Advance search

ปันเตียย

ตะลุงเก่าเมืองโบราณ บานสะพรั่งดอกบัวแดง แหล่งต้นกำเนิดประโคนชัย มากมายอารยธรรม ดินแดนประวัติศาสตร์แหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่พบหลักฐานวัฒนธรรมสมัยทวารวดี และปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในอดีต

หมู่ที่ 3, 9
ตะลุงเก่า
โคกม้า
ประโคนชัย
บุรีรัมย์
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
29 พ.ย. 2023
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
29 พ.ย. 2023
บ้านตะลุงเก่า
ปันเตียย

"ปันเตียย" เป็นชื่อที่คนท้องถิ่นใช้เรียกบ้านตะลุงเก่า และเรียกประโคนชัยว่า "ตะลุง" ซึ่งคนรุ่นหลังอาจมีความสับสนพอสมควร
  • ปันเตียย เป็นภาษาเขมรแปลว่า ที่ว่าเนินสูงหรือป้อมที่ตั้งกองทหาร/ค่าย
  • ตะลุง เป็นภาษาเขมร แปลว่า เสาใหญ่, เสาหิน, หลักผูกช้าง ซึ่งเชื่อกันว่ารัชกาลที่ 1 ทรงผูกช้าง ณ บริเวณอำเภอประโคนชัย เมื่อ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440)

ตะลุงเก่าเมืองโบราณ บานสะพรั่งดอกบัวแดง แหล่งต้นกำเนิดประโคนชัย มากมายอารยธรรม ดินแดนประวัติศาสตร์แหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่พบหลักฐานวัฒนธรรมสมัยทวารวดี และปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในอดีต

ตะลุงเก่า
หมู่ที่ 3, 9
โคกม้า
ประโคนชัย
บุรีรัมย์
31140
14.652078931695609
103.02430734517816
เทศบาลตำบลโคกม้า

ประวัติเมืองตลุงตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร เมืองตะลุงปรากฏชื่อในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่าดินแดนแถบนี้เป็นป่าทึบ เขตชายแดน ผู้คนที่อาศัยอยู่พูดภาษาเขมร ทางกรุงศรีอยุธยาจึงเรียกว่าเขมรป่าดง จากจดหมายเหตุประชุมพงศาวดารภาคที่ 7 กล่าวว่าในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ได้ปกครองเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีเมืองขึ้น 5 เมือง คือ

  • ทิศตะวันตก : นครจันทึก
  • ทิศเหนือ : เมืองพิมาย
  • ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ : เมืองชัยภูมิ
  • ทิศตะวันออกเฉียงใต้ : เมืองนางรอง
  • ทิศตะวันออก : เมืองบุรีรัมย์

เมืองบุรีรัมย์ จึงแต่งตั้งเพิ่มขึ้นอีก 9 เมือง คือ บำเหน็จณรงค์ จัตุรัส เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว เมืองพุทไธสง เมืองตะลุง รัตนบุรี เมืองปักธงชัย เมืองนคราชสีมาจึงมีเมืองขึ้น 14 เมือง แล้วโปรดให้พระยายมราช (สังข์) มาครองเมืองนคราชสีมามีฐานะเป็นข้าหลวงใหญ่โดยมี เมืองนางรองเป็นเมืองชั้นนอก เมืองตะลุงเป็นหัวเมืองจัตวา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต พระเพทราชาได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ พระยายมราชไม่ยอมเป็นข้าของพระเภทราชา กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกทัพขึ้นปราบ กวาดต้อนผู้คนและเครื่องศัตราวุธ ซึ่งมีไว้สำหรับรักษาเมืองไปอยุธยา แล้วตั้งพระยานครราชสีมาขึ้น พ.ศ. 2310 เมืองกรุงศรีอยุธยาเสียเมืองให้แก่พม่า คนไทยตามหัวเมืองที่มีอำนาจก็ตั้งตนเป็นใหญ่หลายก๊กในครั้งนี้เจ้าเมืองนางรองได้เข้าร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าเมืองพิมาย เข้าใจว่าเมืองตะลุงก็คงจะเข้าร่วมกับกรมหมื่นพิพิธเจ้าเมืองพิมายด้วย พ.ศ. 2321 เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ได้ชักชวนเจ้าเมืองนางรองคิดกบฏ โดยเจ้าเมืองนางรองคบคิดกับเจ้าโอและเจ้าอิน พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกนำกำลังสมทบกับเมืองนครราชสีมา ยกขบวนมาปราบเมืองนางรอง พระยานางรองถูกประหารชีวิต จากนั้นยกทัพไปปราบพระเจ้าไชกุมารเจ้าเมืองจำปาศักดิ์โดยสมทบกับทัพเรือของกรมสมเด็จพระยาสุรสีห์นาถที่ยกไปตามลำน้ำโขงจนสำเร็จ เมื่อยกทัพกลับได้เกลี้ยกล่อมเมืองใกล้เคียงให้สวามิภักดิ์ ได้แก่ เขมรป่าดงตะลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะและเมืองขุขันธ์ให้ขึ้นกับขันฑสีมา

การเปลี่ยนแปลงชื่อเมือง

การปรับปรุงหัวเมืองต่าง ๆ ในแผ่นดินสมเด็จพระปิยมหาราชได้มีการปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑล พ.ศ. 2440 เมืองตะลุงได้เปลี่ยนชื่อเป็นประโคนชัยขึ้นกับเมืองนางรอง ในช่วงนี้สันนิษฐานว่าคงจะย้ายเมืองจากปันเตียยไปอยู่ที่เทศบาลประโคนชัยในปัจจุบัน เนื่องจากปันเตียยนั้นเป็นเมืองเล็ก ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2457 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จขึ้นเขาพนมรุ้งและได้แวะพักที่อำเภอประโคนไชย หลังจากกลับไปแล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อประโคนไชยเป็น อำเภอ "ตะลุง" เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2460 (ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 34 หน้า 28 วันที่ 29 เมษายน2460) วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2482 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล ได้มีพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนบ้าน อำเภอ รวม 103 แห่ง อำเภอตะลุงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "ประโคนไชย" ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 56 หน้า 354-363 ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2482ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในการเปลี่ยนชื่อเมืองแต่ละครั้งคงจะมีเหตุผลทางจิตวิทยา เพื่อความมั่นคงทางการเป็นสำคัญ เช่นในสมัยปฏิรูปการปกครอง รัชกาลที่ 5 เหตุการณ์ในช่วงนั้นล่อแหลมต่อการล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ที่มีต่อภูมิภาคนี้ รัชกาลที่ 5 ต้องการให้คนไทยมีความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือมีความเป็นปึกแผ่น จึงเปลี่ยนชื่อจาก ตะลุง ในภาษาเขมรเป็น ประโคนไชย ต่อมา เหตุการณ์วิกฤตผ่านไป กรมสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมายังเขาพนมรุ้ง มีความคิดอนุรักษ์ชื่อสถานที่ให้คงเดิมจึงเปลี่ยนจากประโคนไชย เป็น ตะลุง เหมือนเดิม ในสมัยรัชกาลที่ 8 จอมพลป.พิบูล สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงสงครามโลกจึงมีความคิดที่จะปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้มีความรักชาติ และเป็นชาตินิยมจึงเปลี่ยนจากเมืองตะลุงมาเป็น "ประโคนชัย" จนถึงทุกวันนี้ ฉะนั้นคนบางส่วนในพื้นที่จะเรียกประโคนชัยว่า "ตะลุง" และเรียกบ้านตะลุงเก่าว่า "ปันเตียย"

พ.ศ. 2460 ทางราชการตั้งอำเภอประโคนชัย เป็น 1 ใน 4 อำเภอของเมืองบุรีรัมย์ เมือลตะลุงเป็นชุมชนแห่งแรกและมีกลุ่มคุณตาขาวเข้ามาอยู่เพื่อเลี้ยงช้างศึกม้าศึกให้กับทางราชการ คำว่า "ตะลุง" หมายถึงเสาใหญ่ หรือ เสาหินส้าหรับผูกช้าง (เชื่อกันว่ารัชกาลที่ 1 ทรงผูกช้างไว้กับเสาหินใหญ่บริเวณตัวอำเภอประโคนชัยปัจจุบัน) กล่าวกันว่าเมื่อก่อนตั้งและหลังการตั้งอำเภอประโคนชัยแล้ว มีเส้นทางคมนาคมหรือร่องรอยทางเกวียนผ่านอยู่ 3 สาย โดยเข้ามาเชื่อมต่อกับบ้านเมืองตะลุงเก่า คือ ทิศใต้เส้นทางไปปราสาทพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำ ทิศตะวันตกเส้นทางไปปราสาทเมืองพิมาย-ปราสาทพนมวัน และทิศตะวันออกเส้นทางไปเมืองสุรินทร์–อุบลฯ แสดงว่าบ้านเมืองตะลุงเก่าเป็นศูนย์กลางชุมชนแห่งแรกของอำเภอประโคนชัยอเป็นจุดพักคนเดินทางก่อนจะมีคนเข้ามาอยู่อาศัย เมื่อทางราชการตั้งที่ว่าการอำเภอประโคนชัยอยู่ในบริเวณปัจจุบันนี้ ทำให้ชุมชนบ้านเมืองตะลุงเก่าถูกลดบทบาทลง นานวันเข้าความเจริญก้าวหน้าและศูนย์กลางทางคมนาคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองอยู่ที่อำเภอประโคนชัย ทั้งถนนสายยุทธศาสตร์เส้น 24 ตัดผ่านตัวอำเภอประโคนชัย จึงทำให้บ้านเมืองตะลุงเก่าเหลือเพียงตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่าเคยเป็นศูนย์กลางเส้นทางเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมขอมโบราณในอดีต

ปันเตียย หรือบ้านตะลุงเก่า ตำบลโคกม้าอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอประโคนชัย ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร บ้านตะลุงเก่า ตั้งอยู่ในที่ลาดลงสู่ที่ลุ่มต่ำ มีคูน้ำล้อมรอบเป็นวงรีซ้อนกันสามชั้น ปัจจุบันเหลืออยู่สองชั้น วงชั้นในถูกดินทับถมและชุมชนถมเป็นที่อยู่อาศัย จึงทำให้เหลือคูน้ำเพียงวงนอกเท่านั้น แต่ก็พอมองเห็นร่องรอยของอดีตอยู่บ้าง การที่มีลักษณะคูน้ำซ้อนกัน ทำให้เห็นมีคันดินเป็นกำแพงถึงสามชั้น ส่วนพื้นที่ภายในหมู่บ้านจะมีลักษณะเป็นเนินหลังเต่า ในบริเวณบ้านตาสุด เชนประโคน ตรงสี่แยกที่อยู่ชั้นในของหมู่บ้าน หากดูจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นเป็นวงกลม มีลำน้ำเชื่อมโยงไปทางทิศใต้ทั้งสองด้านสังเกตดูจะเหมือนกระเป๋าทรงกลมมีสายสะพาย ส่วนที่เหมือนสายสะพายด้านตะวันออกเรียกว่า คูยายรัวะ ต่อด้วยคูยายคำ ทิศใต้เรียกคูไทรโยง ด้านตะวันตกเรียกคูกันแสง ที่เรียกว่าคูยายรัวะ คูยายคำ นั้นเรียกตามชื่อผู้จับจองที่ทำกินแถวนั้น คูไทรโยงคูกันแสงเรียกตามพื้นที่ซึ่งอดีตมีต้นไทรโยง(ภาษาถิ่น)ต้นกันแสงอยู่มากจึงเรียกตามชื่อต้นไม้ ในอดีตผู้คนจากหมู่บ้านใกล้-ไกลมาตักน้ำที่คูไทรโยงไปบริโภคโดยใช้เกวียนบรรทุกไหมาใส่น้ำ เช่น บ้านแสลงโทน บ้านไพบูลย์ บ้านไทร บ้านหนองตะขบ บ้านเกียรติเจริญ บ้านบาตร บ้านตะโกตาพิ เป็นต้น

เขตพื้นที่

  • ทิศเหนือ จรดเขตบ้านเกียรติเจริญ ตำบลโคกม้า
  • ทิศใต้ จรดเขตบ้านโคกเพชร ตำบลโคกม้า
  • ทิศตะวันออก จรดเขตบ้านฉันเพล ตำบลโคกม้า
  • ทิศตะวันตก จรดเขตบ้านบาตร ตำบลตะโกตาพิ

ชุมชนบ้านตะลุงเก่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน ได้แก่

  • บ้านตะลุงเก่า หมู่ที่ 3 มีจำนวน 272 ครัวเรือน แบ่งเป็น ชาย 470 คน หญิง 525 คน รวมประชากร 995 คน
  • บ้านตะลุงเก่า หมู่ที่ 9 มีจำนวน 167 ครัวเรือน แบ่งเป็น ชาย 324 คน หญิง 283 คน รวมประชากร 607 คน

ขแมร์ลือ

ชุมชนบ้านตะลุงเก่าเป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานที่ยาวนาน และเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีความน่าสนใจ ทางชุมชนจึงมีการรวมกลุ่มกันของสมาชิกในการสร้างเสริมศักยภาพให้กับชุมชนและผลักดันชุมชนให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านตะลุงเก่า เป็นการสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนใหม่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการรวมกลุ่มของสมาชิกเป็นกลุ่มทอผ้าไหมตะลุงเก่า โดยเป็นผ้าทอมือย้อมสีจากธรรมชาติที่มีความงดงามด้วยฝีมือชาวบ้านกลุ่มทอผ้าบ้านตะลุงเก่า ที่ได้ร่วมมือกันคิดค้นการย้อมสีจากวัสดุในชุมชน เช่น ดอกทองกวาว ดอกอัญชัน โคลน เปลือกไม้ ฯลฯ ที่หาได้ในชุมชน ซึ่งเป็นสินค้าที่ช่วยสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น เกษตรกรรม ทอเสื่อกก ทำเครื่องจักสาน ฯลฯ

ชุมชนบ้านตะลุงเก่าเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ที่นับถือศาสนาพุทธ มีวิถีวัฒนธรรมแบบผสมผสานระหว่างชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อดั้งเดิมผนวกกับความเชื่อทางพุทธศาสนาและผสมผสานกันอย่างกลมกลืนกับวัฒนธรรมประเพณีตามบริบทชุมชนท้องถิ่นอีสาน

  • ประเพณีวันสงกรานต์
  • งานแห่เทียนเข้าพรรษา
  • ประเพณีแซนโฎนตา
  • วันออกพรรษา
  • ประเพณีลอยกระทง

บุคคลสำคัญ

1.นายบุญเลี้ยง โพธิ์แก้ว : ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3

2.นางพรทิพย์ โสภา : ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9

3.นางสมจิตร์ พยัคษา : ปราชญ์ชุมชน

4.อาจารย์พิมพ์นิภา เตียงประโคน : ผู้สืบทอดเรื่องราวอดีตจากบิดา

ผ้าขาวม้าทอมือ ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม จากวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมในการทอผ้าสำหรับนุ่งห่มในครัวเรือน ในอดีตนั้นชุมชนบ้านตะลุงเก่ามีการทอผ้าเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนตามวิถีชีวิตชนบทของชาวอีสานโดยทั่วไป จนได้มีการรวมกลุ่มของสมาชิกเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน จึงเกิดเป็นกลุ่มผ้าทอมือตะลุงเก่า โดยย้อมผ้าด้วยสีย้อมที่ได้จากธรรมชาติ และหาได้จากบริเวณชุมชน เช่น เปลือกไม้ ดอกทองกวาว ดอกอัญชัน โคลน เป็นส่วนประกอบสำคัญสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผ้าขาวม้าทอมือบ้านตะลุงเก่าที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

ทรัพยากรณ์น้ำ เนื่องจากชุมชนบ้านตะลุงเก่าเป็นชุมชนโบราณที่มีการสร้างคูคลองน้ำล้อมรอบชุมชน จึงทำให้บ้านตะลุงเก่ามีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และใช้สำหรับทำการเกษตรตามฤดูกาล ทั้งยังใช้แหล่งน้ำเป็นสถานที่ช่วยรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี คือ ประเพณีลอยกระทง และยังเป็นแหล่งพักผ่อนของชุมชนและผู้คนภายนอกที่แวะเวียนมาสัมผัสบรรยากาศชุมชนบ้านตะลุงเก่าแห่งนี้

พื้นที่วัฒนธรรม 

เนินดินหลังเต่าสูงกลางชุมชน เป็นพื้นที่เนินดินสูงเหมือนกับกระดองเต่า สูงประมาณ 3 เมตร อยู่ในพื้นที่บริเวณกลางหมู่บ้าน สันนิษฐานว่าเป็นที่ฝังอัฐิธาตุ หรือกระดูกคนโบราณในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุประมาณ 2 พันปีมาแล้ว ถือเป็นวัฒนธรรมความเชื่อชีวิตหลังความตายแบบเดียวกับชุมชนในเขตทุ่งกุลาร้องไห้

หินเสมาโบราณ เป็นแท่งหินศิลาทรายแสดงหลักเขตโบราณสถาน สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดเขตแดนพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ พบหินเสมาโบราณที่บ้านเมืองตะลุงเก่าเป็นแบบเดียวกับวัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล มิได้มีการแกะสลักแท่งหิน ชาวบ้านเมืองตะลุงเก่าช่วยกันนำแท่งหินเสมาโบราณไปเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนและวัดประจำหมู่บ้าน

กระเบื้องดินเผา ลักษณะกระเบื้องดินเผา หรือหม้อดินเผาที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองตะลุงเก่านั้น เป็นศิลปกรรมแบบทวารวดีพื้นบ้านแบบเนื้อบาง อาจจะเผาในพื้นที่ชุมชนเอง หรือนำมาจากชุมชนใกล้เคียงก็เป็นไปได้ จากการเดินสังเกตในบริเวณพื้นที่ชุมชน หม้อดินเผาเหล่านี้ที่พบส่วนมากอยู่บริเวณเนินดินหลังเต่ากลางชุมชน ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการบรรจุอัฐิธาตุของผู้ตายในยุควัฒนธรรมทวารวดี แต่ไม่สามารถแสดงรายละเอียดชัดเจนได้ว่าเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ใด เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงเวลาใด

ชุมชนบ้านตะลุงเก่า เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในพื้นที่แถบอีสานใต้ที่มีการใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสารกันระหว่างผู้คนในชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดไทรโยง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2472 ตั้งอยู่ที่บ้านตะลุงเก่า ตำบลโคกม้า อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 10 ไร่ 2 งาน 17 ตารางวา ได้รับการบริจาคที่ดินจากคุณตาเกา พวงประโคน โดยผู้ใหญ่ขาว พวงประโคน ดำเนินการสร้างวัด โดยการบริจาควัสดุอุปกรณ์และเงินอุดหนุนจากชาวบ้านตะลุงเก่าและหมู่บ้านใกล้เคียง มีคุณตาเดือะ จันทร์ประโคน เป็นนายช่างควบคุมการสร้าง มีคุณตาตม ปุตตะ คุณตาเฉื่อย ทวันเวช เป็นผู้ช่วยช่าง การก่อสร้างใช้แรงงานคนไม่มีเครื่องทุ่นแรง และได้รับความร่วมมือร่วมแรงจากชาวบ้านเป็นอย่างดีจนสำเร็จลุล่วงเป็นวัดได้ แล้วตั้งชื่อหนองน้ำไทรโยงซึ่งเป็นหนองน้ำเก่าแก่ ให้เป็นชื่อวัดว่า "วัดไทรโยง" มีเจ้าอาวาสรูปแรกคือ พระภิกษุเคียน หูประโคน และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2497 ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 71 ตอนที่ 60 งวดที่ 2 ประจำปี 2497 ลำดับที่ 33 กำหนดเขตกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์

ในปี พ.ศ. 2548 พระอธิการนันทวัฒน์ ฐานวุฑโฒ เจ้าอาวาส และนายนคร ลีประโคน ผู้ใหญ่บ้าน นายร่วม พวงประเสริฐกุล ไวยาวัจกร นายสมจิตร พยัคษา นางจงกล แย้มงาม และนางสมจิตร์ พยัคษาได้ร่วมกันดำเนินการทำเรื่องขอเอกสารสิทธิ์ออกโฉนดให้วัดไทรโยง โดยใช้เวลาดำเนินการถึง 5 ปีเต็ม ได้รับโฉนดเมื่อ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553 เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 17 ตารางวา พร้อมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่สูญหายไป ได้ตามหาจนได้มาครบ ปัจจุบันวัดไทรโยงมีอายุ 84 ปี มีพระอธิการฉลอง อายุวฑฺฒโก ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งได้บูรณะปฏิสังขรซ่อมแซมและก่อสร้างวัดไทรโยงให้เจริญขึ้น นอกจากนี้แล้ววัดยังเปิดการสอนธรรมศึกษานักธรรมชั้นตรีชั้นโท และชั้นเอกให้กับพระสงฆ์ในตำบลโคกม้า และนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านตะลุงเก่า คณะอุบาสก-อุบสิกาที่สนใจใฝ่ธรรมอีกด้วย จนเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านตะลุงเก่า และหมู่บ้านใกล้เคียงอีกมากมาย

ธัญภิณันท์ อภิญญเดช. (2565). แนวทางการออกแบบสิ่งสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน กรณีศึกษา บ้านตะลุงเก่า ต.โคกม้า อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์. วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.

ธงชัย สีโสภณ. (2562). เหลียวหลังแลหน้าบ้านเมืองตะลุงเก่า ในอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์. วารสารวิชาการ มจร บุรีรัมย์, 4(2), 129-139.

เทศบาลตำบลโคกม้า. (2561). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561-2565). เทศบาลตำบลโคกม้า อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์