วัดโป่งน้ำร้อน ศูนย์กลางของชุมชนและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชน
ชื่อบ้านโป่งน้ำร้อน เกิดจากธรรมชาติ คือ บริเวณเหนือหมู่บ้านขึ้นไปประมาณ 1,200 เมตร มีโป่งขนาดใหญ่ (โป่ง คือ ดินเค็มที่มีสัตว์นานาชนิดลงมากินดินโป่ง)
วัดโป่งน้ำร้อน ศูนย์กลางของชุมชนและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชน
ที่มาของชื่อบ้านโป่งน้ำร้อน เกิดจากธรรมชาติ คือเหนือหมู่บ้านขึ้นไปประมาณ 1,200 เมตร มีโป่งขนาดใหญ่ (โป่ง คือ ดินเค็มที่มีสัตว์นานาชนิดลงมากินดินโป่ง) ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ล่าสัตว์ป่าของพรานสมัยก่อน มีน้ำไหลซึมออกมา น้ำที่ไหลออกมาแรกๆ ก็ร้อนจัดสามารถต้มไข่สุกได้ ต่อมาก็ค่อย ๆ เย็นลง แต่น้ำยังอุ่นอยู่ ขณะเดินผ่านปัจจุบันยังได้กลิ่นกำมะถัน (สุพรรณถัน) ในฤดูหนาวจะมีหมอกควันลอยขึ้นให้เห็น ชาวชุมชนที่มาตั้งบ้านเรือนจึงเรียกว่า “บ้านโป่งน้ำร้อน” ปัจจุบันมีอยู่ที่สำนักสงฆ์โป่งน้ำร้อน หมู่ที่ 2
ผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามา สันนิษฐานว่า เป็นคนงานลูกจ้างตัดฟันไม้ของพะโป้ซึ่งจะมีกะเหรี่ยงติดตามมากับพะโป้แล้วยังมีคนงานมาจากเวียงจันทน์ ล้านช้าง และชาวอีสาน เมื่อหมดระยะเวลาทำไม้หรือไม่ได้เป็นคนงานแล้ว ก็คิดจับจองที่ทำกินซึ่งอุดมสมบูรณ์กว่าทางภาคอีสานของไทยมาก
บ้านโป่งน้ำร้อนอยู่ในเขตการปกครองของตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ระยะแรกมีคนมาอยู่ไม่มากนัก เมื่อหมดสัมปทานทำไม้ของพะโป้ในราว พ.ศ. 2470 ผู้ที่มาตั้งฐานชุดแรก สันนิษฐานว่าจะเป็นคนงานภาคอีสานและลาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นคนงานของพะโป้ เมื่อหมดงานหรือหมดสัญญา เห็นว่าบริเวณนี้พอที่จะทำไร่ทำนาได้และเห็นว่าทั้งสองฝั่งของคลองสวนหมากเป็นป่าสมบูรณ์ พอจะล่าสัตว์และหาของป่าขายได้ จึงพากันมาตั้งหลักฐาน พอดีมีบริษัทล่ำซำมาบุกเบิกทำป่าไม้สักขึ้นอีก จึงพากันมาเป็นลูกจ้างคนงานของบริษัท ผู้คนก็มากขึ้น ชาวบ้านทางนครชุมก็มาทำการค้าขาย ตั้งบ้านเรือนจนเป็นชุมชนใหญ่พอสมควร การปกครองจึงตั้งเป็นหมู่ที่ 5 ของตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ผู้ใหญ่คนแรกชื่อ นายสา เพ็งศรี เป็นชาวเวียงจันทน์ ต่อมาตำบลโป่งน้ำร้อนขึ้นกับกิ่งอำเภอคลองลาน และเป็นอำเภอคลองลานเป็นลำดับมาจนปัจจุบัน
เมื่อมีจำนวนประชากรมากขึ้นและการนับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดหาสถานที่ทำเป็นที่พักสงฆ์ เพื่อบำเพ็ญกุศลกันเป็นครั้งคราว เช่น วันสงกรานต์ และนิมนต์พระมาเทศน์เรื่อง พระเวสสันดรชาดกในวันเพ็ญเดือน 12 ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างที่พัก มีกุฏิสงฆ์ 1 หลัง 2 ห้อง และมีศาลาตองตึง (ตองพวง) 1 หลัง บนที่ดินของนายอู๊ด นางตุ๊ บุจันทร์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ที่ตั้งประปา หมู่ที่ 1 ปัจจุบัน
บ้านโป่งน้ำร้อนเป็นหมู่บ้านใหญ่ หมู่ที่ 1 มีวัดโป่งน้ำร้อน เป็นจุดศูนย์รวมกิจกรรมของชาวบ้าน ภายในวัดยังมีสิ่งปลูกสร้างที่แสดงถึงประวัติอันยาวนานคือ หอระฆังไม้ ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์และเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และศิลปะในเชิงช่างที่ผู้คนหลากหลายมาจากต่างถิ่น ส่วนใหญ่เป็นคนทางภาคเหนือ ลำปาง แพร่ น่าน ซึ่งมีฝีมือในการกระทำอาชีพเกี่ยวกับงานไม้ที่สวยงาม ในหมู่บ้านยังมีบ้านที่อยู่อาศัยที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลังจำนวนหลายหลัง มีสภาพสมบูรณ์เป็นอัตลักษณ์ของบ้านโป่งน้ำร้อน
ประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่ที่ 1 บ้านโป่งน้ำร้อน คือโซนที่ตั้งวัดโป่งน้ำร้อน มีประชากรที่อาศัยอยู่ทั้งสิ้น จำนวน 885 คน เป็นเพศชาย จำนวน 425 คน เป็นเพศหญิง จำนวน 460 คน จำนวน 345 ครัวเรือน
ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากทางภาคเหนือหลายจังหวัดซึ่งมีความชำนาญในการทำไม้ เพื่อทำอาชีพเกี่ยวกับไม้ เนื่องจากในพื้นที่มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีระบบเครือญาติที่ติดตามกันมา
บ้านโป่งน้ำร้อนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ รวมกันระหว่างหมู่ที่ 1 และ 2 แต่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ติดต่อกัน บริเวณตลาดชุมชนบ้านโป่งน้ำร้อน การปกครองโดยแบ่งการปกครองออกเป็นคุ้ม มีประธาน รองประธานและคณะกรรมการ ในการปกครองกัน ในระยะเปลี่ยนผ่านมีประชากรจากหลากพื้นที่เข้ามาอาศัยอยู่ประกอบอาชีพค้าขายมากขึ้น แต่โครงสร้างทางสังคมยังเป็นแบบที่กำหนดไว้ กลุ่มอาชีพในพื้นที่ทำเกี่ยวกับการเกษตร กองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มอาชีพ
สำหรับวิถีชีวิตของบ้านโป่งน้ำร้อน มีกิจกรรม วัฒนธรรม ประเพณีแบบผสมผสานทั้งไทยภาคกลางและภาคเหนือ กิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญต่าง ๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร การทำสวนผลไม้และค้าขาย ปฏิทินการผลิตหรือการปลูกพืชทางการเกษตรนั้นเป็นไปตามฤดูกาลทางธรรมชาติ
บ้านโป่งน้ำร้อนเป็นศูนย์กลางของตำบลโป่งน้ำร้อน เนื่องจากความหลากหลายของประชากรที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ผ่านการแต่งงาน การย้ายตามญาติพี่น้อง ประกอบกับประวัติของหมู่บ้านอันยาวนานมีทุนทางสังคมทำให้เกิดความหลากหลายของอาชีพ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันความมั่นคง สถาบันสุขภาพ
ภาษาไทยภาคกลางและภาษาไทยภาคเหนือ
บ้านโป่งน้ำร้อน มีการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุที่มองเห็น เช่น การสร้างบ้านที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมที่เป็นบ้านไม้สองชั้น หรือบ้านไม้ชั้นเดียว เปลี่ยนเป็นบ้านทรงสมัยใหม่ การคมนาคมในหมู่บ้านมีความสะดวกส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีตหรือลาดยาง การสื่อสารที่สะดวก การประกอบธุรกิจมีความหลากหลาย สถาบันทางการเงิน การประกอบธุรกิจจากบุคคลภายนอกชุมชน ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพนำไปสู่ความท้าทายพฤติกรรมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน. (มปป). สภาพทั่วไป จำนวนประชากรในพื้นที่. สืบค้นจาก https://www.pnrn.go.th/