วัดแก้วมณีเจริญธรรม เป็นจุดศูนย์กลางชุมชนในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ในอดีตมีต้นกระบากใหญ่อยู่บริเวณท่าน้ำริมคลองสวนหมาก
วัดแก้วมณีเจริญธรรม เป็นจุดศูนย์กลางชุมชนในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ประวัติหมู่บ้านท่ากะบาก จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ พระสงฆ์ และประชาชนที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน ตั้งแต่ยังเป็นป่า มีต้นไม้ใหญ่หลากหลาย แต่มีจุดสังเกตว่า มีต้นกระบากใหญ่อยู่ตรงท่าน้ำคลองสวนหมาก ซึ่งในปัจจุบันเป็นถนนลาดยางและมีสะพานข้ามคลองสวนหมาก เส้นทางบ้านท่ากะบาก ตำบลโป่งน้ำร้อน -บ้านหนองปรือ ตำบลสักงาม การสำรวจพื้นที่บริเวณต้นกระบากใหญ่นั้น ไม่มีต้นกระบากเหลืออยู่แล้ว บริเวณสะพานคอนกรีตข้ามคลองสวนหมากบ้านหนองปรือ-ท่ากะบาก
ในช่วงแรกของการตั้งหมู่บ้านนั้น ครอบครัวแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่คือ ครอบครัวของ นายบุญมา นางจุมพล กรรณิกา นายแอด นางแสวง กุนพล นายไหว นางทองคำ จันทร์ชะนะ เดิมบ้านท่ากะบาก หมู่ที่ 6 อยู่ในเขตปกครองหมู่ที่ 12 ตำบล โป่งน้ำร้อน ต่อมามีการแยก ตำบลสักงาม บ้านท่ากะบาก จึงเป็นหมู่ที่ 6 ตำบลโป่งน้ำร้อน ผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายประเทือง มหาวรรณ์
ที่ตั้งและอาณาเขต บ้านท่ากะบาก หมู่ที่ 6 ระยะห่างจากอำเภอคลองลานไปทางทิศเหนือประมาณ 23 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด 4,375 ไร่ เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์จำนวน 1,300 ไร่ มีเอกสารสิทธิ์ประเภท สทก. สปก.4-01 เป็นที่ทำการเกษตรโดยทำนา ทำไร่ และทำสวนผลไม้ พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรกรรมมันสำปะหลังมากที่สุด
อาณาเขตติดต่อกับพื้นที่
- ทิศเหนือ ติดกับหมู่ที่ 4 บ้านคลองไพร ตำบลโป่งน้ำร้อน
- ทิศใต้ ติดกับหมู่ที่ 1 บ้านโป่งน้ำร้อน ตำบลโป่งน้ำร้อน
- ทิศตะวันออก ติดกับหมู่ที่ 9 บ้านหนองปรือ ตำบลสักงาม
- ทิศตะวันตก ติดกับหมู่ที่ 7 บ้านคลองสมุย ตำบลโป่งน้ำร้อน
ลักษณะภูมิประเทศ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของหมู่บ้านท่ากะบาก เป็นที่ราบ มีลักษณะพื้นดิน ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนดำปนทราย มีภูมิอากาศค่อนข้างร้อน
ประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่ากะบาก เป็นเพศชาย จำนวน 309 คน เป็นเพศหญิงจำนวน 284 คน รวมทั้งสิ้น 593 คน จำนวนครัวเรือน 257 ครัวเรือน
ด้วยประชากรที่อพยพมาจากหลายจังหวัดของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคนไทยภาคกลาง โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัยของตนเอง มีการปกครองแบบคุ้มบ้าน โดยมีกลุ่มบ้านท่ากะบาก และกลุ่มบ้านคลองเตย มีลักษณะเหมือนบ้านเหนือบ้านใต้ โดยมีวัดเป็นจุดศูนย์กลางในการทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน
วิถีชีวิตของประชากรบ้านท่ากะบาก หรือเรียกว่า ท่ากะบาก คลองเตย โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำเกษตรกรรม ทำนา และทำไร่มันสำปะหลัง และส่วนที่อยู่ริมคลองสวนหมากจะอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ มีการทำสวนผลไม้บ้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่เนินสูงอาศัยน้ำจากน้ำฝนเป็นหลักในการทำเกษตรกรรม การเพาะปลูกตามฤดูกาล ตามสภาพภูมิอากาศและฝนตกตามฤดูกาล
เนื่องจากวัดมีบริเวณกว้างเป็นจุดศูนย์กลางในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนอย่างต่อเนื่อง สถานการปกครองโดยมีผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อันกล่าวได้ว่าเป็นทุนทางสังคมที่ส่งเสริมการดำเนินชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านท่ากะบาก-คลองเตย
เนื่องจากประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่ากะบาก-คลองเตย มาจากหลากหลายที่อยู่ ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยภาคกลางเป็นหลักในการติดต่อสื่อสารกันในหมู่บ้าน
ด้วยบริบทของพื้นที่หมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินและบางส่วนที่ตั้งอยู่ริมคลองสวนหมาก การประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร เทคโนโลยีการสื่อสาร การคมนาคมที่สะดวกมากยิ่งขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตของประชากรในหมู่บ้าน การมีวัดเป็นจุดศูนย์ร่วมในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีและการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีดั่งเดิมให้คงอยู่สืบไป
แผนชุมชนบ้านท่ากะบาก. (2565). แผนชุมชนบ้านท่ากะบาก.
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน. (มปป). สภาพทั่วไป จำนวนประชากรในพื้นที่. สืบค้นจาก https://www.pnrn.go.th/