บ้านเจดีย์ทอง หนึ่งในชุมชนมอญที่ตั้งอยู่ในอำเภอสามโคก มี "วัดเจดีย์ทอง" ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณริมฝั่งทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นทั้งศาสนสถานประกอบพิธีกรรมและศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน
คาดการณ์ว่าชื่อชุมชนคงมีที่มาเช่นเดียวกับชื่อวัดเจดีย์ทอง ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในสมัยนั้นมีชาวมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยพระยาราม ซึ่งเป็นบุตรของพระยาเจ่ง คชเสนี และเป็นน้องชายของเจ้าพระยามหาโยธา ริเริ่มสร้างวัดเจดีย์ทองขึ้นเมื่ออพยพมาตั้งบ้านเรือน
บ้านเจดีย์ทอง หนึ่งในชุมชนมอญที่ตั้งอยู่ในอำเภอสามโคก มี "วัดเจดีย์ทอง" ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณริมฝั่งทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นทั้งศาสนสถานประกอบพิธีกรรมและศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน
หมู่บ้านเจดีย์ทองเป็นชุมชนมอญแห่งหนึ่งในอำเภอสามโคก ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของชาวมอญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะเด่น คือ วัดเจดีย์ทอง ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในสมัยนั้นมีชาวมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยพระยาราม ซึ่งเป็นบุตรของพระยาเจ่ง คชเสนี และเป็นน้องชายของเจ้าพระยามหาโยธา ริเริ่มสร้างวัดเจดีย์ทองขึ้นเมื่ออพยพมาตั้งบ้านเรือนที่อำเภอสามโคก ซึ่งวัดเจดีย์ทองนี้ ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นศูนย์กลางชุมชนและศูนย์รวมจิตใจอีกทั้งสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้าน มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบมอญซึ่งจำลองมาจากต้นแบบในพม่า
ชุมชนบ้านวัดเจดีย์ทอง หมู่ 1 ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ห่างจากตัวจังหวัดปทุมธานีไปทางเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนกลางของอำเภอสามโคก มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลท้ายเกาะ และตำบลบางกระบือ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ้านงิ้ว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบางเตย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบางเตย
พื้นที่ตำบลคลองควายอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา การตั้งบ้านเรือนในอดีตจะเป็นทรงไทยสมัยเก่าและอยู่ริมแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ทำการตัดถนน ตรอก ซอยประกอบกับช่วงฤดูฝนของทุกปีจะมีน้ำท่วมและน้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาบนฝั่งท้าให้เรือนที่อยู่ติดหรือใกล้แม่น้ำต้องยกใต้ถุนให้สูงต่อมามีการขยายอาณาเขตการตั้งบ้านเรือนออกจากแม่น้ำ และติดถนนเพื่อสะดวกแก่การอยู่อาศัยและสัญจรมากยิ่งขึ้น
หมู่บ้านเจดีย์ทองมีอาณาบริเวณติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก การตั้งบ้านเรือนของชาวมอญในหมู่บ้านจึงอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนเข้ามาภายในหมู่บ้าน ทำให้ผู้คนเริ่มตั้งถิ่นฐานขยายเข้ามาบนฝั่งมากขึ้น ดังจะเห็นพัฒนาการการขยายตัวได้ในปัจจุบัน ซึ่ง "แต่เดิมบริเวณบนฝั่งแม่น้ำมีสภาพรกเป็นป่า มีสัตว์ป่า และเสือขนาดเล็ก ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ตั้งบ้านเรือนไกลจากแม่น้ำมากนัก แต่เมื่อมีคนมากขึ้นและมีการตัดถนนเลียบแม่น้ำ จึงมีคนเริ่มเข้าไปตั้งบ้านเรือนห่างจากริมฝั่งแม่น้ำมากขึ้น (วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย, 2546: 133-139)
ลักษณะเรือนที่อยู่อาศัยในอดีตส่วนใหญ่คล้ายเรือนทรงไทย การปลูกเรือนใช้สลักแทนตะปู ซึ่งลักษณะเรือนดังกล่าว ปัจจุบันมีให้พบเห็นได้เพียงไม่กี่หลังเท่านั้น ขณะที่บ้านส่วนใหญ่ได้มีพัฒนาการตามยุคสมัยเป็นแบบสมัยใหม่มากขึ้น ข้อสังเกตบางประการ คือ เรือนที่อยู่ติดหรือใกล้แม่น้ำจะมีการยกใต้ถุนสูง เพื่อเตรียมไว้ป้องกันกรณีน้ำท่วมหรือน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นขึ้นมาบนฝั่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูฝน และอีกประการคือแทบทุกบ้านจะมีศาลพระภูมิอย่างน้อยหนึ่งหลัง บางบ้านอาจมีมากถึง 2 หลัง ซึ่งศาลพระภูมิบางหลังมีสภาพเก่าแก่พอ ๆ กับตัวเรือนที่อยู่อาศัย หรือเก่ามากกว่า ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอาจมีการตั้งขึ้นพร้อมกับการปลูกเรือนครั้งแรก ฉะนั้นลักษณะโดยรวมของการตั้งบ้านเรือนของชาวมอญไม่มีอะไรแตกต่างจากของชาวไทยมากนัก แต่จะเน้นไปที่การตอบสนองต่อเงื่อนไขของสภาพท้องถิ่นเป็นสำคัญ
สถานที่สำคัญ
วัดเจดีย์ทอง ศูนย์รวมทางวัฒนธรรมของชาวมอญและจิตวิญญาณที่สำคัญของคนในหมู่บ้าน โดยประวัติความเป็นมาได้มีการสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยชาวมอญที่อพยพหนีพม่ามาจากเมืองเมาะตะมะ ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยมีพระยาราม บุตรของพระยาเจ่ง คชเสนี เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เมื่อครั้งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอสามโคก ส่วนชื่อวัด "เจดีย์ทอง" สันนิษฐานว่าได้นำเอาชื่อนี้มาจากเมืองมอญเดิมที่เมาะตะมะ
บ้านเจดีย์ทอง ประกอบด้วย 210 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 670 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 333 คน และประชากรหญิง 337 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565) เป็นคนไทยเชื้อสายมอญประมาณร้อยละ 80 และส่วนใหญ่เป็นมอญที่เกิดในชุมชนแห่งนี้
มอญแต่เดิมด้วยลักษณะทางกายภาพของชุมชนที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดการค้าขายทางเรือขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ในอดีตของหมู่บ้านเจดีย์ทองต่างนิยมทำการค้าขายทางเรือ โดยชาวมอญในหมู่บ้านจะนำสินค้าต่าง ๆ ใส่เรือ แล้วล่องขึ้นไปขายทางภาคเหนือ สิ่งของที่นำไปขายมักประกอบด้วย เครื่องปั้นดินเผาหม้อ โอ่ง อ่าง จาน ชาม ตลอดจนของกินของใช้ เช่น จาก (วัสดุใช้ท้าหลังคา) ฟืน ส่วนอาหารการกิน ได้แก่ เต้าเจี้ยว ไตปลา ฯลฯ เป็นต้น สำหรับการหาวัตถุดิบหากเป็นเครื่องปั้นดินเผา จะไปรับมาจากจังหวัดราชบุรีและปากเกร็ด ส่วนของกินของใช้หามาจากภายในท้องถิ่น การเดินทางไปค้าขายทางเรือจ้าเป็นต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน ทำให้บางคนต้องนำครอบครัวไปด้วย โดยหลับนอนอยู่บนเรือ (สนั่น โสฬส, 2558)
อย่างไรก็ตามลักษณะสินค้าที่จะนำมาค้าขายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล เช่น หากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวชาวมอญในหมู่บ้านจะนำเรือเปล่าล่องขึ้นไปรับข้าวแถบจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเรือลำหนึ่งบรรทุกข้าวได้ประมาณ 25 เกวียน และนำมาขายให้กับคนในเมืองหลวง กับคนบริเวณย่านรังสิต (สมพงษ์ ช่างต่อ, 2558) แต่เมื่อมีการตัดถนนหลวงเกิดขึ้นหลายสาย ทำให้การประกอบอาชีพค้าขายทางเรือมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย คือจากการใช้เรือในการขนส่งสินค้าไปขายได้มีบางครัวเรือนหันมาใช้รถยนต์เป็นพาหนะแทน ซึ่งสินค้ายังคงเป็นเครื่องปั้นดินเผา โอ่ง อ่าง ฯลฯ ของชาวมอญเช่นเดิม จากการที่หันมาใช้รถยนต์ในการค้าขายทำให้การค้าขายของชาวมอญหมู่บ้านเจดีย์ทองขยายขอบเขตไปไกลมากกว่าสมัยใช้เรือ ตัวอย่างเช่น การนำสินค้าไปขายในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคอีสาน ที่แต่เดิมการคมนาคมทางน้ำไม่อาจทำได้ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับคนไทยในภูมิภาคอื่นมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางไกลทำให้มีโอกาสพบคนต่างพื้นที่ ต่างวัฒนธรรม หากชอบพอกันก็แต่งงานกัน ทำให้มีการแต่งงานกับคนต่างหมู่บ้าน เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตซึ่งมักแต่งงานกับคนมอญในหมู่บ้านเดียวกันหรือชุมชนมอญใกล้เคียง (สนั่น โสฬส, 2558)
อย่างไรก็ตามแม้ว่ารูปแบบการประกอบอาชีพได้มีการเปลี่ยนแปลงจากทางเรือ มาเป็นทางรถยนต์มากขึ้น มิได้หมายความว่าการค้าขายทางเรือจะถูกยกเลิกในทันที เพียงแต่ปริมาณครัวเรือนที่ประกอบอาชีพทางเรือค่อย ๆ ลดปริมาณลงตามลำดับ นอกจากนั้นระบบการศึกษาแผนใหม่ยังเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น ชาวมอญในชุมชนบางคนได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงถึงอุดมศึกษา ส่งผลให้โครงสร้างอาชีพของชาวมอญในรุ่นปัจจุบันหันไปประกอบอาชีพในทางราชการ ทำงานในบริษัท ห้างร้านของภาคเอกชนมากขึ้น ต่อมาระยะหลังอาชีพค้าขายทางเรือและทางรถในปัจจุบันเกือบจะหมดไปจากหมู่บ้านแล้ว เนื่องจากเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วนิยมประกอบอาชีพในองค์กรและบริษัทในเขตนิคมอุตสาหกรรมมากกว่าที่จะหันมาสืบทอดอาชีพค้าขาย
นอกจากนี้ผู้สูงอายุซึ่งในอดีตเคยทำการค้าขายมาก่อนก็เลิกอาชีพดังกล่าวแล้วหันมาประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างประจำในหน่วยงานราชการท้องถิ่น เช่น เทศบาล เป็นต้น
ประเพณีสำคัญของชาวมอญเจดีย์ทองที่ยังธำรงปฏิบัติในปัจจุบัน
- มีนาคม : ทำบุญวันมาฆบูชา
- เมษายน : เปิงสงกรานต์ ประเพณีส่งข้าวแช่แห่หางหงส์-ธงตะขาบ
- พฤษภาคม : ทำบุญวันวิสาขบูชา/ทำบุญกลางบ้าน
- กันยายน : ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง
- ตุลาคม : ประเพณีตักบาตรพระร้อย/ทำบุญข้าวเม่า
- พฤศจิกายน : ทอดกฐิน
ทำบุญวันมาฆบูชา ชาวบ้านจะนำข้าวมาฆะ ซึ่งเป็นอาหารที่จัดทำขึ้นมาถวายพระที่วัดแต่เช้าที่วัดเจดีย์ทอง
ประเพณีเปิงสงกรานต์ จัดขึ้นช่วง 12-18 เมษายน ของทุกปี เป็นการทำบุญร่วมกันของคนในชุมชน ในครอบครัว ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีการละเล่นอื่น ๆ อีกด้วย
- การส่งข้าวแช่ เนื่องจากช่วงเมษายนเป็นช่วงฤดูร้อน ชาวมอญมีความเชื่อการทำบุญด้วยของเย็น จะก่อให้เกิดอานิสงส์ละผลบุญมาก ฉะนั้นชาวมอญทุกครัวเรือนจะเตรียมข้าวแช่ ซึ่งเป็นข้าวสวยแช่น้ำโรยดอกมะลิมีกลิ่นหอม ใส่ไว้ในหม้อดิน และมีกับข้าวเป็นจำพวกไข่เค็ม เนื้อเค็ม ผักกาดเค็ม ชาวบ้านจะนำข้าวแช่ไปส่งวัดในวันที่ 12-13 เมษายน และส่งให้ผู้ใหญ่ที่นับถือในช่วงวันที่ 14-15 เมษายน ของทุกปี
- การทำบุญและสรงน้ำพระ ชาวมอญชุมชนเจดีย์ทองนิยมเลี้ยงพระในวันมหาสงกรานต์ หรือวันที่ 13 เมษายน จากนั้นจะมีการสรงน้ำพระสงฆ์ ซึ่งจะทำเป็นซุ้มและมีรางน้ำ เพื่อให้ชาวบ้านเทน้ำตามรางในการสรงน้ำพระ ส่วนพระพุทธรูปจะมีการสรงน้ำระหว่างวันที่ 16-18 เมษายน เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวมอญในหมู่บ้านอื่นมาร่วมสรงน้ำพระด้วย หรือคนมอญในชุมชนเจดีย์ทองจะไปร่วมสรงน้ำกับวัดอื่นในละแวกใกล้เคียง พอตกบ่ายจะไปรวมกันที่วัด มีการก่อพระทราย ปล่อยนก ปล่อยปลา สรงน้ำพระ แล้วรับพรจากพระ ครั้นเสด็จพิธีหนุ่มสาวเฒ่าแก่จะสาดน้ำดำหัวกันอย่างสนุกสนาน แล้วกลับมาอาบน้ำผู้ใหญ่ มีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เอาน้ำอบประพรมเสื้อผ้าให้ใหม่ หลังจากนั้นจะให้พรแก่ลูกหลาน
- การละเล่น ในอดีตชาวมอญจะนิยมเล่นสะบ้า และทะแยมอญในเทศกาลเปิงสงกรานต์ แต่เนื่องด้วยไม่มีผู้สืบทอดการละเล่น เพราะต้องใช้ภาษามอญในการสื่อสาร ปัจจุบันจึงไม่เป็นที่รู้จักและทำให้ศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวสูญหายไป การละเล่นร้องรำทำเพลงจึงถูกปรับเป็นลักษณะนำเพลงอีแซวมาดัดแปลงเป็นเพลงรำวง คู่กับกลองรำมะนา 1 ตัว ครั้นปัจจุบันความนิยมเปลี่ยนอีก การแสดงจึงเป็นพวกดนตรีสตริงและลูกทุ่งเป็นหลัก (สมพงษ์ ช่างต่อ, 2558)
- การแห่หางหงส์ธงตะขาบ ช่วงบ่ายคล้อยวันสุดท้ายของเทศกาลเปิงสงกรานต์ เยาวชนหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่จะออกมาช่วยกันแห่หางหงส์ธงตะขาบจากท้ายหมู่บ้านไปที่วัดเจดีย์ทอง เพื่อชักธงขึ้นสู่ยอดเสาหงส์ บางคนมีความศรัทธาแรงกล้าถึงกับตัดผมของตนเองผูกติดไว้กับธงตะขาบเพื่อเป็นพุทธบูชา (สนั่น โสฬส, 2558) ปัจจุบันชาวมอญในบ้านเจดีย์ทองที่มีความรู้ในการทำหางหงส์และธงตะขาบมีจำนวนลดลง และยังไม่มีการรวมกลุ่มเพื่อถ่ายทอดการทำหางหงส์และธงตะขาบ ตลอดจนขั้นตอนของพิธีกรรมการแห่งหางหงส์-ธงตะขาบให้เยาวชนในชุมชนได้รู้วิธีและขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ
ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ประเพณีดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมเก่าแก่ของจังหวัดปทุมธานีแสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่า คนเราเมื่อตายไปแล้วจะเหลือแต่วิญญาณ เรียกว่า ผี ใครทำดีเมื่อตายไปใช้กินบุญเก่า คนที่ก่อกรรมทำชั่วตายไปจะเป็นผีออกอาละวาดชาวบ้าน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นในครอบครัวใดก็คิดว่าเป็นเพราะผี จึงมีการทำบุญไปให้โดยมีอาหารประเภท ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว กุ้งพล่า ปลาย้า เหล้า 1 ไห ไก่ 1 ตัว ไปวางไว้ที่ทางสามแพล่ง ถือเป็นการทำบุญให้ผีไม่มีญาติ และมักนิยมใช้ทุ่งนาเป็นสถานที่ประกอบพิธี เพราะเชื่อว่าในบ้านมีผีบ้านผีเรือน ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านจะกำหนดวัดและสถานที่เป็นจุดรวม จัดปีละครั้ง ไม่กำหนดเดือนตายตัวนิยมจัดงานในเดือน 6 แต่ปัจจุบันได้นับเอาวันแรงงานคือวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันทำบุญกลางบ้าน เนื่องจากเป็นวันหยุดที่ทุกคนสามารถกลับมาร่วมงานกันได้และหากมีเด็กในชุมชนจะทำการโกนผมไฟก็สามารถนำมาร่วมกิจกรรมได้ และในปีที่จัดหากมีภัยพิบัติร้ายแรง อาจมีการทำพิธีลอยบาปด้วย เพื่อให้ทุกข์ภัยทั้งหลายลอยออกไปจากหมู่บ้านด้วย (สนั่น โสฬส, 2558)
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง มักจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นวันพระ ในวันงานพิธีการตักบาตรตามปกติ แต่จะมีการตักบาตรน้ำผึ้ง โดยชาวบ้านเตรียมผ้ามาถวายพระที่วัดโดยนำผ้ามารองไว้ที่ก้นบาตร ซึ่งการท้าบุญตักบาตรน้ำผึ้งนั้น คนมอญเชื่อว่ามีอานิสงส์มากเพราะน้ำผึ้งเป็นหนึ่งในเภสัชยทาน อันประกอบด้วย เนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และน้ำมันพืช
ประเพณีตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีของชาวมอญเฉพาะกลุ่มที่มีบ้านเรือนอยู่ติดแม่น้ำ มักทำในช่วงเทศกาลออกพรรษา ประมาณวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือนจะจัดเตรียมอาหารคาว-หวานลงเรือของตน และมาจอดเรือเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรอตักบาตร ส่วนพระจะพายเรือต่อกันมาเป็นขบวนเพื่อให้ชาวมอญและชาวบ้านที่พายเรือมาได้ทำบุญตักบาตร ในอดีตที่วัดเจดีย์ทองได้มีการผูกเชือกขึงระหว่างโป๊ะท่าน้ำหน้าวัดกับโป๊ะท่าน้ำหลังหมู่บ้าน ซึ่งจะได้ความยาวครอบคลุมตลอดหมู่บ้าน ชาวบ้านจะนำเรือของตนเองมาผูกโยงกับเชือกนี้ หรือชาวบ้านที่ไม่มีเรือก็จะมีการเช่าเรือบรรทุกทราย จำนวน 3 ล้า เพื่อบรรทุกชาวบ้านสำหรับทำพิธีกรรมนี้ และที่วัดจะปล่อยเรือของพระที่มาบิณฑบาตออกมาเป็นช่วงๆ ช่วงละลำ ถึงขนาดมีบัตรคิวสำหรับปล่อยเรือเลยทีเดียว (สนั่น โสฬส, 2558) ในระยะหลังที่หมู่บ้านมีเรือไม่เพียงพอทำประเพณีดังกล่าว ทำให้ประเพณีตักบาตรพระร้อยเริ่มเลือนหายไป ดังนั้นในปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมานั้นเป็นปีแรกที่ประเพณีการตักบาตรร้อยพระย้ายขึ้นมากระทำกันบนบก (สมพงษ์ ช่างต่อ, 2558) แต่จากการสัมภาษณ์จะพบว่าชาวบ้านยังคงต้องการอนุรักษ์ประเพณีนี้โดยตระหนักถึงความมีคุณค่าตามวิถีชีวิตชาวมอญ
รำพาข้าวสาร ประเพณีการรำพาข้าวสาร ในอดีตนิยมทำหลังจากออกพรรษาซึ่งเป็นช่วงการทอดกฐิน โดยในเวลากลางคืนจะมีการพายเรือไปขอรับบริจาค เงินทองและสิ่งของโดยเริ่มต้นจากท่าน้ำหน้าวัด พายเรือมาขอบริจาคที่ท่าน้ำของแต่ละบ้านแล้วนำไปร่วมในการทอดกฐิน ปัจจุบันไม่มีการรำพาข้าวสารทางเรือแล้ว คือเมื่อมีงานทอดกฐินเกิดขึ้น คนในหมู่บ้านก็จะเดินไปบริจาคสิ่งของที่วัด หรือมีคนมารับบริจาคถึงหน้าบ้าน
จากการลงพื้นของผู้เขียน ในการสำรวจและสอบถามจากผู้ใหญ่ มัคนายกและผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนมอญเจดีย์ทอง ทำให้ทราบถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงหลงเหลือสืบสอดกันมายังปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเพณีและกิจกรรม 12 เดือน ภาษา อาหาร และการละเล่นต่าง ๆ แต่กระนั้นด้วยสภาพแวดล้อม ระบบขนส่ง การศึกษา ทำให้มอญในพื้นที่วัดเจดีย์ทองไม่มีการสืบทอดวัฒนธรรมดังกล่าว โดยเฉพาะวัฒนธรรมภาษา เพราะเยาวชน คนหนุ่มสาวในชุมชนไม่สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษามอญได้แล้ว ในส่วนของวัฒนธรรมอาหารยังคงมีการประกอบอาหารแบบวิถีมอญอยู่ ตามที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญ ส่วนประเพณีทั้ง 12 เดือน ยังคงมีให้เห็นบ้างอยู่ในปัจจุบัน
มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของหมู่บ้านเจดีย์ทอง
1. วิถีชีวิต มรดกด้านวิถีชีวิตเกี่ยวพันตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสืบทอดพิธีกรรมดังกล่าวกันอยู่บ้าง เพราะยังมีผู้สูงอายุหรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่ยังคงยึดถือปฏิบัติ
ช่วงปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยเด็ก อันมีเรื่องราวของการเกิด การโกนผมไฟและการโกนจุก สิ่งที่เชื่อถือว่าเป็นมงคลแก่เด็กเกิดใหม่ คือ การฝังรกเด็กแรกเกิด ว่าฝังตรงที่ใดจะให้ผลต่อชีวิตเด็กอย่างนั้น
- การฝังรก ตามคัมภีร์มอญโบราณระบุทั้งการฝังรกเด็กแรกเกิดตามเดือนเกิด และตามวันเกิด อันได้แก่ การฝังรกเด็กแรกเกิดตามเดือน 12 ประเพณีโบราณ มีการฝังรกเด็กแรกเกิดตามเดือน คือ
- เดือน 1-3 : ฝังรกทางทิศตะวันตก มีชื่อเสียงเลื่องลือมาก, ฝังรกทางทิศเหนือลม (ทิศใต้) เป็นทิศมรณะ
- เดือน 4-6 : ฝังรกตามทิศใต้ลม (ทิศเหนือ), เด็กจะเป็นผู้ทรงปัญญาเชี่ยวชาญวิชาการยิ่งใหญ่
- เดือน 7-9 : ฝังรกทางทิศตะวันออก จะมั่งคั่งด้วยเงินทอง, ฝังรกทางทิศใต้ลม (ทิศเหนือ) จะถึงแก่ชีวิต
- เดือน 10-12 : ฝังรกทางทิศบูรพา ต้องงดเว้นเด็ดขาด, ฝังรกทางทิศเหนือลม (ทิศใต้) จะมีทรัพย์สินลือชาปรากฏ
นอกจากการฝังรกรากตามทิศต่าง ๆ ให้เกิดสิริมงคลแล้ว สำหรับแม่และเด็กก็มีการใช้โถงกลางของบ้านในการอยู่ไฟและเข้ากระโจมประคบด้วยลูกประคบสมุนไพรเพื่อให้มดลูกของแม่เข้าอู่ได้เร็วขึ้น ทั้งการอยู่ไฟ การเข้ากระโจมประคบลูกประคบ ล้วนเป็นการให้ความร้อนกับร่างกายของแม่เพื่อขจัดพิษตกค้างที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย
ทั้งเรื่องการฝังรกและการอยู่ไฟในปัจจุบันจะเห็นบ่อยครั้งในเรื่องของการอยู่ไฟมากกว่า เนื่องจากความเชื่อเรื่องฝังรก หากบ้านใดมีผู่เฒ่าผู้แก่บ้านนั้นก็ยังจะต้องฝังรกตามความเชื่ออยู่
- การโกนจุก เด็ก ๆ ชาวมอญนิยมไว้ผมยาวประเภทจุก แกละ โก๊ะ ทั้งนี้ตามความเชื่อว่าเด็ก ๆ จะมีผีประจำตัวคอยปกป้องคุ้มครอง และผีชอบผมยาว เมื่อเวลาจะตัดผมจุก ก่อนอื่นต้องบอกกล่าวเซ่นไหว้แก่วิญญาณของผีบรรพบุรุษในห้องผีเสียก่อน ทั้งนี้ในปัจจุบันชาวมอญชุมชนเจดีย์ทองได้จัดพิธีโกนจุกพร้อมกับการทำบุญกลางบ้าน โดยจะจัดทุกวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี (สนั่น โสฬส, 2558)
ช่วงมิชฌิมวัย เมื่อล่วงเข้าวัยกลางคน พิธีกรรมที่สำคัญ คือ การบวชและการแต่งงาน
- การบวช ชาวมอญถือเรื่องการบวชเป็นประเพณีใหญ่ที่ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านในหมู่บ้านเดียวกันหรือแม้แต่หมู่บ้านข้างเคียงจะเข้าร่วมพิธีด้วยกันอย่างเอิกเกริก อย่างน้อยที่สุดก็ร่วมในขบวนแห่จากบ้านไปวัด การบวชนิยมบวชเณรและพระพร้อม ๆ กันเป็นคู่ หรืออาจจะหลายคู่ก็ได้ พิธีกรรมจะมี 2 วัน คือวันสุกดิบ และวันบวช ก่อนแห่ไปที่วัดชาวบ้านที่รู้จักมักคุ้นกันจะมาร่วมพิธีที่บ้าน หลังจากเสร็จพิธีที่บ้านจะแห่ขบวนไปที่วัด ขบวนแห่นาคและลูกแก้วจะจัดอย่างสวยงาม ทั้งนาคและลูกแก้วจะขี่ม้าที่ประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงาม ส่วนตัวนาคและลูกแก้วจะแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มที่แบบเดียวกับส่างลองของไทใหญ่ ขบวนแห่จะมุ่งไปวัดเพื่อประกอบพิธี (จวน ปานแก้ว, 2559)
- การแต่งงาน มอญเรียกประเพณีแต่งงานว่า “เพรงโกน” แปลว่า “แต่งลูก” (เสถียรโกเศศ, 2539: 5) แสดงให้เห็นว่าการแต่งลูกหลานเป็นสิริมงคลต่อครอบครัว สำหรับพิธีแต่งงานของชาวมอญชุมชนเจดีย์ทองมีลักษณะคล้ายกับคนไทยทั่วไป เพียงแต่จะให้ความสำคัญในการผูกสายสิญจน์ พิธีสงฆ์และพิธีกรผู้ดำเนินรายการ ดังนั้นองค์ประกอบของงานแต่งงานจึงประกอบไปด้วย ส่วนของพิธีสงฆ์และพิธีของฆราวาส ในส่วนของพิธีสงฆ์จะมีการนิมนต์พระมาส่วนปริยัติธรรม เพื่อเป็นมงคลแก่คู่บ่าวสาว การทำน้ำมนต์เพื่อจะนำไปรดน้ำสังข์ การทำบุญเลี้ยงพระ เมื่อเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้ว จะเป็นพิธีของฆราวาส ที่สัมพันธ์กับคู่บ่าวสาว ญาติผู้ใหญ่และแขกผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้อง โดยตลอดพิธีการจะดำเนินไปอย่างไรจะขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินรายการที่จะเป็นผู้ควบคุมและมีบทบาทหน้าที่ในเรื่องต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การยกขันหมากมาที่บ้านเจ้าสาว ผู้ที่ยกขันหมากต้องเป็นผู้ที่ผ่านการแต่งงานอย่างถูกต้องตามประเพณี (ไม่ใช่หนีตามกันมา) และยังต้องเป็นผู้ที่มีประวัติการครองเรือนที่ดี และก่อนจะถึงพิธีรดน้ำสังข์ พิธีกรจะให้คู่บ่าวสาวกราบขอขมาพ่อแม่ของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย จากนั้นพิธีกรจะเป็นผู้สอนหน้าที่และหลักการครองเรือนแก่คู่บ่าวสาว (ไม่คบคนพาล คนเลว ให้คบแต่คนดีและคบบัณฑิต ให้มีความกตัญญูกตเวทิตาแก่พ่อแม่ ให้ยึดหลักอภัยซึ่งกันและกันในการครองเรือน) จากนั้นพ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นผู้คล้องพวงมาลัยและมงคลแก่เจ้าบ่าว ในขณะที่พ่อแม่ฝ่ายผู้ชายคล้องพวงมาลัยและมงคลแก่เจ้าสาว ต่อมาพิธีกรจะอัญเชิญพระอินทร์และเทวดาลงมาอวยพรให้คู่บ่าวสาว ก่อนที่ญาติผู้ใหญ่และแขกที่มาร่วมงานร่วมรดน้ำสังข์และให้พรแก่คู่บ่าวสาว ทั้งนี้ขั้นตอนพิธีต่าง ๆ อาจแตกต่างกันไปบ้างตามแต่พิธีกรแต่ละคน
ช่วงปัจฉิมวัย
- พิธีศพ
การตายของชาวมอญ มีข้อบัญญัติและข้อห้ามต่าง ๆ มากมาย มากกว่าพิธีกรรมในชีวิตอื่น ๆ การตายของชาวมอญแบ่งออกเป็นตายดีและตายไม่ดี การตายดีที่ตายในบ้านจะมีการตั้งศพที่โถงกลาง อาบน้ำศพโดยใช้น้ำต้มใบไม้สด อาบน้ำอุ่นแล้วจึงอาบน้ำเย็นชำระล้างร่างกายด้วยขมิ้นสดตำกับมะกรูด เมื่ออาบน้ำเสร็จจึงแต่งตัวศพ โดยนุ่งโจงกระเบนผ้าขาวเอาชายพกไว้ด้านหน้า เพื่อให้กลับทางกับชายพกของคนเป็น เสื้อก็ใส่กลับหน้าเป็นหลังเช่นกัน หวีผมเสยไปด้านหลัง แล้วหักหวีทิ้ง (การหวีผมไปด้านหลัง และหักหวีทิ้งนี้ประเพณีศพไทยก่อนจะปิดโลงก็ท้าเช่นเดียวกัน) เมื่อแต่งตัวเรียบร้อยแล้วนำมาตั้งบนแคร่ไม้ไผ่ หรือเตียงไม้ไผ่ที่คนมอญเรียกว่า “โจ้ง - เนียะ” ที่แปลว่า “เตียงชนะ” คือแคร่ไม้ไผ่สมัยโบราณปัจจุบันอาจใช้ไม้อื่นก็ได้ ยกเป็นแคร่สูงจากพื้น มีเสา 6 เสา เสาทั้ง 6 ต้นสูงขึ้นไปแบบเสาเตียงโบราณที่ใช้สำหรับกางมุ้ง มีการตกแต่งประดับประดาหัวเสาให้สวยงามด้วยผ้าโปร่ง ดอกไม้ หรือวัสดุอื่น ๆ เมื่อนำศพวางบน “โจ้ง - เนียะ” แล้วต้องใช้ไม้ค้ำตรงที่ที่มีโจ้งเนียะ ที่ใต้ถุนบ้านเพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ว่ามีการตั้งศพบนบ้าน ศพจะตั้งบนบ้านประมาณ 3 - 7 วัน
ปัจจุบันมีการนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมเหมือนที่วัด แต่ในสมัยอดีตไม่มีการสวดศพ แต่มีการอ่านชาดกหรือพุทธประวัติหรืออื่น ๆ ด้วยทำนองเสนาะภาษามอญ เมื่อจะนำศพออกจากบ้านจะไม่มีการนำเอาโลงศพเข้ามาในบ้านอีก ในสมัยโบราณให้เลาะฝาบ้านมาทำโลงศพ แต่ปัจจุบันเป็นโลงสำเร็จรูป นำโลงมารอไว้ด้านที่จะเอาศพลง ซึ่งเป็นทิศเหนือหรือทิศตะวันตกเท่านั้น ก่อนเอาศพออกต้องห่อศพด้วยกก แล้ววางบนผ้าขาวมัดเสื่ออีกชั้นหนึ่ง ศพที่ลงจากเรือนจะไม่ลงทางบันได แต่จะทำบันไดใหม่ด้วยต้นกล้วย 2 ต้น ชักศพลงทางแม่บันไดต้นกล้วยซึ่งเสียบลูกบันไดด้วยไม้ไผ่ 4 ขั้น เรียกว่า “กระไดผี” ส่วนประตูบ้านให้เอากิ่งไม้มาปิดหลอกไว้ เมื่อเอาศพไปแล้วก็ถอนบันไดผีทิ้ง การนำศพออกจากเรือนปัจจุบันพบบ้านหลายหลังทำประตูผีเตรียมไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเลาะฝาเรือน และเมื่อใช้เสร็จแล้วสามารถตอกปิดตายไม่ใช้เป็นประตูอีกและกลายเป็นส่วนของฝาบ้านไป
การนำศพไปวัด จะต้องไม่ให้ผ่านชายคาบ้านใคร ดังนั้นเมื่อออกจากบ้านแล้วให้มุ่งไปยังถนนสาธารณะเลย ในขบวนการนำศพไปวัดจะจัดเป็นขบวนนำโดยด้วยลูกคนเล็กสุดของผู้ตาย เมื่อมาถึงวัดอาจนำมาสวดอภิธรรมเพิ่มหรือนำไปเก็บไว้ในศาลาหลังเล็ก ๆ ในเขตป่าช้า ศาลาเก็บศพนี้มีเฉพาะของประเพณีมอญเท่านั้น (ศาลาทรงไทยขนาดเท่ากับโลงศพ) การเก็บศพจะเก็บไว้ตั้งแต่ 100 วันเป็นต้นไปแล้วจึงนำไปเผา เมื่อนำศพออกมาเผา ญาติผู้ตายจะยกศาลาเดิมให้กับวัด หรือรื้อถอนให้กับคนยากจนเอาไปประกอบบ้านอยู่อาศัยต่อไปตามแต่จะศรัทธา ศพที่เผาเป็นศพที่ทิ้งไว้นานแล้ว ชาวมอญจะนำมาใส่โลงศพที่เรียกว่า “ฮลาบ๊อก” เป็นลักษณะโลงศพแบบพิเศษ ที่มีฝาครอบประดับประดาตกแต่งด้วยกระดาษสีและออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงในลักษณะทรงปราสาทซ้อนหลายชั้น ก่อนเผาจะทำการสวดอภิธรรมศพ 1 คืน แล้วจึงเผาในพิธีเผาศพมีการรำผีเพื่อเชิญวิญญาณของคนตายมาถามทุกข์สุข
ในสมัยก่อนไม่มีเมรุเผาศพถาวร ชาวมอญจะมีเชิงตะกอนเป็นแบบเมรุชั่วคราว หรือเมรุลอยเพื่อใช้เผาศพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงไม้ไผ่ประดับด้วยหยวกกล้วย เพื่อทำ “ฮลาบ๊อก” ขึ้นไปไว้บนเชิงตะกอนและเผาไปทั้งฮลาบ๊อกและตัวเมรุลอยด้วย เมรุลอยและฮลาบ๊อกส่วนใหญ่จะออกแบบให้กลมกลืนกันและเป็นไปตามฐานะของผู้ตาย และเชิงตะกอนหรือเมรุลอยจะหันหัวไปทางทิศเหนือซึ่งถือเป็นทิศคนตายเท่านั้น
นอกจากมรดกทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตในแต่ละช่วงวัยที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมา อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงจากดั้งเดิมไปบ้าง ความเชื่อของคนมอญอีกสิ่งหนึ่งที่เคยมีในทุกหลังคาเรือน คือ ความเชื่อเรื่องตุ๊กตามอญ
ตุ๊กตามอญ เป็นสิ่งหนึ่งเสมือนร่างของคน เป็นสิ่งที่อยู่อาศัยของผีร้ายหรือผีไม่ดี ในอดีตคนมอญจะเคร่งครัดมาก จะไม่ให้มีการนำตุ๊กตาเข้าบ้านโดยเด็ดขาด แต่ปัจจุบันมีการแอบนำเข้ามาเพราะเด็กรุ่นใหม่ไปเรียนหนังสือในตัวเมือง และรูปลักษณ์ของตุ๊กตาที่สวยงามจึงมีการฝ่าฝืนหรือมีการเข้าใจผิดถึงคำจำกัดความว่า ตุ๊กตาที่ห้ามมีลักษณะอย่างไร เช่น ตุ๊กตาที่ห้ามคือตุ๊กตาผ้า หรือตุ๊กตากระดาษ เพียงเท่านั้น แต่ทว่าความจริงแล้ว คนมอญที่ชุมชนเจดีย์ทอง หมายรวมถึงตุ๊กตาทุกชนิดไม่ว่าจะทำจากวัสดุใดก็ตาม เช่น ตุ๊กตาที่ท้าจากปูนปั้น ตุ๊กตาที่เป็นตัวการ์ตูนญี่ปุ่นต่าง ๆ อย่างโดราเอม่อน คิตตี้ ก็อยู่ในข้อห้ามด้วยเช่นเดียวกัน แต่ในปัจจุบันนี้ ความเชื่อในการไม่ให้เล่นตุ๊กตาแทบไม่มีอยู่ในบ้านมอญแห่งนี้เลย (บุญชู ทองประยงค์, 2558)
2. ภาษา
ภาษามอญ สำหรับภาษามอญในหมู่บ้านเจดีย์ทองมีการใช้ภาษามอญในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันจำกัดเฉพาะคนรุ่นเก่าที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น
3. สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม
ศาลประจำหมู่บ้าน ศาลผีประจำหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เป็นที่สิงสถิตของวิญญาณที่คอยคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่หมู่บ้าน และตั้งชื่อตามความเชื่อท้องถิ่น คือ ศาลเจ้าแม่มะลิ
วัดเจดีย์ทอง ศูนย์กลางกิจกรรมทางด้านศาสนา ประเพณี และสังคมของชาวบ้าน ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดเจดีย์ทอง ประกอบด้วย
- เจดีย์ทรงรามัญ ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดสร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดนี้ อายุประมาณ 190 กว่าปี นับว่าเป็นเจดีย์เก่าแก่มากองค์หนึ่ง ซึ่งทำการก่อสร้างเลียนแบบเจดีย์จิตตะกองของเมืองมอญ ชาวบ้านทั่วไปเรียกเจดีย์นี้ว่า “เจดีย์ทอง” มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบรามัญ เป็นที่เคารพของชาวมอญโดยทั่วไป ซึ่งทางวัดได้มีการจัดงานประจ้าปีเพื่อนมัสการองค์เจดีย์นี้ ช่วง แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี
- อนุสาวรีย์เก็บอัฐพระอุปฌาย์น้อย ท่านพระอุปฌาชย์น้อย ฉายาคุณสาโร ท่านเป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ท่านเป็นพระตัวอย่างที่ดีแก่พระภิกษุ สามเณร เช่น สวดมนต์ไหว้พระเช้าและเย็น กระทั่งการลงฟังพระปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นกิจของพระสงฆ์ ท่านก็ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมิได้ขาด ตลอดอายุขัยของท่าน ส่งผลให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวมอญเคารพเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านมาก คณะศายานุศิษย์จึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ทรงแบบเก๋งจีน ประดับด้วยกระจกและกระเบื้องเบญจรงค์มีลวดลายงดงามบรรจุอัฐของท่านไว้
- พระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร แบบทรงมอญ หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอก ความสูงตั้งแต่ฐานจรดถึงเกศสูงประมาณ 2 ศอก มีอายุราว ๆ 100 ปี ประดิษฐานอยู่ที่หอสวดมนต์ ซึ่งครั้งหนึ่งได้มีพระรามัญรูปหนึ่งมีนามว่า พระอมราภิกขุ เป็นเครือญาติของท่านอุปัชฌาย์น้อยคุณสาโรได้เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่เมืองหงสาวดี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็ไปศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาต่อที่ลังกาทวีป เมื่อกลับจากการศึกษามาถึงเมืองมอญที่มะละแหม่ง ก่อนจะกลับประเทศไทย ก็ชวนกันเดินชมตลาด พบพระพุทธรูป 2 องค์ สร้างด้วยหยกแก้วเนื้อดีจึงติดต่อขอเช่ามาบูชา เมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ก็ได้นำพระพุทธรูป 2 องค์นี้เข้ามาด้วย โดยได้ประดิษฐานไว้ที่วัดเจดีย์ทององค์หนึ่ง ส่วนอีกองค์นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
ภาษามอญ มีการใช้ภาษามอญในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันจำกัดเฉพาะผู้สูงอายุ เกิน 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น ส่วนภาษาเขียน มีผู้ที่สามารถเขียนได้ไม่ถึง 5 คน ในอดีตมีการเรียนการสอนภาษามอญที่วัดเจดีย์ทอง โดยท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้สอนให้ จึงทำให้มีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่ได้เรียนเขียนอ่านภาษามอญ ส่วนเด็กผู้หญิงไม่ได้เรียนจึงเขียนอ่านไม่ได้ แต่สนทนาภาษามอญได้ในชีวิตประจำวัน
เมื่อระบบการศึกษาแผนใหม่เข้ามา ทำให้เด็กในชุมชนต้องเข้าเรียนโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยเด็กและเยาวชนมอญในหมู่บ้านเจดีย์ทองนิยมไปเรียนโรงเรียนสามัคคียาราม ส่งผลให้การเรียนภาษามอญที่วัดถูกตัดขาดลงและไม่มีคนสนใจศึกษา อีกทั้งเมื่อกลับมาบ้านได้ใช้ภาษาไทยในการพูดคุยกับคนในครอบครอบครัวแทนภาษามอญ และการมุ้งเน้นการเรียนเพื่อให้ได้ความรู้นำไปประกอบอาชีพ โดยภาษาท้องถิ่นไม่ได้ให้ความสำคัญ กระบวนการการศึกษาของภาครัฐดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การใช้ภาษามอญถูกลดความสำคัญลง เมื่อเด็กและเยาวชนไม่ได้ใช้ภาษามอญประกอบกับผู้ใหญ่ในชุมชนไม่เห็นถึงความสำคัญในภาษาของตนเองแล้ว คนรุ่นใหม่ในชุมชนจึงไม่มีความรู้ในด้านภาษาและไม่สามารถส่งต่อและสืบทอดภาาามอญในชุมชนได้
ลักษณะทางสังคมและประชากรที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในหมู่บ้านเจดีย์ทองที่ส้าคัญและเห็นอย่างชัดเจนคือ ระบบความคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลักษณะการแต่งงาน ความเชื่อของคนมอญในชุมชนและรวมถึงบทบาทของวัดเจดีย์ทองที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน
ลักษณะการแต่งงาน
ในอดีตเมื่อประมาณ 60 - 80 ปี ชาวมอญหมู่บ้านเจดีย์ทองจะนิยมแต่งงานกันเองกับคนในชุมชนมอญจึงทำให้ยังคงรักษาและสืบทอดอัตลักษณ์ ประเพณี พิธีกรรมความเชื่อได้อย่างต่อเนื่อง เหตุที่คนในชุมชนนิยมแต่งงานกันเอง เพราะสมัยก่อนการเดินทางและการคมนาคมขนส่งยังไม่สะดวก ทำให้โอกาสที่จะไปพบกับคู่ครองในท้องถิ่นอื่นมีจำกัด ทำให้หนุ่มสาวยุคสมัยนั้นนิยมแต่งงานกันเองในหมู่บ้าน หรือไม่ก็แต่งงานกับคนเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นอื่น เช่น จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดราชบุรี และปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น ส่งผลให้ในหมู่บ้านมีครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น ต่อมาเมื่อการเดินทางสะดวกขึ้น ทำให้เกิดการเดินทางทั้งเพื่อประกอบอาชีพ หรือเพื่อการศึกษามากขึ้น ทำให้มีการแต่งงานกับคนในภูมิภาคอื่นและอพยพครัวเรือนออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะประมาปี 2509 - 2510 คนมอญบ้านเจดีย์ทองได้อพยพไปตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดราชบุรีกันเกือบครึ่งหมู่บ้าน เนื่องจากต้องประกอบอาชีพค้าขาย กล่าวคือรับโอ่งมาบรรทุกขายแทนการค้าขายทางน้ำโดยขับไปขายทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน และประมาณปี 2540 เป็นต้นมา คนมอญในชุมชนที่เหลือต่างนิยมแต่งงานกับคนไทย คนจีน คนลาวที่ไม่ใช่มอญอีกจำนวนหนึ่ง (สมพงษ์ ช่างต่อ, 2558)
บทบาทของวัดเจดีย์ทองในการอนุรักษ์อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น
ในอดีตวัดเจดีย์ทองมีบทบาทสำคัญในการธำรงรักษารักษาวัฒนธรรมของชาวมอญ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางในการสอนและเรียนภาษามอญ และการศึกษาพระพุทธศาสนาตามแบบนิกายรามัญ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นธรรมยุติ
จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในชุมชน พบว่า ในอดีตชายชาวมอญเจดีย์ทองจะได้รับการสอนอ่านและเขียนภาษามอญที่วัดเป็นหลัก ต่อมาจึงเข้าไปศึกษาต่อในโรงเรียนสามัญของอำเภอจนจบชั้นมัธยมศึกษา ส่วนผู้หญิงจะไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ไปเรียนภาษามอญที่วัด จึงทำให้ผู้หญิงในหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่าน เขียนภาษามอญได้ แต่สามารถพูดได้คล่องเนื่องจากในอดีตยังคงมีการใช้ภาษามอญพูดคุยกันในครอบครัว ต่อมาเมื่อระบบการศึกษาสมัยใหม่ได้รับการพัฒนาทำให้ลูกหลานที่เคยถูกส่งไปเรียนภาษามอญกับพระที่วัดลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเล็งเห็นว่าภาษามอญไม่สามารถช่วยในเรื่องของการประกอบอาชีพได้ กระทั่งทำให้ปัจจุบันวัดไม่มีการเรียนการสอนภาษามอญอีกแล้ว
นอกจากวัดจะเคยทำหน้าที่สอนและเผยแพร่ภาษามอญแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการรักษาอัตลักษณ์ความเป็นมอญผ่านพิธีกรรม ประเพณีและความเชื่อ เช่น ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีการตักบาตรพระร้อย เปิงสงกรานต์ ฯลฯ เป็นต้น
ระบบความเชื่อและศาสนา
ในอดีตหมู่บ้านเจดีย์ทองเป็นชุมชนมอญที่มีความเคร่งและยึดมั่นในทางพุทธศาสนาอย่างมาก เนื่องจากหมู่บ้านดังกล่าวมีวัดเจดีย์ทองเป็นศูนย์รวมทางจิตใจและวัฒนธรรมมอญของชุมชน อีกทั้งชาวมอญได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีความศรัทธาและเคร่งครัดในหลักธรรมอย่างสูง ดังเห็นได้จาก กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชาวมอญจะมีการประชุมเพื่อทำวัตรในเวลาเย็น ประมาณ 16.00 น. ของทุกวัน ที่ศาลาวัดเจดีย์ทอง โดยผู้อาวุโสที่มีความรู้ในทางพุทธศาสนาในหมู่บ้านจะสลับผลัดเปลี่ยนขึ้นมาเป็นผู้นำในการประกอบกิจกรรมดังกล่าว หลังจากสวดมนต์ตามปกติแล้วจะมีการเล่าบรรยาย 12 ตำนานของพระพุทธเจ้าตามพระไตรปิฎก เป็นตอน ๆ ให้ฟังด้วย หากตรงกับวันพระ ที่เจดีย์ทองจะมีการบรรยาย “ศักราช” ด้วย ปัจจุบันผู้ที่จะมีความสามารถบรรยาย “ศักราช” หาได้ยาก กล่าวคือ ประมาณ 20 ปีที่ผ่าน ในอาณาบริเวณอำเภอสามโคก นับตั้งแต่ศาลาแดงไปจนถึงอำเภอเมืองปทุมธานี มีเพียงวัดเจดีย์ทองแห่งเดียวที่ยังคงรักษาการบรรยายศักราชไว้ได้ ผู้ที่สามารถบรรยายศักราชต้องมีความแม่นยำในวันเวลาทั้งทางโลกและทางธรรม สามารถบอกได้ว่าวันนี้ที่บรรยายเป็นวันอะไร ขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำและวันในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร วันในอนาคตเป็นอย่างไร และยังต้องมีคนที่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวคอยให้คำแนะนำและตรวจสอบซึ่งกันและกันด้วย การที่ปัจจุบันชุมชนเจดีย์ทองไม่ได้มีผู้บรรยายศักราช ซึ่งเหลือเพียงชุมชนเดียวในสามโคก คงมีปัจจัยทั้งทางด้านสังคมทั้งจากภายในและภายนอก กล่าวคือ คนในชุมชนมอญเจดีย์ทองเองไม่ได้มีการพยายามส่งต่อการบรรยายให้คนรุ่นหลัง ประกอบกับการศึกษาแบบใหม่ที่ทำให้ลูกหลานคนรุ่นหลังไม่สนใจที่จะสืบทอดเป็นประการหนึ่ง
ความเชื่อในเรื่องการนับถือผี พบว่า ปัจจุบันไม่มีการนับถือและประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับผีแล้ว ซึ่งการนับถือผีของชาวมอญมีมาอย่างยาวนาน กล่าวคือ ในอดีตมีประเพณีการรับผี หรือสืบทอดผีประจำตระกูล บางตระกูลมีผีงู บางตระกูลมีผีเต่าเป็นผีประจำตระกูล ต่อมาในรุ่นหลังไม่นิยมรับผี เพราะหากมีการรับผีแล้วต้องมีกิจกรรมต่าง ๆ ตามมา มีข้อห้าม ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ทำให้ความเชื่อเรื่องผีจึงค่อย ๆ เสื่อมคลายลง อีกทั้งการที่คนมอญเคร่งครัดในหลักพุทธศาสนา ทำให้ความเชื่อดังกล่าวขัดกับการนับถือผีซึ่งมองว่าไร้เหตุผล ยิ่งส่งผลให้การนับถือผีค่อย ๆ สูญหายไปจากชุมชน (บุญชู ทองประยงค์, 2558)
จากสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดปทุมธานี ที่ห่างจากกรุงเทพมหานคร เพียง 46 กิโลเมตร มีการคมนาคมทางบกที่สะดวก ทำให้การติดต่อกับชุมชนภายนอกเป็นไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งจังหวัดปทุมธานีเองมีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้คนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอาศัยกันมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความโดดเดี่ยวของชุมชนถูกทำลายลง การเคลื่อนย้ายของประชากรมีอิสระมากขึ้น ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน จนทำให้อัตลักษณ์เฉพาะของชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ชุมชนเจดีย์ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสามโคก ริมแม่น้้าเจ้าพระยาห่างจากจังหวัดปทุมธานี เพียง 10 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปยังตัวจังหวัดได้ทั้งทางบกและทางน้้า โดยเฉพาะการมีถนนวงแหวนตะวันตก หรือ ถนนหมายเลข 9 เส้นกาญจนาภิเษกตะวันตกตัดผ่าน เป็นเหตุให้คนในหมู่บ้านสามารถเดินทางไปประกอบกิจกรรมในระยะทางที่ไกลออกไปได้ง่ายขึ้น ความสะดวกสบายดังกล่าวไม่ได้มีผลเฉพาะคนในท้องถิ่นออกไปทำกิจกรรมภายนอกเท่านั้น แต่ทำให้คนภายนอกหรือวัฒนธรรมภายนอกเข้าสู่หมู่บ้านได้ง่ายขึ้นอีกทางหนึ่งเช่นกัน เป็นเหตุให้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนมอญเจดีย์ทองในอดีตค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป
ชุมชนมอญเจดีย์ทองเมื่อมองกลับในมิติทางประวัติศาสตร์ จะพบว่ามอญเจดีย์ทองมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเอกลักษณ์วัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องตามยุคสมัย โดยเฉพาะในช่วงของการพัฒนาประเทศได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างมาก ฉะนั้นเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนย่อมทำให้ระบบความเชื่อและประเพณีบางอย่างขาดหายไป ตัวอย่างเช่น ในอดีตการเดินทางคมนาคมทางบกไม่มีความสะดวก ทำให้มอญบ้านเจดีย์ทองต้องหันมาเดินทางและค้าขายทางเรือแต่เมื่อเกิดการตัดถนนขึ้น ถนนได้รับการปรับปรุงพัฒนา ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาเดินทางและค้าขายทางบก โดยมีรถยนต์เป็นพาหนะที่สำคัญ ส่งผลให้ผู้คนในหมู่บ้านเดินทางไปทำงานได้ไกลขึ้น เกิดการเรียนรู้กับวัฒนธรรมภายนอก มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และก่อให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม จนบางครั้งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจนว่าเป็นวัฒนธรรมของใคร
นอกจากนี้ระบบการศึกษาแผนใหม่ได้ทำให้วัฒนธรรมหลักเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้ภาษามอญถูกลดความสำคัญและบทบาทลง เนื่องจากเมื่อเด็กชาวมอญเข้าศึกษาต้องสนทนาและเรียนภาษาไทย กลับมาบ้านพูดไทยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนวัดเองจากที่เคยมีบทบาทในการให้การศึกษา ภาษาและวัฒนธรรมแก่ชาวมอญในชุมชนก็ได้ถูกลดความสำคัญลง เพราะไม่มีเด็กมอญไปเรียนและไม่ได้การรับรองจากระบบการศึกษา
ต่อมาเมื่อเยาวชนได้รับการศึกษาจากระบบการศึกษาแผนใหม่ บางคนได้ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทำให้เมื่อจบออกมาแล้วได้หันไปประกอบอาชีพรับราชการ หรือทำงานในภาคธุรกิจเอกชน ส่วนอาชีพค้าขายและทำการเกษตรเหมือนรุ่นปู่ย่าตายายในอดีตค่อย ๆ ลดลง ในช่วงนี้ระบบความคิดความเชื่อของชุมชนเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมเริ่มมีช่องว่างมากขึ้น ระหว่างคนรุ่นเก่าซึ่งมีความคิด ความเชื่อแบบดั้งเดิม กับคนรุ่นใหม่ที่เน้นความเจริญก้าวหน้าให้ทันต่อยุคสมัย ฉะนั้นจึงส่งผลให้กระบวนการสืบทอดอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นมอญของคนรุ่นหลังที่ขาดช่วงไป ภาษามอญเริ่มถูกใช้น้อยลง หากคนในชุมชนสามารถพูดภาษามอญได้ ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถ
อย่างไรก็ตามความพยายามในการอนุรักษ์และรักษาอัตลักษณ์ตัวตนคนมอญยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกรรมการหมู่บ้าน หากแต่ไม่ได้สืบทอดให้ลูกหลานได้ร่วมอนุรักษ์อัตลักษณ์และวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญดังกล่าว เช่น การตักบาตรพระร้อย ซึ่งแต่เดิมจะต้องตักบาตรทางเรือ ในอดีตที่บ้านเจดีย์ทองจะมีการตักบาตรบนเรือมีเรือและพระสงฆ์นั่งบนเรือเพื่อทำการตักบาตรจำนวนมาก หากแต่ปัจจุบันการชาวบ้านในพื้นที่วัดเจดีย์ทองและใกล้เคียงไม่มีเรือ ประเพณีตักบาตรพระร้อยจึงได้ปรับเปลี่ยนให้มีการตักบาตรบนบกบริเวณหน้าวัดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแทน และก่อนที่ประเพณีดังกล่าวจะกลายเป็นตักบาตรบนบก เมื่อไม่กี่ปีทางชุมชนเคยเช่าเรือจากที่อื่นเพื่อจัดกิจกรรมตักบาตรพระร้อยดังกล่าวด้วย (จวน ปานแก้ว, 2559)
คุณลุงมัคนายกวัดเจดีย์ทอง หรือ คุณตาสนั่น โสรส ได้เล่าและอธิบายสภาพสังคมและกลุ่มคนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมอญบ้านเจดีย์ทองด้วย กล่าวคือ
ช่วงกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป ในอดีตสภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำและบ้างก็อยู่ในเรือ เพราะถนนยังไม่มี ผู้คนนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม และค้าขายทางเรือ สินค้าที่ค้าขาย อาทิเช่น เครื่องปั้นดินเผา อาหาร วัสดุก่อสร้าง บางครั้งมีการล่องเรือเปล่าขึ้นไปรับข้าวสารจากภาคกลางและภาคเหนือ มาขายที่รังสิตและพระนคร การศึกษาส่วนใหญ่เรียนกันที่วัดเจดีย์ทอง ส่วนการแต่งงานจะนิยมแต่งกันในหมู่บ้าน หรือไม่ก็เป็นคนมอญจากชุมชนอื่น คนในกลุ่ม 80 ปีขึ้นไปจะคลอดกับหมอตำแย สามารถพูดภาษามอญได้ ส่วนการอ่านและเขียนมักจะเป็นผู้ชายที่ได้รับการศึกษาจากวัด ยังมีการใช้ภาษามอญในการติดต่อสื่อสารทั้งกับบุคคลภายในและภายนอกชุมชน ประเพณีวัฒนธรรมที่ยังคงมีอยู่ร่วมสมัย เช่น เปิงสงกรานต์ สะบ้า ทะแยมอญ รำมอญ มีวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาและจุดร่วมในการสร้างอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นมอญ
ช่วงกลุ่มอายุ 60 - 80 ปี การตั้งบ้านเรือนได้อพยพขึ้นมาบนฝั่งมากขึ้น เริ่มมีการตัดถนนหนทาง การประกอบอาชีพค้าขายทางเรือลดน้อยลง การศึกษาแผนใหม่ขยายตัวมากขึ้น เมื่อเป็นเด็กเริ่มเข้าโรงเรียนสายสามัญซึ่งเป็นพื้นฐานให้สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้นิยมประกอบอาชีพรับราชการและรับจ้างบริษัทเอกชนบ้าง มีการแต่งงานกับคนท้องถิ่น แต่ไม่จำกัดเชื้อชาติ คนมอญในกลุ่มนี้วัยนี้ยังคงพูดภาษามอญได้ แต่กลับมีคนที่อ่านและเขียนภาษามอญได้ไม่ถึง 5 คน การใช้ภาษามอญเริ่มลดน้อยลงทั้งในและนอกชุมชน งานประเพณีบางอย่าง กลุ่มคนมอญในช่วงวัยนี้ไม่มีการสืบทอดประเพณีบางอย่างในชุมชน เช่น สะบ้า ทะแยมอญ ส่วนความเชื่อบางอย่าง เช่น การนับถือผี พิธีการเกิด ทั้งนี้วัดเจดีย์ทองยังเป็นที่สอนภาษามอญและจัดกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ อยู่
ช่วงกลุ่มอายุ 30 - 50 ปี หมู่บ้านมีการขยายตัวมากขึ้น มีการสร้างบ้านเรือนตามแบบสถาปัตยกรรมแบบใหม่ การเดินทางโดยรถยนต์มากขึ้นเนื่องจากมีถนนหนทาง คนในหมู่บ้านมีระดับการศึกษาสูง โครงสร้างอาชีพเปลี่ยนไปเป็นการทำงานประจำในหน่วยงานรัฐและเอกชน ทั้งนี้คนกลุ่มวัยนี้ส่วนใหญ่พูดภาษามอญได้เล็กน้อย และอ่านและเขียนไม่ได้ ไม่มีการใช้ภาษามอญในชีวิตประจำวัน หากมีจึงเป็นเพียงการทักทายสั้น ๆ ประเพณีวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์เฉพาะที่เคยปฏิบัติได้เปลี่ยนรูปแบบไป เช่น การจุดลูกหนูในงานศพ เปลี่ยนเป็นการจุดลูกหนูแข่งในงานรื่นเริง หรืองานประจำปี โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว ส่วนวัดไม่ได้มีบทบาทในการสอนภาษามอญ เพราะเด็กลูกหลานมอญไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนสายสามัญทั้งในชุมชนและโรงเรียนรอบนอก
ช่วงอายุแรกเกิดถึง 30 ปี สภาพชุมชนหมู่บ้านมีการขยายตัวและหนาแน่นมากขึ้น คนส่วนใหญ่มีอาชีพทำราชการ เอกชนและธุรกิจส่วนตัว ลักษณะบ้านเรือนมีรูปแบบรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบใหม่จำนวนมากขึ้น การแต่งงานกับคนนอกชุมชนและเชื้อชาติอื่นมีมากขึ้น และมีแนวโน้มอพยพออกจากชุมชนมากขึ้นเช่นกัน คนในกลุ่มวัยนี้ไม่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษามอญได้แล้ว ประเพณีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่เคยมีมาถูกลดรูปดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย กระทั่งไม่เหลืออัตลักษณ์ของกลุ่มคนมอญบ้านเจดีย์ทอง วัดไม่ได้มีหน้าที่สอนหนังสือ เป็นยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนและพื้นที่กลางให้กับผู้สูงอายุได้มาพบปะพูดคุยกัน กิจกรรมความเป็นมอญลดลงตามความจำเป็น กล่าวคือ มีเฉพาะเทศกาล เป็นต้น
ศักยภาพของคนมอญเจดีย์ทองในการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
กระบวนการสืบทอดทางวัฒนธรรม หมู่บ้านเจอดีย์ทองประสบปัญหาในการสืบทอดทางวัฒนธรรมอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องภาษามอญ เหตุเพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจศึกษาและสืบทอด ทำให้ในปัจจุบันไม่มีคนพูดภามอญได้ จะมีก็เพียงผู้สูงอายุไม่กี่รายเท่านั้น นอกจากนี้ประเพณีการละเล่นดั้งเดิม เช่น สะบ้า รำมอญ ทะแยมอญ การเล่นปี่พาทย์มอญ ไม่มีคนที่มีความชำนาญและสามารถเล่นได้แล้ว เพราะไม่มีการส่งผ่านประเพณีการละเล่นดังกล่าวให้คนรุ่นหลังให้ได้รับรู้และเข้าใจในขนบประเพณีดังกล่าว
จิตสำนึกทางชาติพันธุ์ที่ลดลง คืออีกเหตุผลหนึ่งสำคัญที่ทำให้คนมอญเจดีย์ทองไม่สามารถรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองได้ กล่าวคือ ชาวบ้านในปัจจุบันโดยเฉพาะคนกลุ่มหนุ่มสาวและเยาวชนยังคงรับรู้ว่าตนเองคือลูกหลานคนไทยเชื้อสายมอญ แต่มีความเป็นมอญที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรุ่นพ่อ รุ่นปู่ (จวน ปานแก้ว, 2559)
ผู้นำในท้องถิ่น คืออีกกลุ่มคนหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยธำรงรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมและตัวตนของความเป็นมอญไว้ได้ หากแต่ปัจจุบันกลุ่มคนมอญบ้านเจดีย์ทองไม่มีกลุ่มอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นทางการในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสืบสานวัฒนธรรมมอญให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะเยาวชน วัยหนุ่มสาวที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสืบทอด อนุรักษ์และเผยแพร่อัตลักษณ์ตัวตนคนมอญบ้านเจดีย์ทอง
จากข้อมูลและการศึกษาดังกล่าว คนมอญบ้านเจดีย์ทองไม่ได้มีกลุ่มเยาวชน คนหนุ่มคนสาวที่จะเป็นกำลังในการสานต่อหรือรื้อฟื้นมรดกทางวัฒนธรรมของความเป็นมอญให้สืบทอดต่อไปได้เลย หากจะดำเนินกิจกรรมที่เป็นอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นมอญจะเข้าร่วมกับพื้นที่ชุมชนอื่น หรือองค์กรทางวัฒนธรรม เช่น สมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ นอกจากนี้ความเป็นมอญในชุมชนนี้ยังอยู่ในระดับปัจเจก กล่าวคือ มีความเป็นมอญในแต่ละบุคคลเข้มข้นแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล แต่ไม่มีการรวมกลุ่มเพื่อนำเสนอ สืบสานและอนุรักษ์อัตลักษณ์ความเป็นมอญของกลุ่มตนเองหรือชุมชนตนเองเลย
เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ. (2558). มรดกทางวัฒนธรรม: การสร้างตัวตนมอญสามโคก จังหวัดปทุมธานี (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
จตุพล อังศุเวช. (2548). สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในสำนึกไทย-มอญ กรณีศึกษาชุมชนวัดเจดีย์ทอง ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/
สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. (2557). ค้นจาก https://www.tamdoo.com/
nukkpidet. (2566). วัดเจดีย์ทอง ที่เที่ยวปทุมธานี วัดสวย สถาปัตยกรรมมอญ ริมแม่น้ำ ใกล้กรุงเทพ. ค้นจาก https://travel.trueid.net/