้ำโค้งจนเกือบเป็นวงกลม ซึ่งบางครั้งอาจจะมีการขุดคลองลัดให้เป็นลำน้ำโอบเมืองไว้ ทำให้ชุมชนมีลักษณะเป็นเกาะ เพราะชุมชนบ้านกงเดิมตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นเกาะเป็นกง เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดลำแม่น้ำยมตั้งแต่ตอนใต้ของเมืองสุโขทัยลงมาสามารถพบพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นกงอย่างนี้หลายแห่ง เช่น กงบริเวณบ้านบางปะและกงบริเวณบ้านวังสะดือ และในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีชุมชนระดับเมืองสองเมืองที่ชื่อคล้ายกันว่าเมืองกงครามและเมืองกงพราน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองสุโขทัยด้วย ทั้งนี้คงได้รับการยกฐานะมาจากหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นเกาะเป็นกงเช่นเดียวกับกงไกรลาศ (ธีระวัฒน์ แสนคำ, 2554)
แม่น้ำยม เกาะกงในแม่น้ำยมยามหน้าฝน ปลาสด น้ำปลา ปลาร้า
ชุมชนเกาะกงก่อตั้งขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้ อย่างน้อยก็คงจะมีชุมชนมาตั้งแต่ที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศแห่งแรกตั้งขึ้นบริเวณหัวเกาะหรือชุมชนเกาะกงในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2437 โดยมีพระกงไกรลาศเป็นนายอำเภอคนแรก ทั้งนี้ มีความพยายามของคนในท้องถิ่นอำเภอกงไกรลาศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานของข้าราชการที่ตั้งรกราก ณ ตัวอำเภอกงไกรลาศ อันเอื้อให้เป็นบุคคลที่ผู้มีโอกาสทางการศึกษามากกว่าคนทั่วไปในชุมชน ได้ค้นคว้าหาเอกสารหรือสอบถามผู้สูงอายุเพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานในการรับรู้ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับอำเภอกงไกรลาศ แต่ผลจากการค้นคว้าเหล่านั้นปรากฏเพียงเรื่องราวของข้าราชการส่วนกลางที่ปกครองท้องที่อำเภอกงไกรลาศ เช่น ใน พ.ศ. 2460 มีการเปลี่ยนชื่อจากอำเภอกงไกรลาศไปเป็นอำเภอบ้านไกร พร้อมกันกับย้ายที่ทำการจากบนพื้นที่เกาะกงไปอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม แล้วจึงเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อว่าอำเภอกงไกรลาศเหมือนเดิมในช่วงเวลาที่นายเปลี่ยน สิทธิเดชเป็นนายอำเภอ ใน พ.ศ. 2482 จากนั้นในช่วงเวลาที่นายเอื้อน รงค์ทอง เป็นนายอำเภอ จึงได้ทำเรื่องขอย้ายที่ว่าการอำเภออีกครั้งจากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยมของตำบลกงไปตั้งริมถนนสิงหวัฒน์ หลักกิโลเมตรที่ 21 ตำบลบ้านกร่าง โดยกระทรวงมหาดไทยอนุมัติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 การก่อสร้างที่ว่าการอำเภอใหม่นี้แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2507 จะเห็นได้ว่า ก่อนจะย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอบนถนนสิงหวัฒน์ ใน พ.ศ. 2507 ที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมไม่ต่ำกว่า 70 ปี
อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าประวัติความเป็นมาของคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับอำเภอกงไกรลาศไม่ได้ช่วยทำให้เราสามารถเข้าใจการอพยพและการตั้งถิ่นฐานของคนชุมชนเกาะกงในปัจจุบันได้แต่อย่างใด แต่ที่ชุมชนเกาะกงยังคงมีผู้คนที่สามารถถ่ายทอดความทรงจำเกี่ยววิถีชีวิตชุมชนเกาะกงได้อยู่หลายคน โดยพบว่ามี 3 เรื่องสำคัญ คือ การอพยพตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวแพแห่งเกาะกง การเปลี่ยนแปลงจากการเป็นชุมชนชาวแพบริเวณเกาะกงไปเป็นการสร้างบ้านเรือนบนเกาะกงในช่วงทศวรรษ 2490-2520 และการเปลี่ยนแปลงของการประกอบอาชีพทำการประมงพื้นบ้านในช่วงทศวรรษ 2510-2540
ในเรื่องการอพยพตั้งถิ่นฐานของชาวแพแห่งเกาะกงนั้น คนสูงอายุที่ยังมีชีวิตอยู่หลายคนยังสามารถเล่าของบรรพบุรุษของตนได้ และทำให้รู้ว่าชุมชนชาวแพมีที่มาจากหลากหลายที่ โดยส่วนใหญ่จะล่องเรือขึ้นมาข้าวค้าและจากนั้นต่อแพ เพื่ออาศัยตลอดบริเวณเกาะกง อย่างเช่น กรณีของนายสำรวม สาคร ชายชราวัย 89 ปี ผู้มีอายุมากที่สุดในชุมชนเกาะกงเล่าให้ฟังว่า พ่อของตนเป็นคนจากมาภาคอีสาน ส่วนแม่มาจากบ้านวังบอนโดยพายเรือมาจากทางใต้ขึ้นมาตามลำน้ำยม เมื่อมาถึงบริเวณเกาะกงจึงหยุดเรือและผูกแพสร้างบ้านอยู่ ณ ที่นี้มาตั้งแต่ก่อนนายสำรวมเกิด หรือกรณีนายประโยชน์ ศรีผ่องใส ชายสูงอายุวัย 90 ปี เล่าให้ฟังว่า คุณปู่ของตน ชื่อว่าแย้มเป็นคนอยุธยา ล่องเรือขึ้นมารับซื้อข้าวแล้วก็ต่อแพสร้างครอบครัวอยู่ที่บ้านกงต่อมา ทำนองเดียวกับที่นางริ้ว เส็งเข้ม ที่เล่าให้ฟังว่าบรรพบุรุษของตนมาจากอยุธยา ส่วนนางมณฑา เวชประสิทธิ์ นั้นเล่าว่าปู่ของเธอเป็นคนมาจากสิงห์บุรี นอกจากนี้ ยังมีกรณีชาวจีนจากไหหลำล่องเรือมาเจอกับภรรยา คนชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จากนั้นก็ชักชวนกันมาอยู่แพที่เกาะกง และมีลูกหลานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจะใช้นามสกุลพงษ์ปรีชา
การอยู่กันเป็นชุมชนชาวแพบริเวณเกาะกงนี้ จากการประมาณการของนายสำรวม สาคร ชายวัย 89 ปี นั้นน่าจะมีผู้อาศัยอยู่แพกว่า 50 แพ ในระหว่างทศวรรษ 2490-2520 ถือเป็นช่วงเวลาที่คนเริ่มย้ายจากแพขึ้นสร้างบ้านเรือนบนบก อย่างเช่น บนพื้นที่เกาะกงนั้น นายสำรวม สาครเล่าว่า บ้านแรกที่สร้างบนเกาะกงสร้างขึ้นตอนนายสำรวมยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ประมาณทศวรรษ 2490 อย่างช้า คือ บ้านของกำนันปี พูลสวัสดิ์ กำนันตำบลกง ด้วยเหตุนี้เอง บ้านของกำนันปีจึงเป็นบ้านเลขที่ 1 หมู่ 1 ตำบลกง บ้านหลังนี้ทายาทของกำนันปียังคงอาศัยอยู่ต่อมา ส่วนบ้านของนายสำรวมเองนั้นสร้างมาไม่ต่ำกว่า 60 ปี ด้วยวัสดุที่ทำจากไม้ทั้งหมดในราคาการก่อสร้างประมาณ 9,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีบ้านที่สร้างในเวลาต่อมาอีก เช่น บ้านของนายดาเลาะ กลิ่นทับ ชายวัย 68 ปี และบ้านของนางทองอยู่ กลิ่นลูกอินทร์ ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี อย่างไรก็ดี ชุมชนชาวแพบริเวณรอบเกาะกงไม่ได้ขึ้นสร้างบ้านเรือนบนพื้นที่เกาะกงจุดเดียวเท่านั้น โดยยังอีก 3 บริเวณที่ชุมชนชาวแพเกาะกงเลือกสร้างที่อยู่อาศัย คือ บริเวณหมู่ที่ 9 หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 12 ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
ส่วนสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการสร้างที่อยู่อาศัยบนแพไปเป็นการสร้างบ้านเรือนบนเกาะกง ผู้ให้ข้อมูลทั้งคนในชุมชนเกาะกงและคนที่เคยอาศัยอยู่เรือนแพ แต่ได้เลือกขึ้นตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหมู่ที่ 9 หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 12 นั้นให้เหตุผลเช่นเดียวกันว่า เหตุเกิดจากไม้ไผ่ที่นำมามายัดบวบใช้ในการสร้างแพให้ลอยน้ำหายากขึ้น อีกทั้งการอาศัยอยู่บนแพจะต้องเปลี่ยนไม้ไผ่ทุกปีทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูงและเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากบริบทของเศรษฐกิจและการเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2490-2510 เป็นช่วงที่มีคนจากภูมิภาคอื่นจำนวนมากเข้ามาจับจองและบุกเบิกที่ดินในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และพิจิตร ที่ดินรกร้างที่เคยเป็นที่ป่าไผ่จึงถึงแพ้วถาง เพื่อประกอบอาชีพทำนาและทำไร่เป็นพื้นที่จำนวนมาก ไม่เพียงแต่คนจากภูมิภาคอื่นเท่านั้น คนในเขตภาคเหนือตอนล่างเองก็บุกเบิกที่ดินทำกินเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในกรณีอำเภอกงไกรลาศ คนตำบลบ้านกร่าง คนตำบลหนองตูม ซึ่งประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก ก็บุกเบิกที่ดินทำนาเพิ่มมากขึ้น หรือคนในชุมชนแพเกาะกงเอง บางคนก็บุกเบิกที่ดิน จากเดิมพื้นที่เป็นป่าไผ่ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่เพื่อการทำไร่ข้าวโพดและไร่ข้าวฟ่าง ทั้งนี้ ผู้นำชุมชน คือ กำนันปี พูลสวัสดิ์ ได้ตั้งบ้านเรือนบนเกาะกงขึ้นเป็นหลังแรก จึงทำให้ลูกบ้านที่อาศัยอยู่บนแพเริ่มทยอยปลูกบ้านบนเกาะกงเพิ่มมากขึ้น มีผู้ให้ข้อมูลบางคนให้เหตุผลว่า เนื่องจากเห็นเพื่อนบ้านในชุมชนย้ายขึ้นไปตั้งบ้านเรือนบนเกาะกง ตนจึงย้ายขึ้นไปบ้าง เพราะเห็นว่าการใช้ชีวิตของเพื่อนบ้านสะดวกสบายดี แต่สำหรับนางทองอยู่ กลิ่นลูกอินทร์ มีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการปลูกบ้านเรือนบนเกาะกงจะสะดวกดี แต่ “การอยู่แพจะสบายกว่า เพราะลอยไปเรื่อย ๆ ตอนที่อยู่แพเวลาเดินทางก็จะพายเรือ ไปขึ้นรถคอกหมูหรือรถสองแถว คนที่ค้าขายก็จะนั่งรถคอกหมูไปขายของในเมือง”
การประกอบอาชีพของคนชุมชนชาวแพแห่งเกาะกงก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ กล่าวได้ว่าแทบทุกครอบครัวจะต้องประกอบอาชีพทำการประมงพื้นบ้าน เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดปลาน้ำจืดขนาดน้อยใหญ่และมีความชุกชุมเป็นอย่างมาก คนที่ถ่อแพขึ้นมาจากที่อยู่จึงเลือกที่จะจอดแพอยู่ที่นี่ ประกอบกับยังเป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ด้วยการอาศัยแม่น้ำยมเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้า กล่าวคือ บริเวณหน้าวัดกงไกรลาศจะเป็นตลาดที่ผู้คนในชุมชนที่ไม่อยู่ติดแม่น้ำ อย่างเช่น หนองตูม จะนำเอาข้าวเปลือกหรือพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ มาขาย รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเป็นข้าวของ อาหารแห้ง และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นกลับไป ขณะเดียวกัน คนจากชุมชนเกาะกงก็น่าจะเอาผลผลิตที่ได้จากการทำประมงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ปลาร้า ปลาเกลือหรือปลาแห้ง ไปแลกข้าวเปลือก ข้าวสาร จากคนในชุมชนเมื่อตอนสมัยที่มีอาชีพทำนาเกิดขึ้นในชุมชนแล้ว คุณครูพิศาล บุญพูล เล่าให้ฟังว่า คนเกาะกง เขาจะหมักปลาไว้กินแลกข้าว เอาน้ำปลาไปแลกข้าว เอาปลาร้าไปแลกข้าว ตั้งแต่เขายังไม่ใช้เงิน เขาแลกข้าวเขาก็แลกกันได้ บางคนสามารถแลกข้าวจนกระทั่งตั้งหลักแหล่งพัฒนาจนกลายเป็นโรงงานน้ำปลาขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเอารถยนต์คันเล็ก ซึ่งซื้อมาในราคาไม่กี่หมื่นบาท ขนเอาน้ำปลาไปแลกข้าวตามบ้านนอก อย่างเช่น บ้านกกแรด เขตติดต่อกับอำเภอพรหมพิราม บ้านหางไหล บ้านห้วยดั้ง จากนั้นก็เอาข้าวมาเก็บไว้ เมื่อถึงช่วงเวลาขายข้าว ก็นำข้าวออกมาขายครั้งละ 30-40 เกวียน ไม่นานก็สามารถก่อร่างสร้างตัวได้
อย่างไรก็ตาม การช้อนสนั่น นับเป็นการประมงพื้นบ้านที่ชาวชุมชนเกาะกงนิยมมากที่สุด เพราะว่าวิธีการนี้สามารถจับปลาได้ในปริมาณมากกว่าการใช้วิธีการประมงด้วยเครื่องมือแบบอื่น โดยการจับปลาด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ จะใช้เรือที่ผูกสนั่นหรือข่ายอวนลักษณะคล้ายถุงรูปสามเหลี่ยม ปากสนั่นมีขนาดกว้าง 5-6 เมตร และความยาวประมาณ 8-12 เมตร โดยจะติดเครื่องยนต์ไว้ที่ท้ายเรือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการช้อนสนั่น คือ ช่วงหลังวันออกพรรษาหรือในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวน้ำจากแม่น้ำยมที่เอ่อล้นตลิ่งและเข้าท่วมท้องทุ่งนา โดยรอบในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนกำลังลดลง การลดลงของน้ำท่วมนี้หมายถึงปลานานาพันธุ์ที่เข้ามาวางไข่ในท้องทุ่งกว้างกำลังว่ายกลับลงสู่แม่น้ำยม เช่น ปลาค้าว ปลาเนื้ออ่อน ปลาแดง ปลาน้ำเงิน ปลาช่อน ปลาชะโอน ปลาฉลาด ปลาสร้อย เป็นต้น ล้วนเป็นปลาที่คนชุมชนเกาะกงสามารถจับได้อย่างไม่พร่องมือ โดยเฉพาะปลาสร้อยเป็นปลาชนิดที่สามารถจับกันได้ไม่ต่ำกว่าสองถึงสามลำเรือหรือปริมาณหนึ่งถึงสองตันต่อหนึ่งครอบครัวต่อวัน วิธีการช้อนสนั่นด้วยเรือติดเครื่องยนต์ของชุมชนเกาะกงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำประมงพื้นถิ่นของชุมชนจากการใช้กำลังคนเป็นหลักไปสู่การใช้กำลังเครื่องยนต์เรือ เพื่อทุ่นแรง จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนเกาะกงทำให้รู้ว่าการช้อนสนั่นในลักษณะนี้เริ่มต้นประมาณในช่วงปลายทศวรรษ 2510 ทั้งนี้ ปลานานาชนิดที่จับได้ในการทำประมงพื้นถิ่นของชุมชนเกาะกงนี้ ชาวชุมชนก็จะนำปลาสดที่จับมาได้ไปขายให้แก่ร้านรับซื้อปลาซึ่งจะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมห่างออกไปไม่ไกลนักจากแหล่งจับปลา ทั้งนี้ จากคำบอกเล่าของชาวเกาะกง ร้านโกเชียร-เจ้ชิว คือ ร้านรับซื้อปลาเจ้าแรกของตำบลกง กิจการรับซื้อปลาโดยตรงจากชาวชุมชนเกาะกงนี้เริ่มต้นพร้อม ๆ กับการทำประมงพื้นถิ่นด้วยวิธีการช้อนสนั่นบนเรือยนต์
นายสำรวม สาคร ชายวัย 89 ปี เล่าว่า แต่ก่อนหน้านี้เขาหาปลาด้วยการช้อนสนั่น ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่มีเรือยนต์ โดยต่อเรือที่ท่าฉนวน ปากพระ พอมีเรือก็เริ่มช้อนสนั่น ตัวเนื้อสนั่นก็ต้องไปซื้อมาจากพิษณุโลก การช้อนสนั่นนี้คนในชุมชนช่วยกันทำ นายสำรวมซื้อเรือมาประมาณ 4 เกวียนบั้น หรือราคาประมาณ 3,000 กว่าบาท นอกจากการช้อนสนั่นก็มีการแทงปลา ดักรอบ นายสำรวมดักรอบเป็นอาชีพ ดักรอบตามทุ่งหน้าในช่วงฤดูน้ำ ฤดูแล้งก็เริ่มทำรอบโดยใช้เชือกขาวจากกกแรด เดือน 5-6 มีการเหลาซี่รอบเพื่อทำรอบซึ่งชาวบ้านก็ช่วยกันทำ เดือน 7-9 ก็เริ่มวางรอบ ยังมีการแทงปลาด้วยการพายเรือและใช้ไม้ไผ่มาเหลาให้แหลมสำหรับแทงหรือใช้ฉมวกแทงปลาข้าง ๆ ตลิ่ง ส่วนใหญ่ได้ปลาช่อน ต่อมาก็เริ่มทิ้งพุ่ม มีการตีอวนซึ่งต้องใช้คนจำนวน 4 คน เริ่มตีอวนในช่วงเดือน 3 ขึ้น 4 ค่ำ ช้อนสนั่นในช่วงเดือน 11 เพราะน้ำเริ่มลด ปลาเริ่มออกจากในทุ่ง สามารถดักปลาตามชายตลิ่งได้ บางครั้งช้อนสนั่นสองคนก็ไม่ไหวเพราะปลาชุกชุม เมื่อก่อนช่วงน้ำขึ้นจะมีปลาค้าว ปลาแดง ปลาตะเพียน ปลาน้ำเงิน สามารถลอยช้อนจับปลาได้ นำปลามาขายปี๊บละบาท ก่อนที่มีการช้อนสนั่น ก็มีการพายเรือไปตามข้างตลิ่ง ใช้ไม้พายกวาดน้ำปลาก็ขึ้นมาบนเรือ นายสำรวมกล่าวว่าโพงพางอันตราย ในบางครั้งก็พลาดจนทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับนายดาเลาะ กลิ่นทับ ชายวัย 68 ปี ได้เล่าถึงประสบการณ์การประทำประมงพื้นบ้านและการประกอบหลังจากว่างการทำประมงไว้ว่า การทำประมงจะได้ปลาในช่วงน้ำลด นอกจากนั้นก็ปลูกพืชไร่ไว้ขาย แต่ต่อมาในระยะหลังมีงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ก็นั่งรถไปทำงานกันในช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีปลา ทำงานประมาณ 3-4 เดือนพอถึงฤดูน้ำหลากก็ย้ายกลับมาทำประมง พอน้ำมาแค่ตกเบ็ดก็สามารถได้ปลามาบริโภคแล้ว โดยปกติจะได้ปลาสร้อยเป็นหลักที่สำหรับทำน้ำปลาในช่วงหลังออกพรรษา เพราะมรสุมฝนเริ่มหาย ฝนจะลดลง ปลาที่อยู่ทุ่งจะออกมา จะได้ปลาสร้อย 2-3 ลำเรือต่อครอบครัว ปลาเนื้อก็มีเยอะแต่ที่มากที่สุดคือปลาสร้อย พอได้ปลาก็ขายให้ร้านที่รับซื้อ ปลาที่เน่าและมีกลิ่นไม่มากก็สามารถทาเกลือแล้วนำไปทำปลาร้าได้ ในยุคแรกขายปลาเป็นปี๊บ ปี๊บละ 2 บาท
นางทัย พูลสวัสดิ์ หญิงวัย 58 ปี แม้ว่าจะไม่ใช่คนชุมชนเกาะกงแต่กำเนิด แต่เธอก็แต่งงานมาอยู่บ้านสามีบนเกาะกง ตั้งแต่ราว พ.ศ.2520 ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การช้อนสนั่นว่า สนั่นมีสองแบบ ได้แก่ไม้สั้น ยาวประมาณ 4 วา ส่วนสนั่นใหญ่จะยาวประมาณ 6 วา ด้านหน้าลึกลงไปในน้ำยาวประมาณ 5-6 วา มีไม้อยู่ตรงกลาง ในการใช้สนั่นจะต้องมีคนถือท้ายเรือหนึ่งคนและคนควบคุมเรือหนึ่งคนเพื่อไม่ให้เรือล่มในขณะที่งัดสนั่น ซึ่งการงัดสนั่นจะเริ่มทำในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน หรือในช่วงออกพรรษา นางทัยอธิบายว่าในตอนที่หาปลาจะมีการผูกเชือกที่เอวไว้กับเรือเพราะว่ายน้ำไม่เป็นเพื่อป้องกันอันตรายจากการหาปลา ในตอนแรกที่นางทัยเข้ามาอาศัยอยู่ในช่วง พ.ศ. 2520 ราคาของปลาสร้อยจะประมาณกิโลกรัมละ 6 สลึงเท่ากับ 2 บาท หรือ 2 บาท 50 สตางค์หรือ 10 สลึง จากนั้นก็ขึ้นมาเป็น 3 บาท ส่วนปลาแดง ปลาชะโอน ปลาเนื้ออ่อนจะประมาณกิโลกรัมละ 80 บาท แต่ตอนนี้ปลาเหล่านี้ไม่มีแล้วเพราะเกิดเขื่อน เมื่อน้ำไม่เข้าทุ่งปลาก็จะไม่มี ถึงแม้ว่าเมื่อก่อนราคาของปลาจะไม่มากแต่ก็สามารถค้าขายได้ถึงหลักหมื่น ซึ่งนางบุญยืนเล่าว่าหาปลาครั้งแรกก็ได้เงินมากถึง 6,000 บาท ซึ่งคนต่างจังหวัดก็จะมาซื้อปลาที่เกาะกง
เมื่อก่อนปลาจะไปวางไข่ในนาเพราะยังไม่มีการตัดถนน บ้านก็ยังไม่สูงมากรวมถึงไม่มีสะพานทำให้น้ำสามารถท่วมได้ เมื่อถึงฤดูน้ำปลาก็จะชุกชุม เมื่อน้ำมาทางเหนือปลาก็จะว่ายทวนมากจากทางใต้ไปวางไข่ในนา ยิ่งถ้ามีพงมีป่าปลาก็จะยิ่งชุก ปลาจะกินหญ้าสลอด เฟย และต้นอ้อ ในบริเวณนั้นเองก็จะมีกุ้งฝอยด้วย ทำให้มีการพายช้อนแล้วเอาใบอ้อไปกั้นที่ทำกระบัง ซึ่งจะใช้ช้อนธรรมดาแบบสวิงแต่ใหญ่กว่า ใช้คันยาว ๆ แล้วพายขึ้นมาก็จะได้ปลาแดง ปลาค้าว ปลาชะโอน สำหรับนางทัยแล้ว การเข้ามาของข้าราชการกับเจ้าหน้าที่กรมประมงเพื่อห้ามจับปลาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 ซึ่งสัมพันธ์กับการออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ยกเว้นการเก็บเงินอากรตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 และยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 241 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ทำให้การจับปลาในแม่น้ำยมของเธอและคนในชุมชนเกาะกงคนอื่น ๆ ประสบกับความยากลำบากขึ้น เธอเล่าว่า ในเรื่องเจ้าหน้าที่ประมงได้มีการห้ามจับปลาเพื่ออนุรักษ์ปลาไว้ไม่ให้สูญพันธุ์
ในช่วงทศวรรษ 2540 จนถึงปัจจุบัน คนในชุมชนเกาะกงเริ่มทยอยย้ายออกไปซื้อที่ดินตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณที่น้ำไม่ท่วม จึงทำให้จำนวนคนในชุมชนเกาะกงลดน้อยลงอย่างมาก จากการพิจารณาบริบททางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทย พบว่าในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เริ่มมีการสร้างถนนทั่วประเทศไทย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น ถนนสิงหวัฒน์ตัดผ่านบริเวนอำเภอกงไกรลาศในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศย้ายจากบริเวณตลาดกงไกรลาสมาอยู่บริเวณปัจจุบัน เนื่องการการคมนาคมที่ดีกว่า ทั้งนี้ยังสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่ไม่อาจประกอบได้เหมือนเดิมและทำให้การอาศัยอยู่บนบ้านเรือนที่มีน้ำท่วมเป็นประจำกลายเป็นความยากลำบากในการดำรงชีวิต
ภาพที่ 1 แผนที่ชุมชนบ้านกง อำเภอกงไกรลาศ โดย Google Map, มกราคม 2566
ในปัจจุบัน พื้นที่ที่เรียกว่าเกาะกงนี้ มีขนาดพื้นที่โดยประมาณ 15,696.31 ตารางเมตร มีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างเหลืออยู่ประมาณ 13-14 หลังคาเรือน และเป็นบ้านเรือนที่มีผู้คนอาศัยอยู่จริง ๆ ราว 12 หลังคาเรือน ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านผู้อาศัย พื้นที่เกาะกงในปัจจุบันนั้นมีขนาดเล็กลงกว่าในอดีตมาก เนื่องมาจากการกัดเซาะโดยธรรมชาติของแม่น้ำยม และการพังทลายของตลิ่งฝั่งเกาะกงอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามกับเกาะกง พื้นที่เกาะกงมีแม่น้ำยมโอบล้อม ในฤดูน้ำหลาก ส่วนของเกาะจะมีน้ำล้อมรอบโดยสมบูรณ์ หากปีใดมีปริมาณน้ำหลากเป็นจำนวนมาก พื้นที่เกาะกงจะถูกน้ำท่วม หากปีใดมีปริมาณน้ำน้อยหรือน้ำแล้ง จะมีพื้นดินโผล่พ้นจากแม่น้ำยม
ภาพที่ 2 ชุมชนเกาะกง, โดยผู้วิจัย 8 กุมภาพันธ์ 2566
ชุมชนเกาะกงตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะกลางแม่น้ำยม โดยแม่น้ำยมไหลผ่านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ ส่วนทิศเหนือของเกาะกงมีลำคลองไหลผ่าน ด้านทิศเหนือนี้เองจะมีสะพานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นทางสัญจรในการเดินทางข้ามมายังฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดกงไกรลาศและตัวชุมชนตลาดเก่าริมแม่น้ำยม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
ตัวอำเภอกงไกรลาศมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอพรหมพิราม (จังหวัดพิษณุโลก) ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพรหมพิรามและอำเภอบางระกำ (จังหวัดพิษณุโลก) ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบางระกำ (จังหวัดพิษณุโลก)
ปัจจุบันชุมชนเกาะกง ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศแห่งนี้ มีจำนวนประชากรประมาณ 20 คน ทั้งหมด 6 นามสกุล ได้แก่ ศรีผ่องใส พูลสวัสดิ์ กลิ่นทับ กลิ่นลูกอินทร์ สาคร และรุ่งเรือง ประชากรส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเคยอยู่เรือนแพมาก่อน บางนามสกุลสามารถสืบได้ว่าบรรพบุรุษมาจากไหน อย่างเช่น นามสกุลศรีผ่องใส มีบรรพบุรุษอพยพมาจากจังหวัดอยุธยา หรือนามสกุลกลิ่นทับ มีบรรพบุรุษอพยพมาจากอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก โดยภาพผังเครือญาติของตระกูลที่อาศัยอยู่พื้นที่เกาะกงมีรายละเอียดดังนี้
ภาพที่ 3 ผังตระกูลพูลสวัสดิ์ โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
ภาพที่ 4 ผังตระกูลกลิ่นลูกอินทร์ โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
ภาพที่ 5 ผังตระกูลกลิ่นทับ โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
คนที่เคยอยู่ชุมชนแพบริเวณเกาะกง เมื่อครั้นเปลี่ยนจากการอยู่เรือนแพมาปลูกบ้านเรือนแล้ว ยังคงอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 9 หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 12 ซึ่งเป็นพื้นที่รอบ ๆ เกาะกง ไม่ได้ไปอยู่อาศัยห่างไกลจากเดิมมากนัก จากการเก็บข้อมูลภาคสนามทำให้ทราบถึงข้อมูลตระกูลใหญ่ ๆ เพิ่มเติมอีก ได้แก่ ตระกูลสุทธิวิลัย ตระกูลพงษ์ปรีชา ตระกูลคำขยาย ตระกูลอินทรทัต ตระกูลจันทร์สิงห์ ตระกลูบุญสิงห์ ตระกูลเวชประสิทธิ์ และตระกูลกลิ่นขจร โดยมีตระกูลที่พอจะจำได้ว่าบรรพบุรุษของตนมาจากที่ไหน เช่น ตระกูลอินทรทัต มีบรรพบุรุษมาจากจังหวัดสิงห์บุรี ตระกูลจันทรสิงห์มีบรรพบุรุษมาจากจังหวัดอยุธยา ตระกูลบุญสิงห์มีบรรพบุรุษมาจากอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก หรือตระกูลพงษ์ปรีชามีบรรพบุรุษมาจากหลายที่ คือ เมืองจีน อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การที่คนในชุมชนเกาะกง และกลุ่มคนที่เคยอยู่เรือนแพเกาะกง ในพื้นที่หมู่ที่ 9 หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 12 เคยจอดเรือนแพอยู่ในบริเวณเกาะกงด้วยกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายและเพิ่งจะย้ายขึ้นบนฝั่งเพื่อปลูกบ้านในระยะประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ความสัมพันธ์ของคนเหล่านี้ยังคงรู้จักและสนิทชิดเชื้อกันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตเคยอาศัยอยู่บนเรือนแพเกาะกงเช่นเดียวกันทั้งหมด จึงมีความเข้าอกเข้าใจกันและมีความเอื้อเฟื้อต่อกันเป็นอย่างดี ตัวอย่างผังเครือญาติของนามสกุลของคนชุมชนเกาพกงและคนที่เคยอยู่เรือนแพบริเวณเกาะกง ได้แก่
ภาพที่ 6 ผังเครือญาติลุงยิ้ม โดยผู้วิจัย, สัมภาษณ์ 26 มกราคม 2566
ภาพที่ 7 ผังเครือญาติตาปั่น โดยผู้วิจัย, สัมภาษณ์ 26 มกราคม 2566
ภาพที่ 8 ผังเครือญาติยายเฉลา โดยผู้วิจัย, สัมภาษณ์ 26 มกราคม 2566
ภาพที่ 9 ผังเครือญาติลุงขาว โดยผู้วิจัย, สัมภาษณ์ 27 มกราคม 2566
ภาพที่ 10 ผังเครือญาติป้ามณฑา โดยผู้วิจัย, สัมภาษณ์ 27 มกราคม 2566
ภาพที่ 11 ผังเครือญาติป้ากุหลาบ โดยผู้วิจัย, สัมภาษณ์ 27 มกราคม 2566
โครงสร้างองค์กรชุมชนของบ้านกง ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย มีการรวมกลุ่มองค์กรชุมชน ชื่อว่า กลุ่มเรือนำเที่ยว ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 แต่จะนำเที่ยวในช่วงเดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน (ช่วงหน้าน้ำ) ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนการท่องเที่ยวของเทศบาลตำบลกงไกรลาศ โยมีนายกไพรฑูรย์ ใบไม้เป็นผู้ประสานงาน ดำเนินงานให้แก่กลุ่มเรือนำเที่ยว และยังได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลกงไกรลาศในการประชาสัมพันธ์ พร้อมกับจัดงานตลาดนัดริมยมในทุกเดือน มีการแลกเปลี่ยนค้าขายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการแต่งกายด้วยชุดไทยเพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทยเดิม โดยกลุ่มเรือนำเที่ยวนั้นมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยดังนี้ พระครูสุจิตธรรมสุนทร ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดกงไกรลาศและรองเจ้าคณะฯ พระสมุห์งาม ตำแหน่ง รองเจ้าอาวาสวัดกงไกรลาศ อาจารย์พิศาล บุญพูล (อดีตข้าราชการครู) พี่ชาติ (น้าไก่) น้าอู๋ พี่ชาติ (ขับเรือ) พี่อ้วน (ขับเรือ) ผู้ช่วยเบียร์ (ผู้ช่วยกำนัน: ขับเรือ) กำนันสมบูรณ์ เวชประสิทธิ์ และนายสนั่น เส็งเข็ม ตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกง ส่วนเรือนำเที่ยวของหมู่บ้านกง จะมีเรือทั้งหมด 2 ลำ ลักษณะเป็นเรือไม้ด้วยเครื่องยนต์ ลำแรกเป็นเรือที่ได้จากการร่วมสมบทเงินทุนร่วมทำบุญกับพระครูสุจิตธรรมสุนทร ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากพระครูสุจิตธรรมสุนทรช่วยเรื่องเรือหนึ่งลำ และเรือลำที่สองเป็นเรือที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในกลุ่มเรือนำเที่ยวได้ มีการหักค่าจ้างให้คนขับเรือและรายได้ส่วนที่เหลือนำมาร่วมทำบุญถวายให้แก่วัดกงไกรลาศ (ส่วนที่ยืมเรือมาใช้) ในส่วนของเส้นทางล่องเรือเที่ยวนั้น สามารถเดินเรือได้สองเส้นทาง คือ หนึ่ง วนรอบเกาะกง และสอง สามารถล่องเรือไปเส้นทางเขื่อนยางได้อีกด้วย เพื่อชมวิถีชีวิตและรับชมธรรมชาติความเป็นชุมชนเกาะกงที่ตั้งอยู่คู่กับแม่น้ำยม รายละเอียดกลุ่มเรือนำเที่ยวดังภาพต่อไปนี้
ภาพที่ 12 ผังกลุ่มเรือนำเที่ยว โดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
ปฏิทินชุมชนและชีวิตประจำวันของชาวชุมชนบ้านกง สามารถแบ่งแยกรายละเอียดได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ ปฏิทินประกอบอาชีพหลักและอาชีพเสริม จากการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ(สัมภาษณ์) และเชิงปริมาณ(แบบสอบถาม) พบข้อมูลว่า อาชีพหลักและอาชีพเสริม(รอง)ของชาวบ้านกง โดยอาชีพหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม คือ การทำนาเพื่อการค้า การทำนานั้นจะทำเกือบตลอดทั้งปี อายุข้าวจะอยู่ที่ 90 วัน และ 120 วัน แต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ส่วนใหญ่ชาวบ้านกงจะไม่ทำนา เนื่องจากเดือนสิงหาคมจะเสี่ยงน้ำท่วม ส่วนเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมคือหน้าน้ำ ซึ่งในช่วงเดือนที่ไม่ได้ทำนาก็จะหันไปทำประมงแทน หรืออาจจะค้าขาย รับจ้างเพิ่มด้วย และการประมงพื้นบ้าน เป็นอาชีพตั้งแต่ดั้งเดิมจนถึงปัจจุบันชาวบ้านกงทำตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบันเหลือคนทำประมงน้อยมากแล้วหากเทียบจากภาพการหาปลาในอดีต อีกทั้งชาวบ้านกงยังให้ข้อมูลตรงกันว่าปลาเหลือน้อย ไม่ชุกชุมเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนเปิดปิดน้ำ และยังมีเรื่อง พรบ.ประมงฯ เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำและพันธุ์ปลา จึงทำให้ชาวบ้านกงไม่สามารถลงงัดสนั่นหาปลาได้อย่างอดีต ช่วงหน้าน้ำอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม เดือนกันยายน อาจจะยาวไปถึงเดือนตุลาคม ปลาในแม่น้ำยมค่อนข้างจะเยอะ ชาวบ้านกงบางครัวเรือนจะหาปลาเพื่อการค้าและการบริโภคบ้างเล็กน้อย ด้วยเครื่องมืออื่น ๆ แตกต่างกันไป ส่วนอาชีพค้าขาย ได้แก่ ขายของชำ(อุปโภค) และร้านอาหาร(บริโภค) และชาวบ้านกงยังการประกอบอาชีพรับจ้างอีกด้วย ได้แก่ รับจ้างงานทั่วไป และรับจ้างแรงงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งรายละเอียดในการประกอบอาชีพของชาวบ้านกงนั้น ในแต่ละครัวเรือนมีการประกอบอาชีพเสริมและอาชีพหลักแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา หรือบางครัวเรือนอาจจะประกอบอาชีพดังกล่าวพร้อมกันทุกเดือนเป็นการประกอบอาชีพที่หลากหลาย การประกอบอาชีพค้าขายและการรับจ้างนั้นจะเป็นการประกอบอาชีพที่ชาวบ้านกงให้ข้อมูลตรงกันว่าทำตลอดทั้งปี บางครัวเรือนทำเป็นอาชีพหลักแต่ก็มีบางครัวเรือนที่ทำเป็นอาชีพเสริมตามความสะดวกของครัวเรือนนั้น ๆ รายละเอียดแสดงให้เห็นดังภาพปฏิทินการประกอบอาชีพดังนี้
ภาพที่ 13 ปฏิทินการประกอบอาชีพชุมชนบ้านกง โดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
ส่วนปฏิทินวัฒนธรรมของชุมชนชาวบ้านกงนั้น แสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน ได้แก่ ประเพณีงานเพ็ญเดือนสี่(เป็นงานประจำปี) จะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อเป็นงานทำบุญใหญ่ของหมู่บ้านกง และยังมีการบวชเฉลิมพระเกียรติฯอีกด้วย งานบุญใหญ่อีกงานคืองานครบรอบหลวงพ่อย่น จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 เดือนธันวาคมเป็นประจำทุก ๆ ปี และส่งท้ายด้วยกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในวันที่ 31 ธันวาคมเพื่อเป็นการเสริมสร้างสิ่งดีงามในการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดี ซึ่งกิจกรรมทางพุทธศาสนาอื่น ๆ ชาวบ้านกงจะจัดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น ทำบุญตักบาตรในวันพระ ขึ้น 8 ค่ำ – 15 ค่ำ ทำบุญวันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ทำบุญวันขึ้นปีใหม่ วันตรุษไทยก็มีการจัดเป็นงานประจำปีอีกเช่นกัน ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนเมษายนแต่จะถูกจัดขึ้นก่อนประเพณีวันสงกรานต์ ประเพณีวันลอยกระทงทางวัดก็จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีการลอยกระทงริมแม่น้ำยม ณ แม่น้ำยมรอบเกาะกง เป็นต้น รายละเอียดปฏิทินกิจกรรมทางวัฒนธรรมแสดงให้เห็นดังรูปภาพต่อไปนี้
ภาพที่ 14 ปฏิทินกิจกรรมทางวัฒนธรรมชุมชนบ้านกง โดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
1. นางกุหลาบ พงษ์ปรีชา อายุ 66 ปี ป้ากุหลาบนับว่าเป็นบุคคลสำคัญของชุมชนเกาะกง มีความรู้และข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นอย่างมาก ในอดีตป้ากุหลาบเกิดและอาศัยอยู่บนแพเกาะกง จึงเป็นผู้ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง ความแตกต่าง สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ป้าเป็นลูกหลานของตระกูลใหญ่เชื้อสายจีน อากงโง้ว แซ่ห่าน เป็นคนที่อพยพมาจากประเทศจีน ไหหลำ ทำการค้าขายจนได้ตั้งรกรากถิ่นฐานที่บ้านกง ในส่วนนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายสำคัญสำหรับการค้าขายในอดีต ส่วนคุณย่าสง่าเป็นคนบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก คุณพ่อของป้ากุหลาบชื่อโกเป้าเป็นคนไทยแท้จากบางกอกน้อย คุณแม่ชื่อเฉลาเป็นเป็นคนอำเภอบางระกำ ได้ย้ายมาอยู่ท่าทราย จนคุณพ่อคุณแม่ได้แต่งงานมีครอบครัว และทำการตั้งรกรากอยู่ที่เกาะกง โดยมีคุณตาชื่อเจิม และคุณยายชื่อเหรียญ ตระกูลพงษ์ปรีชา ถือได้ว่าเป็นตระกูลเชื้อสายจีนตระกูลใหญ่ในชุมชนเกาะกง
ป้ากุหลาบ เล่าว่า อดีตอาศัยอยู่บนแพกับคุณพ่อคุณแม่ ประกอบอาชีพประมงเป็นหลักเนื่องจากแม่น้ำยมมีปลาชุกชุม หาปลาได้วันละร้อยกว่าปี๊บ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลักษณะกายภาพแม่น้ำยมชุมชนเกาะกงนั้นอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเลือกอยู่ที่แห่งนี้ สมัยก่อนนั้นปลาสดขายได้ราคาปี๊บละ 2 บาทเท่านั้น
ช่วงป้ากุหลาบอายุประมาณ 16-17 ปี ราว พ.ศ. 2516 ได้ขึ้นมาอยู่อาศัยบนเกาะกงสร้างบ้านเรือน ณ หมู่ 9 บ้านกง ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ ประกอบอาชีพทำไร่ ปลูกผัก ได้แก่ ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง แตงกวา การค้าขายดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีพ่อค้าคนจีนมารับซื้อผลผลิต ไปขายทางกรุงเทพมหานคร ป้ากุหลาบรับจ้างบ้างทั่วไป รับจ้างดายหญ้าไร่ข้าวโพดค่าแรงวันละ 5 บาท ขยับขึ้นมาเป็นวันละ 7 บาท หาเก็บหน่อไม้ขายบ้าง เนื่องจากอดีตพื้นที่ชุมชนเป็นป่าไผ่ปกคลุม รับจ้างไสหน่อไม้บ้าง (ไสเป็นชิ้นเล็ก ๆ เอาไปดอง) ค่าจ้างงานกิโลกรัมละ 1 สลึง ขึ้นค่าแรงเป็นกิโลกรัมละ 50 สตางค์ (เปรียบเทียบค่าเงิน สมัยนั้นทองคำบาทละ 300-400 บาท) รับจ้างตัดหัวปลาสร้อยปี๊บละ 1 บาท ขายก๋วยเตี๋ยวหยก ป้ากุหลาบทำหลากหลายอาชีพก็ยังไม่ได้ละทิ้งการทำประมงหาปลาขาย ก็ยังคงทำหลากหลายอาชีพร่วมกันไปในเวลาเดียวกัน ส่วนอาชีพประมงของป้ากุหลาบนั้นจากการสัมภาษณ์ ป้ากุหลาบให้ข้อมูลว่า ลงเรือประมงร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ เครื่องมือที่ใช้หาปลา ได้แก่ งัดสนั่น ดักลอบยืน ลงเบ็ด ลากอวน โดยสมัยก่อนนั้นใช้เรือพายและแจว ยังไม่มีเครื่องยนต์จะมีเครื่องยนต์ช่วงหลัง ๆ
ป้ากุหลาบให้เหตุผลว่า การประกอบอาชีพที่หลากหลายยาวนานมาเกือบเวลา 10 ปี เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง กาลเวลาเปลี่ยนแปลง ค่าเงินเริ่มสูงขึ้น การกินอยู่แบบสมัยก่อนที่ทำประมงพียงอย่างเดียวเริ่มไม่พอกินพอใช้จ่าย ลูกหลาน ผู้คนเริ่มมีมากขึ้นในชุมชนที่ป่าไผ่กลายเป็นที่ทำไร่ทำนา ไม้ไผ่ยัดบวบเรือนแพเริ่มหายาก จึงตัดสินใจย้ายขึ้นมาอยู่บนเกาะกงสร้างบ้านเรือน คุณป้ากุหลาบแต่งงานตอนอายุ 20 กว่าปี ราว พ.ศ. 2522 คุณป้ากุหลาบได้ประกอบอาชีพทำอาหาร คือ ผัดไทย สมัยก่อนขายอยู่ริมแม่น้ำยม เวลาเรือสินค้าหรือเรือชาวบ้านผ่านก็แวะซื้อขายกัน ผัดไทยห่อใบควงราคาห่อละ 2 บาท ใส่ไข่ห่อละ 3 บาท และค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นห่อใบตองสืบเนื่องมาจากคุณยายเหรียญมีสูตรอร่อยที่ทำกินกันมาในครอบครัวตั้งแต่อดีต ซึ่งในอดีตเรียก ก๋วยเตี๋ยวหยก สูตรก๋วยเตี๋ยวหยกคุณป้ากุหลายอธิบายดังนี้ วัตถุดิบประกอบด้วย เส้นเล็ก (ทำขึ้นเองด้วยแป้ง) ถั่วฝักยาว (ปลูกเอง) กากหมู น้ำมันหมู กระเทียมเจียว หัวไชโป้วและถั่วลิสง(ขาดไม่ได้) ขั้นตอนการทำคือ ทำการลวกเส้น และถั่วฝักยาว ไม่ใช่การผัดแบบปัจจุบัน เอามาคลุกเคล้าน้ำมันหมู กากหมู ใส่กระเทียมเจียวให้หอม ๆ ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ จากนั้นได้มีการปรับปรุงสูตรกลายเป็นผัดไทย ซึ่งการขายผัดไทยของป้ากุหลาบได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบันร่วม 45 ปีแล้ว ซึ่งร้านของคุณป้ากุหลาบชื่อ ร้านผัดไทยใบตอง ร้านอาหารขึ้นชื่อร้านเด็ดร้านดังประจำอำเภอกงไกรลาศอีกด้วย
สรุปได้ว่า คุณป้ากุหลาบให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงภาพในอดีตของชาวชุมชนเกาะกงได้อย่างชัดเจน ชาวชุมชนเกาะเดิมล้วนอาศัยอยู่บนแพ บอกเล่าเหตุผลของการอพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือน ละทิ้งการอยู่อาศัยบนแพให้เหลือแค่ภาพความทรงจำที่ดีในชีวิตวัยเด็ก ความยากลำบาก การดิ้นรนประกอบอาชีพ สร้างชีวิตตามยุคสมัยที่เปลี่ยนผันตามกาลเวลา นับว่าเป็นข้อมูลวิถีชีวิตเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวชุมชนเกาะกง
2. นายขาว กลิ่นขจร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นบุคคลที่อยู่อาศัยบนแพบ้านกงตั้งแต่เกิด ปัจจุบันอายุ 76 ปี มีคุณปู่ชื่อว่า นายช่วย(ไม่ใช่คนบ้านกง) ตาขาวรู้เพียงแค่คุณปู่มาจากข้างล่างเท่านั้น ส่วนคุณย่าชื่อว่าเปลื้อง พื้นเพเป็นคนบ้านกง ตาขาวเล่าว่า คุณปู่และคุณย่ามีลูกด้วยกัน 3 คน คือ นายชู นายชิด และนายเชิด แต่อยู่ด้วยกันได้ไม่เท่าไหร่ เนื่องจากคุณปู่ช่วยเป็นคนขี้ขโมย จึงถูกเนรเทศจากบ้านกง อีกทั้งคุณพ่อของย่าเปลื้องจึงสั่งไม่ใช่ลูกๆ ของย่าเปลื้องใช้นามสกุล บุนนาค อันเป็นนามสกุลของคุณปู่ช่วย ดังนั้น ลูก ๆ ของย่าเปลื้องจึงได้ใช้นามสกุล กลิ่นขจร อันเป็นนามสกุลคุณย่า ซึ่งตาขาวและลูกหลานก็ได้ใช้ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
สมัยเมื่อตาขาวยังเด็กก็ได้อาศัยอยู่บนแพกับพ่อและแม่ ตาขาวเล่าให้เห็นภาพความยากลำบาก ในสมัยก่อนที่อยู่แพว่า ลำบาก เหนื่อยมาก เวลาระดับน้ำแม่น้ำยมสูงขึ้นก็ต้องคอยถอยแพให้อยู่ริมตลิ่ง ถ้าระดับน้ำต่ำแล้ว(น้ำลง)ต้องถอยแพออกไปอยู่กลางน้ำแม่น้ำยม ยามเจอมรสุมลมพายุ ฟ้าร้องฝนตกแรงต้องตอกหลักโตงเพื่อผูกแพเอาไว้ สำหรับตาขาวแล้วนิยมคนแพเกาะกงว่า “กินในน้ำ ขี้ในน้ำ” มันเป็นชีวิตที่อนาถ ลำบาก นอกจากนี้ คุณพ่อของตาขาวก็ยังป่วย และคุณแม่เป็นโรคเหน็บชา ตาขาวจึงต้องช่วยพ่อหาปลาลงเบ็ด เมื่อลงเบ็ดได้ปลามา ขาวจะเป็นคนเอาปลาร้อยเป็นพวงไปขายที่ตลาดหน้าวัดกงไกรลาศ จำพวกปลากรด ปลาสวาย บ้างวันก็ขายไม่หมด ด้วยเหตุนี้ ลุงขาวเล่าว่า ทำให้ไม่ได้ไปโรงเรียนบ่อยครั้ง พออายุได้ 15-16 ปี โรงเรียนก็ให้ออกจาการเรียน เพราะว่าอายุเกินกำหนด ตาขาวจึงเรียนไม่จบชั้นประถม 4 ตาขาวยังเล่าอีกว่า ด้วยความจนของครอบครัวตาขาวจึงมีชุดนักเรียนใส่ไปโรงเรียนแค่ 1 ชุด บางวันฝนตกชุดนักเรียนเปียก วันรุ่งขึ้นเสื้อผ้ายังไม่แห้ง ก็ไม่กล้าไปโรงเรียนเพราะอายเพื่อน ๆ จึงต้องขาดเรียนไป
หลังจากออกจากโรงเรียน นอกจากหาปลาแล้วตาขาวไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร จึงนั่งรถสองแถวจากบ้านกงเข้ามายังจังหวัดพิษณุโลก ตาขาวจึงได้พบเจอและพุดคุยกับคนปั่นสามล้อถีบ ตาขาวมองเห็นโอกาสทำมาหากิน ก็เลยกลับมาเก็บเงินที่บ้านกง โดยการปักเบ็ด ได้เงินจำนวน 60 บาท ก็เอาไปวางมัดจำแล้วนำรถสามล้อมาถีบ พร้อมกันกับค่ารถสามล้ออีกวันละ 10 บาท ตอนที่มาปั่นสามล้อถีบอยู่พิษณุโลก ตาขาวไม่ได้เช่าห้องอยู่ แต่อาศัยนอนอยู่ใต้ศาลาวัดโคกมะตูม ด้วยผ้าห่มเพียง 1 ผืนที่มีอยู่เท่านั้น ตาขาวถีบสามล้ออยู่สักพักใหญ่ก็ย้ายไปทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่ร้านมิตรใกล้ ซึ่งเป็นร้านที่ทำการค้าขายธัญพืชต่าง ๆ หน้าที่หลักของตาขาวก็คือแบกกระสอบข้าวโพดน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นรถบรรทุก ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด โดยได้รับเงินเดือน 600 บาท พร้อมที่พักและข้าว 2 มื้อต่อวัน ตาขาวทำงานอยู่ที่ร้านมิตรใกล้ราวสองปี ก็เปลี่ยนงานใหม่ไปเป็นท้ายรถโดยสารบ้านกง-น้ำเลื่อง เงินเดือน 50 บาท ในคราวนี้เองที่ตาขาวมีโอกาสได้หัดขับรถ พอขับรถเป็นแล้วน้าชายของตาขาวจึงชวนให้ไปเป็นท้ายรถให้กับร้านค้าไม้แสงศิริที่พิษณุโลก ได้รับเงินเดือน 400 บาท ทำอยู่ราว 2 ปี ก็ย้ายมาขับรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลกของนายอนันต์ ภักดิ์ประไพ ได้รับเงินเดือน 500 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 25 บาท ตอนนั้นตาขาวจำได้ว่าราคาข้าวแกงเพียงจานละ 3 บาทเท่านั้น
ตาขาวเล่าให้ฟังว่า ภรรยาคนแรกชื่อ สงัด นาคสิริ เป็นหลานสาวกำนันเชย มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน ชื่อ น้ำค้าง แต่ด้วยแม่ยายไม่ชอบตาขาว เพราะว่าพ่อตาแม่ยายเป็นลิเกจะชวนไปปิดวิค แต่ไม่ค่อยให้เงินตาขาว ตาขาวจึงไม่ไปด้วย ต่อมาตาขาวก็ได้เจอภรรยาคนที่สองอยู่กันมาจนถึงปัจจุบัน ชื่อว่า นางจรูญ ตอนอายุใกล้ 30 ปี เพราะว่าจอดรถคู่กัน โดยตาขาวขับรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก ส่วนนางจรูญขับรถสองแถวพิษณุโลก-เต็งหนาม ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน ชื่อว่า พงษ์นคร
หลังจากอยู่กินกับภรรยาคนปัจจุบันแล้ว พ่อตาของตาขาวได้ขายรถสองแถวให้ในราคาถูก ตาขาวจึงตัดสินใจมาซื้อคิวรถสายพิษณุโลก-บ้านกง ในราคา 10,000 กว่าบาท โดยไปขอยืมเงินจากแม่ยาย แม่ยายของตาขาวได้ถอดเข็มขัดนาคและสร้อยคอทองคำให้มา นอกจากนี้ ตาขาวยังรับเหมาขับรถส่งคนด้วย เคยไปไกลที่สุดถึงจังหวัดภูเก็ต ขับรถคนเดียวติดต่อกันเป็นเวลาถึง 2 วันสองคืน เมื่อเล่าถึงตรงนี้ ตาขาวยอมรับว่าการรับเหมาขับรถทางไกลของตนนั้นทำให้ตนต้องเสพยาบ้า เคยซื้อยาบ้าเสพจนถึงราคาเม็ดละ 100 บาท จนกระทั่งวันหนึ่ง ตาขาวกำลังเลี้ยงหลานอยู่ แล้วตนมีอารมณ์หงุดหงิดและรู้สึกว่าตนควบคุมตนเองไม่ได้ ตาขาวคิดว่าเป็นผลมาจากการเสพยาบ้าและรู้สึกไม่ดีกับตนเองและครอบครัว กอปรกับขณะนั้นลูกชายของตาขาวสามารถสอบตำรวจได้ กลัวว่าถ้าตนถูกจับได้ว่าเสพยาบ้าแล้วจะถูกสืบสาวไปถึงลูกชายที่เป็นตำรวจและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ตาขาวจึงตัดสินใจไปเข้ารับการบำบัดที่ศูนย์บำบัดยาเสพติด ภาคเหนือ ก.ม.28 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ตาขาวเล่าให้ฟังว่า ตนไปบำบัดเป็นเวลา 21 วัน ก่อนกลับโรงพยาบาลได้ตั้งรูปหลวงปู่แหวน หลวงพ่อพุทธชินราช มีกระถางธูปและให้ปฏิญาณตนเพื่อเลิกยา ถ้ากลับไปเสพยาบ้าอีกครั้ง ก็ขอให้ครอบครัวพินาศไป หลังจากบำบัดเสร็จก็ทำให้ตาขาวเลิกยาเสพติดได้ขาด ไม่นานหลังจากเลิกเสพยา ตาขาวก็ขายรถสองแถวและปลูกบ้านหลังใหม่ อาศัยอยู่กับภรรยามาจนถึงปัจจุบัน
จากการบอกเล่าของตาขาว แสดงให้เห็นการใช้ชีวิตที่แสนลำบากในอดีตสมัยอยู่แพเกาะกง ทุกชีวิต ทุกครอบครัวย่อมเผชิญปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องและเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว คุณตาขาวถือเป็นบุคคลที่บอกเล่าวิถีชีวิตในอดีต และเป็นครอบครัวตัวอย่างให้กับผู้คนรุ่นใหม่ได้
3. นางเฉลา บุญสิงห์ หญิงชราวัย 87 ปี เป็นคนบ้านกงแต่กำเนิด เกิดบนเรือกระแซงที่จอดอยู่ริมตลิ่ง แม่น้ำยม เมื่อ พ.ศ. 2479 คุณพ่อและคุณแม่ชื่อว่า นายเอก และนางมาลัย คำขยาย มีพี่น้องท้องเดียวกัน 10 คน ซึ่งเสียชีวิตกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ยายเฉลาเป็นบุตรคนโต และมีน้องอีกสองคน ชื่อ แฉล้มและทับทิม ที่เติบโตมาด้วยกันจนแก่เฒ่า ยายเฉลาเล่าว่า พอโตขึ้นมาได้สักระยะก็มีเพื่อนบ้านชักชวนให้มาปลูกกระท่อมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม โดยซื้อที่ดินจากตาบก ยายแม้น แต่เนื่องจากยายเฉลากำลังเด็ก กอปรกับพ่อแม่ก็ไม่ค่อยสบาย จึงทำให้ไม่สามารถถางที่ปลูกบ้านได้มากนัก สำหรับยายเฉลาดูเหมือนชีวิตในวัยเด็กของยายจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก ยายเฉลาเล่าว่า เมื่อก่อนนี้สนุกสนาน มีการร้องรำทำเพลงกัน ในตอนห้าโมงเย็น ยายเฉลาจะแต่งตัวเพื่อไปฟังข่าวทางวิทยุกับป้าและอา ที่หน้าอำเภอกงไกรลาศทุกวัน ยายเฉลายังจำได้อีกว่า ตอนยายอายุ 9-10 ขวบ ที่หน้าอำเภอจะมีการจัดงานรัฐธรรมนูญกัน
เมื่ออายุ 14 ปี พ่อและแม่ได้พายายเฉลาไปจับปลาอยู่ที่หนองกาว ที่นั่นเป็นหนองขนาดใหญ่ที่ญาติพี่น้องของยายเฉลาสามารถรวมหุ้นและประมูลการจับปลากับทางราชการได้ ยายเฉลาและพ่อกับแม่จับปลาอยู่หนองกาวเป็นเวลา 3 ปี ที่นั่นจะมีพ่อค้าปลาคือ โกเชียรเจ้ชิว มารับซื้อปลาถึงที่ ยายเฉลาจับปลาอยู่หนองกาวจนกระทั่งรวมเงินซื้อกระดานไม้ได้ 4 ยก และเสาบ้านอีก 1 สำรับ เท่ากับเสาไม้ 12 ต้น ซึ่งต่อมายายเฉลาก็ได้นำเอาไม้เหล่านั้นมาสร้างบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน เมื่ออายุได้ 25 ปี ยายเฉลาแต่งงานกับนายละมุน บุญสิงห์ คนบ้านชุมแสง บางระกำ มีลูกด้วยกัน 6 คน คือ สำลี นฤมล เด็กชาย (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก) ณรงค์ นเรศ และโกมินทร์
ยายเฉลาเริ่มทำงานก่อสร้าง เมื่ออายุได้ 35 ปี จนกระทั่งอายุได้ 43 ปี เพื่อนบ้านของยายเฉลาได้มาพูดคุยด้วยเกี่ยวกับสามีของเธอที่ทำงานก่อสร้างอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และได้แนะนำยายเฉลาให้ไปทำงานก่อสร้างกับสามีของเธอ ที่บริเวณแขวงดาวคะนอง เขตธนบุรี ยายเฉลาจึงตัดสินใจนั่งรถไฟลงกรุงเทพมหานครพร้อมกับลูกสาว 2 คน เพื่อไปทำงานก่อสร้างที่แขวงดาวคะนอง โดยมีเงินติดตัวไปทั้งสิน 200 บาท ได้นำไปจ่ายค่าตั๋วรถไฟ คนละ 45 บาท เมื่อถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เหมารถให้ไปส่งที่แขวงดาวคะนองอีก 50 บาท ยายเฉลาไม่ทราบว่าสามีของเพื่อนบ้านเธอนั้นทำงานก่อสร้างอยู่ ณ ส่วนไหนของแขวงดาวคะนอง ยายเฉลาจำได้ว่า คนขับรถได้พอเธอไปส่งหน้าร้านขายของชำแห่งหนึ่ง โชคดีที่เจ้าของร้านขายของชำบอกว่า แถวนี้ไม่มีการทำงานก่อสร้างกันเลย แล้วก็ให้รออยู่ที่ร้านก่อน ฟ้าสว่างค่อยออกเดินทาง พอฟ้าสว่างแล้ว คนขายของชำได้บอกว่าให้ข้ามคลองน้ำไป บริเวณนั้นมีการก่อสร้างและมีคนสุโขทัยมารับจ้างก่อสร้างจำนวน อาจเจอคนรู้จักที่นั้น ยายเฉลาเล่าว่า เธออธิฐานต่อหลวงพ่อโต วัดกงไกรลาศให้นำทางเธอไป ขออย่าให้เธอได้อดอยาก การเดินทางไปกรุงเทพมหานครครั้งนี้ทำให้ยายเฉลาอยู่ทำงานก่อสร้างอยู่เกือบ 10 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2522-2530
ยายเฉลาเล่าให้ฟังว่า เมื่อทำงานก่อสร้างอยู่กรุงเทพมหานครได้เกือบ 10 ปี แล้วในคืนหนึ่งก็มีคนมาเข้าฝันบอกว่าให้ยายเฉลากลับบ้าน กลับบ้านไปก็ไม่อดตายหลอก ในฝันยายเฉลาก็เถียงเขาว่า ขอทำงานอยู่อีก 6 เดือน ค่อยกลับ พอตื่นเช้ามายายเฉลาจะไปทำงาน ขณะที่กำลังรอรถเมล์อยู่นั้น อยู่ ๆ ก็มีรถวิ่งเข้ามาชนตัวเองจนสลบไป พอค่อยรู้สึกตัวขึ้นมา ก็ได้ยินเสียงหนึ่งพูดว่า ให้ปล่อยไว้ตรงนี้แหละเดี๋ยวก็รู้สึกตัวได้เอง ยายเฉลาเล่าว่ามารู้สึกตัวอีกที่เมื่ออยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว เขาได้ให้น้ำเกลือขณะนอนอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น ตำรวจมาบอกกับยายเฉลาว่าพวกประกันมาจ่ายเงินให้หมอที่โรงพยาบาลเพื่อเขียนรายงานอาการที่ยายเฉลาถูกรถชนว่าไม่เป็นอะไร ประกันจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินให้ ขณะที่นอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนั้นเองที่เธอบอกกับตัวเองว่า เธอยอมกลับมาอยู่บ้านกงแล้ว และยังได้ภาวนาขอให้มีลูกหลานมาอยู่ด้วยกันที่บ้านกงด้วย ในปัจจุบันยายเฉลาอาศัยอยู่กับลูกหลานตามที่ภาวนาไว้เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน
4. นายปั่น สุทธิวิลัย ชายชราวัย 87 ปีเมื่อ พ.ศ. 2479 ได้เกิดและใช้ชีวิตอาศัยอยู่บนแพ ซึ่งเดิมเป็นคนบ้านกงแต่กำเนิด เป็นลูกของนายป้อมกับนางเปลื้อง บรรพบุรุษฝ่ายพ่อที่ตาปั่นจำได้ มีปู่ชื่อว่า นายป้อก มีย่าชื่อ นางห้อย ส่วนบรรพบุรุษฝ่ายแม่ จำได้แต่ยาย ชื่อว่า นางเขียว ตาปั่นนับว่าเป็นบุคคลของชุมชนบ้านกง เนื่องจากเป็นผู้ที่อาศัยและมีประสบการณ์มาก สามารถเล่าและถ่ายทอดความรู้เชิงประวัติศาสตร์ของบ้านกงได้ ตาปั่นเล่าว่า ตอนอยู่แพมีความสะดวกสบาย แต่ก็ย่อมมีความลำบากช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ตาปั่นเคยขึ้นจากแพมาอยู่บนเกาะกงครั้งแรก ตอนอายุได้ประมาณ 30 ปี โดยให้เหตุผลว่า หาไม้ไผ่ยัดบวบยาก สืบเนื่องมาจากคนตัดไม้ไผ่เพื่อบุกเบิกที่ดินทำไร่ทำนากันหมด เมื่ออายุประมาณได้ 50 ปี ตาปั่นก็ได้ลงไปอยู่แพอีกครั้ง เพราะว่าตอนนั้นได้ทำกระชัง เพื่อเลี้ยงปลา พอเลิกทำกระชังปลาก็ได้ย้ายกลับขึ้นมาอยู่ฝั่งบนเกาะกงอีกครั้ง คือ บ้านที่อาศัยอยู่ ณ ปัจจุบัน หมู่ 12 ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ ส่วนอาชีพของตาปั่นนั้น ตาปั่นเล่าให้ฟังว่าทำมาหลากหลายอาชีพ ทั้งทำประมงพื้นบ้าน คือ ตีอวน ทอดแห งัดสนั่น เคยปลูกยาสูบ เคยรับจ้างทั่วไป เคยเผาถ่านขาย เคยทำกสิกรรม ปลูกแตง ปลูกมะระ แม้กระทั่งเคยลงไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพมหานครอยู่เกือบ 2 ปี โดยยกกันลงไปทั้งครอบครัว ข้อมูลทางด้านครอบครัว ตาปั่นแต่งงานกับยายปลั่ง ภรรยาได้เสียชีวิตไปแล้ว ทั้งสองคนมีลูกด้วยกัน 6 คน ชื่อว่า สวัสดิ์ สุวรรณ ปัญญา ดำรง เฉลิม และมณฑาทิพย์ ในบรรดาลูกทั้ง 6 คน มีเพียงดำรงเท่านั้นที่ตั้งรกรากใหม่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร
5. นายยิ้ม ศรีผ่องใส เป็นบุคคลที่เกิดบนแพริมแม่น้ำยม ปีนี้มีอายุได้ 93 ปีแล้ว โดยเกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ตายิ้มเป็นชายชรารูปร่างผอมเล็ก สุขภาพร่างกายดูแข็งแรงดี อีกทั้งความทรงจำก็ยังแม่นยำ เมื่อถามถึงเรื่องราวความเป็นมาของบรรพบุรุษของตายิ้ม ตายิ้มจำได้ถึงชั้นปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษฝั่งพ่อของตายิ้มเป็นคนอพยพมาจากทางใต้ ปู่ชื่อว่า นายแย้ม ส่วนย่าชื่อว่า นางหยวก ปู่และย่าของตายิ้มทำอาชีพค้าขาย ปู่มีเรือบรรทุกข้าวขนาด 40 เกวียน ย่ามีเรือบรรทุกข้าวขนาด 25 เกวียน โดยจะไปรับซื้อข้าวตามบ้านนอกมารวบรวมไว้ในยุ้งข้าว เพื่อรอให้ถึงฤดูน้ำ เมื่อน้ำในแม่น้ำยมเต็มตลิ่งก็จะนำข้าวที่รวบรวมไว้ลงใส่เรือ จากนั้นก็ล่องเรือลงไปขายที่กรุงเทพมหานคร ในการลงไปค้าข้าวแต่ละครั้งนี้ เมื่อขายข้าวเสร็จแล้วจะต้องรีบกลับมายังบ้านกง เพื่อมาให้ทันตักบาตรข้าวต้มในช่วงเดือน 11-12 ตายิ้มเองก็เคยล่องเรือไปค้าข้าวกับปู่และย่ายังกรุงเทพมหานคร
ตายิ้ม ศรีผ่องใส แต่งงานครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปี ภรรยาคนแรกชื่อว่า ทองคำ อยู่กินด้วยกันจนตายิ้มอายุได้ 40 กว่าปีก็เลิกรากันไป ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 5 คน ชื่อว่า สายสุนีย์ สุรปัญญา สนธยา สุรชาติ และรัชนี จากนั้นก็แต่งงานครั้งที่สองกับ ปทุม มีลูกชายด้วยกัน 1 คน ชื่อว่า คมกฤช สำหรับที่อยู่อาศัยตายิ้มอาศัยอยู่แพตั้งแต่เกิดจนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2518 จึงขึ้นมาสร้างบ้านอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำยม โดยการซื้อไม้สักมาจากบ้านหนองตูม 2 ยก ยกละ 200 บาท ส่วนการประกอบอาชีพนั้น ตายิ้มเคยเป็นนายบุรุษไปรษณีย์คนแรกของอำเภอกงไกรลาศ เริ่มทำงานเมื่อ พ.ศ. 2498 อายุได้ 25 ปี ได้รับเงินเดือน 150 บาท ตายิ้มทำงานบุรุษไปรษณีย์จนถึง พ.ศ. 2517 จึงลาออก เพราะว่าตอนนั้นทางราชการให้ตายิ้มไปสอบแข่งขันเพื่อเป็นบุรุษไปรษณีย์ไม่ได้บรรจุให้ ตายิ้มจึงเลือกที่จะไม่ไป ตอนลาออกได้รับเงินเดือน 1,500 บาท เมื่อลาออกมาแล้วก็มาทำอาชีพประมงพื้นบ้านทั้งทอดแห ลากข่าย ลงเบ็ด ลงจั่น และงัดสนั่นร่วมกับปทุม ผู้เป็นภรรยา มาอย่างต่อเนื่อง
ทุนทางสังคม ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานประจำปีที่ริเริ่มโดยผู้นำชุมชน สมาชิกในชุมชนคนไหนที่ว่างจากการทำงานก็จะเสียสละเวลามาช่วยงานเสมอ หรืองานประจำปีของวัดกงไกรลาศ สมาชิกของชุมชนซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโต วิหารลอย และหลวงพ่อย่น อดีตเจ้าอาวาศวัดกงไกรลาศ ก็จะมาร่วมลงแรงกันจัดงานประจำปีที่วัดอย่างแข็งขันเหล่านี้ล้วนเป็นทุนสังคมของชุนชนเกาะกงในด้านการร่วมมือ ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสมาชิกในชุมชนเกาะกงเป็นอย่างดี
ทุนทางวัฒนธรรม ชาวบ้านกงมีภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพประมง และภูมิปัญญาในการถนอมอาหารจากปลาประมง โดยภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพประมงของชาวบ้านกงนั้นมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านการประมงมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษมายังรุ่นลูก จากการสำรวจข้อมูลพบว่าร้อยละ 90 การประกอบอาชีพประมงของชาวบ้านกงมีเครื่องมือที่หลากหลายชนิดแต่ละชนิดย่อมมีความแตกต่างกัน และแต่ละชนิดก็ถูกนำมาใช้ในแต่ละช่วงเดือน อีกทั้งการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ยังมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำอีกด้วย เครื่องมือและวิธีการการประมงมีดังนี้ แห ข่าย ลอบ อวน งัดสนั่น เบ็ด ยกยอ ลี่ดักปลา ลงพุ่ม ตีพุ่ม เป็นต้น
ภาพที่ 15 และ 16 เครื่องมือหาปลา: เรืองัดสนั่น ถ่ายโดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
ภาพที่ 17 วิธีการหาปลา: ยกยอ ถ่ายโดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
ภาพที่ 18 วิธีการหาปลา: ลงข่าย ถ่ายโดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
ภาพที่ 19 วิธีการหาปลา: รอปลาเพื่องัดสนั่น ถ่ายโดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
ภาพที่ 20 วิธีการหาปลา: ลี่ดักปลา ถ่ายโดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
ภาพที่ 21 วิธีการหาปลา: ลงพุ่ม ถ่ายโดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
ภาพที่ 22 การถนอมอาหารจากปลาประมง: ปลาเกลือ โดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
ภาพที่ 23 การถนอมอาหารจากปลาประมง: ปลาย่าง ถ่ายโดยผู้วิจัย, มกราคม 2566
อีกทั้งทุนวัฒนธรรมในชุมชนยังมีหลวงพ่อย่น และหลวงพ่อโตวิหารลอย ซึ่งหลวงพ่อโต (วิหารลอย) หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ประดิษฐานอยู่ที่วัดกงไกรลาศ ตำบลกง สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2333 คำว่า ‘วิหารลอย’ มาจากทุกปีที่แม่น้ำยมจะท่วมมาที่บริเวณวัดทำให้ศาลาและกุฏิต้องยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำแต่วิหารหลวงพ่อโตที่อยู่บริเวณเดียวกันกลับดูเหมือนลอยพ้นน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าใต้วิหารของหลวงพ่อโตมีเรือสละเงินและทองหนุนให้วิหารลอยน้ำ โดยมีโซ่ล่ามมาผูกไว้ที่ต้นโพธิ์
ภาพที่ 24 ประวัติหลวงพ่อโตวิหารลอย ณ วัดกงไกรลาศ โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
ภาพที่ 25 หลวงพ่อโตวิหารลอย ณ วัดกงไกรลาศ โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
ภาพที่ 26 วิหารหลวงพ่อโต(วิหารลอย) ณ วัดกงไกรลาศ โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโต (วิหารลอย) เล่ากันว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 ช่วงที่ทัพพม่าได้ยกทัพผ่านบ้านกง ทหารพม่าได้ยิงปืนใหญ่ถล่มวิหารของหลวงพ่อจนเกิดความเสียหายทั้งวิหารแต่ไม่โดนองค์พระ ทำให้หลวงพ่อโต (วิหารลอย) ต้องตากแดดตากฝนหลายสิบปี ต่อมาคืนหนึ่งของวันเพ็ญเดือน 3 ชาวบ้านได้ยินเสียงดังสั่นสะเทือนมาจากบริเวณวัด รุ่งเช้าก็พบว่าหลวงพ่อได้เคลื่อนไปประทับที่ใต้ต้นคูนห่างจากที่เดิมประมาณ 3 วา นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งชาวบ้านกล่าวขานถึงอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อโต (วิหารลอย) คือ เหตุการณ์ในงานประจำปีเพื่อปิดทองนมัสการหลวงพ่อโต (วิหารลอย) พ.ศ. 2546 ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ในครั้งนั้นได้มีกิจกรรมการแสดงบินผาดโผนและได้เกิดลมบ้าหมูขึ้นทำให้เครื่องบินร่วงตก แต่นักบินรอดชีวิต นักบินคนนั้นได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ในระหว่างเครื่องตก ตนเองได้ภาวนาถึงหลวงพ่อให้ช่วยตน ซึ่งทำให้เขารอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์จากบารมีของหลวงพ่อโต (วิหารลอย) จากเรื่องเล่าความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ ทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา หลวงพ่อโต (วิหารลอย) จึงเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของบ้านกง (สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุโขทัย, ม.ป.ป.: 11)
ภาพที่ 27 ปาฏิหาริย์หลวงพ่อโต โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
ส่วนหลวงพ่อย่น พระครูไกรลาศสมานคุณ (หลวงพ่อย่น ติสสโร, 2448-2424) เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดกงไกรลาศ เกิดที่บ้านวังแร่ ตำบลวังแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระที่มีชื่อเสียง มีวิทยาคุณในหลายด้านโดยเฉพาะด้านเมตตา ท่านได้ศึกษาวิชาจากพระเกจิอาจารย์หลายท่าน และยังมีลูกศิษย์ลูกหานับถือมากมาย ทั้งนี้ ท่านมักจะสอนให้ลูกศิษย์ดำรงอยู่ในศีล 5 กับถือสัจจะ เพราะถ้าไม่มีสองสิ่งนี้ วัตถุมงคลจะไม่มีความหมาย ด้วยกิตติศัพท์ของหลวงพ่อย่นทำให้ท่านได้รับการนับถือจากพลโทสำราญ แพทยกุล แม่ทัพภาคที่สาม จังหวัดพิษณุโลก ในการบูรณะวัดกงไกรลาศ นอกจากนี้ หลวงพ่อย่นยังได้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพันอ้น จังหวัดเชียงใหม่ และพิธีพุทธภิเษกที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลกอีกหลายครั้ง ต่อมาลูกศิษย์ได้ร่วมกันทำวัตถุมงคล เป็นเหรียญหลวงพ่อย่นทั้งหมด 3 รุ่น ซึ่งในปัจจุบันมีราคาสูงมาก หลวงพ่อย่นมรณภาพในปี พ.ศ.2524 ด้วยบารมีของหลวงพ่อย่นทำให้ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสองค์สำคัญของวัดกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
ภาพที่ 28 และ 29 ประวัติโดยย่อของหลวงพ่อย่น โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
ทุนทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยชาวชุมชนบ้านกงมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับแม่น้ำยมอย่างใกล้ชิด ในอดีตชุมชนเกาะกงประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้านเป็นหลัก โดยจะปรับเปลี่ยนการหาปลาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปตลอดทั้งปี การหาปลาในแม่น้ำยมนั้นอุดมสมบูรณ์มาก ปลาที่หาได้จึงมีปริมาณมากเกินกว่าจะสามารถขายในรูปแบบปลาสดได้ทั้งหมด ชุมชนเกาะกงจึ งต้องแปรรูปปลาสดเป็นสินค้า ได้แก่ ปลาร้าและน้ำปลา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันการทำประมงพื้นบ้านจะมีคนทำน้อยลงและปลาสดที่หาได้จากแม่น้ำยมจะไม่มากมายเท่าสมัยก่อนปลาสดที่ได้มาจึงไม่ได้นำไปแปรรูป เพราะสามารถขายให้กับร้านรับซื้อปลาสดได้โดยตรง แต่กระนั้นภูมิปัญญาการทำน้ำปลาและปลาร้าของชุมชนเกาะกงก็ยังคงไม่สูญหายไป เพราะยังมีผู้สูงอายุอยู่หลายคนที่ยังคงจดจำวิธีการแปรรูปเหล่านั้นได้ ทั้งนี้ เนื่องจากปลาที่หาได้น้อยลง คนในชุมชนบางคนจึงปรับตัวและหารายได้เพิ่มเติมจากการปลูกพืชผัก และนำไปทำเป็นผักดองที่มีความอร่อยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำนวนมาก
นอกจากนี้ การที่เทศบาลตำบลกงไกรลาศได้จัดให้มี “ตลาดริมยม พ.ศ.2437” ขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ต้นเดือนนั้น ทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสรู้จักชุมชนเกาะกงเพิ่มมากขึ้น เพราะบางครั้งนักท่องเที่ยวจะเดินชมวิถีความเป็นอยู่ของบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม จนกระทั่งเดินมาพบกับบ้านเรือนกลางน้ำหรือชุมชนเกาะกง
ภาพที่ 30 ตัดหัวปลาสดเพื่อนำไปทำปลาร้าและน้ำปลา ถ่ายโดยผู้วิจัย, 26 มกราคม 2566
ภาพที่ 31 น้ำปลา สินค้าจากร้านโกเชียร-เจ๊ชิว ถ่ายโดยผู้วิจัย, 26 มกราคม 2566
ทุนทางกายภาพ บ้านกงมีแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญจากภาคเหนือ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตจังหวัดพะเยาแล้วไหลผ่านเขตจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร มาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ปากน้ำเกยไชยในเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีปลาหลากหลายชนิดชุกชุม ได้แก่ ปลาฉลาด ปลาสลิด ปลาสร้อย ปลากระดี่ ปลาแดง เป็นต้น ประกอบกับช่วงหน้าน้ำมีเกาะกงกลางแม่น้ำยม จุดนี้เป็นลักษณะเด่นของชุมชนเกาะกง หน้าน้ำชาวบ้านกงจะหาปลาแม่น้ำยมเนื่องจากปลาชุมชุมมากหาปลาด้วยเครื่องมือหลากหลายชนิด ปลาสดที่ได้ส่วนใหญ่ชาวบ้านกงจะนำไปขายตลาดปลาในหมู่บ้าน อีกทั้งยังนำมาบริโภคอีกด้วย ส่วนหน้าแล้งพื้นที่เกาะกงชาวบ้านจะนิยมใช้พื้นที่ว่างเปล่ารอบ ๆ บ้าน สามารถปลูกพืชผักไว้ขายและไว้เพื่อบริโภคเช่นกัน
ภาพที่ 32 ปลูกพืชผักบริเวณรอบ ๆ บ้านเรือน โดยผู้วิจัย, 26 มกราคม 2566
พื้นที่เกาะกงที่เป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำยมยังเป็นสถานที่สำคัญ เนื่องจากเดิมในอดีตเป็นพื้นที่กว้างขวางมีบ้านเรือนหลายหลังคาเรือน จนสามารถตั้งที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศได้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่ราชพัสดุให้ชาวบ้านเช่าอยู่อาศัย เนื่องจากมีชาวบ้างกงประมาณ 10 กว่าหลังคาเรือนยังมีความต้องการ ความผูกพัน เลือกที่จะตั้งที่อยู่อาศัยบนพื้นที่เกาะกงเช่นเคย
ภาพที่ 33 ชุมชนบนพื้นที่เกาะกง โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
ภาพที่ 34 และ 35 บ้านเรือนชุมชนพื้นที่บนเกาะกง โดยผู้วิจัย, 8 กุมภาพันธ์ 2566
ชาวบ้านกงสื่อสารกันในชีวิตประจำวันโดยใช้ภาษาพื้นถิ่น(สุโขทัย) ในการติดต่อสื่อสาร พูดคุยกันเองในหมู่บ้าน และส่วนการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น หรือบุคคลภายนอกนั้น ชาวบ้านกงจะใช้ภาษากลางในการสื่อสาร
การสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อมุ่งพัฒนาชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป เช่น การสร้างถนนและการสร้างเขื่อนระบายน้ำ ไม่จะสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเกาะกงเอาเสียเลย ย้ำร้ายยังก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจครัวเรือนของคนในชุมชนเกาะกงอย่างมหาศาล ด้วยเหตุที่ว่าคนในชุนชนเกาะกงดำรงชีพด้วยการทำประมงพื้นบ้านเป็นหลัก เมื่อถึงฤดูฝนแล้วน้ำท่วม ชุมชนจะสามารถหาปลาได้มากมาย ทว่าเมื่อมีการสร้างถนนและการสร้างเขื่อนเป็นการขวางทางน้ำ น้ำจากแม่น้ำยมไม่สามารถกระจายเข้าสู่ท้องทุ่ง อันเป็นพื้นที่วางไข่ของปลาน้ำจืดได้ กอปรกับการบริหารงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการเปิด-ปิดเขื่อนกั้นน้ำยม ซึ่งในสายตาคนในชุมชนเกาะกงเห็นว่ามีผลประโยชน์บางเรื่องแอบแฝงเรื่องการจับปลาด้วยแล้ว สาเหตุเหล่านี้ทำให้คนในชุมชนเกาะกงย้ายออกจากเกาะ เพื่อไปประมาณอาชีพอย่างอื่นในช่วงตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
ชาวชุมชนบ้านกงให้ข้อมูลว่า อยากให้พัฒนาด้านการท่องเที่ยว และการเข้าถึงชุมชนเกาะกงมากขึ้น ต้องการทำถนนคอนกรีต และสะพานทางเท้ารอบ ๆ เกาะกง เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน ปัญหาน้ำกัดเซาะริมตลิ่งแม่น้ำยม ปัญหาการปิด-เปิดประตูกั้นน้ำ (ระดับน้ำขึ้นน้ำลง) อีกทั้งการประกอบอาชีพประมงยัง ติด พรบ. กฎหมายของกรมประมงฯ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำและพันธุ์ปลา ทำให้ถูกสงวนเรื่องการงัดสนั่น ส่วนน้ำแล้งปลาจะน้อยกว่าปกติ น้ำขึ้น(ฤดูน้ำ) ทำให้น้ำท่วมกลายเป็นเกาะกงกลางแม่น้ำยม ผู้คนที่อาศัยอยู่เกาะกงต้องอพยพย้ายที่อยู่อาศัยมาอยู่บนรอบ ๆ เกาะกง
ความท้าทายที่ได้จากการร่วมประชุมกับคนในชุมชนเกาะกง พบว่า ด้านสังคม ได้ข้อมูลว่า สังคมผู้สูงอายุเริ่มมีมากขึ้นในชุมชน คนในชุมชนเกาะกงออกไปประกอบอาชีพนอกประชุม เช่น ต่างจังหวัด และไม่ค่อยกลับมาอยู่ในชุมชน อีกส่วนคือผู้คนต่างออกไปประกอบอาชีพทำงาน “ต่างคนต่างไปทำงาน” ไม่ค่อยมีเวลาว่างเจอกัน พูดจาทักทาย พูดคุยกัน ในเหตุนี้อาจเป็นปัญหาที่จะทำให้ผู้คในชุมชนห่างจากกันก็ย่อมได้
ด้านวัฒนธรรม คือ บุคคลสำคัญในชุมชนยังไม่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน เช่น ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ชุมชน ความรู้และภูมิปัญญาการประกอบอาชีพประมงและการถนอมอาหารจากปลาประมง และคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน เช่น กิจกรรมวันสำคัญทางพุทธศาสนา
ส่วนใหญ่ของคนในชุมชนเกาะกงเป็นผู้สูงอายุ คนในชุมชนที่อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างและค้าขาย ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ความรู้หรือทักษะการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี และความรู้และทักษะด้านการวิจัยและพัฒนา อันส่งผลให้คนในชุมชนมีความรู้และทักษะเหล่านี้อย่างจำกัด
แม้ว่าชุมชนเกาะกงจะยังมีผู้อาวุโสเหลืออยู่ให้สัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลในเรื่องประสบการณ์ วิถีชีวิต และความทรงจำ ของคนในชุมชนในสมัยอดีต แต่ทว่าไม่มีการสอบถามหรือการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ของคนในชุนชนเกาะกงให้เป็นลายลักษณ์อักษรและทำอย่างเป็นระบบ มิพักต้องกล่าวถึงการร้อยรัดเรื่องราวต่างๆ ของคนในชุมชนเกาะกงใดๆ เพื่อสร้างเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งก็คือทุนทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นเลยไม่ นอกจากนี้ ชุมชนเกาะกงยังไม่ได้การประชาสัมพันธ์ถึงข้อมูลและความโดดเด่นของชุนชนอย่างตรงจุดและเหมาะสม
ธีระวัฒน์ แสนคำ, 1 พฤษภาคม 2554, “กงไกรลาศ” แห่งลุ่มน้ำยม จังหวัดสุโขทัย, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://lek-prapai.org/
Lily Huahin, 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556, ขนมกง ที่ กงไกรลาศ, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 จาก http://palilyhuahin.blogspot.com/
สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุโขทัย. (ม.ป.ป.). กงไกรลาศ สุโขทัย: เมืองที่ทุกอย่างแฝงไปด้วยความน่ารัก. (ม.ป.ท.: ม.ป.พ.)