Advance search

หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ พระปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ประจำทิศบูรพา พระพุทธรูปหินทรายโบราณปางมารวิชัยสมัยทวารวดีที่มีเอกลักษณ์ สมัยพุทธศตวรรษที่ 17 และหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนยุคประวัติศาสตร์

หมู่ที่ 1
ทุ่งวัง
ทุ่งวัง
สตึก
บุรีรัมย์
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
29 พ.ย. 2023
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
29 พ.ย. 2023
บ้านทุ่งวัง

บ้านทุ่งวัง มีการตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของที่ตั้งชุมชน โดยมีความหมายดังนี้ คำว่า "ทุ่ง" หมายถึงพื้นที่ราบ "วัง" หมายถึง แหล่งน้ำ ดังนั้นคำว่า "ทุ่งวัง" จึงหมายถึง พื้นที่ราบที่ล้อมรอบด้วยแหล่งน้ำ


หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ พระปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ประจำทิศบูรพา พระพุทธรูปหินทรายโบราณปางมารวิชัยสมัยทวารวดีที่มีเอกลักษณ์ สมัยพุทธศตวรรษที่ 17 และหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนยุคประวัติศาสตร์

ทุ่งวัง
หมู่ที่ 1
ทุ่งวัง
สตึก
บุรีรัมย์
31150
15.259580174170047
103.389455774889
องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งวัง

ชุมชนบ้านทุ่งวัง สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ต่อมากลายเป็นชุมชนร้าง อาจด้วยสาเหตุจากภัยธรรมชาติ หรือสงคราม ประชาชนจึงกระจัดกระจายไปตั้งชุมชนเล็ก ๆ ตามพื้นที่ป่า หรือชายแดน เรียกว่า "เขมรป่าดง" พบหลักฐานโบราณในการตั้งถิ่นฐานของชุมชน เช่น พระพุทธรูป และแผ่นหินเป็นใบเสมา

จากการสัมภาษณ์ นายอ่อน บูรณขจร กำนันตำบลทุ่งวังคนแรก ให้ข้อมูลว่า คำว่าบ้านทุ่งวัง แต่ก่อนเรียกว่า "บ้านโตงเนียง" แปลว่า "ชิงช้าของหญิง" ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ได้มีกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองท่าตูมและเมืองจอมพระ โดยมีผู้นำกลุ่ม 3 คน ประกอบด้วย ขุนชนะ ขุนประทะแดง และขุนทึง ได้นำครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งบริเวณเนินดินสูงบ้านทุ่งวัง ต่อมาจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งรกรากเพิ่มมากขึ้นทำให้กลายเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้น ในปี พ.ศ.2481 ได้ยกฐานะเป็นตำบลทุ่งวัง ในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอสตึก (อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์)

บ้านทุ่งวังมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ซึ่งเลือกชัยภูมิเป็นเนินดินสูง พื้นที่บ้านทุ่งวังเคยเป็น 1 ในชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง อยู่ในบริเวณที่ลำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บริเวณวังทะลุ (สตึงเปี๊ยะซี) ห่างจากบริเวณสบลำชีประมาณ 10 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินดินสูง มีคูน้ำล้อมรอบสองชั้น มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น รอบ ๆ คูน้ำเต็มไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณต่าง ๆ ส่วนเนินดินที่เป็นที่สูงจะใช้เป็นที่อยู่อาศัย รอบบริเวณชุมชนเป็นพื้นที่ราบลุ่มใช้สำหรับทำการเกษตร

เนินดินสูงบริเวณบ้านทุ่งวังมี 7 เนิน ประกอบด้วย

  • 1) เนินดินสูงโรงเรียนบ้านทุ่งวังเก่า (ปัจจุบันถูกปรับพื้นที่ให้เป็นที่ราบใช้เป็นที่ตั้งสถานีตำรวจชุมชนตำบลทุ่งวัง และสถานที่จ่ายน้ำประปาหมู่บ้านทุ่งวัง)
  • 2) เนินดินโคกสูง (คุ้มโคกยูง) อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน
  • 3) เนินดินสูงที่ตั้งวัดโนนสูงทุ่งสว่าง
  • 4) เนินดินสูงทิศตะวันตก เส้นทางไปหมู่ที่ 8 บ้านสมหวัง
  • 5) เนินดินสูงคุ้มอนามัย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีอนามัยตำบลทุ่งวัง หมู่ที่ 15 บ้านตุงเวียง
  • 6) เนินดินสูงโคกกลาง อยู่ตอนกลางของหมู่บ้านทุ่งวัง ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ หมู่ที่ 3 บ้านคุ้มต่ำ
  • 7) เนินดินสูงบ้านหนองเกาะน้อย

ชุมชนบ้านทุ่งวังมีบริเวณพื้นที่ขนาดใหญ่และมีการอยู่อาศัยของกลุ่มประชากรอย่างหนาแน่น จึงมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย

1. บ้านทุ่งวัง หมู่ที่ 1 มีประชากร 207 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 388 คน หญิง 426 คน รวมประชากร 814 คน

2. บ้านคุ้มบ้านต่ำ หมู่ที่ 3 มีประชากร 293 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 589 คน หญิง 551 คน รวมประชากร 1,140 คน

3. บ้านหนองเกาะน้อย หมู่ที่ 12 มีประชากร 88 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 137 คน หญิง 138 คน รวมประชากร 275 คน

4. บ้านตุงเวียง หมู่ที่ 15 มีประชากร 191 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 414 คน หญิง 412 คน รวมประชากร 826 คน

ชุมชนบ้านทุ่งวังอยู่อาศัยกันเป็นครอบครัว และเนื่องจากทั้ง 4 หมู่บ้านตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันจึงมีการติดต่อสื่อสารพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเสมือนเป็นชุมชนเดียวกัน

กูย, ขแมร์ลือ

เนื่องจากชุมชนทุ่งวังเป็นกลุ่มชุมชนที่มีขนาดใหญ่ทำให้มีการประกอบอาชีพที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป และในแต่ละกลุ่มอาชีพก็กระจายอยู่ในแต่ละหมู่บ้านในบริเวณชุมชนทุ่งวัง กลุ่มอาชีพทำตุ๊กตาไหมพรม เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีชาวบ้านอีกหลายครอบครัวที่เลือกเป็นอาชีพเสริมรายได้ด้วยการฝึกถักไหมพรม ซึ่งผลิตภัณท์ของชาวบ้านไม่ได้มีเพียงตุ๊กตาเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาทำเป็นหมวก พวงกุญแจ ช่วยเพิ่มรายได้ในครอบครัว การทอเสื่อกกเป็นอีกกลุ่มอาชีพในกลุ่มชุมชนทุ่งวัง โดยเฉพาะการทอเสื่อกกของกลุ่มสตรีบ้านหนองเกาะน้อย ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จะเป็นการทอด้วยกี่ทอเสื่อกกธรรมดา ที่เป็นการทอเสื่อกกลายพื้นบ้านดั้งเดิม และพัฒนาลายประยุกต์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งกลุ่มสตรีนั้นได้ช่วยกันออกแบบจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนกับผลิตภัณฑ์เสื่อกก พ.ศ. 2558 อีกทั้งชุมชนยังมีการทำเกษตรกรรมปลูกพืชผักต่าง ๆ สำหรับขายในตลาดนัดชุมชนและส่งขายในพื้นที่อื่นเป็นรายได้เสริมอีกด้วย

ชุมชนทุ่งวังเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์เขมร กูย และลาวอีสาน มีความเชื่อและศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา มีวิถีชีวิตตามบริบทของผู้คนท้องถิ่นอีสานทั่วไป และมีประเพณีวัฒนธรรมตามขนบแบบอีสาน โดยมีวัดโนนสูงทุ่งสว่างเป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนในชุมชน

  • มีนาคม : บุญผะเวส
  • เมษายน  : ประเพณีสงกรานต์/นมัสการหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ
  • สิงหาคม : วันเข้าพรรษา
  • กันยายน-ตุลาคม : ประเพณีแซนโฎนตา (เดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคติ)
  • ตุลาคม : วันออกพรรษา
  • พฤศจิกายน : บุญกฐิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัตถุทางวัฒนธรรม หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยทวารวดีที่มีความศักดิ์สิทเป็นเคารพนับถือของผู้คนในชุมชนโดยรอบ ชุมชนบริเวณใกล้เคียง รวมไปถึงชุมชนห่างไกล และชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้คนมักมากราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต โดยเฉพาะช่วงประเพณีสงกรานต์ และช่วงวันขึ้นปีใหม่ และนอกจากนี้จากการสำรวจจะพบว่าตามผิวดินของเนินซึ่งเป็นที่สูงจะมีวัตถุที่ทำจากสำริด นอกจากนี้ยังพบโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ พบทั้งที่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และที่ไม่สมบูรณ์ หลักฐานที่เห็นได้ คือ หลุมศพที่พบตลอดระยะเวลาของการอยู่อาศัยของชุมชนนี้ จะพบว่าโครงกระดูกส่วนมากจะอยู่ในภาชนะเครื่องปั้นดินเผาบางโครงก็มีมาก บางโครงก็มีน้อย

ทรัพยากรน้ำ เนื่องจากชุมชนทุ่งวังตั้งอยู่ในพื้นที่ของชุมชนโบราณ จึงมีพื้นที่ล้อมรอบด้วยคูน้ำ และเป็นพื้นที่ที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้สำหรับทำการเกษตร การอุปโภคต่าง ๆ และใช้สำหรับการทำประปาชุมชนเพื่อใช้แจกจ่ายแต่ละในครัวเรือน

ทรัพยากรป่าไม้ ชุมชนทุ่งวันมีพื้นที่โดยรอบเป็นแหล่งน้ำ ทำให้บริเวณชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้มีทรัพยากรป่าไม้ที่หลากหลายกระจายอยู่ในพื้นที่ของชุมชน มีทั้งพันธุ์ไม้ดั้งเดิมและที่ปลูกเพิ่มในภายหลัง

ชุมชนทุ่งวังเป็นกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายทางภาษาทั้งภาษาไทยอีสาน ภาษาเขมร และภาษาไทยมาตรฐานที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในชุมชนและบุคคลภายนอกชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ 

บนเนินดินสูงเมืองเก่าบ้านทุ่งวังในอดีตเรียกว่า "เมืองโตงเนียง" มีการค้นพบพระพุทธรูปสูงใหญ่ปางมารวิชัย สมัยขอมเรืองอำนาจ ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ทำด้วยหินทรายสีคล้ายดินลูกรังแดงอมส้ม หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 2.10 เมตร นั่งประทับบนหินทรายที่นำมาเรียงกันเป็นแท่นหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ด้านหลังองค์พระพุทธรูปพิงกับต้นมะค่าแต้ ซึ่งเคยเกิดไฟไหม้แต่องค์พระพุทธรูปมิได้รับความเสียหายแต่ประการใด จึงเป็นที่เคารพสักการะของบุคคลทั่วไป และตั้งชื่อตามลักษณะที่พบพระพุทธรูปว่า "หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ"

หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอเป็นโบราณวัตถุอันเป็นที่เคารพสักการะคู่บ้านทุ่งวังมาตั้งแต่อดีต สันนิษฐานว่าประมาณปี พ.ศ. 2433 ชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างที่บังแดดบังฝนขึ้นครอบองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอเป็นครั้งแรก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันพระพุทธรูปมิได้เคลื่อนย้ายไปที่แห่งใดเลยแม้ว่าจะมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ตามแปลนกรมศิลปากร (หลักฐานสมุดบันทึกของอธิการพุฒกิตติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดโนนสูงทุ่งสว่าง) หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอเป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับพระพุทธรูปบ้านวังปลัด อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ท่านใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอสตึก หรือผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จะต้องหาโอกาสมานมัสการทุกครั้งเมื่อได้เข้ารับดำรงตำแหน่ง ผู้ที่สักการะเคารพบูชาเหรียญของหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ รุ่นที่ 1 (สร้างเมื่อ พ.ศ. 2515) เชื่อว่าสามารถคุ้มครองอุบัติเหตุทางบกหรือบุคคลใดที่เข้าไปถ่ายรูปหลวงพ่อใหญ่แสนตอภายในโบสถ์ หากไม่ได้จุดธูปเทียนบอกกล่าวให้ท่านทราบก่อนมักจะถ่ายรูปองค์พระพุทธรูปไม่ติดฟิล์มจะมีสีดำมัว ๆ

ปัจจุบันมีการจัดงานนมัสการหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ ในเดือนเมษายนของทุกปี ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน เพื่อรักษาประเพณีวัฒนธรรมในท้องถิ่นอันดีงาม และให้งานนมัสการหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอให้คงอยู่สืบไป

ผกามาศ มูลวันดี. (2560). การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนจากการทอเสื่อกกของกลุ่มสตรี ในเขตพื้นที่ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์. วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, 2(1), 8-16.

สุวัฒน์ อุ่นทานนท์. (2563). หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ นิเวศวิทยาศาสนาลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566, จาก https://brm4.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งวัง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566, จาก http://tungwang.go.th/

Thailandseason. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านคุ้มต่ำ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.thailandseason.com/