"ขนมตดหมา" ภูมิปัญญาการประกอบอาหารพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์เขมร และ "ผ้าไหมหางกระรอก" มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชุมชนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษนับร้อยปี
พื้นที่บริเวณหมู่บ้านมีต้นไม้ชนิดหนึ่งอยู่ในบริเวณนั้นชาวบ้านเรียกว่า "ต้นสนวน" จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน
"ขนมตดหมา" ภูมิปัญญาการประกอบอาหารพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์เขมร และ "ผ้าไหมหางกระรอก" มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชุมชนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษนับร้อยปี
บ้านสนวนนอก หมู่ที่ 2 เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลสนวน อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่บนทางหลวงสายชนบท ถนนสายห้วยราช-กระสัง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอห้วยราช 2 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ 12 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถประจำทาง/รถไฟได้โดยสะดวก บ้านสนวนมีพื้นที่เป็นเนินดินรูปทรงกลม มีกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีภายในหมู่บ้าน ได้แก่ คันดินโบราณ คูน้ำโบราณ เศษภาชนะกระเบื้อง ขี้ตะกรัน (จากการถลุงโลหะ) ไหโบราณบรรจุกระดูก หินทราย อิฐ โบสถ์โบราณที่ทำด้วยดินดิบ ฯลฯ
บ้านสนวนนอกมีประชากร 176 ครัวเรือน จำนวน 639 คน แบ่งเป็นชาย 309 คน หญิง 330 คน ลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มเครือญาติ ปลูกเรือนในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน สภาพครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย อาศัยอยู่รวมกันประกอบด้วย ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลูก หลาน เป็นครอบครัวใหญ่ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและอบอุ่น
ขแมร์ลือผู้คนในชุมชนบ้านสนวนนอกมีส่วนร่วมในสังคมชุมชนที่ดี มีความเอื้ออาทร รักใคร่กลมเกลียวกัน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มของสมาชิกเพื่อขับเคลื่อนชุมชน กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์หมู่บ้านทำให้คนในชุมชนมีทรัพย์เพื่อใช้จ่ายในกรณีที่มีญาติเสียชีวิต มีกลุ่มออมทรัพย์สำหรับชุมชน กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม กลุ่มทอผ้าไหม และบ้านสนวนนอกมีวัดเป็นศูนย์กลางสำคัญของชุมชน เป็นสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกันซึ่งก่อให้เกิดความรักสามัคคีกันของสมาชิกทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
- มกราคม : บุญขึ้นปีใหม่
- กุมภาพันธ์ : ประเพณีเซ่นตาปู่
- เมษายน : บุญสงกรานต์
- พฤษภาคม : บุญเซ่นตาปู่
- กรกฎาคม : บุญเข้าพรรษา
- กันยายน : ประเพณีแซนโฎนตา
- ตุลาคม : บุญออกพรรษา/บุญกฐิน
ผ้าไหมหางกระรอก ลายผ้าเอกลักษณ์ของท้องถิ่นแต่โบราณ ได้แก่ ผ้าไหมหางกระรอก (กระนีว) ผ้าสโร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าไหมพ้นเรียบ ชื่อที่เรียกว่า "ผ้าหางกระรอก" อาจเป็นเพราะลวดลายของผ้าทอที่มีลักษณะเนื้อผ้าที่มีความเหลือบสี เห็นเป็นลายเส้นเล็ก ๆ ในตัว ซึ่งมองดูแล้วคล้ายกับขนของหางกระรอก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกดังกล่าว นอกจากนี้ ชื่อเรียกผ้าชนิดนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามรูปลักษณ์ที่มุ่งเน้นเช่น บางพื้นที่เรียกว่า ผ้าวา ผ้ายาว ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะความยาวของผืนผ้าที่ยาวกว่าผ้าถุงเท่าตัว บางพื้นที่เรียกว่า ผ้าควบ เพราะถือเอาวิธีการทอแบบตีเกลียวควบมาใช้เป็นชื่อเรียก แต่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่าผ้าหางกระรอกมากกว่า นอกจากนี้ชุมชนสนวนนอกยังมีการผลิตผ้าลวดลายต่าง ๆ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมหลายรูปแบบ เช่น
- ผ้าคลุมไหล่ยกดอกแก้ว ดอกพิกุล เป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ
- ผ้าไหมแปรรูป เช่น เสื้อ กระเป๋าอเนกประสงค์ กระเป๋าดินสอ พวงกุญแจ ตุ๊กตาผ้า ฯลฯ
อาหารอร่อยประจำถิ่น
ฤดูร้อน เดือน มี.ค.-มิ.ย. | ฤดูฝน เดือน ก.ค.-ต.ค. | ฤดูหนาว เดือน พ.ย.-ก.พ. |
แกงผักหวานใส่ไข่มดแดงและปลาย่าง | แกงปลา/ต้มปลา | แกงหอยใส่เผือก |
แกงกล้วยใส่ไก่ | ผัดกบ | แกงปูใส่มะละกอ |
แกงมะรุม | ห่อหมกกบ/ปลา/ปลาซิว | น้ำพริกปู |
ตำมะม่วงใส่ไก่ | ปลาทอด | ต้มไก่ใส่ใบมะขาม/ใบหม่อน |
ผัดบวบใส่ไข่ | น้ำพริกกะปิมะขามดิบ | แกงบุกใส่ปลาย่าง |
แกงส้มมะละกอ | น้ำพริกกะทิปลาทู | แกงขี้เหล็ก |
ผัดผักบุ้งใส่ไข่ | ผักปัง ผักแว่น หน่อไม้ | ผัดเผ็ดปลาไหล |
ชุมชนสนวนนอกเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เขมร มีการใช้ภาษาเขมรถิ่นไทย และภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ขนมตดหมา "ขนมตดหมา" หรือ "นุมเวือรพอม" ถึงชื่อจะไม่ไพเราะ แต่รสชาติหอมอร่อยละมุนลิ้น หากินยาก จะมีเฉพาะคนไทยเชื้อสายเขมร หรือเขมรถิ่นไทยอีสานใต้ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ที่ทำกิน จะมีลักษณะหน้าตาคล้าย ๆ กับขนมจาก แต่ขนมตดหมาห่อด้วยใบตองสด ข้างในจะมีส่วนผสมของแป้ง น้ำตาล เนื้อมะพร้าวอ่อน กะทิสด และที่ขาดไม่ได้คือส่วนผสมจากรากตดหมา หรือนุมเวือรพอม นำราก "เครือตดหมา" มาหั่นเป็นแว่น ๆ ตากแดดไว้ แล้วจึงนำมาต้มจนได้น้ำเครือตดหมา นำมาคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน พักไว้หนึ่งชั่วโมงเพื่อให้แป้งขึ้น แล้วจึงนำเนื้อขนมมาใส่ใบตองห่อในขนาดที่พอเหมาะเป็นชิ้นยาว ๆ นำไปย่างบนเตาไฟให้สุก เมื่อแกะออกมาดูจะพบว่าเนื้อแป้งมีความแห้งเกรียม แต่กลับมีความนุ่มลิ้นเป็นพิเศษ หากเคี้ยวอย่างละเลียด จะสัมผัสได้ถึงความเหนียวนุ่มของแป้งกับความกรอบของมะพร้าวอ่อน ที่ไม่เหนียวและแข็งจนเกินไป จึงทำให้ ขนมตดหมา หรือนุมเวือรพอม นั้นมีรสชาติที่หวานมัน กลมกล่อม หอมกลิ่นจาง ๆ ของรากตดหมาด้วย ซึ่งถือเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของขนมตดหมา
ธิดารัตน์ คีมกระโทก และศุทธา โกติรัมย์. (2561). การฟื้นฟูอาหารท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนบ้านสนวนนอก ตำบลสนวน อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์. วารสารการบริหารการปกครองและนวัตกรรมท้องถิ่น, 2(3), 55-68.
นุชนาฎ สมานมิตร และยุวดี จิตต์โกศล. (2561). การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนบ้านสนวนนอก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 4(1), 46-69.
พรรณี พิมาพันธุ์ และคณะ. (2561). นวัตกรรมและแนวคิดสร้างสรรค์จากเยาวชนเพื่อประสบการณ์การท่องเที่ยวสู่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยคุณค่า. รายงานการวิจัย บริษัท เพอร์เฟคลิงค์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด.
กรมประชาสัมพันธ์. ขนมตดหมา "1จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" บุรีรัมย์. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.prd.go.th/th/content/