ประเพณีแห่ดอกไม้
เดิมเรียกบ้านคลองยางเตี้ย แต่เรียกกันจนเพี้ยนเป็น "คลองอีเตี้ย" ต่อมาคนในชุมชนเห็นว่าไม่เหมาะสมจึงเปลี่ยนเป็น "บ้านคลองสมบูรณ์"
ประเพณีแห่ดอกไม้
บ้านคลองสมบูรณ์ หมู่ที่ 5 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร แต่เดิมนั้นอยู่ในการปกครองของหมู่ที่ 4 บ้านคลองไพร เมื่อปี 2504 ต่อมาเมื่อปี 2516 แยกหมู่บ้านเป็นหมู่ที่ 5 บ้านคลองสมบูรณ์ โดยราษฎรอพยพมาจากจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก นครราชสีมา ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ รวมกันเป็นชุมชน มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อนายเชียร แอ้กออน ด้วยลักษณะของพื้นที่ มีต้นยางเป็นจำนวนมากและป่าไม้เบญจพรรณ เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า บ้านคลองยางเตี้ย แต่เรียกกันจนเพี้ยนเป็น บ้านคลองอีเตี้ย ต่อมาชาวบ้านเห็นว่า ชื่อหมู่บ้านไม่เหมาะสมจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ บ้านคลองสมบูรณ์
ประชากรที่อพยพมาอยู่ที่บ้านคลองสมบูรณ์ มาจากหลากหลายพื้นที่หลายจังหวัด จึงมีวัฒนธรรมแบบผสมผสานวัฒนธรรม และบริบทของพื้นที่มีคลองน้ำไหลผ่าน ซึ่งหลายหมู่บ้านในตำบลโป่งน้ำร้อนมีคลองน้ำไหลผ่านหลายหมู่บ้านจึงเป็นที่มาของชื่อหลายหมู่บ้านมีคำว่า คลอง เป็นชื่อหมู่บ้านด้วย
ที่ตั้งและอาณาเขต มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ ดังนี้บ้านคลองสมบูรณ์ หมู่ที่ 5 ระยะทางห่างจากอำเภอคลองลานไปทางทิศเหนือประมาณ 47 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด 5,617 ไร่ ทำนา 1,500 ไร่ พื้นที่ทำไร่ 4,000 ไร่ สวนผลไม้ 92 ไร่ ที่อยู่อาศัย 25 ไร่
- ทิศเหนือ ติดต่อ หมู่ที่ 12 บ้านหนองนกกะทา ตำบลนาบ่อคำ
- ทิศใต้ ติดต่อ หมู่ที่ 7 บ้านคลองสมุย ตำบลโป่งน้ำร้อน
- ทิศตะวันออก ติดต่อ หมู่ที่ 4 บ้านคลองไพร ตำบลโป่งน้ำร้อน
- ทิศตะวันตก ติดต่อ หมู่ที่ 3 บ้านคลองมดแดง ตำบลโป่งน้ำร้อน
ลักษณะภูมิประเทศ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของหมู่บ้านคลองสมบูรณ์เป็นที่ราบ มีลักษณะพื้นที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนดำ มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อน
บ้านคลองสมบูรณ์ มีราษฎรอาศัยอยู่ทั้งสิ้น จำนวน 211 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 575 คน เป็นชาย 271 คน เป็นหญิง 304 คน
สภาพทางเศรษฐกิจ ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านคลองสมบูรณ์ ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยมีการทำไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด ทำนา เลี้ยงสัตว์ สวนผลไม้ และมีอาชีพอื่นที่ประชาชนในพื้นที่ยึดปฏิบัติเป็นอาชีพอีก เช่น การค้าขาย อาชีพรับจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างทำการเกษตร โดยสภาวะทางเศรษฐกิจของชุมชนอยู่ในระดับที่สามารถพึ่งตนเองได้
กลุ่มอาชีพ ในชุมชนประกอบด้วย
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
- กลุ่ม กข.คจ.
- กลุ่มทำแหนม
- กลุ่มสงเคราะห์ราษฎร
- กลุ่มเกษตรกร
- กลุ่มข้าวชุมชน
ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชุมชนที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา การปฏิบัติกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาและกิจกรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน
ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เป็นประเพณีที่จัดกิจกรรมขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ โดยชาวบ้านจะมาบุญตักบาตรที่วัดในช่วงเช้า ในช่วงบ่ายจะจัดพิธีสรงน้ำพระ และเชิญผู้สูงอายุในหมู่บ้านร่วมพิธีรดน้ำดำหัว ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลานในวันปีใหม่ไทย
- ประเพณีลอยกระทง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี
- ประเพณีแห่เทียนพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
- ประเพณีทำบุญกลางบ้าน
- ทรัพยากรดิน ลักษณะดินภายในหมู่บ้าน ส่วนมากเป็นดินร่วน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม
- ทรัพยากรน้ำ บ้านคลองสมบูรณ์จะอาศัยแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองมดแดงและฝายเก็บน้ำคลองไพรทำให้เหมาะแก่การประกอบอาชีพทำนา ทำไร่
- ทรัพยากรป่าไม้ ในเขตพื้นที่ในหมู่บ้านมีป่าชุมชนจำนวน 1 แห่ง
เนื่องจากประชากรได้อพยพมาจากหลายจังหวัดภาษาที่ใช้มีทั้งภาษาไทยภาคกลาง ภาษาเหนือ และภาษาอีสาน
ด้วยสถานการณ์ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยนอกชุมชน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ การรับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างเพื่อความเจริญส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน โดยมีวิสัยทัศน์ของหมู่บ้าน“พัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจพอเพียง”
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบด้วย การส่งเสริมการดำเนินชีวิต ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอาชีพ สืบสานภูมิปัญหาท้องถิ่น และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
สำหรับค่านิยมของหมู่บ้านคือ ดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ขยัน ประหยัด อดออม พึ่งตนเอง ก่อนคิดพึ่งคนอื่น มีความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ลด ละ เลิก อบายมุข
บ้านคลองสมบูรณ์ มีโรงเรียนอยู่ในเขตหมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่อยู่ในเขตและในตัวเมือง ประชาชนส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับ
- สถานที่สำคัญของหมู่บ้าน
- วัดบ้านคลองสมบูรณ์ 1 แห่ง
- โรงเรียนบ้านคลองสมบูรณ์
- อาคารอเนกประสงค์ 1 แห่ง
แผนชุมชนนบ้านคลองสมบูรณ์. (2565). แผนชุมชนบ้านคลองสมบูรณ์.
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน. (มปป). สภาพทั่วไป จำนวนประชากรในพื้นที่. สืบค้นจาก https://www.pnrn.go.th/