ชุมชนที่มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ บนพื้นฐานของประเพณีความเชื่อและวัฒนธรรม
มาจากตำนานดอนแม่หม้าย
ชุมชนที่มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ บนพื้นฐานของประเพณีความเชื่อและวัฒนธรรม
หมู่บ้านหนองหล่มเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในชนบท พื้นที่มีภูเขาล้อมรอบทุกด้าน ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จากคำบอกเล่าถึงความเป็นมาของหมู่บ้านนั้นเดิมที่บริเวณหมู่บ้านหนองหล่มแห่งนี้เป็นหุบเขาที่มีความอุดมสมบรูณ์ภูมิประเทศเป็นป่าเขาล้อมรอบ มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่มากมาย ตั้งแต่ เสือ เก้ง กวาง ชะนี ลิง บริเวณที่ราบจะมีน้ำซึมและน้ำพุร้อน ไหลออกมาตลอดปี ประมาณปี พ.ศ. 2440 หนานปัญญา เลสัก อาศัยอยู่ที่บ้านเหล่าซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างจากบ้านหนองหล่มไปทางทิศเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นผู้บุกเบิกเข้ามาอยู่เป็นครอบครัวแรก สาเหตุที่ย้ายมา เนื่องจากในระยะนั้นบ้านเหล่ามีโรคอหิวาตกโรคระบาดและเกิดความแห้งแล้งขึ้น หนานปัญญา เลสัก จึงได้นำวัวควายมาเลี้ยง ย้ายครอบครัวมาปักหลักอยู่ที่นี่เป็นครอบครัวแรกที่ย้ายเข้ามาอาศัย จากนั้นได้มีครอบครัวอื่น ๆ ย้ายตามเข้ามาอาศัยอยู่จนขยายตัวมากขึ้นเป็นหมู่บ้านหมู่บ้านโดยได้ตั้งชื่อว่า “บ้านหนองหล่ม” สาเหตุที่ตั้งชื่อว่าบ้านหนองหล่มนั้น เพราะว่าบริเวณที่ราบจะมีน้ำซึมออกมาตลอดปี เวลาทำนา ดินจะเป็นเลนเวลาเดินเข้าไปบริเวณแผ่นดินตรงนั้นจะหล่มลงไปจึงนำมาตั้งชื่อของหมู่บ้านให้เห็นถึงความอุดมสมบรูณ์ของสภาพพื้นที่หมู่บ้าน พ่อน้อยมา ผดุงสัก ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าเดิมครอบครัวนั้นตั้งอยู่ที่บ้านสันป่าสักอยู่ห่างจากบ้านหนองหล่มประมาณ 7 กิโลเมตร ได้ย้ายครอบครัวมาเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย และได้สร้างบ้านที่บ้านหนองหล่ม ส่วนการย้ายผู้คนที่มาจากบ้านเหล่านั้นนอกจากเกิดความแห้งแล้งมากแล้ว อีกประการหนึ่ง รัฐบาลได้ทำทางรถไฟผ่านหมู่บ้าน ซึ่งบริเวณทางรถไฟบริเวณที่บ้านเหล่า เป็นเนินขึ้นเขารถไฟต้องใช้กำลังมาก เดิมรถไฟเป็นแบบใช้แรงของไอน้ำขับเคลื่อนโยใช้ฟืนต้มน้ำ จึงต้องใส่ฟืนให้มาก เถ้าถ่านจากฟืนได้กระเด็นจากรถไฟไปติดหลังคาบ้านเกิดไฟไหม้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจึงได้พากันอพยพย้ายไปที่อื่นจนสภาพเป็นหมู่บ้านร้างส่วนมากชาวบ้านได้ย้ายตามมาอยู่บริเวณนี้ ต่อมามีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น บ้านสันป่าสัก บ้านสันคะยอม บ้านป่าตึง บ้านหลุก บ้านหนองเหียง บ้านน้ำพุ บ้านห้วยม้าโก้ง ย้ายเข้ามาอยู่รวมกันที่บ้านหนองหล่มเพิ่มอีก
สำหรับระบบความสัมพันธ์นั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ในลักษณะความเป็นเครือญาติโดยสังเกตได้จากการใช้นามสกุลประมาณ 60-70% จะใช้นามสกุลเหมือนกัน เช่น เลสัก ติสัก แก้วสัก ผดุงสัก ตาสัก เป็นต้น จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ในหมู่บ้านมีนิทานประจำหมู่บ้าน ที่เล่าสืบต่อ ๆ กันมา คือ เรื่องดอนแม่หม้ายซึ่งเป็นบริเวณที่มีพื้นที่ดอนอยู่กลางหนองน้ำ ซึ่งในบริเวณข้างเคียงจะเป็นที่ที่มีน้ำซึมออกตลอดปี มีปลาชุกชุม บริเวณรอบ ๆ มีสภาพเป็นหล่ม ในนิทานนั้นได้อ้างอิงถึงชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในหมู่บ้านทำให้รู้สึกคล้ายเรื่องเกิดขึ้นจริงในหมู่บ้าน นอกจากนี้มีการจัดงานประเพณีดอนพญาหล่มให้เป็นงานประเพณีของหมู่บ้านที่จัดสืบเนื่องทุกปี
เรื่องดอนแม่หม้ายมีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนชาวบ้านอยู่ด้วยกันเป็นหมู่บ้านขนาดไม่ใหญ่นัก มีอยู่วันหนึ่งชาวบ้านได้ออกไปล่าสัตว์ ในวันนั้น ปรากฏว่าชาวบ้านจับงูเหลือมยักษ์ได้และไม่สามารถลากกลับหมู่บ้านได้ จึงได้กลับมาชักชวนให้ชาวบ้านไปช่วยกันลากงูเหลือมยักษ์กลับมายังหมูบ้าน ในบริเวณที่ลากงูเหลือมลงจากเขา ทำให้ต้นไม้น้อยใหญ่ล้มเอนไปทางเดียวกัน (บริเวณนี้เรียกว่า ดอยงู) ต้นไม้ที่ดอยนี้บางส่วนยังเอียงอยู่ เมื่อกลับมาถึงหมู่บ้านแล้วก็นำงูเหลือมมาประกอบอาหารรับประทานกัน ในหมู่บ้านมีเพียงหญิงหม้ายคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้ร่วมรับประทาน เมื่อชาวบ้านรับประทานแกงงูเหลือมแล้วก็ปรากฏอาเพศขึ้น แผ่นดินเกิดถล่มลงชาวบ้านที่ทางแกงงูเหลือมก็ถูกแผ่นดินสูบลงไปพร้อมกับแผ่นดิน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ลูกของเศรษฐีต่างหมู่บ้านที่ได้ชอบพอกับหญิงหม้าย กำลังขี่ม้ามาเพื่อจะมาขอหมั่นกับหญิงหม้าย เมื่อได้เห็นเหตุการณ์ก็ตกใจขี่ม้าหนีแต่แผ่นดินก็ยังถล่มใกล้เข้ามาทุกที ลูกเศรษฐีจึงได้ตัดสินใจถอดแหวนหมั่นทิ้งลง ปรากฏว่าดินที่ถล่มไล่ตามหลังก็หยุดถล่ม (บริเวณนี้เรียกว่า หนองแหวน) ส่วนลูกเศรษฐีรีบควบม้าหนีอย่างไม่คิดชีวิตหนีไปได้ระยะหนึ่งจึงเหลียวหลังแลดู (บริเวณที่เหลียวหลังดูนั้น เรียกว่า ดอยนางแล) เมื่อหนีไปไกลจนถึงหมู่บ้านหนึ่ง ม้าซึ่งตกใจกลัวต่อเหตุการณ์และวิ่งหนีมาหมดแรงสิ้นใจตาย (บริเวณที่ม้าตายเรียกว่า บ้านห้วยม้าโก้ง) ส่วนบริเวณบ้านหญิงหม้ายที่รอดจากเหตุการณ์ถูกแผ่นดินสูบครั้งนั้นได้ (บริเวณนั้นเรียกว่า ดอนพญาหล่มหรือดอนแม่หม้าย)
แม้ว่าในปัจจุบัน พื้นที่ตามเรื่องเล่าของหมูบ้านจะกลายเป็นทุ่งนาไปเกือบหมดแล้วก็ตาม แต่ทางหมู่บ้านได้พัฒนาพื้นที่โดยมีการขุดลอกบริเวณดอนแม่หม้ายให้เป็นแหล่งน้ำทางการเกษตรและยังมีกิจกรรมการเซ่นไหว้เจ้าพ่อดอนพญาหล่มในบริเวณดอนพญาหล่ม (อยู่ในบริเวณที่นาของนายแหลง แก้วสัก) ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (เหนือ) ประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน จะประกอบพิธีกรรม โดยพิธีกรรมจะเป็นลักษณะการเซ่นไหว้ผีขุนน้ำ เนื่องจากบริเวณนี้จะเป็นแหล่งต้นน้ำห้วยแม่สม ที่เป็นแหล่งน้ำทางการเกษตรของหมู่บ้านหนองหล่ม บ้านป่าป๋วย บ้านทุ่งยาว บ้านขัวแคร่ ตำบลศรีบัวบาน บ้านสันคะยอม บ้านสันป่าสัก บ้านหลุก ตำบลป่าสัก ดังนั้นกิจกรรมการจัดงานแต่ล่ะครั้งจะมีผู้เข้าร่วมเซ่นไหว้จากหมู่บ้านดังกล่าวอย่างมากมาย พิธีกรรมจะใช้ควายเป็นเครื่องเซ่นไหว้ มีพิธีทรงเจ้า นอกจากนี้ปีใดที่เกิดความแห้งแล้ง ชาวบ้านจะมาร่วมกันจัดงานทำพิธีเซ่นไหว้ที่เรียกว่า ตานก๋วยสลากเทวดา ซึ่งเป็นพิธีขอฝนจากเทวดาของชาวบ้านในพื้นที่ นอกเหนือจากการทำพิธีแห่ปลาจ้อนอีกพิธีกรรมหนึ่ง
ปัจจุบันยังมีความเชื่อและพิธีกรรมการเซ่นไหว้ดอนพญาหล่ม แต่มีการเซ่นไหว้เฉพาะชาวบ้านหนองหล่ม บ้านป่าป๋วย เท่านั้น อาจเนื่องมาจากทุกหมู่บ้านมีการทำพิธีกรรมเซ่นไหว้ในลักษณะเดียวกันนี้ทุกหมู่บ้าน และลำน้ำห้วยแม่สม ลดระดับความสำคัญทางการเกษตรลง มีการใช้น้ำจากลำน้ำแม่สารมากขึ้น ตลอดจนชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรลดลง ส่งผลถึงการประกอบพิธีกรรม ที่มีการปรับพิธีเซ่นไหว้ จากเดิมใช้ควาย มาเป็นใช้หมูเป็นเครื่องเซ่นไหว้แทน
บ้านหนองหล่มเป็นหมู่บ้านที่มีภูเขาล้อมรอบในทุกด้าน สภาพภูมิประเทศของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ในอดีตทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แต่ถูกทำลายจากการเข้ามาของเส้นทางรถไฟ การทำสัมปทานป่าไม้ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันการทำสัมปทานป่าไม้ได้ถูกยุติลงไปคงเหลือไว้แต่เพียงร่องรอยของการตัดไม้ ทำให้ป่าเริ่มฟื้นคืนความอุดมสมบรูณ์ดีขึ้นตามลำดับ
ที่ตั้งทางกายภาพของบ้านหนองหล่มตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนแม่ทา ทำให้มีน้ำพุร้อนผุดขึ้นมาผิวดินแต่ในปัจจุบันการทำการเกษตรของคนในพื้นที่ นิยมขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในการเกษตรส่งผลทำให้ปริมาณน้ำใต้ดินลดน้อยลง น้ำพุร้อนจึงไม่สามารถผุดขึ้นมาบนผิวดินได้ อีกทั้งมีภาคเอกชนนอกพื้นที่เข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับสปาน้ำพุร้อน ทำให้ปริมาณน้ำพุร้อนยิ่งลดน้อยลงไป
สถานที่สำคัญของชุมชนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
ทางเศรษฐกิจ บ้านหนองหล่มเป็นชุมชนชนบทขนาดเล็กระบบเศรษฐกิจเน้นการพึ่งพาตนเอง โดยมีตลาดชุมชนอยู่บริเวณสองข้างทางรถไฟ เป็นสถานที่แลกเป็นสินค้าทางการเกษตร ของป่าตามฤดูการ ให้คนในชุมชนและต่างชุมชนมาซื้อขายแลกเป็นสินค้ากัน
ทางสังคม สถานที่สำคัญทางสังคมอยู่ในพื้นที่ของตลาดชุมชน, และศาลาเอนกประสงค์ของชุมชน, วัด ซึ่งสถานที่เหล่านี้เป็นแหล่งที่คนในชุมชนและนอกชุมชนได้ทำกิจกรรมทางสังคม มาพบปะผู้คุยกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การประชุมรวมกลุ่ม การทำพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วทำให้เกิดการประติสัมพันธ์ของผู้คนในชุนชนและนอกชุมชน
ทางวัฒนธรรม สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมในชุมชนได้แก่ วัด ใจ๋บ้าน ศาลพ่อหม่อน ศาลเจ้าพ่อหนองบัว ศาลเจ้าพ่อดอนพญาหล่ม ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ที่คนในชุมชนให้ความนับถือ สักการบูชา เกี่ยวกับความเชื่อประเพณี ตำนานของหมู่บ้าน ที่สืบทอดปฏิบัติกันมารุ่นสู่รุ่นและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับคนในชุมชน
ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันแบบระบบเครือญาติ โดยสังเกตได้จากการใช้นามสกุลเหมือนกัน ประมาณ 60-70% เช่น นามสกุล เลสัก ติสัก แก้วสัก ตาสัก ผดุงสัก เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้นตระกูลจะอพยพมาจากเขตพื้นที่เดียวกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านหนองหล่มเป็นชาวยอง ที่ถูกกวาดต้อนมาจากสิบสองปันนาในสมัครของพระเจ้ากาวิละที่สร้างเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่จึงเป็นภาษา ยอง ประมาณ 80% ของประชากรทั้งหมดในหมู่บ้าน
ยองได้มีการจัดตั้งองค์กรชุมชนขึ้นซึ่งมีทั้งทางราชการ และชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ในการให้บริการในด้านต่างๆ แก่สมาชิกในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติส่วนกลางของชาวบ้านหรือเป็นทรัพยากรชุมชนซึ่งประกอบด้วย
1. ศูนย์ อ.ส.ม. 1 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์บริการด้านสุขภาพในชุมชน
2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 1 แห่ง เป็นถานที่ราชการเพื่อใหเบริการทางด้านสาธารณะสุขแก่ชาวบ้านในหมู่บ้านและในตำบล เป็นถานีอนามัยประจำตำบลศรีบัวบานแห่งที่ 2
3. อาคารเอนกประสงค์ 1 แห่ง และที่ทำการกลุ่มแม่บ้าน เป็นสถานที่ประชุมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านตลอดจนเป็นสถานที่รวมตัวแลกเปลี่ยนความรู้ของกลุ่มแม่บ้าน และใช้เป็นสถานที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานพิธีต่างๆ ในหมู่บ้าน
4. โรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่ง เป็นสถานศึกษาเปิดทำการสอน ระดับประถมศึกษาระดับ อ.1-ป.6
5. วัด เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน
ในชุมชนบ้านหนองหล่มประกอบไปด้วยโครงสร้างการปกครองโดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำและประกอบด้วยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน มีคณะกรรมการเขตที่หมู่ 8 เขต เลือกโดยชาวบ้านในเขตนั้นๆ เข้ามาทำงานบริหารงานหมู่บ้าน นอกจากโครงสร้างการปกครองแล้วยังมีโครงสร้างกลุ่มต่างๆ ในชุมชน อาทิเช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นต้น
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติมีการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่กับธรรมชาติ ใช้ชีวิตแบบสอดคล้องกับธรรมชาติมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ชาวบ้านมีวิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สั่งสมมาเป็นประสบการณ์ ในการดำรงชีวิต ภูมิปัญญาในการเล่าเรื่องนิทานของหมู่บ้านที่พยายามผูกเรื่องให้สอดคล้องกับสถานที่ต่าง ๆ ในหมู่บ้านเพื่อเพิ่มความเชื่อถือในเรื่องดังกล่าวเหมือนกับว่าเหตุการณ์นั้นมีจริง เช่น นิทานประวัติดอนแม่หม้าย ดอนพญาหล่ม เป็นต้น ภูมิปัญญาในการจักสานเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น การจักสานภาชนะต่าง ๆ จากไม้ไผ่ การทำไม้กวาดทางมะพร้าว ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าโดยจะทอผ้าเป็นอาชีพเสริมหลังเสร็จจากภาคการเกษตร เป็นต้น
ภาษายอง
ด้วยสถานการณ์ในยุคโลกาภิวัตน์เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมต่างๆ มากมาย ชุมชนบ้านหนองหล่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งในด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านวัฒนธรรม
ด้านสังคม เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ทำงานต่างจังหวัด ทำให้การมีส่วนร่วมในชุมชนลดน้อยลง การจัดงานประเพณีต่างๆ ก็ไม่ค่อยมีคนมาร่วมเหมือนแต่ก่อน อีกทั้งมีค่านิยมการศึกษาที่นำบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนเอกชนในเมือง ทำให้โรงเรียนซึ่งเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนถูกลดค่าความสำคัญลง คงเหลือแต้ผู้สูงอายุ คนเฒ่าคนแก่ที่อยู่บ้านทำเกษตรกรรมตามอัตภาพไป วิถีชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมชนบทเข้าสู่สังคมเมืองตามลำดับ
ด้านเศรษฐกิจ จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจมีนิคมอุสาหกรรม และโรงงานขนาดใหญ่เข้ามาตั้งในพื้นที่จังหวัดลำพูน ทำให้คนวัยทำงานในชุมชนออกไปทำงานเข้าสู่ระบบโรงงาน ทำให้เศรษฐกิจเดิมของชุมชนเดิมที่เน้นการพึ่งพาตนเองเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบเงินเดือน ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชุมชนมีการพัฒนาจากการออกไปทำงานของคนหนุ่มสาวนำเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชน และจากการช่วยเหลือของภาคเอกชน อาทิ การช่วยเหลือด้านเงินทุน การช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ การทำจิตอาสา เป็นต้น แต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นก็มีผลกระทบกับชุมชนเหมือนกัน เช่น คนหนุ่มสาววัยทำงานในชุมชนไม่มีเวลามาช่วยกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นพึ่งพาตนเอง กลับกลายเป็นการใช้เงินในการจ้าง การซื้อ แทนการช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกัน ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
ด้านวัฒนธรรม จากการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ล้วนส่งผลให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของด้านวัฒนธรรมในชุมชน อัตลักษณ์ ประเพณี จารีต ต่างๆ ในชุมชน เริ่มมีการปรับให้เข้ากับการเข้าสู่สมัยใหม่ทำให้เกิดการผิดเพี้ยนจากเดิมไป อีกทั้ง เยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยให้ความสำคัญและไม่เห็นถึงคุณค่า ขาดการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นและอาจจะสูญหายได้ในที่สุด นับว่าเป็นความท้าทายของชุมชนบ้านหนองหล่มที่จะสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันไปในทิศทางใด