Advance search

ตาลองอินทรีย์ มากมีผ้าไหมสวย ถิ่นรวยวัฒนธรรม เลิศล้ำภูมิปัญญา หัตถศิลป์ล้ำค่า ศรัทธาวิถีพอเพียง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กูยแถบอีสานใต้ เต็มไปด้วยวิถีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า มรดกภูมิปัญญาที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลชวนให้สัมผัส

หมู่ที่ 7
ตาลอง
ทุ่งวัง
สตึก
บุรีรัมย์
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
21 พ.ย. 2023
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
21 พ.ย. 2023
บ้านตาลอง

สมัยก่อตั้งหมู่บ้านใหม่ ๆ จะมีตายายคู่หนึ่ง ชื่อตาดอนกับยายแล ตาดอนเป็นคนหูหนวก ภาษาเขมร เรียกว่า ตาล็อง ชาวบ้านให้ความเคารพตาล็องมาก เลยเรียกชื่อเป็นบ้านตาล็อง การเรียกชื่อของหมู่บ้านก็ผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลา จึงกลายมาเป็นหมู่บ้านตาลองจนถึงปัจจุบัน


ตาลองอินทรีย์ มากมีผ้าไหมสวย ถิ่นรวยวัฒนธรรม เลิศล้ำภูมิปัญญา หัตถศิลป์ล้ำค่า ศรัทธาวิถีพอเพียง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กูยแถบอีสานใต้ เต็มไปด้วยวิถีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า มรดกภูมิปัญญาที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลชวนให้สัมผัส

ตาลอง
หมู่ที่ 7
ทุ่งวัง
สตึก
บุรีรัมย์
31150
15.284243
103.387473
องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งวัง

เมื่อก่อนนั้นชาวบ้านตาลองอาศัยอยู่ที่บ้านรังแรง เนื่องจากหมู่บ้านรังแรงเป็นป่ารก และมักจะมีสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านถูกเสือกัดกินอยู่เป็นประจำทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อน จึงย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านโนนสว่าง ซึ่งมีตายายคู่หนึ่งอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ชื่อตาดอนกับยายแล ซึ่งตาดอนมีอาการหูหนวก ภาษาเขมรเรียกว่า "ล็อง" ชาวบ้านจะเรียกตาคอนว่า "ตาล็อง" และชาวบ้านให้ความเคารพนับถือตาล็องมาก จึงเรียกชื่อจากบ้านโนนสว่างมาเป็นบ้านตาล็อง และตั้งชื่อว่าหมู่บ้านว่าตาล็อง การเรียกชื่อของหมู่บ้านก็ผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลา จึงกลายมาเป็นหมู่บ้านตาลองจนถึงปัจจุบัน

บ้านตาลองเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ส่วนมากเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ใช้สำหรับเพาะปลูกตามฤดูกาล ห่างออกไปทางด้านทิศเหนือมีแม่น้ำมูลไหลผ่าน

สภาพทางภูมิศาสตร์บ้านตาลอง หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ มีเนื้อที่ ประมาณ 2,800 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 100 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 2,680 ไร่ พื้นที่ สาธารณะ 20 ไร่อยู่ห่างจากอำเภอสตึกระยะทาง 13 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดบุรีรัมย์ระยะทาง 54 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ จดกับ บ้านท่าเรือ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าม่วง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทิศใต้ จดกับ บ้านคุ้มต่ำ หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทิศตะวันออก จดกับ บ้านโนนธาตุ หมู่ที่ 6 ตำบลท่าม่วง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทิศตะวันตก จดกับ บ้านหนองตาเพ็ง หมู่ที่ 4 ตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

บ้านตาลองหมู่ 7 ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบไปด้วย 2 คุ้มใหญ่ คือ คุ้มบ้านตาลองและคุ้มบ้านหนองครก ซึ่งบ้านหนองครกอยู่ห่างจากบ้านตาลองประมาณ 2 กิโลเมตร ข้อมูลจำนวนประชากรจำนวน 162 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 338 คน หญิง 345 รวมทั้งหมด 683 คน 

กูย

บ้านตาลอง หมู่ที่ 7 เป็นหมู่บ้านที่มีแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่อุดมสมบูรณ์ มีครัวเรือนที่เลี้ยงโคเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนเป็นจำนวนมาก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านตาลอง กลุ่มสตรีที่มีฝีมือทางหัตถกรรมคือการทอผ้าไหมที่สวยงาม กลุ่มตัดเย็บกระเป๋าด้วยจักรอุตสาหกรรม เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้สมาชิกตลอดปี ลดการว่างงาน มีปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถหลายด้าน สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว เป็นครัวเรือนที่มีความเข้มแข็งสามารถพึงตนเองได้ในการดำเนินชีวิตตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างภาคภูมิใจ 

ชุมชนบ้านตาลองมีความเชื่อและศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา มีหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ พระปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียง ทั้งยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนและชาวบุรีรัมย์ มีพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม กิจกรรม และความเชื่อท้องถิ่นตามวิถีกลุ่มชาติพันธุ์กูยและวิถีแบบอีสาน เช่น พิธีกรรมแกลมอ งานเทศน์มหาชาติ ประเพณีสงกรานต์ และกิจกรรมตามวันสำคัญทางศาสนาที่จัดขึ้นในชุมชน มีการเพาะปลูกตามฤดูกาล ภูมิปัญญาการหาปลา เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่แม่น้ำมูล

1. นางธีรภาพ วงศ์สุรินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน

2. นางเมือง โยยรัมย์ ประธานกลุ่มทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติบ้านตาลอง

วัฒนธรรม/พิธีกรรม การแสดงที่ถือเป็นจุดเด่นทางวัฒนธรรมของบ้านตาลองและใช้เพื่อเป็นการต้อนรับผู้มาเยือนคือ การแสดง "เรือมอันเร" ที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน โดยการแสดงเรือมอันเรหรือ การเต้นสาก หรือระบำสาก และการประกอบพิธีกรรม "แกลมอ" ที่เป็นการแสดงความเคารพนับถือบรรพบุรุษ และแสดงถึงคติความเชื่อของชุมชน เป็นการแสดงออกที่สำคัญของชุมชนที่มีวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่น สามารถนำมาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นการแสดงพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านตาลอง ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นการนำเอาวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ในการย้อมเส้นไหม โดยเส้นไหมที่ผ่านการย้อมสีสกัดจากธรรมชาติ จะมีคุณสมบัติพิเศษ คือ เส้นไหมจะมีความนุ่ม เป็นเงางาม และปราศจากสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ ซึ่งใช้วัสดุจากธรรมชาติ ได้แก่ ดอกอันชัน ดอกจันแดง ดอกดาวเรือง เปลือกมะพร้าว มาใช้ย้อมสี โดยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้มีการพัฒนารูปแบบการย้อมสีธรรมชาติบนผ้าไหม ด้วยการนำเมล็ดข้าวก่ำ และกลีบดอกดาวเรือง มาพิมพ์ลายบนผืนผ้าไหม เกิดเป็นลวดลายอันแปลกใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และมีการจดอนุสิทธิบัตรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมลายเมล็ดข้าว และผ้าไหมลายเมล็ดข้าวผสมดอกดาวเรือง

ชุมชนบ้านตาลองมีทั้งการใช้ภาษาเขมรถิ่นไทย และภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน


บ้านตาลองเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมย้อมสีจากธรรมชาติ และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ในอดีตชาวบ้านจะนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมออกไปจำหน่ายตามพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้มีต้นทุนในการเดินทาง แต่เมื่อมีโครงการ OTOP นวัตวิถีชุมชนท่องเที่ยวเข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของบ้านตาลองเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้มากยิ่งขึ้น


บ้านตาลองเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ "กูย' หรือคนทั่วไปเรียกว่า "ส่วย" ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับชุมชนต่าง ๆ บริเวณโดยรอบที่มีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์เขมรและลาว ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมกันจนอาจยากที่จะจำแนกได้ ชาวกูยบ้านตาลองมีวิถีชีวิตเหมือนกับชาวอีสานทั่วไป รวมถึงประเพณีทางศาสนา วัฒนธรรมภูมิปัญญาที่มีความคล้ายคลึงกัน

วันที่ 4 มีนาคม 2562 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านตาลอง หมู่ 7 ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ขยายผลโครงการทหารพันธุ์ดี มณฑลทหารบกที่ 26 สู่ชุมชน โดยหมู่บ้านแห่งนี้ มีพื้นฐานเป็นชุมชนเข้มแข็ง คนในชุมชนมีความรักสามัคคี มีการปลูกผักในครัวเรือนเพื่อรับประทานเอง และมีการเลี้ยงสัตว์ และมีกิจกรรมภายในชุมชน อาทิ การทำโฮมสเตย์ การทอผ้าไหมด้วยกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ การผลิตแก๊สจากมูลวัว จึงเป็นชุมชนที่มีความพร้อมเหมาะสําหรับการเป็นพื้นที่ขยายผลโครงการฯ โดยในปี 2561 เจ้าหน้าที่โครงการฯ ได้ลงพื้นที่ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักปลอดภัย การปลูกหน่อไม้ฝรั่ง การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานไว้ใช้เอง เนื่องจากในหมู่บ้านมีการเลี้ยงวัวกว่า 300 ตัว สามารถนำมูลวัวมาใช้ทำปุ๋ยดังกล่าวเพื่อช่วยลดรายจ่าย

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ซึ่งโครงการฯ ได้เข้าไปสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์พืชที่มีความหลากหลายและเป็นเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพ ที่ผ่านมามีการมอบเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทานแก่ตัวแทนเกษตรกร 25 คน เพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์ผักสู่ชุมชน

จากนั้น ทอดพระเนตรลูกไก่กระดูกดำ ที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์พระราชทาน โดยโครงการฯ ได้มอบพ่อแม่พันธุ์ไก่กระดูกดำและไก่ประดู่หางดำ รวม 7 ตัว แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ 2 คน สำหรับเลี้ยงขยายพันธุ์ ปัจจุบันสามารถขยายพันธุ์ไก่ทั้งสองสายพันธุ์ได้รวมทั้งสิ้น 52 ตัว ทั้งนี้ คนในชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการฯ เป็นอย่างดี ส่งผลให้มีพืชผักปลอดภัยไว้รับประทานในครอบครัว ส่วนที่เหลือนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ ตลอดจนมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อและแบ่งปันแจกจ่ายภายในชุมชนด้วย

อำนวย คมกริช. (2564). การพัฒนารูปแบบการแสดงพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จังหวัดบุรีรัมย์. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านตาลอง ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. (ม.ป.ป.). สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566, จาก https://thainews.prd.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งวัง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566, จาก http://tungwang.go.th/

Thailandseason. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านตาลอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.thailandseason.com/