ด้วยความเชื่อท้องถิ่นที่ยังคงผูกติดจิตวิญญาณการนับถือผีบรรพบุรุษจึงปรากฏ พิธีการเลี้ยงผีปู่ตา พิธีกรรมสัญลักษณ์แห่งการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยังคงจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ด้วยความเชื่อท้องถิ่นที่ยังคงผูกติดจิตวิญญาณการนับถือผีบรรพบุรุษจึงปรากฏ พิธีการเลี้ยงผีปู่ตา พิธีกรรมสัญลักษณ์แห่งการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยังคงจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เมื่อ ปี พ.ศ. 2434 ชาวบ้านแคนน้อย โดย นายคำ – นายพิมพ์ กิจเกียรติ์และ นายนนท์ จวนสาง พร้อมด้วยชาวบ้านกอก บ้านนาชาว บ้านกลางใหญ่ บ้านนาคำใหญ่ อำเภอเขื่องใน จังหวัด อุบลราชธานี ได้อพยพบ้านเรือนมาตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณป่าละเมาะทางทิศใต้ของหนองเลิงซึ่งเดิมเป็นหนองน้ำ ต่อมาหนองน้ำตื้นเขินทำให้ดินมีความอุดมสมบรูณ์ ปลูกข้าวก็ได้ผลิตดี จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานที่นี่และตั้งชื่อว่า “บ้านหนองเลิง” กระทั่งปี พ.ศ. 2460 ทางราชการได้แต่งตั้งบ้านหนองเลิงเป็นหมู่บ้าน (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคำเขื่อนแก้ว, 2560)
ลักษณะภูมิประเทศ บ้านหนองเลิง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร สภาพทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มและเป็นที่ดอน พื้นที่ทำนาสลับป่าโปร่งดินร่วนปนทราย พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน 4,286 ไร่ เป็นที่ทำการเกษตร 4,190 ไร่ ป่าไม้เบญจพรรณ 4 ไร่ พื้นที่สาธารณะ 41 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 51 ไร่ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ 2 แห่ง เป็นหนองน้ำสาธารณะประโยชน์
การคมนาคม ทางหลวงแผ่นดินสายที่ 23 แยกจากทางหลวงแผ่นดินเข้าบ้านดอนมะฮวน – ดอนเดือยไก่ถึงบ้านหนองเลิงระยะทาง 5 กม. ห่างจากอำเภอคำเขื่อนแก้ว 10 กม ห่างจากจังหวัดยโสธรประมาณ 32 กิโลเมตร (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคำเขื่อนแก้ว, 2560)
อาณาเขตติดต่อ (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น.100)
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านดอนเดือยไก่ หมู่ที่ 4 ตำบลแคนน้อย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโนนเมืองน้อย หมู่ที่ 6 ตำบลแคนน้อย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแคนน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลแคนน้อย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านเหล่าฝ้าย หมู่ที่ 15 ตำบลหลุมพุก
จากข้อมูลการสำรวจประชากร พ.ศ. 2565 พบว่ามีจำนวนบ้าน 197 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากร 680 คน โดยแบ่งเป็นชาย 350 คน และหญิง 330 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ มาตั้งแต่อดีต ซึ่งวิถีชีวิตดั้งเดิมคือการทำนา ใช้แรงงานคนและสัตว์ พัฒนาเรื่อยมากระทั่งใช้เครื่องจักรทุ่นแรง เมื่อเสร็จสิ้นจากการทำนาบางคนทำอาชีพเสริม เช่น การฝึกหัดหมอลำ เลี้ยงวัว ขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ บางคนเป็นเฒ่าจ้ำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พ่อใหญ่จ้ำ
ในหมู่บ้านมีกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ประกอบด้วย อาชีพเลี้ยงปลา 22 ครัวเรือน เลี้ยงวัว 130 ครัวเรือน กลุ่มหัตถกรรมทำลอบ 25 ครัวเรือน กลุ่มแปรรูปอาหาร 140 ครัวเรือน และกลุ่มทอผ้า 20 ครัวเรือน (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น.100)
โครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้าน ชุมชนบ้านหนองเลิง (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคำเขื่อนแก้ว, 2560) ประกอบด้วย
1) นายทน กิจเกียรติ์ ประธานกรรมการ
2) นายสมร กิจเกียรติ์ รองประธาน
3) นายวรจักร จวนสาง เลขานุการ
4) นายสุเนตร หินทอง เหรัญญิก
5) นายวีระนิด บุ้งทอง ประชาสัมพันธ์
6) นางไพรวัลย์ จันทรคูณ ปฎิคม
7) นางเพียรพักตร มาลัย กรรมการ
8) นายบุญมี กิจเกียน กรรมการ
9) นายคำไพรมณี ผิวผ่อง กรรมการ
10) นายบุญเย็น สุตะคาน กรรมการ
ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 ด้านวัฒนธรรมชาวบ้านมีการทำบุญตักบาตร ไปวัด รวมกลุ่มกันทำบุญ เมื่อถึงวันกำหนดทำบุญผู้ใหญ่บ้านจะเป็นคนแจ้งตามหอกระจายข่าวเพื่อให้ชาวบ้านได้เข้ามารวมกลุ่มกัน และประชุมกันที่ศาลากลางบ้านเพื่อแจ้งงานบุญ เช่น บุญบั้งไฟใหญ่ บุญผ้าป่า ในตำบลต้องนิมนต์พระทั้งบ้านรอบๆ ผู้ใหญ่บ้านจะทำหน้าที่มีหนังสือแจ้งเมื่อถึงกำหนดทำบุญในแต่ละเดือน บุญข้าวจี่ บุญเบิกบ้าน บุญผะเวส การแจ้งข่าวทำบุญสำหรับชาวบ้านที่อยู่ต่างจังหวัด ก็จะรวมกลุ่มกันกลับมาบ้าน (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น.101)
นอกจากนี้ยังพบว่า ความเชื่อทางจิตวิญญาณด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านเชื่อในบรรพบุรุษที่มีการนับถือผี มีการเสี่ยงทาย บนบานศาลกล่าวกันทุกปี เมื่อถึงเวลาทำการเกษตร ทำนา ทำไร่ ชาวบ้านได้พากันมาเลี้ยงเจ้าที่ บูชาผีปู่ตา ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ในความเคารพหลักบ้านหลักเมือง ผู้ที่ดลบันดาลให้พืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์
พิธีกรรม การเลี้ยงผีปู่ตา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเสี่ยงทายว่าในหมู่บ้านจะอุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมนี้แสดงให้เห็นสัญลักษณ์ของการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้าน รวมไปถึงอำนาจที่สามารถดลบันดาลให้ชาวบ้านได้ตามที่ขอไว้ ความเชื่อเหล่านี้เป็นรูปแบบจำลองทางพิธีกรรมที่สามารถทำแบบเดิมได้ทุกปี สัญลักษณ์ที่ทำอยู่จะทำให้ผู้คนที่ทำพิธีกรรมนี้ศักดิ์สิทธิ์สามารถดลบันดาลให้ชาวบ้านได้ (ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์, 2553, น.104)
1) นายทน กิจเกียรติ์ ผู้ใหญ่บ้าน
ผลิตภัณฑ์ OTOP (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคำเขื่อนแก้ว, 2560)
1) ข้าวเกรียบว่าว
2) กระติบข้าว สานจากต้นกก
ปราโมทย์ ศิลปศาสตร์. (2553). การรับรู้และตีความเศรษฐกิจพอเพียงในมโนทัศน์ของชาวอีสาน. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคำเขื่อนแก้ว. (2560). ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านหนองเลิง ม.3 ต.แคนน้อย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร. ค้นจาก https://district.cdd.go.th/khamkhuean/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php