ชุมชนวัดช่างเหล็ก เป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแขวงคลองชักพระ อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยมีวัดช่างเหล็ก เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา
ตามคำบอกเล่าสันนิษฐานว่า ชื่อเรียกเรียกชุมชน “ช่างเหล็ก” มีที่มาจากพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นชุมชนของคนไทย ตีเหล็กเป็นอาวุธ เช่น หอก มีด ดาบ ไปสู้รบกับพม่าในกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ช่างเหล็กเหล่านี้ บางส่วนได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมคลองชักพระโดยไม่ได้ย้ายไปที่อื่น ส่วนอีกคำบอกเล่าหนึ่งกล่าวคล้ายกันว่า ที่เรียกชุมชนนี้ว่า “ช่างเหล็ก” เนื่องจากเมื่อประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว เคยมีหมู่บ้านช่างเหล็กตั้งอยู่เรียงรายกันไปตามคลองชักพระ จนถึงคลองบางกอกน้อย ช่างเหล็กเหล่านี้จะตีเหล็กจำพวกเครื่องมือทำสวนต่าง ๆ
ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง กล่าวว่า เป็นความผิดเพี้ยนทางด้านพยัญชนะ ก่อนหน้านี้เคยเรียกกันว่าชุมชน “ปางเหล็ก” แต่ต่อมาได้มีการเรียกผิดเพี้ยนไปเป็น “ช่างเหล็ก” โดยไม่อาจทราบได้ว่ามีการเรียกผิดเพี้ยนไปตั้งแต่เมื่อใด
ชุมชนวัดช่างเหล็ก เป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแขวงคลองชักพระ อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยมีวัดช่างเหล็ก เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา
ประวัติและความเป็นมาของชุมชนวัดช่างเหล็ก ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าว่าชุมชนนี้มีมาตั้งแต่สมัยใด พบเพียงหลักฐานจากคำบอกเล่าที่เล่าต่อ ๆ กันมา ดังนี้
ตามคำบอกเล่าสันนิษฐานว่า ชื่อเรียกเรียกชุมชน “ช่างเหล็ก” นี้เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ชุมชนของคนไทย เพื่อตีเหล็กเป็นอาวุธ เช่น หอก มีด ดาบ ไปสู้รบกับพม่าในกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ช่างเหล็กเหล่านี้ บางส่วนได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมคลองชักพระโดยไม่ได้ย้ายไปที่อื่น เมื่อสงครามสิ้นสุดลง และในระยะหลังต่อมาได้มีคนจากที่อื่นอพยพเข้ามาอยู่ ทำให้มีจำนวนบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้นกลายเป็นชุมชนในปัจจุบัน
อีกคำบอกเล่าหนึ่ง กล่าวว่า ที่เรียกชุมชนนี้ว่า “ช่างเหล็ก” เนื่องจากเมื่อประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว เคยมีหมู่บ้านช่างเหล็กตั้งอยู่เรียงรายกันไปตามคลองชักพระ จนถึงคลองบางกอกน้อย ตรงที่เป็นบริเวณวัดสุวรรรณคีรีในปัจจบัน (เดิมเรียกว่า วัดขี้เหล็ก) ช่างเหล็กเหล่านี้จะตีเหล็กจำพวกเครื่องมือทำสวนต่าง ๆ คำบอกเล่านี้สอดคล้องกับคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสวัดช่างเหล็ก (พระครูสีลขันธาจารย์) ซึ่งได้เล่าว่า เมื่อตอนย้ายเข้ามาอยู่ในวัดช่างเหล็กครั้งแรก ได้มีคนเก่าแก่เล่าให้ฟังว่า เคยมีชาวบ้านมีอาชีพตีเหล็ก อยู่ตรงบริเวณที่เป็นวัดช่างเหล็กในปัจจุบัน โดยช่างเหล็กกลุ่มนี้ จะนำขี้เหล็กไปทิ้งที่บริเวณวัดสุวรรณคีรีหรือวัดขี้เหล็กเดิม
ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง กล่าวว่า เป็นความผิดเพี้ยนทางด้านพยัญชนะ คือ การที่ชุมชนแห่งนี้เรียกว่า “ช่างเหล็ก” เป็นเพราะก่อนหน้านี้เคยเรียกกันว่า “ปางเหล็ก” แต่ต่อมาได้มีการเรียกผิดเพี้ยนไปเป็น “ช่างเหล็ก” โดยไม่อาจทราบได้ว่ามีการเรียกผิดเพี้ยนไปตั้งแต่เมื่อใด
ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับชุมชนวัดช่างเหล็ก ปรากฏหลักฐานภายในบริเวณวัดพระอุโบสถวัดช่างเหล็ก ได้แก่ แผ่นหินอ่อนจารึก ซึ่งมีเนื้อความ ดังนี้
วัน 2 ฯ13 2ค่ำ ปีกุล ตรีศก พุทธศักราช 2454
จุลศักราช 1273 ตรงกับวันที่ 1 มกราคม รัตนโกสินทรศก 130
ข้าพเจ้า ปุก มารดา หลวงนาวาเกณีสรบุตร อุ่น บุตรี
สริ หลาน หอม ญาติ และญาติพวกพ้องอีกหลายนาม
พร้อมกันปฏิสังขรณ์ ทำโบสถ์วัดช่างเหล็ก แล้วสำเร็จพร้อม
บริบูรณ์ทั้งสิ้น กองกุศลนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอฝากไว้กับแม่พระธรณีเป็นสักขีพยาน-----------
เจ้าอาวาสวัดช่างเหล็ก ได้ค้นพบแผ่นหินอ่อนจารึกภายในพระอุโบสถ ขณะรื้อทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ หลักฐานชิ้นนี้ไม่ได้บอกโดยตรงให้ทราบว่าชุมชนวัดช่างเหล็กมีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ทำให้ทราบว่าชุมชนวัดช่างเหล็กมีมาก่อนปี พ.ศ. 2454 ซึ่งเป็นปีที่ได้มีผู้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดช่างเหล็ก ตามธรรมดาของคนไทยในชนบท เมื่อรวมตัวกันตั้งเป็นหมู่บ้านแล้วก็มักสร้างวัดเป็นประจำหู่บ้าน วัดเป็นศูนย์กลางทางสังคมและวัฒนธรรม และยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในหมู่บ้าน ซึ่งหมายความว่า วัดมักอยู่คู่กับหมู่บ้านหรือชุมชนเสมอนั่นเอง ประวัติของวัดและชุมชนมักเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันตลอดมา
จากข้อความที่ระบุในจารึกนั้น แสดงให้เห็นว่า วัดช่างเหล็ก คงมีมานานจนพระอุโบสถอยู่ในสภาพทรุดโทรม และได้มีชาวบ้านทำการปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2454 ซึ่งหมายความว่า ได้มีชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนกันเป็นชุมชนนานแล้ว ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยปี (ธำมรงค์ ผ่านพินิจ, 2524, น. 10-12)
ชุมชนวัดช่างเหล็ก เป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ออกไปตามเส้นทางรถไฟสายใต้ โดยเริ่มจากสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) ประมาณ 7 กิโลเมตร ปัจจุบันชุมชนวัดช่างเหล็กขึ้นอยู่กับแขวงคลองชักพระ (ธำมรงค์ ผ่านพินิจ, 2524, น. 15-16)
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองตลิ่งชัน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ วัดเรไรและแนวสวนผลไม้
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองชักพระ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แนวถนนชักพระ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ต่อเนื่องจากเมืองกรุงเทพมหานครออกไปทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สภาพของดินบริเวณชุมชนวัดช่างเหล็กเป็นพวกโคลนดำ ชั้นบนของดินเป็นดินเหี่ยว และดินที่เกิดจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาพัดพาตะกอนหนามาทับถมกันไว้ ชั้นดินเช่นนี้เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ที่ราบลุ่มบริเวณนี้มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1 เมตร นอกจากนี้ยังมีเส้นทางน้ำหรือคลองธรรมชาติไหลตัดผ่านเป็นโครงตาข่ายโยงใยครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ภายในชุมชน
จากสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นราบลุ่มแม่น้ำท่วมถึง พอถึงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำลำคลองจะเพิ่มระดับสูงกว่าปกติโดยเฉพาะน้ำจากลำคลองชักพระ และคลองบางระมาดจะไหลบ่าท่วมฝั่งเข้ามาในเขตบ้านเรือนและที่สวนชาวบ้าน จึงจำเป็นต้องทำประตูปิดเปิดคอยกั้นน้ำไว้ไม่ให้ไหลมาท่วมสวน นอกจากนี้การขึ้นลงของน้ำทะเลในอ่าวไทยก็มีผลทำให้ระดับน้ำในลำคลองต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย (ธำมรงค์ ผ่านพินิจ, 2524, น. 13)
เดิมการตั้งบ้านเรือนของชุมชนวัดช่างเหล็กตั้งเรียงรายตามสองฝั่งคลองชักพระและคลองบางระมาด เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีถนนตัดเข้ามาถึงชุมชน ไม่มีรถวิ่งติดต่อระหว่างชุมชนกับชุมชนภายนอก เส้นทางคมนาคมตามลำคลองทั้งสองจึงมีความสำคัญและมีบทบาทมาก
การตั้งบ้านเรือนในระยะหลัง เป็นผลจากการที่ได้มีการนำเรือหางยาวเข้ามาวิ่งตามลำคลองชักพระและคลองบางระมาด คลื่นจากเรือหางยาวจะซัดเข้ามาภายในบ้านเสมอ ขณะเดียวกันก็ทำให้ตลิ่งพังเร็วขึ้นอีกด้วย ประกอบกับเสียงเรือดังจนเป็นที่รบกวนและก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัย ทำให้มีผู้ย้ายบ้านเรือนไปปลูกในบริเวณที่อยู่ห่างจากฝั่งคลองออกไป หรือในรายที่ไม่ได้ย้ายไปก็จำเป็นต้องทำเขื่อนกั้นคลื่นน้ำจากเรือหางยาวและยกพื้นบ้านให้สูงขึ้น ผลกระทบจากเรือหางยาวทำให้แบบแผนการตั้งถิ่นฐานที่มักอยู่ตามริมฝั่งคลองได้เริ่มเปลี่ยนไป เป็นการตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่ห่างฝั่งคลองออกไป เช่น บริเวณสวน
นอกจากนี้การตัดถนนเข้ามายังชุมชนวัดช่างเหล็กในปี พ.ศ. 2514 ทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยหนาแน่น เนื่องจากความสะดวกในการคมนาคม พื้นที่บริเวณสวนถูกปรับเปลี่ยนเป็นอาคาร บ้านเรือน ที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว (ธำมรงค์ ผ่านพินิจ, 2524, น. 16-17)
สถานที่สำคัญ
วัดช่างเหล็ก ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางชุมชน ติดกับถนนชักพระและคลองชักพระ ประวัติความเป็นมาไม่ทราบแน่ชัด ตามประวัติฉบับกรมการศาสนาระบุว่าเดิมชื่อ “วัดปางเหล็ก” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2323 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2330 แต่ไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยันแน่ชัด (ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย, 2563) ภายในบริเวณวัดเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดช่างเหล็ก กุฏิวิหาร โบสถ์ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนปริยัติธรรม ฯลฯ (ธำมรงค์ ผ่านพินิจ, 2524, น. 18-19)
ลักษณะครอบครัวของชุมชนวัดช่างเหล็กมีทั้งที่เป็นครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ส่วนใหญ่มีลักษณะครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิก สามี ภรรยาและบุตร นอกจากนี้อาจมีญาติสนิทของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาศัยรวมอยู่ด้วย ส่วนลักษณะครอบครัวขยาย นอกจากประกอบด้วยสมาชิกครอบครัวเดี่ยวแล้วยังมีสมาชิกครอบครัวเดี่ยวอื่น ๆ อีกอย่างน้อยหนึ่งครอบครัวอาศัยรวมอยู่ด้วย เช่น ครอบครัวของบุตรที่แต่งงานแล้ว (ธำมรงค์ ผ่านพินิจ, 2524, น. 24-25)
การแต่งงานภายในชุมชนมีทั้งการแต่งงานภายในชุมชนและภายนอกชุมชน และมักไม่นิยมแต่งงานในสายญาติที่ใกล้ชิดกัน เดิมทีการแต่งงานส่วนใหญ่จะเป็นการแต่งงานภายในชุมชน โดยหนุ่มสาวมีโอกาสพบปะพูดคุยกันในโอกาสที่มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวชนาค งานประเพณีตามวัด ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกทำได้สะดวก เช่น การออกไปศึกษาเล่าเรียน การทำงานต่างพื้นที่ จึงมีโอกาสได้พบปะและแต่งงานกับคนภายนอกมากขึ้น (ธำมรงค์ ผ่านพินิจ, 2524, น. 25-26)
การสืบทอดมรดกปกติแล้วจะแบ่งให้ลูกทุกคนอย่างเท่าเทียม ในกรณีลูกหญิงและลูกชายแต่งงานแล้ว และออกไปตั้งถิ่นฐานมีครอบครัวใหม่ จำเป็นต้องมีทรัพย์สินเป็นของตนเองพอสมควร เพื่อเป็นทุนในการตั้งตัวดูแลครอบครัว ทรัพย์สินของครอบครัวใหม่หรือครอบครัวก่อตัว ส่วนมากได้จากการที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายแบ่งให้ในรูปแบบของมรดก (ธำมรงค์ ผ่านพินิจ, 2524, น. 27)
เดิมในชุมชนประกอบอาชีพทำสวนเป็นหลัก เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มประกอบกับพื้นที่บริเวณนี้มีคลองเล็กคลองน้อยตัดผ่าน ทำให้เหมาะที่จะปลูกพืชผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ทุเรียน มะม่วง ขนุน กระท้อน มะพร้าว กล้วย บางส่วนประกอบอาชีพอื่น เช่น รับราชการ ค้าขาย มีบ้างเป็นส่วนน้อย
การประกอบอาชีพทำสวนนั้น ต้องทำตลอดทั้งปี เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของครอบครัว ทุกคนช่วยกันทำ ส่วนแรงงานที่นอกเหนือไปจากสมาชิกที่อยู่ในครอบครัวแล้ว ในอดีตที่ผ่านมาปรากฏว่า มีการขอแรงงานจากญาติและเพื่อนบ้านในลักษณะที่เหมือนกับการลงแขก การขอแรงนี้เป็นการแลกเปลี่ยนแรงงาน โดยครอบครัวที่ขอแรงต้องตอบแทนผู้ที่มาช่วยในลักษณะที่เป็นข้อผูกพันอย่างหนึ่ง ในระยะหลังต่อ ๆ มา การขอแรงงานต่าง ๆ ค่อย ๆ หมดไป เมื่อแรงงานได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนที่เป็นเงินมากขึ้น (ธำมรงค์ ผ่านพินิจ, 2524, น. 30-31)
ต่อมาภายหลังการประกอบอาชีพชาวสวนได้ลดน้อยลง หันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาชีพรับราชการ ค้าขาย
ชุมชนวัดช่างเหล็ก เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน ระบบความเชื่อ หลักธรรมถูกถ่ายทอดจากวัด ความเลื่อมใสศรัทธานี้เห็นได้จากการที่ประชาชนได้ให้ความอุปถัมถ์ต่อวัดและพระสงฆ์เสมอมา เมื่อไหร่ที่วัดขอความร่วมมือไม่ว่าจะเป็น การบริจาคเพื่อปฏิสังขรณ์วัด การก่อสร้างสาธารณะประโยชน์ ชาวบ้านก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ธำมรงค์ ผ่านพินิจ. (2524). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนวัดช่างเหล็ก. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. (2563). วัดช่างเหล็ก. จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/