Advance search

ตรอกบ้านพานถม

บ้านพาน

ในอดีตชุมชนแห่งนี้มีการทำพานถม ปัจจุบันไม่มีการทำแล้ว เหลือเพียงคำบอกเล่าและรู้จักบ้านพานถมในฐานะชุมชนที่เคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องถมโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์

ถนนประชาธิปไตย
บ้านพานถม
บ้านพานถม
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
สุธาสินี บุญเกิด
16 ก.พ. 2023
สุธาสินี บุญเกิด
30 มี.ค. 2023
ตรอกบ้านพานถม
บ้านพาน

ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่ทำพานถมขันถมขาย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทำมาตั้งแต่สมัยใด มีการแบ่งหน้าที่ทำตามความถนัดและความชำนาญ เช่น การตอก เหยียบ สลักลวดลาย ปัจจุบันไม่มีการทำพานถมขันถมแล้ว คงเหลือเพียงคำบอกเล่าและรู้จักบ้านพานถมในฐานะชุมชนที่เคยปรากฏว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องถมโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น ด้วยอาชีพในอดีตที่กล่าวไปข้างต้นจึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน ซึ่งอีกข้อสังเกตหนึ่งชื่อย่านบ้านพานมักถูกเรียกว่าบ้านพานถม จากความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นหัตถกรรมประเภทเครื่องถม


ในอดีตชุมชนแห่งนี้มีการทำพานถม ปัจจุบันไม่มีการทำแล้ว เหลือเพียงคำบอกเล่าและรู้จักบ้านพานถมในฐานะชุมชนที่เคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องถมโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์

บ้านพานถม
ถนนประชาธิปไตย
บ้านพานถม
พระนคร
กรุงเทพมหานคร
10200
สำนักงานเขตพระนคร โทร. 0-2628-9066
13.76145439
100.5041867
กรุงเทพมหานคร

ในอดีตชุมชนตรอกบ้านพานถมเคยเป็นสวนท้องร่องมาก่อน จัดเป็นชุมชนเก่าแก่อายุมากกว่า 150 ปี นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างกำแพงพระนครและคูพระนครขึ้น เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 3 ชุมชนสมัยนั้นอาจเป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ นอกกำแพงพระนคร มีสภาพเป็นชนบท ผู้คนยังมีไม่มาก โดยมีคลองบางลำภู ซึ่งถูกขุดขึ้นในคราวสร้างพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2326 คลองนี้เอื้อประโยชน์ต่อผู้คนที่อยู่อาศัยทั้งการคมนาคม อุปโภคบริโภค ตลอดจนทำการเกษตร น้ำในคลองใสสะอาดมีปลาชุกโดยเฉพาะในหน้าน้ำ ต่อมาน้ำในคลองเริ่มเน่าเสีย เนื่องจากมีการระบายของเสียต่าง ๆ ของชาวบ้านและบริเวณวัดปรินายกเดิมเคยเป็นสถานที่จอดรถประจำทางสาย 17 น้ำในคลองจึงเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน เมื่อรถประจำทางเลิกกิจการไป ประกอบกับมีการพัฒนาชุมชน น้ำในคลองจึงมีสภาพดีขึ้น

ถัดจากสะพานเฉลิมชาติมีไม้สะพานเล็ก ๆ ข้ามคลองบางลำภู ถัดลงมาเป็นโรงไม้กับโรงเลื่อย บริเวณริมคลองหน้าโรงไม้นี้มีเรือลากไม้ซุงจอดอยู่ ปัจจุบันโรงไม้และโรงเลื่อยกลายเป็นอาคารบ้านเรือนเสียหมด นอกจากนั้นสะพานไม้เล็ก ๆ ข้ามคลองบางลำภู ปัจจุบันได้รับการก่อสร้างเปลี่ยนเป็นสะพานปูน (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 17)

ในสมัยก่อนชุมชนตรอกบ้านพานถมเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่าเป็น ย่านอุตสาหกรรมผลิตเครื่องถม เมื่อชุมชนเริ่มมีการขยายตัว ผู้คนเริ่มเข้ามาจับจองเป็นเจ้าของที่ดินเพิ่มขึ้น การคมนาคมสะดวก ย่านความเจริญต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมา ประชาชนอพยพเข้ามาอาศัยในบริเวณชุมชนนี้มากขึ้นจนหนาแน่น ขณะเดียวกันความหลากหลายทางอาชีพก็มีมากขึ้น ชาวบ้านหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ประกอบกับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องถมนำเครื่องจักรทุ่นแรงมาใช้ นายจ้างจากโรงงานจึงเลิกจ้าง ตลอดจนความนิยมการใช้เครื่องถมลดลง ผู้คนหันไปใช้ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมมากขึ้น เป็นเหตุให้ชาวบ้านเลิกทำพานถมไปในที่สุด (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 19)

ชุมชนตรอกบ้านพานถม เป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่กลางเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีการคมนาคมที่สะดวก ใกล้สถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม โรงเรียนกรมแผนที่ทหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ใกล้ตลาดบางลำภูและตลาดเทเวศน์ ชุมชนมีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 2 งาน (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 17)

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ โรงเรียนวัดปรินายก
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนประชาธิปไตย : สะพานเฉลิมวันชาติ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองบางลำภู
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนวิสุทธิกษัตริย์

สภาพโดยทั่วไปของชุมชนมักปลูกบ้านเรือนกันอย่างแออัด บ้านแต่ละหลังปลูกติดต่อกันเป็นแนวขนานกับทางเท้าคอนกรีต ซึ่งเป็นซอยทั้งหมด 7 ซอย แต่ละซอยมีขนาดความกว้างแตกต่างกันไป บางซอยรถยนต์สามารถผ่านเข้าไปได้ บางซอยแคบมากรถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ การเข้าซอยต่าง ๆ จึงอาศัยการเดินเป็นหลัก บริเวณถนนตั้งแต่ซอยปรินายก 6-7 จดสะพานเฉลิมวันชาติ มีสภาพเป็นตลาดสดขนาดเล็ก ถือเป็นตลาดของชุมชน ชาวบ้านเรียกกันว่า ตลาดวันชาติ

ลักษณะบ้านเรือนมีทั้งบ้านไม้ชั้นเดียว บ้านไม้สองชั้นและตึกแถว ซึ่งตึกแถวนี้ส่วนมากตั้งอยู่บริเวณโดยรอบตัวชุมชน ถัดเข้ามาจึงเป็นลักษณะของบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ชิดกันแทบจะซ้อนกัน บางบ้านมีรั้วล้อมเป็นบริเวณของตนเอง (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 24-25)

จากการสำรวจจำนวนประชากรในชุมชนตรอกบ้านพานถมของสำนักงานเขตพระนคร พ.ศ. 2540 พบว่ามีจำนวนหลังคาเรือน 250 หลังคาเรือน รวมประชากรทั้งสิ้น 1,953 คน 316 ครอบครัว

โดยประชากรของชุมชนสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม ตามระยะเวลาการอยู่อาศัยในชุมชน ดังนี้

  1. กลุ่มผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่เกิด ประชากรกลุ่มนี้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ส่วนใหญ่ได้รับมรดกตกทอดติดต่อกันมาเป็นช่วง ๆ ประมาณสามชั่วอายุคน
  2. กลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ 1-30 ปี หรือมากกว่านั้น ประชากรกลุ่มนี้อยู่ในชุมชนในฐานะผู้เช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มนี้มีจำนวนประชากรมากกว่ากลุ่มแรก เป็นลักษณะการเช่าเพื่อสิทธิ์ในการครอบครองเท่านั้น เรียกว่า “บ้านเซ้ง”
  3. กลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นครั้งคราว ประชากรในกลุ่มนี้มีทั้งที่มาจากในกรุงเทพมหานครและภาคอื่น ๆ พบมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานประเภทลูกจ้างและอาชีพค้าขาย (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 22-23)

ส่วนรูปแบบของครอบครัวส่วนใหญ่เป็นรูปแบบครอบครัวเดี่ยว มีสมาชิกประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก ๆ นอกจากนั้นยังพบครอบครัวที่มีสมาชิกเพียงคนเดียว แต่อยู่รวมกับเพื่อน ๆ คนรู้จัก หรืออยู่คนเดียว สำหรับรูปแบบขยายพบว่ามีจำนวนน้อยกว่ารูปแบบครอบครัวเดี่ยว (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 29)

ชุมชนตรอกบ้านพานถมขึ้นอยู่กับเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีรูปแบบทางการปกครองภายในชุมชน โดยมี “องค์ประชาชน” ได้แก่ ผู้นำและคณะกรรมการของชุมชน ซึ่งลักษณะคล้ายกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านตามชุมชนชนบท แตกต่างกันตรงที่ผู้นำและกรรมการชุมชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทน แต่มีกฎหมายรองรับ สำหรับผู้นำและกรรมการชุมชนของตรอกบ้านพานถม เริ่มมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ยังคงรูปแบบของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง โดยทางสำนักงานเขตพระนครเข้ามาดำเนินการ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ทางสำนักงานเขตพระนครได้เปลี่ยนรูปแบบจากการแต่งตั้งมาเป็นการเลือกตั้งโดยประชาชนในชุมชน มีการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนชุดใหม่ขึ้นวันที่ 28 ธันวาคม 2540

บทบาทหน้าที่ของสำนักงานเขตพระนคร มีหน้าที่ในการดูแลชุมชนอย่างรอบด้าน อำนวยความสะดวกในบริการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ตลอดจนเสริมสร้างองค์กรประชาชนและชาวบ้านให้มีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในทุก ๆ ด้าน (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 33)

ในอดีตชาวบ้านในชุมชนตรอกบ้านพานถมประกอบอาชีพทำเครื่องถมเป็นหลักและบางพื้นที่เคยเป็นร่องสวนมาก่อน สำหรับอาชีพนี้เลิกประกอบอาชีพมาประมาณ 30-40 ปีมาแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องถมได้พัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการผลิต ชาวบ้านจึงหันไปประกอบอาชีพอื่น โดยเฉพาะอาชีพค้าขายเนื่องจากทำเลที่ตั้งชุมชนอยู่ใกล้สถานที่ราชการและบริษัทเอกชนต่าง ๆ เช่น ร้านขายของชำ ขายอาหาร ผลไม้ เสื้อผ้า ส่วนประเภทอาชีพช่างฝีมือมักได้รับความรู้ในการประกอบอาชีพมาจากประสบการณ์ในการทำงานหรือเรียนหลักสูตรวิชาชีพ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเสริมสวย ช่างไม้ นอกจากนั้นยังประกอบอาชีพรับราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่พบในชุมชน แต่พบจำนวนน้อยที่สุด

ปัจจัยหนึ่งที่ทำการประกอบอาชีพภายในชุมชนมีความหลากหลาย อาจเนื่องมาจากสภาพที่ตั้งชุมชน ซึ่งอยู่ในย่านพาณิชยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ย่านบางลำภู ย่านวิสุทธิกษัตริย์ ทำให้มีแหล่งรองรับมาก ซึ่งมีตั้งแต่งานที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความถนัดเฉพาะทางและแรงงาน (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 30-31)

ผู้อาศัยในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นวัฒนธรรม ประเพณี ในการดำเนินชีวิตจึงสอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา การรวมกลุ่มจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานเลี้ยงพระวันขึ้นปีใหม่ งานสรงน้ำพระในวันสงกรานต์ งานทอดกฐิน แต่การรวมกลุ่มนี้โดยมากเป็นการรวมกลุ่มเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงหรือเฉพาะซอย เช่น งานบุญซอยบ้านหล่อ จัดขึ้นทุกวันที่ 10 เมษายนของทุกปี ภายในงานช่วงเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน เลี้ยงอาหาร ช่วงกลางคืนฉายภาพยนตร์และการแสดงงิ้ว แม้ว่างานนี้จะจัดขึ้นเฉพาะซอย แต่ชาวบ้านภายในชุมชนสามารถเข้ารวมงานได้

ศาสนสถานประจำชุมชนที่ชาวบ้านนิยมไปทำบุญและประกอบพิธีทางศาสนา คือ วัดปรินายก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของชุมชน และวัดตรีทศเทพ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชน อย่างไรก็ตามภายในชุมชนยังในการนับถือศาสนาอื่นด้วย เช่น ศาสนาคริสต์และอิสลาม ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อในการนับถือลัทธิโยเรด้วย ลัทธินี้ใช้เครื่องหมายพระอาทิตย์เป็นเครื่องรางหรือสัญลักษณ์ โดยมีความเชื่อว่าพลังจากเครื่องรางนี้สามารถทำให้หายจากการเจ็บป่วยได้ (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 34)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนตรอกบ้านพานถมมีสิ่งบริการสาธารณูปโภคครบทุกประเภท ภายในชุมชนมีการติดตั้งเครื่องดับเพลิงเพื่อป้องกันการสูญเสียบ้านและทรัพย์สิน โดยทางสำนักงานเขตพระนครเข้ามาดำเนินการติดตั้งและดูแล อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีเพลิงไหม้ในชุมชนที่เกิดมักจะไม่รุนแรง ชาวบ้านสามารถช่วยกันได้ท่วงทัน ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีการป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดได้เองด้วย เนื่องจากที่อยู่อาศัยปลูกติดกัน วัสดุสร้างบ้านติดไฟง่าย ชาวบ้านจึงระมัดระวังในเรื่องนี้มาก (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 27)


การกำจัดขยะ สำนักงานเขตได้บริการถังรองรับขยะไว้หน้าบ้านและตามทางเท้าหรือถนน จากนั้นมีเจ้าหน้าที่มาเก็บขยะทุกวันในตอนเย็น อย่างไรก็ตามเนื่องจากชาวบ้านในชุมชนผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขายอาหาร บางครั้งพบเศษอาหาร จึงเป็นปัญหาบ้างในเรื่องของความไม่ถูกสุขลักษณะ

นอกจากนี้ยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของนายแพทย์มารุต บุนนาค และนักศึกษาแพทย์พยาบาลจากมหาวิทยาลัยมหิดล มาให้บริการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายให้กับชาวบ้านในชุมชน ประมาณปีละ 2-3 ครั้ง และมีการมาฉีดยาให้สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านด้วย รวมถึงการเข้ามาให้ความรู้เรื่องสุขภาพอนามัยของเจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัยใกล้ชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 ประชาธิปไตย เช่น การเยี่ยมแม่และเด็กหลังคลอดบุตร คนชรา ผู้ป่วย ภายหลังเมื่อเจ็บป่วยชาวบ้านเลือกที่จะไปใช้บริการโรงพยาบาลหรือคลินิกมากกว่า (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 27-29)


การศึกษาของผู้อยู่อาศัยในชุมชนตรอกพานบ้านถมมีทั้งการศึกษาแบบไม่เป็นทางการและแบบทางการ ทั้งเรียนรู้จากครอบครัว ชุมชน สังคมและโรงเรียน จากการสำรวจของสำนักงานเขตพระนคร ในปี พ.ศ. 2540 พบระดับการศึกษาตั้งแต่ไม่ได้เรียนหนังสือจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในชุมชนและบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดปรินายก (อนุบาล-ประถมศึกษาตอนปลาย) โรงเรียนวัดตรีทศเทพ (ประถมศึกษา) โรงเรียนวัดใหม่อมตรส (ประถมศึกษา) โรงเรียนวัดมงกุฏวรวิหาร (ประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนปลาย)

สำหรับค่านิยมในการให้การศึกษาบุตรหลาน ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนของรัฐมากกว่าโรงเรียนเอกชน เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายสะท้อนให้เห็นถึงฐานะทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในสังคมเมือง อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้รับการศึกษาระดับสูงที่สุด อาจเป็นเพราะไม่ต้องการให้บุตรหลานลำบากเช่นเดียวกับตนเอง (วัลย์ลิกา ลีตรานนท์, 2540, น. 23-24)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัลย์ลิกา ลีตรานนท์. (2540). พฤติกรรมการใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุในชุมชนเมือง กรณีศึกษา : ชุมชนตรอกบ้านพานถม. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Thai PBS News. (12 ตุลาคม 2558). ปิดฉากงานช่างขันเงิน-พานเงินชั้นครู ที่ “ตรอกบ้านพาน” [วีดีโอ]. ยูทูบ. https://www.youtube.com/