Advance search

มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม

สุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม

สุเหร่าผดุงธรรมอิสลามเป็น “สุเหร่า” แห่งแรกของแขกเจ้าเซ็นในพื้นที่วัฒนธรรมสามกะดี-สี่สุเหร่า

มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม
บ้านช่างหล่อ
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
วิไลวรรณ เดชดอนบม
29 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
30 มี.ค. 2023
มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม
สุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม


สุเหร่าผดุงธรรมอิสลามเป็น “สุเหร่า” แห่งแรกของแขกเจ้าเซ็นในพื้นที่วัฒนธรรมสามกะดี-สี่สุเหร่า

มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม
บ้านช่างหล่อ
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
10700
มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม โทร. 08-1913-5914, สำนักงานเขตบางกอกน้อย โทร. 0-2424-0056
13.737825
100.486857
กรุงเทพมหานคร

มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม หรือสุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม เป็นศาสนสถานที่ได้ชื่อว่าเป็นสุเหร่าแห่งแรกของแขกเจ้าเซ็นในพื้นที่สามกะดี-สี่สุเหร่า หรือชุมชนไทยชีอะห์อิชนาอะชะรี เริ่มแรกผู้สร้าง คือ นายเพ็ง เมนาคม ตั้งใจอุทิศสุเหร่าแห่งนี้ให้เป็นสถานศึกษาชุมชนในนาม “โรงเรียนผดุงธรรมอิสลาม”

โรงเรียนผดุงธรรมอิสลามเกิดขึ้นในเวลาที่ชุมชนแขกเจ้าเซ็นในธนบุรียังขาดพื้นที่ทางการศึกษาเพื่อการเรียนการสอน ให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมและจริยธรรมแก่บรรดาเยาวชนชาวแขกเจ้าเซ็น กอปรกับแนวคิดที่แตกต่างต่อมุมมองของสังคมแขกเจ้าเซ็นในเวลานั้น อันเกิดจากการเดินทางจาริกแสวงบุญยังเมืองกัรบะลาอ์ ประเทศอิรัค ของแขกเจ้าเซ็นกลุ่มหนึ่ง นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและแนวคิดขัดแย้งต่อกรอบความเชื่อเก่าบางประการ โดยเฉพาะรูปแบบหรือจารีตปฏิบัติในพิธีกรรมเจ้าเซ็น เป็นเหตุให้โรงเรียนผดุงธรรมอิสลามต้องเปลี่ยนสภาพเป็น “สุเหร่า” รองรับรูปแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแขกเจ้าเซ็นที่แตกต่างจากเดิม ความแตกต่างทางความคิดและทัศนะที่แปลกแยกของแขกเจ้าเซ็นภายในชุมชนวัฒนธรรมเดียวกัน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดศาสนสถานแห่งใหม่ภายใต้นาม “สุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม” ในปี พ.ศ. 2479

ภายหลังรัฐเวนคืนที่ดินชุมชนในปี พ.ศ. 2486 คณะสุเหร่าผดุงธรรมอิสลามจึงได้ย้ายไปสร้างสุเหร่าขึ้นใหม่ในที่ดินส่วนบุคคลของเครือญาติพวกพ้องใกล้กับกุฎีเจริญพาศน์ และในปี พ.ศ. 2492 สุเหร่าผดุงธรรมอิสลามได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในนาม “มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม” ศาสนสถานหนึ่งในสี่แห่งของชุมชนแขกเจ้าเซ็น ตามสำนวนที่เรียกพื้นที่วัฒนธรรมดังกล่าวว่า “สามกะดี-สี่สุเหร่า”

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม เป็นหนึ่งในสี่ศาสนสถานและชุมชนแขกเจ้าเซ็น ชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย บริเวณพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “สามกะดี-สี่สุเหร่า” หรืออีกชื่อเรียกหนึ่ง คือ “ชุมชนไทยชีอะห์อิชนาอะชะรี”

ระบบเครือญาติ

แขกเจ้าเซ็นมีวัฒนธรรมการนับเครือญาติซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมแขกเจ้าเซ็น และทำให้แขกเจ้าเซ็นมีระบบเครือญาติที่แตกต่างจากมุสลิมกลุ่มอื่น เช่น มุสลิมสุหนี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายแขกมลายูจะมีคำนับญาติ เช่น ป๊ะ ม๊ะ เยอะ กี นิ บัง ฯลฯ ในขณะที่แขกเจ้าเซ็นเป็นชาวมุสลิมเพียงกลุ่มเดียวที่คำเรียกญาติแบบ “ยาย ย่า ตา ปู่ ลุง ป้า นา อา พ่อ แม่ พี่ น้อง” ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แขกเจ้าเซ็นมีความเป็นมุสลิมที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น 

แขกเจ้าเซ็น เป็นชุมชนสังคมเมืองที่มีพื้นฐานค่านิยมเป็นสังคมข้าราชการมาตั้งแต่อดีต มีการปลูกฝังให้ลูกหลานมุ่งเข้าสู่อาชีพข้าราชการ หรือองค์กรที่ขึ้นต่อหน่วยงานของรัฐมากกว่าการประกอบอาชีพในภาคงานอื่น ๆ ทำให้แขกเจ้าเซ็นในคณะสุเหร่าผดุงธรรมอิสลามส่วนใหญ่มีฐานรายได้หลักมาจากการเข้ารับราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบางส่วนที่เข้าทำงานในภาคเอกชน และภาคธุรกิจ เช่น ค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น 

แขกเจ้าเซ็นสุเหร่าผดุงธรรมอิสลามมีวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของหลักศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับชาวมุสลิมกลุ่มอื่นในสังคมไทย วิถีชีวิตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นผ่านรูปแบบการจัดประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญในรอบปี ได้แก่ งานเมาลิดดินนบี การถือศีลอด วันตรุษฟิตริ และวันตรุษอัฏฮา ขณะเดียวกันแขกเจ้าเซ็นก็มีประเพณีและวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติเฉพาะในกลุ่มชาวแขกเจ้าเซ็นเท่านั้น ได้แก่ พิธีเจ้าเซ็น พิธีอาบน้ำอาคะหรี่ วันซุบบะหราต และวันอีดเฆาะดีรข่ม

  • พิธีเจ้าเซ็น หรือพิธีมะหะหร่ำ : บางครั้งเรียกว่า พิธีอาชูรอ พิธีดังกล่าวเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญที่สุดในรอบปีของแขกเจ้าเซ็น เพื่อย้ำเตือนอุดมการณ์ทางศาสนา และรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอิหม่ามฮูเซน

  • อาบน้ำอาคะหรี่ : เป็นวันแห่งการชำระล้างร่างกายของแขกเจ้าเซ็น โดยเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงขจัดสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ออกจากชีวิตมนุษย์ผู้ศรัทธา ตลอดจนขจัดความชั่วร้ายออกจากสังคมของมวลมนุษย์

  • วันซุบบะหราต หรือบุญนิสฟูชะอ์บาน : เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ระหว่างวันที่ 15 เดือนชะอ์บาน เป็นเวลา 15 วัน ก่อนเข้าสู่เดือนแห่งการถือศีลอด

  • วันอีดเฆาะดีรข่ม : เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองที่ศาสดามุฮัมหมัดได้แต่งตั้งอะลีให้ดำรงตำแหน่งอิหม่าม เพื่อทำหน้าที่ผู้นำประชาคมมุสลิมต่อจากนบีมุฮัมหมัด

นอกเหนือจากประเพณีวัฒนธรรมร่วมของชาวมุสลิม และวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มของแขกเจ้าเซ็นแล้ว ยังมีบุญประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของแขกเจ้าเซ็น เช่น วันวิลาดัต (วันคล้ายวันเกิด) วันวะฝาด (วันคล้ายวันสิ้นชีพ ในกรณีที่เสีนชีวิตโดยปกติทั่วไป) และวันชะฮาดัต หรือชะฮีต (วันคล้ายวันสิ้นชีพ ในกรณีที่บุคคลนั้น ๆ ถูกสังหาร หรือพลีชีพในวิถีทางศาสนาอิสลาม) ซึ่งแขกเจ้าเซ็นมีความศรัทธาต่อกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งในฐานะ “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ทั้งสิ้น 14 ท่าน ทุกปีเมื่อถึงวันวิลาดัต วันวะฝาต หรือวันชะฮาดัตของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 14 ท่าน แขกเจ้าเซ็นจะมีการจัดพิธีรำลึกพร้อมนำเกร็ดประวัติของบุคคลเหล่านั้นกลับมาเล่าพรรณนาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ หนึ่งปีของปฏิทินอิสลามในสังคมแขกเจ้าเซ็น จึงถูกกำหนดให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ตลอดทั้งปี 

นายเพ็ง เมนาคม

นายเพ็ง เมนาคม หรือท่านเพ็ง ผู้ก่อตั้งสถาปนาโรงเรียนและสุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม ท่านเพ็งและครอบครัวเดิมเป็นสัปปุรุษของกุฎีบน แต่ภายหลังนายสง่า อหะหมัดจุฬา นำเอาความรู้วิทยาการ และแนวคิด “หัวก้าวหน้า” เข้ามาในสังคมแขกเจ้าเซ็น สร้างความแตกแยก และได้รับการต่อต้านจากแขกเจ้าเซ็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เคร่งครัดต่อแบบแผนการปฏิบัติดั้งเดิม ความขัดแย้งดังกล่าวทวีความรุนแรงจนไม่อาจควบคุมได้ พ.ศ. 2469 ท่านเพ็งจึงได้พาครอบครัวย้ายมาเป็นสัปปุรุษที่กุฎีล่าง หรือกุฎีเจริญพาศน์ กระทั่ง พ.ศ. 2478 ในคืนวันที่ 10 ของพิธีมุฮัรรัม ลูกหลานบางคนของท่านเพ็งได้ตัดผมเกรียนด้วยปัตตาเลียนเพื่อประกอบพิธีวันอาชูราแทนการโกนศีรษะแบบเดิม สร้างความขัดแย้งและไม่อาจตกลงกันได้ ท่านเพ็งและลูกหลาน พร้อมด้วยเหล่าลูกศิษย์จึงได้เดินทางกลับบ้านที่กุฎีบนในคืนนั้นทันที  

ในปี พ.ศ. 2479 ท่านเพ็งได้พิจารณาเห็นว่าหากลูกหลานของท่านไม่มีศาสนสถานประกอบศาสนกิจเช่นนี้ต่อไป ย่อมเป็นการยากที่จะสามารถดำรงความเป็นชีอะห์อิชนาอะชะรีได้ ท่านจึงตัดสินใจปลูกสร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นหลังกุฎีบนในพื้นที่ส่วนตัวของท่าน แล้วสถาปนาอาคารหลังนี้เป็นสุเหร่า และโรงเรียนผดุงธรรมอิสลาม เมื่อวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479

นายทองหยิบ ยวงมณี

นายทองหยิบ ยวงมณี หรือครูทองหยิบ แขกเจ้าเซ็นกลุ่มหัวก้าวหน้า ผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันสังคมแขกเจ้าเซ็นในขณะนั้นไปสู่ความเจริญก้าวหน้า โดยการใช้แนวคิดแบบ “หัวก้าวหน้า” ด้วยวิทยาการและความรู้สมัยใหม่ อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “โรงเรียนผดุงธรรมอิสลาม” (ต่อมาคือมัสยิดผดุงธรรมอิสลาม) พร้อมพิมพ์หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองเปิดโรงเรียน เป็นตำราความรู้พื้นฐานความศรัทธาของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ โดยให้ความรู้ในรูปแบบคำสอนคำโคลง และภายหลังการแต่งตั้งโรงเรียนผดุงธรรมอิสลามเป็นสุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม เพื่อมุ่งปรับสังคมแขกเจ้าเซ็นให้เจริญก้าวหน้า ครูทองหยิบ ยวงมณี ได้เข้าดำรงตำแหน่งอิหม่ามท่านแรกของสุเหร่า

นายสง่า อหะหมัดจุฬา

นายสง่า อหะหมัดจุฬา คือ ชาวแขกเจ้าเซนที่มีแนวความคิดแบบกลุ่มหัวก้าวหน้า และได้รับขนานนามจากแขกเจ้าเซ็นว่าเป็น “คนกวนดี่น” หมายถึง ผู้ทำให้แนวทางของศาสนาอิสลามเสื่อมเสีย ภายหลังออกจาริกเดินทางเยือนสถานฝังศพอิหม่ามอูเซนที่เมืองกัรบะลาอ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ในเวลานั้น นายสง่าได้นำเอาวิทยาการความรู้ที่ได้จากการออกแสวงบุญมาเปิดโลกทัศน์แก่สังคมแขกเจ้าเซ็นในเมืองไทย ซึ่งมีส่วนจุดประกายความคิด เปลี่ยนทัศนคติของสังคม และจัดระเบียบใหม่ ๆ ต่อพิธีเจ้าเซ็นในไทย เช่น การปฏิเสธรูปแบบการ “ควั่นหัว” หรือ “การกรีดศีรษะ” อันเป็นขั้นตอนสำคัญในวันสุดท้ายของพิธี จนก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากสังคมแขกเจ้าเซ็นในไทย แม้ว่านายสง่าจะนำแนวคิดใหม่ ๆ ที่ได้จากการเดินทางมาเผยแพร่ให้กับลูกบ้านกุฎีหลวงจนได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันก็กลับยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างแนวคิดของกลุ่มหัวก้าวหน้ากับกลุ่มต่อต้าน หรือกลุ่มแนวคิดอนุรักษ์นิยมขยายวงกว้างออกไปอีก นายสง่า และคณะถูกประณามจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมว่าเป็น “คนกวนดี่น” หมายถึง ผู้ทำให้แนวทางของศาสนาอิสลามเสื่อมเสีย กระทั่งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2473 นายสง่า อหะหมัดจุฬา ก็ได้จบชีวิตตนเองลงด้วยวัยเพียง 33 ปี ท่ามกลางเสียงตำหนิติฉินของสังคมแขกเจ้าเซ็นตามแนวคิดเก่าแบบอนุรักษ์นิยมถึงพฤติกรรมการเป็น “คนกวนดี่น” จะนำมาซึ่งการถูกลงโทษจากพระเจ้าในที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อขัดแย้งจากแนวคิดของนายสง่า อหะหมัดจุฬา ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาหาความรู้ มีการจัดตั้งโรงเรียนผดุงธรรมอิสลามขึ้นในปี พ.ศ. 2479 และพัฒนามาเป็น “สุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม” ในปี พ.ศ. 2482 ศาสนสถานที่ได้ชื่อว่าเป็นสุเหร่าแห่งแรกในของแขกเจ้าเซ็นในพื้นที่สามกะดี-สี่สุเหร่า

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธีรนันท์ ช่วงพิชิต. (2551). พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการธำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาชาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร. 

Iseph Ahmjl. (2015). มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.facebook.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566].