"ถิ่นภูเขาไฟ ทางไหลลาวา เสมาพันปี ไหมมัดหมี่เลื่องชื่อ ล่ำลือเห็ดป่า ดารดาษดอกกระเจียว เที่ยวชมภูเขาอังคาร นมัสการเสด็จปู่วิริยะเมฆ" ผ้าภูอัคนี ผ้าย้อมสีธรรมชาติจากดินภูเขาไฟ อัตลักษณ์อันโดดเด่นจากภูมิปัญญาชุมชน
"ถิ่นภูเขาไฟ ทางไหลลาวา เสมาพันปี ไหมมัดหมี่เลื่องชื่อ ล่ำลือเห็ดป่า ดารดาษดอกกระเจียว เที่ยวชมภูเขาอังคาร นมัสการเสด็จปู่วิริยะเมฆ" ผ้าภูอัคนี ผ้าย้อมสีธรรมชาติจากดินภูเขาไฟ อัตลักษณ์อันโดดเด่นจากภูมิปัญญาชุมชน
บ้านเจริญสุข เดิมเป็นชุมชนขนาดเล็ก ผู้คนเริ่มย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2490 ทำให้ต่อมาชุมชนมีการขยายตัวมากขึ้นกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเจริญสุขหมู่ที่ 1 บ้านเจริญสุขหมู่ที่ 12 และบ้านสายบัวหมู่ที่ 14 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
บ้านเจริญสุข หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 12 และบ้านสายบัว หมู่ที่ 14 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะทั่วไปเป็นที่ราบลาดเอียงจากทิศตะวันตกมาทางทิศตะวันออก มีภูเขาไฟขนาดเล็ก จำนวน 1 ลูก คือ ภูเขาอังคาร ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทและเย็นตัวลงแล้ว มีป่าไม้เป็นป่าโปร่ง ป่าเต็งรังเป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติ ลักษณะดินเป็นดินดำภูเขาไฟ มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวหอมมะลิและพืชเกษตรชนิดอื่น ๆ มีแหล่งน้ำขนาดเล็ก ฝายน้ำล้นและลำคลองขนาบทางทิศเหนือของหมู่บ้าน สภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
ประชากรชุมชนบ้านเจริญสุขเป็นกลุ่มชาวไทยอีสาน อาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัว มีระบบเครือญาติ พึ่งพาอาศัยกันระหว่างผู้คนในชุมชน
- บ้านเจริญสุข หมู่ที่ 1 มีจำนวน 141 ครัวเรือน รวมจำนวนประชากร 425 คน
- บ้านเจริญสุข หมู่ที่ 12 มีจำนวน 154 ครัวเรือน รวมจำนวนประชากร 406 คน
ชุมชนเจริญสุขมีโครงสร้างทางสังคมขนาดใหญ่ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ผลักดันและส่งเสริมการรวมกลุ่มกันของสมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างสภาวะเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมั่นคงให้กับชุมชน มีการรวมกลุ่มอาชีพผ้าทออัคนี ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของสมาชิกในชุมชน กลุ่มข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟที่สร้างอัตลักษณ์อันโดดเด่นให้กับชุมชน และยังมีกองทุนพัฒนาหมู่บ้านเพื่อสร้างเสริมพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน
- มกราคม : ทำบุญวันขึ้นปีใหม่
- กุมภาพันธุ์ : บุญข้าวจี่/บุญประทายข้าวเปลือก
- มีนาคม : บุญมหาชาติหรือบุญพระเวสสันดร
- เมษายน : บุญสงกรานต์
- พฤษภาคม : บุญบั้งไฟ
- มิถุนายน : ประเพณีขึ้นเขาอังคาร
- กรกฎาคม : ประเพณีเข้าพรรษา
- ตุลาคม-พฤศจิกายน : ประเพณีออกพรรษา/บุญกฐิน
- พฤศจิกายน-ธันวาคม : ประเพณีลอยกระทง
1.นางสำรวย ศรีมะเรือง ประธานกลุ่มทอผ้าภูอัคนี
ภูมิปัญญาชุมชน บ้านเจริญสุขเป็นชุมชนแห่งการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญา โดยมีผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้านคือ ผ้าทอมือ มีทั้งผ้าไหม และผ้าฝ้าย ที่โดดเด่นที่สุด ก็คือ ผ้าภูอัคนี ซึ่งเป็นผ้าย้อมด้วยดินภูเขาไฟ จากเขาพระอังคาร "ผ้าภูอัคนี" หรือ "ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ" เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ได้นำวัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ โดยเป็นกรรมวิธีในการย้อมสีผ้าให้ออกมามีสีสันสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ ด้วยการนำผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ไปย้อมกับดินภูเขาไฟ หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่หาได้ไม่ยาก เพราะหมู่บ้านเจริญสุขนั้น ตั้งอยู่ใกล้กับ "เขาพระอังคาร" ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าแก่ 1 ใน 6 ลูกของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ดับสนิทแล้ว ดินบริเวณนี้จึงอุดมด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟที่ปะทุออกมาในอดีต ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกแล้ว ชาวบ้านเจริญสุขยังคิดค้นวิธีการนำดินเหล่านี้มาใช้ย้อมผ้าอีกด้วย
ป่าชุมชนเขาพระอังคาร เป็นป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติ ซึ่งได้รับการดูแลจากประชาชนในหมู่บ้าน และกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ที่เข้มแข็ง ปฏิบัติหน้าที่ดูแลป้องกันการบุกรุกทำลายป่าชุมชน พร้อมทั้งปลูกป่าทดแทน จึงทำให้ป่าชุมชนเขาพระอังคารเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ สามารถนำของป่ามาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารในชุมชนได้ตามฤดูกาล เช่น ผักอีนูน มีในช่วงเดือนมกราคม-เดือนมีนาคม (ช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ต้นฤดูร้อน) หน่อเพ็ก, เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ, ผักหวานป่าหรือผักก้านตรง, ผักอีลอกและไข่มดแดง จะมีในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน (ช่วงฤดูร้อนเข้าสู่ต้นฤดูฝน) ดอกกระเจียว, เห็ดโคนหรือเห็ดปลวกใหญ่, หน่อโจด, เห็ดโคนน้อยหรือเห็ดถั่ว, เห็ดโคนเล็กหรือเห็ดปลวกไก่น้อย, เห็ดก่อ, เห็ดน้ำหมาก, เห็ดหน้ามุม, เห็ดข่า, เห็ดหน้าวัว, เห็ดครก, เห็ดถ่าน, เห็ดน้ำแป้ง, เห็ดนางหงส์หรือเห็ดระโงก, เห็ดตับเต่าหรือเห็ดผึ้ง, เห็ดเพ็ก, เห็ดไส้เดือนและเห็ดมันปู มีในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม (ช่วงฤดูฝน) และเห็ดขอนหรือเห็ดกระด้าง มีในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม (ช่วงฤดูหนาว)
วัดเขาพระอังคาร เป็นวัดที่มีวัตถุธรรมความสวยงามของวัดพุทธศิลป์ สร้างมานานในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ ความสวยงามของวัดพุทธศิลป์ผสมศิลปะขอมแนวเดียวกันกับปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ส่วนสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่เห็นในวัดปัจจุบันส่วนใหญ่สร้างใหม่ทับของเก่า มีโบสถ์ที่ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมหลายสมัยดูสวยงามแปลกตา เป็นวัดที่สวยงามใหญ่โตแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ มีโบสถ์ ศาลา และอาคาร ลักษณะเด่นคือเป็นวัดที่สร้างประยุกต์เลียนแบบสถาปัตยกรรมขอมสมัยต่าง ๆ หลายรูปแบบ มีความงดงามแปลกตาและน่าสนใจอย่างยิ่ง ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังและเรื่องราวพุทธชาดกและนำเสนอเป็นรูปแบบภาษาอังกฤษ บริเวณวัดเป็นพื้นที่ปากปล่องภูเขาไฟคาดว่าเคยเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสมัยทวารวดี เพราะพบหลักฐานเสมาหินแกะสลักสมัยดังกล่าวหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก วัตถุธรรมความสวยงามของวัดเขาพระอังคารด้านพุทธศิลป์เน้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สร้างศรัทธาต่อผู้มาเยือน คงเสน่ห์ความงดงานชวนให้เที่ยวชม
ชุมชนบ้านเจริญสุขใช้ภาษาถิ่นอีสานและภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ชาวบ้านเจริญสุขมีอาชีพเสริมก็คือการทอผ้า เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นและมีการพัฒนาฝีมือ ลวดลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์จากผ้าจะย้อมด้วยสีธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้นเหตุของการคิดค้นการย้อมผ้าภูอัคนีมาจากการทอผ้าของชาวบ้านเจริญสุข เดิมทีนั้นจะทอกันเฉพาะผ้าไหม แต่ผ้าไหมมีราคา และเกิดการแข่งขันทางการตลาด ทำให้ผ้าไหมบ้านเจริญสุขไม่สามารถแข่งขันกับผ้าไหมจากอำเภอนาโพธิ์ หรืออำเภอพุทไธสงได้ สมาชิกกลุ่มโดย นางสมศรี ถุนนอก ได้คิดค้นที่จะนำผ้าฝ้ายมาทอ เนื่องจากมีราคาถูกกว่าผ้าไหม ทำให้จำหน่ายได้ง่าย แล้วคิดค้นความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าบ้านเจริญสุข จึงได้ค้นพบการนำดินมาย้อมเส้นฝ้าย ซึ่งเป็นดินจากภูเขาพระอังคาร การผลิตผ้าของกลุ่มทอผ้าบ้านเจริญสุขเน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยการคัดเลือกวัตถุดิบ การย้อมสีของเส้นฝ้ายจะย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ เช่น ไม้ประดู่ ช่วยให้สีทนนาน ดอกอัญชันช่วยให้สีสดใสเป็นธรรมชาติ เป็นต้น
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไข่เค็มภูอัคนี บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ภูมิปัญญาการถนอมอาหารจากการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชุนสู่การสร้างรายได้ มีการรวมกลุ่มกันเป็นชมรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่เค็มให้เป็นสินค้าของชุมชนเพื่อให้มีการกระจายรายได้ให้กับสมาชิก ไข่เค็มภูอัคนีเป็นการใช้ดินภูเขาไฟเพื่อการถนอมอาหารและยืดระยะเวลาการเก็บรักษา โดยนำเอาไข่เป็นมาพอกด้วยดินภูเขาไฟที่มีส่วนผสมในการทำไข่เค็มและรักษาความชื้นด้วยการพอกด้วยแกลบ ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนผ่านการขายไข่เค็มภูอัคนีได้เป็นอย่างดี
พรรณี พิมาพันธุ์ และคณะ. (2561). นวัตกรรมและแนวคิดสร้างสรรค์จากเยาวชนเพื่อประสบการณ์การท่องเที่ยวสู่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยคุณค่า. รายงานการวิจัย บริษัท เพอร์เฟคลิงค์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด.