แหล่งเกลือสินเธาว์ หมอลำผญา พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ โบราณสถานวัดแก่งตอยยุคก่อนพระนคร
1) “โอด” มาจากมาจากชุมชนมีแมลงจำนวนมากร้องเสียงทั้งวันทั้งคืน ชื่อแมลงที่ร้องนั้นชาวบ้านเรียกว่า “แมงโอด” หรือ มีภาษาเรียกอีกขื่อหนึ่งว่า “แมงง่วง”
2) โอด เพี้ยนมาจาก อูฐ เนื่องจากมีคนขี่อูฐมาที่ชุมชนที่วัดแก่งตอย เลยตั้งชื่อว่าบ้านโอด (คำพา หวังลาภ)
แหล่งเกลือสินเธาว์ หมอลำผญา พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ โบราณสถานวัดแก่งตอยยุคก่อนพระนคร
โอด มาจากมาจากชุมชนมีแมลงจำนวนมากร้องเสียงทั้งวันทั้งคืน ชื่อแมลงที่ร้องนั้นชาวบ้านเรียกว่า “แมงโอด” หรือ มีภาษาเรียกอีกขื่อหนึ่งว่า “แมงง่วง”
มีเรื่องเล่าการก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีที่เกี่ยวข้องกับบ้านโอด คือ พระปทุมสุรราช (ท้าวคำผง) อพยพไพร่พลมาอยู่บริเวณบ้านโอดในปัจจุบัน ต่อมาภายหลัง ท้าวคำผงได้ย้ายไปสถาปนาเมืองอุบลราชธานีบนเกาะดอนมดแดง และตั้งเป็นเมืองขึ้นชั่วคราว คือ เมืองดอนมดแดง และภายหลังได้ย้ายเมืองอุบลมาอยู่ที่แจระแมในภายหลัง บ้านโอด จึงถือเป็นชุมชนแห่งแรกของการก่อตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี บ้านโอดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซบก มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทั้งข่า ขอม กูย มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุ มีวัดโบราณ คือ วัดแก่งตอย อายุราว 1,300 ปี
บ้านโอดมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานีว่าเป็นที่หลบซ่อนไพร่พลของ “เจ้าคำผง” หรือ “พระปทุมราชวงศา” ซึ่งมีลายลักษณ์อักษรที่ถูกบันทึกโดย พระอธิการสนอง สุธมโม ว่า “เจ้าคำผงซึ่งเป็นลูกของพระเจ้าพระตาและนางบุศดี ซึ่งเป็นเจ้าเมืองอุบลคนแรกและต่อมาให้ชื่อว่าท้าวปทุมมาวงศ์ษาตั้งท้าวพรหมซึ่งเป็นน้องชายให้เป็นอุปราช ท้าวพรหมผู้เป็นอุปราชจึงเป็นเจ้าเมืองแทนจนถึงปีพุทธศักราช 2369 ขณะนั้น เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์คิดก่อกบฏ สั่งให้เจ้าโยซึ่งเป็นโอรสของตน ขณะนั้นเจ้าเมืองจำปาสักให้ยกทัพมาตีเอาเมืองอุบล ท้าวพรมสู้ไม่ได้จึงยกทัพหลบหนีขึ้นมาทางทิศเหนือมาพักอยู่ลำเซบกคือบ้านแก่งตอยในปัจจุบันนี้ ท้าวพรมและพลเมืองหลบอยู่บ้านแก่งตอยได้พอสมควรก็มีข่าวว่ากองทัพเจ้าอนุวงศ์ถูกกองทัพท้าวสุรนารีตีแตกกลับไป และทางกรุงเทพก็ยกทัพมาช่วยท้าวพรมเจ้าเมืองอุบล ท้าวพรมจึงยกทัพกลับเข้าเมืองอุบลตีทัพเจ้าโยจำปาสักแตกกลับไปเช่นกัน แล้วนิมนต์พระรูปหนึ่งที่มากับกองทัพให้อยู่เป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนบ้านแก่งคอย ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างวัด จึงให้ชื่อว่า วัดแก่งคอย ต่อมาชื่อเพี้ยนเป็นวัดแก่งคอย จนตราบเท่าทุกวันนี้ หลวงพ่อที่เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้รูปแรกเจ้าเมืองให้ชื่อว่า ธรรมขันตี ซึ่งแปลว่า ผู้มีความอดทนในธรรม และชาวบ้านญาติโยมที่คุ้นเคยชอบเรียกท่านว่า “ญาถ่านขี้เถ้า” และมีเรื่องเล่าว่า “หลวงพ่อท่านเป็นผู้มีเวทมนต์คาถามากชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธา และเคารพบูชาท่าน ความที่หลวงพ่อท่านเป็นผู้ที่มีเวทย์มนต์คาถา หลวงพ่อท่านได้เอาไม้ทองหลางมาแกะสลักเป็นรูปจระเข้และเสกคาถาใส่กลายเป็นจระเข้จริง ๆ วันหนึ่งท่านก็ขึ้นขี่หลังจระเข้ออกไปเล่นน้ำอยู่กลางลำเซบก ในวันนั้นมีโยมคนหนึ่งวิ่งมาร้องเรียก ให้หลวงพ่อท่านไปช่วยเมียตัวเองพี่กำลังจะตาย จากการคลอดลูกแต่รกไม่ออกจากครรภ์ หลังจากที่ได้ยินอย่างนั้นหลวงพ่อก็รีบเข้าฝั่งในทันที หลวงพ่อนั้นลืมกู้มนต์ที่เสกใส่ไม้ทองหลางเพราะรีบไปช่วยโยมพ่อกลับมาจะไปกู้มนต์ให้จระเข้กลายเป็นไม้ทองหลางเหมือนเดิมแต่แล้วไม่เห็นจระเข้และจระเข้ตัวนั้นไม่กลับมาอีกเลย และเมื่อหลวงพ่อธรรมขันตีท่านชราภาพและมรณภาพไปจระเข้ตอนนั้นพี่เป็นจระเข้ไม้ทองหลางก็กลับมาเที่ยวกินชาวบ้านที่ลงเล่นน้ำ”
การอพยพการตั้งถิ่นฐาน
จากประวัติการตั้งถิ่นฐาน การอพยพของคนบ้านโอด มีสองครั้งด้วยกัน คือ การอพยพครั้งที่แรก สาเหตุเกิดจากตำนานที่เล่าขานกันว่า จระเข้ของญาถ่านขี้เถ้า กัดกินชาวบ้านที่ลำน้ำเซและได้อพยพไปบ้านหนองแคน บ้านม่วง ซึ่งต่อมาการอพยพครั้งที่สองเกิดจากตำนานเล่าขานว่า “ชาวบ้านจำนวน 5-6 คน มาร่วมกันสร้างวัดบ้านโอดขึ้น ซึ่งเกิดจากตำนานผี และเกิดการอพยพอีกครั้งและได้อพยพมายังบริเวณใกล้ ๆ บริเวณวัดบ้านโอดในปัจจุบัน และได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณรอบ ๆ วัดบ้านโอด (โฉนดชุมชน บ้านโอด หมู่บ้านประวัติศาสตร์ ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า,มปป.)
การอพยพของผู้คนในประวัติศาสตร์ชุมชนเริ่มจากมีเรื่องเล่าขานว่า “...มีจระเข้ที่โดนมนต์สะกดของ ญาถ่านขี้เถ้า ซึ่งเป็นผู้มีเวทย์มนต์ในอดีตครั้งก่อน ได้เสกมนต์ใส่ไม้ทองหลางและได้กลายเป็นจระเข้ ต่อมามีชาวบ้านมาขอความช่วยเหลือให้ญาถ่านขี้เถ้า ไปช่วยเมียของตนหลวงพ่อได้ยินที่ชาวบ้านมาขอความช่วยเหลือก็รีบวิ่งเข้าฝั่ง และไปช่วยชาวบ้านในทันที พอกลับมาริมน้ำของลำน้ำเซจึงพบว่าจระเข้ได้หายไปแล้ว และไม่หวนคืนมา จนกระทั่งหลวงพ่อเกิดมรณภาพไปขณะเดียวกันจระเข้ก็ได้โผล่กลับมาที่บ้านแก่งตอยและกัดกินชาวบ้าน จนชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวและได้อพยพกันไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองแคน บ้านม่วง ซึ่งหลังจากนั้นมาไม่นานระยะเวลา 2-3 ปี ชาวบ้านจำนวนหนึ่งมี แม่ใหญ่หมา แม่ใหญ่กล้วย แม่ใหญ่เซ พ่อใหญ่ทัด ร่วมกันสร้างวัด ประมาณปีพุทธศักราช 2403 เริ่มร่วมกันสร้างวัดบ้านโอด และอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณรอบ ๆ วัด (ประวัติบ้านโอด จากคำบอกเล่าของ ญาท่าเสือ (พระครูสุวรรณวรดิตถ์), 2555)
สภาพพื้นที่กายภาพ
ชุมชนบ้านโอด ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ทุ่งนาโล่งและมีป่าเป็นพื้นที่ดอนอยู่ใจกลางพื้นที่สูงและมีพื้นที่ทุ่งนาอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำลงไปจากตัวหมู่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กับลำน้ำเซบก มีพื้นที่ 4680 ไร่ พื้นที่การเกษตร 3200 ไร่ พื้นที่ที่อยู่อาศัย 1229 ไร่ พื้นที่ป่าสงวน 55 ไร่
ชุมชนบ้านโอด ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารเรื่อง โฉนดชุมชน บ้านโอด หมู่บ้านประวัติศาสตร์ ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า (มปป.) ระบุว่า ชุมชนบ้านโอดเป็นพื้นที่ป่าสงวนจำนวน 55 ไร่ และมีพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านซ้อนทับกันกับป่าสงวนทำให้ในปี 2559 เกิดเหตุการณ์นโยบายทวงคืนผืนป่า (จากนายทุนแปลงใหญ่และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จากคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า มีทหารมานำชี้ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำการจับยึดแปลงที่ดิน 52 แปลง (เฉพาะในเขตบ้านโอด) ให้กลายเป็นแปลงใหญ่ และประกาศจับยึดแปลงที่ดินจำนวนแปลงที่ดินที่ถูกนำชี้จับกุม 52 แปลงตั้งแต่ 1 งานจนถึงประมาณ 10 ไร่ ผู้ที่มี 10-30 ไร่ เป็นแปลงที่ยังไม่ได้จัดแบ่งกันในครอบครัวใหญ่ รวม 412 ไร่ และยังมีแปลงที่ไม่ชัดเจนว่าถูกถูกควบรวมหรือไม่อีก 31 แปลง จำนวน 38 ไร่ 3 งาน การที่ป่าไม้จับกุมและยึดที่ดินในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ์ที่ดินทำกินก่อนปี พ.ศ. 2557 ซึ่งขัดต่อนโยบายคำสั่ง คสช. ให้ตรวจและยึดที่ดินจากการบุกรุกของนายทุนแปลงใหญ่หรือมีอิทธิพลในท้องถิ่น แต่ในกรณีบ้านโอดนี้เป็นแปลงที่ดินทำกินดั้งเดิมไม่มีเอกสารสิทธิ์ แปลงและอีก 32 แปลงที่ไม่มีเอกสารเช่นเดียวกัน และไม่มีความชัดเจนว่าแรงของตัวเองได้ถูกเหมารวมอยู่ในแปลงใหญ่ด้วยหรือไม่
สภาพพื้นที่ทางสังคม
- ศาลปู่ตา เป็นพื้นที่ทางความเชื่อของคนในชุมชน ซึ่งชุมชนจะเลี้ยงปู่ตาทุกเดือนสามและเดือนหกของทุกปี
- กกยางชุม เป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนใช้รวมตัวกันในการจัดประชาคมหรืองานบุญต่าง ๆ
- วัดแก่งตอย เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านไว้กราบไหว้ บูชา หรือบนบาน กับพระเจ้าใหญ่ผู้มีบุญและพระเจ้าใหญ่องค์แสน
- เกลือสินเธาว์ พื้นที่บริเวณนี้ชาวบ้านใช้ดินในพื้นที่บริเวณนี้ไปทำเกลือ ซึ่งชาวบ้านสะท้อนว่าก่อนทำเกลือต้องมีการขูดหน้าดินหรือชาวบ้านเรียกว่า ขูดขี้ทา และระหว่างพื้นที่การทำเกลือและพื้นที่ศาลปู่จะมีความเกี่ยวข้องกันอีกในทางความเชื่อ ซึ่งก่อนการขูดหน้าดินต้องทำการบอกกล่าวศาลปู่ตาก่อนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เลี้ยงปู่ตา”
บ้านโอด มีประชากรรวมทั้งสิ้น 1,004 คน ชาย 506 คน หญิง 498 คน (กระทรวงมหาดไทย, 2565) มีจำนวนครัวเรือน 188 ครัวเรือน แต่ถ้านับตามทะเบียนบ้านมีทั้งสิ้น 242 ครัวเรือน เมื่อจำแนกประชากรตามช่วงอายุ สามารถแสดงเป็นปิระมิดประชากรได้ดังนี้
ในส่วนของแผนผังเครือญาติ พบว่า มีการเชื่อมโยงของตระกูลใหญ่ของชุมชนผ่านการแต่งงาน ทำให้ชุมชนมีความเป็นเครือญาติเดียวกัน โดยจะพบว่า เมื่อไปเก็บข้อมูลแผนผังเครือญาติ บางคนไม่ทราบมาก่อนว่า ตนเองมีญาติที่เป็นคนอีกตระกูลหนึ่ง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลสามารถสรุปผลได้ดังนี้
อาชีพหลัก อาชีพหลักของคนในชุมชนบ้านโอดส่วนใหญ่ ทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกถั่วดิน ยางพารา ซึ่งล้วนแต่เป็นพืชเศรษฐกิจ
อาชีพเสริม รายได้เสริมของชาวบ้านนอกจากภาคการเกษตรแล้ว พบว่า มีอาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป และการหาของป่า นอกจากนี้คนในชุมชนยังมีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงควาย เลี้ยงวัว เป็นหลัก และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมีการนำเอาไม้ไผ่และต้นกก เพื่อนำมาทำจักสาน แปรรูปเป็นสินค้า เช่น ตะกร้า หวด ก่องข้าว เสื่อ เป็นต้น (ถาวร คชยาพันธ์, สัมภาษณ์ 24 กรกฎาคม 2565)
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายในชุมชน การแลกเปลี่ยนสินค้าชุมชนกับชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ชาวบ้านหาได้จากการหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ หรือพืชผัก สมุนไพรต่าง ๆ นำมาแลกเปลี่ยนกันเองกับชาวบ้านในชุมชนหรือต่างชุมชน
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอกชุมชน ชาวบ้านโอดและบ้านใกล้เคียง เช่น บ้านนาดี ชาวบ้านสะท้อนว่า ชุมชนบ้านโอดส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ปลูกข้าว แต่บ้านนาดีนั้นสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำนาหรือทำไร่ ทำให้ชาวบ้านนาดีนำวัตถุดิบที่ได้จากการหาของป่านำมาแลกข้าวกับชาวบ้านโอด เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน ตระกูลหลักของชุมชนบ้านโอด ได้แก่ ตระกูลรัตนกุล ซึ่งคนในตระกูลที่สำคัญคือ พระครูสุวรรณวรดิษฐ์ (พระธรรมขันตี) อดีตเจ้าอาวาลวัดบ้านโอด และนายคำเฝือ รัตนกุล อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านโอด ตระกูลคชยาพันธ์ อพยพมาทีหลัง สันนิษฐานว่า มาจากกรุงเทพ และมาขายของที่บ้านโอด (ธวัชชัย รัตนกุล, สัมภาษณ์ 25 กรกฎาคม 2565) ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น พบว่า มีการเชื่อมร้อยความเป็นบ้านโอดผ่านการเล่าประวัติบ้านโอด ซึ่งมีการถ่ายทอดแบบปากต่อปาก และยังคงเป็นที่จดจำของชาวบ้าน (รสสุคนธ์ คชยาพันธ์, สัมภาษณ์ 24 กรกฏาคม 2565)
ชาวบ้านชุมชนบ้านโอดอาชีพหลักของชาวบ้านคือการปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง ช่วงทำการเกษตรชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับการทำนา ทำไร่ การเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ควบคู่กันกับการตัดหญ้าให้วัวควายกิน ซึ่งนอกจากนี้ปฏิทินฤดูกาลจะบ่งบอกถึงการทำมาหากินในช่วงระหว่างการทำนา เช่น การหาปลา หาปู หาหอย หาไข่มดแดง หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น กบ เขียด จิโป่ม จิซอน หรือการหาของป่าต่าง ๆ เป็นต้น
กลุ่มเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ จะใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียน อาจมีการรวมตัวกันในช่วงวันหยุด เช่น รวมกลุ่มกันหากะปอม ตกปลา หรือนั่งเล่นเกม เป็นต้น
1. พ่อสมาน หวังลาบ
รูปภาพที่ 9 พ่อสมาน หวังลาบ ปราชญ์และผู้นำชุมชนในด้านการทำพิธีต่าง ๆ ตามเทศกาลฮีตคอง
บทบาทและความสำคัญต่อชุมชน
พ่อสมาน หวังลาบ ชื่อที่ชาวบ้าวบ้านเรียกจนคุ้นเคย “พ่อหมาน” มีบทบาทในการทำหน้าที่ทางศาสนา ผู้นำในด้านต่าง ๆ ในการประกอบพิธีสู่ขวัญ ขึ้นบ้านใหม่ แต่งแคล้วเคราะห์ แต่งบูชา นำบทสวดต่าง ๆ ในงานพิธีหรืองานในด้านศาสนา เดิมทีพ่อหมานก่อนจะมารับบทบาทหน้าที่ผู้นำในด้านพิธีทางศาสนา เคยบวชเป็นพระอยู่ที่บ้านโอดและจำพรรษาได้ 13 ปี
รูปภาพที่ 10 พ่อสมาน หวังลาภ ทำหน้าที่เป็นบทบาทผู้นำทางศาสนา
นอกจากการมีบทบาทหน้าที่ในงานพิธีหรือบุญต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถอ่านหนังสือตัวธรรมในใบลานได้ ซึ่งพ่อสมานสะท้อนว่า มีความเชื่อว่าห้ามผู้หญิงจับหนังสือใบลาน ซึ่งถ้าผู้หญิงจับจะมีขี้กลากขี้เกลื้อนขึ้นตามตัว ซึ่งจะจับได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น
หนังสือใบลานมีการสืบทอดกันหลายชั่วอายุคน ซึ่งพ่อสมานได้รับการถ่ายทอดมาอีกจากคุณพ่อและพี่ชายของตน หนังสือใบลานใช้ในงานพิธีสูตรขวัญ สูตรแต่งงาน เป็นต้น การเก็บรักษาหนังสือใบลานนั้นจากคำบอกเล่าของพ่อสมาน เก็บหนังสือใบลานไว้ในปลอกหรือภาชนะที่มิดชิดและเก็บไว้บริเวณหัวนอนเท่านั้น ซึ่งแมลงจะไม่สามารถกัดกินได้
รูปภาพที่ 11 หนังสือใบลานที่หมอสมาน หวังลาบใช้ในการประกอบพิธี
2. พ่อเลียม หวังบุญ
รูปภาพที่ 12 พ่อเลียม หวังบุญ กวญชุมชนบ้านโอด
กวญชุมชน หรือ ผู้นำทางพิธีกรรมไหว้ศาลปู่ตา ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างปู่ตากับชาวบ้าน ซึ่งในการเลี้ยงปู่ตาไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดที่เป็นทางการ ใช้ภาษาที่ชาวบ้านสื่อสารกัน ซึ่งเชื่อว่าปู่ตาก็คือคนที่มาจากบรรพบุรุษของคนในชุมชนเอง การเลี้ยงปู่ตานั้น 1 ปี จะมีการเลี้ยงปู่ตา 5 ครั้ง เช่น การขุดขี้ทาทำเกลือ การเลี้ยงหมู่บ้าน งานเข้าพรรษา และเทศกาลบุญข้าวประดับดิน เป็นต้น
3. พ่อสำรอง กุลบุตร อายุ 79 ปี
รูปภาพที่ 13 พ่อสำรอง กุลบุตร ปราชญ์ชาวบ้านด้านบทบาทการทำพิธีกรรม
บทบาทและความสำคัญต่อชุมชน
เป็นผู้นำด้านพิธีกรรมทางสังคม เช่น พิธีสู่ขวัญ พิธีมงคลสมรส พิธีอุปสมบถ หรือขึ้นบ้านใหม่ หรือเป็นผู้นำสวด คำกล่าวต่าง ๆ ในงานพิธีที่จัดในวัด
4. แม่คำภา หวังลาบ
รูปภาพที่ 14 แม่คำภา หวังลาบ ปราชญ์ชาวบ้านในการเป็นช่างทอผ้าและปัจจุบันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
บทบาทหน้าที่สำคัญต่อชุมชน
เป็นช่างทอผ้าและปัจจุบันเป็นประธานวิสาหกิจกลุ่มทอผ้า และมีความรู้ในเรื่องการทอผ้าเป็นอย่างดี เมื่อปี 2547 ทางภาครัฐมาช่วยในการตั้งกลุ่มทอผ้าและลงทุนให้ โดยจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 50 คน ลวดลายของผ้าที่ทำอยู่ในปัจจุบันมีทั้งลายขิด ลายขิดน้อย ลายช้าง และลายกาบบัว เป็นต้น
ทุนทางวัฒนธรรม
โบราณสถานวัดแก่งตอย ตั้งอยู่ที่ชุมชนบ้านโอด ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนเขมรโบราณที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำเซบก ภายในวัดมีปราสาทหินโบราณตั้งอยู่ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุศิลปะเขมรสมัยไพรกะเมง (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-กลางพุทธศตวรรษที่ 13) ชาญชัย คงเพียรธรรม, 2563 และมีความเกี่ยวข้องประวัติศาสตร์เมืองอุบลที่พูดถึงกันว่าเป็นที่หลบซ่อนของไพร่พลทหารของท้าวคำผงที่อพยพหนีตายจากการทำสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ และได้ตั้งรกรากอยู่ที่เกาะดอนมดแดง ต่อมาเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างหนักทำให้มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ริมห้วยแจระแมและเกิดเป็นเมืองอุบลราชธานีขึ้น และท้าวคำผงได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบลราชธานี
วัดแก่งตอยนั้นมีเรื่องเล่าขานที่สำคัญและชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่ทำให้เกิดการอพยพของชาวบ้านโอด นั่นคือ เหตุการณ์จระเข้ออกมาอาละวาดกันกินผู้คน จึงทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวและอพยพไปอยู่ที่บริเวณบ้านฮ้าง และเรื่องเล่าเกี่ยวกับการออกไปหาปลาของตาลากับแม่ยายต่อนและทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญนั่นคือการถูกค้นพบของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ใต้น้ำบริเวณวังโพธิ์ของวัดแก่งตอย ซึ่งมีเรื่องเล่าตามลายลักษณ์อักษรที่บันทึกไว้ ณ วัดแก่งตอย ความว่า “พระเจ้าใหญ่องค์หลวงเสด็จไปสถิตอยู่ในแม่น้ำ ตามคำเล่าลือกันว่าวังโพธิ์ ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2469 ได้มี 2 ตายายพี่น้องชื่อว่าพ่อตาลา แม่ยายต่อนพวกท่านได้เสียชีวิตไปนานแล้ว เถียงพ่อตาลาอยู่ห่างจากวัดแก่งตอย ประมาณ 500 เมตร ทางทิศใต้คนรุ่นนั้นชอบตกแหใหญ่ (แหเหง้า) ความยาว 11-12 ศอกวันหนึ่งสองตายายได้พากันไปตกแห เวลาประมาณ 3:00 น ถึง 5:00 น ระยะนั้นน้ำลำเซขุ่นมัว ซึ่งตรงกับวันพระพอดีทำได้ตรงไปที่บางโพเพื่อตกแหที่นั่นพ่อหว่านแห่ลงไปแห่ได้ไปเกี่ยวกับสิ่งหนึ่งนึกว่าต่อไม้ แต่แน่นมาก จึงได้ดำน้ำลงไปดู พอลงไปก็ประหลาดใจทันที จึงตัดสินใจลูบคลำดูจนแน่ใจว่าเป็นพระพุทธรูปจริงและมีขนาดใหญ่” ซึ่งพระพุทธรูปที่ถูกค้นพบนั้นชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าองค์หลวง และมีพระพุทธรูปอีกองค์คือ พระเจ้าผู้มีบุญ (พระเจ้าใหญ่องค์แสน) คือองค์ประมุขอยู่ในวิหารองค์ปัจจุบันไว้สำหรับให้พุทธบริษัทกราบไหว้ สักการะบูชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 ได้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ (น้ำท่วมหลวง) ชาวบ้านในละแวกนั้นได้นำพาวัวควายไปอาศัยพักกับพระเจ้าผู้มีบุญเพราะละแวกนั้นน้ำท่วมหมดไม่ท่วมเฉพาะบริเวณที่พระผู้มีบุญเท่านั้น ช่วงน้ำท่วมมีคนมาดูก็เห็นว่าขอบเขตน้ำท่วมสูงกว่าพอน้ำลดก็ได้มาดูอีกครั้งเพื่อสังเกตดูว่าระดับน้ำท่วมสูงจริงและเป็นอีกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์
ชุมชนบ้านโอดนั้นนับว่าเป็นชุมชนเก่าแก่มากกว่า 250 ปี หลากหลายเหตุการณ์ทำให้วัฒนธรรมชุมชนบ้านโอดมีความน่าสนใจหลายจุด ที่สำคัญโบราณสถานของวัดแก่งตอยนั้นปัจจุบันชาวบ้านศรัทธากันอย่างมาก เข้าไปกราบไหว้ ขอพร และเป็นสถานที่จัดงานสำคัญคืองานบุญสงกรานต์ ที่จัดภายในวันที่ 20 เมษายนของทุกปี จะมีชาวบ้านจากชุมชนใกล้เคียงหรือต่างอำเภอมาร่วมงานบุญสงกรานต์ที่วัดแก่งตอย
ภาษาถิ่นอีสานหรือที่คนอีสานเรียกว่า “ภาษาลาว” ชาวบ้านในชุมชนหรือชาวอีสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ใช้ภาษาถิ่นอีสานในการสื่อสารกัน แต่ละจังหวัดก็อาจจะมีสำเนียงที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การอพยพของชาวลาวในอดีต ดังที่ ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ (อ้างใน สราภรณ์ สุวรรณแดง, 2559) กล่าวถึง ประวัติการย้ายถิ่นฐานของชาวอีสานในอดีต กล่าวคือชาวลาวที่อพยพเข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตั้งแต่ในพุทธศตวรรษที่ 21 และได้อพยพเข้ามาอยู่ในแถบตอนกลางของอีสานในปี พ.ศ. 2261 ได้แก่ บริเวณอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เหตุการณ์อพยพ ที่สำคัญอีกครั้งในช่วงสมัยที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองการปกครองของกษัตริย์ลาว คือ พระเจ้าศิริบุณสาร และเสนาธิบดีหรือ พระวอ พระตา เป็นผลให้เกิดการอพยพ ชาวลาวจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานและกระจายตามฝั่งขวาแม่น้ำโขง
สถานการณ์น้ำท่วม
ชุมชนบ้านโอดนั้นเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี ถ้าปีไหนน้ำท่วมเมืองอุบลชุมชนบ้านโอดก็จะถูกน้ำท่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ทุ่งนาโล่งและมีป่าเป็นพื้นที่ดอนอยู่ใจกลางพื้นที่สูงและมีพื้นที่ทุ่งนาอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำลงไปจากตัวหมู่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กับลำน้ำเซบก มีพื้นที่ 4,680 ไร่ พื้นที่การเกษตร 3,200 ไร่ พื้นที่ที่อยู่อาศัย 1,229 ไร่ พื้นที่ป่าสงวน 55 ไร่ ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมนั้นส่งผลทำให้ไร่นาของชาวบ้านถูกน้ำท่วมและได้รับความเสียหายอยู่จำนวนมาก
ตั้งแต่ปี 2521 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างหนัก ซึ่งทำสถิติน้ำท่วมสูงถึง 12.76 เมตร ซึ่งถ้าเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา ท่วมสูงถึง 11.51 เมตร (เทศบาลอุบลราชธานี, 2564)
วัดแก่งตอย (บ้านโอด)
วัดแก่งตอย หรือ บ้านแก่งตอย ในอดีตมีผู้คนอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน มีทั้งคนลาว คนข่า คนขอม หรือคนลาว รวมกันอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งการแต่งกายของคนสมัยก่อนนั้น ผู้ชายจะนุ่งผ้าเหน็บเดียว ซึ่งผู้หญิงจะนุ่งซิ่น อาชีพดั้งเดิมของคนสมัยก่อนมีการทำไร่ ทำนา สูบยา กอกเหลอ (จะเอาไม้ยูงมาทำเป็นกอกยาเหลอ ซึ่งจะคว้านเป็นรู และจะนำยายัดใส่ไฟจุดสูบ) ซึ่งบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของชาวบ้านที่เป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะมีสัญลักษณ์เรื่องของการเคี้ยวหมากและมีลายขันหมากที่งดงาม ส่วนกุลาผู้ชายมีการสักลายตลอดทั้งตัว ตั้งแต่หัวเข่าจนถึงใบหู และบางคนอาจมีการสักนกน้อยงอยแก้มบริเวณแก้มข้างใดข้างหนึ่ง และสมัยก่อนมีการพูดคำผะหญา คำพังเพย ในการใช้ในการเรียน การใช้ชีวิต หรือการเกี๊ยวสาว ยกตัวอย่างเช่น “สักขาแล้ว แอวบ่อลาย กะบ่อข่อง คนบ่อสักนกน้อยงอยแก้มกะบ่คือ”
เรือกลไฟ (เรื่องเล่าขายของบนเรือไฟ)
คนสมัยก่อนขายของตามเรือตามแม่น้ำ สมัยก่อนวิธีการเดินทางเข้าตัวเมืองอุบลจะเป็นการเดินทางโดยเรือไฟหรือเรือฟืน (ขนแต่ฟืน) การเดินเรือค้าขายจะอยู่ที่บ้านท่าเมืองเพราะเรือไม่สามารถเข้าถึงบ้านนาดี แต่ก่อนผู้คนเวลาจะเดินทางเข้าเมืองจะสามารถไปรอขึ้นเรือที่แก่งหัวไตร
การล่องเรือในอดีตที่นำสินค้าไปที่จังหวัดอุบลราชธานีจะล่องเรือตามลำเซไปออกที่ปากเซ (บ้านดงบัง) และล่องมูลเข้าเมืองอุบล ซึ่งจะมีเรืออยู่ 2 ประเภท
1. เรือขนส่งข้าวสารไปขายในตัวเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีชื่อว่า “เรือถนอม” ซึ่งจะขนส่งเฉพาะข้าวสารเป็นเรือของโรงสีข้าวโดยเฉพาะ และเมื่อหลายปีก่อนมีการถูกค้นพบซากเรือ ที่สันนิษฐานว่าเป็นเรือขนส่งสินค้าในอดีตมีการขุดพบใต้เขื่อน ฝาย ที่ในปัจจุบันมีชื่อว่าสถานีสูบน้ำใหม่ซึ่งถูกค้นพบตรงข้ามสถานีสูบน้ำใหม่และชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “ลำเซเก่า” ซึ่งพ่อสมาน หวังลาภและพ่อถาวร คชยาพันธ์ ได้เล่าต่ออีกว่า “...สาเหตุที่ทำให้เรือล่ม เกิดจากกระแสน้ำที่พัดแรง และมีน้ำวนเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันเรือที่จอดอยู่เทียบฝั่งกำลังจอดเอาข้าวสารขึ้นเรือ ทำให้เรือในขณะนั้นทรงตัวไม่อยู่และเรือได้ล่มลงไป”(สมาน หวังลาภ, ถาวร คชยาพันธ์, สัมภาษณ์ 9 กรกฎาคม 2565)
2. เรือกลไฟที่เป็นเรือรับส่งผู้โดยสารที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าและสินค้าต่าง ๆ ที่นำไปขายได้ ซึ่งเรือกลไฟมีลักษณะพิเศษ คุณยายจรัสศรี รัตนกุล อายุ 80 ปี “เป็นเรือที่ใช้ฟืนในการเดินทาง ซึ่งฟืนที่ได้นั้นมาจากการซื้อขายที่บ้านโอด มีคนตัดฟืนขายให้กับคนที่เจ้าของเรือไฟนั่นคือ พ่อใหญ่จันทร์และเป็นพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเรือไฟนั้นเป็นเรือขนาดใหญ่สามารถบรรจุคนได้ประมาณ 100 คนและมีค่าโดยสาร 2 บาทต่อเที่ยว” (จรัสศรี รัตนกุล, สัมภาษณ์ 24 กรกฎาคม 2565) สินค้าที่ขนไปขายนั้นมีหมู เป็ด ไก่ กล้วย พริก เกลือ ฯลฯ สินค้าทั้งหมดที่นำไปขาย ไปขายให้กับทหาร ที่กรมทหารและขายให้ตลาด หรือขายทั่วไป ซึ่งนอกจากจะนำไปขายแล้วยังนำสิ่งของไปแลกกับข้าวซึ่งส่วนใหญ่ไปแลกกับชุมชนที่เป็นนาโคก เพราะบ้านโอดเป็นพื้นที่ใกล้ลำน้ำเซ และเกิดน้ำท่วมบ่อยการปลูกข้าว ทำนา จึงทำยาก จึงต้องเอาสิ่งของไปแลกกับชุมชนอื่นที่เป็นนาโคก (เพ็ญนิภา คชยาพันธ์, สัมภาษณ์ 24 กรกฎาคม 2565) คุณยายจรัสศรี เล่าต่ออีกว่า “สินค้าที่ยายนำไปขายเป็นหน่อไม้ส้ม ซึ่งบรรจุใส่ไหจำนวน 10 ไห ไหละ 15 บาท เมื่อถึงท่าวัดหลวงจะจ้างให้คนยกลงให้ ซึ่งค่าจ้างคนยกลงจากเรือ ไหละสลึง หรือ 25 สตางค์ และจ้างรถม้าอีก 50 สตางค์ เป็นรถม้าของกรมทหาร ซึ่งเดือนนึงจะไปขายอยู่ 1-2 ครั้ง” (จรัสศรี รัตนกุล, สัมภาษณ์ 24 กรกฎาคม 2565)
สราภรณ์ สุวรรณแดง. (2559). การสืบทอดภาษาอีสาน. วารสารบัณฑิตศึกษา. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ชาญชัย คงเพียรธรรม. (2563). ร่องรอยอารยธรรมเขมรในจังหวัดอุบลราชธานี. โรงพิมพ์มหาวิทยยาลัยอุบลราชธานี
ปัญญา แพงเหล่า. (2554). 100 เรื่องเมืองอุบล. (พิมพ์ครั้งที่1). โรงพิมพ์อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์
โฉนดชุมชน บ้านโอด หมู่บ้านประวัติศาสตร์ ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า. (มปป).
ธวัชชัย รัตนกุล. (25 กรกฎาคม 2565). ข้อมูลชุมชนบ้านโอด. (เบญจพร ดีพร้อม, ผู้สัมภาษณ์)
สุนันทา ถ่านอ่อน. (17 กรกฎาคม 2565). ข้อมูลชุมชนบ้านโอด. (เบญจพร ดีพร้อม, ผู้สัมภาษณ์)
เพ็ญนิภา คชยาพันธ์. (17 กรกฎาคม 2565). ข้อมูลชุมชนบ้านโอด. (เบญจพร ดีพร้อม, ผู้สัมภาษณ์)
สมาน หวังลาภ. (9 กรกฎาคม 2565). ข้อมูลชุมชนบ้านโอด. (เบญจพร ดีพร้อม, ผู้สัมภาษณ์)
ถาวร คชยาพันธ์. (17 กรกฎาคม 2565). ข้อมูลชุมชนบ้านโอด. (เบญจพร ดีพร้อม, ผู้สัมภาษณ์)