ประชากรส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาจากทางภาคเหนือ ประเพณีวัฒนธรรมจึงถอดแบบจากทางภาคเหนือ
ประชากรส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาจากทางภาคเหนือ ประเพณีวัฒนธรรมจึงถอดแบบจากทางภาคเหนือ
บ้านคลองไพร มีนายก้อนแก้ว อินไผ่ ได้นำครอบครัวและญาติพี่น้องอพยพมาจากอำเภอเกาะคาจังหวัดลำปาง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลอง ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และต้นไพร ต่อมาได้มีพี่น้องอพยพตามอีกหลายครอบครัวมีจำนวนครัวเรือนมากขึ้น จำนวน 60 ครัวเรือน และได้แยกหมู่บ้านจากบ้านโป่งน้ำร้อน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในเขตปกครองของอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านคลองไพร หมู่ที่ 4 โดยมีนายแก้วมา อินไผ่ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ซึ่งบ้านคลองไพรมีผู้ใหญ่บ้านที่ผ่านมาจำนวน 8 คน และมีผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คนที่ 9 คือ นายบุญจัน อินไผ่
บ้านคลองไพร หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ราบทั้งหมด 7,930 ไร่ เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิจำนวน 5,790 ไร่ มีเอกสารสิทธิ ประเภท สทก.1 และ ส.ป.ก.4-01
ลักษณะภูมิประเทศสภาพพื้นที่ทั่วไปของหมู่บ้านคลองไพรเป็นที่ราบ มีลักษณะพื้นที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนดำ มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อน และมีคลองน้ำไหลผ่านเรียกว่า คลองไพร โดยมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 13 บ้านมอเจริญ ตำบลนาบ่อคำ
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 6 ท่ากระบาก ตำบลโป่งน้ำร้อน
- ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 19 บ้านดอนพัฒนา ตำบลนาบ่อคำ
- ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ที่ 7 บ้านสมุย ตำบลโป่งน้ำร้อน
บ้านคลองไพร มีประชากรทั้งสิ้น 1,001 คน เป็นชาย 525 คน เป็นหญิง 476 คน จำนวน 252 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน ซึ่งมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่เริ่มตั้งหมู่บ้าน ในปัจจุบันมีประชากรกลุ่มอื่นที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน นับว่าเป็นการเคลื่อนย้ายประชากรผ่านการประกอบอาชีพ และการแต่งงาน เป็นต้น
ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านคลองไพร ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยมีการทำไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด ทำนา เลี้ยงสัตว์ สวนผลไม้ และมีอาชีพอื่นที่ประชาชนในพื้นที่เป็นอาชีพอื่น เช่น การค้าขาย อาชีพรับจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างทำการเกษตร โดยสภาวะทางเศรษฐกิจของชุมชนอยู่ในระดับที่สามารถพึ่งตนเองได้ การประกอบอาชีพหลักคือด้านเกษตร
สำหรับอาชีพรอง มีการจัดตั้งกลุ่มดังนี้ 1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 2) กลุ่มเลี้ยงหมู 3) กลุ่มปลูกมันสำปะหลัง 4) กลุ่มเพราะพันธุ์กล้าไม้ และ 5) กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์
นอกจากนี้ ในหมู่บ้านได้จัดตั้งกองทุนทางการเงินประกอบด้วย 1) กองทุบ ก.ท.บ. 2) กองทุน ก.ข.ค.จ. 3) กองทุนออมทรัพย์ 4) กองทุนแม่ของแผ่นดิน และ 5) กองทุน ก.พ.ส.ม.
ความเป็นมาพิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร
พิธีซ้อนขวัญนี้ยังเป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความใส่ใจและระลึกถึงความรู้สึกของจิตใจของผู้ที่เป็นครอบครัวหรือเครือญาติเดียวกัน อันเป็นการให้กำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไปของคนในครอบครัวและสังคม ซึ่งการซ้อนขวัญนี้เป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงการให้กำลังใจแก่ผู้เจ็บป่วยหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ ของคนไทยทางภาคอีสานและบางกลุ่มของคนไทยเหนือ ซึ่งบ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายทางภาคเหนือที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยภาคเหนือที่อพยพมาจากอำเภอเสริมงามจังหวัดลำปาง จึงได้นำพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้มาใช้ด้วย
นางผัด จันทร์นิ้ว (หล้า) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ 4 บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ได้ให้ข้อมูลว่า พิธีกรรมซ้อนขวัญ เป็นพิธีกรรมที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า โดยจะเป็นพิธีกรรมที่ใช้เฉพาะผู้หญิงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะใช้ในกรณีที่คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เมื่อคนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เช่น รถล้ม รถชน แม่หรือ ย่ายาย จะเป็นผู้ไปซ้อนขวัญ ถ้าหากคนในครอบครัวไม่สามารถทำได้ ก็จะไปบอกให้ผู้หญิงผู้เฒ่าผู้แก่ท่านอื่นที่เคารพและสามารถประกอบพิธีกรรมได้เป็นผู้กระทำให้ แต่ในปัจจุบันพิธีกรรมซ้อนขวัญไม่ค่อยได้มีการปฏิบัติหรือมีให้เห็นบ่อยครั้งนัก เพราะเด็กสาวไม่ค่อยให้ความสำคัญและมองว่าเป็นพิธีกรรมที่งมงาย เนื่องจาก ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการทางวิทยาการทางการแพทย์ เมื่อประประสบอุบัติเหตุก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในท้องถิ่น อีกทั้งผู้ที่รู้จักและผู้ที่จะประกอบพิธีกรรมซ้อนขวัญเหลือน้อยทั้งยังเป็นการประกอบพิธีกรรมของคนไทยกลุ่มไทยเหนือเท่านั้น และเป็นพิธีกรรมที่จะประกอบกันในแต่ละครอบครัวเท่านั้น
ผู้ที่จะประกอบพิธีกรรมนี้ได้ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น จะเป็นแม่ ย่า หรือยายของผู้ประสบอุบัติเหตุก็ได้หากผู้ที่เป็นแม่ ย่าหรือยาย ไม่สามารถประกอบพิธีกรรมได้ก็จะไปเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้หญิงมากระทำให้
การแต่งกายของผู้ประกอบพิธีกรรมนั้นไม่มีการกำหนดจะแต่งกายอย่างไรก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของผู้ประกอบพิธีกรรมแต่ต้องสำรวมและสุภาพ
วันที่ใช้ประกอบพิธีกรรมนั้นจะต้องไม่เป็นวันเสีย (วันที่ต้องห้ามประกอบพิธีกรรมหรือการมงคลของภาคเหนือตามจันทรคติแต่ละเดือนซึ่งกำหนดวันไม่ตรงกันหรือคนไทยทางภาคกลางเรียกว่าวันจมและไม่นิยมกระทำกันในวันพระ) เวลาที่จะใช้ประกอบพิธีกรรมนี้จะประมาณตั้งแต่ 16.00-18.00 น. กล่าวคือ ไม่ร้อนจนเกินไปเมื่อแดดเริ่มอ่อนแสงและไม่เย็นค่ำจนมองอะไรไม่เห็นเนื่องจากจะทำให้ผู้ไปประกอบพิธีกรรมได้รับอุบัติเหตุเองหรือพบกับสัตว์เลื้อยคลานมีพิษจำพวกงูหรือตะขาบ แมงป่องได้
อุปกรณ์ที่ประกอบพิธีกรรม
อุปกรณ์ที่ประกอบพิธีกรรม คือ หิงหรือสวิง กล้วยน้ำว้าสุก 2 ผล ไข่ต้มจะเป็นไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้ 2 ฟอง ข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียวหุงสุก 2 ปั้นพอประมาณ ด้ายสายสิญจน์สำหรับผูกข้อมือตามจำนวนที่จะผูกให้ตัดความยาวพอผู้ข้อมือผู้ประสบอุบัติเหตุได้
ขั้นตอนหรือกระบวนการในการซ้อนขวัญ
ขั้นตอนหรือกระบวนการในการซ้อนขวัญจะกระทำดังนี้ เมื่อคนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่เป็นแม่ ย่าหรือยาย จะประกอบพิธีกรรมซ้อนโดยจะไปกำหนดวันที่ไม่ใช่วันเสียหรือวันจม คือ วันที่ห้ามทำการมงคลในแต่ละเดือนที่กำหนดทางจันคติจะไปยังสถานที่ประสบอุบัติเหตุ ในเวลาประมาณ 16.00-18.00 น. พร้อมด้วยอุปกรณ์คือ หิง (สวิง) พร้อมบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางด้วยวาจา ขออนุญาตว่าจะมาเก็บขวัญหรือซ้อนขวัญของคนที่ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันใดเวลา ใด โดยบอกชื่อ และวันเวลาที่ประสบอุบัติเหตุและจากอุบัติเหตุอะไรอย่างไร จากนั้นจะซ้อนสวิงไปรอบ ๆ บริเวณนั้น พร้อมกับพูดเรียกขวัญในคำพูดดี ๆ เช่น “ขวัญทั้ง 32 ที่ตกอยู่ของ....(ชื่อคนที่ประสบอุบัติเหตุ)....ว่าอยู่ตรงไหนให้กลับเข้ามา เพื่อจะได้อยู่ดีมีสุข อยู่ดีมีแรง หายเจ็บหายไข้ให้มา ” ซึ่งคำพูดที่พูดนั้นจะต้องเป็นคำพูดที่ดีและเป็นศรีเป็นมงคล แล้วแต่ผู้ที่กระทำพิธีจะกล่าว เมื่อซ้อนขวัญได้สักครู่ก็ให้รวบที่ก้นสวิงและจับให้แน่น สมมุติว่าได้ขวัญกลับมาแล้วและเดินทางกลับมาที่บ้านที่ผู้ประสบอุบัติเหตุรออยู่ โดยระหว่างทางกลับมาจะต้องจับก้นสวิงให้แน่นห้ามปล่อยเด็ดขาด เสร็จแล้วก้นสวิงกลับด้านคลอบลง ที่หัวที่ตัวของผู้ประสบอุบัติเหตุให้ขวัญที่อยู่ในสวิงในกลับเข้าร่างของคนนั้น จากนั้นจะให้ผู้ประสบอุบัติเหตุนั่งและให้กางแขนออกกำไข่ต้มข้างละ 1 ฟอง และข้าวเหนียว ข้างละ 1 ปั้น พร้อมกล้วยน้ำว้าอีกข้างละ 1 ผล จากนั่นผู้ที่ไปซ้อนขวัญมาก็จะพูดว่าให้ขวัญกลับมาอยู่กลับเนื้อกลับตัว อยู่ดีมีแรง หรือใช้คำพูดเชิงปลอบใจ ให้หายตกในและใช้ได้สายสิญจน์ผู้ที่ข้อมือ และเมื่อผูกข้อมือเสร็จก็จะให้ทานไข่ต้ม ข้าวเหนียวและกล้วยพอเป็นพิธี ก็เสร็จพิธีกรรมแล้ว
ความเชื่อของชาวบ้านกับพิธีกรรมซ้อนขวัญ
พิธีกรรมซ้อนขวัญนี้ชาวบ้านคลองไพรจะเชื่อว่าหากประสบอุบัติเหตุแล้วไม่ได้ซ้อนขวัญจะทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุนั้นไม่หาย อยู่ไม่สบายตัว นอนหลับไม่สนิทและขวัญผวา จึงได้ประกอบพิธีกรรมนี้ ส่วนความเชื่อที่เกิดจากอุปกรณ์และภาษาที่ใช้ในพิธีกรรมนั้น จะมีความเชื่อเรื่องขวัญทั้ง 32 ของคนโดยจะกล่าวขณะทำการซ้อนขวัญว่า ขวัญทั้ง 32 ที่ตกอยู่ของ....(ชื่อคนที่ประสบอุบัติเหตุ)....ว่าอยู่ตรงไหนให้กลับเข้ามา เพื่อจะได้อยู่ดีมีสุข อยู่ดีมีแรง หายเจ็บหายไข้ ให้มา ...” ซึ่งคำพูดที่พูดนั้นจะต้องเป็นคำพูดที่ดีและเป็นศรีเป็นมงคล สะท้อนให้เห็นว่าการกระทำการสิ่งใดที่เป็นสิ่งดีสิ่งมงคลจะต้องใช้คำพูดที่ดีและเป็นมงคลจะทำให้การงานนั้นประสบความสำเร็จ ดังที่คนโบราณกล่าวว่า เมื่อเข้าป่าอย่าพูดถึงเสือ ซึ่งเป็นข้อห้ามหรือการสั่งสอนไปด้วยเพราะจะไม่เป็นสิ่งดีอันเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของคนที่จะทำการสิ่งนั้น
การที่ใช้กล้วยน้ำว้าให้ทานหลังจากประกอบพิธีกรรม เพราะคนสมัยโบราณใช้กล้วยน้ำว้าให้เด็กทานในขณะยังเล็กโดยจะใช้กล้วยน้ำว้าสุกเผาและบดให้เด็กทานเป็นการเลี้ยงเด็กทารกสมัยก่อนเมื่อทารกนั้นเริ่มจะทิ้งนมแล้ว ขวัญที่เข้ามาก็เป็นเหมือนเด็กที่ต้องเลี้ยงดูและยังเชื่ออีกว่าการใช้กล้วยจะทำให้อะไรง่ายเหมือนกับการกินกล้วยที่กลืนง่าย จึงเห็นได้ว่ากล้วยน้ำว้ามีความเกี่ยวพันกับคนไทยซึ่งเราจะสามารถพบเห็นได้ทั้งในการดำรงชีวิตและการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
ข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียว พิธีกรรมซ้อนขวัญนี้เป็นพิธีกรรมของคนทางภาคเหนือจึง ซึ่งคนภาคเหนือนั้นรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก จึงได้นำมาใช้เช่นกันเหมือนกับ การเลี้ยงขวัญที่เข้ามาอยู่ในตัวผู้ประสบอุบติเหตุเช่นกัน
ไข่ต้ม การให้ทานไข่ต้มจะถือว่าได้รับสิ่งมงคลเพราะไข่ต้มจะเป็นสีขาวด้านนอกและยังมีลักษณะผิวเกลี้ยงลื่นเป็นมันจึงจะเป็นสัญลักษณ์ว่าผู้ที่ได้รับการประกอบพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้แล้วจะคลาดแคล้วจากสิ่งไม่มีดีและไม่เกิดอุบัติเหตุอีก อีกทั้งผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุมักจะเกิดแผล จึงให้กินไข่เผื่อจะได้เป็นการบำรุงจะได้หายไว ๆ
สายสิญจน์ ที่ใช้ผูกข้อมือจะเป็นการให้ขวัญนั้นอยู่กับเนื้อกลับตัวและเป็นสิ่งที่ดีเหมือนเป็นเครื่องรางที่จะช่วยคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุ นอกจากนี้ผู้ให้ข้อมูลยังกล่าวว่าในขณะที่มีการผูกสายสิญจน์จะมีการกล่าวคำที่เป็นมงคลจากญาติพี่น้องด้วยจึงเป็นเหมือนการให้พรและลงคาถาอาคมไปด้วย
สรุป พิธีกรรมซ้อนขวัญบ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายทางภาคเหนือที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยภาคเหนือที่อพยพมาจากอำเภอเสริมงามจังหวัดลำปาง จึงได้นำพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้มาใช้ที่บ้านคลองไพรด้วยซึ่งพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้เป็นพิธีกรรมที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า โดยจะเป็นพิธีกรรมที่ใช้เฉพาะผู้หญิงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะใช้ในกรณีที่คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เมื่อคนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เช่น รถล้ม รถชน แม่หรือ ย่ายาย จะเป็นผู้ไปซ้อนขวัญ ถ้าหากคนในครอบครัวไม่สามารถทำได้ ก็จะให้ผู้หญิงผู้เฒ่าผู้แก่ท่านอื่นที่เคารพและสามารถประกอบพิธีกรรมได้เป็นผู้กระทำให้ ทั้งนี้เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุและคนใคนในครอบครัวผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ประเพณีพิธีกรรมซ้อนขวัญจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวบ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชรที่ควรอนุรักษ์ สืบสานให้คงอยู่สืบไป
1.นางผัด จันทร์นิ้ว (หล้า) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ 4 บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ผู้ให้ข้อมูลพิธีกรรมซ้อนขวัญ
บ้านคลองไพรมีทุนชุมชนด้านทุนทางการเงิน ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรดิน มีลักษณะดินในหมู่บ้าน ส่วนมากเป้นดินร่วน ซึ่งมีความอดมสมบูรณ์เหมาะสมแก่การทำการเกษตาม
ทรัพยากรน้ำ บ้านคลองไพร อาศัยแหล่งน้ำจากคลองสวนหมาก ที่ไหลผ่านทำให้เหมาะแก่การประกอบอาชีพทำนาทำไร่
ทรัพยากรป่าไม้ ในเขตพื้นที่หมู่บ้านมีป่าชุมชน จำนวน 1 แห่ง
กองทุนทางสังคม เช่น กองทุนกลุ่มอาชีพ และกองทุนทางการเงิน
ทุนทางสังคมด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม
ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชุมชนที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ปฏิบัติกิจกรรมในวีนสำคัญทางศาสนาและกิจกรรมที่สำคัญของหมู่บ้านคือ ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เป็นประเพณีที่จัดกิจกรรมขึ้นในช่วงสงกรานต์ โดยชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบารที่วัดในช่วงเช้า ในช่วงบ่ายะจดพิธีสรงน้ำพระ และเชิญูผู้สูงอายุในหมู่บ้านเข้าร่วมพิธีรดน้ำดำหัวขอพร นำของกินของใช้ใส่ไว้ในชลอมแล้วนำไปทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไป
ประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่การทำบุญขึ้นปีใหม่ วันสำคัญทางศาสนา ประเพณีงานลอยกระทง
เนื่องจากประชากรที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในยุคแรกมาจากจังหวัดทางภาคเหนือ ภาษาที่ใช้สื่อสารกันในหมู่บ้านเป็นภาษาเหนือ หากแต่การติดต่อสื่อกับบุคคลภายนอกชุมชนใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลัก
สถานการณ์ในชุมชนด้วยบริบทของปัจจัยภายนอกที่เข้ามาสู่ชุมชนด้านเศรษฐกิจ การค้าขาย การเดินทางที่สะดวก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ส่งผลให้แนวคิด และการปฏิบัติของประชากรในชุมชนเป็นประเด็นท้าทายกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติมา
- บ้านคลองไพรมีสถานสำคัญในหมู่บ้านประกอบด้วย วัดคลองไพร โรงเรียนบ้านคลองไพร
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขตำบลคลองไพร และศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมงานฝีมือ
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน. (มปป). สภาพทั่วไป จำนวนประชากรในพื้นที่. สืบค้นจาก https://www.pnrn.go.th/
แผนชุมชนบ้านคลองไพร. (2564). แผนชุมชนบ้านคลองไพร.
ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). พิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร. สืบค้น 18 กรกฎาคม 2566, จาก https://arit.kpru.ac.th/