Advance search

ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ชุมชนที่โดดเด่นสามารถสร้างชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ มีกิจกรรมครบวงจรทั้งวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม  รับประทานอาหารพื้นบ้าน และการเข้าถึงวิถีชุมชน

111 หมู่ที่ 5
บ้านนาต้นจั่น
บ้านตึก
ศรีสัชนาลัย
สุโขทัย
สุกฤต สิมณี
27 พ.ย. 2023
สุกฤต สิมณี
27 พ.ย. 2023
บ้านนาต้นจั่น

สันนิษฐานว่า คำว่า "นาต้นจั่น" มีที่มาจากพืชชนิดหนึ่งคือ ต้นจั่น ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในชุมชนนี้


ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ชุมชนที่โดดเด่นสามารถสร้างชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ มีกิจกรรมครบวงจรทั้งวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม  รับประทานอาหารพื้นบ้าน และการเข้าถึงวิถีชุมชน

บ้านนาต้นจั่น
111 หมู่ที่ 5
บ้านตึก
ศรีสัชนาลัย
สุโขทัย
64130
17.62088716892676
99.82383868328824
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตึก

ชุมชนนาต้นจั่นมีประวัติความเป็นมายาวนานมากกว่า 200 ปี โดยเริ่มต้นจากคนไม่กี่คนที่อพยพมาจากเมืองโยนก เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เดินทางมาถึงพื้นที่กลางภูเขาที่เต็มไปด้วยต้นจั่นมากมาย จึงได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในบริเวณนี้ภายหลังจากนั้นก็เริ่มมีผู้อพยพมาสมทบเพิ่มเติมจากทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดลำปาง เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้ภาษาที่ใช้จึงแตกต่างจากภาษาทั่วไปของคนสุโขทัยที่มีสำเนียงออกเหน่อ ชุมชนบ้านนาต้นจั่นเคยเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ของ “เมืองด้ง” ซึ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์ในยุคสมัยการปกครองของล้านนาอยู่ในภายใต้การปกครองของเจ้านครลำปาง (ก่อนปี พ.ศ. 2007) ซึ่งภายหลังเมืองลำปางถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสยาม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2428 กลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองของเมืองสวรรคโลก ภายหลังสวรรคโลกกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย ที่ตั้งของหมู่บ้านที่ติดกับชายป่าอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย เขตรอยต่อตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้ที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ประชาชนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีโฉนดที่ดินส่วนที่เหลือล้วนเป็นเพียงเอกสารสิทธิในการทำมาหากินเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่เหลือถูกนำมาพัฒนาให้กลายมาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากชุมชนทำการเกษตรและงานทอผ้าและต่อยอดให้ชุมชนที่มีบรรยากาศต่าง ๆ เพื่อให้คนมาท่องเที่ยวภายในชุมชนของตนเอง ส่งผลชุมชนบ้านนาต้นจั่นกลายเป็นชุมชนโฮมสเตย์ตัวอย่างที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ

ชุมชนนาต้นจั่นตั้งอยู่บริเวณที่ราบ มีภูเขาล้อมรอบ มีสายน้ำลักไหลผ่าน คือ ลำน้ำแม่ราก และมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 27.6 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอากาศร้อนอบอ้าว อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.5 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศร้อนที่สุดอยู่ในเดือนเมษายน ส่วนในฤดูหนาวอากาศมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.7 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศหนาวที่สุดอยู่ในเดือนมกราคม

อาณาเขตติดต่อ  

  • ทิศเหนือ  ติดต่อ ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
  • ทิศใต้  ติดต่อ ตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
  • ทิศตะวันตก  ติดต่อ ตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

บ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยมีประชากรประมาณ 786 คน โดยประมาณ (ข้อมูลปี 2566) ประชากรส่วนมากเป็นประชากรที่อพยพมาจากภาคเหนือตอนบน เช่น เมืองโยนก เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย และอพยพภายหลังก็มาจากเมืองรอบข้างอีก ทำให้วัฒนธรรมในชุมชนบ้านนาต้นจั่นจะมีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมในกลุ่มของวัฒนธรรมล้านนา และมีภาษาพูดรวมถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมในตัวเมืองสุโขทัยและเมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือตอนล่าง

การดำเนินงานในลักษณะของเครือข่าย เดิมทีความหลากหลายของประเภทกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านนาต้นจั่นมีน้อยมาก เพราะชุมชนเริ่มต้นมาจากการท่องเที่ยวจากการตั้งกลุ่มโฮมสเตย์ที่เมื่อเข้าพักกิจกรรมที่ต้องเยี่ยมชม คือ การทอผ้า การหมักผ้าด้วยโคลน อย่างไรก็ตามพบว่าหากชุมชนต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจำเป็นต้องมีกิจกรรมที่หลากหลายและมากพอสำหรับรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว จึงได้เริ่มมีการขอความร่วมมือกับกิจการที่เป็นปัจเจกในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ซึ่งในระยะแรกนั้น คือ การแวะชมวิธีผลิตตุ๊กตาบาร์โหน และร้านข้าวเปิ๊บยายเที่ยง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

ต่อมาจึงเริ่มเชิญชวนสมาชิกในชุมชนคนอื่น ๆ จัดตั้งกลุ่มกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มดนตรีไทยที่จะมีการแสดงให้กับนักท่องเที่ยวด้วยเพลงกลอนเนื้อหาและสำเนียงท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ที่จะทำไปพร้อมกับพิธีบายศรีสู่ขวัญ ถือเป็นการต้อนรับแบบพื้นถิ่น มีการบรรเลงดนตรีไทย จากเยาวชนภายในชุมชนที่มาร่วมกันฝึกซ้อมในช่วงเวลาว่าง ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และถือเป็นการลดความห่างของช่วงอายุของผู้สูงอายุและเยาวชนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับกลุ่มอื่น ๆ อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เครือข่ายภายนอกชุมชนที่สนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านนาต้นจั่นได้สำเร็จนั้น โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกของการพัฒนาการท่องเที่ยว พบว่าหน่วยงานภาครัฐมีส่วนสำคัญ ในการเข้ามามีบทบาทพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน และถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้บ้านนาต้นจั่นประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน

วิถีชีวิตชุมชน

ชุมชนบ้านนาต้นจั่นมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีทุนทางสังคมสูงและเป็นชุมชน ที่มีความเข้มแข็ง ยึดถือประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และสืบสานตามแนวทางที่บรรพบุรุษ วางรากฐานและสามารถนำวิถีเหล่านี้แบ่งปันให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และเข้าใจคุณค่าของวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญา อาทิ ภูมิปัญญาผ้าทอหมักโคลน วิถีชีวิตชนบทและการทำเกษตร ประเพณีแห่งน้ำขึ้นโฮง ประเพณีลงผีเจ้าปู่พญาแก้ว เป็นต้น

ปฏิทินชุมชนบ้านนาต้นจั่น 

ประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้งนคร วันที่ 19 เมษายน ของทุกปี

ภายหลังจากการถูกยึดครองเมืองศรีสัชนาลัยของพระเจ้าติโลกราช แห่งล้านนา ก็ได้ย้ายเมืองมาอยู่ในบริเวณตำบลบ้านตึก แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเชียงชื่น แต่กระนั้นเจ้าหมื่นด้งนครผู้ครองเมืองเชียงชื่นมีข้าวว่าฝักใฝ่ฟากกรุงเทพทราวดีศรีอยุธยาจากการที่ไปคบหาออกญากลาโหม ทำให้ถูกเชิญขึ้นไปที่เมืองเชียงใหม่แต่ก็ถูกสมาชิกในครอบครัวคัดค้านเพราะรู้ว่าจะต้องราชภัยแต่เจ้าหมื่นด้งนครก็เลือกที่เดินทางไปยังเชียงใหม่แล้วก็ถูกประหารและไม่ได้มีการไต่สวนทวนความ ทำให้ทุกวันที่ 19 เมษายนของทุกปีจะมีการสรงน้ำเจ้าหมื่นด้งนครเพื่อสรรเสริญความดีและกล้าหาญของเจ้าเมือง

1.คุณแม่เสงียม แสวงลาภ

การที่คุณแม่เสงี่ยมได้ไปอบรมโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยคุณแม่เสงี่ยมใช้เวลาเรียนรู้ถึง 5 ปี เพื่อศึกษาการเปิดโฮมสเตย์ แล้วตัดสินใจทำคนเดียวภายใต้คำถามที่ว่าชุมชนของตนนั้นไม่ได้อยู่ในทำเลทองสำหรับการท่องเที่ยวเนื่องจากไม่ได้มีน้ำตก น้ำพุ และทะเล ใครจะมาท่องเที่ยวชุมชนที่อันห่างไกลนี้ แต่คุณแม่ก็ได้เปิดหน้าสร้างโฮมสเตย์ โดยค้นหากิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายภายในชุมชน จนผ่านไป 4 ปีคนในชุมชนเริ่มเห็นด้วยกับการทำงานของคุณแม่เสงี่ยมและจำนวนโฮมสเตย์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 16 หลัง และ29 หลังในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของชาวบ้านที่ร่วมกันสร้างการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นภายในชุมชนของตนเอง

ทุนมนุษย์ คุณแม่เสงี่ยม แสวงลาภผู้ที่สร้างให้ชุมชนบ้านนาตันจั่นนั้นเกิดขึ้นมาจากองค์ความรู้ที่ได้ไปศึกษาและนำมาพัฒนาให้เกิดขึ้นภายในชุมชนของตนเอง

ทุนสังคม ทุนวัฒนธรรม การร่วมลงทุนคนในชุมชนและเห็นด้วยกับความคิดของแม่เสงี่ยม ถ้าหากว่าในชุมชนแม่เสงี่ยมได้รับการช่วยเหลือและสร้างพันธมิตรในชุมชนโดยมีเพียงแค่แม่เสงี่ยมทำโฮมสเตย์ก็จะไม่สามารถเกิดชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนขึ้นมาได้เลย เพราะฉะนั้นปัจจัยการร่วมลงมือก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ชุมชนนาต้นจั่นสามารถสร้างเครือข่ายและสร้างรายได้ถึงปัจจุบัน อีกทั้งภูมิปัญญาที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสร้างมาให้ก็ทำให้ชุมชนนาต้นจั่นสามารถนำภูมิปัญญามาส่งเสริมให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ทุนกายภาพ พื้นที่ป่าเขา ใกล้ภาคเหนือตอนบนทำให้อากาศดีเกือบตลอดทั้งปี เป็นต้นทุนพิเศษเพราะอากาศและสิ่งแวดล้อมของนาต้นจั่นทำให้ชุมชนนี้มีความพิเศษที่มากกว่าชุมชนอื่นจากอากาศที่ดี และเย็นสบายเกือบทั้งปีอีกทั้งยังมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล

ไทย ไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ส่วนใหญ่คนที่พูดภาษาเหนือมาจากเหตุผลที่อยู่ใกล้ภาคเหนือตอนบนคนที่ส่วนพูดเหนือก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่อพยพลงมาโดยน่าจะอยู่ที่สุโขทัยเพียงไ่ม่กี่ชั่วอายุคน ทำให้ยังสามารถพูดภาษาเมืองได้


บ้านนาต้นจั่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ยังสามารถรักษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่แล้วคงเอกลักษณ์ ไม่ถูกกลืนกลายและไหลไปตามกระแส แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจะเข้ามาในชุมชนจำนวนมากเพียงใด ถือเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามา ทำให้ชุมชนนาต้นจั่นกลายเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยววิถีชุมชนในสังคมไทย โดยการทำโฮมสเตย์ในสังคมไทยก็ต้องมีชุมชนนาต้นจั่นเป็นต้นแบบในการศึกษาการท่องเที่ยววิถีชุมชนในสังคมไทย นอกจากการท่องเที่ยวการค้าก็ส่งเสริมให้ชุมชนนี้สามารถอยู่ได้ในสังคมไทยจากการที่มีผ้าหมักโคลนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อในชุมชน โดยการหมักโคลนเป็นหนึ่งสิ่งที่สร้างชื่อเสียงของบ้านนาต้นจั่นมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

นอกจากโฮมสเตย์แล้วชุมชนนี้ยังมีชื่อเสียงจากการทำผ้าหมักโคลนซึ่งเป็นสินค้าโอท็อประดับ 5 ดาวของชุมชน จากลวดลาย สีสันที่สะดุดตา สวยงามโดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจกที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนสุโขทัยส่งผลให้ผ้าหมักโคลนของบ้านนาต้นจั่นเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยสามารถขายได้ทั้งภายในชุมชนของตนเอง ในเมืองศรีสัชนาลัย ตลาดนัดจตุจักร และต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งผ้าหมักโคลนของบ้านนาต้นจั่นสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนได้มากกว่า 1,000,000 บาท/ปี ในแต่ละปีก็มีจะรายได้มากยิ่งขึ้นจากความสนใจของคนที่ต่อผ้าหมักโคลนบ้านนาต้นจั่นที่มากยิ่งขึ้น

การสนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวส่งเสริมให้บ้านนาต้นจั่น ส่งผลให้ชุมชนนาต้นจั่นเริ่มการพัฒนาชุมชนของตนเองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนนี้ถูกพัฒนาและกลายเป็นตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน โดยบ้านนาต้นจั่นได้รับการสนับสนุนทั้งเม็ดเงินและองค์ความรู้ ทำให้บ้านนาต้นจั่นประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ชุมชนบ้านนาต้นจั่นสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองและสร้างรายได้ให้แก่คนภายในชุมชนยิ่งขึ้น นอกจากนี้สื่อภายในประเทศก็มีส่วนส่งเสริมให้บ้านนาต้นจั่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2551 กองประกวดนางสาวไทยให้เหล่าผู้เข้าประกวดเข้ามาเก็บตัวในจังหวัดสุโขทัยแล้วทำกิจกรรม ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมก็คือ การทอผ้าในชุมชนบ้านนาต้นจั่น ส่งผลต่อการรับรู้ชุมชนบ้านนาต้นจั่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น


ข้าวเปิ๊บ การนำภูมิปัญญาทางด้านอาหารอย่างข้าวเปิ๊บ มาเป็นจุดดึงดูดและกิจกรรม การท่องเที่ยว ซึ่งคำว่า “เปิ๊บ” แปลว่า พับ ในภาษาถิ่น ข้าวเปิ๊บที่ถือเป็นอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ด้วยกรรมวิธีและวัตถุดิบดั้งเดิม โดยการนำแป้งสดละเลงบนผ้าขาวบางที่ขึงตึงบนซึ้งนึ่ง ใส่วุ้นเส้น ผักบุ้ง กะหล่ำปลีหั่นฝอย และไข่ไก่ วัตถุดิบหาได้จากในท้องถิ่น เช่น การเตรียมแป้งข้าวเจ้าเอง หรือแม้กระทั่งผักนานาชนิดที่จะเพิ่มรสชาติเป็นไส้ที่ห่ออยู่ภายในแป้งที่ปลูกเองตามครัวเรือนในชุมชนทานกับน้ำซุปที่มีรสชาติเฉพาะตัวเรียกได้ว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่นักท่องเที่ยวต่างติดใจและปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบของข้าวเปิ๊บให้มีความหลากหลายและทันสมัยมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นข้าวเปิ๊บที่เป็น อาหารท้องถิ่นได้อย่างครบถ้วน

ผ้าหมักโคลน ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เมื่อหลังจากทำการทอเสร็จแล้ว จะมีการนำ ผ้าทอดังกล่าวไปหมักในโคลน เพื่อให้ผ้าทอนั้นมีเส้นใยที่นุ่มลื่นใส่สบายเมื่อนำมาตัดเย็บสวมใส่ ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากบรรพบุรุษที่รู้จักสังเกตเห็นว่าเสื้อผ้า ที่ใส่ไปทำนาจนเลอะโคลนนั้นเนื้อผ้ามีความนุ่มกว่าเนื้อผ้าปกติ จึงได้กลายมาเป็นผ้าย้อมโคลน และถ่ายทอดสืบต่อมาเรื่อยมา นอกจากการย้อมโคลนยังมีภูมิปัญญาในการใช้สี ซึ่งสีที่ใช้ในการย้อมผ้าล้วนแต่เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติทั้งหมด ดังนี้ 

  • ลูกมะเกลือ = สีดำ
  • ใบมะม่วง = สีเขียวเข้ม
  • ใบจั่น = สีเขียวอ่อน
  • ใบสะเดา = สีชมพู
  • ไม้ฝาง = สีแดง
  • ไม้เพกา = สีเหลือง
  • แก่นขนุน = สีเหลือง
  • เปลือกมังคุด = สีม่วง
  • ใบหูกวาง = สีเขียว
  • เปลือกสะเดา = สีกะปิ   

ผ้าหมักโคลนนี้ ถือเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของชุมชนบ้านนาต้นจั่น ถือเป็นการยก ภูมิปัญญามาสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสร้างมูลค่า รวมไปถึงสร้างชื่อเสียงให้บ้านนาต้นจั่นเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกด้วย องค์ความรู้ที่ชุมชนได้สรรค์สร้างมาก็สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดมาเป็นสินค้าให้แก่คนในสังคมได้สัมผัสและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

งานหัตถกรรมจักสาน มีการสารไม้ไผ่เป็นงานรองของชุมชน โดยในอดีตงานจักสานเป็นการใช้งานภายในครัวเรือน โดยเป็นการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษสืบทอดมาถึงปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่มักสานเข่งผลไม้ เพราะมีผลไม้ออกดอกออกผลทั้งปี ทำให้ความต้องการใช้เข่งผลไม้มีตลอดทั้งปี

เฟอร์นิเจอร์จากตอไม้ จากเศษเหลือของรากต้นไม้ที่ชาวบ้านตัดมาสร้างบ้าน จนในปี พ.ศ. 2549 เกิดเหจุดินโคลนถล่มทำให้ตอไม้ที่ขาวบ้านเหลือไว้ไหลเข้ามาในชุมชน โดยชาวบ้านก็ได้ดัดแปลงเอามาทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ นอกจากนี้การที่ดึงตอไม้ออกมาใช้ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะว่าการตัดต้นไม้ถ้าเหลือตอก็แทบไม่เหลือประโยชน์


ภูมิศาสตร์ที่ใกล้ป่าเขาก็ทำให้ชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการสร้างผลผลิตได้ในชุมชน และจากการที่ใกล้อุทยานทำให้มีพื้นที่บางส่วนต้องทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้จากการเป็นที่พักโฮมสเตย์


ศรีสัชนาลัย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย. (2564). หัวใจแห่งนาต้นจั่น. จาก ONCE. https://onceinlife.co/baan-na-ton-chan-sukhothai

ชนากานต์ ชัยรัตน์.  (2553). ต้นทุนและผลตอบแทนจากผลิตภัณฑ์ผ้าหมักโคลนย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. วิทยานิพนธ์บัญชีมหาบัณฑิต. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วีรญา พรมประสิทธิ์.  (2565). ปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน: กรณีศึกษาบ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร

ณิชาดา วิเศษกาศ.  (2561). การจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา บ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต. พะเยา: มหาวิทยาลัยพะเยา

โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย. สืบค้นวันที่ (28 พฤศจิกายน 2566 ) จาก Facebook : https://www.facebook.com/HomeStayBannaTonChan/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย. สืบค้นวันที่ (28 พฤศจิกายน 2566 ) จาก https://thai.tourismthailand.org/