ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ ที่พยายามรักษาภูมิปัญญา วัฒนธรรมทรัพยาธรธรรมชาติภายในชุมชนแบบเดิมไว้ ท่ามกลางการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่รายล้อมชุมชน นับถือลัทธิด้ายเหลือง มีเจ้าวัดถึงสามคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ถือว่ามากที่สุดในแถบจังหวัดอุทัยธานี
“พุเม้ยง์” เป็นภาษากะเหรี่ยงมาจากคำว่า พุ ที่หมายถึงต้นไม้ตระกูลว่าน และ เม้ยง์ แปลว่าสุก เมื่อนำมารวมกันหมายถึงว่านเข้าพรรษา ซึ่งหมายถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งที่พบได้มากบริเวณแหล่งน้ำในชุมชนซึ่งจะออกดอกสีเหลืองในช่วงเข้าพรรษา
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ ที่พยายามรักษาภูมิปัญญา วัฒนธรรมทรัพยาธรธรรมชาติภายในชุมชนแบบเดิมไว้ ท่ามกลางการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่รายล้อมชุมชน นับถือลัทธิด้ายเหลือง มีเจ้าวัดถึงสามคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ถือว่ามากที่สุดในแถบจังหวัดอุทัยธานี
ในอดีตพื้นที่แถบตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานีเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ที่กระจายตัวอยู่เป็นกลุ่มตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยชุมชนพุเม้ยง์อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 400 ปีแล้ว (ตามคำบอกเล่าสมาชิกชุมชนที่อ้างอิงจากอายุของต้นไม้ใหญ่และต้นไม้มีอายุต้นอื่นในชุมชนสามารถกำหนดอายุต้นไม้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยปี)
สมาชิกชุมชนบางส่วนย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านคอกควายและบ้านใหม่คลองเคียน อำเภอบ้านไร่ และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ชุมชนประสบปัญหาความหนาแน่นของประชากรจึงทำให้สมาชิกชุมชนบางส่วนย้ายไปตั้งชุมชนใหม่นอกพื้นที่ (บ้านภูเหม็นโท)
- ปี 2527 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองระดับท้องถิ่น พื้นที่ชุมชนย้ายจากที่เคยขึ้นกับอำเภอบ้านไร่มาเป็นอำเภอห้วยคต / ช่วงนี้เริ่มมีเจ้าหน้าที่รัฐมาให้ชาวบ้านแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ทำกิน
- ปี 2528 มีการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน / การเปลี่ยนแปลงระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน มีการตกลงแบ่งที่ดินกันภายในชุมชน
- ปี 2535 นโยบายสวนป่าไผ่เขียว ตลกดู่ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนจำนวน 1000 ไร่ เกิดความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐเนื่องจากปัญหาการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในชุมชน การขยายตัวของสวนป่า ความสับสนเรื่องแนวเขตพื้นที่สวนป่า
- ปี 2557 พื้นที่ทำไร่และที่อยู่อาศัยบริเวณหมู่บ้านพุเม้ยง์กลางถูกประกาศเป็นวนอุทยานห้วยคตจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. / ปัญหาการถูกขับไล่ออกจากพื้นที่วนอุทยาน การห้ามเข้าใช้ประโยชน์ ปัญหาการทำ MOU ยินยอมออกจากพื้นที่โดยที่ชุมชนไม่เข้าใจเนื้อหาในสัญญาเซ็นยินยอม
- ปี 2563 ชุมชนพุเม้ยง์ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษโดยมีการทำ MOU ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ปี 2564 วนอุทยานห้วยคตกำหนดแนวเขตพื้นที่ใหม่ ยกเลิกแนวเขตที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน (พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษหรือพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม)
สภาพพื้นที่กายภาพ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูงและภูเขา ลักษณะของดินเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน จำนวน 2 สาย คือลำห้วยอีเอ็น/ลำห้วยคลองแห้ง
ป่าชุมชน มี 3 แห่ง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการแผ้วถางทำเกษตรกรรมหรือก่อสร้างที่พักที่อยู่อาศัยใด ๆ ยังพอมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอยู่บ้าง ส่วนพื้นที่ที่มีการบุกเบิกแบ่งเป็น เขตที่อยู่อาศัยหรือส่วนหมู่บ้านมีการปลูกบ้านอยู่รวมกับเป็นกลุ่มโดยภายในหมู่บ้านมีป่าหมู่บ้านหรือกุรุชุ และส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่รอบนอกหมู่บ้าน มีการทำไร่หมุนเวียน ไร่ผัก ไร่เหล่า (ไร่ที่ว่างเว้นจากการทำไร่) ไร่เชิงเดี่ยว และสวนป่าไม้สักของอุตสาหกรรมป่าไม้
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
แหล่งน้ำธรรมชาติหลักๆ มาจากลำห้วยคลองแห้งที่ไหลมาจากผืนป่าห้วยขาแข้ง ผ่านบ้านคลองแห้ง บ้านพุเม้ยง์บน พุเม้ยง์กลาง และไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว ทรัพยากรพืชที่ใช้ประโยชน์ มีทั้งที่มาจากป่าชุมชน และจากในพื้นที่เกษตรกรรม
ทรัพยากรสัตว์ ส่วนใหญ่สัตว์ป่าตามธรรมชาติ เช่น กระรอก หนู ตะกวด พังพอน ไก่ป่า อึ่ง ส่วนในลำห้วยจะนิยมหาปลา ปู โดยนิยมนำสัตว์ป่ามาทำเป็นอาหาร
ทรัพยากรพืชที่ใช้ประโยชน์ มีทั้งที่มาจากป่าชุมชน และจากในพื้นที่เกษตรกรรม
ภูมิปัญญาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่าง ๆ ตามเป้าหมายการใช้งาน การค้นหาทรัพยากรสำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ สะท้อนให้เห็นองค์ความรู้สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับแหล่งทรัพยากรที่ต้องการ
การค้นหาทรัพยากรสำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ สะท้อนให้เห็นองค์ความรู้สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับแหล่งทรัพยากรที่ต้องการ เทคนิควิธีในการจัดการทรัพยากรเพื่อนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น สร้างที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ อาหาร ยาสมุนไพร จำหน่ายภายนอกชุมชน
การทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนที่พึ่งพาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ฤดูกาล ปริมาณน้ำฝน การจัดการหญ้าวัชพืช แมลงศัตรูพืช พันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมในการปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น พระแม่โพสพ พระแม่คงคา ผีบรรพบุรุษ เจ้าป่าเจ้าเขา
สถานที่สำคัญและพื้นที่ทางสังคม
นอกเหนือจากป่าชุมชนและป่าช้า พื้นที่สำคัญทางศาสนาและพื้นที่ทางสังคมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบ้านพุเม้ยง์บน ยกเว้นพื้นที่ทางสังคมในระดับกลุ่มบ้านหรือหมู่บ้าน ที่อยู่แยกกระจายไปตามหมู่บ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน
ป่าชุมชน
พื้นที่สาธารณะของชุมชน สมาชิกชุมชนใช้ประโยชน์จากต้นทุนธรรมชาติ หาของป่า วัสดุทำบ้านและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีทั้งหมด 3 แห่ง อยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของชุมชน
ลานวัฒนธรรม (กะหลกเท่ง)
พื้นที่ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำ และพื้นที่จัดงานกิจกรรมชุมชน
เจดีย์ (กลุ่ง, โกร่งน้อง)
พื้นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของชุมชน จะมีการรวมตัวกันของสมาชิกชุมชนเพื่อประกอบพิธีทุกวันพระ
ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมกะเหรี่ยง
บริเวณบ้านนายอังคาร ครองแห้ง เป็นสถานที่จัดประชุม และที่รวมตัวกันของเหล่าเด็ก ๆ (ช่วงแรก ๆ มีสัญญาณ Wifi จึงมีเด็กมาเล่นมือถือเยอะ) เป็นที่พูดคุยวงสนทนาของผู้ใหญ่ในชุมชน และกลุ่มทอผ้า รวมถึงเป็นที่แรกที่คนภายนอกที่เข้ามาชุมชนจะแวะมาที่นี่ก่อนด้วย
ป่าช้า สะว้าคู้ก่า
พื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน เป็นสถานที่ฝังศพบรรพบุรุษของชุมชน ปัจจุบันเป็นสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
ชุมชนพุเม้ยง์มีจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 179 ครัวเรือน จำนวนประชากร จำนวน 674 คน นอกจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแล้วยังมีคนไทยและคนลาวที่เข้ามาอยู่อาศัยและขอใช้พื้นที่ทำกินในชุมชน หรือผ่านการแต่งงานกับชาวกะเหรี่ยงในชุมชนแล้วจึงย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชน
โพล่ง- อาชีพหลัก ชุมชนบ้านพุเม้ยง์มีอาชีพหลักทำเกษตรกรรมแบบไร่เชิงเดี่ยวและไร่หมุนเวียน ปลูกพืชเศรษฐกิจ / รับจ้างทำงานเกษตรกรรมภายในและบริเวณรอบนอกชุมชนในช่วงฤดูเพาะปลูก เก็บเกี่ยว
- อาชีพเสริม หาของป่า (หน่อไม้ เห็ด)
- การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ผ่านร้านขายของชำในชุมชนที่มีเจ้าของเป็นคนไทย - ลาว โดยนำสินค้าจากภายนอกมาจำหน่ายและรับซื้อรับหิ้วสินค้าจากภายนอก
- การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรมอย่าง มันสำปะหลัง สัปปะรด ข้าวโพด หรือในบางช่วงที่มีสินค้าชนิดอื่น เช่น เห็ดโคน หน่อไม้ป่า กล้วย และการซื้อสินค้าจากภายนอกจากรถกับข้าว(รถพุ่มพวง)ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดรอบนอกชุมชน
- การออกไปทำงานนอกชุมชน รับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น หักข้าวโพด ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยนิยมทำบริเวณรอบนอกชุมชนที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมาก มีการทำงานนอกชุมชนในลักษณะงานประจำเป็นส่วนน้อย (ส่วนใหญ่เป็นคนที่เรียนจบและไปหางานทำข้างนอก)
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน
สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มครอบครัว ภายในชุมชนแบ่งเป็น 3 หมู่บ้าน(กลุ่มบ้าน) ได้แก่ บ้านท่ากะได ส่วนใหญ่นามสกุลครองแห้ง (อยู่ใกล้กับบ้านคลองแห้ง) บ้านพุเม้ยง์บน และบ้านพุเม้ยง์กลาง
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน
ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน จะมีแกนนำชุมชนอีกกลุ่ม นำโดยนายอังคาร ครองแห้ง บ้านพุเม้ยง์บน และนางหน่อย ภูเหม็น บ้านพุเม้ยง์กลาง
ส่วนในทางศาสนาความเชื่อ และการประกอบพิธีกรรมของชุมชน มีเจ้าวัดเป็นผู้นำทางด้านศาสนา โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 3 คน
การรวมกลุ่ม
ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ช่วยกันถือแรงในกลุ่มตัวเอง กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มทางการนำโดยนางหน่อย ภูเหม็น มีสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงในชุมชน รวมตัวกันเพื่อซ้อมรำในงานต่าง ๆ ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมากจะเป็นกลุ่มเด็กที่รวมตัวกันเพื่อหากิจกรรมทำยามว่าง เช่น กลุ่มผู้ชาย กลุ่มผู้หญิง ซึ่งมีหลายกลุ่ม
ในช่วงที่มีการทำเกษตรกรรม สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการทำงานในไร่ อาทิ การปลูก การตัดหญ้า พ่นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารเคมี หรือการถอนหญ้าในไร่ข้าวหรือไร่ผัก ช่วงเก็บเกี่ยวจะมีทั้งการจ้างวานสมาชิกในชุมชนให้ไปช่วยกันเก็บเกี่ยว หรือบางกลุ่มอาจใช้ระบบถือแรง
อดีตช่วงว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม สมาชิกชุมชนบางคนจะทอผ้าผืนเก็บไว้ หรือสานอุปกรณ์ต่าง ๆสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและจำหน่ายแก่บุคคลภายนอกในโอกาสต่าง ๆ แต่ปัจจุบันมีงานทำในไร่ตลอด หากหมดช่วงฤดูทำไร่หมุนเวียนหรือไร่ข้าวก็จะไปทำงานในฝั่งไร่เชิงเดี่ยว เช่น หักข้าวโพด ถอนหญ้า ถอนมัน หักสัปปะรด เป็นต้น
ส่วนเด็กและเยาวชนจะใช้เวลาระหว่างวันไปกับการเรียนในโรงเรียนภายนอกชุมชน (ระบบเวลาเดียวกันกับโรงเรียนทั่วไป) เด็กเล็กจะอยู่ในชุมชน ช่วงเลิกเรียนจะกลับมายังหมู่บ้านและรวมตัวกันหากิจกรรมเล่นกัน ส่วนวันเสาร์อาทิตย์จะมีเรียนภาษากะเหรี่ยงที่สอนโดยสมาชิกในชุมชน สำหรับเด็กโต(มัธยม) ที่ออกไปเรียนไกลจากชุมชนจะนอนหอพักใกล้กับโรงเรียนและจะกลับบ้านแค่ช่วงเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดยาว ถ้าระดับอุดมศึกษาจะออกจากบ้านไปเรียนนานกว่าปกติ กลับบ้านหนึ่งครั้งต่อเดือนเป็นต้น
การพักผ่อนและงานอดิเรก
เวลาพักผ่อนมักจะรวมตัวกัน พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารไปพร้อม ๆ กับกิจกรรมต่าง ๆ ตามแต่ละโอกาส เช่น ประชุมความเป็นไปในหมู่บ้าน ประชุมจัดเตรียมงาน หรือรวมตัวกันทอผ้า จักสาน เป็นต้น
บางคนก็จะมารวมตัวกันที่ศูนย์การเรียนรู้หรือตามบ้านที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรือไปมาหาสู่กันตามบ้านต่าง ๆ
พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน การแต่งกาย
อาหารส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในชุมชนเช่น ผักพื้นบ้านที่ได้จากละแวกบ้านและในไร่ ของป่าตามฤดูกาล ข้าว ส่วนเนื้อสัตว์และผักภายนอกมักซื้อจากรถพุ่มพวงและร้านขายของชำที่จะรับสินค้าจากข้างนอกเข้ามาขายเช่น เนื้อหมู ไก่ ไส้กรอกลูกชิ้น ผักกาด ผักกะหล่ำ เต้าหู้หลอด ไข่ไก่ ส่วนเครื่องปรุงเช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันพืช จะซื้อจากร้านขายของชำเป็นหลัก
การแต่งกาย เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะแต่งกายเหมือนเด็กทั่วไป บางวันอาจแต่งกายโดยชุดกะเหรี่ยงดั้งเดิมของชุมชน ส่วนผู้ใหญ่ ผู้หญิงจะนิยมนุ่งผ้าถุงทอพื้นสีแดงส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สวมเสื้อมีทั้งเสื้อกะเหรี่ยงและเสื้อทั่วไปในช่วงที่ไม่ได้ทำเกษตรกรรม แต่หากมีการทำเกษตรกรรมจะนุ่งกางเกงขายาว เสื้อแขนยาวที่นิยมเรียกกันว่า “เสื้อแถมปุ๋ยยา” ส่วนในช่วงพิธีกรรมจะแต่งกายด้วยชุดตามประเพณีเดิม
ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
ศาสนาพุทธแบบเจ้าวัด ลัทธิด้ายเหลือง การนับถือพุทธของชาวกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์จะมีเจ้าวัดและแม่ย่าเป็นผู้นำจิตวิญญาณในฐานะผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน ส่วนลัทธิด้ายเหลืองหมายถึงสีของด้ายที่สมาชิกชุมชนหรือผู้นับถือจะผูกด้ายสีเหลืองไว้ที่ข้อมือตลอดเวลาตั้งแต่แรกเกิด โดยกลุ่มด้ายเหลืองจะไม่นิยมใช้เหล้าประกอบพิธีกรรมและไม่ดื่มเหล้า
ความสัมพันธ์/อิทธิพล ในอดีตเจ้าวัดและแม่ย่ามีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำชุมชน มีบทบาทในการรักษาโรคเนื่องจากเป็นผู้มีองค์ความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับสมุนไพรและโรคภัยไข้เจ็บ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชนในปัจจุบัน (ยกเว้นพิธีกรรมในระดับครอบครัว) นอกจากนี้ตำแหน่งเจ้าวัดมีความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน การแต่งตั้งเจ้าวัดใหม่จะสามารถทำได้เมื่อมีเจดีย์ใหญ่ตั้งอยู่และผู้แต่งตั้งต้องเป็นผู้อาวุโส ซึ่งเจ้าวัดของบ้านพุเม้ยง์ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าวัดบ้านอีมาดอีทราย
การทำพิธีเรียกขวัญข้าว
ก่อนการปลูกข้าวจะมีการปักตะไคร้เพื่อป้องกันในกรณีฟ้าผ่า หากฟ้าผ่าในไร่ทีไม่มีการปักตะไคร้จะเชื่อว่าไม่สามารถทำไร่ในพื้นที่นั้นได้ การทำพิธีเรียกขวัญข้าวจะทำก่อนเริ่มปลูกข้าวหรือหยอดเมล็ด ผู้หญิงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม โดยนิยมทำในช่วงเดือนกรกฎาคมหรือตามช่วงเวลาของฝน การทำพิธีเรียกขวัญข้าวโดยใช้เสียมทำจากไม้ไผ่ขาว เสียบไว้ที่ทิศตะวันออก นำเมล็ดข้าววางใกล้กับเสียม และใช้เทียนในการทำพิธี จำนวนเทียนขึ้นอยู่กับจำนวนพันธุ์ข้าวที่ปลูกในไร่ 1 แปลง จุดเทียนตรงที่วางเสียมและพันธุ์ข้าว พรมด้วยน้ำขมิ้นและรอจนกว่าเทียนจะดับจึงค่อยเริ่มหยอดข้าว หลังหยอดข้าวเสร็จ 1 วันจะปักสะเดิ่งในไร่ข้าว
ความสัมพันธ์/อิทธิพล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสมาชิกชุมชนเสมือนหลักประกันผลผลิตทางการเกษตร เป็นการรักษาสภาวะสมดุลของขวัญที่ดำรงอยู่ในธรรมชาติและในเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ปลูกในไร่ การปักสะเดิ่งยังหมายถึงการบอกกล่าวพระแม่ธรณีให้ช่วยปกป้องรักษาข้าวไร่
การปักสะเดิ่งในลำห้วย
พิธีกรรมปักสะเดิ่งในลำห้วยจะทำเฉพาะวันพระใหญ่ ก่อนที่จะเริ่มพิธีกรรมในช่วงกลางวันผู้ชายจะตัดไม้และทำสะเดิ่งสำหรับใช้ประกอบพิธีกรรม เมื่อถึงเวลาชาวบ้านจะมารวมตัวกันในลำห้วย ใช้เทียน 1 เล่มและดอกไม้ 1 ดอก โดยจะทำพิธีในตอนกลางคืน โดยนำสะเดิ่งที่ทำขึ้นมา 3 อัน พรมด้วยน้ำขมิ้นก่อนนำไปปัก โดยปักไว้กลางลำห้วยและข้างลำห้วย ส่วนอันสุดท้ายจะนำไปทำเจดีย์จำลองขนาดเล็ก เมื่อปักเสร็จก็จุดเทียนและนำไปติดไว้ที่สะเดิ่งหรือบริเวณรอบๆพื้นที่ประกอบพิธีกรรม เช่น ในลำน้ำ ต้นไม้ ก้อนหิน จากนั้นผู้สูงอายุจะอธิฐานและพรมน้ำขมิ้นอีกครั้ง โดยทำเพื่อขอขมาพระแม่คงคาและพระแม่ธรณีเพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล
ความสัมพันธ์/อิทธิพล เป็นพิธีกรรมระดับชุมชน ประกอบพิธีกรรมโดยเจ้าวัดและแม่ย่า แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งน้ำธรรมชาติ และบทบาทของพระแม่คงคาที่มีต่อสมาชิกชุมชน
พิธีไหว้ขนมจีนขี้เหนียว
ในอดีตบ้านที่เป็นเจ้าภาพพิธีกรรมจะทำเส้นขนมจีนด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากหมู่บ้านต้นน้ำไล่ไปตามสายน้ำจนพ้นเขตหมู่บ้าน โดยจะต้องทำและส่งทุกบ้านด้วยตัวเอง พิธีกรรมจะทำกลางหมู่บ้านหลังพระอาทิตย์ตกดิน โดยนำขนมจีนที่ทำเอง หมาก บุหรี่มาไว้ในกระทงไม้ไผ่ แล้วนำไปส่งท้ายหมู่บ้านเพื่อให้สัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อนและเจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขามากินเพื่อให้มารบกวนภายในหมู่บ้าน และเป็นการขอให้สิ่งดี ๆ เข้ามาในหมู่บ้านและสิ่งไม่ดีให้ออกจากหมู่บ้านไป ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการจัดงานเลี้ยงขนมจีนภายในบ้านของผู้จัดงาน และให้คนในหมู่บ้านไปรวมตัวกันเพื่อรับประทานขนมจีนเป็นกลุ่มใหญ่แทน หมู่บ้านที่เข้าร่วมการทำพิธีไหว้ขนมจีนกับประกอบด้วย บ้านคลองแห้ง บ้านท่ากะได บ้านพุเม้ยง์บน และบ้านพุเม้ยง์กลาง
ความสัมพันธ์/อิทธิพล เป็นความสัมพันธ์ในระดับหมู่บ้านหรือกลุ่มบ้าน ที่แต่ละปีผู้รับผิดชอบในการทำขนมจีนจะเวียนเปลี่ยนไปตามแต่ละบ้าน และความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านคือการจัดพิธีกรรมไล่เรียงตามลำน้ำจากต้นน้ำไปปลายน้ำ
พิธีทำบุญไหว้เจดีย์
พิธีทำบุญไหว้เจดีย์จะตรงกับขึ้น 15 ค่ำเดือน 3, เดือน 5 และเดือน 7 ของทุกปี โดยในเดือน 5 จะเป็นวันปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยง นอกจากนี้จะมีการไหว้เจดีย์ทุกวันพระ โดยพิธีจะเริ่มในช่วงเย็นหรือพลบค่ำ มีเจ้าวัดและแม่ย่า(ภรรยาของเจ้าวัด) เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม พิธีกรรมจะเริ่มจากแม่ย่าเดินพรมน้ำรอบศาลาและเจดีย์ เดินตามเข็มนาฬิการาว 3 รอบ จากนั้นจึงจะเริ่มทำพิธีไหว้และสวดมนต์ โดยผู้ชายจะอยู่ทางทิศเหนือของศาลาและเจดีย์ ส่วนผู้หญิงอยู่ทิศใต้ โดยในพิธีกรรมจะใช้ดอกไม้และเทียน 3 แท่ง เทียนจะต้องเป็นเทียนที่ทำมาจากขี้ผึ้งธรรมชาติและเคลือบด้วยผงขมิ้น(เพื่อไม่ให้ละลายติดกัน)
ความสัมพันธ์/อิทธิพล เจดีย์เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความศรัทธาต่อความเชื่อของชุมชน ความสมบูรณ์ของเจดีย์จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสมาชิกชุมชน ชาวกะเหรี่ยงจึงให้ความสำคัญกับเจดีย์ มีการทำนุบำรุง ซ่อมแซม เป็นประจำทุกปี และทำบุญทุกวันพระ และมีงานใหญ่ประจำปีทุกปี สมาชิกชุมชนมีอำนาจในการกำหนดช่วงเวลาในการจัดงานเนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสมาชิกในชุมชนในการดำเนินงานต่าง ๆ
กิจกรรมทางสังคมเศรษฐกิจ
การรวมตัวกันหาอึ่ง ช่วงหลังฝนตกหนักจะมีอึ่งออกมาเดินทั่วไปในพื้นที่ชุมชน สมาชิกชุมชนจะออกไปหาจับอึ่งเพื่อนำมารับประทาน
การจับปลาหน้าฝน เป็นการจับปลาเพื่อนำมารับประทานในครัวเรือน มีทั้งที่หาจากแหล่งน้ำในชุมชน และแหล่งน้ำนอกชุมชนคืออ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว มักรวมตัวกันไปจับเป็นกลุ่ม
การเกี่ยวข้าว เป็นการรวมตัวกันเกี่ยวข้าวโดยใช้ระบบถือแรงหรือการจ้างสมาชิกในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นการถือแรงในครอบครัว
1.ชื่อ-นามสกุล: ข้าวฟ่าง
อายุ: 30 กว่าปี ที่อยู่: พุเม้ยง์
ความชำนาญ: การทำเกษตรกรรมไร่หมุนเวียน จักสานโงว สะเดิ่ง
2.ชื่อ-นามสกุล: นายอ้วน เยปอง
อายุ: 68 (2565)
ที่อยู่: ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเจดีย์หลัก พุเม้ยง์บน
ความชำนาญ: การประกอบพิธีกรรมกะเหรี่ยง(เจ้าวัด) ยาและสมุนไพร วิถีปฏิบัติตามวัฒนธรรมกะเหรี่ยง
3.ชื่อ-นามสกุล: นายอังคาร ครองแห้ง
อายุ: 59
ที่อยู่: ติดกับลานวัฒนธรรม และศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมกะเหรี่ยง บ้านพุเม้ยง์บน
ความชำนาญ: ไร่หมุนเวียน จักสาน วิถีปฏิบัติตามวัฒนธรรมกะเหรี่ยง การประกอบพิธีกรรม
4.ชื่อ-นามสกุล: นายม่องตะเลตะ
อายุ: 60กว่า
ที่อยู่: เจดีย์ฝั่งทิศตะวันตกของหมู่บ้านพุเม้ยง์บน
ความชำนาญ: การประกอบพิธีกรรมกะเหรี่ยง(เจ้าวัด)
5.ชื่อ-นามสกุล: นางปราง
อายุ: 60 กว่า
ความชำนาญ: การประกอบพิธีกรรมกะเหรี่ยง(แม่ย่า) (เจ้าวัดเสียชีวิตแล้ว)
ทุนวัฒนธรรม
ประเภท: งานช่างฝีมือดั้งเดิม
- ชื่อทางการ: โงว
- ชื่อท้องถิ่น: โงว
- ประวัติความเป็นมาและการกระจายตัว: พบได้ทั่วไปในชุมชนกะเหรี่ยงในแถบภาคตะวันตก ใช้ในการเก็บผลผลิต ทำจากไม้ไผ่ โดยนำต้นไผ่มาผ่าซีกเหลาทำตอก(บล้าช่า) แล้วจึงสานขึ้นรูปโงว
- คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน: ต้นไผ่เป็นวัตถุดิบ/ต้นทุนทางธรรมชาติที่หาได้ทั่วไปในชุมชน โงวแสดงถึงความเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่ใช้ในการเก็บผลผลิตจากไร่ และความสัมพันธ์กับป่า ที่ชุมชนใช้โงวในการขนของป่ากลับมา การสานโงวนิยมทำในช่วงเวลาว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม หรือในช่วงเวลาว่างระหว่างวัน มีทั้งที่ใช้เองในครอบครัว และจำหน่ายแก่คนภายนอก(มีหลายขนาด) แต่ที่ใช้เองในชุมชนจะเป็นขนาดใหญ่
- สถานภาพปัจจุบัน: พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชน
- การถ่ายทอดและการสืบทอด: ในระดับครอบครัว (เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน)
- อุปกรณ์ที่ใช้: ไม้ไผ่ มีดตัดต้นไผ่ และมีดเหลาตอก ผ้าสำหรับทำสายสะพาย
ประเภท: ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
- ชื่อทางการ: น้ำพริกกับผักพื้นบ้าน
- ชื่อท้องถิ่น: ชือเก้
ผักพื้นบ้านสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุมชน ชนิดของผักพื้นบ้านบางชนิดเปลี่ยนแปลงไปตามที่พบได้ตามแต่ละฤดูกาล เช่น ช่วงเดือนพฤศจิกาจะมีชะเอมเทศเป็นต้น ผักบางชนิดจะพบเห็นหรือหารับประทานได้ตลอดทั้งปี เช่น ผักกูด ผักหนาม
ส่วนน้ำพริกมีหลายชนิด เช่น น้ำพริก(ชือเก้ทง) น้ำพริกปลาร้าหรือปลากระป๋อง เป็นน้ำพริกที่รับประทานบ่อยที่สุด น้ำพริก(ชือเก้หว่าย) น้ำพริกที่ทำจากปลาร้าเหมือนกับชือเก้ทง แตกต่างกันตรงที่ชือเก้หว่ายจะมีปริมาณน้ำมากกว่า น้ำพริก(ชือเก้เจี่ยว) ใช้เนื้อสัตว์ป่าเช่น นก กระรอก กระแต เอามาสับละเอียดตำใส่รวมกับน้ำพริก ลักษณะคล้ายแกง
- สถานภาพปัจจุบัน: ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในชุมชน(รับประทานเป็นประจำ) ยกเว้นน้ำพริกบางชนิดที่วัตถุดิบหายไปจากชุมชนแล้ว เช่น ชือเก้เจี่ยวที่ใส่แย้(ชุมชนบอกว่าอร่อยกว่าเนื้ออื่นๆ)
- อุปกรณ์ที่ใช้: สากครก สำหรับตำน้ำพริก หม้อต้ม
ประเภท: งานช่างฝีมือดั้งเดิม
- ชื่อทางการ: กระแตะ
- ชื่อท้องถิ่น: คลี้
- คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน: ใช้สำหรับตากใบยาสูบหลังจากหั่นเป็นเส้นๆแล้ว ชาวกะเหรี่ยงนิยมสูบใบยาสูบเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น โดยมักสูบกับกระดาษห่อที่ซื้อได้จากร้านขายของชำ หรือห่อกับใบตองแห้ง
- สถานภาพปัจจุบัน: ยังพบเห็นได้ในชุมชน
- อุปกรณ์ที่ใช้: ไม้ไผ่ มีดตัดต้นไผ่ และมีดเหลาตอก
ประเภท: ศิลปะการแสดง
- ชื่อทางการ: รำกะเหรี่ยงโพล่ง
- ชื่อท้องถิ่น: รำโพล่ง
- ประวัติความเป็นมาและการกระจายตัว: เป็นศิลปะการแสดงที่สร้างขึ้นมาใหม่ เนื้อหาของเพลงบอกเล่าตัวตนของชุมชน
- คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน: เป็นช่องทางสร้างรายได้เยาวชนในช่วงที่มีเทศกาล(มีการจ้างหรือเชิญจากภายนอก)
- สถานภาพปัจจุบัน: ยังคงทำอยู่(ตามที่มีการจ้างหรือเชิญ)
- การถ่ายทอดและการสืบทอด: การเรียนการสอนแบบกลุ่ม (ผู้ใหญ่สอนเด็ก)
- อุปกรณ์ที่ใช้: เครื่องแต่งกายของชุมชน
ประเภท: การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
- ชื่อทางการ: ขว้างสาก
- ประวัติความเป็นมาและการกระจายตัว: กีฬาขว้างสาก เป็นการนำสากตำข้าวมาขว้างแข่งกัน ผู้ที่ขว้างได้ไกลที่สุดเป็นผู้ชนะ
- คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน: กีฬาสานสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกะเหรี่ยงด้วยกันในละแวกใกล้เคียง
- สถานภาพปัจจุบัน: ยังคงทำอยู่
- การถ่ายทอดและการสืบทอด: ไม่ปรากฏชัดเจน แต่เป็นกีฬาที่จะมีการเล่นและซ้อมในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬา
- อุปกรณ์ที่ใช้: สากตำข้าว
- ชื่อทางการ: สะบ้า
- สถานภาพปัจจุบัน: ไม่ปรากฏว่ามีการเล่นกันในช่วงเวลาปกติ จะเล่นเมื่อมีคนนอกเข้ามา(ในฐานะการสาธิตกีฬาพื้นบ้าน) และช่วงที่มีการแข่งขันกีฬา
- อุปกรณ์ที่ใช้: ลูกสะบ้า
- ชื่อทางการ: เดินขาหย่าง
- สถานภาพปัจจุบัน: ยังพอพบเห็นได้ในชุมชน ผู้ที่เล่นได้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่
- การถ่ายทอดและการสืบทอด: ไม่ปรากฎ
- อุปกรณ์ที่ใช้: ไม้ไผ่
- ชื่อทางการ: เดินกะลา
- สถานภาพปัจจุบัน: ยังพบเห็นได้ในชุมชน
- การถ่ายทอดและการสืบทอด: ในระดับครอบครัว ผู้ใหญ่ ผู้ปกครองมักทำให้เด็กในครอบครัวเล่น
- อุปกรณ์ที่ใช้: กะลามะพร้าว เชือก
ภาษากะเหรี่ยงโปว์
เป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสารกันในชุมชน ภาษากะเหรี่ยงมีตัวอักษรกะเหรี่ยง แต่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเขียนหรืออ่านได้เนื่องจากเข้าเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และการเขียนไม่ใช่สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันของเด็ก
ดังนั้น ภาษากะเหรี่ยงของชุมชนพุเม้ยง์จึงคงอยู่ในลักษณะของภาษาพูดที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนภาษาเขียนมีอยู่แค่ส่วนน้อย อย่างไรก็ตามทางชุมชนมีความพยายามผลักดันให้มีการอนุรักษ์ภาษา โดยการจัดตั้งห้องเรียนภาษาเพื่อสอนภาษาเขียนกะเหรี่ยงให้กับเยาวชนในชุมชน และผู้ที่สนใจเข้ามาเรียน โดยผู้ที่ทำหน้าที่สอนเป็นผู้อาวุโสในชุมชน
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมและปัญหาที่พบ ยังไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน (ยังไม่มีโฉนด) การขาดแคลนการส่งต่อสืบทอดองค์ความรู้เรื่องภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียน
การพัฒนาชุมชนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชนห่างเหินกันมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดประชุมเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่คนเข้าร่วมประชุมตามหัวข้อที่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับตนเอง หรือเข้าแค่ระยะแรก ๆ
การละทิ้งวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับคนทุกวัย การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโลยี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมโดยเฉพาะความเชื่อและวิถีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เคยทำในอดีตก็เปลี่ยนไป เช่น ในอดีตพื้นที่หมู่บ้านเป็นพื้นที่ปลอดสุรา แต่ปัจจุบันมีการดื่มกินกันมากขึ้น แต่บางบ้านก็ยังยึดถือปฏิบัติ ซึ่งอาจเกิดปัญหาตามมาได้
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเคลื่อนไหวที่คนในชุมชนจะไม่ค่อยมาเข้าร่วม ต่างกับกิจกรรมทางความเชื่อ พิธีกรรมที่ยังมีการเข้าร่วมอยู่เป็นประจำ หรือยังมีจำนวนผู้เข้าร่วมเยอะอยู่
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์. (2565). การถอดบทเรียนสิทธิชุมชนและนิเวศวัฒนธรรม กรณีศึกษาชุมชนกะเหรี่ยงพุเม้ยง์ ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์. (3 พฤศจิกายน 2565). ปฏิทินนิเวศกับความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม. เข้าถึงได้จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร https://www.sac.or.th/
นัฐวุฒิ สิงห์กุล, และ วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์. (2562). พลวัตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภาคตะวันตกของไทย ระยะที่1 พื้นที่ศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี และนครสวรรค์ ชุดโครงการศึกษาวิจัยพลวัตของชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่วัฒนธรรมมีชีวิต ปีที่1 (พ.ศ.2562). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
วรวิทย์ นพแก้ว, กิตติพัฒน์ คงมะกล่ำ, สมบัติ ชูมา, อังคาร ครองแห้ง, และ รัตนา ภูเหม็น. (2563). แนวทางการจัดการเขตพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี. กรุงเทพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
อังคาร ครองแห้ง. (16 พฤศจิกายน 2565). ข้อมูลชุมชนพุเม้ยง์. (ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์, ผู้สัมภาษณ์)