
ชุมชนชาติพันธุ์ม้ง มีประเพณีวัฒนธรรมประจำปีเป็นเอกลักษณ์
ชุมชนชาติพันธุ์ม้ง มีประเพณีวัฒนธรรมประจำปีเป็นเอกลักษณ์
ตามประวัติเล่าว่า บรรพบุรุษชาวเขาเผ่าม้งได้พาลูกหลานอพยพมาจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพะเยาลงหลักปักฐานท่ามกลางหุบเขาที่บ้านใหม่ชุมนุมไทรแต่แต่ปี พ.ศ. 2462
บ้านใหม่ชุมชนไทร (ชื่อเดิม บ้านป่าคา หรือบ้านผู้ใหญ่ยี) เป็นหมู่เก่าแก่ที่บรรพบุรุษชาวม้งได้พาลูกหลานมาตั้งรกราก โดยชื่อหมู่บ้านเดิมนี้เป็นช่อของผู้นำชาวม้งที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านตามใบแต่งตั้ง (สน.13) เลขที่ 10 /2483 หมายตราตั้งลงวันที่ 22 ตุลาคม 2482 โดยหลวงปริวรรต วรวิจิตร ข้าหลวงประจำจังหวัดกำแพงเพชร
เดิมผู้ใหญ่ยี หมู่บ้านป่าคา หรือหมู่บ้านใหม่ชุมชนไทร ปัจจุบันคือหมู่บ้านเดียวกัน ประมาณปี พ.ศ. 2525 ทางราชการโดยกรมประชาสงเคราะห์ได้ไปตั้งหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาขึ้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ของหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านผู้ใหญ่ยี 3 เป็นหมู่บ้านป่าคา โดยเดิมที่ตั้งอยู่ที่บ้านผู้ใหญ่ยี 1 และผู้ใหญ่ยี 2 ตามลำดับ แต่เนื่องจากมีโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ไข้ทรพิษ ไข้มาลาเลีย ระบาดรุนแรง จึงเป็นเหตุให้มีการย้ายหมู่บ้านไปอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเดิมนัก
เมื่อปี พ.ศ. 2462 มีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ 150 หลังคาเรือน ในช่วงนั้นมีราษฎรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดส่วนมากเป็นชาวเขาเผ่าม้งทั้งหมด ต่อมาประมาณ ปี พ.ศ. 2482 ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายยี ยอดคีรี เป็นผู้ใหญ่บ้าน คอยดูแลความทุกข์สุขของราษฎรตลอดมา ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งประมาณปี พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ในช่วงสงครามนั้น ผู้ใหญ่ยี และชาวบ้านได้รวบรวมเสบียงอาหารลงไปช่วยทางราชการและได้เกณฑ์ชาวบ้านไปขุดเส้นทางสายตาก-แม่สอด โดยได้รับคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร
เมื่อปี พ.ศ. 2510 เป็นช่วงที่มีการแทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้านชาวเขา ชาวบ้านในหมู่บ้านของผู้ใหญ่ยีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และปี พ.ศ. 2511 ผู้ใหญ่ยีได้พาลูกบ้านอพยพมาพบผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ขณะนั้นทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งให้ผู้ใหญ่ยีพาลูกบ้านกลับไปอยู่ที่ชุมชนเดิม เพราะไม่มีพื้นที่รองรับ พร้อมทั้งจะจัดหน่วยป้องกันขึ้นไปดูแลหมู่บ้านร่วมกับชาวบ้าน ในที่สุดผู้ใหญ่ยีได้พาลูกบ้านส่วนหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยที่บ้านชุมชนไทร หมู่ที่ 8 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร และได้พาชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งไปอยู่ที่ถิ่นฐานเดิมคือบ้านใหม่ชุมชนไทร
ประชากร จำนวนครัวเรือนบ้านชุมชนไทร หรือป่าคา จำนวน 301 ครัวเรือน ประชากร จำนวน 1,437 คน ชาย 735 คน หญิง 702 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ม้ง
ม้งประชากรส่วนใหญ่ได้ประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสานทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ผักกาดขาวใหญ่ คะน้าฮ่องเต้ ซาโยเต้ สตอเบอรี่ เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค โดยซาโยเต้ อะโวกาโด แมคคาเดเมีย กาแฟ มะข้ามป้อม แซมด้วยสตอว์เบอร์รี พริก มะเขือ มันม่วง มันเหลือง มันไข่ เป็นมันพันธุ์ญี่ปุ่น ด้วยสภาพภูมิอากาศเย็นชาวบ้านจึงมีการปลูกพืชแบบผสมผสาน ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวบ้านด้วย
ด้วยพื้นที่ตั้งของหมู่บ้าน สภาพภูมิอากาศ และประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ม้ง วัฒนธรรมการแต่งกายและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ยังคงได้รับการสืบทอดกันมา ซึ่งในหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ บ้านป่าคา อันเป็นสถานีที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการประกอบอาชีพโดยเฉพาะการเกษตรที่มีการปลูกพืชหลากหลายชนิดและทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีทุนทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ม้ง และงานปีใหม่ม้งบ้านป่าคา มีการละเล่นลูกช่วง ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในฤดูหนาว
มีภาษาเป็นภาษาถิ่นของตนเอง บางคนพูดได้หลายภาษา เช่น ภาษาม้ง ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของบ้านใหม่ชุมนุมไทร (บ้านป่าคา) โดยสภาพทั่วไปการเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านใหม่ชุมนุมไทรนั้น การเดินทางต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางหลายชั่วโมง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องถนนทางเข้า แต่เป็นมนต์เสน่ห์ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสธรรมชาติระหว่างการเดินทางเข้าหมู่บ้านได้เป็นอย่าง ปัจจัยอย่างแรกคือถนนหนทาง และเครื่องมือสื่อสารใช้ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกชุมชน ทั้งการท่องเที่ยว การติดต่อซื้อขายผลิตผลทางการเกษตรมีความสะดวกมากกว่าแต่ก่อน ทำให้การสื่อสารกับบุคคลภายนอกสะดวกมากยิ่งขึ้น
การสื่อสารเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมคือพฤติกรรมของประชากรในหมู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียนรู้วัฒนธรรมจากภายนอก และการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติพันธุ์ม้งไว้ เป็นธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยว ของที่ระลึก การแต่งกาย ที่พักแบบโฮมสเตย์ ยังคงมีมนต์เสน่ห์กับผู้มาเยือนและสร้างความประทับใจ
- น้ำตกเต่าดำ เป็นหนึ่งในน้ำตกที่สวยของจังหวัดกำแพงเพชร น้ำตกแห่งนี้ตั้งอยู่ในป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์โอบล้อมด้วยธรรมชาติอันสวยงาม มีน้ำตกหลังสายน้ำตลอดปีไม่มีวันเหือดแห้ง เพราะมีแหล่งกำเนิดจากตาน้ำอยู่ในป่าลึก น้ำตกเต่าดำเป็นน้ำตกต้นน้ำของน้ำตกคลองลาน การเดินทางมายังน้ำตกเต่าดำมีเพียงการเดินทางออกมาจากหมู่บ้านระยะทาง 6 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำงานน้ำตกเต่าดำ หลังจากนั้นเดินลงบันไดอีก 600 ขั้น ก็จะถึงด้านล่างของน้ำตกที่สวยานคุ้มค่าแก่การเดินทางโป่งน้ำร้อน
- โป่งน้ำร้อน เป็นสถานที่แห่งใหม่ที่ถูกค้นพบโดยนายพรานล่าสัตว์ จะต้องเดินเท้าเข้าไปจากน้ำตกเต่าดำสถานที่แห่งนี้จะมีน้ำร้อนผุดขึ้นมาดจากหินน้ำจะมีความร้อนมากจนสามรถต้นไข้ให้สุกได้ โดยรอบจะมีหินโป่งที่มีแร่ธาตุทำให้สัตว์ป่านานาชนิดแวะเวียนมากินน้ำที่โป่งแห่งนี้ไม่ขาดสายในช่วงหัวค่ำและรุ่งเช้าของทุกวัน และเราจะพบนกหายากบางชนิดแวะเวียนมากินน้ำที่นี่ด้วย ชาวบ้านเตรียมที่ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวในอนาคต ชาวบ้านแนะนำว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะกับคนที่ชอบล่าสัตว์
กนกศักดิ์ ทับทอง, ภูริณัฐร์ โชติวรรณ. (มปป). ที่นี่หมู่บ้านป่าคา (เตี้ยเก้ง) ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
Vsportnewsonline. (2562). สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 จัดกิจกรรมทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวบ้านป่าคา จังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้นจาก https://www.vsportkamphaeng.com/
เทคโนโลยีชาวบ้าน. (2563). ต้นแบบคนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืนที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านป่าคา จังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้นจาก https://www.technologychaoban.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน. (มปป). สภาพทั่วไป จำนวนประชากรในพื้นที่. สืบค้นจาก https://www.pnrn.go.th/