Advance search

นกกระเรียนพันธ์ุไทย สัตว์ป่าสงวนที่เคยสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยจนต้องมีโครงการนำนกกระเรียนคืนนถิ่น มิติความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ สู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศชุมชนบ้านสวายสอ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

หมู่ที่ 7
สวายสอ
สะแกโพรง
เมืองบุรีรัมย์
บุรีรัมย์
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
28 พ.ย. 2023
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
28 พ.ย. 2023
บ้านสวายสอ

พื้นที่บริเวณชุมชนบ้านสวายสอ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่ในบริเวณนั้น เมื่อต้นมะม่วงออกผลมาจะมีผลเป็นสีขาว ซึ่งในภาษาถิ่นเขมรเรียกว่า "สะวาย ซอ" โดยคำว่า "สะวาย" แปลว่า มะม่วง คำว่า "ซอ" หรือ "สอ" แปลว่า ขาว ดั้งนั้นหมู่บ้านสวายสอ จึงหมายถึงหมู่บ้านที่มีต้นมะม่วงขาว


นกกระเรียนพันธ์ุไทย สัตว์ป่าสงวนที่เคยสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยจนต้องมีโครงการนำนกกระเรียนคืนนถิ่น มิติความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ สู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศชุมชนบ้านสวายสอ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

สวายสอ
หมู่ที่ 7
สะแกโพรง
เมืองบุรีรัมย์
บุรีรัมย์
31000
14.89417489491578
102.9967902301635
องค์การบริหารส่วนตำบลสะแกโพรง

บ้านสวายสอก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2462 หรือเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว โดยมีผู้คนอพยพมาตั้งรกรากลงหลักปักฐานในบริเวณนี้อย่างหลากหลาย ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว/อีสาน และกลุ่มชาติพันธุ์เขมร เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์กรทางธรรมชาติ และมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และในบริเวณนี้ยังมีต้นมะม่วง ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นที่พบได้โดยทั่วไป เมื่อออกผลมามะม่วงจะมีผลเป็นสีขาว ซึ่งภาษาถิ่นเขมรเรียกว่า "สะวายซอ" ซึ่ง สะวาย หมายถึง มะม่วง และ ซอ หรือ สอ หมายถึง ขาว ดั้งนั้นคำว่า "สวายสอ" จึงหมายถึง มะม่วงขาว และเป็นที่มาของชื่อชุมชนจนถึงปัจจุบัน

บ้านสวายสอ หมู่ที่ 7 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีพื้นที่ทั้งหมด 6,624 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยจำนวน 1,200 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 5,400 ไร่ พื้นที่สาธารณะ 24 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านเกษตรบูรณะ หมู่ที่ 9 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองปรือ-โคกเพชร หมู่ที่ 18 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทิศตะวันออก ติดกับ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านโคกสะอาด หมู่ที่ 8,23 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บ้านสวายสอ หมู่ที่ 7 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีประชากรทั้งหมด 146 ครัวเรือน แบ่งเป็นประชากรชาย จำนวน 364 คน และประชากรหญิง จำนวน 355 คน รวมประชากรทั้งหมด 719 คน อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และพึ่งพาอาศัยกันในชุมชนตามวิถีท้องถิ่นอีสาน

ขแมร์ลือ

บ้านสวายสอ หมู่ที่ 7 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีโครงสร้างทางสังคมที่เข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในชุมชนเป็นศูนย์เรียนรู้และเครือข่ายชุมชน ด้านการเกษตร กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ข้าว เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) วิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ การแปรรูปข้าวอินทรีย์ด้วยการสีเป็นข้าวสารคัดพิเศษ บรรจุภัณฑ์ด้วยถุงสุญญากาศ ตั้งชื่อแบรนด์ ข้าวสารัช หรือ ข้าวหอมนกกระเรียน โดยจำหน่ายข้าวหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวหอมมะลินิล (ทับทิมชุมแพ) และข้าวหอมมะลิแดง (โกเมน)

  • มกราคม : ประเพณีทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่
  • กุมภาพันธ์ : ประเพณีทำขวัญข้าว/วันมาฆบูชา
  • มีนาคม : ประเพณีบุญข้าวจี่
  • เมษายน-พฤษภาคม : ประเพณีสงกรานต์/ทำบุญกลางบ้าน/ประเพณีแห่ต้นข้าวพันก้อน
  • มิถุนายน-กรกฎาคม : วันวิสาขบูชา/บรรพชาอุปสมบท/วันเข้าพรรษา-ถวายผ้าอาบน้ำฝน
  • กันยายน : ประเพณีงานวันสารท
  • ตุลาคม-พฤศจิกายน : วันออกพรรษา/ตักบาตรเทโว/ถวายผ้าจำนำพรรษา/บุญกฐิน/ลอยกระทง

1.นายทองพูน อุ่นจิตต์

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการปลูกข้าว เป็นเกษตรกรต้นแบบบด้านการปลูกข้าว มีการผลิตข้าวตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งการปลูกข้าวและแปรรูปข้าว และมีการจัดการด้านการตลาดตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับบนในชื่อสินค้า ข้าวหอมนกกระเรียน หรือ ข้าวสารัช ทั้งนี้สมาชิกยังได้รับมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) และเกษตรอินทรีย์

ผ้าทอพื้นบ้าน "ผ้าก่วย" เป็นผ้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านสวายสอ มักสวมใส่ในงานมงคล ประเพณีสำคัญในชุมชน การแสดงพื้นบ้าน และการต้อนรับผู้มาเยือน คำว่า "ก่วย" หมายถึง ไขว้กันไปมา ผืนผ้ามีสีกรมท่า/น้ำเงินเข้ม ตีนผ้าเป็นแถบสีแดง ขาว ชมพู เหลือง สลับกันไป

  • สีกรมท่า หมายถึง ความอดทนของชาวนา
  • สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
  • สีชมพู หมายถึง ความอ่อนหวาน
  • สีเหลือง หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์/รวงข้าว
  • สีแดง หมายถึง ความเข้มแข็ง/นกกระเรียนพันธุ์ไทย

การทอเสื่อกก ชุมชนสวายสอมักใช้เวลาว่างหลังจากทำเกษตรกรรมในการทอเสื่อกก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนในการสร้างประโยชน์จากวัดถุดิบในท้องถิ่น โดยนำต้นกกมาแปรรูปให้เป็นเส้นสำหรับการทอเป็นผืนเพื่อประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ และยังมีการย้อมสีต้นกกเพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงามอีกด้วย

ประเพณีแห่ต้นข้าวพันก้อน ประเพณีท้องถิ่นที่จะทำในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ ประมาณช่วงเดือน 4 ถึงเดือน 6 ปฏิทินตามจันทรคติ โดยการนำข้าวเหนียวมาปั้นให้ติดกับก้านมะพร้าว ซึ่งผู้คนในชุมชนจะมาช่วยกันทำข้าวพันก้อน เป็นประเพณีที่สร้างความรักสามัคคีในชุมชน มีการฟ้อนรำเป็นขบวนแห่ไปในชุมชน โดยมีความเชื่อว่าการทำบุญข้าวพันก้อน จะทำให้การทำนาประสบผลสำเร็จ ต้นกล้างอกงาม ออกรวงมีเมล็ดเต็มรวงข้าว ได้ผลผลิตที่ดี เหมือนดั่งต้นข้าวพันก้อนที่มีข้าวอยู่เต็มต้น

ทรัพยากรน้ำ

  • อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ใกล้กับชุมชนบ้านสวายสอ สร้างระหว่างปี พ.ศ. 2494-2498 เป็นที่ลุ่มเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินรับน้ำ โดยรับน้ำจากพื้นที่ข้างเคียงไหลลงสู่แม่นน้ำมูลที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ 
  • ห้วยแสงใต้ สภาพเป็นแหล่งน้ำที่มีความตื้นเขินเป็นบางช่วง มีน้ำขังตลอดทั้งปี ใช้ประโยชน์หลักจากแหล่งน้ำสำหรับการทำเกษตรกรรม
  • แหล่งน้ำสาธารณะบ้านสวายสอ มีขนาด 8 ไร่ ลึก 3 เมตร มีน้ำขังตลอดทั้งปี ใช้เพื่อการผลิตประปาผิวดินชุมชน

ทรัพยากรป่าไม้ ต้นไม้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่วัดสวายสอ โรงเรียนบ้านสวายสอ และรอบสระน้ำบ้านสวายสอ และในพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบชุมชน โดยพบว่ามีทั้งไม้ปลูกเพิ่มและไม้พื้นถิ่น เช่น มะค่าโม่ง ประดู่ สัก ยางนา คูน ฯลฯ

บ้านสวายสอ หมู่ที่ 7 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์มีการใช้ภาษาในการสื่อสารที่หลากหลาย ทั้งภาษาถิ่นอีสาน ภาษาเขมร ภาษาส่วย และภาษาไทยมาตรฐาน


บ้านสวายสอ หมู่ที่ 7 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่แนวบริเวณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่มีเนื้อที่ 3,876 ไร่ และพื้นที่เขตกันชน 8,805.772 ไร่ รวมขอบเขตพื้นที่วางแผน 12,681.772 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลเสม็ด ตำบลบ้านบัว และตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยแห่งแรกของประเทศไทย ในโครงการ "นกกระเรียนพันธุ์ไทย คืนสู่ฟ้าอีสานใต้ พื้นที่ชุ่มน้ำบุรีรัมย์" มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพตามฤดูกาลอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กว่า 170 ชนิด 


อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก

นกกระเรียนพันธุ์ไทย 

นกกระเรียนพันธุ์ไทย/Eastern Sarus Crane เป็นนกขนาดใหญ่มีลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวเป็นหนังเปลือยสีแดงไม่มีขน ตรงกระหม่อมเป็นสีเทาหรือเขียว มีคอยาว เวลาบินคอจะเหยียดตรง ไม่เหมือนกับนกกระสาซึ่งจะงอพับไปด้านหลัง ขนปลายปีกและขนคลุมขนปลายปีกมีสีดำ ขนคลุมขนปีกด้านล่างสีเทา ขนโคนปีกสีขาว ขายาวสีชมพู มีแผ่นขนหูสีเทา ม่านตาสีส้มแดง ปากแหลมสีดำแกมเทา ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีคล้ายกัน เพศผู้ตัวหญ่กว่าเพศเมียเล็กน้อย มักอาศัยอยู่ในพท้นที่ชุ่มน้ำ หากินในน้ำตื้น กินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น ตั้กแตน ปลา กบ พืชน้ำ เมล็ดพืช ฯลฯ

การทำนาอินทรีย์ของชุมชนสวายสอตอบโจทย์ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ กุ้ง หอย ปู ปลา มีมากขึ้น ปี 2554 ชาวบ้านพบตัวสูงใหญ่เท่าคน ชาวบ้านเรียกว่า "นกเขียน" มาลงกินกุ้ง หอย ปู ปลา กินข้าวบ้าง ทราบว่าองค์การสวนสัตว์มาทดลองปล่อยเมื่อปี 2554 เมื่อชาวบ้านไปออกบูธสินค้าในตลาดเซราะกราว ใช้แบรนด์ "ข้าวอุ่นจิตต์" องค์การสวนสัตว์ได้พบและเข้ามาทำข้าวสวายสอกับนกกระเรียน มีงานวิจัยโครงการ "นกกระเรียนคืนถิ่น" พื้นที่ที่สามารถปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ทั่วประเทศพบว่ามี 6 แหล่ง ซึ่งลำดับที่ 1 คือที่จังวัดบุรีรัมย์ เพราะมีแหล่งถิ่นเก่า มีอ่างเก็บน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนไม่มีการล่า ไม่มีการใช้สารเคมีอย่างเป็นรูปธรรม

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์. (2566). แนะนำบ้านสวายสอ ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ชุมชนนำร่องภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.mnre.go.th/buriram/