Advance search

ต๊ะมุย

โขงเบื้องหน้า ผาเบื้องหลัง วิถีประมงและเกษตรริมฝั่งโขง วัฒนธรรมชุมชนเชื่อมโยงคนกับธรรมชาติ ความเชื่อปลาบึก และตำนานภูตน้ำ "บักหัวโล้น"

ตามุย
ห้วยไผ่
โขงเจียม
อุบลราชธานี
เบญจพร ดีพร้อม
5 ต.ค. 2023
สุรสม กฤษณจูฑะ
5 ต.ค. 2023
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
5 ต.ค. 2023
ตามุย
ต๊ะมุย

- สมัยก่อนรุ่นพ่อแม่ เรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า ‘บ้านต๊ะมุย’ ซึ่งเรียกตามชื่อ “พ่อใหญ่มุย” ที่เป็นคนแรกเข้ามาบุกเบิกสร้างไร่ ทำสวน ขึ้นอยู่ริมน้ำ มันจึงมาคล้องจองกันพอดี ถ้าคนรุ่นก่อนจะเรียกกันว่า “บ้านพ่อใหญ่มุย หรือ ต๊ะมุย” (คำว่า ‘ต๊ะ’ ในภาษาอีสานไม่มีความหมาย แต่คำว่า “ต๊ะ” แปลว่าน้ำรอดพื้น เป็นภาษาข่า ภาษาบรู บ้านท่าล้งเขาเรียกว่า ‘ต๊ะล้ง’ คือ น้ำรอดพื้น ราชการจึงมาใส่ชื่อให้ใหม่ว่า “ท่าล้ง” และบ้านท่าล้งบางคนบอกว่าเพี้ยนมาจากเดิมที่ชาวบ้านเรียกว่า “ท่าลง”) (คำปิ่น อักษร, 2563)

 - “ตามุย” มาจากคำว่า “กกมุย” เป็นชื่อต้นไม้ที่ชาวบ้านสมัยก่อนนิยมเรียกกัน ภาษาลาวท้องถิ่นหรือปัจจุบันเรียกว่า “ต้นมุย” ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งมีสรรพคุณเป็นยา จะใช้บริเวณลำต้น กิ่ง มาต้มหรือนำไปตากแห้งและนำไปดื่มเพื่อรักษาอาการตกขาว ซึ่งส่วนใหญ่ “กกมุย” หรือ “ต้นมุย” จะพบบริเวณลำห้วยตามุยและอยู่ปะปนกันไปบริเวณหมู่บ้าน และในหมู่บ้านก็มี ‘ต้นมุยใหญ่’ (ทองสา มะวันไสย, สัมภาษณ์วันที่ 6 สิงหาคม 2565)


โขงเบื้องหน้า ผาเบื้องหลัง วิถีประมงและเกษตรริมฝั่งโขง วัฒนธรรมชุมชนเชื่อมโยงคนกับธรรมชาติ ความเชื่อปลาบึก และตำนานภูตน้ำ "บักหัวโล้น"

ตามุย
ห้วยไผ่
โขงเจียม
อุบลราชธานี
34220
15.398260
105.545312
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไผ่

สมัยก่อนรุ่นพ่อแม่ เรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า ‘บ้านต๊ะมุย’ ซึ่งเรียกตามชื่อ “พ่อใหญ่มุย” ที่เป็นคนแรกเข้ามาบุกเบิกสร้างไร่ ทำสวน ขึ้นอยู่ริมน้ำ มันจึงมาคล้องจองกันพอดี ถ้าคนรุ่นก่อนจะเรียกกันว่า “บ้านพ่อใหญ่มุย หรือ ต๊ะมุย” (คำว่า ‘ต๊ะ’ ในภาษาอีสานไม่มีความหมาย แต่คำว่า “ต๊ะ” แปลว่าน้ำรอดพื้น เป็นภาษาข่า ภาษาบรู บ้านท่าล้งเขาเรียกว่า ‘ต๊ะล้ง’ คือ น้ำรอดพื้น ราชการจึงมาใส่ชื่อให้ใหม่ว่า “ท่าล้ง” และบ้านท่าล้งบางคนบอกว่าเพี้ยนมาจากเดิมที่ชาวบ้านเรียกว่า “ท่าลง”) (คำปิ่น อักษร, 2563) 

“ตามุย” มาจากคำว่า “กกมุย” เป็นชื่อต้นไม้ที่ชาวบ้านสมัยก่อนนิยมเรียกกัน ภาษาลาวท้องถิ่นหรือปัจจุบันเรียกว่า “ต้นมุย” ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งมีสรรพคุณเป็นยา จะใช้บริเวณลำต้น กิ่ง มาต้มหรือนำไปตากแห้งและนำไปดื่มเพื่อรักษาอาการตกขาว ซึ่งส่วนใหญ่ “กกมุย” หรือ “ต้นมุย” จะพบบริเวณลำห้วยตามุยและอยู่ปะปนกันไปบริเวณหมู่บ้าน และในหมู่บ้านก็มี ‘ต้นมุยใหญ่’ (ทองสา มะวันไสย, สัมภาษณ์วันที่ 6 สิงหาคม 2565)

การอพยพและการตั้งถิ่นฐาน

ชุมชนบ้านตามุยเป็นชุมชนริมโขงซึ่งในอดีตมีความอุดสมบูรณ์อย่างมาก ในปี พ.ศ. 2401 มีกลุ่มอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านตามุยประมาณ 6-7 ครอบครัว มีการอพยพมาจากนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สาเหตุของการอพยพในสมัยก่อนมีการเดินทางโดยเรือเป็นส่วนมาก ต้องอาศัยเรือในการเดินทาง จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานริมโขงเพื่อให้เหมาะแก่การเดินทาง และประการต่อมาบริเวณริมโขงในอดีตการที่น้ำโขงเวลาน้ำขึ้นและลดลงน้ำโขงจะพัดพาตะกอนดิน ทราย ที่เกาะตามรากตามโคนต้นไม้มาด้วยทำให้บริเวณริมโขงจะมีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะแก่การปลูกฝ้าย ซึ่งพืชสมัยก่อนพบว่าชาวบ้านนิยมปลูกฝ้าย เพื่อถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่มเพื่อยังชีพต่อครัวเรือน “เวลาที่น้ำท่วมพื้นดินแถบริมโขงจะเหมาะแก่การปลูกพืช ในอดีตไม่มีปุ๋ยในการปลูกพืชต้องอาศัยระบบนิเวศของน้ำโขง ในอดีตพืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกคือฝ้ายเพื่อที่จะนำฝ้ายมา ถัก ทอเป็นผ้าห่ม ” (ทองสา มะวันไสย, สัมภาษณ์วันที่ 6 สิงหาคม 2565) 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 มีการตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการตามกระทรวงมหาดไทย มีการตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย ซึ่งแต่ก่อนพ่อสา มะวันไสย อายุ 56 ปี เล่าว่า “เมื่อก่อนชาวนาโพธิ์กลางเมื่อต้องเดินทางด้วยเรือ จะเดินลงมาขึ้นเรื่อที่ท่าเรือบ้านคันท่าเกวียนล่องเรือมาท้าล้ง-ตามุย-บ้านกุ่มและบ้านด่าน ซึ่งโขงเจียมแต่ก่อนชาวบ้านจะเรียกว่าบ้านด่าน (ทองสา มะวันไสย, สัมภาษณ์วันที่ 6 สิงหาคม 2565)

ลักษณะทางกายภาพทั่วไปบ้านตามุยเป็นพื้นที่หินสลับดิน เนื่องจากทิศเหนืออยู่ติดภูเขาอุทยานแห่งชาติผาแต้ม  ทิศใต้ติดกับแม่น้ำโขง ทิศตะวันออกติดกับบ้านท่าล้ง ทิศตะวันตกติดกับบ้านกุ่ม พื้นที่อยู่อาศัย 200 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 600 ไร่ ปลูกส้มโอ ลำไย มะขามหวาน ทำสวนผสม ปลูกมันสำปะหลัง และทำนาทำนา ปีละ 1 ครั้ง

สภาพแวดล้อม

วิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีตและปัจจุบันมีความแตกต่างกัน เนื่องจากแต่ก่อนการทำนา ทำไร่ สามารถทำได้โดยที่ไม่มีใครจำกัดสิทธิ์ในพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน แต่ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ทำมาหากินในปัจจุบันถูกจำกัดสิทธิมากเกินไปจากเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องของการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนหรือเขตอุทยาน ทำให้พื้นที่ ทำไร่ ทำนา ของชาวบ้านมีจำนวนลดลง (ทองสา มะวันไสยและวัย ป้องพิมพ์, สัมภาษณ์วันที่ 6 สิงหาคม 2565) 

วิถีชีวิตของผู้คนบ่งบอกว่าพื้นที่แห่งนี้มีแหล่งอาหารที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมากกับคนในชุมชน ซึ่งสามารถแบ่งตามภูมิศาสตร์ลักษณะของชุมชนได้ 3 ลักษณะ ดังนี้ (ธนพร ศรีสุกใสและคำปิ่น อักษร, 2560)  

1. ภูเขาและป่าไม้ ชาวบ้านตามุยนอกจากจะมีวิถีชีวิตอยู่กับสายน้ำโขงซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านยุคแรกเรียกว่าความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งหาอาหารสำคัญของชุมชน ยังมีอีกแหล่งอาหารของชุมชนนั้นคือ “ภูตามุย” ซึ่งกลายเป็นแหล่งอาหารอีกแห่งที่ชาวบ้านมักจะเข้าไปหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักต่าง ๆ และสมุนไพรนานาชนิดที่ชาวหากินหาเก็บเป็นเวลานาน 

2. ที่ราบลุ่มและที่ราบลุ่มเชิงเขา สำหรับพื้นที่ที่ราบเชิงเขาชาวบ้านในอดีตจนถึงปัจจุบันจะใช้พื้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขา ทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกพืชผักต่าง ๆ ได้แก่ ปลูกข้าว ปลูกมันแกว ปลูกข้าวโพด ปลูกฝ้าย โดยอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติที่ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “ห้วยตามุย” ซึ่งห้วยตามุยจะตั้งอยู่ทางทิศเหนือและมีการไหลของน้ำจากทางทิศเหนือลงมาทางทิศใต้และไหลผ่านเข้าในหมู่บ้านออกสู่แม่น้ำโขง 

3. แม่น้ำโขง แม่น้ำโขงกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญและเป็นที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนในชุมชน อีกทั้งสามารถสร้างประโยชน์ของระบบนิเวศต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ 

3.1 หาดทรายริมฝั่งโขง ที่เป็นแหล่งแหล่งปุ๋ยธรรมชาติ แหล่งอินทรียวัตถุของชุมชนที่ชาวบ้านมักจะใช้พื้นที่บริเวณนี้เพาะปลูกพืชต่าง ๆ 

3.2 วัง ซึ่งจะมีลักษณะที่เป็นแหล่งน้ำที่ไม่ไหล จะมีลักษณะน้ำที่นิ่งและมีความลึก บริเวณ “วัง” นั้นเป็นแหล่งที่ปลาพันธุ์อาศัยอยู่ เช่น ปลาเคิง ปลาคัง ปลาบึก 

3.3 เวิน เป็นจุดที่เป็นน้ำวน มีลักษณะของน้ำที่ไหลกลับสวนทางกับทางน้ำสายหลัก จะเกิดในช่วงน้ำโขงขึ้นและลดลงเมื่อน้ำไหลกระทบหินหรือดินบริเวณโค้งของแม่น้ำ บริเวณนี้จะมีเศษพืชและอาหารมากมายมารวมกัน บวกกับการไหลของน้ำ ไมเชี่ยวมาก บริเวณนี้จึงมีปลาหลากหลายชนิดมาแวะเวียนมากินอาหารบริเวณนี้

3.4 แก่งหินกลางลำน้ำโขง จะมีลักษณะที่เป็นบริเวณน้ำไหลเป็นคลื่นซึ่งถ้าฤดูน้ำลดเกาะจะกลายเป็นดอน ฤดูน้ำหลากก็จะกลายเป็นแก่ง ลักษณะพื้นที่เชนนี้ชวยชะลอความแรงของกระแสน้ำ ทําใหสัตวน้ำมา อาศัยเป็นพื้นที่หลบพักจากกระแสน้ำเชี่ยวได้ ปลาที่ชอบกินขี้ไคลหินมักจะมาเล่นบริเวณนี้และหากินบริเวณแก่ง เหมาะแกการหว่านแห

3.5 เกาะหรือดอน กลางน้ำ จะมีลักษณะเกิดจากดินหรือทรายที่ไหลมากับน้ำทับถมกันจนกลายเป็นดอน พื้นที่นี้จะโผลขึ้นมาให้เห็น ยามฤดูแลง มีพืชหลายชนิด เจริญเติบโต และยังเป็นที่อยู่ของสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานที่อพยพจากที่ลุ่มช่วงน้ำหลากกลายเป็นอีกแหล่งอาหารให้กับชาวบ้าน และเป็นบริเวณที่ชาวบ้านมักจะมาหว่านแห ทุ่มมอง กางมองดักปลาในบริเวณนี้ 

3.6 บุ่ง จะมีลักษณะเป็นบริเวณที่เป็นแอ่งน้ำหรือหนองน้ำ ซึ่งจะถูกน้ำโขงท่วมในช่วงฤดูฝน เมื่อน้ำ ลดลงจะมีน้ำขังกลายเป็นแอ่งน้ำรูปแบบต่างกันไป บุ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำขณะที่บุ่งบางแห่งอาจมีหินหรือหาดทรายล้อมรอบ ชาวบ้านสามารถทําสวนปลูกพืชผักได้ในฤดูน้ำลด 

3.7 ซ่ง จะมีลักษณะเป็นบริเวณที่น้ำเว้าเข้าไปในฝูงเพราะถูกแรงน้ำกัดเซาะ เป็นที่พักอาศัยของสัตว์น้ำหรือเป็นจุดที่ปลาเข้าไปเล่นน้ำ ทําให้ชาวบ้านนิยมใส่มองใส่เบ็ด ตกปลาบริเวณนี้เชนกัน

3.8 ห้วย จะมีลักษณะเป็นลำน้ำที่ถือเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ไหลมาจากภูเขาลงมาบรรจบกับ แม่น้ำโขง 

ปัจจุบันความมั่นคงทางด้านอาหารเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมเริ่มมีการพลิกผันทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นผลกระทบต่อชุมชนบ้านตามุยในปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้ม การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารสำคัญของชุมชน อันได้แก่

1. การประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ส่งผลกระทบต่อด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่

1.1 ชาวบ้านถูกจำกัดสิทธิ์ในการทำมาหากิน เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่  

1.2 ชาวบ้านโดนคดีความในการบุกรุกหาของป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

1.3 ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวในการหาของป่าบนภูตามุย เช่น การเก็บเห็ด หน่อไม้ การหาสมุนไพร เป็นต้น 

2. การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง การสร้างเขื่อนสร้างผลกระทบต่อระบบบนิเวศทางน้ำ ได้แก่

2.1 ปลาทั้งหมดที่เคยพบเห็นในแม่น้ำเริ่มหายไปและลดลงทุกปี

ปลาที่ไม่สามารถพบเห็นปลาที่สามารถพบเห็น
ปลากระเบนปลาสร้อย
ปลาสะพุงปลาสะงั่ว
ปลาเลิ่มปลาเคิง
ปลาเหม็นปลาอีตู่

2.2 การปลูกพืชริมโขงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เหมือนแต่ก่อน เช่น การปลูกฝ้าย ปลูกมันแกว หรือปลูกข้าวโพด อันเนื่องมาจากการแปรปรวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขง การขึ้น-ลงของน้ำมีสภาวะที่ผิดปกติ ส่งผลต่อการปลูกพืชริมโขงจึงตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน การทำเกษตรริมโขงของชาวบ้านตามุยจึงลดลง 

ประชากร

บ้านตามุย มีประชากรรวมทั้งสิ้น 619 คน ชาย 317 คน หญิง 302 คน (กระทรวงมหาดไทย, 2565) มีจำนวนครัวเรือน 141 ครัวเรือน เมื่อจำแนกประชากรตามช่วงอายุ สามารถแสดงเป็นปิระมิดประชากรได้ดังนี้

%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A2_651ec2119098b.jpg

ต้นตระกูลดั้งเดิม

1. ขยันการ           7.ตุ้มทอง
2. ใต้โพธิ์           8. มะวันไส
3. นนทวงค์           9. สีเนย
4. ใต้โพธิ์           10. บุญส่ง
5. สีดอน           11. ปัญญาสู้
6.จันทร์สุข

(คำปิ่น อักษร, 2563)

แผนผังเครือญาติบ้านตามุย พบว่ามีลักษณะพิเศษ คือ เนื่องจากเป็นชุมชนชายแดนทำให้เห็นภาพแผนผังเครือญาติที่มีความสัมพันธ์สองฝั่งโขง

  %E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A21_651ec21190ba4.jpg

ตัวอย่างแสดงแผนผังเครือญาติของครอบครัวชุมชนบ้านตามุย

%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A22_651ec21190cb6.jpg

ตัวอย่างแสดงแผนผังเครือญาติของครอบครัวชุมชนบ้านตามุย

กลุ่มเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของจังหวัดอุบลราชธานี

ปัญหาในหมู่บ้านชายแดนริมน้ำโขงก็ไม่ต่างจากหลายๆ หมู่บ้านในเขตชายแดน ปัญหาความมั่นคงประเทศและความเป็นรัฐ ที่ผ่านมาชาวชุมชนต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำมาหากินและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองฝั่ง ระบบเครือญาติถูกกำแพงรัฐและความมั่นคงประเทศกั้นสายสัมพันธ์พี่น้องให้ห่างออกไปเรื่อย ๆ รวมทั้งปัญหาสัญชาติเด็กที่เกิดจากพ่อ(แม่)ไทย-แม่(พ่อ)ลาวก็เป็นปัญหาเรื้อรังมาปัจจุบัน นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2534 รัฐประกาศเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เนื้อที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร หรือ 212,500 ไร่ ครอบคลุมที่ตั้งบ้านเรือนและทับที่ดินทำกินของชาวบ้านจำนวนมาก นั่นก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งของรัฐที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับวิถีชีวิตและการทำมาหากินชาวบ้าน

ซึ่งเมื่อมีการเก็บข้อมูลพบว่าในพื้นที่ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะเรื่องเขื่อนที่กำลังจะสร้างเท่านั้น หากแต่มีความซับซ้อนทั้งเรื่องป่าไม้ที่ดิน เขื่อนและปัญหาของกลุ่มพี่น้องที่อาศัยอยู่ในเขตตามแนวชายแดนแม่น้ำโขงร่วมด้วยที่พบว่ายังมีปัญหาเรื่องไร้สัญชาติรวมอยู่ในนั้นด้วย ทำให้มีการนัดรวมหารือว่าจะตั้งกลุ่มเพื่อสู้ในปัญหาที่เกิดขึ้น และก่อเกิดกลายมาเป็นกลุ่มเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นในปี 2552 ทั้งนี้มีการรวมกลุ่มขึ้น 3 อำเภอ 10 หมู่บ้าน อำเภอโขงเจียม อำเภอบุณฑริก และอำเภอโพธิ์ไทร โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันขับเคลื่อน ใน 4 ประเด็น คือ

1. ร่วมกันปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรแม่น้ำโขง

2. เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตอุทยานทับที่

3. เพื่อแก้ไขปัญกลุ่มคนไร้สัญชาติ ไร้สถานะบุคคลกลุ่มลาวอพยพ

4. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

ซึ่งการรวมกลุ่มใช้เงื่อนไขการทำออมทรัพย์ร่วมกันของสมาชิกกลุ่มเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขงโดยมีแนวคิดให้แต่ละชุมชนตั้งกลุ่มสมาชิกโดยใช้เงื่อนไขการทำออมทรัพย์ร่วมกัน ปัจจุบันเงื่อนไขออมทรัพย์กลุ่มในชุมชนต่างๆที่เป็นสมาชิกยังคงดำเนินงานอยู่ เงินถูกนำมากู้ยืมภายในเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และปัจจุบันยังพัฒนาไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายบ้านมั่นคงชนบทของรัฐบาลที่ผ่านมายังสถาบันองค์กรชุมชน (พอช.)ซึ่งเครือข่ายชุมชนฯได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วยและมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่อยู่อาศัยให้มั่นคงร่วมกันตามแนวทางของการรวมกลุ่มในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต

การขยับขับเคลื่อนของบ้านตามุยภายใต้เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง

บ้านตามุยมีสมาชิก 16 ครอบครัวที่รวมตัวกันในขณะนั้น เพื่อที่จะร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหา ซึ่งพบว่าบ้านตามุยมีสถานการณ์ปัญหา ทั้งเรื่องป่า เรื่องน้ำและเรื่องสิทธิสถานะ การรวมกลุ่มในช่วงแรกเริ่มมีข้อเสนอให้รัฐบาลออกโฉนดชุมชนให้แก่ชาวบ้าน โดยการเข้าร่วมของเครือข่ายในยุคแรกเริ่มต้องอาศัยพี่เลี้ยงจากในเมือง คือข่ายชุมชนเมืองได้มาช่วยในการเป็นพี่เลี้ยงในยุคแรกเริ่ม มีการประชุมทุกเดือนเพื่อทำข้อมูล เขื่อนแม่น้ำโขงรวมถึงที่ดินทำกินที่อุทยานผาแต้มประกาศทับไปในปี 2534 มีการเข้าร่วมกับกลุ่ม เครือข่ายชุมชนเพื่อปฏิรูปสังคมและการเมือง  ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า P-MOVE หรือชื่อเรียกว่า ประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันบ้านตามุยยังคงเดินหน้าเรียกร้องแก้ไขกฎหมายพรบ.ป่าไม้และอุทยานจนฉบับใหม่ปี 2562 ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน (คำปิ่น อักษร, มปป) คำปิ่น อักษร. มปป. โครงการศึกษาศักยภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้สิทธิของชุมชนบ้านตามุย, (2): 19-21.

ชีวิตประจำวัน

อาชีพหาปลาที่ถือว่าเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านแล้ว เมื่อเว้นว่างจากการหาปลาชาวบ้านจะสานตะกร้า หรือทำอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยไม้ไผ่ หรือประดิษฐ์เครื่องมือหาปลา เช่น เครื่องมือดักปลา ข้อง ซึ่งเป็นเภาชนะสานด้วยไม้ไผ่สำหรับใส่ปลา เป็นกิจกรรมเว้นว่างจากการหาปลา ทำประมง นอกจากนี้เมื่อเว้นว่างจากหน้าที่หลักบ้างจะปลูกผัก ทำเกษตรริมโขง ทำสวน ปลูกผลไม้ต่าง ๆ ประกอบกับการเข้าหาของป่า เช่นหาเห็ด หน่อไม้ เพื่อมาขาย หรือแลกเปลี่ยนกับคนในชุมชนเอง ซึ่งถือว่าชาวบ้านตามุยนั้นเป็นมีพื้นที่และดินที่อุดมสมบูรณ์จากการบอกกล่าวของ คุณพ่อทองสา มะวันไส ให้สัมภาษณ์ว่า “ชุมชนหรือที่ดินชุมชนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกอะไรก็ได้กิน” 

 %E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A2_651ec21193309.jpg

รูปภาพที่ 9 ภาพวิถีชีวิตชาวบ้านที่กำลังทำจักสานภาชนะใส่ปลา

ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนบ้านตามุยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ ในชุมชน เช่น เรื่องวัฒนธรรม บุญประเพณี ประวัติศาสตร์ชุมชน และความรู้เฉพาะด้าน เช่น หมอสมุนไพร หมอสูตร หมอพราหมณ์ และหมอสัตว์ ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องของความรู้ด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชุมชน ชาวบ้านผู้สูงอายุทุกคนจะมีความรู้เรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยมีการรวมกลุ่มของปราชญ์ชาวบ้านตามุย เมื่อมีคนภายนอกมาเยือน ปราชญ์ชาวบ้านจะคอยให้ความรู้ตามภูมิปัญญาของตน ดังนี้

1. พ่อวัย ป้องพิมพ์ อายุ 69 ปี ปราชญ์ชุมชนผู้มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชุมชนและมีองค์ความรู้เฉพาะด้าน เป็น “หมอสัตว์” ยกตัวอย่างเช่น รักษาคนป่วยที่ถูกงูกัด เป็นต้น

2. พ่อทองสา มะวันไส อายุ 56 ปี ปราชญ์ชุมชนผู้มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม เรื่องการหาปลา หาของป่า ประวัติศาสตร์ชุมชนปัจจุบันและเป็นที่รู้จักในนามพ่อครูโฮงเฮียนฮักแม่น้ำของ 

3. พ่อกอง ขยันกาน อายุ 67 ปี ปราชญ์ชุมชนผู้มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเกี่ยวกับชุมชน เรื่องการหาปลา สานเครื่องมือหาปลาด้วยไม้ไผ่

4. พ่อทองมี แพ่งเนตร หรือ ตาพรม อายุ 79 ปี หรือ “ตาพรม” เป็นปราชญ์ผู้มีความรู้เรื่องหมอธรรม หมอเป่า  และเป็นผู้มีอำนาจในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

5. พ่อสนิท จันทร์สุข อายุ 69 ปี ผู้มีความรู้เรื่องภูมิปัญญาสมุนไพรและเป็นหมอสมุนไพรประจำหมู่บ้านการใช้พืชสมุนไพรจากการไปหาสมุนไพรบนภูตามุย เช่น กกชมชื่น ซึ่งนำใบมาขย่ำและแช่น้ำไว้ จากนั้นนำน้ำที่แช่จากต้นกกชมชื่นมาลูบหัว จะช่วยแก้รักษาอาการปวดหัว 

6. พ่อตาล จันทร์สุข อายุ 59 ปี ผู้ปราชญ์ชุมชนผู้มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชุมชน  เรื่องการปลา สานเครื่องมือหาปลาด้วยไม้ไผ่

ภูมิปัญญาเกี่ยวกับสมุนไพร 

การรักษาโรคโดยใช้สมุนไพรเป็นพื้นฐานการรักษาทางการแพทย์ของคนในอดีตเป็นอย่างมาก ปัจจุบันพบว่าการเลือกใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกรองของยุคสมัยปัจจุบัน และพบว่าบ้านตามุยนั้นยังคงใช้ยาสมุนไพรในการรักษาอาการเบื้องต้นอยู่ เช่น อาการปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง ไอมีเสมหะ ระคายคอ ปวดตามเนื้อตามตัว ปวดข้อ เป็นต้น (สนิท จันทร์สุข, สัมภาษณ์ 11 สิงหาคม 2565)

  • ต้นมุย หรือ “กกมุย” เป็นพืชชนิดหนึ่งมีสรรพคุณเป็นยา จะใช้บริเวณลำต้น กิ่ง มาต้มหรือนำไปตากแห้งและนำไปดื่มเพื่อรักษาอาการตกขาว ซึ่ง “ต้นมุย” จะพบบริเวณลำห้วยตามุย
  • ไผ่โจด เป็นพืชชนิดหนึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้รักษาอาการโรคหลอดเลือดลมอักเสบ นำเอาบริเวณรากไปต้ม ส่วนใหญ่จะพบบริเวณเชิงเขาและที่ราบเชิงเขาตลอดเส้นทางขึ้นไปภูตามุย
  • ทอดกะทันปลา ป็นพืชที่มีสรรพคุณแก้รักษาโรคกรากเกลื้อน นำมาเอาใบทอดกะทันปลาไปขย่ำในน้ำแล้วนำไปอาบ พบบริเวณหลังเขา ที่ราบ ที่ราบเชิงเขา ทางขึ้นภูตามุย
  • รากมะเขือขื่น เป็นพืชที่มีสรรพคุณรักษาอาการแก้ไอ แก้เสมหะ ระคายคอ ซึ่งจะนำเอารากไปแช่น้ำหรือไปต้มแล้วดื่ม พบเห็นได้ตามชุมชน
  • กกชมชื่น เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาอาการปวดหัว ปวดไมเกรน นำเอาใบมาขย่ำกับน้ำ แล้วนำมาลูบหัว กกชมชื่นพบเห็นส่วนใหญ่บริเวณชุมชน
  • รากหมามุ่ย นำเอารากไปแช่น้ำหรือนำไปต้มดื่ม เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาอาการ ไอ หอบหืด 
  • ต้นแดงและต้นปะดง นำเอาส่วนแกนของพืชสองชนิดนี้มาแช่น้ำหรือต้มหรือรวมกันแล้วดื่ม ช่วยรักษาปวดตามเนื้อตามตัว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ 
  • ต้นแดง ต้นปะดง และต้นผง นำเอาส่วนเปลือกของพืชทั้ง 3 ชนิด มาตำรวมกัน แล้วเอาผ้าขาวหรือผ้าขาวม้ามาห่อ แล้วนำไปนึ่ง เพื่อเอามาประคบส่วนที่ปวด รักษาอาการปวดตามข้อ ปวดหัวเข่า ฯลฯ
  • หมากบ่อบิด เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณ รักษาอาการท้องผูก นำมาต้มกิน 
  • หญ้าควายงู และแกนต้นจำปา นำเอาส่วนเปลือกทั้ง 3 ชนิดนี้มาต้มรวมกัน รักษาอาการปวดท้อง 

ภูมิปัญญาในการหาปลา

การหาปลาในอดีตนั้นโดยสภาพแวดล้อมในขณะนั้นมีความอุดสมบูรณ์มีปลาหลากหลายชนิดให้จับ ให้ล่า มากมาย แม่น้ำโขงยังเป็นแม่น้ำที่ชุมชนริมฝั่งของได้อาศัยพึ่งพามาหลายชั่วอายุคน ชุมชนริมฝั่งของทั้งสองฝั่งได้อาศัยแม่น้ำสายนี้ทั้งทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง และการหาปลาในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำงานในไร่ในนา และคนอีกมายที่หาปลาเป็นอาชีพหลัก คนหาปลาในแม่น้ำของบางคนใช้เวลาว่างเพื่อประดิษฐ์เครื่องมือในการหาปลาของตัวเองและใช้ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการหาปลามาผลิตเครื่องมือหาปลาหรือซ่อมแซม เครื่องมือหาปลาประเภทเบ็ดและมองขนาดต่าง ๆ 

ชนิดของปลา

ปัจจุบันพบปลาแม่น้ำโขง ได้ดังนี้ ปลาอีตู๋ ปลากดก่ำ(ปลากดดำ) ปลาเอิน ปลาหนู ปลาสะงั้ว ปลานางแดง(ปลาเนื้ออ่อน) ปลาหลังขน ปลาส้อย ปลาปาก ปลาหมากมา ปลาเคิง ฯลฯ 

เครื่องมือหาปลา

เครื่องมือหาปลาแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ มอง (ตาข่ายจับปลา) เบ็ด ซึ่งจะใช้ในการหาปลาไม่เหมือนกันเพราะในแต่ละพื้นที่ของแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ ที่มีทั้งน้ำตื้น น้ำลึก และบริเวณที่เป็นบุ่ง หรือตามขนาดของปลา ดังนั้นแต่ละเครื่องมือหาปลาจะมีบริเวณการจับปลาที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น 

มอง (ตาข่ายจับปลา) แยกออกเป็นหลายขนาดและหลายประเภท 

ประเภทของมอง (ตาข่ายจับปลา)

  • มองแซก : ใส่ตาข่าย 3-10 เซนติเมตร
  • มองซำ : ใส่ตาข่าย 8-20 เซนติเมตร
  • มองลวง : ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ ถ้าน้ำเชี่ยวจะใส่ตาข่าย 20 เซนติเมตร ถ้าน้ำลดจะใส่ตาข่าย 8-10 เซนติเมตร
  • มองข้ามของ : บริเวณน้ำลึกจะใช้ตาข่าย 20 เซนติเมตร บริเวณน้ำตื้นจะใช้ตาข่าย 8-10 เซนติเมตร

ซึ่งปลาที่จับได้ขึ้นอยู่กับขนาดของมอง ดังนี้

%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2_651ec21196ecf.png

มองใหญ่ แบ่งเป็น มองซำ มองลวง มองข้ามของ (มองที่มีขนาดตา 10 เซนติเมตรขึ้นไปจนถึง 30 เซนติเมตร) = จะใช้จับปลาในบริเวณน้ำลึกหรือบริเวณกลางแม่น้ำโขง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เปลว” และปลาที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น เช่น ปลาคัง ปลาเอิน ปลาบึก เป็นต้น

มองเล็กหรือมองแซก (มองที่มีขนาดตาขนาด 3-10 เซนติเมตร) = จะให้จับปลาบริเวณน้ำตื้นหรือเป็นบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า เวิน(ริมโขง) หนอง และจะใช้จับปลาที่เป็นประเภทปลาจำพวกขนาดเล็ก เช่น ปลาสะงั้ว ปลานางแดง ปลาหนู ฯลฯ

ประเภทของเบ็ด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

เบ็ดตัด เบ็ดลอง ส่วนใหญ่ใช้จับบริเวณที่เป็นน้ำตื้น หรือบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่าเวิน หรือบริเวณที่อยู่ริมโขง จะใช้จับปลาจำพวกปลาที่มีขนาดเล็ก

ภาษาหลักของชาวบ้าน เนื่องด้วยชุมชนตั้งอยู่อำเภอโขงเจียม และมีเนื้อที่ติดริมฝั่งโขงและฝั่งตรงข้ามของชุมชนเป็นประเทศลาว ซึ่งในอดีตมีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชาวลาวอพยพ นั่นคือ เหตุการณ์สงครามที่ทำให้ลาวแตก และทำให้ชาวลาวอพยพมาที่ชุมชนบ้านตามุย การใช้ภาษาของชุมชนคือภาษาอีสานท้องถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศลาวเมื่อนานมาแล้ว


สภาพปัญหาของชุมชนบ้านตามุย

1. การประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ส่งผลกระทบต่อด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงของชีวิตชาวบ้านถูกจำกัดสิทธิ์ในการทำมาหากิน เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ ชาวบ้านโดนคดีความในการบุกรุกหาของป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวในการหาของป่าบนภูตามุย

2. การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง การสร้างเขื่อนสร้างผลกระทบต่อระบบบนิเวศทางน้ำ โดยปลาทั้งหมดที่เคยพบเห็นในแม่น้ำเริ่มหายไปและลดลงทุกปี การปลูกพืชริมโขงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เหมือนแต่ก่อน เช่น การปลูกฝ้าย ปลูกมันแกว หรือปลูกข้าวโพด อันเนื่องมาจากการแปรปรวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขง การขึ้น-ลงของน้ำมีสภาวะที่ผิดปกติ ส่งผลต่อการปลูกพืชริมโขงจึงตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน การทำเกษตรริมโขงของชาวบ้านตามุยจึงลดลง

ความต้องการอยากพัฒนาของคนในชุมชน

1. ชาวบ้านต้องการให้รัฐแบ่งพื้นที่ทำมาหากินในบริเวณหัวไร่ปลายนา

2. ต้องการโฉนดที่ดินในการทำมาหากินและเพื่อให้เกิดความมั่นคงของวิถีชีวิต

3. ส่งเสริมให้ชุมชนกลายเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชน

4. ส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน

การประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่าผลกระทบที่สั่นคลอนคนอยู่กับป่า

ในปี 2557 เมื่อ คสช. ทำรัฐประหาร ประกาศนโยบาย "คืนความสุข" และออกคำสั่งจัดการผืนป่าสำคัญสองคำสั่ง คือ คำสั่งคสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 ให้อำนาจทหารเข้ายึดคืนที่ดินจากประชาชนทั่วประเทศ จากคำสั่งนโยบายดังกล่าวทำให้จากที่ไม่เคยมีเรื่องระหว่างชาวบ้านกับอุทยานแห่งชาติผาแต้มมาอย่างยาวนาน กลับระอุขึ้นมาอีกครั้ง มีการเข้ามาทำการตรวจสอบถ่ายภาพพื้นที่เดินลาดตระเวณ 

มีชาวบ้านตามุย 4 ราย ที่ถูกทวงคืนพื้นที่  ได้แก่ 

  • นายฤทธิ์ ขยันการ จำนวน 2.3 ไร่
  • นางบุญโฮม ขยันการจำนวน 2 ไร่
  • นายบุญลี้ ขยันการ จำนวน 3 ไร่
  • นางทองศรี ขยันการ จำนวน ครึ่งงาน

แม้ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 ได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่การปฏิบัติการต่าง ๆ ตามคำสั่งให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามข้อ 8 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ดังนั้นปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ายังคงดำเนินการต่อไปตามแผนแม่บทป่าไม้ที่เป็นความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ กอ.รมน. ซึ่งในระดับปฏิบัติการณ์ในพื้นที่กลับไม่ได้หยุดดำเนินการ มีการนำเอกสารมาให้ชาวบ้านยินยอมคืนพื้นที่โดยการเซ็นเอกสาร มี 3 รายที่ทำการยอมเซ็นและทำให้ไม่มีการฟ้องร้อง มีเพียงนายฤทธิ์ จันทร์สุข ที่ยืนกรานไม่ขอเซ็นคืนเพราะเชื่อมั่นว่าที่ดินแปลงนี้เขาทำกินมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ไม่ได้บุกเบิกใหม่หลังปี 2557 ตามที่อุทยานกล่าวหา

การเข้ามาของอุทยานแห่งชาติผาแต้มในมุมชาวบ้าน

นายสวน ขยันการ อายุ 79 ปี เล่าว่าก่อนที่อุทยานจะเข้ามา พูดกับเราดี มาขอใช้น้ำขุดสระ ขุดคลองและบอกชาวบ้านว่าจะให้ใช้ร่วมกันและยังพูดกับพ่อใหญ่โสกับแม่ใหญ่ไฮว่าจะจ่ายให้เดือนละ 50 บาทตลอดชีวิตอีกด้วย แต่ก็ไม่เคยได้ หนำซ้ำต่อมาก็ขับไล่พวกชาวบ้านออกจากพื้นที่ ในยุคที่พ่อใหญ่พรม(บุญมี แพงเนตร)เป็นผู้ใหญ่บ้าน ราวสักปี 2532 ในยุคนั้นมีการปักป้าย ชาวบ้านรวมตัวกันไม่ยอม รื้อป้ายทิ้ง อุทยานก็กลัว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ เราเอารถแทร๊กเตอร์มาขุดดินเพื่อจะสร้างวัด อุทยานจะเข้ามาจับ ชาวบ้านออกไปปิดล้อมถือจอบเสียม จนอุทยานต้องหนีกระเจิงไป แรกๆก็ไม่กลัว เนื่องด้วยผู้นำพาสู้ ชาวบ้านก็เลยเอา แต่มาในยุคเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ ก็ทำให้เรายอมและไม่กล้าสู้กับอุทยานอีกเลย และถอยร่นมาอยู่พื้นราบกันหมด มีเพียงคนเดียวที่ไม่ยอมถอยคือ นายสด จันทร์สุขซึ่งยังคงทำกินจนถึงปัจจุบัน 

พ่อสด จันทร์สุข เล่าถึงเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดินบนหลังภู ที่มีอยู่ประมาณ 36 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน ปลูกมะม่วงหิมะพาน สัปปะรด พ่อสดเล่าว่าก็กลัว แต่ก็เสียดายที่ดินเพราะถ้าหนีลงมาก็ไม่มีที่ดินทำกิน แอบไปปลูกไปถางไว้ตลอด เจอเจ้าหน้าที่ก็หลบ เพราะกลัวถูกจับ แอบๆซ่อนอยู่หลายปีเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยกลัวเท่าไร หลังจากที่ขอออกโฉนดชุมชนร่วมกันกับเพื่อนๆอีก 16 ราย 


อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

ที่มาของชื่อพื้นที่ที่ชาวบ้านไปหาปลาและเป็นพื้นที่บริเวณที่ปลาอาศัยอยู่ (ที่มา : Rapichan Phurisamban)

  • ดอนนาแสน ที่มาของชื่อ การทำนาข้าวบนดอนและได้ข้าวจำนวนสิบหมื่น หรือเรียกว่า หนึ่งแสน ซึ่งดอนนาแสนนั้น ในอดีตชาวบ้านทำนาได้ปีละ 10หมื่น ซึ่งจะปลูกข้าวได้ในช่วงน้ำลด
  • ถ้ำบุดดี ที่มาของชื่อ สมัยก่อนพ่อใหญ่บุดดี มาหาปูหาปลาบริเวณถ้ำ และเข้าไปนอนพักบ่อย จนชาวบ้านเรียกว่าถ้ำบุดดี
  • ดอนขี้ ที่มาของชื่อ เวลาที่ชาวบ้านปวดหนักเวลาออกไปหาปลาจะไปปลดทุกข์บริเวณดอนขี้ จนชาวบ้านเรียกว่า ดอนขี้
  • โงนเงือก ที่มาของชื่อ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน จะมีหินสองก้อนซึ่งชาวบ้านเชื่อว่านั้นคือพญานาคที่มาเล่นน้ำ
  • บุ่งกานี ที่มาของชื่อ นกกาชอบมากินปลา เพราะสมัยก่อนเมื่อน้ำลดทำให้อีกาชอบมาดักรอปลาที่บริเวณนี้
  • บุ่งน้ำใส ที่มาของชื่อ สมัยก่อนชาวบ้านจะใช้น้ำบริเวณนี้ ใช้ดื่ม ใช้กิน เฉพาะหน้าแล้ง
  • บุ่งพาด ที่มาของชื่อ จะมีรอย เหมือนรอยศิลปะ ถูกวาดและขีดเขียน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีลวดลายเหมือนเกล็ดงู หรือ เกล็ดพญานาค
  • ซ่งบักถั่ว ที่มาของชื่อ เป็นบริเวณที่ชาวบ้านสมัยก่อนใช้ดำนาและปลูกถั่วดิน
  • ถ้ำทราย ที่มาของชื่อ ในถ้ำเป็นทรายจำนวนมาก สมัยก่อนมีคนจากต่างถิ่นที่มาหาปลามาพัก มานอนเล่นอยู่ในถ้ำ
  • ดอนสิม ที่มาของชื่อ “สิม” เป็นภาษาลาวที่แปลว่า “โบถส์”
  • ดอนสลึง ที่มาของชื่อ เป็นที่ที่ชาวบ้านมักจะไปเล่นการพนันบริเวณดอน พื้นที่แสดงแหล่งหาปลาและแหล่งอาศัยของปลาในแม่น้ำโขง บริเวณหน้าชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง

ธนพร ศรีสุขใสและคําปิ่น อักษร. (2560). สถานะความมั่นคงทางอาหารของชุมชนริมโขง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง กรณี หมู่บ้านบ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี.  เชียงใหม่:สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง.

คำปิ่น อักษร. (ม.ป.ป). โครงการศึกษาศักยภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้สิทธิของชุมชนบ้านตามุย, (2): 19-21.

ทองสา มะวันไสย. 6 สิงหาคม 2565. สัมภาษณ์. (บ้านตามุย)

สนิท  จันทร์สุข. สัมภาษณ์ 11 สิงหาคม 2565. สัมภาษณ์. (บ้านตามุย)

จุฬา จันทร์สุข. สัมภาษณ์ 20 สิงหาคม 2561. สัมภาษณ์. (บ้านตามุย)

สวน ขยันการ. สัมภาษณ์ 20 สิงหาคม 2563. สัมภาษณ์. (บ้านตามุย)

สด จันทร์สุข. สัมภาษณ์ 8 สิงหาคม 2563. สัมภาษณ์. (บ้านตามุย)