Advance search

พื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แหล่งน้ำ บ่อเกลือในชุมชนที่ยึดโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับชุมชน

หมู่ที่ 1
บ่อโพธิ์
บ่อโพธิ์
นครไทย
พิษณุโลก
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
4 ธ.ค. 2023
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
4 ธ.ค. 2023
บ้านบ่อโพธิ์

ในชุมชนมีบ่อเกลือธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณ โดยชาวบ้านในเรียกบ่เกลือนั้นสืบต่อกันมาว่า "บ่อโพธิ์" จึงใช้เป็นชื่อเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่าบ่อโพธิ์ และกลายเป็นที่มาของชื่อชุมชนในปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

พื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แหล่งน้ำ บ่อเกลือในชุมชนที่ยึดโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับชุมชน

บ่อโพธิ์
หมู่ที่ 1
บ่อโพธิ์
นครไทย
พิษณุโลก
65120
17.23161130373724
101.04940749955779
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อโพธิ์

ชาวบ้านได้เล่าขานกันสืบต่อกันมาเกี่ยวกับบ่อเกลือพันปีว่า บ่อเกลือพันปีเป็นบ่อเกลือธรรมชาติที่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล โดยถือกำเนิดจากการที่ชาวเมืองเชียงของ ประเทศลาว มีงานประเพณีจุดบั้งไฟประจำปี เชื่อกันว่าบั้งไฟไปตกที่ใดจะเป็นบ่อเกลือที่นั่น ในการทำบั้งไฟจะใช้ต้นโพธิ์ทำ ครั้งหนึ่งได้มีการจัดทำบั้งไฟขึ้นและตกลงมาที่กลางลำน้ำเฟี้ย ด้านที่พุ่งลงเป็นด้านปลายปักลึกลงไปในดิน เกิดอัศจรรย์น้ำที่อยู่ในโพรงต้นโพธิ์มีรสเค็มไหลออกมาตลอดทั้งปีไม่มีแห้ง ชาวบ้านจึงนำมาประกอบอาหารและตั้งชื่อบ่อน้ำเค็มนี้ว่า "บ่อโพธิ์" จึงกลายเป็นที่มาของชื่อชุมชนถึงปัจจุบัน

หมู่บ้านบ่อโพธิ์ เป็นหมู่บ้านที่อยู่เหนือสุดของอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อยู่ห่างจากตัวอำเภอนครไทย ประมาณ 30 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดพิษณุโลก ประมาณ 130 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ประมาณ 15 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 3,650 ไร่ โดยบ้านเรือนตั้งอยู่ตามที่ราบเชิงเขา และที่ราบริมน้ำ มีภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำเฟี้ยไหลผ่าน สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นพื้นราบสลับเชิงเขา มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำเฟี้ย

  • ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีทิวเขาผามุงเป็นพรมแดนธรรมชาติ และมีลำน้ำเฟี้ยไหลผ่าน
  • ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มีทิวเขาภูซางหรือที่เรียกว่าภูค้อเป็นพรมแดนธรรมชาติ
  • ทิศใต้ ติดกับบ้านป่าปง (น้ำเลา) ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลยางโกลน อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

หมู่บ้านบ่อโพธิ์เป็นชุมชนขนาดเล็กที่รวมกลุ่มกันอยู่ตามพื้นที่ราบเชิงเขาและพื้นที่ราบริมน้ำ มีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในชุมชน โดยหมู่บ้านบ่อโพธิ์มีประชากรทั้งหมด 243 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 311 คน หญิง 315 คน รวมประชากร 626 คน

ชุมชนบ้านบ่อโพธิ์ ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร ทำไร่ เก็บของป่าตามฤดูกาล และมีกลุ่มอาชีพที่สำคัญของชุมชน ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นคือ "การทำบ่อเกลือ" เป็นสิ่งที่โดดเด่นที่ชุมชนอื่นๆ ไม่มี โดยบ่อเกลือของชุมชนบ้านบ่อโพธิ์ เป็นบ่อเกลือธรรมชาติที่ชุมชนใช้สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน และมีเกลือให้ใช้อย่างต่อเนื่อง การทำเกลือสินเธาว์เป็นอาชีพหลักของชาวบ้านบ่อโพธิ์มาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. 2467 หมู่บ้านนี้มีประมาณ 40 หลังคาเรือน สามารถผลิตเกลือได้ 2,000 หาบ ชาวบ้านจะนำเกลือไปขายยังเมืองต่าง ๆ เช่น หล่มสัก เมืองเลย นครไทย หรือนำเกลือไปแลกข้าวยังชุมชนต่าง ๆ เช่น หมู่บ้านนาตาดี กกม่วง ท่าหินลาด ของอำเภอนครไทย ปัจจุบันการผลิตเกลือสร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัวประมาณครอบครัวละ 20,000 บาท โดยมีช่วงระยะเวลาในการทำบ่อเกลือประมาณ 3-4 เดือน คือช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน หรือจนกว่าจะมีฝนตกและทำให้ไม่สามารถผลิตเกลือได้ อาชีพการทำบ่อเกลือจึงเป็นแหล่งรายได้หลักสำคัญของชุมชนบ้านบ่อโพธิ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านบ่อโพธิ์ ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ มีการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีในพื้นที่ทางธรรมชาติโดยรอบชุมชนในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะบ่อเกลือบ้านบ่อโพธิ์ซึ่งยึดโยงกับวิถีชีวิตของชุมชน และยังก่อให้เกิดประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนอีกด้วย

  • พิธีบวงสรวงบ่อเกลือ (เปิดบ่อเกลือพันปี) ทำในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อจำนำน้ำเกลือมาต้มเกลือ
  • ประเพณีบุญเดือนเจ็ดหรือบุญปราสาทผึ้ง จัดในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 หลังใกล้เสร็จสิ้นฤดูกาลต้มเกลือ
  • ประเณีเลี้ยงเจ้าปู่หรือประเพณีเลี้ยงหอ (ปิดบ่อเกลือพันปี) จัดขึ้นในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 หลังจากหยุดต้มเกลือแล้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านบ่อโพธิ์ ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นต้นทุนที่สำคัญของชุมชน

  • ดิน เป็นทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน เนื่องจากบ้านบ่อโพธิ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขาและแหล่งน้ำทำให้พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก และทำพื้นไร่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพของผู้คนในชุมชน
  • น้ำ เป็นทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยบ้านบ่อโพธิ์มีลำน้ำเฟี้ยไหลผ่านชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชุมชนใช้อุปโภค บริโภค รวมถึงยึดโยงกับการทำระบบน้ำประปาภูเขาที่ใช้ในชุมชน
  • ป่าไม้ ชุมชนบ้านบ่อโพธิ์ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาและแหล่งน้ำทำให้เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าโปร่ง มีต้นไม่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กปะปนกันอยู่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น สัก ประดู แดง ตะแบก มะเกลือ มะค่า เสลา ไผ่ ฯลฯ 
  • เกลือ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแร่ธาตุสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนที่พบได้ในบริเวณชุมชนบ้านบ่อโพธิ์ เกลือจัดเป็นแร่อโลหะ เปราะและหักง่าย โปร่งแสง ไม่เป็นตัวนำความร้อนหรือไฟฟ้า โดยทั่วไปเรียกว่า "เกลือแกง" โดยเกลือที่พบในบริเวณชุมชนบ้านบ่อโพธิ์เป็นเกลือที่ได้มาจากน้ำใต้ดิน เรียกว่า "เกลือสินเธาว์"

ชุมชนบ้านบ่อโพธิ์ ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีการใช้ภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในชุมชน ระหว่างชุมชน และใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ่อเกลือพันปี 

เรื่องเล่าเกี่ยวกับบ่อเกลือพันปี ว่ากันว่าสมัยก่อนคนจะตัวใหญ่ประมาณ 8 ศอก เรียกว่าคนแปดศอก ได้มีประเพณีของประเทศลาวที่ได้นำเอาต้นโพธิ์มาทำเป็นบั้งไฟ เมื่อจุดบั้งไฟ บั้งไฟได้มาตกบริเวณลำน้ำเฟี้ยทั้งหมด 32 ลูก ลูกไหนฝังลงในไปในดิน โคนต้นจะชี้ขึ้นฟ้าแต่ปลายต้นโพธิ์จะฝังลงไปในดิน ถ้าหากต้นไหนฝังไปในดินก็จะมีน้ำเกลือผุดขึ้นมา ดังที่เราเห็นเป็นบ่อทั้งหมด 32 บ่อจะมีสภาพคือจะมีเกลือผุดขึ้นมาเป็นเม็ด หรือเรียกว่าโป่ง บ่อของบ่อเกลือพันปี บ่อโพธิ์จะเป็นไม้ทั้งหมดและมีรูบ่ออยู่ในที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในลำน้ำ ริมลำน้ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความคิดเกี่ยวกับการเกิดบ่อเกลือของคนในหมู่บ้าน และมีการค้นพบบ่อเกลือในสมัยของพ่อขุนบางกลางหาว ขณะที่พระองค์ทรงครองเมืองบางยาง หรืออำเภอนครไทยในปัจจุบัน สมัยพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้ยกทัพมาอยู่ผาประตูเมือง ได้ตั้งเป็นเมืองหน้าด่าน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสนามเพาะ เพราะบริเวณนั้นเป็นบริเวณที่เห็นข้าศึกได้ชัดเจน เพราะอยู่บนผาประตูเมือง แล้ววันหนึ่งพ่อขุนบางกลางหาวท่านได้ให้ทหารมาลาดตระเวนทางบ้านบ่อโพธิ์ แล้วได้พบบ่อเกลือ จำนวน 32 บ่อ ทหารได้สังเกตว่าบ่อน้ำนี้ทำไมจึงมีน้ำใส ๆ ก็เลยแตะชิม ปรากฏว่าน้ำในบ่อมีรสเค็มจึงตัดกระบอกไม้ไผ่ ตักน้ำในบ่อเกลือนำไปถวายให้พ่อขุนบางกลางหาว พ่อขุนบางกลางหาวเห็นว่าเค็มก็เลยทำสามเส้าขึ้นมา สามเส้า คือ นำหินมาวางสามก้อนทำเป็นเตาแล้วนำกระทะมาเคี่ยวน้ำ พอเคี่ยวน้ำเกลือได้ตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ ก็เลยให้ทหารต้มนำมาเป็นเสบียง ส่งให้กรุงสุโขทัยที่รบกับพม่า

องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อโพธิ์. (2565). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก.

วันเฉลิม สุริยวงค์ และสุกัญญาโสภี ใจกล่ำ. (2563). การศึกษาเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับบ่อเกลือพันปี บ้านบ่อโพธิ์ ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, 8(1), 137-150.

องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อโพธิ์. (ม.ป.ป.). รายงานการวิจัยเรื่อง "กลุ่มแปรรูปเกลือสินเธาว์จากบ่อเกลือพันปี". องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก.